Skip to content

บันทึกสนามจากบทสนทนาว่าด้วยความรู้สึกนึกคิดของพืช


ในบทความนี้มาโนชสรุปจากการอ่านเรื่อง Conversations on Plant Sensing: Note from the Field ของ Natasha Myers ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Culture ปี 2015


 

         นาตาชาเล่าถึงประสบการณ์การทำงานสนามในการสัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์เพื่อเก็บข้อมูลในประเด็นเรื่องความรู้สึกนึกคิดของพืชที่มีต่อสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เข้ามาสัมพันธ์ด้วย จากการค้นคว้าทางชีววิทยาเกี่ยวกับพืชทำให้นาตาชาเริ่มต้นด้วยการสันนิษฐานว่า plasmodesmata หรือช่องว่างระหว่างผนังเซลล์ของพืชเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการสื่อสารกันระหว่างเซลล์ของพืชจะเป็นช่องทางที่พืชใช้ในการรับรู้ต่อโลกที่ล้อมรอบพืชอยู่ แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวเธอเก็บเอาไว้ในใจแต่เพียงผู้เดียวเพราะหากบอกไปก็จะเป็นการเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน

         นาตาชาเริ่มต้นสนทนากับนักวิทยาศาสตร์ด้วยการพูดถึงบทความเรื่อง The Intelligence Plant ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ฮือฮากันมากบนโลกอินเทอร์เน็ตว่าพืชนั้นมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับสัตว์ในเรื่องของความรู้สึกนึกคิด นักวิทยาศาสตร์คู่สนทนาของเธอพูดถึงบทความดังกล่าวว่าเป็นพวกวิทยาศาสตร์แบบชาวบ้าน (popular science) ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ มีการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด พืชไม่ได้มีสมองและระบบประสาทแบบสัตว์มีกระดูกสันหลัง ดูเหมือนว่าความก๋ากั่นของการพยายามเอาโมเดลระบบความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์กับสัตว์เข้าไปใช้ในการอธิบายพืชจะไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิทยาศาสตร์ขนานแท้เลย การนำเอารูปแบบของมนุษย์ (Anthropomophisms) เข้าไปใช้กับพืชกลายเป็นการทำลายความเป็นวิทยาศาสตร์ในสายตาของนักวิทยาศาสตร์คู่สนทนาของนาตาชาเพราะความรู้สึกนึกคิดของพืชไม่สามารถวัดได้ด้วยระบบเดียวกันกับมนุษย์และสัตว์

         แม้จะพบว่าทางข้างหน้าช่างมืดมน แล้วเจ๊จะไปสัมภาษณ์ใครเรื่องความรู้สึกนึกคิดของพืชได้อีก กระนั้นนาตาชาก็ไม่หมดศรัทธาในประเด็นวิจัยของเธอ เธอยกเอางานด้านปรัชญาและงานด้านมานุษยวิทยาที่ว่าด้วยพืชมาเป็นกองกำลังสนับสนุนความสนใจของเธอ นาตาชาเรียกกลุ่มงานศึกษาที่หันมาสนใจพืชพวกนี้ว่า The plant turn นอกจากนี้เพื่อโต้กับพวกวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ที่ปฏิเสธวิทยาศาสตร์ชาวบ้านนาตาชาได้ยกตัวอย่างการศึกษาของ Barbara McClintock ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี 1983 ในการค้นพบยีนสัญจร (jumping gene) ของข้าวโพด เธอเล่าว่าการทำงานของแมคคลินทอคนั้นป้าแกได้เข้าไปสังเกตข้าวโพดเป็นเวลานานจนป้าแกรู้จักพืชทุกต้นในไร่ข้าวโพดและผูกพันกับพืชเหล่านั้น ป้าแกให้สัมภาษณ์ในหนังสือชีวประวัติของแกว่า “ป้าเองก็เริ่มจากการเพาะเมล็ด แล้วหลังจากนั้นก็ไม่อยากไปไหนเลย อยากอยู่ในไร่ตลอดเวลา ป้ารู้สึกว่าป้าจะพลาดฉากเด็ด ถ้าป้าไม่อยู่ตรงนั้นตลอด…” นาตาชาชี้ว่าวิธีการทำความเข้าใจความรู้สึกนึกคิดพืชมีนานตั้งแต่สมัยป้าแมคคลินทอคแล้วโดยการเข้าไปอยู่ใกล้ชิดกับพืชเป็นเวลานาน

         พอได้กองหนุนนาตาชาก็ร่ายต่อไปว่ามันมีงานศึกษาเกี่ยวกับจังหวะจะโคนวัฏจักรประจำวันของพืช (circadian rhythm) อยู่นะ เธอเข้าไปศึกษาในห้องวิจัยที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส งานวิจัยที่เธอพูดถึงนี้เป็นการศึกษาจังหวะจะโคนในชีวิตประจำวันของดอกทานตะวันผ่าน molecular clock การศึกษาดังกล่าวพบว่าเมื่อพระอาทิตย์ตกดินดอกทานตะวันจะหันหน้าไปทางตะวันตก และจะหันหน้าอยู่อย่างนั้นทั้งคืนจนกระทั่งเช้าจึงหันหน้าไปทางตะวันออกเมื่อได้รับแสงแดดยามเช้า และในเวลากลางคืนถ้าเราแอบหมุนกระถางดอกทานตะวันให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นดอกทานตะวันจะหันหน้ากลับไปทางทิศตะวันตกเสมอ ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ในห้องทดลองดังกล่าวสรุปว่าพืชมีความทรงจำเกี่ยวกับแสงที่มันได้ในตอนพระอาทิตย์ตกดินและจะหันหน้ากลับไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นทิศที่มันได้รับแสงสุดท้ายซึ่งเป็นผลมาจาก molecular clock (แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้อธิบายว่าพืชสามารถจำแนกแยะแยะทิศทางได้อย่างไร)

         แต่ดูเหมือนว่านาตาชาจะพบปัญหาใหญ่เมื่อเจมส์ นักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งในห้องทดลองเล่าเรื่องการที่ดอกกล้วยไม้ออสเตรเลียสามารถสร้างสารเคมีกลิ่นที่เหมือนกับพีโรโมนของหมาร่าตัวเมียเพื่อล่อให้หมาร่าตัวผู้เข้ามาผสมเกสร นาตาชาสนใจเรื่องราวของเจมส์อย่างมาก ด้วยความเป็นนักมานุษยวิทยาสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STS) นาตาชาพยายามตะล่อมถามว่าทำไมเรื่องเล่าเหล่านี้พืชดูเป็นผู้กระทำการที่มีเหตุมีผล (agency) แต่พองานตีพิมพ์ออกไปกลับไม่มีเรื่องการเป็นผู้กระทำของพืชที่มีเหตุมีผลเลย เธอพยายามตะล่อมถามต่อเพื่อเข้าประเด็นเรื่องความรู้สึกนึกคิดของพืชจนพ่อเจมส์ชักเหลืออดจึงสวนนาตาชากลับว่า “พวกที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์มักสนใจลักษณะความเป็นมนุษย์ในระบบธรรมชาติเหล่านี้ (พืช) มันก็แค่ความคิดเด็ก ป.5” คำว่าเด็กน้อย หน่อมแน้มทำให้นาตาชาตะลึงงันไปพักนึงจนต้องกลับมาทบทวนสิ่งที่มาทั้งหมดทำใหม่

         ในกลุ่มงานที่ศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมักจะมองว่าในการสร้างความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั่นไม่ไม่ได้เป็นความรู้วิทยาศาสตร์แบบบริสุทธิ์อย่างที่เราเห็นและเข้าใจแต่ในกระบวนการผลิตความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มีการเมืองเบื้องหลังอยู่ ในที่นี้ก็เช่นกัน นาตาชาหลังจากหายสตั๊นจากคำวิจารณ์ว่าเป็นเด็กน้อยก็หันมาวิเคราะห์การเมืองเบื้องหลังการสร้างความรู้ของนักวิทยาศาสตร์เหล่า นาตาชาพบว่าไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ทุกคนที่จะปฏิเสธการเอาลักษณะความเป็นมนุษย์ไปอธิบายพืช เพราะมีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนที่พูดถึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะพวกนักวิทยาศาสตร์อาวุโส (รวมถึงอาจารย์ของเจมส์) ที่ไม่เคร่งกับการเอาลักษณะความเป็นมนุษย์มาอธิบายพืชมากเท่านักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่อย่างเจมส์ นาตาชาสรุปว่าเพราะพวกผู้อาวุโสได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงในสาขาวิชานี้แล้ว ในขณะที่พวกรุ่นใหม่ยังต้องสร้างฐานให้กับตัวเองดังนั้นจึงเคร่งในจริยธรรมแบบวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์มากกว่าจึงปฏิเสธการเอาลักษณะความเป็นมนุษย์มาอธิบายเพราะถือว่าเป็นพวก pop-science ไม่ใช่วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์

         ในขณะเดียวกันเพื่อโต้แย้งการปฏิเสธแนวคิดการเอาลักษณะความเป็นมนุษย์มาอธิบายพืช นาตาชาได้ยกตัวอย่างงานคลาสสิคของชาร์ล ดาร์วินเรื่องการผสมเกสรของกล้วยไม้ ดาร์วินเปรียบเทียบตำแหน่งของหนวดที่ยื่นออกมาจากดอกเปรียบเหมือนแขนของมนุษย์ที่คอยดักจับแมลงให้เข้ามาผสมเกสร การเปรียบเทียบดังกล่าวของดาร์วิน นาตาชายกตัวอย่างของดาร์วินมาเพื่อยืนยันว่าการเอาลักษณะความเป็นมนุษย์มาอธิบายพืชนั้นไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร แต่กลับเป็นหลักฐานของความสามารถของมนุษย์ในการทำความเข้าใจสิ่งมีชีวิตอื่น ในทางกลับกันนอกจากการเอาลักษณะของมนุษย์ไปอธิบายพืชแล้ว ยังมีนักวิทยาศาสตร์บางคนที่พยายามเอาลักษณะของพืชมาใส่ในตัวเอง (phytomorphism) เพื่อทำความเข้าใจพืชเช่นกัน

         มาถึงตรงนี้นาตาชาได้คลายข้อข้องใจจากการวิจารณ์ของเจมส์ไปแล้วเปราะหนึ่งว่าเจ๊ไม่ใช่เด็กน้อยนะจ๊ะ ในเรื่องความรู้สึกนึกคิดของพืชนั้น จากข้อสันนิษฐานในตอนแรกที่เก็บไว้ในใจ เมื่อได้พูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์หลายๆ คนก็ทำให้นาตาชาพิสูจน์ข้อสันนิษฐานของตนว่าถูกต้อง แม้ว่าพืชนั้นไม่มีระบบประสาทและสมองแบบสัตว์ แต่มันก็มีความรู้สึกนึกคิดในการเอาตัวรอดเช่นเดียวกันกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ การไม่มีสมองและระบบประสาททำให้พืชไม่สามารถใช้เหตุผลได้แบบมนุษย์ แต่การคิดของพืชเป็นการคิดเชิงปฏิบัติการ (know how) ที่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม

เรื่องราวจากสนามของนาตาชาก็จบเพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

เกี่ยวกับผู้เขียน

40635138 10204915230637107 6061875369370189824 N

ฮอล aka Manotch นักเรียนมานุษยวิทยาจอมเกียจคร้าน ผู้ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ยอมเขียนวิทยานิพนธ์ ขี้เกียจคุยกับคนเลยหันไปคุยกับพืช สาธุ

Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด