มีการเปิดเผยเนื้อหาบางตอนของภาพยนตร์
“แขนฉันยังจำน้ำหนักตัวเขาได้อยู่เลย”
เป็นคำพูดของตัวละคร “แม่” ในภาพยนตร์ A Quiet Place (2017) ว่าด้วยโลกหลังความพินาศเมื่อเอเลี่ยนตาบอดที่มีหูดีเป็นเลิศไล่ฆ่าทุกอย่างที่ส่งเสียง ทั้งเรื่องมีตัวละครเป็นครอบครัวชาวอเมริกันครอบครัวเดียวที่หาวิธีอยู่รอดได้โดยใช้เพียงภาษามือ ชีวิตของพวกเขาจึงขึ้นอยู่กับความเงียบ ทุกอย่างที่มีเสียงถูกกำจัด หรือดัดแปลงให้กลายเป็นสิ่งที่ไร้เสียง เช่น โมบายที่เหนือเปลเด็ก ที่ถูกหุ้มด้วยผ้าเพื่อจะได้ไม่เกิดเสียงเวลากระทบกัน
ความทรงจำของมนุษย์ประกอบขึ้นจากผัสสะต่างๆ ทั้งภาพ เสียง กลิ่น รส และสัมผัส เพลงบางเพลงทำให้เราหวนนึกถึงใครบางคน เช่นเดียวกับกลิ่นน้ำหอม หรือรสชาติอาหารฝีมือแม่ ไม่ต้องพูดถึงการมองเห็นซึ่งเป็นผัสสะที่มีอิทธิพลกว่าเค้าหมดมาเนิ่นนาน ตั้งแต่สมัยกรีกที่ยกย่องให้ “การมองเห็น” เป็นผัสสะที่สูงส่งที่สุด (the noblest sense) เพราะภาพเป็นสิ่งที่ผ่านการใคร่ครวญ ในขณะที่เสียง กลิ่น รส เข้าถึงสมองโดยตรง อริสโตเติลอธิบายว่า “ในบรรดาผัสสะทั้งหลาย การมองเห็นช่วยให้เรารู้อะไรเป็นอะไรมากที่สุด” (of all the senses sight best helps us to know things, and reveals many distinctions) ส่วนการสัมผัสเป็นสิ่งที่กระจอกที่สุด ดิบเดิมที่สุด
เรื่องลำดับชั้นของผัสสะเป็นประเด็นถกเถียงทางปรัชญาที่สนุกสนานมาโดยตลอด ส่วนพักหลังๆ นี้การมองเห็นมักถูกวิจารณ์ว่าเป็นผัสสะของคนตะวันตกที่ครอบงำโลก (เรื่องนี้เห็นได้ชัดๆ ในภาษาอังกฤษ เช่น “see” แปลว่า “เข้าใจ” ได้ด้วย) การศึกษาวิวัฒนาการมนุษย์พบว่าการมองเห็นมีบทบาทสำคัญต่อการก้าวกระโดด (breaktrough) ทางวิวัฒนาการของมนุษย์โบราณ เพราะดวงตาที่เลื่อนมาอยู่ด้านหน้าของกะโหลกทำให้ขอบเขตการมองของดวงตาทั้งสองซ้อนกัน ส่งผลให้มนุษย์มีสายตาที่เห็นระยะลึกตื้นและสามารถจัดการกับรายละเอียดเล็กๆ ของเครื่องมือต่างๆ ได้ แต่การวิวัฒนาการนี้ก็ต้องถือว่าเป็นการวิวัฒนาการร่วม (coevolve) กับมือและการเดินสองขาของมนุษย์ (ที่ทำให้มือว่าง) ด้วย เพราะลักษณะของการมองเห็นเช่นนี้ก็ปรากฏในไพรเมทแทบทุกชนิด ทว่าในเวลาต่อมา “สายตา” กลับได้ความดีความชอบไปเสียหมด แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่อริสโตเติลพูดก็มีมูลอยู่ไม่น้อย งานวิจัยของสถาบันภาษาศาสตร์จิตวิทยามักซ์ พลังก์ (Max Planck Institute for Psycholinguistics) เมื่อไม่นานมานี้ศึกษา 13 ภาษาทั่วโลก และพบว่าการมองเห็นเป็นผัสสะอันดับหนึ่งจริงๆ แต่ลำดับขั้นของผัสสะที่เหลือนั้นแตกต่างหลากหลายมาก (San Roque et al., 2015)
การมองเห็นแบบสองตา (binocular) หรือการมองเห็นสามมิติ (3d vision) เป็นลักษณะทั่วไปของไพรเมท
อย่างไรก็ตาม แม้การสัมผัสจะ ดิบ เดิม ด้อยพัฒนาใน “สายตา” ตะวันตก แต่มันกลับมีความดีงามในทางตรงข้าม เพราะมันเป็นผัสสะแรกเริ่มของมนุษย์ ตั้งแต่ก่อนที่ทารกจะลืมตา ดมกลิ่น ฟังเสียง หรือลิ้มรส นอกจากนี้สัมผัสได้รับความนิยมมากอยู่พักหนึ่งในราว ศตวรรษที่ 17 ในหนังสือ The Anatomy of Melancholy โดย Robert Burton กล่าวว่าแม้การสัมผัสจะถูกจัดให้ต่ำต้อย (ignoble) ที่สุด ทว่าผัสสะนี้ละเอียดอ่อนที่สุด เพราะมันกระจายอยู่ทั่วร่างและรับรู้ทุกสิ่งรอบตัวเรา ทั้งร้อน เย็น แห้ง ชื้น แข็ง นิ่ม (1621: 32) ดังนั้นถึงแม้จะต้อยต่ำที่สุดในการแสวงความรู้ แต่สัมผัสกลับสื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกได้ดีที่สุด
ยิ่งในโลกที่เสียงขาดหายไปอย่างหนึ่ง แม่จึงอาจแทบไม่มีความจำว่าลูกน้อยของเธอเสียงเป็นอย่างไร “ภาพ” ความทรงจำที่ไม่มีเสียงนั้นมีแต่ความแห้งแล้ง ไม่มีกระทั่งเสียงกรุ๊งกริ๊งของของเล่นเหนือเปล เป็นรอยแหว่งโหว่ในความทรงจำที่ต้องทดแทนด้วยผัสสะอื่น ดูเผินๆ อาจเป็นการมองเห็นที่เข้ามามีบทบาทแทน แต่หากตั้งใจดูให้ดี จะเห็นว่าการสัมผัสก็มีความสำคัญยิ่งขึ้นไม่ด้อยไปกว่ากันเลย แม้ภาษามือจะทำให้คนสื่อสารกันได้ แต่ขอบเขตการมองเห็นของมนุษย์นั้นแคบมาก การมองเห็นระยะตื้นลึกของดวงตาที่ซ้อนกันแลกมาด้วยมุมบอด (blind zone) ที่มากขึ้นแทน การรับรู้การปรากฏอยู่ (presence) ของบุคคลอื่นจึงต้องอาศัยการฟังเสียง และเมื่อไม่มีเสียง วิธีเดียวที่จะเรียกกันก็คือการสัมผัสตัว
สิ่งที่น่าพิสมัยในการสัมผัส ก็คือมันอยู่ไกลจากความควบคุมของเรา ในขณะที่ภาพ เสียง กลิ่น รส รวมศูนย์กันอยู่ที่ศีรษะ เมืองหลวงของร่างกาย และส่งสัญญาณประสาทเข้าถึงสมองแทบจะในทันที สัมผัสเป็นดั่งชนบทบ้านนอกห่างไกลสุดลูกหูลูกตา ซึ่งบ่อยครั้งทำตามอำเภอใจของมันโดยไม่ต้องรอคำสั่งการจากส่วนกลางเลยด้วยซ้ำ (reflex) เช่น การชักมือเท้ากลับเมื่อโดนบาด หรือโดนความร้อน หัวเข่างอเองเมื่อถูกเคาะ ฯลฯ ชนบทพวกนี้บ่อยครั้งทำงานผิดพลาด แม้เราจะคิดใคร่ครวญเป็นอย่างดีว่าจะทำอะไรอย่างไร แต่เมื่อถึงระดับปฏิบัติการ กล้ามเนื้อต่างๆ กลับทำงานไม่ได้ดั่งใจนึกอยู่เสมอ ทักษะและความรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่ใช้ร่างกายก็ไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้โดยง่าย แต่เป็นความรู้ที่ฝังอยู่ในกล้ามเนื้อต่างๆ
ประโยคที่เธอบอกว่าแขนนั้นยังจำ จึงเป็นคำพูดรวบรัดสั้นๆ แต่มีความหมายของอารมณ์อาวรณ์ที่ลึกซึ้งและหนักอึ้ง เพราะต่อให้เธอพยายามจะลืมเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้น แต่ไบเซ็บ (bicep) ไตรเซ็บ (tricep) และมัดกล้ามเนื้อต่างๆ ที่แขนเธอยังจดจำน้ำหนักของลูกที่เธอ (ไม่ได้) อุ้มในวันนั้นได้ดี
อ้างอิง
- Aristotle. (1 CE). Metaphysics, Book 1, section 980a. Retrieved from http://www.perseus.tufts.edu/hopper/text?doc=Aristot.%20Met.
- Burton, R. (1621). Anatomy of Melancholy. Retrieved from https://books.google.co.th/books/about/The_Essential_Anatomy_of_Melancholy.html?id=HPPDAgAAQBAJ&source=kp_cover&redir_esc=y
- San Roque, L., Kendrick, K., Norcliffe, E., Brown, P., Defina, R., Dingemanse, M., … Majid, A. (2015). Vision verbs dominate in conversation across cultures, but the ranking of non-visual verbs varies. Cognitive Linguistics, 26.
เกี่ยวกับผู้เขียน
Material Culture Studies
Design Anthropology
Capybara