Skip to content

ร่างกาย รสนิยม และการรู้กันทางวัฒนธรรมหน้าฮ้าน

การรู้กันทางวัฒนธรรม (cultural intimacy) เป็นแนวคิดที่ใช้ทำความเข้าใจความยอกย้อนของโวหารแบบชาตินิยม  การฉวยใช้ประโยชน์จากคนชายขอบ  และกิจกรรมธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวันที่คนเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับกลุ่มก้อนทางสังคม[1]  พูดง่ายๆ คือ รัฐมักพยายามจะสร้างภาพลักษณ์ความเป็นชาติ ความเป็นไทยที่ดูงดงามขึ้นมา ผลักไสปกปิดสิ่งที่รัฐเห็นว่าไม่งามให้พ้นหูพ้นตา แต่ในขณะเดียวกันคนในสังคมต่างก็รู้กันว่า สิ่งเหล่านี้แหละคือตัวตนของฉันจริงๆ คือสิ่งที่โยงใยพวกเราเอาไว้ด้วยกัน หรือก็คือ “อัตลักษณ์ร่วม” ที่แท้จริงของเรานั่นแหละ แต่เราจะไม่ยอมรับมัน

แนวคิดอีกแนวที่พูดถึงสิ่งใกล้ๆ กัน คือ ฮาบิทัส (habitus) ซึ่งถูกนำมาใช้อธิบายเรื่องความแตกต่างทางชนชั้น แนวคิดนี้เสนอว่าแม้มนุษย์เราจะคิดได้เลือกได้ แต่เราตัดสินใจภายใต้โครงสร้างบางอย่างที่หล่อหลอมตัวเราขึ้นมาตั้งแต่เกิด เราจึงไม่ได้แค่เกิดมารวยจนต่างกันแค่ฐานะทางเศรษฐกิจ (economic capital) แต่ยังมีทุนทางวัฒนธรรม (cultural capital) ต่างกันด้วย  สิ่งนี้จะเห็นได้ชัดจากรสนิยม และปฏิกิริยาขยะแขยง คลื่นไส้ ขนลุกขนพองกับรสนิยมของคนอื่น  รสนิยมจึงไม่ใช่แค่ความคิดว่าเราชอบไม่ชอบอะไร แต่ฝังอยู่ในร่างกายราวกับเป็นธรรมชาติ  เราจึงรู้สึกว่ารสนิยมของคนอื่น (ที่ด้อยกว่า) เป็นสิ่งผิดธรรมชาติ และเลวทราม ด้วยเหตุนี้ รสนิยมของชนชั้นสูงจึงเป็นรสนิยมที่ครอบงำสังคม โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่พยายามจะ “ติดปีกทางสังคม” ให้กับตัวเอง[2]

ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ เช่น การเต้น

น่าฮัก หน้าฮ้าน

step up ก็ step up เหอะ เจอเต้นหน้าฮ้านเข้าไปสอย สอย สอย หย่าว หย่าว หย่าวววว#มักม่วน #เต้นหน้าฮ้าน #ม้วนสาด #คนซอดแจ้ง #เช้าไม่กลัว #กลัวตีกัน #echo #fookingecho

Posted by echo on Tuesday, 24 July 2018

ปฏิกริยาที่น่าสนใจของชาวเน็ต ก็คือการแบ่งรับแบ่งสู้ เลือกโจมตีเรื่องการยกพวกตีกัน การทิ้งขยะเกลื่อนกลาด (ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องระบบการจัดการขยะมากกว่า) เป็นการเชื่อมโยงว่าคนที่ชอบเต้นแบบนี้ เป็นคนไม่รู้กริยามารยาท ไม่มีระเบียบวินัย แต่ลึกๆ ก็รู้สึกว่าการเต้นแบบนี้ เป็นสิ่งที่ไทยมากอย่างหนึ่ง และหลายท่าเต้นของกลุ่มคนที่ช่วงนี้นิยมเรียกกันว่า “ตลาดล่าง” (ซึ่งเป็นการเหมารวมขนาดใหญ่มาก) ก็ถูกหยิบฉวยไปใช้อยู่บ่อยๆ

ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องผิดหรือไม่ควรทำแต่อย่างใด โดยเฉพาะอันหลัง ห้ามว่าน้อง

จังหวะที่เด้าฮิตติดเอวในบางเพลง ก็สามารถเอาไปใช้กับกิจกรรมอื่นๆ ที่ดูดีมีระดับกว่าได้

เต่างอย Star wars

ปลุกพลังเจไดในตัว ด้วยเต่างอยเกมส์ Beat Saberเครื่องเล่น HTC VIVE#beatsaber #htcvive #เต่างอย

Posted by อะไรนี่ on Tuesday, 19 June 2018

จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุน ที่นานๆ ทีชนชั้นกลางขึ้นมาชอบหยิบจับมาใช้ประโยชน์  แต่แน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้เต้นแบบนี้ตลอด ไม่ได้เพิ่มไว้ในเพลย์ลิสต์สปอติฟาย พูดง่ายๆ คือไม่ได้ซาบซึ้งกับมันเท่ากับคนเด้าพื้น ม้วนเสื่อหน้าฮ้านแน่นอน

เวลาที่รัฐชอบพูดถึงการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นำทุนวัฒนธรรมของไทยมาต่อยอด เอาเข้าจริงแล้วมันจึงเป็นการหยิบฉวย อะไรก็ตามที่เห็นว่าดีออกมาทำให้เป็นของที่เข้ากันได้กับรสนิยมชนชั้นนำ เอามาเพิ่มพูนทุนทางวัฒนธรรมของตัวเอง ในขณะที่เหยียบที่มาของสิ่งนั้นไว้ให้เป็น “ปัญหาสังคม” คนตลาดล่างรสนิยมต่ำซึ่งไม่อาจมีทุนทางวัฒนธรรมอะไรเป็นของตัวเองจริงๆ ทั้งๆ ที่ต้นทุนของความบันเทิงเหล่านี้ไม่มีทางจะงอกเงยขึ้นมาจากสุญญากาศได้เลย หากไม่มีไทบ้านเด้าดินรองรับ

การแสดงความชมชอบของ “บ้านๆ” ยังทำให้ดูน่ารัก ติดดิน ได้อีก แต่เขาก็เลือกเอามาแค่ท่าเต้นเท่านั้น ไม่ได้เอา “รสนิยม” มาด้วย

ปัญหาจริงๆ ก็คือชนชั้นนำในเมืองเอาทุกอย่างที่พวกเขาพอจะมีมาทั้งหมด แต่ไม่เคยให้อะไรกลับคืนไปเลย

ปัญหาวัยรุ่นตีกันจึงเป็นความผิดของพวกเด็กแว้นที่ “ไม่รู้จักคิด” “หมดทางเยียวยา” แต่ไม่เคยเป็นความผิดของรัฐที่ไม่เคยให้โอกาสอะไรกับคนกลุ่มนี้เลย นอกจากความพยายามที่จะจับมาทำให้เขาเลิกเป็นตัวเอง  พยายามเขย่า habitus ของเขาออก  สิ่งที่ดีๆ เช่นทักษะช่าง ท่าเต้นสร้างสรรค์ อะไรพวกนี้เก็บไว้ได้ แต่ที่เหลือต้องเขย่าออกให้หมด ทำให้กลายเป็นจิตอาสา เป็นลูกเสือ เป็น รด. เป็นคนดีมีระเบียบวินัย[3] 

แต่ก็ไม่แน่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคนเมืองกรุงกับต่างจังหวัดก็อาจกำลังเปลี่ยนไป และถึงจุดหนึ่งรัฐอาจจะรู้ตัวเสียทีว่าต้นตอปัญหานั้นอยู่ที่ใด  ติดตามได้จากบทความ “สติ๊กเกอร์ซิ่งกับความสร้างสรรค์และงานออกแบบบนท้องถนนไทย” นำเสนอที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในงาน เชื่อม ข้าม เผชิญหน้า ณ จุดตัด วันที่ 24-24 สิงหาคม 2561 จ้า ขายของเฉยยยย

[1] http://socanth.tu.ac.th/ccscs/outreach/workshops/ccscs-workshop-03-2560-cultural-intimacy/
[2] Bourdieu, P. (1984). Distinction: A Social Critique of the Judgement of Taste. Harvard University Press.
[3] ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ. (2560). พระบรมราโชบายด้านการศึกษาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร.

Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด