เมื่อสองปีก่อน มีคณะผู้มีจิตศรัทธาไปบูรณะอุโบสถวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นสีทองอร่าม เชื่อกันว่ามีการบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว โดยพระครูสัทธานุสารี (หลวงปู่เปี้ยน ชิณปฺตโต) เรื่องของเรื่องก็คือเป็นหลวงปู่เปี้ยนนี้เองที่มาเข้าฝัน บอกว่า “บูรณะให้งดงามนะไอ้หนู เป็นทองทั้งวิหารเลย” ชาวบ้านได้ยินดังนั้นก็ช่วยกันเอาสีทองมาบริจาคร่วมบุญกันมากมาย
(ถามความเห็นส่วนตัว เราก็ว่าไม่ไหวว่ะ) แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่ชาวเน็ตเข้าไปรุมด่ากัน เพราะเบื้องหลังเรื่องนี้ คือประวัติศาสตร์ของความไปกันไม่ได้ระหว่างแนวคิดจารีตกับแนวคิดสมัยใหม่ที่ขัดแย้งกันมาเป็นร้อยปีแล้ว และขัดแย้งกันกระทั่งในตัวบทกฎหมายด้วย
การบูรณะ
เดิมที การบูรณะเป็นเรื่องของบุญญาบารมี เป็นหน้าที่ของเจ้าผู้ปกครองที่จะต้องทำนุบำรุงวัดวาอาราม ซึ่งหลักเกณฑ์ในการบูรณะก็มักเป็นไปตามแต่กระแสรับสั่ง บางองค์ก็รับสั่งให้บูรณะ “ไม่ให้ตัวไม้ผิดแบบเก่าจนสักนิ้ว ๑ ด้วยถ่ายแบบทุกตัว” (กรรณิการ์, 2548: 49) แต่ในบางโอกาสบางครั้งก็รับสั่งให้ทำให้งามขึ้นกว่าเดิม แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการเสริมบารมีของผู้บูรณะทั้งสิ้น
แนวคิดเรื่องการเสริมบารมีนี้เริ่มเป็นที่นิยมให้หมู่ชนทั่วไป กระทั่งต้องมีประกาศจัดระเบียบครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 ดังปรากฎใน ประกาศว่าด้วยการสร้างวัด (คัดจากหมายรับสั่งเดือน 8 ปีฉลู จุลศักราช 1215) ความว่า
ทุกวันนี้พระสงฆ์ ราชาคณะ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ราษฎรไทยจีนที่มีศรัทธา มากมีศรัทธาอุจสาห สร้างวัดวาอาราม ปฏิสังขรณ์ทำนุบำรุงซ่อมแซมพระอุโบสถพระวิหารการเปรียญหอไตรระฆัง โดยประณีต ให้งามดี ด้วยมีศรัทธามาก ทำตามใจรัก… หาได้สังเกตได้ว่าวัดหลวงวัดราษฎร์ได้ ก็ทำตามใจเจ้าของที่มีศรัทธาเถิด มิใช่จะห้ามปราม แต่ให้มาบอกแก่พระยาบำรุงศาสนาจางวางข้าพระเสียก่อน (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2528: 39)
แต่ก็เป็นเพียงการลงทะเบียนบันทึกเอาไว้เท่านั้นว่าวัดใดบูรณะโดยผู้ใดบ้าง ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ตายตัวว่าหลักการคืออะไร ก็คาดเดาได้ไม่ยากว่าก็คงจะมีทั้งที่ทำให้งามเหมือนเดิม กับทำให้งามยิ่งกว่าเดิม “ตามที่ใจรัก” ของแต่ละคนนั่นแหละ
กระทั่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเริ่มมีหลักเกณฑ์ขึ้นว่าการบูรณะควรต้องทำให้เหมือนเดิม โดยทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่าด้วยการซ่อมแซมพระปรางค์วัดอรุณและบริเวณ ซึ่งทรงรับสั่งถึงแนวทางการอนุรักษ์โบราณสถานภายหลังก่อตั้งโบราณคดีสโมสรว่า “อย่าได้พยายามที่จะไปแต่งของเก่าให้สุกสดเท่าของใหม่…พืชพรรณอันใดก็ตามให้รักษาไว้ตามรูปเก่า จะเปลี่ยนแปลงแห่งใด สิ่งใดให้ดีขึ้นต้องให้กราบทูลก่อนฯ” (กรมศิลปากร, 2533) แต่จะเห็นว่า ก็ยังเปิดช่องให้ดัดแปลงได้อยู่ดี หากทรงเห็นชอบ
การบูรณะวัด จึงเป็นเรื่องของการเสริมสร้างบารมี และเป็นเรื่องบุญญาธิการของผู้บูรณะมาโดยตลอด คือสุดท้ายแล้วผู้ที่จะชี้ขาดว่าจะทาสีทองไม่ทอง ก็คือผู้มีบุญพอ แน่นอนว่าวัดแต่ละระดับก็เรียกร้องบุญญาธิการในระดับที่ต่างกัน คนมีศรัทธามีหลวงปู่มาเข้าฝันก็อาจจะบูรณะวัดโพธารามได้ แต่ถ้าเป็นวัดระดับสูง แน่นอนว่าผู้บูรณะก็ต้องมีบุญสูงขึ้นไปด้วย เช่นการบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ในช่วงปี 2519-2523 การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ก็โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพฯ เป็นแม่กองบูรณปฏิสังขรณ์ แสดงให้เห็นว่าพระราชกรณียกิจของกษัตริย์ราชในการบูรณะวัดตามโบราณราชประเพณีก็ยังถูกยึดถือปฏิบัติเรื่อยมา โดยเฉพาะเมื่อเป็นวัดที่สำคัญที่สุดตามโบราณราชประเพณี แม่กองผู้อำนวยการบูรณะซ่อมแซมก็จำเป็นจะต้องมีบุญญาธิการเพียงพอ (กรรณิการ์, 2548: 93)
การบูรณะวัดพระแก้วเพื่อเตรียมงานฉลองสมโภช 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ข้างต้นนี้ มีขึ้นในเวลาที่ความรู้การจัดการมรดกวัฒนธรรมในประเทศไทยตั้งมั่นดีแล้ว กรมศิลปากรที่เคยถูกยุบไปเมื่อคราวเศรษฐกิจตกต่ำในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้รับการรื้อฟื้นกลับมาในสมัยคณะราษฎรและเติบโตขึ้นนับแต่นั้นมา ทว่าถึงที่สุดแล้วการบูรณะวัดระดับสูงสุดของประเทศ ก็ยังต้องอาศัยบารมีที่เกินกำลังความรู้สมัยใหม่ของกรมศิลปากร มีบันทึกตอนหนึ่งเกี่ยวกับการบูรณะครั้งนั้นว่า
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเป็นองค์ประธานฯ งานจึงลุล่วงมาด้วยดี ที่ว่าด้วยดี หมายความว่า สามารถฟันฝ่าอุปสรรค จนเสร็จตามกำหนด ทั้งนี้ถ้าไม่ได้พระบารมีของพระองค์ท่านเป็นที่พึ่ง พระองค์ท่านทรงวินิจฉัย ตัดสินพระทัยเด็ดขาด ไม่มีใครกล้าอุทธรณ์ฎีกา งานจึงเริ่มดำเนินมาด้วยดี (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 16)
ถึงที่สุดแล้ว การบูรณะ/อนุรักษ์ ของบางอย่างจึงไม่ได้อยู่ในวิสัยที่หลักวิชาการจะตอบได้ 100% ว่าทำอย่างไรจึงถูก แน่นอนว่าสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีความรู้ในงานของพระองค์อยู่ไม่น้อย และมีนักวิชาการคอยถวายคำปรึกษาอยู่รอบกาย ทว่าเรื่องบางเรื่องก็ต้องอาศัย “พระองค์ท่านทรงวินิจฉัย” เท่านั้น
การอนุรักษ์
การอนุรักษ์จึงเป็นแนวคิดใหม่ ที่ได้รับอิทธิพลจากฝรั่ง ดังจะเห็นใน ประกาศจัดการตรวจของโบราณ (2466) ในสมัยรัชกาลที่ 6 ความว่า “ของโบราณย่อมเป็นหลักฐานในพงศาวดาร และเป็นเครื่องอุปกรณ์การตรวจตราหาความรู้โบราณต่าง ๆ อันเจริญประโยชน์และเกียรติยศของบ้านเมือง” (ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 36 2477: 223) และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งกรรมการหอสมุดสำหรับพระนคร ทำหน้าที่ตรวจตรารักษาโบราณวัตถุ โดยมีหน้าที่ในการ (1) กำหนดว่าสิ่งใดบ้างเป็นวัตถุโบราณ (2) พัฒนาวิธีอนุรักษ์ (3) เป็นที่ปรึกษาของพนักงานตรวจรักษาของโบราณ (4) มีอำนาจ
ตักเตือนเจ้าหน้าที่รัฐและท้องถิ่นในกรณีที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ (5) จัดทำรายงานขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ประกาศนี้จึงนับเป็นกฎหมายว่าด้วยการสงวนรักษาโบราณวัตถุฉบับแรกของไทย
จนกระทั่งไม่ถึง 100 ปีมานี้เอง สยามถึงเริ่มมองว่าของโบราณไม่ได้เป็นแค่เครื่องประกอบบุญญาบารมี แต่ยังเป็น “ความรู้” ซึ่งมีประโยชน์สามารถนำไปคัดง้างกับประเทศฝรั่งต่างๆ ให้เห็นว่าสยามก็ศิวิไลส์ มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และกษัตริย์ก็มีความรอบรู้ในดินแดนที่ปกครองอยู่
อย่างไรก็ดี กว่าแนวคิดดังกล่าวจะมีผลในทางปฏิบัติจริงๆ ก็ในสมัยของคณะราษฎร ที่ตั้งกรมศิลปากรกลับขึ้นมาใหม่ มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2477 ซึ่งเป็นฉบับแรกของกฎหมายลักษณะใหม่นี้ โดยให้ยกเลิกประกาศและพระราชบัญญัติ “กับบรรดากฎหมายและกฎข้อบังคับอื่น ๆ ซึ่งขัดแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้” (กรมศิลปากร, 2502) ทั้งหมดแล้วให้ยึดตามพระราชบัญญัตินี้แทน โอนอำนาจทั้งหมดจากราชบัณฑิตยสภาให้แก่กรมศิลปากรซึ่งมีอธิบดีคนแรกคือหลวงวิจิตรวาทการ
การเปลี่ยนแปลงยกเครื่องหน่วยงานที่รับผิดชอบโบราณสถานและโบราณวัตถุซึ่งจัดเป็นสมบัติของชาติให้มาอยู่ในมือของคณะราษฎร ยังเป็นการรวบเอาเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างประวัติศาสตร์ สร้างความทรงจำของชาติให้มารับใช้อุดมการณ์การเมืองแบบใหม่ ชาตินิยมแบบใหม่ในแบบของคณะราษฎรด้วย โดยจะเห็นได้ชัดเจนจากการที่ได้กำหนดให้กรมศิลปากรไปสังกัดอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการซึ่งถือได้ว่าเป็นกระทรวงที่คณะราษฎรให้ความสำคัญมาก เพราะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนไปสู่ระบอบการเมืองที่ต้องการสร้างประชากรที่มีสำนึกพลเมืองและเป็นหนึ่งในหลัก 6 ประการของคณะราษฎรด้วย
ต่อมาประเทศไทยได้เข้าร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญ 2 องค์กรคือ
- สภาระหว่างชาติว่าด้วยโบราณสถาน (International Council on Monument and
Sites / ICOMOS) ซึ่งเป็นองค์กรลูกของ UNESCO ในปี พ.ศ. 2532 - สถาบันระหว่างชาติว่าด้วยการศึกษาวิธีการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรม (Interational
Centre for the Study of the Preservation and Restoration Cultural
Property / ICCROM) ในปี พ.ศ.2492 ซึ่งไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่จำนวนมากไปร่วมอบรมด้วย
สององค์กรนี้เป็นองค์กรนานาชาติที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเทคนิคการอนุรักษ์สมัยใหม่จำนวนมาก รวมถึงการบูรณะแบบอนัสติโลซิส (Anastylosis) และออกกฎบัตรระหว่างประเทศที่สำคัญเช่น กฎบัตรเวนิช (ค.ศ.1964) กฎบัตรบรัซเซล (ค.ศ.1976) และ กฎบัตรฟลอเรนซ์ (ค.ศ.1981) ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วกรมศิลปากรในนามของประเทศไทยมีภาระผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามพันธะทางกฎหมายระหว่างประเทศนี้อย่างเคร่งครัดแต่ทว่าในทางปฏิบัติแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น
พิจารณาดูเส้นทางของกรมศิลปากรและกฎหมายว่าด้วยสิ่งโบราณของไทย ก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องของการเมืองมาโดยตลอด ไม่ว่าจะการเมืองต่างประเทศ หรือภายในเอง
พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร่างขึ้นมาในปี พ.ศ.2504 และถูกแก้ไขอีกหลายต่อหลายครั้ง ล่าสุดคือ ในปี พ.ศ.2556 มีแก้ไขนิยามคำว่า
“โบราณสถาน” เป็น “หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ที่โดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์ หรือเกี่ยวกับวัตถุที่พบอยู่ในอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ทางศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม หรือโบราณคดี และให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดีแหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ เฉพาะที่มีอายุตั้งแต่เจ็ดสิบห้าปีขึ้นไป (ไทยรัฐออนไลน์, 2556)
การแก้ไขข้อหลังนี้ทำให้สิ่งปลูกสร้างหลายแห่งหลุดจากเกณฑ์การเป็นโบราณสถาน ซึ่งถูกมองว่าเป็นความพยายามที่จะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างสมัยคณะราษฎรซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัยที่พยายามลบล้างระบอบกษัตริย์ในวัฒนธรรมไทย เช่น อาคารศาลฎีกาบริเวณสนามหลวงซึ่งปัจจุบันถูกรื้อทิ้งสร้างใหม่ไม่เหลือเค้าเดิมแม้แต่น้อย
สมัยใหม่ vs จารีตประเพณี
แม้ในระยะหลังประเทศไทยจะมีกฎหมายมากมายทั้งภายในประเทศและที่ลงนามในอนุสัญญา
ระหว่างประเทศ รวมไปถึงกรมศิลปากรก็มีการออกระเบียบการบูรณะที่ทันสมัยออกมาเช่น ระเบียบกรมศิลปากรว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน พ.ศ.2528 ในระเบียบฉบับนี้ได้แบ่งประเภทของวิธี การอนุรักษ์อย่างชัดเจน เป็นลำดับขั้นจากเข้มงวดมากไปหาน้อย เช่น การสงวนรักษา หมายความว่าการดูแลรักษาไว้คงตามสภาพของเดิม ตามสภาพเท่าที่เป็นอยู่ และป้องกันไม่ให้เสียหายต่อไป ขณะที่ การปฏิสังขรณ์ หมายความถึงการทำให้กลับคืนสู่สภาพดังที่เคยเป็นมา อันแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่สร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์แบบสากลและจารีตประเพณี นอกจากนี้ ยังกำหนดขั้นตอนการอนุรักษ์ต่างๆ ที่อ้างอิงกับกฎบัตรเวนิสอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ระเบียบของกรมศิลปากรว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน พ.ศ. 2528 นี้ยังเต็มไปด้วยคำถามทั้งเชิงปฏิบัติและหลักการที่ขัดแย้งกับหลักสากล ตัวบทของระเบียบนี้หลีกเลี่ยงการระบุหัวใจ 3 ประการของกฎบัตรเวนิส ซึ่งขัดแย้งโดยพื้นฐานกับแนวปฏิบัติตามประเพณีของการอนุรักษ์ของไทย นั่นคือการเคารพในวัสดุดั้งเดิม เอกสารที่เป็นของแท้ และการไม่ใช้การบูรณะแบบสมมติฐานคาดเดา แต่ในขณะเดียวกันระเบียบของกรมศิลปากรก็กล่าวถึงเทคนิค (วิธีการ) ในการบูรณะที่เดินตามกฎบัตรเวนิสอย่างละเอียดลออ แสดงให้เห็นว่ากรมศิลปากรคำนึงถึงแต่ “ผลลัพธ์” ของการบูรณะว่าต้องให้ดูเป็นแบบสากล แต่ในความเป็นจริงงานบูรณะนั้นอาจไม่ใช่มาจากหลักการเคารพในความเป็นของแท้ดั้งเดิมแบบสากลก็ได้ จึงทำให้ไม่มีทางที่จะแน่ใจได้เลยว่า ผลงานบูรณะที่ดูเหมือนว่ามีทั้งของเก่าและของใหม่ผสมกันอยู่นี้ ความจริงมาจากแบบดั้งเดิมที่มีหลักฐานแน่นหนา หรือเป็นเพียงการประดิษฐ์ขึ้นทั้งหมดของผู้บูรณะ (สมชาติ, 2558)
ปัญหาของการบูรณะนี้เป็นที่ถกเถียงมาก โดยเฉพาะการบูรณะเพื่อพัฒนา “อุทยานประวัติศาสตร์” (ที่เพิ่งกลับมาฮิตกันอีกรอบเร็วๆ นี้ในช่วงออเจ้า) ในแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2524 – 2529) มีการบูรณะโบราณสถานให้ออกมาสมบูรณ์งดงามเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวน 1,250 รายการ เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์รวม 10 แหล่ง ซึ่งบางคนโจมตีว่าเป็นการสร้าง “สวนสนุก” มากกว่าแหล่งความรู้ทางโบราณคดีตามหลักเกณฑ์ที่ไปเซ็นสัญญากับโลกเอาไว้
คณะสงฆ์ vs คณะศิลป(ากร)
แต่เอาเข้าจริงแล้ว สิ่งที่เป็นประเด็นร้อน ก่อดราม่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องการเมืองในระดับใหญ่โตอะไรมากมาย แต่เป็นเรื่อง พ.ร.บ.โบราณสถานฯ vs พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่มีอำนาจเหลื่อมทับกันมาเนิ่นนาน
ปัญหาเริ่มต้นมาจาก พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งให้อำนาจวัดในการบูรณะอย่างชัดเจน ระบุชัดว่า “การวัด” เนื่องด้วยปกครองถิ่น เช่น รักษาความสะอาด ดูแลปฏิสังขรณ์ ปกครองคน “การสงฆ์” เนื่องด้วยปกครองภิกษุสามเณร เช่น รับคนเข้าบวช ให้โอวาทสั่งสอนจัดภิกษุเป็นเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ เป็นต้นว่า เป็นผู้แจกภัตตาหาร หรือเป็นผู้จัดเสนาสนะ ฯ นอกจากนี้แม้ต่อมาจะมีการตั้งหน่วยงานรัฐต่างๆ ขึ้นมาจัดการกับชีวิตพลเมืองในด้านต่างๆ แต่กฎหมายนี้ก็เป็นข้อยกเว้นไม่ให้รัฐเข้ามาก้าวก่ายกิจการของสงฆ์ ทำให้วัดคงอำนาจในการจัดการตนเองเรื่อยมา
ในเวลาต่อมา แม้รัฐจะเข้าไปควบคุมวัดมากขึ้น แต่เรื่องของการบูรณะก็ยังคลุมเครือ ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ซึ่งมี ขึ้นภายหลัง พ.ร.บ.โบราณสถานฯ เพียงปีเดียว แม้ไม่ได้ระบุไว้โดยชัดเจน แต่การให้เจ้าอาวาสมีหน้าที่ “บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี” นั้นสามารถตีความได้อย่างกว้างขวาง เกิดเป็นความขัดแย้งจากข้อกฎหมายที่คลุมเครือ ในกรณีวัดซึ่งถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน แต่ก็ยังเป็นที่จำพรรษาของพระเณร อาคารต่างๆ ย่อมชำรุดทรุดโทรมไปตามเวลา คำถามคือพระเณรจะซ่อมอะไรได้แค่ไหน การที่พื้นที่อนุรักษ์ทับซ้อนกับพื้นที่อาศัยจึงเป็นปัญหาเสมอ นำมาสู่ข้อพิพาท วัดทุบกรมศิลป์ฟ้อง วัดร้องกรมศิลป์ทุบ ไม่จบสิ้น
แล้วจะให้ทำไงเหรอ
ความจริงแล้ว การแก้ไข พ.ร.บ.โบราณสถานฯ เมื่อปี 2556 นั้นมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่จะให้ท้องถิ่นมีอำนาจจัดการโบราณสถานมากขึ้น แต่ไม่มีใครจำเรื่องนี้ได้ เพราะการแก้นิยามโบราณสถานนิดเดียว เบี่ยงประเด็นให้กฎหมายฉบับนี้กลายเป็นเรื่องการเมืองเรื่องคณะราษฎรไปเสีย แล้วก็เลยไม่รู้เลยว่าสรุปแล้วมันเวิร์คมั้ยเนี่ย
นับแต่รัชกาลที่ 4 รับสั่งว่าใครจะทำอะไร ก็ให้มาแจ้งเสียก่อน จนกระทั่งมีกรมศิลปากรเป็นเรื่องเป็นราวทุกวันนี้ อาจกล่าวได้ว่าไม่เคยมีช่วงเวลาใดเลย ที่หน่วยงานรัฐจะเข้าไปจัดการดูแลได้อย่างทั่วถึง งบประมาณที่กรมศิลปากรได้รับจัดสรร ลำพังดูแลของที่มีอยู่ก็ลำบากแล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงจะไปควบคุมวัดวาต่างๆ ได้ครบถ้วน หากเจ้าอาวาสมาแจ้งก็ใช่ว่าจะมีทรัพยากรเพียงพอไปดูแล และหากไม่แจ้ง ทะเลาะกันเป็นเรื่องราวขึ้นมา ต่างฝ่ายต่างก็มีข้ออ้างความรู้ จารีตประเพณี และกฎหมาย 2 ฉบับที่เปิดช่องให้เถียงกันได้ไม่จบ
ยังไม่ต้องพูดถึงว่า ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นที่มีความพยายามควบคุมโบราณสถาน ได้มีกระแสการบูรณะวัดครั้งยิ่งใหญ่มากในประวัติศาสตร์ไทย คือการบูรณะวัดในภาคเหนือโดยครูบาศรีวิชัย ไม่น้อยกว่า 100 แห่ง ซึ่งเป็นการบูรณะตามขนบจารีตประเพณี แบบที่มุ่งแต่งเติมให้งดงามยิ่งขึ้นเป็นส่วนมาก การบูรณะวัดของครูบาศรีวิชัยน่าจะเริ่มต้นในราวทศวรรษ 2440 เรื่อยมาจนถึง 2481 แปลว่าการบูรณะจำนวนมากมายของท่านขัดต่อกฎหมายอย่างชัดเจน แต่นักวิชาการจำนวนไม่น้อยก็ยอมรับรูปแบบศิลปะในช่วงเวลานี้เป็นยุคสมัยหนึ่งของศิลปะล้านนา
ดังนั้นคำถามก็คือ ถ้าจะรักษาวัดเหล่านี้เอาไว้ จะรักษาไว้เพื่อใคร แน่นอนว่าเราปล่อยให้ศรัทธานำทางอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเราก็มีพันธะกับประชาคมโลกอยู่ แต่ครั้นจะใช้เกณฑ์ศิลปากรไปจัดการทั้งหมด ก็รู้กันอยู่ว่าทำได้ยาก และหลักวิชาการที่ว่าก็เต็มไปด้วยข้อถกเถียง ต่อให้ไปควบคุมได้ 100% จริง ก็คงต้องถามกันอีกว่าเราจะอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นสมบัติของชาติ โดยไม่สนใจชาวบ้านที่อยู่รอบๆ วัดนั้นเลยเหรอ และในเมื่อวัดไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเป็นโบราณสถานตั้งแต่ต้น แต่เป็นที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ถ้าวัดยังถูกใช้อยู่ ยังมีชีวิตอยู่ อำนาจในนามของความรู้ก็ควรจะเคารพกันบ้างหรือไม่
แน่นอนว่าเราไม่มีทางให้เจ้าอาวาสทุกรูปจบโบราณคดี หรือให้เจ้าหน้ากรมศิลปากรไปบวชเป็นพระจำวัดทั่วประเทศ การจะอนุรักษ์ / บูรณะ / สงวนรักษา / ปฏิสังขรณ์ หรืออะไรก็ช่าง จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องเทคนิคมากเท่ากับการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทุกฝ่ายในที่นี้รวมถึงชาวบ้าน พระ เจ้าหน้าที่ รัฐ ไปจนถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทางออกเรื่องนี้จะง่ายมาก หากเรามีกระทรวงเวทมนตร์ กำกับการเข้าฝันเข้าทรงตั้งแต่แรก การมาเก็บกวาดวัดสีทอง หรือแก้ พ.ร.บ. โบราณสถานฯ เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ถ้ารัฐจะดีลกับศรัทธา ควรดีลกับหลวงปู่เปี้ยนตั้งแต่ต้น ว่าสีทองอร่ามนั้น ทองแค่ไหน ขอตรงไหนไว้ได้บ้าง อันนี้ซีเรียสจริงนะ เราต้องยอมรับกันก่อนว่าหลักวิชาการสมัยใหม่ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบ ถ้ายังต้องยอมดีลกับบารมีกษัตริย์ อุดมการณ์การเมือง การท่องเที่ยวได้ ทำไมจะดีลกับวิญญาณหลวงปู่ไม่ได้
อ้างอิง
- กรมศิลปากร. ทฤษฎีและแนวทางปฏิบัติการอนุรักษ์อนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณคดี. กรุงเทพฯ: บริษัท หิรัญพัฒน์ จำกัด, 2533.
- กรมศิลปากร. พระราชบัญญัติว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พ.ศ. 2477. พระนคร: โรงพิมพ์ศิวพร, 2502.
- กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. พัฒนาการแนวคิดและวิธีการอนุรักษ์โบราณสถานในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2548.
- จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภา, 2528.
- นิคม มูสิกะคามะ. แนวปฏิ บัติในการสงวนรักษาโบราณสถาน ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535. รุ่งศิลป์การพิมพ์,
กรุงเทพมหานคร, 2548. - ไทยรัฐออนไลน์. ครม.ไฟเขียวโอนอำนาจให้ อปท. ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน. สืบค้นจาก http://
www.thairath.co.th/content/edu/368995. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2558. - ไทยรัฐออนไลน์. กรมศิลป์ ลั่นเอาผิดวัดกัลยาณมิตร ทุบโบราณสถานกว่า 22 รายการ. สืบค้นจาก http://www.thairath.co.th/content/487919. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2558.
- พณิชย์พงศ์ พลับผล. กฎหมายอนุรักษ์โบราณสถานในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญานิติศาสตร์มหาบัณฑิต (กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2552.
- สมชาติ จึงสิริอารักษ์. ความเชื่อและแนวความคิดในการอนุรักษ์โบราณสถานของไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน. วารสารเมืองโบราณ. ปีที่ ๓๘ ฉบับที่ ๒ ฉบับเดือน ก.ค.-ก.ย. 2558.
- รัฐบาลไทย. พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕. ไม่ระบุปีที่พิมพ์.
- ราชบัณฑิตยสถาน. กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน : จัดพิมพ์ตามต้นฉบับหลวง. กรุงเทพฯ :ราชบัณฑิตยสถาน, 2550
เกี่ยวกับผู้เขียน
Material Culture Studies
Design Anthropology
Capybara