เช่นเดียวกับเรื่องเล่าทั่วๆ ไป “สแล็ปปี ฮูเปอร์ ช่างเขียนป้ายผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ว่องไวที่สุด ผู้ยอดเยี่ยมที่สุดของที่สุดในโลก” (Slappy Hooper, World’s Biggest, Fastest, and Bestest Sign Painter) มีมากมายหลายแบบฉบับ มีจังหวะจะโคนการดำเนินเรื่อง และความมหัศจรรย์ต่างกันออกไป แต่ล้วนมีช่างเขียนป้ายชื่อ Slappy Hooper เป็นตัวเอกของเรื่องและมีองค์ประกอบต่างๆ ร่วมกัน อาทิความ “ใหญ่” ของเขาไม่ใช่เพียงร่างกายที่ใหญ่ยักษ์ผิดมนุษย์ แต่เพราะท้องฟ้าคือป้ายที่เขาใช้เขียนตัวอักษร เคล็ดลับของเขาคือการใช้ปืนใหญ่ยิงตะขอขึ้นไปเกี่ยวท้องฟ้าแล้วปีนขึ้นไปพร้อมชุดสีและพู่กัน ในฉบับแรกที่มีการบันทึกมาตีพิมพ์เป็นลายลักษณ์อักษร Slappy เคยเขียนตัวอักษรบนท้องฟ้าให้กับบริษัทรถไฟยาวตลอดสายการเดินรถ จนคนต้องแหงนหน้ามองตลอดทาง ทว่าต่อมาเขาต้องล้มเลิกการเขียนตัวหนังสือบนฟ้าไปเพราะมีเทคโนโนโลยีใหม่คือเครื่องบินพ่นควันมาเขียนตัวหนังสือแทน
Slappy บอกว่าเครื่องบินที่ฉวัดเฉวียนทำให้เขาทำงานบนท้องฟ้าไม่ได้อีกต่อไป จึงต้องหันมาเขียนป้ายที่เน้นความ “สมจริงดุจมีชีวิต” (true to life) แทน ทว่าผลงานของเขามัก “ดีเกินไป” จนก่อให้เกิดความวุ่นวายตามมาเสมอ ในแต่ละฉบับมีรายละเอียดต่างกันออกไปตามจินตนาการของผู้เล่า เช่น ป้ายร้านขายดอกไม้ของเขาสมจริงกระทั่งผึ้งมารุมตอมจนลูกค้าไม่กล้าเข้าร้าน ป้ายโฆษณาเตาไฟร้อนจนทำบ้านตรงข้ามไฟไหม้ นกอินทรีบนผนังที่ทำการไปรษณีย์ก็มีชีวิตขึ้นมากระพือปีกจนตึกพัง เด็กชายในฉบับ 1946 เห็นป้ายขนมปังแล้วถึงกับต้องรีบวิ่งกลับบ้านไปกินขนมปัง ส่วนป้ายโฆษณาบริษัททัวร์รูปชายหาดในฉบับ 1993 ทำเอาหิมะละลาย และคนต่างพากันมานอนอาบแดดจนกีดขวางการจราจรวุ่นวายไปทั้งเมือง แม้จะฟังดูเป็นนิยาย แต่โฆษณาก็อาจส่งผลเช่นนี้ได้จริงๆ
ในสารคดีที่สำรวจการมองของผู้คน Way of Seeing (1972) John Berger อธิบายว่าองค์ประกอบของภาพโฆษณาแทบไม่ได้ต่างไปภาพวาดสีน้ำมันในอดีตเลย สิ่งที่ต่างไปคือวิธีที่คนมองภาพเหล่านี้ ในขณะที่ภาพวาดสีน้ำมันอยู่ในกรอบทองประดับบ้าน เพื่อสะท้อนความเป็นจริงของชีวิตอันหรูหราของคนรวย แต่ภาพโฆษณา (publicity) อยู่ท่ามกลางผู้คนที่ไม่มีสิ่งเหล่านั้น ความอิจฉาทำให้เกิด “ความเย้ายวน” (glamour) ที่เกิดขึ้นกระทั่งกับตัวเราเอง ในขณะที่นั่งจมจ่อมอยู่กับงานอันแสนน่าเบื่อ เราก็จินตนาการไปถึงตัวเองในชุดสวยบนชายหาด ภาพวาดของจิตรกรจึงไม่อาจ “ดีเกินไป” ในขณะที่ป้ายโฆษณาเพื่อการพาณิชย์ของช่างเขียนป้าย อาจกลายเป็นสิ่งชั่วร้าย เป็นภัยพิบัติที่มอมเมาผู้คนได้
แม้ Slappy จะถูกให้ภาพราวกับเป็นพระเจ้า เป็นชายร่างใหญ่ยักษ์ที่เหาะเหินเดินอากาศได้ แต่เขาอาจไม่ใช่ตัวแทนของนักโฆษณา การตลาด หรืออะไรก็ตามที่ขับเคลื่อนทุนนิยม เพราะถึงที่สุดแล้วทุกฝ่ายก็เสียหายกันหมด ทั้งตัว Slappy เองและเจ้าของธุรกิจ ปมของเรื่องนี้คือความขัดแย้งระหว่างพรสวรรค์อันยิ่งใหญ่กับงานของเขาเอง ซึ่งในฉบับนิทานภาพปี 1946 กับปี 1993 คลี่คลายปมนี้ไปในทิศทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง
ในฉบับปี 1946 Slappy เป็นเหมือนเทวดาตกสวรรค์ เริ่มจากการทำงานบนท้องฟ้า ก่อนจะลดตัวลงมาเขียนป้ายธรรมดา และล้มเลิกการเป็นช่างเขียนป้ายไปในที่สุด1 ในฉบับนี้เขามีศัตรูตัวฉกาจคือการผลิตแบบอุตสาหกรรม เขาพอใจกับการเป็นนายของตัวเอง ที่ไม่ต้องทำงาน “public works” เป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกล่ามไว้กับตารางเวลา (1944, Conroy: 548) นอกจากเครื่องบินพ่นควัน (skywriting) แล้ว ก็ยังมีพวกคนเขียนป้ายอ่อนหัด (green hand) ที่อาศัยแบบร่างเจาะรู (pounce) มาแย่งงานเขียนป้ายของเขาด้วย Slappy บอกว่าพวกนี้ไม่สามารถกระทั่งเขียนหัวของตัวไอ (i) ให้กลมได้หากไม่มีเครื่องมือช่วย ในขณะที่ช่างเขียนป้ายมือเก๋าใช้เพียงพู่กันกับมือที่ฝึกจนชำนาญ ชายชราในเรื่องเล่าฉบับนี้กล่าวกับเด็กชายว่า
“ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว คนเดี๋ยวนี้ไม่ชื่นชมคนอย่าง Slappy อีกต่อไป ต้องโทษสิ่งประดิษฐ์อย่างเครื่องบินพ่นควัน และแบบตัวอักษรสำเร็จรูป ที่ทำให้คนเลิกให้ความสำคัญกับช่างเขียนป้ายที่ใช้ร่างกายทำงาน” (Conroy, 1946)
Slappy ทำงานเป็นฟรีแลนซ์ (freelance) อยู่ได้เพราะเขามีฝีมือเป็นเครื่องต่อรอง ในขณะที่เทคโนโลยีใหม่ทำให้ช่างเขียนป้ายกลายเป็นเพียงแรงงานด้อยทักษะที่ไร้อำนาจต่อรอง แต่การผลิตแบบอุตสาหกรรมนี้ก็ทำให้ความเป็นช่างฝีมือ (craftsmanship) ไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Slappy คือความแปลกแยก (alienation) ของเขาต่องานที่เขารัก ตลอดทั้งเรื่อง Slappy มักกล่าวอย่างภูมิใจว่างานที่เขาเพิ่งทำเสร็จคือ “ป้ายที่ดีที่สุดที่เขาเคยทำมา” ไม่ใช่เพราะคนชื่นชมหรือทำให้ยอดขายสินค้าเพิ่ม แต่เขาเพราะเขาพอใจในผลงานของตัวเอง ความมุ่งมาดที่จะทำงานให้ดีเพียงเพื่อทำให้มันดี (the desire to do a job well for its own sake) คือแรงขับเคลื่อนพื้นฐานของงานฝีมือทุกชนิด (Sennet, 2008) และ Slappy มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ผลร้ายที่ตามมาจึงทำเขาใจสลาย
รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับวิกฤตของงานช่างฝีมือเหล่านี้หายไปจากเวอชั่นปี 1993 ในฉบับที่สองนี้ Slappy เริ่มจากงานเขียนป้ายเล็กๆ ก่อนจะเขียนป้ายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าความวุ่นวายก็ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย กระทั่งในที่สุดเขาตัดสินใจจะโยนกล่องเครื่องมือทิ้งน้ำไปเสีย แต่แล้วก็มีช่างป้ายเทวดาจากบริษัทป้ายสวรรค์ (Heavenly Sign Company) มาห้ามเอาไว้ แล้วทาบทามให้ไปทำงานที่เหมาะสมกับความสามารถของเขาแทน Slappy จึงได้เริ่มขึ้นไปบนฟ้าวาดรุ้งกินน้ำ และได้ทำงานบนท้องฟ้าไปทั่วโลก เป็นตอนจบที่งดงาม ฉบับปี 1993 นี้เป็นเรื่องของศิลปินที่หันหลังให้กับงานเชิงพาณิชย์แล้วอุทิศตนให้กับศิลปะ
อะไรกันทำให้ตำนานเดียวกันคลี่คลายไปคนละทิศละทางได้ขนาดนี้ ? นั่นอาจเป็นเพราะบริบทของการเล่า
ทศวรรษ 1930 เป็นช่วงเวลาที่ยากแค้นของชาวอเมริกัน ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (great depression) ส่งผลให้อัตราการว่างงานพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ศูนย์แจกจ่ายอาหารหรือ “Soup Kitchen” ซึ่งส่วนมากเสิร์ฟเพียงซุปกับขนมปังเนืองแน่นไปด้วยอดีตคนงานก่อสร้าง ทำเหมือง ป่าไม้ โรงงาน ไปจนถึงศิลปินและนักเขียนซึ่งไม่มีทีท่าจะหางานใหม่ได้เลย อีกคนที่พลอยตกงานไปด้วยก็คือประธานาธิบดี Herbert Hoover ที่พ่ายการเลือกตั้งให้กับ Franklin D. Roosevelt อย่างราบคาบในปี 1932 นโยบาย “New Deal” ของรัฐบาลใหม่ไม่เพียงแต่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังกอบกู้ศักดิ์ศรีของคนงานด้วยการก่อตั้งสำนักผลักดันงาน (Works Progress Administration) ที่มุ่งคืนแรงงานกลับสู่ตลาดแทนการอุดหนุนวิธีอื่น (Leighninger, 1996) ยิ่งไปกว่านั้น การจ้างงานของ WPA ยังสร้างต้นทุนทางวัฒนธรรมให้กับชาวอเมริกันสืบต่อมาด้วย
โครงการของ WPA มักเป็นการก่อสร้างขนาดใหญ่ อาทิ ถนน รางรถไฟ เขื่อน (ซึ่งก็คืองานที่เรียกว่า “public works” นั่นเอง) ซึ่งสร้างการจ้างงานแรงงานไร้ทักษะได้ทีละมากๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีโครงการกลุ่มที่สนับสนุนการจ้างงานศิลปิน นักดนตรี นักแสดงด้วย โครงการนักเขียนของรัฐบาลกลาง (Federal Writers’ Project) หรือ FWP เป็นหนึ่งในโครงการเหล่านี้ที่สร้างผลงานน่าประทับใจมากมาย เช่น American Guide Series หนังสือชุดแนะนำรัฐต่างๆ ที่รวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรมของเกือบทุกรัฐในอเมริกา (ยกเว้นฮาวาย) และโครงการรวบรวมคติชน (folklore) ที่ส่งคนออกไปเก็บบันทึกเรื่องเล่า ตำนาน บทเพลงร่วมสมัยของชาวอเมริกันอย่างกว้างขวาง เริ่มต้นในปี 1938 นำมาตีพิมพ์เป็นเล่มในชื่อ A Treasury of American Folklore (1944) ซึ่งมีออกมาอีกหลายเล่มจนถึงทศวรรษ 1960
เมื่อพูดถึงคติชนวิทยาฝั่งอเมริกา เชื่อว่าส่วนมากจะต้องนึกถึงชื่อ Franz Boas บิดาแห่งมานุษยวิทยาอเมริกันผู้เชี่ยวชาญภาษาเอสกิโม รวมถึงสานุศิษย์ของเขา อาทิ Alfred L. Kroeber หรือ Edward Sapir ที่บุกป่าฝ่าดงไปเก็บรวบรวมข้อมูลภาษาของชาวอเมริกันพื้นเมืองไว้มากมาย แต่เชื่อว่านักเรียนมานุษยวิทยาส่วนใหญ่จะไม่คุ้นชื่อ Benjamin A. Botkin ผู้บริหาร FWP บรรณาธิการซีรีย์หนังสือ A Treasury of American Folklore ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมคติชนอเมริกัน (American Folklore Society) ในช่วงปี 1942-1944 และได้รับยกย่องให้เป็นบิดาแห่ง “คติชนสาธารณะ” (public folklore) หรือ “คติชนประยุกต์” (applied folklore) (Little, 2017: 8)
ในขณะที่การศึกษาคติชนในขณะนั้นมีแนวโน้มที่จะใช้ไปเพื่อการศึกษาวัฒนธรรมในที่ห่างไกล ไกลออกไปในชนบทป่าเขา และไกลออกไปในอดีตที่ล่วงมาแล้ว Botkin มองว่าคติชนควรหันมาสนใจคนปัจจุบัน คนในเมือง คนในบริบทที่กำลังเปลี่ยนแปลง เพื่อผลักดันวัฒนธรรมประชาธิปไตยผ่านการแบ่งปันประสบการณ์สภาพชีวิตของคนที่หลากหลาย ทั้งคนดำ อดีตทาส กรรมกร พนักงานโรงงาน ฯลฯ คติชนของเขารับใช้สังคมในปัจจุบันและมุ่งสร้างอนาคต มากกว่าการสร้างความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับอดีต ซึ่งทำให้เขาถูกโจมตีจากทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยม และนักวิชาการ ถึงขั้นถูกปรามาสว่างานของเขาเป็น “fakelore” เสียมากกว่า (Little, 2017: 7-8) แต่หากย้อนกลับไปพิจารณาดูเรื่องของ Slappy Hooper ฉบับแรกในปี 1944 จะเห็นว่าการทำงานคติชนสามารถแสดงให้เห็นสิ่งที่ละเอียดลออ และแตกต่างออกไปจากแนวการศึกษาแบบอื่นๆ ได้มากทีเดียว ความแปลกแยกของ Slappy แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ในอุตสาหกรรมโฆษณาที่นีโอมาร์กซิสม์ (Neo-Marxism) วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือของการครอบงำ ก็มีเรื่องราวของการดิ้นรนของแรงงานอยู่ในนั้น และในขณะที่การศึกษาสังคมวิทยาเมือง (urban sociology) กำลังเริ่มต้นขึ้นที่ชิคาโกในช่วงเวลาเดียวกัน จนกลายเป็น “สำนักชิคาโก” (Chicago) ในเวลาต่อมา แต่นักสังคมวิทยาเมืองกลุ่มนี้ก็ไม่ได้สนใจรายละเอียดอย่างเรื่องเล่าเหล่านี้
ในขณะที่การศึกษาคติชนในขณะนั้นมีแนวโน้มที่จะใช้ไปเพื่อการศึกษาวัฒนธรรมในที่ห่างไกล ไกลออกไปในชนบทป่าเขา และไกลออกไปในอดีตที่ล่วงมาแล้ว Botkin มองว่าคติชนควรหันมาสนใจคนปัจจุบัน คนในเมือง คนในบริบทที่กำลังเปลี่ยนแปลง เพื่อผลักดันวัฒนธรรมประชาธิปไตยผ่านการแบ่งปันประสบการณ์สภาพชีวิตของคนที่หลากหลาย
โครงการตีพิมพ์หนังสือของ FWP ใต้การบริหารของ Botkin ดึงดูดนักเขียนฝ่ายซ้ายเข้ามาร่วมงานหลายต่อหลายคน หนึ่งในนั้นคือ Jack Conroy นักเขียนซึ่งงานของเขาถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มวรรณกรรมเพื่อกรรมาชีพ (proletariat literature) โดยนิยายทั้งสองเรื่องของเขาเขียนในขณะที่ทำงานเป็นกรรมกรไปด้วย Conroy เดินทางมายังชิคาโกในปี 1938 เพื่อมาทำงานให้โครงการของ FWP สาขาอิลลินอยส์ เขาเก็บรวบรวมเรื่องเล่า ตำนาน บทเพลง จากแรงงานในเมืองชิคาโก (รวมถึงเรื่อง Slappy Hooper ช่างเขียนป้ายในตำนานนี้ด้วย) ออกมาเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า “คติชนสังคมอุตสาหกรรม” (Industrial Folklore) ด้วยเหตุนี้แม้ว่าตำนานของ Slappy Hooper อาจมีหลายฉบับมากกว่านี้ แต่ Conroy เลือกมาเพียง 2 ฉบับที่เขาอ้างว่ามีความเป็นตัวแทนที่สุด ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่าเวอชั่นนี้เป็นที่นิยมมากที่สุดในช่วงเวลานั้น แล้วตำนานนี้ก็เดินทางไปตามกาลเวลาจนกลายมาเป็นฉบับปี 1993 ในที่สุด ซึ่ง Botkin จะอธิบายว่า เรื่องเล่าย่อมเปลี่ยนแปลงไปเพื่อรับใช้สังคมในช่วงเวลาของมัน
ตำนานของ Slappy Hooper ช่างเขียนป้ายผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ว่องไวที่สุด ยอดเยี่ยมที่สุดของที่สุดในโลก รวมถึงเรื่องอื่นๆ ในชุด Chicago Industrial Folklore ของ Conroy ได้รับความนิยมอย่างมาก ถึงขั้นถูกพูดถึงในบทนำของ A Treasury of American Folklore ฉบับตีพิมพ์ซ้ำ อยู่เนืองๆ (Sandburg, 1964) จากเรื่องเล่าทั้งหมดกว่า 500 เรื่องในเล่ม ด้วยความเหมาะเจาะหลายๆ อย่าง สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลที่พลิกขั้ว2 มาเป็นพรรค Democrat กับนโยบายนิวดีล Botkin และ Conroy จึงได้มีโอกาสสร้างผลงานที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมให้กับอเมริกาที่กำลังล้มลุกคลุกคลานกลับขึ้นมายืนใหม่ แม้จะเป็นงานคติชนแบบบ้านๆ ไม่วิชาการ แต่ก็ทำให้เรื่องราวที่เปี่ยมชีวิตชีวาของกรรมกรอเมริกันได้รับการจดจำเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นอเมริกันยุคใหม่ เป็นหลักฐานว่าประเทศสหรัฐอเมริกา (ที่ไม่ว่าตอนนี้จะเป็นอะไรไปแล้วไม่รู้) สร้างขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของใครบ้าง
1 ในต้นฉบับ A Treasury of American Folklore (1944) Slappy โยนกุญแจทิ้งไปเลย แต่ในฉบับนิทานภาพปี 1946 Conroy เรียบเรียงตำนานนี้ใหม่ โดยสร้างตัวละครเด็กชายชื่อ Frank ขึ้นมาเป็นตัวเดินเรื่อง เป็นคนที่ทำให้ Slappy เปลี่ยนใจไม่โยนกุญแจทิ้ง และยังมอบพู่กันไว้ให้เด็กชายเป็นของที่ระลึกก่อนจะออกเดินทางเพื่อหางานเขียนป้ายต่อไป
2 นอกจากผลกระทบต่อการเมืองอเมริกาแล้ว great depression ยังกระทบไปทั่วโลก รวมไปจนถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในสยามที่นำไปสู่การอภิวัฒน์ 2475 ด้วย
อ้างอิง
- Bontemps, A., & Conroy, J. (1946). Slappy Hooper, the Wonderful Sign Painter (1st edition). Houghton Mifflin.
- Botkin, B. A. (1944). A treasury of American folklore: stories, ballads, and traditions of the people. Crown Publishers.
- Leighninger, R. D. (1996). Cultural Infrastructure: The Legacy of New Deal Public Space. Journal of Architectural Education (1984-), 49(4), 226–236. https://doi.org/10.2307/1425295
- Little, K. (2017). Living Lore: B. A. Botkin, Folklore, and the State. Dissertations, Theses, and Student Research: Department of English. Retrieved from https://digitalcommons.unl.edu/englishdiss/133
- Sennett, R. (2009). The Craftsman (1 edition). New Haven: Yale University Press.
- Shepard, A. (1993). The Legend of Slappy Hooper: An American Tall Tale (1st edition). New York : Toronto : New York: Atheneum.
เกี่ยวกับผู้เขียน
Material Culture Studies
Design Anthropology
Capybara