เดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา กกต.เปิดให้ยื่นจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ได้ แม้ว่าบางพรรคจะจดไม่สำเร็จ และหลายพรรคอาจไปไม่ถึงฝั่งฝัน สมาชิก สาขาพรรคไม่ครบ ไม่ผ่านเกณฑ์ต่างๆ นานา แต่ก็เป็นที่น่าสนใจอยู่ดีว่า พวกเขาเตรียมตัวมาเปิดตัวต่อสาธารณะชนอย่างไร วางตัวแบบไหนกันบ้าง เราสนใจจะดูจากการเลือกฟอนต์ในชื่อพรรคเป็นหลัก เพราะตราสัญลักษณ์และชุดสีนั้นบ่งชี้ความหมายชัดเจนอยู่แล้ว ดังจะเห็นว่าหลายพรรคได้ออกมานำเสนอว่าองค์ประกอบต่างๆ หมายถึงคุณค่า ความเชื่อ อุดมการณ์ต่างๆ อย่างไรบ้าง แต่ไม่มีใครอธิบายว่าฟอนต์ดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร หลายพรรคใช้ฟอนต์หลายตัวพร้อมๆ กัน ชื่อพรรคใช้ฟอนต์หนึ่ง เสื้อใช้ฟอนต์หนึ่ง ไวนิลใช้ฟอนต์หนึ่ง การพิจารณาตัวเลือกฟอนต์ของพรรคการเมืองอาจช่วยให้รู้จักพรรคต่างๆ ในมุมที่ต่างออกไป
เราได้จำแนกพรรคตามแนวทางการเลือกใช้ฟอนต์ออกเป็น 3 กลุ่มดังต่อไปนี้
1. ฟอนต์นี้ที่คุ้นเคย
กลุ่มนี้เลือกใช้ฟอนต์ที่คนคุ้นเคยกันมาก ที่ไม่พลิกโผเลยคือ TH Sarabun ฟอนต์แห่งชาติมาตรฐาน ซึ่งพลังพลเมืองไทยนำมาใช้ได้อย่างยอดเยี่ยม ใช้ช่องไฟดั้งเดิม คู่กับชุดสีธงชาติ ให้ความรู้สึกมาตรฐานราชการอย่างถึงที่สุด ช่วยกลบความแปลกตาของ logo ให้ดูเรียบเฉยลงได้ นอกจากนี้ยังมีการจัดวางอักษรให้คำว่า พรรค หลบอยู่ด้านหน้าไม้หันอากาศ ทำให้ชื่อพรรคจริงๆ โดดเด่นขึ้นอีก ขอยกให้เป็นพรรคที่ออกแบบมาดีที่สุดในกลุ่มนี้ สมกับเป็นพรรคของอดีต สส. และรัฐมนตรีที่มีประสบการณ์โชกโชน[1] อีกพรรคหนึ่งที่ใช้ TH Sarabun คือ พรรคเพื่อชาติไทย เนื่องจากภาพไม่ค่อยชัดจึงไม่มั่นใจนัก แต่เข้าใจว่ามีการดึงตัวอักษรให้กว้างออก
อีกฟอนต์ที่มาแรงคือ PSL Text ซึ่งเป็นฟอนต์ตัวพื้น อ่านง่าย มาตรฐานเช่นเดียวกัน มีลูกเล่นอยู่บ้าง จะเห็นได้ชัดใน ธ.ธง มีการดัดปลายด้านในให้โค้งไปรับกับหางที่สะบัดเฉียงขึ้น ทำให้คำว่า ธรรม ของทั้งสองพรรคข้างต้นดูน่าจดจำมากขึ้น แม้จะมีความเรียบมากก็ตาม น่าเสียดายที่พลังธรรมใหม่นำฟอนต์ไปยืดให้สูงขึ้น และเพิ่ม stroke เข้าไปอีกทำให้หัวตัวอักษรเกือบตัน และลดทอนรายละเอียดของ ธ.ธง ไปด้วยในเวลาเดียวกัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่เป็นไร เพราะจริงๆ แล้วพรรคนี้มีดีที่ logo ซึ่งคนจำนวนหนึ่งคุ้นเคยอยู่แล้ว เป็น logo พรรคพลังธรรมของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่ยุบไปเกือบ 10 แล้ว นำมาปรับให้เป็นสีธงชาติ และเพิ่มรวงข้าวเข้าไป ตัวอักษรจึงไม่สำคัญมาก แค่ทำให้หนาหนักแน่นก็พอแล้ว แม้จะเป็นพรรคพลังธรรมใหม่ แต่อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียงการฉวยใช้ทุนเดิมมาใช้ง่ายๆ ล้วนๆ และเป็นหนึ่งพรรคที่มีจุดยืนสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกต่ออีกสมัยอย่างชัดเจน[2]
อีก 2 พรรคในกลุ่มนี้เลือกใช้ฟอนต์ที่คุ้นเคยสุดๆ ใน 2 แนวที่ต่างกันออกไป พรรคพลังชาติไทย เลือกใช้ UPC Angsana ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในฟอนต์ที่ถูกใช้ในเอกสารราชการมากที่สุดตัวหนึ่งในยุคก่อน TH Sarabun ส่วนคำว่าไทย ด้านในวงกลมก็เป็น JS Laongdao ซึ่งปัจจุบันอนุญาตให้ใช้ฟรีแล้ว[3] แต่ก็อาจเรียกได้ว่าไม่เป็นที่นิยมมากเท่าใดแล้ว และ(เกือบ)เป็นเพียงพรรคเดียวที่เลือกใช้ฟอนต์ตระกูล JS การเลือกใช้ฟอนต์จากยุคก่อนสื่อถึงการกลับไปสู่อดีตอันคุ้นเคย วันวานแสนหวานคอมฟอร์ดโซนได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับการเป็นพรรคทหาร นำโดยอดีตทีมงาน คสช. [4] จัดเป็นอีกพรรคที่เลือกใช้ฟอนต์ได้ดีมาก
พรรคสุดท้ายในกลุ่มนี้ได้แก่พรรคประชาธรรมไทย เลือกใช้ฟอนต์จาก UPC เช่นกัน แต่เลือก UPC Lily ความพิเศษของฟอนต์ตัวนี้คือมีความคล้ายคลึงกับฟอนต์ของไทยรักไทยพลังประชาชนเพื่อไทย เป็นอย่างมาก แม้ประชาธรรมไทยจะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเครือข่ายนี้ แต่การเลือกใช้ฟอนต์ใกล้เคียงและชุดสีเดียวกันก็เป็นการกระโดดเกาะความคุ้นเคยทางสายตาของผู้คนไปอย่างเนียนๆ สมกับที่หัวหน้าพรรคออกตัวแรงประกาศจุดยืนพร้อมเป็นนายก[5] อย่างไรก็ตามพรรคนี้เป็นอีกพรรคที่ใช้ฟอนต์หลากหลาย ในงานแถลงข่าวอีกงานก็ปรากฎว่าใช้ JS Sunsanee แทน UPC Lily แต่ก็ถือว่าเป็นการเลือกใช้ฟอนต์เก่าๆ ที่คนคุ้นเคยเช่นกัน
2. ฟอนต์ใหม่ไฉไลจัง
ฟอนต์ทั้ง 3 ตัวในกลุ่มนี้ไม่ได้ใหม่เอี่ยมเสียทีเดียว ตัวที่ใหม่ที่สุดก็อายุ 2 ปีแล้ว แต่อาจเรียกได้ว่าใหม่มากสำหรับการมาแสดงชื่อพรรคการเมือง โดยที่ทั้ง 3 พรรคก็เลือกใช้ฟอนต์ไปคนละแนวกันทั้งสิ้น
พรรคอนาคตใหม่เลือกใช้ DB Object X หนึ่งเดียวที่เลือกใช้ฟอนต์จากค่าย DB มีการนำไปจัดช่องไฟเพิ่มเพียงเล็กน้อย แม้ฟอนต์ตัวนี้จะมีมานานแล้วพอสมควร แต่อาจกล่าวได้ว่าไม่ใช่ตัวที่เป็นที่นิยมมากเท่ากับฟอนต์อื่นๆ ของทุกพรรคที่กล่าวมาก่อนหน้านี้เลย และไม่ได้รับความนิยมในระดับเดียวกับ DB Gin Siam ของค่ายเดียวกันซึ่งเห็นได้เกลื่อนกลาดทั่วไป ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ Object X เป็นฟอนต์ที่ค่อนข้างท้าทายสายตาผู้อ่านมาก ด้วยรูปลักษณ์ที่ประกอบขึ้นจากรูปทรงเรขาคณิต สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงกลม ซึ่งสอดรับกับ logo ได้เป็นอย่างดี ทว่าขัดต่อความคุ้นเคยของผู้อ่าน ความขัดใจนี้ไปกันได้ดีกับแนวทางของพรรคที่มุ่งจะผลักดันประเทศไปสู่อนาคตที่ใหม่จริงอะไรจริง ซึ่งจะต้องขัดใจคนบ้างไม่มากก็เยอะ ทรงเรขาคณิตที่แสดงออกถึงความเป็นเหตุเป็นผลที่แข็งกร้าวนี้ดูจะเข้ากันได้ดีกับพื้นฐานความคิดจากฝรั่งเศสของผู้ร่วมก่อตั้งท่านหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ล่าสุดพรรคก็ได้ลดท่าทีแข็งกร้าวนี้ลงด้วยการดัดตัวอักษรให้เป็นมิตรมากขึ้น แต่ยังคงเอกลักษณ์ของ Object X เอาไว้ค่อนข้างมาก[6]
พรรคสามัญชน เลือกใช้ฟอนต์ วัส@ปีนัง[7] ซึ่งแม้จะมีอายุเพียง 2 ปี แต่สไตล์ของแบบอักษรนี้อาจย้อนไปได้หลายสิบปี วัส@ปีนัง ออกแบบโดย วัส โวยวาย อดีตช่างเขียนป้ายในจังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันยังคงรับทำป้าย แต่เปลี่ยนมาใช้เครื่องมือและวัสดุใหม่ รวมถึงทำฟอนต์ขึ้นใช้เอง ฟอนต์ตัวนี้มาจากอักษรที่ช่างเขียนป้ายเรียกกันว่า “ตัวยู” เพราะมักใช้พู่กันแบนลากโค้งเป็นตัวยูกับตัวอักษรหลายๆ ตัว ทำให้เขียนได้ง่าย เร็ว และเป็นระเบียบ บางส่วนลอกเลียนมาจาก DB Erawan ของค่าย DB แต่จะเห็นว่าถูกดัดแปลงออกไปมากจนจำแทบไม่ได้ แล้วแต่สไตล์ของช่างแต่ละคน เมื่อวัสทำฟอนต์นี้ออกแจกจ่ายก็ได้รับความนิยมนำไปพิมพ์เป็นป้ายประกาศจำนวนมาก ตามวินรถตู้ ร้านก๋วยเตี๋ยว วินมอเตอร์ไซค์ แม้จะเป็นฟอนต์ใหม่ทว่าชาวบ้านกลับคุ้นเคยกันมาก อาจจะเทียบกับกลุ่มแรกได้เลย แต่เป็นความคุ้นเคยของคนอีกกลุ่มหนึ่ง คนที่อยู่ห่างไกลจากทั้งเทคโนโลยีการพิมพ์ และศูนย์กลางของประเทศ สอดรับกับชื่อและแนวทางของพรรคอย่างยอดเยี่ยม ถือเป็นการเลือกฟอนต์ที่ยอดเยี่ยม
พรรคสุดท้ายในกลุ่มนี้คือพรรคทางเลือกใหม่ เลือกใช้ CS ChatThai (ชาติไทย) ซึ่งมีบุคลิกที่น่าสนใจมาก ฟอนต์ตัวนี้ออกแบบมาเพื่อเป็นตัวพื้นและมุ่งให้ใช้งานกับ UI (user interface) ในเว็บ หรือแอปลิเคชั่นในอุปกรณ์เคลื่อนที่ และเรามองว่ามีบุคลิกที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความเป็นทางการของ TH Sarabun กับลูกเล่นเหลี่ยมมุมของ TH Baijam ซึ่งทำให้เป็นฟอนต์ที่น่าประทับใจมากตัวหนึ่ง ดูคุ้นเคย แต่เมื่อดูใกล้ๆ ก็จะพบว่าไม่ใช่ฟอนต์มาตรฐานตัวใดในชุด TH ทั้ง 13 ตัว เป็นระเบียบทางการแต่ก็ดูใหม่ไปด้วยในตัว ทำให้ ChatThai เป็นอีกตัวที่เหมาะเจาะมาก ทั้งในแง่ที่มันเข้ากับ logo ที่ดูคล้าย App มือถือ และในแง่ของการเคลือบทับความระเบียบทางการด้วยสิ่งที่ดูใหม่ ของพรรคแรกและพรรคเดียวที่ คสช. อนุมัติให้ดำเนินกิจกรรมได้ก่อนใครเพื่อน เพราะมีจุดยืนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกอย่างชัดเจน มีอดีต กปปส.เข้าร่วมคับคั่ง [8]
3. ฟอนต์ใหม่ป๊ายยย
ที่จริงแล้วกลุ่มนี้อาจจัดเข้า 2 กลุ่มข้างต้นได้ทั้งสิ้น แต่เป็นการเลือกฟอนต์ที่เห็นแล้วต้องอุทานว่า “อะไรวะเนี่ย” เพราะเป็นตัวเลือกที่ใหม่ลืมโลกมาก ประเดิมด้วยพรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคมาแรงของอดีตแกนนำ กปปส. เลือกใช้ฟอนต์ RSU ซึ่งเป็นฟอนต์อัตลักษณ์องค์กรของมหาวิทยาลัยรังสิต แม้ว่าฟอนต์ตัวนี้จะเปิดให้ดาวน์โหลดและอนุญาตให้นำไปใช้ฟรีๆ และแกนนำพรรคท่านหนึ่งจะเป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัย แต่การเอาฟอนต์ที่เป็นอัตลักษณ์องค์กรหนึ่งอยู่แล้วมาใช้กับอีกองค์กรหนึ่งนั้น ไม่เหมือนการนำไปพิมพ์ไวนิลร้านเครปแน่นอน เรียกได้ว่าเป็นการเลือกฟอนต์ที่ WTF มากภายใต้รูปลักษณ์ที่สะอาดสะอ้านสวยงาม สื่อถึงอะไรบ้างก็เชิญคิดกันเองไม่วิค้งวิเคราะห์แล้วว้อย
สองพรรคต่อมา ก็ชวนงงอีกเช่นกัน คือพรรคที่เป็นเครือข่ายคสช. เลือกใช้ฟอนต์เฟี้ยวฟ้าว ส่วนพรรคเกรียนของนักเคลื่อนไหวบ่อนทำลาย คสช. ตัวเอ้ กลับเลือกใช้ฟอนต์เรียบร้อยเป็นมาตรฐาน กล่าวคือจริงๆ แล้วพรรคประชาชนปฏิรูป ควรจะเป็นฝ่ายใช้ Ekkamai และในทางกลับกันพรรคเกรียนควรใช้ SC Cheangkhan หรือฟอนต์ในทำนองเดียวกันนี้มากกว่า เรื่องนี้ผู้ออกแบบของทั้งสองพรรคอาจจะมีมุมที่ต่างออกไปไม่ว่ากัน เพราะอย่างน้อยก็ยังไม่งงเท่ากับพลังประชาชาติไทยอย่างแน่นอน
แน่นอนว่าผู้เขียนตีความการใช้ฟอนต์ออกไปได้ต่างๆ นานา ซึ่งผู้อ่านจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตามใจ แต่การเลือกใช้ฟอนต์ที่ต่างกันก็ไปก็ย่อมส่งผลต่อน้ำเสียงในการสื่อสารของพรรคการเมืองต่างๆ ต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน แบบอักษรมีสไตล์ ช่วงอายุ ความคุ้นชินที่เชื่อมโยงกับกลุ่มคนที่หลากหลายกันออกไป ไม่ต่างไปจาก ความคิด ความเชื่อทางการเมืองที่มีหลายเฉด ผู้ที่จะตัดสินว่าการจับคู่ของฟอนต์กับพรรคใดเข้าท่าบ้าง ก็คือผู้ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น (เมื่อไหร่ก็ไม่รู้) นั่นเอง
4. แถม
นอกจากฟอนต์แล้ว สีก็น่าสนใจเหมือนกัน เราจึงทดลองพล็อตออกมาเป็นแผนภูมิเล่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าชุดสี แดง ขาว น้ำเงินนำมาเป็น 3 อันดับแรก สีธงชาติไทยยังคงเป็นชุดสีหลักที่พรรคการเมืองเลือกใช้ คิดเป็น 42% ในสัญลักษณ์ของพรรคจดทะเบียนใหม่ทั้งหมด โทนเหลืองส้มตามมาติดๆ เป็นสีที่อนาคตใหม่และพรรคเกรียนเลือกใช้เหมือนกัน ซึ่งน่าสนใจว่าชุดสีตรงกลางนี้ มักถูกนำมาใช้สื่อถึงความใหม่ อยู่เนืองๆ เช่นที่ ความหวังใหม่ และ การเมืองใหม่ เคยใช้มาก่อน เพราะอย่างนี้เราถึงมองว่าเพียงแค่สีอาจจะยังไม่พอ แต่การเลือกฟอนต์จะช่วยบอกอะไรเพิ่มได้อีกมากเช่นกัน
ฟอนต์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ที่สามารถใช้ได้ฟรี ได้แก่
TH Sarabun แน่นอนอยู่แล้ว
Was@Peenang CS Cheangkhan CS ChatThai และ Ekkamai สามารถดาวน์โหลดได้จาก f0nt.com
RSU ดาวน์โหลดได้จากเว็บของมหาวิทยาลัยรังสิต
DB Object X และ PSL Text เป็นฟอนต์ลิขสิทธิ์ต้องจ่ายเงินซื้อมาใช้นะ
ส่วน UPC Angsana และ UPC Lily จริงๆ แล้วก็มีลิขสิทธิ์ ผูกติดมาพร้อม Windows ของแท้จ้า
อ้างอิง
[1] https://www.posttoday.com/politic/news/538099
[2] https://www.thairath.co.th/content/1217498
[3] https://www.facebook.com/photo.php?fbid=548544991889214&set=a.206635192746864.49374.100002011547717&type=3&theater
[4] https://www.matichon.co.th/clips/news_860680
[5] https://www.matichon.co.th/politics/news_869717
[6] http://cadsondemak.com/futureforward/
[7] http://www.f0nt.com/release/was-peenang/
[8] https://www.khaosod.co.th/politics/news_879336
เกี่ยวกับผู้เขียน
Material Culture Studies
Design Anthropology
Capybara