จากบันทึกสนามร้านสีสันการป้าย จังหวัดหนองบัวลำภู
7 มีนาคม 2561
ร้านป้ายแต่ละร้านอาจเน้นรับงานต่างกันออกไป แต่งานที่มีค่อนข้างมากและมีตลอด คืองานพิมพ์ไวนิล กับตัดสติ๊กเกอร์ โดยเฉพาะอย่างหลังซึ่งใช้กับกิจกรรมหลากหลายที่มีความต้องการใช้ตลอด ตั้งแต่ติดกระจกร้านเสริมสวย ติดข้างรถตำรวจ ติดรถมอเตอร์ไซค์ซิ่ง ติดป้ายอะคริลิค ไปจนถึงรูปคนตาย
สายวันที่ 7 มีนาคม 2561 ร้านสีสันการป้ายมีงานเข้าไม่ขาดสาย ลูกมือสองคนง่วนอยู่หลังร้านช่วยกันตัดแผ่นอะคริลิกสีน้ำเงินที่เพิ่งสั่งมาเมื่อวานให้เป็นขนาด 100 x 50 cm ส่วนช่างต้น ช่างใหญ่ผู้จัดการร้านนั่งทำหลายงานไปพร้อมๆ กัน มีลูกค้าเข้ามาสอบถามราคาป้ายตู้ไฟและอะไรต่างๆ อีกมาก ในความวุ่นวายนั้นเอง ก็มีคุณป้าคนหนึ่งขี่มอเตอร์ไซค์มาจอดหน้าร้าน ตะโกนบอกอะไรบางอย่างที่ฟังไม่ถนัด เพราะเลื่อยตัดอะคริลิกหลังร้าน ประสานเสียงกับพัดลมเครื่องพิมพ์อื้ออึงอยู่ด้านใน ช่างต้นที่กำลังติดพันกันลูกค้าอีกคนจึงส่งเราออกไปคุยกับป้า
ลูกค้าส่วนใหญ่ เมื่อจอดรถแล้วก็จะเดินเข้ามาในร้านอย่างช้าๆ ด้วยท่าทางงุนงงพอประมาณ สายตากวาดไปทั่วร้านเพื่อจะหาทางอธิบายป้ายที่เขาต้องการ ทั้งวัสดุ ขนาด สี และแบบอักษร ในจังหวะนี้ช่างและลูกมือจะให้เวลาลูกค้าครู่หนึ่ง ก่อนจะถามว่า “เฮ็ดป้ายบ่คับ” หรือถ้าขี้เกียจก็อาจจะแค่ “ค้าบ” จากนั้นกระบวนการคุยงานจึงจะเริ่มขึ้น โดยช่างจะต้องสอบถามจนได้ความว่าป้ายในความคิดของลูกค้าหน้าตาเป็นอย่างไร บางคนก็คิดมาดี บางคนก็ใช้เวลานาน บางคนต้องไลน์กลับไปถามคนที่ร้านก่อนว่าป้ายมันต้องขนาดเท่าไหร่
คุณป้าคนนี้ฉีกทุกกฎของลูกค้าที่เราเจอมาที่หนองบัวลำภู ป้าจอดมอเตอร์ไซค์ ไม่ถอดหมวกกันน๊อค แล้วเรียกให้เราเดินออกไปหา
“เฮ็ดหยังคับ” เราถาม
“เฮ็ดสติ๊กเกอร์จ้ะ เอาข้อควมตามนี้เลยเด้อ”
ป้ายื่นกรอบรูปมาให้ เป็นภาพบุคคลหญิงวัยกลางคนในชุดสีชมพูสด ฉากหลังเป็นหนองบัว น่าจะถ่ายในโอกาสสำคัญหรืองานบุญบางอย่างเมื่อนานมาแล้วพอสมควรเพราะดูเป็นภาพถ่ายจากกล้องฟิล์ม ด้านล่างของกรอบรูปมีกระดาษตัดลวกๆ ปะทับไว้ ตีเส้นด้วยดินสอแบ่งเป็น 2 บรรทัด เขียนข้อความด้วยปากกาเคมีหัวแบน เป็นวันเกิด และวันตายของบุคคลในภาพ วันเดียวกับที่มาสั่งตัดสติ๊เกอร์นั้นเอง
“เอาเป็นสีอิหยังดีคับแม่” เราถาม สิ่งที่มาคิดดูทีหลังแล้ว ถ้ามีประสบการณ์หน่อยก็ไม่ควรต้องถาม
“เอา… สีดำละกัน” ป้าตอบ
“แต่สีดำ มันจะเบิ่งบ่ค่อยเห็นนะคับ แบบนี้สีขาวจะดีกว่า”
ป้าเงียบไปจังหวะนึง พิจารณารูป ก่อนจะเออออตามนั้น
“แล้วเอาขนาดซำใดดีคับ”
เราถามสิ่งที่ไม่ควรต้องถามอีกแล้ว คราวนี้ป้าทำท่าขี้เกียจจะเจรจา ทำท่าจะไปแล้ว เลยตอบว่า
“เอาอย่างใดก็ได้ที่เจ้าว่างาม”
ยังไม่ทันทวนคำสั่งจบ ป้าก็ทวนคำเดิมก่อนจะติดเครื่องรถมอเตอร์ไซค์แล้วขี่ออกไปจากร้าน
“เอาอย่างใดก็ได้ที่เจ้าว่างามนั่นล่ะ”
หลังจากร้านสงบลงในราวครึ่งชั่วโมงต่อมา ก็ส่งงานให้ช่างต้นจัดการ ช่างต้นหยิบกรอบรูปมาวัดขนาด ตั้งค่าตามในโปรแกรม Corel Draw พิมพ์ข้อความตามกรอบรูปแล้วเลือกฟอนต์ KT_Smarn Ribbon แบบไม่ต้องคิดอะไรมาก ฟอนต์ตัวนี้เป็นแบบอักษรที่เรียกกันว่าตัวนริศ ตามชื่อกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ทำให้แบบอักษรชนิดนี้แพร่หลายในสยาม ลักษณะเส้นความหนาไม่เท่ากัน จากการเขียนด้วยพู่กันเอียง หรือปากกาหัวแบน เอียงในองศาเดียวกันตลอดทั้งเส้นของตัวอักษร เป็นแบบอักษรมาตรฐานแบบหนึ่งที่นิยมใช้ในการเขียนตัวอักษรสำหรับแสดงข้อความขนาดใหญ่ (display)
งานออกแบบที่ร้าน จะใช้เวลาเลือกฟอนต์มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดงาน งานที่มีรูปแบบชัดเจนในตัวอยู่แล้ว เช่น ป้ายงานแต่ง งานราชการ หรืองานหมอลำ จะใช้เวลาน้อยมาก เพราะมีฟอนต์ให้เลือกอยู่แค่ไม่กี่ตัวสำหรับงานแบบที่เฉพาะเจาะจง ที่จะใช้เวลาเลือกมากคืองานปลายเปิดพอสมควร เช่น ป้ายร้านเสริมสวย และสติ๊กเกอร์ติดรถ อย่างสุดท้ายนี้เป็นงานชนิดเดียวที่ลูกค้ามีส่วนร่วมในการเลือกฟอนต์ เพราะเป็นสิ่งที่แสดงบุคลิก ตัวตนของเขาผ่านการแต่งรถด้วย แต่สำหรับกรอบรูปนี้ ช่างต้นไม่ลังเลในการเลือกฟอนต์เลยแม้แต่น้อย พุ่งตรงไปยัง KT_Smarn Ribbon แล้วส่งไปเครื่องตัดสติ๊กเกอร์ในทันที กล่าวคือ งานชนิดนี้ ช่างสามารถรู้ตั้งแต่แวบแรกที่เห็นกรอบรูปแล้วว่าจะต้องใช้ฟอนต์สีอะไร ขนาดเท่าใด โดยไม่ต้องถามให้มากความ เป็นรูปผู้ตายอย่างที่ควรจะเป็น อย่างที่ช่างว่างาม
หลังกินข้าวกลางวันเสร็จ ก็ได้เวลาจัดการกับแผ่นอะคริลิกที่ตัดเสร็จตอนเช้า และเป็นเรื่องบังเอิญพอประมาณที่ป้ายดังกล่าวก็เกี่ยวข้องกับกิจกรรมหลังความตายอีกอย่างหนึ่ง คือเป็นป้ายแสดงขั้นตอนการประกอบพิธีฌาปนกิจศพที่วัดแห่งหนึ่ง โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก องค์การบริหารส่วนตำบล และสภาวัฒนธรรมตำบลหนองหว้า ป้ายอะคริลิกติดสติ๊กเกอร์เป็นงานที่ได้กำไรดี ขนาดนี้ก็ตกราคาแผ่นละ 1,300 บาท ทำ 4 แผ่นก็ได้เงิน 5,200 บาทในงานเดียว
แต่เงินทองก็ไม่ไช่จะได้มาโดยง่ายดายปานนั้น เพราะงานสติ๊กเกอร์ที่มีตัวอักษรมากๆ แม้จะสั่งตัดด้วยเครื่อง แต่เมื่อนำไปติดบนแผ่นอะคริลิกแล้ว ก็ต้องลอกออกด้วยมือ เอาส่วนที่ไม่ต้องการออกอย่างระมัดระวังไม่ให้ส่วนที่ต้องการให้ติดลอกออกมาด้วย งานนี้เป็นงานลูกน้อง เพราะต้องใช้เวลา และเพ่งสายตาอย่างมาก แต่งานป้าย 4 แผ่นนี้ก็ทำให้ช่างต้นต้องมาช่วยแกะด้วย และทำให้ร้านเงียบไปเกือบครึ่งชั่วโมง ต่างคนต่างนั่งแงะตัวหนังสือในมุมของตัวเอง
สติ๊กเกอร์ติดกรอบรูปเมื่อเช้า กับติดป้ายอะคริลิกนี้ใช้สติ๊กเกอร์อย่างเดียวกัน แกะออกเหมือนกัน แต่เมื่อเป็นแผ่นใหญ่ การลอกออกก็จะต้องอาศัยการคาดคำนวนว่าจะดึงสติ๊กเกอร์ออกไปทางไหน ไปเจอกับตัวอักษร หรือเส้นที่อยู่ตรงไหนบ้าง คือต้องมองภาพรวมของงาน ในขณะที่เพ่งเฉพาะจุดไปด้วย เพราะหากมัวแต่สนใจจุดที่กำลังลอกอยู่ที่เดียว ตัวหนังสืออีกบรรทัดหนึ่งอาจจะเผลอถูกลอกออกมาด้วยเป็นแถบ หรือสระ วรรณยุกต์หายไปหลายตัว
เพื่อให้มองเห็นรอยได้ชัด ช่างจะใช้กระดาษลอกลายสีดำ (carbon trace paper) มาถูไปบนสติ๊กเกอร์ที่ติดกับอะคริลิกแล้ว เพื่อให้ผงสีดำเข้าไปติดในร่องที่ถูกตัด เพียงเท่านี้ ตัวอักษรทั้งหมดก็ปรากฏชัดขึ้นมา ทำให้งานที่แสนเมื่อยล้านี้สะดวกสบายขึ้นเล็กน้อย แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังเผลอทำสระอีหายไปตัวหนึ่ง ต้องไปตัดมาซ่อมทีหลัง แต่เคราะห์ดีว่า หลังจากโดนคัตเตอร์บาดไป 4 แผลใน 2 สัปดาห์แรก เมื่อทำงานนี้ เราก็เก่งพอที่จะไม่หลั่งเลือดตนเองเพิ่มอีก แม้จะต้องใช้คัตเตอร์จิกด้านในหัวตัวอักษรออกมาปาดเก็บไว้ที่นิ้วเป็นจำนวนมากมาย
ในวันเดียวกัน ร้านสีสันการป้ายได้มีส่วนร่วมผลิตวัตถุที่ช่วยประกอบพิธีกรรมหลังการตายถึง 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นเครื่องรำลึกถึงผู้ตาย เป็นตัวแทนของผู้ตายที่จะถูกจับจ้องโดยสายตาของผู้มาร่วมงานศพแทนตัวจริงซึ่งถูกบรรจุอยู่ในโลง อีกชิ้นเป็นเครื่องกำกับพิธีกรรมในวัด ที่ (หวังว่า) จะช่วยให้พิธีดำเนินได้อย่างราบรื่นมากขึ้น สติ๊กเกอร์ตัวอักษรที่สามารถนำไปติดได้เกือบทุกพื้นผิวสามารถทำให้พื้นที่ต่างๆ เกิดความหมายขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับที่กระดาษลอกลายทำให้ตัวอักษรปรากฎขึ้น แน่นอนว่างานศพย่อมมีได้แม้ไม่มีภาพผู้ตายพร้อมวันชาตะ-มรณะ พิธีฌาปนกิจย่อมดำเนินไปได้แม้ไม่มีป้ายบอกขั้นตอน เช่นเดียวกับที่สติ๊กเกอร์สามารถลอกออกได้ แม้ไม่ได้ลงผงถ่านจากกระดาษลอกลาย ทว่าป้ายเหล่านี้ ทำให้ความตายปรากฏเด่นชัดขึ้นแก่สายตาของผู้ร่วมพิธี ยืนยันอย่างมั่นเหมาะว่าคนคนนี้ได้จากไปแล้ว ด้วยน้ำเสียงที่เป็นทางการ กำกับสายตาและลำดับพิธีการให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
สติ๊กเกอร์ม้วนเดียวกันนี้ถูกนำมาตัดเป็นคำต่างๆ ได้มากมาย ตัดป้ายงานศพเสร็จแล้วก็อาจตัดป้ายบอกราคาร้านเสริมสวยต่อกันเลย กระทั่งเมื่อตัดออกมาจากเครื่องแล้ว ติดลงบนวัสดุแล้ว มันก็ยังคงเป็นแค่สติ๊กเกอร์เหมือนๆ กัน ในชั่วขณะที่มันถูกถูด้วยกระดาษลอกลายผงถ่านนั้นเอง จึงเป็นจุดแรกที่ความหมายของมันเริ่มปรากฏให้เห็น ก่อนจะถูกลอกส่วนที่เหลือออกได้โดยไม่ผิดพลาด จนกลายเป็นป้ายที่สมบูรณ์ พร้อมเป็นตัวการในชีวิตทางสังคมในที่ต่างๆ
เกี่ยวกับผู้เขียน
Material Culture Studies
Design Anthropology
Capybara