Skip to content

เซลล์ของเรา เซลล์ของใคร รีวิวหนังสือ The Immortal Life of Henrietta Lacks โดย Rebecca Skloot

Rebecca Skloot: The Immortal Life of Henrietta Lacks (Creative Non-fiction)

เฮนรีเอตตา แลกส์คือใคร แล้วเธอมีชีวิตอนันตการได้อย่างไร 

 

ในปลายทศวรรษ 90s รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา

นักเรียนหญิงม.ปลายอายุ 16 ปี นาม รีเบคก้า สกลูท (Rebecca Skloot) ได้ยินชื่อเซลล์ (cell)  ฮีล่า (HeLa) เป็นครั้งแรกในชั้นเรียนวิชาชีววิทยา อาจารย์ของเธอบอกว่า “ฮีล่า” เป็นเซลล์ที่สำคัญที่สุดต่อวงการแพทย์ในรอบ 100 ปี การรักษาโรคมะเร็ง ไข้หวัดใหญ่ พาร์กินสัน หรือโรคต่างๆ เกิดขึ้นได้เพราะ “ฮีล่า” เซลล์ที่เพาะด้วยน้ำมือนักวิทยาศาสตร์ในห้องทดลองเป็นครั้งแรก บนกระดานในห้องเรียน อาจารย์เขียนชื่อเจ้าของเซลล์ขนาดใหญ่ว่า เฮนรีเอตตา แลกส์ (Henrietta Lacks) รีเบคก้าไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเฮนรีเอตตาเลย ตัวอาจารย์เองก็ไม่ได้รู้ไปมากกว่าเธอ นอกจากคำอธิบายลงท้ายว่า “เธอเป็นผู้หญิงผิวสี” (หน้า 4 – 5) นับตั้งแต่วันนั้นสืบเนื่องจนเป็น 10 ปี รีเบคก้า ทุ่มเทเวลาไปอย่างมหาศาลเพื่อตามหาว่าเฮนรีเอตตาเป็นใคร และสิ่งที่เธอเรียนรู้เปลี่ยนโลกทัศน์ของตัวเองและคนจำนวนมากไปตลอดกาล

ถ้าเป็นคุณ…คุณจะรู้สึกอย่างไร

สมมุติว่าถ้าคุณไปหาหมอเพื่อตรวจมะเร็ง หมอผ่าชิ้นเนื้อของคุณไปตรวจ แต่ในขณะเดียวกันหมอก็เอาส่วนหนึ่งของชิ้นเนื้อคุณไปทดลองในห้องทดลองโดยที่ไม่ได้แจ้งให้คุณรู้

แล้วถ้าสมมุติว่าชิ้นเนื้อของคุณที่มีเชื้อมะเร็งกลายเป็นเซลล์ตัวแรกของโลกที่มีชีวิตรอดยู่นอกร่างกายมนุษย์ สามารถเติบโตในห้องทดลอง และให้กำเนิดการเพาะเซลล์ที่เรียกว่า cell culture แถมยังถูกส่งไปให้ทุกห้องทดลองทั่วโลกที่ร้องขอ เพราะเซลล์ของคุณเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการแพทย์ ที่จะช่วยให้การวิจัยมากมายเกิดขึ้นได้ 

แล้วถ้าสมมุติอีกว่าเซลล์ของคุณซึ่งทรงพลังเหลือเกิน สามารถแบ่งตัวเองได้ไม่รู้จบจนก่อให้เกิดอุตสาหกรรมเซลล์เพื่อการวิจัยทางการแพทย์ซึ่งปีหนึ่งๆ ทำเงินเป็นล้านล้านเหรียญสหรัฐ

โดยทั้งหมดที่เกิดขึ้นคุณและครอบครัวของคุณไม่รู้อะไรเลย แถมเงินแม้แต่บาทเดียวก็ไม่มาถึงคุณ

ถ้าเป็นคุณ…คุณจะรู้สึกอย่างไร

สมมุติฐานทั้งหมดคือเรื่องที่เกิดขึ้นจริงกับเฮนรีเอตตาและครอบครัวของเธอ รีเบคก้าคนเขียนหนังสือทุ่มเทเวลากว่า 10 ปีในการเก็บข้อมูลชีวิตของเฮนรีเอตตาและที่มาของฮีล่าเซลล์ซึ่งพลิกโฉมวงการแพทย์ สำหรับรีเบคก้าแล้ว ความเข้าใจของเธอต่อโลกเปลี่ยนไปตลอดกาลเมื่อได้เรียนรู้ชีวิตของเฮนรีเอตตา รวมทั้งผู้คนและสิ่งอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับชีวิตเฮนรีเอตตา เธอบอกว่า “ครอบครัวของเฮนรีเอตตาท้าทายความเข้าใจทั้งหมดที่ฉันเคยคิดว่ารู้เกี่ยวกับศรัทธา วิทยาศาสตร์ การสื่อสารมวลชน และเชื้อชาติ” (หน้า 8-9)

เฮนรีเอตตาเกิดในไร่ฝ้าย รัฐเวอร์จิเนีย พ่อและแม่ของเธอเป็นคนผิวสีรุ่นที่สองที่หลุดพ้นจากความเป็นทาส เฮนรีเอตตาทำงานในไร่และใช้ชีวิตอยู่กับญาติๆ หนึ่งในนั้นคือลูกพี่ลูกน้องผู้ชายนามว่า เดล ทั้งคู่โตมาด้วยกัน นอนห้องเดียวกันตั้งแต่เด็ก ก่อนที่วันหนึ่งจะมีลูกสาวด้วยกันโดยที่คนอื่นๆ ยังไม่ทันได้ตั้งตัวว่าทั้งคู่เป็นอะไรกัน ทั้งคู่แต่งงานกันแล้วย้ายเข้ามาในเมืองและมีลูกด้วยกันอีก 4 คน หนึ่งในนั้นคือ เดบเบอร่าห์ (Deborah) ลูกสาวคนรองผู้เปี่ยมไปด้วยพลังชีวิตแบบเดียวกับแม่และผู้ให้ข้อมูลคนสำคัญแก่รีเบคก้า

ในวันที่ 29 มกราคม 1951 เฮนรีเอตตาเดินผ่านห้องน้ำคนผิวสีเพื่อไปตรวจที่โรงพยาบาลจอห์น ฮอปกินส์ (John Hopkins Hospital) ในส่วนที่กันไว้สำหรับคนไข้ผิวสีโดยเฉพาะ เพราะเธอรู้สึกว่ามีก้อนประหลาดอยู่ในบริเวณปากมดลูก (หน้า 15 – 20) หลังจากพบหมอหลายครั้ง หมอก็ตัดเนื้อเยื่อจากบริเวณปากมดลูกของเธอไปตรวจ แล้วส่งส่วนหนึ่งโดยที่เธอไม่รู้ไปให้คุณหมอชื่อ จอร์จ กาย (George Guy) ซึ่งกำลังทำการวิจัยเพาะเนื้อเยื่อในห้องทดลอง แมรี่ ผู้ช่วยของจอร์จคิดว่าเซลล์ของเฮนรีเอตตาคงอยู่ได้ไม่นาน แต่เธอคิดผิด เพราะเซลล์มะเร็งของเฮนรีเอตตากำลังจะทำสิ่งที่เซลล์จากมนุษย์คนอื่นๆ ไม่เคยทำได้ นั่นคือการอยู่อย่างเป็นอมตะและมีชีวิตต่อไปในห้องทดลองทั่วโลก

ครั้งแรกที่เดบเบอราห์ได้ยินว่าส่วนหนึ่งของแม่เธอที่เสียไปตั้งแต่ตอนเธอยังจำความไม่ได้ยังไม่ตายเธอแทบสิ้นสติ เธอไม่เข้าใจว่าเซลล์คืออะไร ทำไมส่วนหนึ่งของแม่ที่เธอไม่เคยเห็นหน้าถึงได้ยังมีชีวิตอยู่ได้ ยิ่งเวลาผ่านไป ยิ่งผู้คนให้ความสนใจกับเธอมากเท่าไหร่ ยิ่งมีนักข่าวมาเคาะประตูบ้านเธอแค่ไหน เธอก็ยังมีแต่คำถามว่า “ทำไม” เต็มไปหมดในชีวิต ทำไมเธอถึงไม่เคยรู้เรื่องของแม่ ฮีล่าคืออะไร ทำไมนักวิจัยจากโรงพยาบาลจอห์น ฮอปกินส์ที่มาเก็บตัวอย่างเลือดเธอและคนในครอบครัวถึงไม่ยอมบอกความจริงว่าเลือดที่ถูกนำไปตรวจไม่ใช่นำไปตรวจเพื่อการรักษาพวกเธอ แต่เป็นการนำไปตรวจเพื่อจะทำการวิจัยเปรียบเทียบกับเซลล์ของแม่เธอที่ยังคงเติบโตในห้องทดลอง ทำไมเวลาที่คนในวงการแพทย์รู้ว่าเธอเป็นลูกสาวของเฮนรีเอตตา พวกเขาจะตื่นเต้นมาก พรั่งพรูออกมาว่าแม่เธอสำคัญกับวงการแพทย์เพียงใด ช่วยรักษาโรคโปลิโออย่างไร ทำสิ่งที่เหลือเชื่ออะไรบ้าง ถ้าวงการแพทย์เป็นหนี้ชีวิตแม่เธอนัก ทำไมครอบครัวของเธอไม่มีเงินพอที่จะหาหมอด้วยซ้ำ “มันไม่เมคเซนส์ มีคนมากมายที่รวยจากเซลล์แม่โดยที่ฉันไม่รู้เรื่องที่พวกเขาเอาเซลล์ไปด้วยซ้ำ แถมเราไม่ได้เงินสักบาท ฉันเคยโกรธเลือดขึ้นหน้าจนตัวเองป่วย จนต้องกินยา แต่ตอนนี้ฉันไม่อยากจะสู้อะไรอีกแล้ว ฉันแค่อยากจะรู้ว่าแม่ฉันเป็นใคร” (หน้า 11)

จอร์จ กาย แพทย์ผู้ให้กำเนิดฮีล่า ไม่เคยทำเงินจากฮีล่าได้แม้แต่บาทเดียว จอร์จส่งต่อฮีล่าให้กับนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากฟรีๆ โดยหวังที่จะใช้ฮีล่ามีชีวิตต่อไปใน cell culture เพื่อที่จะพัฒนาการทดลองทางการแพทย์ จนบั้นปลายชีวิตจอร์จอาศัยเงินเดือนจากโรงพยาบาลจอห์น ฮอปกินส์ในการเลี้ยงตัวเอง แต่เขากับภรรยาก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร หลายครั้งที่ภรรยาของจอร์จ มาร์กาเรต ซึ่งช่วยดูแลห้องทดลองไม่มีตังค์จ่ายค่าบ้านหรือค่าของเข้าบ้าน เพราะจอร์จใช้เงินทั้งหมดไปกับการซื้ออุปกรณ์ในห้องทดลอง จนเธอต้องบังคับให้เขาเปิดอีกบัญชีหนึ่งสำหรับห้องทดลองโดยเฉพาะเพื่อไม่ให้กระทบกับเงินส่วนตัว ในปีครบรอบแต่งงาน 13 ปี จอร์จมอบของขวัญเป็นเช็ค 100 เหรียญสหรัฐแก่มาร์กาเร็ตพร้อมกับกระดาษโน้ตที่บอกว่า “30 ปีข้างหน้าจะไม่ลำบากเท่านี้ รัก” แต่ความเป็นอยู่ของทั้งสองคนก็ไม่ได้ดีขึ้นมากนัก (หน้า 221)

ครั้งแรกที่รีเบคก้าโทรหาเดบเบอราห์ เดบเบอราห์อารมณ์ดีมากแล้วเล่าเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวแลกส์มากมายให้รีเบคก้าฟัง แต่เมื่อโทรกลับไปอีกหนึ่งครั้ง เดบเบอราห์กลับน้ำเสียงเปลี่ยนไปเป็นคนละคน บอกว่าไม่สามารถคุยกับรีเบคก้าได้อีกแล้วตัดสายทิ้ง รีเบคก้าใช้เวลาอีกหนึ่งปีกว่าจะมีโอกาสเข้าถึงเดบเบอราห์ได้อีกครั้ง ก่อนที่จะกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพอันยาวนานเกือบสิบปีที่เหวี่ยงขึ้นลงตามอารมณ์และอาการป่วยของเดบเบอราห์ หลายครั้งที่เดบเบอราห์จะวิตกฉับพลันแล้วปฏิบัติกับรีเบคก้าเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ อยู่ๆ ก็อาจจะถามว่า “รีเบคก้าเป็นใคร” “ใครส่งเธอมาเก็บข้อมูล” “เธอทำงานให้กับโรงพยาบาลจอห์น ฮอปกินส์ใช่มั้ย”  แต่หลายครั้งที่รีเบคก้าและเดบเบอราห์ช่วยกันนั่งอ่านเอกสาร ทบทวนข้อมูลกันถึงเช้าเพื่อจะหาสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับชีวิตของผู้หญิงที่ชื่อเฮนรีเอตตา เธอเป็นคนยังไง มาจากไหน ใช้ชีวิตอย่างไร อาการป่วยของเธอเป็นยังไงบ้าง ลูกๆ ของเธอเป็นคนอย่างไร เดบเบอราห์ช่วยรีเบคก้าปะติดปะต่อเรื่องราวชีวิตอนันตกาลของเฮนรีเอตตา แลกส์ จนกลายมาเป็นหนังสือเล่มนี้ในที่สุด

ถ้าเราอยู่ในโลกทัศน์ว่าสิทธิ์เหนือร่างกายเป็นของเรา แล้วส่วนของร่างกายที่หลุดออกไปจากเราแล้วนั้นเป็นสิทธิ์ของใคร?

ถ้ามีคนเก็บเศษผมที่เราหลุดร่วงจากศีรษะเราในห้องน้ำแล้วไปวิเคราะห์ดีเอ็นเอจนให้กำเนิดการรักษาทางการแพทย์สมัยใหม่ เราจะยังคงอ้างความเป็นเจ้าของได้หรือไม่ แต่ถ้ามีคนทำเงินเป็นล้านจากเศษผมของเรา โดยที่เราไม่ได้เงินแม้แต่บาทเดียว เราเองก็จะรู้สึกแปลกๆ หรือเปล่า

ในปี 1951 ที่จอร์จ กายนำเซลล์ออกจากร่างกายเฮนรีเอตตา หรือในปี 2009 ที่หนังสือได้รับการตีพิมพ์ก็ยังไม่มีกฎหมายในอเมริกาอย่างชัดเจนว่าแพทย์จะต้องแจ้งให้คนไข้ทราบหากจะนำเซลล์ไปใช้ (หน้า 361) มีข้อถกเถียงจากหลายฝ่ายว่าถ้าหากทำแบบนั้นอาจจะเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งข้อถกเถียงนี้ก็คงมีน้ำหนัก เห็นได้จากชีวิตจอร์จ กาย แม้ว่าจอร์จจะเอาเซลล์ฮีล่าไป แต่เขาก็ทำเพื่อตอบสนองความสงสัยทางวิทยาศาสตร์โดยไม่ได้คิดจะทำเงินและก็ไม่ได้ทำเงินแม้แต่บาทเดียวจากฮีล่า แต่ถึงกระนั้นฮีล่าที่เขาเพาะขึ้นมาก็ให้กำเนิดอุตสาหกรรมเซลล์ซึ่งทำเงินเป็นล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

เราอาจจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจว่าเรื่องนี้ไม่ยุติธรรมกับครอบครัวแลกส์ โดยเฉพาะลูกๆ ของเฮนรีเอตตาที่ต้องเผชิญกับตลกร้ายในชีวิตหลายต่อหลายครั้งจากเซลล์ของแม่ที่เป็นคุณูปการแก่วงการแพทย์ทั่วโลก แต่ยังเคลือบแคลงสงสัยว่าเป็นคุณูปการต่อครอบครัวตัวเองมากแค่ไหน แต่ความยุติธรรมนี้ควรจะไปทวงได้จากใคร ใครควรจะเป็นคนจ่าย ในเมื่อนับจากวันที่ฮีล่าออกจากห้องทดลองของจอร์จ กาย มันกระจายไปทั่วโลก มีฮีล่าเป็นหลายล้านเซลล์ที่วนเวียนถูกใช้เพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์ รีเบคก้าตั้งคำถามไว้หนังสือว่า “ถ้าหากเฮนรีเอตตาไม่จนและไม่ใช่คนผิวสีเรื่องนี้จะเกิดขึ้นกับเธอมั้ย” แต่รีเบคก้าเองก็ตอบว่า “คงไม่มีใครบอกได้” ตอนท้ายของหนังสือรีเบคก้าพูดอย่างมีความหวังว่าแม้ว่าความยุติธรรมและเงินอาจจะเรียกร้องไม่ทันสำหรับตัวเฮนรีเอตตาและลูกๆ ของเฮนรีเอตตา ตัวเดบเบอราห์เองก็เสียชีวิตก่อนที่หนังสือจะตีพิมพ์เพียง 9 เดือน แต่สำหรับหลานๆ ของเฮนรีเอตตาอาจจะยังทัน

ก่อนที่หนังสือจะตีพิมพ์รีเบคก้าตั้งกองทุนเฮนรีเอตตา แลกส์ (Henrietta Lacks Foundation) รายได้ส่วนหนึ่งจากหนังสือบริจาคให้แก่กองทุนนี้ ข้อมูลจาก Wikipedia บอกว่าหนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือบังคับอ่านในมหาวิทยาลัยกว่า 125 แห่ง รวมทั้งเป็นหนังสือสำหรับอ่านในโรงเรียนมัธยม หรือแม้แต่ระดับปริญญาเอก รายได้จากหนังสือและสื่อที่เกี่ยวข้องมีมูลค่ากว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ความยุติธรรมและเงินที่รีเบคก้าตั้งคำถามอาจจะมาในรูปแบบของการคืนชีวิตให้กับเฮนรีเอตตาผ่านตัวหนังสือที่คนมากมายได้อ่าน รวมทั้งรายได้ที่ส่วนหนึ่งนำไปช่วยคนรุ่นต่อๆ ไปของครอบครัวแลกส์

ตอนต้นของหนังสือ รีเบคก้ายืมคำของเอลี่ วีเซล (Elie Wiesel) มาเปิดเรื่อง

“เราต้องไม่เห็นเพียงแค่ “เสี้ยว” เดียวของคน แต่จะต้องเห็นคนเป็นคนเต็มคนที่มีจักรวาลเป็นของตัวเอง ซึ่งในจักรวาลมีทั้งความลับ สมบัติอันมีค่า ความกระวนกระวายที่แอบซ่อน และความรู่้สึกชนะที่ช่วยสร้างตัวตนขึ้นมา” 

คำทิ้งท้าย: รีเบคก้าเล่าเรื่องได้อย่างงดงามในรูปแบบที่ผู้เขียนก็ไม่สามารถถ่ายทอดได้ ความงามของชีวิตทั้งของเฮนรีเอตตาและเดบเบอราห์รวมทั้งบุคคลอื่นๆ ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างมีชีวิตชีวา เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์และความซับซ้อนของมนุษย์ สำหรับผู้เขียนแล้วรีเบคก้าคืนความเป็นมนุษย์ให้ฮีล่าผ่านฉากเล็กๆ ที่เล่าถึงเฮนรีเอตตาตอนหนีลูกที่เข้านอนหมดแล้วออกไปเต้นรำที่ผับ การเล่าเรื่องแบบไม่ตามเส้นเวลาก็เสริมเรื่องที่ซับซ้อนทางจริยธรรม ข้อความที่ผู้เขียนหยิบยกมาเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของหนังสือ ดั่งที่ผู้เขียนยืมคำเปิดของรีเบคก้าที่ยืมเอลี่ วีเซลมาอีกทีมาทิ้งท้าย ว่าเราไม่ควรเห็นเพียง “เสี้ยว” เดียวของคน ถ้าอยากจะเข้าใจเรื่องนี้แบบเต็มๆ หนังสือเล่มนี้ก็ควรค่าแก่การอ่าน เป็นไปได้ว่าผู้อ่านคนถัดไปจะเป็นเหมือนผู้เขียนในแง่ที่ว่าผู้เขียนก็เป็นเหมือนผู้เขียนของหนังสือเล่มนี้อีกทีวเพราะหลังจากเรียนรู้เรื่องของเฮนรีเอตตาโลกที่เคยเข้าใจก็ถูกท้าทายให้ต้องคิดใหม่ ซึ่งผู้เขียนคงยินดีมากถ้ามีหนังสือเล่มนี้จะมีคนผู้อ่านคนถัดไปที่เกิดจากการแนะนำของผู้เขียน

 

[Skloot, R. 2011. The Immortal Life of Henrietta Lacks. Pan Books. London.]

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด