วันนี้อ่านบทความ Design and Anthropology (2016) ของ Keith Murphy เป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เริ่มต้นทำวิทยานิพนธ์ในเวลาไล่เลี่ยกับที่บทความมันออกมานั่นแหละ และพบว่าเจออะไรที่เพิ่มมาจากการอ่านครั้งก่อนๆ ได้อีก ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วบทความนี้ไม่ได้ซับซ้อนล้ำลึกอะไรมากมาย คิดว่าเหตุผลก็คือบทความชิ้นนี้อ่านแล้วชวนให้บังเกิดไอเดียขึ้นตลอดเวลาที่อ่าน ชวนให้นึกถึงโครงการต่างๆ ที่เราอยากจะทำ ทำให้สติหลุดไปจากบทความง่ายๆ
บทความนี้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างการออกแบบ (design) กับมานุษยวิทยา (anthropology) ใน 3 ลักษณะคือ การออกแบบในการศึกษามานุษยวิทยา (anthropologies of design) การนำมานุษยวิทยาไปใช้ในงานออกแบบ (anthopology for design) และกลับกันคือการนำการออกแบบไปใช้ในการศึกษามานุษยวิทยา (design for anthropology) จะไม่ขอลงรายละเอียดอะไรมาก โดยสรุปคือ Murphy ชี้ว่าเรื่องเกี่ยวกับการออกแบบปรากฎในงานมานุษยวิทยามาโดยตลอด นับตั้งแต่ในยุคที่เรายังเชื่อว่ามี Designer องค์ใหญ่อยู่เบื้องหลังสิ่งต่างๆ เช่น พระเจ้า หรือ พลังวิวัฒนาการของดาร์วิน แต่ในเวลาต่อมา บทบาทของนักออกแบบในทางวัฒนธรรมก็ค่อยๆ จางหายไป เพราะนักมานุษยวิทยามักมุ่งเป้าไปที่รูปแบบ (design-as-form) ของสิ่งของ มากกว่ากระบวนการออกแบบ (design-as-action) เช่น เวลาเราสนใจการบริโภค เรามักสนใจว่า สินค้าต่างๆ ส่งผลอย่างไรต่อชีวิตผู้บริโภคและสังคม หรือการผลิตส่งผลอย่างไรต่อชีวิตคนงาน แต่ไม่ว่าจะมุ่งเป้าไปที่การผลิต (production) หรือการบริโภค (consumption) นักมานุษยวิทยาก็สนใจอยู่แค่คุณลักษณะของวัตถุสินค้านั้น ไม่ได้สนใจกระบวนการออกแบบก่อนที่มันจะเป็นรูปร่างขึ้นมา
พูดอีกแบบคือ นักมานุษยวิทยามักติดอยู่กับการศึกษารูปแบบของสิ่งที่เสร็จสิ้นแล้วในอดีต หรือที่จับต้องได้ในปัจจุบัน ในขณะที่การออกแบบเป็นงานที่ล่วงไปในอนาคตด้วย เป็นสิ่งที่กำลังก่อรูปก่อร่างอยู่ตลอด แม้เราจะหันมามอง becoming มากกว่า being แล้ว แต่ก็ยังเป็น becoming ของมนุษย์และภาวะของมนุษย์ มากกว่าสิ่งของอยู่ดี อันนี้ Murphy ไม่ได้พูดเราพูดเอง แต่ที่ Murphy บอกคือการมาใกล้ชิดกันระหว่างนักออกแบบและนักมานุษยวิทยาจะเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับทั้งสองวงการ
ย้อนกลับไปที่ประเด็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต ของงานมานุษยวิทยาการออกแบบ หรือที่บางคนเรียกว่า temporality เป็นประเด็นที่มองข้ามไปได้ยังไงก็ไม่รู้ในการอ่านบทความ 2 รอบแรก อาจเพราะเป็นการอ่านที่ไม่ดีด้วย เพราะอ่านแบบเน้นหาพวกมาสนับสนุนตัวเองในการเขียน proposal ซึ่งทำให้พลาดประเด็นสำคัญไปซะเอง อีกเหตุผลหนึ่งคือ ก่อนที่บทความนี้จะตีพิมพ์ Murphy ได้เขียนตอบโต้ คนที่เขียนเรื่อง temporality ในเว็บ culanth.org ว่า การชี้ว่า design anthropology เป็นการมองไปสู่อนาคตเป็นข้อเสนอที่พูดง่ายไปหน่อย เพราะถามจริงมีอะไรบ้างไม่ได้คาดหมายไปถึงอนาคต จะทำกับข้าว ซ่อมกางเกง ชวนเพื่อนกินเบียร์ (อันนี้เรายกตัวอย่างเอง) ก็ต้องคาดไปในอนาคตทั้งนั้น ซึ่งทำให้เราอ่านตอนต้นของบทความ Murphy อย่างผ่านๆ คิดไปเองว่าจะเหมือนที่เขียนตอบโต้
แต่มันไม่ใช่งัย จริงๆ แล้ว Murphy วิจารณ์โวหารในงานเขียนของ Samuel Shearer คนเขียนเรื่อง temporality มากกว่า แต่จุดยืนเกี่ยวกับบทบาทของการออกแบบในวัฒนธรรมนั้นตรงกัน คือมองว่าการออกแบบเป็นสิ่งที่ผลักสังคมไปในทิศทางต่างๆ ได้ ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกันมาจากอดีต ปัจจุบัน ไปถึงอนาคต ไม่ใช่แค่อนาคตอย่างเดียว โอเค.. แต่โชคดีว่าคนที่เตือนให้เรากลับมาทบทวน คือ อ.ประเสริฐ ซึ่งอุตส่าห์หาอ่านบทความที่จะเอามาวิจารณ์งานของเราได้ จนมาเจอชิ้นนี้ ซึ่งพออาจารย์พูดชื่อขึ้นมาเราก็นึกออกทันทีว่าหมายถึงอันนี้ แต่ทำไมที่อาจารย์พูดมามันฟังดูเหมือนงานของ Shearer มากกว่าวะ !?! นำมาสู่การอ่านใหม่รอบที่ 4 ในที่สุด ซึ่งทำให้ได้อะไรเยอะแยะ
เยอะแยะที่ 1 คือได้ของวิเศษไปต่อสู้ในการเขียนวิทยานิพนธ์เพิ่มขึ้น เยอะแยะที่ 2 คือได้ไอเดียในการทำโปรเจคกับเพิ่ลๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลากมานุษยวิทยาออกไปพบปะคนต่างสาขาวิชาชีพ (อารมณ์ sensory ethnographic lab) ซึ่งน่าจะงอกเงยเติบโตจากบล็อคนี้ต่อไป นอกจากนี้ยังทำให้คันๆ เขียนบล็อคได้อีก 1 ตอน ซึ่งที่จริงแล้วมาจากความรู้สึกที่อ่านแล้วนึกถึง โซมะ ยอดนักปรุง ฉบับอนิเม ซีสั้น 2 ตอนที่ 10 อันเป็นบทสรุปของการคัดเลือกฤดูใบไม้ร่วง (หาดูได้จาก Netflix) ซึ่งเป็นตอนที่ชวนให้นึกถึงการทำวิทยานิพนธ์ยิ่งนัก
ต้องเข้าใจก่อนว่าโซมะเป็นการ์ตูนทำอาหาร ที่มีฉากส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียนโททสึกิ สุดยอดโรงเรียนสอนทำอาหารในตัมป์นานที่โหดหินชนิดสอบตกก็โดนไล่ออกเลย (แต่นักเรียนมันก็ยังเหลือเยอะอยู่ดี) ซึ่งเด็กปี 1 ที่ทำผลงานโดดเด่นจะได้รับคัดเลือกเข้าแข่งงานคัดเลือกฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งใครชนะก็จะมีโอกาสได้ตำแหน่งใน 10 หัวกะทิ (กรรมการนักเรียนที่มีอำนาจมากกว่าผู้อำนวยการ) ซึ่งเริ่มแข่งมาตั้งแต่อนิเมปลายซีสั้น 1 มาจบเอาตอนที่ 10 ของซีสั้น 2 ไม่สปอยนะอยากให้คนที่กำลังเขียนวิทยานิพนธ์ไปดูกัน สิ่งที่น่าประทับใจในอนิเมนี้คือ สคูลของการทำอาหารต่างๆ ญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส สายเครื่องเทศ สายวิทยาศาสตร์ ฯลฯ มันจะมีจุดแข็งและสตอรี่ของตัวเอง ต่างจากหลายเรื่องที่การทำอาหารของตัวเองจะชนะทุกคน ซึ่งนำมาสู่บทสรุปในเรื่องที่ว่า สนามประลองในโททสึกิก็เป็นเหมือนที่ให้คนหนุ่มที่ร้อนแรงได้มาวายกัน เอ้ย ได้มาลับคมซึ่งกันและกันเพื่อเป็นเชฟที่ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้นไป
เราคิดว่าการได้คุยเรื่องงานของตัวเองกับคนเรื่อยเปื่อย เจอ อ.ประเสริฐ และสิ่งที่ Murphy พูดถึงก็คล้ายๆ กับการทำอาหารในโซมะนี้เอง (เหรอวะ)
สรุปสั้นๆ ก็คือเป็นการอ่านบทความรอบที่ 4 ที่เลอะเทอะไม่แพ้ 3 รอบก่อนหน้า แต่ก็ได้งานได้การอยู่บ้าง และเพิ่มความมุ่งมั่นที่จะทำให้ anthropologyyyyy (ของแท้ต้อง y ห้าตัว) กลายเป็นเหมือนโททสึกิแห่งวงการมานุษยวิทยาซึ่งมีเนื้อหาที่อร่อย และเปิดให้มีความเป็นไปได้ใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ตลอด ขอให้ทุกคนส่งงานมาลงบล็อคกันอีกเยอะๆ จ้า
เกี่ยวกับผู้เขียน
Material Culture Studies
Design Anthropology
Capybara
- Saraj Sindhupramahttps://anthropologyyyyy.xyz/author/malinowski/
- Saraj Sindhupramahttps://anthropologyyyyy.xyz/author/malinowski/
- Saraj Sindhupramahttps://anthropologyyyyy.xyz/author/malinowski/
- Saraj Sindhupramahttps://anthropologyyyyy.xyz/author/malinowski/