A Grammar of the T’hai: Or Siamese Language (1828) เป็นหนังสือที่ตีพิมพ์โดยใช้ตัวเรียงพิมพ์อักษรไทยเล่มแรกในโลก เรียบเรียงขึ้นโดยร้อยโท เจมส์ โลว์ (James Low) เจ้าหน้าที่ของบริษัทอินเดียตะวันออกประจำเกาะปีนัง เขาเรียนภาษาไทยที่ปีนังและนำเสนอผลงานนี้แก่ Asiatic Society of Calcutta ตั้งแต่ปี 1822 แต่ก็ถูกดองไว้ในห้องสมุดที่อินเดียตลอดมา กระทั่งโรเบิร์ต ฟูลเลอตัน (Robert Fullerton) ผู้ว่าการเมืองปีนังดำริให้นำมาตีพิมพ์ เพราะเห็นว่าการรู้ภาษาไทยจะเป็นประโยชน์แก่กิจการของบริษัท จึงได้มีการเรียบเรียง แก้ไข ปรับปรุงงานชิ้นแรกออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้
อย่างไรก็ตาม ในตอนจบของบทนำ โลว์ระบุว่าเนื้อหาบางส่วนในหนังสือก็ยังอาจมีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง เขาจึงขอสรุปด้วยสุภาษิตไทยที่ว่า “ช้างสี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” ซึ่งข้อความนี้ปรากฏอยู่ในหน้าปกของหนังสือ ถัดจากชื่อผู้แต่งด้วย
ข้อความส่วนหนึ่งของปกหนังสือ
“ช้างสี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
สุภาษิตชาวสยาม”
โลว์แปลสุภาษิตนี้ว่า
หากแม้นพญาคชสารยังรู้จักก้าวเท้าพลาด
ใยประหลาดใจ หากมนุษย์กระจ้อยร่อยจะรู้พลั้ง
If the migthy elephant cannot always keep his footing:
ought we to be surprised, if puny man slides into errors?
คำแปลของโลว์เป็นการตีความที่น่าสนใจทีเดียว เพราะฉบับที่เรารู้จักกัน คือ “สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” นอกจากจะหมายถึง “ผู้ที่ชำนาญในการใด ก็ยังมีโอกาสทำผิดพลาดในเรื่องนั้นได้” ยังมีนัยของการทำสองสิ่งที่ไม่เท่ากัน อย่างแรกคือการเดิน ที่สัตว์สี่เท้าน่าจะต้องทำได้ดีกว่ามนุษย์ 2 เท้าซึ่งชำนาญการอีกอย่างหนึ่งคือคิด แต่ในขณะที่สัตว์ 4 ขาก็เดินได้เหมือนกันหมด คนที่คิด กลับเจาะจงหมายถึงนักปราชญ์ ความชำนาญการ 2 อย่างนี้จึงเป็นการเทียบจากต่ำไปสูง จากการเดินของสัตว์ที่น่าจะหมายถึงสัตว์จำพวกวัวควาย ไปจนถึงการคิดของผู้ทรงภูมิปัญญากว่าคนสามัญ แต่ในฉบับของโลว์ สัตว์สี่เท้านี้ระบุเจาะจงว่าเป็นช้าง เป็นสัตว์ใหญ่ที่มีสถานะสูงส่ง รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ แม้เราจะไม่ทราบชัดว่าโลว์เข้าใจความหมายของ “นักปราชญ์” หรือไม่ แต่ต่อให้นำ ช้าง มาเทียบกับ นักปราชญ์ แล้ว ทิศทางของการเปรียบเปรยนี้ก็จะเปลี่ยนไปอยู่ดี ทำให้ความชำนาญ 2 อย่างมีสถานะที่ใกล้เคียงกัน หรือกลับหัวกลับหางไปได้เลยด้วยซ้ำ
ดังนั้นจะต้องแยกแยะความหมายของสุภาษิตนี้ออกเป็น 2 แง่ ในแง่ของประวัติศาสตร์สุภาษิตซึ่งชวนให้สงสัยว่าช้างหายไปจากสุภาษิตนี้ตอนไหน และชวนให้คิดถึงว่าสุภาษิตที่มักเป็นการ “ประกาศสัจธรรม” ที่เป็นจริงเสมอก็มีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปเหมือนกัน ส่วนในระดับของการตีความโดยผู้เขียน ที่แน่ๆ ไม่ใช่เจตนาที่จะยกยอชาวสยาม หรือเอาใจกษัตริย์สยามแต่อย่างใด เพราะในเวลานั้นราชสำนักสยามยังไม่แสดงความสนใจในเทคโนโลยีการพิมพ์เลย และหนังสือเล่มนี้ก็มุ่งเขียนให้กับบริษัทอินเดียตะวันออกใช้งานมากกว่า ในแง่ของการแปล จึงน่าจะเป็นความจงใจแสดงความถ่อมตัวของโลว์ ซึ่งตัวเขาเองไม่ได้มีสถานะเป็นนักปราชญ์ (scholar) เสียทีเดียวมากกว่า
เกร็ดเล็กๆ ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ก็คือ “ตัวเรียงพิมพ์อักษรไทย” ชุดแรกของโลกที่เดินทางไกลมาก กว่าจะมาถึงสยามจริงๆ ตัวพิมพ์อักษรไทยในหนังสือเล่มนี้ ถอดแบบมาจากลายมือของชาวสยามที่ถูกกวาดต้อนไปพม่า โดย นางยัดสัน (Ann Hazeltine Judson) มิชชันนารีชาวอเมริกันที่เดินทางมาเผยแพร่ศาสนาที่ย่างกุ้ง ทว่าเมื่อพระเจ้าปะดุงเสด็จสวรรคต มิชชันนารีในพม่าเกิดความกังวลเรื่องความปลอดภัย ยอร์ช ฮัฟ (Goerge H.Hough) ช่างพิมพ์ผู้หล่อตัวเรียงพิมพ์นี้ จึงนำแท่นพิมพ์และตัวเรียงพิมพ์ติดตัวไปยังเมืองเซรัมโบร์ นครกัลกัตตา ประเทศอินเดียด้วย เจมส์ โลว์ซึ่งเรียนภาษาไทยมาจากปีนัง จึงต้องมาพิมพ์หนังสือที่นี่
ตัวอย่างตัวพิมพ์อักษรไทยชุดแรกของโลก
คาดกันว่าในท้ายที่สุดแล้วตัวเรียงพิมพ์อักษรไทยชุดแรกนี้ได้เดินทางมาถึงมือหมอบรัดเลในอีกหลายปีถัดมาด้วย แต่เนื่องจากอักษรชุดนี้ยังมีลักษณะเป็นลายมือที่โย้เย้อยู่มาก หมอบรัดเลย์จึงทำแบบไปสั่งหล่อขึ้นใหม่จากมะละกา และต่อมาหล่อขึ้นในสยามเป็นครั้งแรกในปี 1841 (พ.ศ. 2384) เป็นตัวที่ใช้พิมพ์บางกอก รีคอร์เดอร์ หนังสือพิมพ์เล่มแรกของสยามนั้นเอง ตัวพิมพ์ที่หล่อขึ้นในสยามนี้ตัวอักษรมีลักษณะตั้งตรง เส้นขนานเป็นระเบียบ ตัวอักษรมีหัวกลมชัดเจน แม้ตัวพิมพ์ของนางยัดสันจะไม่ได้ถูกนำมาใช้ตีพิมพ์อีก แต่ก็เป็นไปได้มากว่าการประดิษฐ์ตัวพิมพ์ของหมอบรัดเลไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่ต่อยอดมาจากตัวพิมพ์ชุดบุกเบิกที่เต็มไปด้วยความพลั้งพลาดนี้เอง ซึ่งคิดดูแล้วก็ตลกดีว่าในขณะที่การพิมพ์ยุคดิจิทัล ทำให้คนที่เบื่อตัวพิมพ์แบบเดิมๆ สามารถหันมาทำฟอนต์ลายมือใช้กันได้ แต่ฟอนต์ไทยตัวแรก (ฟอนต์ในความหมายเดิม หมายถึงชุดตัวอักษรเรียงพิมพ์ ขนาดใดขนาดหนึ่งครบ 1 ชุด) กลับไม่ใช่ตัวพิมพ์ที่เป็นระเบียบ หรือมาจากลายมือของอาลักษณ์แบบที่กูเต็นเบิร์กริเริ่มทำเลยด้วยซ้ำ แต่ถอดแบบมาจากลายมือของชาวบ้านที่ไหนก็ไม่รู้ในเมืองย่างกุ้ง
เกี่ยวกับผู้เขียน
Material Culture Studies
Design Anthropology
Capybara