Skip to content

8 เล่มวิจัยทางมานุษยวิทยา กับการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน


8 เล่มวิจัยทางมานุษยวิทยา ที่เคยอ่าน
และอยากแนะนำต่อ
คิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน


1. Owners of the Map Motorcycle Taxi Drivers, Mobility, and Politics in Bangkok

โดย เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ (Claudio Sopranzetti)
 
เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ นักวิชาการด้านมานุษยวิทยารุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ศึกษาประเด็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างท่ามกลางการเคลื่อนไหวการเมืองในช่วงเมษา-พฤษภา 53 ในกรุงเทพฯ งานชาติพันธ์วรรณนาของเคลาดิโอพบว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นตัวกลาง (Mediator) ที่มีบทบาทหลากหลาย เช่น การขนส่งผู้คนและเป็นควบคุมการขนส่งสิ่งของบางลักษณะทำให้พวกเขารู้จักพื้นที่ตรอกซอยดี และเป็นผู้มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมือง วินส่วนใหญ่เป็นคนชนบทอีสานที่เข้ามาทำงานในเมืองและยังคงสายสัมพันธ์กับชนบทอยู่จึงยิ่งทำให้เห็นภาพความไม่เท่าเทียม เคลาดิโอเสนอแนวคิดคลายการบีบอัดพื้นที่เวลาซึ่ง คือการให้ความหมายใหม่กับพื้นที่ของการเคลื่อนย้ายทั่วไปกลายมาเป็นพื้นที่ที่มีความหมายทางการเมือง และสร้างปฏิบัติการใหม่ จากเป็นผู้นำพาจราจรกลายเป็นผู้ปิดกั้นการจราจรเสียเอง ดังนั้นความหมายและบทบาทใหม่ แสดงให้เห็นว่าวินมอเตอร์ไซค์นั้นเป็น “เจ้าของแผนที่” และยังแสดงสัญลักษณ์ถึงการ “มีอำนาจเหนือพื้นที่” ประเด็นที่น่าสนใจมากคือเขาให้ความสำคัญสิ่งที่อยู่กับที่ (immobility) และโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructures) เช่น ถนนที่เข้ามีส่วนสร้างความเป็นการเมืองด้วยหนังสือได้รับรางวัลจากสมาคมมานุษยวิทยาอเมริกัน ประจำปี 2019 ด้วยนะ
 

2.ชาวนาการเมือง: อํานาจในเศรษฐกิจชนบทสมัยใหม่ของไทย

โดย แอนดรูว์ วอล์กเกอร์ (Andrew Walker)
 
แอนดรูว์ วอล์กเกอร์ เขียนหนังสือขึ้นจากการลงวิจัยภาคสนามต่อเนื่องหลายปีในหมู่บ้านภาคเหนือ (ที่เขาสมมุติชื่อว่า) “เทียม” ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ประเด็นนำเสนอที่เราชอบคือ การเปลี่ยนความคิดว่าชาวนาไม่ใช่คนที่พึ่งพาตนเองอย่างเดียว พวกเขาที่ยึดโยงและพึ่งพากับนโยบายของรัฐอย่างมาก ทั้งการต่อรองผลประโยชน์กับทุนที่เข้ามาจากภายนอก การเอาประโยชน์จากรัฐที่ต้องการส่งเสริมโครงการอะไรสักอย่าง หรือตอบสนองความต้องการทางจริตของชนชั้นกลางชาวเมือง
 

3.ชุมชนแห่งนั้นชื่อปรารถนา: วัฒนธรรมการเมืองในชีวิตประจำวัน

โดย จักรกริช สังขมณี

จักรกริช สังขมณี เขียนงานขึ้นจากการลงวิจัยภาคสนามต่อเนื่องหลายปีในหมู่บ้านภาคอีสาน งานนี้แอบๆ คลายของแอนดรูว์ วอล์กเกอร์ ประเด็นสำคัญที่เราชอบคืองานนี้สะท้อนชาวนา ชาวบ้านในชนบทได้ก้าวไปไกลกว่าการพึงพอใจกับสภาวะของการพออยู่พอกินและการพึ่งพาระบบอุปถัมภ์แบบดั้งเดิมแล้ว การแสดงออกทางการเมืองของคนในชนบทในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้เป็นการสะท้อนถึงความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิและผลประโยชน์ที่คนชนบทพึงมีพึงได้ หรือความปรารถนาของพวกเขานั้นเอง
 

4. ชีวาณูสงเคราะห์ : วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพใต้ร่มพระบารมี ณ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่’

โดย ปกรณ์ คงสวัสดิ์
 
ปกรณ์ ฝังตัวเก็บข้อมูลสนามทำวิทยานิพนธ์ที่อ่างขาง เพื่ออธิบายว่าวิทยาศาสตร์ในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ซึ่งสัมพันธ์กับบริบทช่วงเวลาต่าง ๆ ตั้งแต่วิทยาศาสตร์เพื่อบริหารพื้นที่สูงและต่อสู้กับภัยความมั่นคงของรัฐในยุคสงครามเย็น จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์ได้นำประเทศและสถาบันกษัตริย์เข้าสู่ยุคเสรีนิยมใหม่ในฐานะผู้ผลิตสินค้าตามระเบียบการค้าแบบใหม่
 
 

5. รูปที่มีทุกบ้าน: ชีวิตทางสังคมของพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9

 
โดย พนธกร วรภมร
 
พนธกร ศึกษาปฏิบัติการที่ผู้คนมีต่อการครอบครองพระบรมฉายาลักษณ์ ได้เข้าพื้นที่สำรวจบ้านเรือนในพื้นที่เมืองเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เล่าถึงปฏิบัติการของผู้คนว่าสามารถที่จะเลือกจัดการและประกอบสร้างความหมายให้แก่การประดับพระบรมฉายาลักษณ์ขึ้นได้เอง โดยเป็นการจัดการกับความหมายบนฐานของความรู้ความเข้าใจที่มีต่อสถาบันกษัตริย์

 

ดาวน์โหลดบางส่วนของหนังสือ

6. เรารักนายหลวง: มุสลิมมาเลย์ชายแดนใต้ในกระแสความไม่สงบระลอกใหม่

โดย อนุสรณ์ อุณโณ
 
อนุสรณ์ อุณโณ ศึกษาสนามเพื่อเขียนงานเชิงชาติพันธุ์วรรณาที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา เล่าเรื่องเกี่ยวกับมุมมองของมุสลิมภาคใต้กับกษัตริย์ ความหมายของในหลวงไม่ใช่บุคคลธรรมดามีความเป็นกึ่งเทพ จึงทำให้มุสลิมไม่สามารถที่จะมีปฏิสัมพันธ์ได้เหมือนกับคนไทยทั่วไป แต่“นายหลวง” กลับหมายถึงคนธรรมดาสามัญเหมือนกับพวกเขา สามารถทำให้เขาสถาปนาความสัมพันธ์ตรงนี้ขึ้นได้โดยไม่ละเมิดหลักการศาสนา

7. เมื่อสนามหลวงเป็นสนามของหลวง: การศึกษาพื้นที่สนามหลวงหลังการปรับภูมิทัศน์ พ.ศ. 2553

โดย อันธิกา ธาดาเกตุโกศลร

อันธิกา ลงพื้นที่สัมภาษณ์และสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม บนเนื้อที่ 74 ไร่ 63 ตารางวาของสนามหลวง พบว่าหลังการปรับภูมิทัศน์ พ.ศ.2553 มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ และมาตรการในการจัดการต่าง ๆ รวมถึงการให้สนามหลวงเป็นสถานที่รองรับการจัดงานพระราชพิธี รัฐพิธีเป็นสำคัญอนุญาตให้ใช้ทำกิจกรรมบางประเภทเท่านั้น ทำให้คนบางกลุ่มและกิจกรรมบางอย่างจะสามารถปรากฏอยู่ในพื้นที่สนามหลวงได้เท่าที่ได้รับอนุญาต ยังผลให้สนามหลวงสิ้นสภาพความเป็นสาธารณะลงไปในท้ายที่สุด

8. รัฐและฝ่ายขวา: การเคลื่อนไหวของลูกเสือชาวบ้านในไทย

โดย แคทเธอรีน บาววี (Katherine Ann Bowie)
 
ลูกเสือชาวบ้านได้รับการหนุนจากสถาบันกษัตริย์ตั้งแต่เริ่มแรกที่หมู่บ้านชายแดนอีสานในทศวรรษ 2510 โดยมีองค์กรกลางคือ ตชด. หลักสูตรการฝึกลูกเสือชาวบ้านั้นแฝงฝังอุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพื่อสร้างการเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในการปราบปรามลัทธิคอมมิวนิสต์ ลูกเสือชาวบ้านเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นการสถาปนาพระราชอำนาจนำผ่าน ตชด. เพื่อสร้างความใกล้ชิดกับชาวบ้านเพราะความกลัวภัยคอมมิวนิสต์ในการล้มล้างสถาบันกษัตริย์อย่างประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับชาวบ้านการเข้าร่วมเป็นลูกเสือชาวบ้านยากที่จะหลียกเลี่ยงได้ บางหมู่บ้านที่เข้าร่วมเพราะ“ความหวัง”ว่าจะได้รับการช่วยเหลือปัญหาต่าง ๆ จากเครือข่ายกษัตริย์ บางหมู่บ้านเข้าร่วมด้วยก็เพราะ“ความกลัว” เพราะจะถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ลูกเสือชาวบ้านกลายมาเป็นเครื่องมือที่เชื่อมระหว่างชนชั้นนำนักการเมืองฝ่ายขวาในเมืองกับพื้นที่ชนบท ขบวนการลูกเสือชาวบ้านชี้ให้เห็นการก่อตัวของขบวนการฝ่ายขวามีบทบาทในการสร้างจิตสำนึกทางการเมืองโดยรัฐ

เกี่ยวกับผู้เขียน

anupon.chan1
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด