ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ผมมีโอกาสได้กลับไปสู่อ้อมกอดของท้องทะเลอีกครั้ง จุดมุ่งหมายของการหวนกลับสู่ห้วงผืนน้ำสีฟ้าอันกว้างใหญ่นี้ คือการเรียนทักษะในการดำน้ำลึกแบบสกูบาขั้นสูง (advanced open water scuba diving) สถานที่ที่เราใช้ฝึกทักษะการดำน้ำที่ว่านี้คือ จุดซากเรืออับปาง (wreck diving) ซึ่งเป็นที่มาของบทความสำรวจสนามของความสัมพันธ์บริเวณพื้นมหาสมุทรชิ้นนี้
เป้าหมายของเราในวันนี้คือซากอับปางของเรือหลวงช้าง 712 (HTMS Chang 712) บริเวณเกาะช้าง จังหวัดตราด
ซากเรือจม
ในการฝึกดำน้ำซากเรืออับปาง เราเริ่มการสำรวจโดยการฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับประวัติที่มาและลักษณะทางกายภาพของเรือ รวมถึงระบบนิเวศใต้น้ำบริเวณซากเรือ เรือหลวงช้างที่เราจะดำในครั้งนี้เป็นเรือรบขนาดใหญ่ที่ปลดระวางจากกองทัพเรือ ถูกนำมาวางใต้ท้องทะเลบริเวณเกาะช้างตั้งแต่ปี 2555 เพื่อสร้างให้เป็นระบบนิเวศซึ่งเหมาะแก่การเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ รวมถึงเป็นบ้านปะการัง เพื่อทดแทนปะการังจำนวนมากซึ่งถูกทำลายจากการท่องเที่ยวและอวนประมง และจากการที่ปะการังเริ่มเผชิญกับวิกฤตการณ์ฟอกขาวอันเป็นผลกระทบส่วนหนึ่งของสภาวะโลกร้อน
กระบวนการนำเรือหลวงช้างไปวางที่พื้นท้องทะเลนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย หากแต่ต้องอาศัยความรู้ การเอาใจใส่ ความเข้าใจ และการช่วยเหลือของผู้คนและสภาพดินฟ้าอากาศเป็นอย่างมาก ก่อนจะมีการอับปางเรือ เรือหลวงช้างต้องได้รับการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน มีการทำความสะอาดชิ้นส่วนและระบบเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ให้ปราศจากมลพิษมากที่สุด มีการนำอุปกรณ์ที่อาจจะส่งผลต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศต่างๆ ออกไป และมีการตกแต่งเรือให้เหมาะกับการดำน้ำลึก เช่น การตัดอุปกรณ์บางอย่างที่อาจกีดขวางหรือส่งผลต่อความปลอดภัยของนักดำน้ำ การเจาะผนังห้องและพื้นในบางส่วนให้มีหน้าต่างทะลุเป็นลักษณะถ้ำ เพื่อให้ปลาและสัตว์น้ำต่างๆ เข้ามาหากินและอยู่อาศัย รวมถึงมีขนาดกว้างมากพอที่นักดำน้ำจะสามารถว่ายเข้าไปได้อย่างไม่อันตรายนัก
การเลือกพื้นที่ในการจมเรือก็มีความสำคัญ ซากเรือหลวงช้างวางทอดอยู่บริเวณหินราบ-หินลูกบาตร ห่างจากเกาะช้างประมาณ 8 ไมล์ทะเล พื้นที่ดังกล่าวนี้มีความเหมาะกับการอยู่อาศัยของสัตว์น้ำและการดำน้ำเชิงสันทนาการของนักดำน้ำ เนื่องจากพื้นทะเลในบริเวณดังกล่าวไม่เป็นดินเลน สามารถรับน้ำหนักเรือและทำให้เรือยึดอยู่กับพื้นและต้านทานแรงคลื่นใต้น้ำได้ค่อนข้างดี ความลึกของพื้นทะเลที่ไม่มากเกินไป และการมีน้ำทะเลที่ค่อนข้างใส ทำให้แสงแดดสามารถส่องลงลึกให้สิ่งชีวิตบริเวณซากเรือสามารถเติบโตได้ บริเวณดังกล่าวยังเป็นแนวที่น้ำเคลื่อนที่และเป็นทางผ่านของปลาขนาดใหญ่จากแหลมญวนของเวียดนามผ่านท้องทะเลกัมพูชามายังอ่าวไทยอีกด้วย (กาญจนา จินตกานนท์, 2564)
เรือหลวงช้างมีขนาดความยาวจากหัวถึงท้ายเรือประมาณ 100 เมตร วางอยู่พื้นของท้องทะเลที่ระดับความลึกประมาณ 30 เมตรจากระดับน้ำทะเล หากดำลงไปเราจะพบเสากระโดงเรือ และไล่ลงไปยังดาดฟ้าของเรือที่ความลึกประมาณ 23 เมตร ผมเองมีโอกาสดำลึกลงไปอีก โดยการดำน้ำลอดเข้าไปในส่วนล่างใต้ดาดฟ้าเรือ ในห้องขนาดใหญ่ภายในซากเรือซึ่งแทบจะมืดสนิท มีความยาวประมาณ 20 เมตรในระดับความลึกระหว่าง 27 ถึง 29 เมตร บรรยากาศความมืดในห้องใต้ดาดฟ้าที่แสงแทบส่องลงมาไม่ถึงนี้ มีอุณหภูมิที่เย็นกว่าด้านนอก มีพืชและสัตว์น้ำที่ต่างออกไป และกระแสน้ำภายในก็มีความขุ่นมัว ในตอนที่ดำเข้าไปนั้น ผมไม่รู้เลยว่าจะมีสัตว์หรือสิ่งอันตรายอะไรรออยู่ข้างหน้าบ้าง
ในปัจจุบันซากเรืออับปางแห่งนี้มีอายุครบ 10 ปีแล้ว มันได้กลายเป็นพื้นที่เชิง “เทคโนนิเวศ” ที่สำคัญ ทั้งในฐานะที่เป็นจุดดำน้ำซากเรืออับปางที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นแหล่งฟื้นฟูปะการัง ตลอดจนเป็นแหล่งหาปลาหลากสายพันธุ์ของชาวประมงในแถบดังกล่าว
เมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปในเชิงสัญญะจะพบว่า เรือรบซึ่งแต่เดิมทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรกลของอำนาจและเป็นตัวแทนของแนวคิดแบบชาตินิยม ซึ่งถูกใช้ในการต่อสู้ทำสงครามระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง ในตอนนี้ เรือรบดังกล่าวได้มีชีวิตทางสังคมในรูปแบบใหม่ ที่ทำให้มันกลายมาเป็นจุดกำเนิดและบ่มเพาะสรรพชีวิตที่หลากหลาย ตลอดจนเปิดเผยให้นักมานุษยวิทยาใต้ทะเลได้เรียนรู้ความสัมพันธ์แบบใหม่กับสภาพแวดล้อมของซากปรักหักพังที่มากกว่ามนุษย์แห่งนี้
สภาวะอับปาง
ในบทความที่ชื่อว่า Wreckage and recovery: Four papers exploring the nature of nature นักมานุษยวิทยา Anna Tsing (2014) ตั้งคำถามว่าทำไมงานศึกษาของนักมานุษยวิทยาว่าด้วยสภาวะอับปาง (wreckage) ถึงมีจำนวนจำกัดนัก สภาวะอับปางซึ่งเชื่อมโยงกับจุดจบ ความสูญเสีย ความล้มเหลว และร่องรอยของซากปรักหักพัง มักไม่เป็นที่สนใจโดยเฉพาะการศึกษาทางมานุษยวิทยาที่พยายามชี้ให้เห็นถึงพลวัตที่เกิดขึ้นในสังคม ในทางกลับกัน การศึกษาที่เน้นไปที่ความเปลี่ยนแปลงหรือการเปลี่ยนผ่านมักมุ่งไปที่ความพยายามในการฟื้นตัวหรือฟื้นคืน (recovery) ขององคาพยพต่างๆ ในสังคมมากกว่า
อย่างไรก็ตาม เธอชี้ว่า ในความเป็นจริงแล้ว ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันอย่างมากและยากที่จะขีดเส้นแบ่งระหว่างการล่มสลายและการฟื้นคืนชีพนี้สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะความเป็นจริงที่เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออกระหว่างการสูญพันธ์และการมีชีวิตรอด ระหว่างมลพิษและการปรับตัว การทำลายล้างและการสร้างใหม่ ตลอดจนการสูญเสียและการกอบกู้ ที่ซึ่งมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ที่ว่านี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่นนั้นแล้ว เธอท้าทายให้นักมานุษยวิทยาหันมาสนใจสภาวะอับปางที่ว่านี้ให้มากขึ้น เพื่อว่าเราจะได้ทำความเข้าใจความซับซ้อนของมันอย่างใกล้ชิด ก่อนที่เราจะตัดสินสภาวะของซากปรักหักพังอย่างง่ายๆ ว่ามีสถานะที่สถิตและเป็นเพียงจุดจบของตัวตนและการล่มสลายของความสัมพันธ์เท่านั้น
ซากเรือในฐานะสิ่งที่มีชีวิต
แล้วซากเรืออับปาง (shipwreck) ที่จมอยู่ข้างหน้าเรานี้กำลังบอกอะไรกับเราได้บ้าง?
ใน Vibrant Matter งานการศึกษาชิ้นสำคัญของ Jane Bennett (2010) นักปรัชญาสายภววิทยาและวัตถุนิยมแนวใหม่ เธอเสนอให้เรามีมุมมองต่อสภาวะของสิ่งต่างๆ เสียใหม่ ซึ่งตัดข้ามเส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่มีลักษณะทึ่มทื่อไร้ชีวิต (dull matter) อย่างวัตถุ สิ่งของ กับสิ่งที่มีชีวิตชีวา (vibrant matter) อย่างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ Bennett ชวนให้เราพิจารณาสิ่งที่เธอเรียกว่า วัตถุภาวะที่มีชีวิต (vital materiality) ที่ซึ่งการมีชีวิตในที่นี้หมายถึงศักยภาพของสิ่งต่างๆ ที่ไม่เพียงแต่สามารถต้านทานหรือขัดขวางเจตจำนงและปฏิบัติการของมนุษย์เท่านั้น หากแต่สามารถกระทำการในฐานะที่ประหนึ่งเป็นผู้กระทำการที่มีพลังในตัวมันเอง ในการกำหนดความเป็นไปของตัวแสดงหรือปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ด้วย
ข้อเสนอว่าด้วยวัตถุภาวะที่มีชีวิตนี้ช่วยให้เราหันมามองภววิทยาของซากเรืออับปางในลักษณะที่เปลี่ยนไป ในตอนที่ผมดำดิ่งลงไปยังกาบเรือและขยับเข้าไปใกล้กับซากเรือเพื่อสำรวจสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างละเอียดนั้น ผมพบว่าตัวผมเอง ซึ่งไม่ต่างจากนักดำน้ำคนอื่นๆ เลี่ยงที่จะเอามือหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายหรืออุปกรณ์การดำน้ำไปสัมผัสกับตัวเรือ ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเหล็กและสนิมของเรืออาจจะนำมาซึ่งอันตรายต่อตัวเราได้เท่านั้น หากแต่ว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าที่นักดำน้ำรู้สึกได้ ผ่านผัสสารมณ์ (affects) หลากรูปแบบก็คือ เรือหลวงช้างอับปางที่อยู่ตรงหน้านั้นได้เปลี่ยนจากซากเรือเหล็กที่แน่นิ่งกับสนิมที่กัดกร่อน มาเป็นพื้นผิวของปะการังที่มีชีวิต การที่เรามองเห็นวัตถุภาวะของเรือที่เปลี่ยนแปลงจากโลหะที่แข็งกร้าวมาเป็นสัตว์และสิ่งมีชีวิตที่เปราะบางนี้ ทำให้เราเลือกที่จะปฏิบัติกับมันในวิถีทางที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ในภาษาของ Maria Puig de la Bellacasa (2011) เรากำลังแสดงออกซึ่ง การใส่ใจดูแล (matters of care) ที่ซึ่งความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งที่ดูเหมือนเศษซากเรือสนิมที่ถูกจมทิ้งอยู่ตรงหน้านั้น วางอยู่บนความสัมพันธ์ของการมองไปข้างหน้า ซึ่งเชื่อมโยงกับการคาดการณ์ว่ามันกำลังเติบโตมีชีวิต และสามารถจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเป็นสิ่งที่เราไม่อาจคาดการณ์หรือรู้ล่วงหน้าได้อย่างสมบูรณ์ (speculative commitment to neglected things) การที่เราเลี่ยงที่จะสัมผัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้านั้น เป็นเพราะว่าเจตจำนงของการใส่ใจดูแลของเราได้รับอิทธิพลจากอำนาจ (thing-power) หรือการกระทำการของวัตถุภาวะที่มีชีวิตและมีปฏิกิริยาต่อสัมผัส อารมณ์ และความนึกคิดของเรานั่นเอง
แม้ว่านักดำน้ำอย่างเราจะสามารถสร้างความสัมพันธ์กับเรืออับปางได้อย่างลึกซึ้ง แต่กระนั้น มนุษย์นักดำน้ำอย่างผมและคนอื่นๆ เป็นเพียงตัวแสดงหน้าใหม่และไม่ใช่ขาประจำในระบบนิเวศของซากเรือแห่งนี้ด้วยซ้ำ เครือข่ายของความสัมพันธ์ข้ามสายพันธุ์ วัตถุภาวะ และข้ามภววิทยาที่ซับซ้อนและน่าฉงนสนเท่ห์นี้ชี้ว่าเราควรใช้เวลาในช่วงที่ถังอากาศของเรายังพอมีออกซิเจนเหลืออยู่ ในการสำรวจเข้าไปให้ลึกและละเอียดมากขึ้นอีกหน่อย เพื่อพิจารณาให้ใกล้ชิดมากกว่าเดิม โดยเฉพาะในมิติว่าด้วยวัตถุภาวะของซากเรือ และความสามารถของมันในการแสดงออกซึ่งความมีชีวิตและสายสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ ที่มากไปกว่ามนุษย์อย่างเรา
ภววิทยาของซากองคาพยพ
โลหะมักถูกเชื่อมโยงกับความแข็งกร้าว ความคงทน โครงสร้างที่ใหญ่โต และเชื่อมโยงกับโลกของอุตสาหกรรม มันเป็นส่วนหนึ่งของโลกมนุษยสมัยแบบชายเป็นใหญ่ (masculine Anthropocene) ที่ซึ่งโลหะกลายมาเป็นสิ่งแสดงถึงความสามารถมนุษย์ในการปรับแปลงแร่ธาตุจากธรรมชาติให้กลายมาเป็นเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน ยิ่งโลหะถูกนำมาประกอบสร้างเป็นเรือรบอย่างเรือหลวงช้างลำนี้ด้วยแล้ว มันก็ยิ่งถูกให้ความหมายผ่านสัญญะของสงครามและการต่อสู้ ในที่นี้ โลหะที่ประกอบกันขึ้นเป็นเรือหลวงช้างจึงไม่เพียงแต่เป็นวัตถุภาวะที่แน่นิ่งแข็งกร้าวและไร้ชีวิต หากแต่มันยังถูกปรับเปลี่ยนให้กลายมาเป็นยุทโธปกรณ์สำหรับทำลายล้างสรรพชีวิตอีกด้วย
ใน A Thousand Plateaus ของ Deleuze และ Guattari (1987) พวกเขาเสนอให้มองสิ่งที่เรียกว่า สภาวะมีชีวิตของวัตถุ (material vitalism) โดยเฉพาะความสามารถหรือปฏิบัติการของสิ่งต่างๆ ที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นไปในลักษณะของการขยับขยายร่างกายหรือพื้นที่ การเติบโตของสิ่งต่างๆ ซึ่งแสดงออกถึงการมีชีวิตผ่านการขยายตัวหรือพื้นที่นั้นเป็นเพียงคุณลักษณะเพียงแบบหนึ่งของการแสดงออกถึงการมีชีวิตเท่านั้น มันยังมีการแสดงออกในรูปแบบอื่นๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าการมีชีวิตนั้นสามารถแสดงออกมาได้อย่างน่าสนใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น การสั่นไหวอย่างเบาๆ การค่อยๆ มลายหายไป หรือการแสดงออกจากการถูกเร้าอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย และในบางครั้งก็ไร้คำอธิบาย กระบวนการเล็กๆ และแสนจะละเอียดอ่อน และในบางครั้งก็มักจะถูกละเลยจากการมองจากระยะห่างหรือมีสายตาของการมองภาพกว้างนี้ มักจะเกิดขึ้นก่อน ฝังแฝงซ่อนอยู่ภายใน และก่อกำเนิดเป็นเรือนร่างหรือองคาพยพอันใหญ่โตในที่สุด
หากเรามองหาสภาวะมีชีวิตของวัตถุจากซากเรืออับปางตามที่ Deleuze และ Guattari ว่า เราอาจจะเริ่มเห็นว่าการเคลื่อนตัว สั่นไหว หรือการค่อยๆ สนองตอบต่อสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นบริเวณพื้นผิวโลหะและซอกหลืบสนิมของเรือนั้น เป็นการสั่นไหวที่กำลังจะบอกกับเราให้รู้ว่ามันเป็นปรากฏการณ์ของซากอับปางที่มีชีวิต เรือหลวงช้างไม่ต่างจาก A Thousand Plateaus ในแง่ที่มันล้วนแต่เต็มไปด้วยฟองฟอด แสงเรืองอ่อน และการสั่นไหวเบาๆ ที่มีชีวิตชีวา ที่ซึ่งองคาพยพของเรือและเนื้อโลหะได้กำลังทำงานให้ตนเองกลายมาเป็นสัตว์ (becoming-animals) ที่กำลังคืบคลานครอบคลุมหลุมสนิมและพื้นผิวโลหะที่ไร้ชีวิตของเรือ ชีวิตของวัตถุภาวะอย่างโลหะกำลังค่อยๆ ปรับเปลี่ยนภววิทยาของมันอย่างช้าๆ เรือหลวงช้างได้ทำงานในฐานะการสร้างชีวิตใหม่ในสรรพางค์ของซากอับปางเดิมของมันนั่นเอง
สิ่งมีชีวิตที่เติบโตขึ้นจากเนื้อโลหะของซากเรือนั้นมีความหลากหลายมากมายสายพันธุ์ นอกจากความสามารถในการปรับเปลี่ยนเชิงภววิทยาแล้ว ซากอับปางดังกล่าวนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นพหุของภววิทยา (ontological multiplicity) ของการปรับตัวอีกด้วย ซากเรือหลวงช้างที่ได้กลายมาเป็น “วัตถุภาวะหลากสายพันธุ์” (multispecies materiality) นี้ เกิดขึ้นได้ไม่เพียงเพราะว่ามันดำรงอยู่ระบบนิเวศที่เหมาะสมเท่านั้น หากแต่ความสัมพันธ์ของชีวิตและการเติบโตที่เราได้เห็นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากคุณลักษณะทางกายภาพของวัตถุภาวะที่สามารถเชื่อมต่อเชิงผัสสารมณ์ (affective materialism) กับชีวอินทรีย์ บรรยากาศใต้น้ำ และสิ่งอื่นๆ ที่หมุนเวียนกันเข้ามาในคลื่นข่ายผู้กระทำที่ไหลเวียนนี้
ชีวิตของโลหะ
ลักษณะทางกายภาพหนึ่งของโลหะคือการที่มันประกอบด้วยสารประกอบในรูปผลึกพหุสัณฐาน (polycrystalline substance) หรือกล่าวอีกอย่างก็คือว่า โลหะจะประกอบด้วยผลึกขาดเล็กที่เกาะเรียงกันเข้าเป็นกลุ่มเพื่อเติมเต็มช่องว่างระหว่างกันในหลากหลายรูปแบบ รูปร่างของผลึกเหล่านี้ไม่ได้เหลี่ยมมุมสวยงามเปล่งประกายมีชีวิตชีวาเหมือนอัญมณีแต่อย่างใด หากแต่มันมีผิวหน้าที่โค้งมน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่มันเสียดสีรบกวนกันและกันในกระบวนการก่อตัวของผลึก ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นผิวที่โค้งมนของผลึกและการประกอบกันขึ้นแบบพหุสัณฐานนี้เองที่มีความสำคัญ และอาจจะสำคัญมากกว่าโครงสร้างภายในของมันด้วยซ้ำ ในแง่ที่ว่าความโค้งมนของผลึกที่มาเรียงปะติดปะต่อกันนี้มักจะเต็มไปด้วยช่องว่างระหว่างผลึกและอะตอม ช่องว่างดังกล่าวนี้เองซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีที่อนุญาตให้สสารหรืออินทรียวัตถุต่างๆ สามารถเข้าไปฝังตัวและทำงานร่วมกับโลหะในการผลิตสร้างชีวิตในพื้นที่ใน-ระหว่างนี้ได้ คุณสมบัติทางกายภาพนี้ทำงานร่วมมืออย่างดีกับคลื่นใต้น้ำ สิ่งมีชีวิตขนาดน้อยใหญ่ แสงแดด อุณหภูมิ แร่ธาตุ และปัจจัยอื่นๆ ซึ่งคงกล่าวไม่ได้หมดในที่นี้ ในการบ่มเพาะองคาพยพของสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์เชิงบวกที่เกิดขึ้นใต้ท้องทะเลนี้คงไม่ใช่คุณสมบัติเดียวของโลหะ หากแต่มันขึ้นกับว่าโลหะกำลังทำงานกับวัตถุภาวะใด ในบริบทไหน อย่างไรด้วย ในบางครั้งโละก็มีปฏิกิริยาเชิงลบได้ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างโลหะกับแสง ที่ซึ่งโลหะทำหน้าที่ในการสกัดกั้นการเดินทางของแสง ไม่ยอมให้แสงผ่านไปได้ ผัสสารมณ์ระหว่างวัตถุภาวะและชีวสายพันธุ์ที่หลากหลายนี้ดำรงอยู่นอกเหนืออำนาจของมนุษย์ในการเข้าไปควบคุมจัดการ สำหรับนักดำน้ำแล้ว เราคงได้แต่เฝ้ามองการทำงานร่วมกันของมัน และเรียนรู้การปรับตัวเข้าหากันและกันของมันเท่านั้นเอง
บทเรียนหนึ่งที่เราอาจจะได้จากการเรียนรู้ชีวิตของโลหะใต้น้ำก็คือว่า การเฝ้าสังเกตซากเรืออับปางทำให้เราตระหนักว่าคำถามว่าด้วย “อะไร” เช่น ซากเรืออับปางคืออะไร หรือ โลหะคืออะไร อาจจะทำให้เรามองไม่เห็นความเป็นไปได้ของซากสรรพางค์อย่างมีพลวัตนัก แทนที่จะถามว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร ลองตั้งคำถามว่า “มันทำอะไร” หรือ “เป็นอะไร” ได้บ้าง และอย่างไร การทดลองตั้งคำถามใหม่ๆ เชิงทดลองเพื่อมองหาความเป็นไปได้เหล่านี้อาจจะช่วยให้เราสร้างบทสนทนากับสรรพสิ่งมากมายรอบตัวเราได้อย่างมีส่วนร่วมมากขึ้น โลกใต้น้ำไม่อนุญาตให้มนุษย์อย่างเราใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารได้มากนัก นั่นอาจจะเป็นการดีก็ได้ ที่ทำให้เราหันหน้าเข้าหาสรรพสิ่งต่างๆ มากขึ้น และเรียนรู้ที่จะสื่อสารเรียนรู้ด้วยวิธีใหม่ๆ ในการทำความเข้าใจชีวิตของมัน
ซากวัตถุที่มีชีวิต
การดำน้ำลึกที่ซากเรืออับปางในครั้งนี้ สะท้อนให้เราหันมาทบทวนถึงแนวทางของการมองโลกแบบใหม่ ที่พยายามจะข้ามพ้นกรอบคิดแบบมนุษย์หรือชีวเป็นศูนย์กลาง (anthropocentrism/biocentrism) การได้ดำดิ่งลงไปเผชิญหน้ากับซากเรืออับปางอย่างใกล้ชิด และการสร้างความสัมพันธ์กับมันอย่างเคารพ ในฐานะที่มันมีชีวิต มีสภาวะเชิงวัตถุที่หลากหลายและเลื่อนไหล มีความเคลื่อนไหว และมีชีวิตชีวา ทำให้เราเริ่มเห็นว่าความสวยงามและจุดเริ่มต้นของชีวิตนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากเศษซากที่ถูกละทิ้ง จากสิ่งซึ่งจมหาย และจากการทลายมายาคติว่าด้วยความทึมทื่อไร้ชีวิตของวัตถุสิ่งของ
ก่อนที่ผมจะค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นมาเหนือน้ำ ผมได้หันหลังกลับไปมองเรือหลวงช้างอีกครั้ง สิ่งที่ผมมองเห็นไม่ใช่ซากเรือที่อับปาง
หากแต่เป็นร่าง-หรือสรรพางค์-ของสรรพชีวิต
บรรณานุกรม
- กาญจนา จินตกานนท์. 2564. “8 ปี Wreck Dive “เรือหลวงช้าง” จากบ้านปลาขนาดใหญ่ สู่อนาคตอุทยานใต้ท้องทะเลตราด” เทคโนโลยีชาวบ้าน, https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_171233
- จักรกริช สังขมณี. 2565. “มานุษยวิทยาใต้ทะเล : Making sense of the underwater world” Anthropologyyyyy. https://anthropologyyyyy.xyz/stories/2022/making-sense-of-the-underwater-world/
- Bennett, Jane. 2010. Vibrant Matters: A Political Ecology of things. Durham and London: Duke University Press.
- de la Bellacasa, Maria Puig. 2011. “Matters of care in technoscience: Assembling neglected things” Social Studies of Science, Vol. 41, No. 1 (February 2011), pp. 85-106.
- Deleuze, Gilles and Guattari, Felix. 1987. A Thousand Plateaus: Capitalism and Schizophrenia. Minnesota: University of Minnesota Press.
- Tsing, Anna. 2014. “Wreckage and recovery: Four papers exploring the nature of nature” in Wreckage and recovery: Exploring the nature of nature. Aarhus University Research on the Anthropocene (AURA) Working papers Volume 2. Aarhus University.