Skip to content

รองเท้า กำปั่น กะหล่ำ กษัตริย์: Vibrant Matter โดย Jane Bennett

Vibrant Matter: A Political Ecology of Things 

(2010)

     หนังสือเล่มนี้ว่าด้วย “วัตถุมีชีวิตชีวา”  (vibrant matter) การกลับหัวกลับหางของสองสิ่งที่มักเข้าใจกันว่าอยู่ตรงข้ามกัน คือ “ชีวิต” (life) และ “วัตถุ” (matter) อย่างแรกคือสิ่งมีชีวิตและตัวเราที่มักเข้าใจว่าเปี่ยมด้วยชีวิตชีวา (vibrant) อย่างหลังคือวัตถุสิ่งของที่มักถูกมองว่าแข็งทื่อ (dull)  Jane Bennett ชวนให้เราคิดกับคู่ตรงข้ามนี้ใหม่ว่าจริงๆ แล้ววัตถุอาจมี “ชีวิต” มากกว่าที่เราคิด และมนุษย์ไม่ใช่ผู้กระทำที่มีความคิดจิตใจหนึ่งเดียวในโลกนี้  สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (non-human) เช่นเศษขยะ  หนอน โลหะ สายไฟฟ้า  ไปจนถึงกรดไขมันโอเมก้า3 และอื่นๆ อีกมาก  แม้เป็นเพียงวัตถุหรือสัตว์ที่ปราศจากชีวิตจิตใจ แต่พวกมันกลับเข้ามาก้าวก่ายชีวิตของเรา รวมถึงมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองของมนุษย์ด้วย!

       Bennett ไม่ใช่คนแรกและคนเดียวที่เสนออะไรแบบนี้  อันที่จริงก็ชวนให้นึกถึงเวลาใครซักคนพูดอะไรทำนอง “สรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงถึงกันหมด” หรือ “พลังสถิตอยู่ในทุกสิ่ง”  ซึ่งเป็นคำพูดประเภทยิ่งพูดก็ยิ่งเข้าท่า พูดอีกก็ถูกอีก  แนวคิดวัตถุนิยมแห่งชีวิต (vital materialism) ของหนังสือเล่มนี้ก็อาจฟังดูเป็นเช่นนั้น  แน่นอนว่าผู้เขียนไม่ได้โมเมขึ้นมาอย่างเลื่อนลอย แต่วางอยู่บนการสำรวจเส้นทางความคิดของสารพัดนักคิด ย้อนไปตั้งแต่ Spinoza ในศตวรรษที่ 17 นักเขียนอย่าง Kafka ไปจนถึงนักวิทยาศาสตร์อย่าง Darwin  ไล่เรียงมาจนถึงนักวิชาการร่วมสมัยอย่าง Latour  ซึ่งต้องยอมรับว่าในประดางานที่ถกเถียงปัญหาขั้วตรงข้ามระหว่าง  มนุษย์/ไม่ใช่มนุษย์  ธรรมชาติ/วัฒนธรรม ฯลฯ  หนังสือเล่มนี้นับว่าอ่านง่ายกว่าเล่มอื่นๆ มาก และสำรวจความคิดได้กว้างขวางบันเทิงใจ เหมาะแก่ผู้สนใจจะเริ่มต้นค้นคว้าในประเด็นนี้

“หนอนมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์โลกมากกว่าที่คนส่วนใหญ่มักคิดกัน”

      คำพูดนี้มาจากตอนหนึ่งในหนังสือ Formation of Vegetable Mould through the Actions of Worms with Observations on Their Habits (1881) ของ Charles Darwin เจ้าพ่อวิวัฒนาการคนนั้นนั่นแหละ  หลังจากไปผจญภัยรอบโลกมาแล้วในวัยหนุ่ม เขาก็ได้ใช้เวลามากมายในวัยชราไปกับการสังเกตดูหนอนอย่างละเอียดลออ กระทั่งเขียนออกมาเป็นหนังสือความยาวสามร้อยกว่าหน้าได้  เขาอธิบายว่าการชอนไชของหนอนเป็นพื้นฐานของชีวิตจำนวนมาก ดินที่ร่วนซุยทำให้พืชพรรณงอกเงย และทำให้โลกเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์  นอกจากนี้พวกมันยังช่วยให้วัตถุวัฒนธรรมต่างๆ ที่ไม่อาจย่อยสลาย ถูกกลบฝังรักษาสภาพเอาไว้ใต้ดิน และด้วยเหตุนี้นักโบราณคดีจึงเป็นหนี้บุญคุณหนอนเหล่านี้   Darwin  เรียกกิจกรรมของพวกหนอนนี้ว่า “small agencies” หรือผู้กระทำตัวน้อย ที่เมื่อรวมๆ พลังกันแล้วสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่

       หนอนอาจเป็นตัวอย่างที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่ถ้าหากเปลี่ยนเป็นรองเท้า เราจะเข้าใจชีวิตของมันได้อย่างไร? สำหรับ Baruch Spinoza นักปรัชญาชาวดัชท์  “รองเท้า กำปั่น กะหล่ำ กษัตริย์”  ล้วนมีธรรมชาติเดียวกัน คือเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า “mode” ซึ่งอธิบายว่าทุกองค์ประกอบเล็กๆ ในโลกนี้เคลื่อนไปกระทบต่อกันเสมอ  องค์ประกอบง่ายๆ หลายอย่างรวมกันเป็นรองเท้า รองเท้าไปรวมเข้ากับสิ่งที่ใหญ่ขึ้นอีก แต่มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เพราะทุกๆ mode ต่างก็ส่งผลกระทบต่อกัน  ไม่มี mode ใดที่จะเคลื่อนไปในทิศทางที่มันต้องการได้อย่างแท้จริง ไม่มี mode ใดมีอำนาจเหนือกว่า mode อื่น  ซึ่งอาจสรุปได้แบบหยาบๆ ว่า “ทุกสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงถึงกัน” ก็ได้

       เราอาจยอมรับได้ไม่ยาก ว่าสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ล้วนมีผลกระทบต่อกัน แต่ถ้าจะบอกว่ากะหล่ำ ก็มีชีวิตไม่ต่างไปจากกษัตริย์ คนคงจะรู้สึกทะแม่งๆ  เพราะการแยกแยะชีวิตออกจากวัตถุสิ่งของ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้โลกนี้มันง่ายกับเรา  เมื่อเราแยกตัวเราที่มีชีวิตออกจากวัตถุที่เราจะไปเจ้ากี้เจ้าการ  โลกนี้ก็อยู่สะดวกขึ้น  แต่ Spinoza จะบอกว่าที่จริงแล้ว มนุษย์กับวัตถุนั้นแยกออกจากกันไม่ได้เลย  Bennett ชี้ว่ามนุษย์ก็เป็นเหมือน “ก้อนแร่ธาตุที่พูดและเดินได้” หรือพูดอีกแบบคือ กว่าครึ่งของร่างกายมนุษย์ไม่ใช่มนุษย์เลยด้วยซ้ำ ในบทที่ 3 ซึ่งว่าด้วยเรื่องอาหาร Bennett จึงหยิบยกเอาหลักฐานที่แสดงว่าสารอาหารต่างๆ ที่ร่างกายดูดซึมเข้าไปสามารถมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ได้มากมาย  เช่น กรดไขมันโอเมก้า3 ที่ช่วยลดความรุนแรงลงได้   mode มนุษย์จึงไม่ได้แค่เป็นฝ่ายย่อยและดูดซึมอาหาร แต่ mode โอเมก้า3 ก็เป็นฝ่ายกระทำต่อมนุษย์ด้วย

       Bennett เรียกการมาประกอบเข้าด้วยกันของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ว่า “assemblage” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยืมมาจาก Deleuze และ Guattari รวมถึงงานของ Brono Latour   ในการมาประกอบเข้าด้วยกันนี้ ทุกๆ สิ่งต่างมีสถานะเป็นตัวการ (actant) เท่าๆ กันทั้งสิ้น เช่น ในขณะที่คุณกำลังอ่านรีวิวนี้อยู่ คุณก็กำลังอยู่ใน assemblage ของประจุไฟฟ้าที่ไหลในวงจรอิเล็กทรอนิกส์จนแสดงออกมาเป็นภาพ เซิฟเว่อเว็บไซต์ที่สิงคโปร์ เราท์เตอร์ร้านกาแฟที่คุณได้รหัส wifi โดยแลกกับการซื้อเครื่องดื่ม แม้ตัวของคุณจะเป็นคนอ่าน แต่คุณจะทำกิจกรรมนี้ไม่ได้เลย ถ้าหาก actant ต่างๆ ที่ว่ามาข้างต้นไม่ทำงานในส่วนของมัน  คำอธิบายที่ง่ายๆ และเจ๋งมากในหนังสือเล่มนี้ยกมาจาก Georges Canguilhem นักปรัชญาและนักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสที่ว่า

“แน่นอนว่าเราสามารถแทรกแซงโลกของวัตถุได้ แต่เราไม่ได้ควบคุมมัน เพราะมันมีพลังที่อยู่นอกเหนือไปจากนั้นอยู่เสมอ”

       กล่าวคือ หนอน รองเท้า กรดไขมัน กะหล่ำ และอะไรอีกสารพัด อาจไม่ได้มีเจตนา (intentionality) อย่างที่มนุษย์มี แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเจตนาของมนุษย์จะเหนือกว่า actant เหล่านี้ เพราะเจตนาของเราก็ถูกกำหนดอยู่ด้วยข้อจำกัดทางวัตถุในหลากหลายระดับ  Latour จึงบอกว่าจริงๆ แล้วมนุษย์ไม่ได้กระทำ (act) จริงๆ เลย เราเพียงแค่ “ประหลาดใจเล็กน้อยกับสิ่งที่ทำ” (slightly surprise of action) เพราะเจตนาของเรานั้นถูกประชันด้วยตัวการอื่นๆ มากมายอยู่เสมอ

       ตัวอย่างที่แสดงให้เห็น assemblage ได้ดีมากที่สุดอยู่ในบทที่ 2 คือเหตุการณ์ไฟดับในปี 2003 ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนราว 50 ล้านคนในหลายรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกา และบางส่วนของแคนาดา รวมถึงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 22 แห่ง! ภายหลังเหตุการณ์ไฟดับครั้งใหญ่นี้ หนังสือพิมพ์หัวหนึ่งลงข่าวว่า “เครือข่ายไฟฟ้ามีชีวิตและตายลงไปด้วยกฎเกณฑ์ลึกลับของมันเอง” ที่มันลึกลับก็เพราะว่า assemblage นี้ประกอบด้วยตัวการยุ่บยั่บราวกับเกมออฟโตรน ตั้งแต่ อิเล็กตรอน ฉนวนสายไฟ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ วิถีชีวิตคนอเมริกัน ไม้ ไฟป่า ไปจนถึงสมาชิกสภาคองเกรสที่เชื่อมั่นในเสรีนิยมใหม่

       ตัวการที่ไม่ใช่มนุษย์ (non-human) อันดับแรกคือไฟฟ้า ซึ่งก็คือกระแสของอิเล็กตรอนที่ไหลไปตามสายไฟ  คลื่นของกระแสอิเล็กตรอน 2 เส้นที่เคลื่อนขึ้นลงเป็นจังหวะเดียวกันนี้เรียกว่า “กำลังไฟฟ้าจริง” (active power) ซึ่งใช้กับหลอดไฟส่องสว่าง และเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วๆ ไป  แต่ก็จะมีอุปกรณ์บางอย่าง เช่นมอเตอร์ในตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ ที่ต้องใช้ “กำลังไฟฟ้าสูญเสีย” (reactive power) คลื่นอิเล็กตรอนสองเส้นที่เหลื่อมกันด้วย  แม้ว่ากำลังไฟฟ้าสูญเสียนี้จะไม่ได้มีส่วนในการหมุนมอเตอร์ แต่มีบทบาทในการรักษาแรงดันไฟฟ้า และรักษาสนามแม่เหล็กของระบบไฟฟ้าโดยรวม

       ในปี 1992 ตัวการมนุษย์ซึ่งก็คือสภาคองเกรส ได้ผ่านกฎหมายให้ผู้ผลิตไฟฟ้า สามารถแยกออกจากผู้จัดจำหน่ายและกระจายไฟฟ้า เป็นจุดเริ่มต้นของการค้าพลังงานทางไกล เมื่อบริษัทจัดจำหน่ายสามารถซื้อไฟฟ้าจากโรงงาน แล้วส่งไปยังที่ห่างไกลได้  แต่ปัญหาก็คือเมื่อส่งไฟฟ้าไกลขึ้นก็ต้องใช้ reactive power มากขึ้นด้วย และกำลังไฟฟ้าชนิดนี้ก็เดินทางไกลได้ไม่ดีนัก  ในทางเทคนิคแล้ว โรงไฟฟ้าในเครือข่ายสามารถผลิตกำลังไฟฟ้าสูญเสียได้เพียงพอ แต่การผลิตกำลังไฟฟ้าชนิดนี้เพิ่มขึ้น ก็จะไปลดปริมาณไฟฟ้าที่จะขายได้ลงด้วย ทั้งหมดนี้นำมาสู่การขาดแคลนกำลังไฟฟ้าสูญเสียและสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าความน่าประหลาดใจเล็กน้อยของการกระทำมนุษย์ (slightly surprise of action)

       ในเช้ามืดของวันที่ 14 สิงหาคม 2003 ความน่าประหลาดใจเล็กน้อยเริ่มกระทบชิ่งเป็นความโกลาหล นับตั้งแต่ไฟป่าเล็กๆ ที่ทะเลสาป Erie ที่ทำให้สายไฟขาดและไฟฟ้าเกินกำลังหม้อแปลง  ช่องโหว่ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระบบเตือนภัยของบริษัทจ่ายไฟฟ้า  ฉนวนสายไฟที่ทนความร้อนได้มากเกินไป  นำไปสู่พฤติกรรมแปลกประหลาดของอิเล็กตรอนที่เริ่มไหลกลับทาง และเริ่มเวียนเป็นลูปทวนเข็มนาฬิกาจากเพนซิลวาเนีย ไปนิวยอร์ค ไปออนตาริโอและมิชิแกน ไปในทิศทางที่ผู้ซื้อไม่ได้ซื้อ

        สิ่งที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้คือ Bennett ไม่เพียงแต่เรียบเรียงให้เห็นความเป็นตัวการของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ต่างๆ ซึ่งพอถึงจุดนี้นักวิชาการคนอื่นๆ จะขยับไปสู่ข้อเสนอต่อไป  แต่ในบทที่ 5  Bennett ยังกลับไปสำรวจความคิดว่าด้วยการแยกแยะชีวิตกับความไม่มีชีวิตอีกด้วย  พูดอีกแบบคือปัญหาของการขีดเส้นแบ่ง ระหว่าง “ตัวเรา” กับ “ศพของเรา” ซึ่งมีมาตั้งแต่ “Bildungstrieb” ของ Kant  “élan vital” ของ Henri Bergson และ “entelechy” ของ Hans Driesch ซึ่งไม่ขอลงในรายละเอียด แต่ประเด็นของบทนี้ก็คือ Bennett แสดงให้เห็นว่าแนวคิดว่าด้วยชีวิตในสรรพสิ่ง (vitalism) ก็มีหลายแบบ คืออาจเป็นความคิดในเชิงจิตวิญญาณ (soul) แบบศาสนาก็ได้  แต่แนวคิดของสองสามคนที่ว่ามานี้ แม้จะปฏิเสธว่าชีวิตไม่ได้มีลักษณะเป็นกลไก (mechanistic) ที่อธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ได้ทั้งหมด แต่ก็ไม่ใช่พลังทางจิตวิญญาณเช่นกัน

       Bennett นำแนวคิดต่างๆ ข้างต้นนี้ไปใช้สำรวจเรื่อง stem cell และการเมืองอเมริกันในบทที่ 6 ต่อมา และใช้แสดงให้เห็นชัดขึ้นว่า แม้ vital materialism จะฟังดูคล้ายคลึงกับแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (environmentalism) มาก คือเสนอให้การวิเคราะห์การเมืองและนโยบายสนใจสิ่งที่นอกเหนือไปจากมนุษย์ด้วย  แต่ vital materialism ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งบางครั้งอาจไปทับซ้อนกับความคิดในเชิงศาสนาได้ (มีตัวอย่างเห็นได้มากมายในประเทศไทย)  แต่หนังสือเล่มนี้ต้องการจะบอกว่าการคำนึงถึงสิ่งอื่นๆ ไม่ได้มีเพียงธรรมชาติที่บริสุทธิ์ดั้งเดิม แต่เป็นสิ่งแวดล้อมที่ประกอบด้วยแบคทีเรีย  วงจรไฟฟ้า  เซลล์  ห้องแล็บ  ฯลฯ  ซึ่งควรนำมาร่วมคิดคำนวนด้วยทั้งหมดเพื่อที่จะนำไปสู่นโยบายทางการเมืองที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

Ypqplpxd 400x400

Material Culture Studies
Design Anthropology
Capybara

Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด