Skip to content

บันทึกการเดินบนถนนของราษฎร วันที่ 14 และ 16 ตุลา 63 “อยู่ที่นั่น” แบบออฟไลน์และออนไลน์

“ถนนราษฏร์ดำเนิน” ข้อความที่เขียนด้วยสเปรย์สีขาวถูกพ่นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปบนพื้นถนนราชดำเนิน ถัดไปไม่ไกลข้อความ “ศักดินาจงพินาศ” “X (เครื่องหมายกากบาท) 1+1 = 2” รวมถึงภาพตัวอักษร A ในวงกลมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแนวคิดอนาธิปไตย และอีกหลาย ๆ ข้อความที่ทั้งถูกพ่นและเขียนต่างก็กำลังส่งเสียงประสานเข้ากับคำว่า “ราษฎร์” ที่ปรากฏขึ้นเพื่อปะทะกับคำว่า “ราช” อย่างทรงพลัง ข้อความเหล่านี้เป็นภาพที่กำลังส่งเสียงกระซิบในใจแก่ผู้พบเห็น และมันสะท้อนความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการที่ผู้คนกำลังมีต่อสังคมที่พวกเขาอยู่ อยู่ที่ว่าจะมีใครเดินไปพบเห็นพวกมันหรือไม่

การปรากฏตัวของข้อความบนพื้นถนนขณะที่มีเท้าของผู้คนเดินขวักไขว่ไปมาในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นวันนัดชุมนุมและเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลของคณะราษฏร 63 และการทำได้แค่ติดตามการไลฟ์สดของนักข่าวภาคสนาม ดูคลิป และแชทกับกลุ่มเพื่อนที่อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ทำให้ผู้เขียนย้อนคิดถึง “การเดิน” ในฐานะวิธีแสวงหาความรู้แบบหนึ่งทางมานุษยวิทยาที่ Jo Lee และ Tim Ingold (2006) ชี้ว่าเป็นรากฐานของการทำงานชาติพันธุ์นิพนธ์ แต่มักจะถูกละเลยหรือไม่เห็นแง่มุมที่มีความสลับซับซ้อนของมัน ดังนั้น บันทึกสั้น ๆ ชิ้นนี้จึงทดลองนำมุมมองที่นักมานุษยวิทยาทั้งสองคนมีต่อการเดินมาสนทนากับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในการเดินบนถนนราษฎรทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ของผู้เขียนในห้วงเวลาที่กลายเป็นอีกหลักไมล์สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย

Lee และ Ingold ทำงานภาคสนามในกรุงแอเบอร์ดีน ประเทศสก็อตแลนด์ พวกเขาศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเดินซึ่งถือเป็นปฏิบัติการ (practice) อย่างหนึ่งกับการสร้างประสบการณ์ที่แฝงฝังเข้าไปร่างกาย (the experience of  embodiment) และรูปแบบของการเข้าสังคม (forms of sociability) ทั้งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและในวิธีวิทยาของการทำงานภาคสนาม โดยมีสมมติฐานว่าไม่มีประสบการณ์หรือรูปแบบที่ดำรงอยู่ก่อน (a priori) ในทางกลับกัน การเดินและขอบเขตของการเดินเป็นปฏิบัติการที่สร้างประสบการณ์และการเข้าสังคมที่เป็นการเกาะเกี่ยวกันระหว่างตัวตนและสิ่งแวดล้อมขึ้นมา…

14 ตุลา 63

“จะไปช่วยพวกเราใช่มั้ย พี่จะไปส่งให้ไกลที่สุดเท่าที่จะไปได้นะ” นั่นคือสิ่งที่พี่แท็กซี่ชายวัยกลางคนบอกกับผู้เขียน หลังจากขึ้นรถและบอกว่าจะไปยังสถานที่ชุมนุมจากฝั่งปิ่นเกล้า เขาขับมาส่งได้ไกลที่สุดบริเวณกองฉลาก จากนั้นผู้เขียนเดินต่อมาเกาะกลุ่มกับชายใส่เสื้อยืดสีดำอีกสองคนที่ดูจากการแต่งกายก็รู้แน่ว่ามาร่วมชุมนุม ณ จุดนั้น สองข้างทางเต็มไปด้วยกลุ่มคนใส่เสื้อเหลืองและเจ้าหน้าที่รัฐ การเดินเป็นกลุ่มเล็ก ๆ บนถนนทำให้พวกเรากลายเป็นวัตถุที่ถูกจับจ้อง บอกตามตรงว่าผู้เขียนรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยอยู่ลึก ๆ หลังจากผู้เขียนได้ยินเสียงตะโกนแว่วมาเบา ๆ ทำนองถากถางว่ามาทำไม พร้อม ๆ กับที่เพิ่งดูคลิปมวลชนเสื้อเหลืองเข้าทำร้ายผู้เดินทางมาร่วมชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ แวบนึงในใจก็คิดถึงภาพฝูงชนรุมล้อมนักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 

ท่ามกลางแดดบ่ายสองแก่ ๆ แต่ผู้คนจำนวนมากยังคงทยอยกันเดินทางเข้ามาบนถนนราษฎร์ดำเนินอย่างไม่หยุดหย่อน ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าช่วงวัยของผู้ร่วมชุมนุมคละเคล้ากันตั้งแต่ผู้สูงอายุไปจนถึงหนุ่มสาววัยทำงานและนักเรียนนักศึกษาที่บางคนก็จับกลุ่มพูดคุยกัน บ้างถ่ายรูป แสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว บ้างถือป้ายข้อความหรือธง แต่ป้ายที่สะดุดตาผู้เขียนเห็นจะเป็นป้ายเล็ก ๆ ที่ชายวัยกลางคนคนหนึ่งเขียนข้อความ “Frxxxx model is coming” และกลุ่มวัยรุ่นในชุมสีดำที่ถือเสก็ตบอร์ดและโบกธงสีดำ ขณะที่ผู้ชุมนุมบางคนก็ร้องและเต้นไปตามจังหวะเพลง เช่น เพลง “ไม่รักระวังติดคุก” เพลง “ประยวยหัวคุด” และเพลงจังหวะสามช่าจากรถกระบะของกลุ่มคนเสื้อแดง รวมถึงเพลงแร็ปการเมืองที่ถูกเปิดจากรถกระบะอีกคัน ขณะที่บนรถเครื่องเสียงของกลุ่มแกนนำมีการกล่าวเชิญชวนพร้อมกับเปิดเพลงหมอลำที่สร้างความผ่อนคลายคล้ายไปดูรถแห่ในภาคอีสาน ทั้งหมดสร้างบรรยากาศที่คึกคักซึ่งเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับเดินเท้าเคลื่อนไปของคลื่นฝูงชนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สลับกับการตะโกน “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฏร์จงเจริญ” “ประยุทธ์ออกไป” หรือ “ไอ้เxยตู่” 

หลังจากร่วมเดินและนั่งกับขบวนกับผู้ชุมนุมได้ประมาณ 2 ชั่วโมง ผู้เขียนก็ต้องแยกออกมาเพราะมีธุระสำคัญ ขณะนั้นขบวนของผู้ชุมนุมติดอยู่บริเวณแยกนางเลิ้งและอยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเดินเท้าต่อไปที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจากนั้นในช่วงค่ำผู้เขียนได้ติดตามดูไลฟ์สดการเดินผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ รวมทั้งฟังปราศรัยของแกนนำหลังจากตั้งเวทีที่ทำเนียบรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว และต้องบันทึกไว้ด้วยว่าขณะนั้นเหตุการณ์ “ขบวนเสด็จ” และคำว่า “ภาษีกู” ได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ พร้อม ๆ กับกระแสข่าวการสลายการชุมนุม ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ก็ได้เข้าสลายการชุมนุมในช่วงตีสี่ของเช้าวันที่ 15 ตุลาคม และเข้าควบคุมตัวแกนนำคนสำคัญของคณะราษฏร 63 นำไปสู่การนัดชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ (ราษฎร์ประสงค์) ในช่วงเย็น โดยเน้นยุทธศาสตร์ทุกคนคือแกนนำ ซึ่งยังมีผู้เข้าร่วมชุมนุมหนาแน่นเช่นเดิม 

16 ตุลา 63

หลังจากการชุมนุมในวันที่ 15 ตุลาคม เกิดขึ้นอย่างมีพลัง มีการนัดชุมนุมอีกครั้ง แต่เมื่อมีความพยายามสกัดการชุมนุมด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยเฉพาะการตัดบริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ชุมนุมเดิม ผู้ชุมนุมจึงเปลี่ยนมานัดกันที่สี่แยกปทุมวัน ผู้เขียนตั้งใจว่าจะเข้าไปร่วมหลังจากเสร็จธุระในช่วงเวลาประมาณสองทุ่ม โดยที่ระหว่างนั้นไม่มีโอกาสเช็คข่าวการชุมนุมจากโทรศัพท์ แต่หลังจากเสร็จธุระกลับพบว่าในช่องแชท รวมทั้งฟีดข่าวทั้งในเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์เต็มไปด้วยคลิปและสเตตัสที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม

   เริ่มกระชับพื้นที่แล้ว

   มาจากทางสยาม

เพื่อนคนหนึ่งแชทบอกเพื่อนในกลุ่ม เวลา 18.33 น.

    ตชด.เดินไม่หยุดเลย

    จะถึงแนวรั้วแล้ว

    มีรถฉีดน้ำมาด้วย

อีกคนบอก พร้อมกับแคปเจอร์ภาพหน้าจอไลฟ์สดเพื่อส่งข่าวให้เพื่อนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุม

    น่ากัวมากกก

    นี่ใกล้มาก

    ตำรวจไล่กลับบ้าน

    บอกให้ไปอยู่กับพ่อแม่

    บอกนี่เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะกับเยาวชน

    วิงวอนให้กลับบ้าย” (เจ้าตัวพิมพ์ผิด – ผู้เขียน)

เพื่อนที่อยู่ในที่ชุมนุมตอบกลับ เวลา 18.43 น.

    กลัวมากกก

    มือสั่นแล้วแม่ง

เพื่อนคนเดิมตอบกลับมาพร้อมกับส่งรูปแถวหน้ากระดานที่รุกเข้ามาของเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน

    คนวิ่งมาทางราชเทวี

    เยอะมาก

เพื่อนอีกคนในที่ชุมนุมแชทบอก

    ยิงจิงงง

    อีพวกเฮี้ยยยย

เพื่อนคนที่อยู่ใกล้แนวตำรวจตระเวนชายแดนคนเดิมส่งคลิปเจ้าหน้าที่ฉีดน้ำแรงดันสูง ความยาว 13 วินาที เวลา 18.51 น.

    เขาประชิดไปถึงไหนก็ไม่รู้

    แต่ยิงแก๊ซน้ำตาพร้อมน้ำต่อเนื่อง   (มีเพื่อนใส่อิโมติคอนร้องไห้) 

    โดนสองรอบละ   (มีเพื่อนใส่อิโมติคอนร้องไห้)

เพื่อนคนเดิมแชทบอก เวลา 19.24 น. และส่งรูปกลุ่มผู้ชุมนุมที่แตกกระจายกันไปในจุดต่าง ๆ 

    รถพยาบาลทยอยมาหลายคันแล้ว

    เริ่มตะโกนไปจุฬากัน

อีกคนที่อยู่ฝั่งราชเทวีแชทบอก

    เราหนีแล้ว. (มีเพื่อนใส่อิโมติคอนถูกใจและร้องไห้)

เพื่อนคนที่โดนแก๊สน้ำตาแชทบอก เวลา เวลา 19.34 น.

    โห

    ปลอดภัยนะทุกคน

เพื่อนที่เพิ่งไปเรียนต่อต่างประเทศแชทตอบ เวลา 19.55 น.

หลังจากนั้นกลุ่มเพื่อนต่างก็ส่งข่าวกันไปมาทั้งจากคนที่ทำได้เพียงนั่งดูไลฟ์และคนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุม จนกระทั่งทุกคนกลับออกมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยก็เป็นเวลาเกือบสามทุ่ม 

อย่างไรก็ดี การสลายการชุมนุมยังดำเนินต่อไปตามจุดต่าง ๆ จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงดึกของคืนวันที่ 16 ซึ่งผู้เขียนจำเวลาที่แน่นอนไม่ได้ ผู้สื่อข่าวออนไลน์ช่องหนึ่งกำลังเดินไลฟ์สดในพื้นที่สะพานหัวช้าง ภาพที่เห็นคือผู้ชุมนุมคนหนึ่งถูกจับใส่รถห้องขังและปิดประตู ขณะที่หญิงคนหนึ่งทุบประตูรถ ก่อนที่รถจะขับออกไป ผู้สื่อข่าวหญิงกล่าวรายงานสถานการณ์ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและกล่าวขอโทษคนดูที่ตนเพิ่งเดินเข้ามาถึงพื้นที่

“อยู่ที่นั่น”

ขณะที่งานของ Lee และ Ingold เป็นการทำงานภาคสนามด้วยการเดินในพื้นที่เชิงกายภาพเท่านั้น แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่าการเดินในพื้นที่ชุมนุมเชิงกายภาพกับในโลกออนไลน์ในกรณีประเทศไทยกลับมีความซ้อนทับกันชนิดแยกไม่ออก เพราะในขณะที่ผู้เขียนกำลังเดินบนถนนราษฎร์ดำเนินในวันที่ 14 ตุลา กลับให้ความรู้สึกเหมือนกำลังไถฟีดเพื่ออ่านสเตตัส ดูคลิปและมีมที่มาปรากฏตัวนอกโลกออนไลน์ ในทางกลับกัน การแชทกับเพื่อนที่เดิน (จริง ๆ คือหนี) อยู่ท่ามกลางการสลายการชุมนุม รวมทั้งดูนักข่าวเดินไลฟ์สดก็ให้ความรู้สึกของการอยู่ในพื้นที่ชุมนุมจริง ๆ อย่างใกล้ชิด จนกล่าวได้ว่าการปรากฏของข้อมูลและสัญญะต่าง ๆ ในโลกออนไลน์และออฟไลน์แทบจะเกิดซ้อนกันระดับ   เรียลไทม์

ประสบการณ์การเดินทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์ อย่างน้อยใน 2 เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้เขียนได้สัมผัสรายละเอียดผ่านการเคลื่อนไหวที่เชื่องช้า ดังที่ Lee และ Ingold เสนอว่าการเดินเป็นการกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่เกิดขึ้นบนพื้นดินซึ่งทำให้ผู้คนเกิดการปรับเข้าหาและมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมใน 3 วิถีทาง ได้แก่ 

  1. การเดินเปิดโอกาสให้มองเห็นรายละเอียดและทำให้ผู้เดินเข้าถึงเสรีภาพในการสัญจร (freedom of passage) ซึ่งหมายถึงการที่ผู้เดินสามารถสร้างเส้นทางเดินที่ไม่มีผู้คนพลุกพล่าน หรือไปตามเส้นทางที่พาหนะไม่สามารถเข้าถึง การเดินด้วยสองเท้าของตัวเองในวันที่ 14 ตุลา ทำให้ผู้เขียนสามารถสร้างเส้นทางเดินขึ้นมาเพื่อรับรู้และเข้าใจ “ถนนราษฏร์ดำเนิน” ผ่านประสบการณ์เฉพาะตัว แม้จะเดินอยู่บนถนนราชดำเนิน แต่มันกลับไม่ใช่และไม่มีวันใช่ถนนเส้นเดิมอีกต่อไป ซึ่งผู้เขียนคิดว่าผู้ชุมนุมอีกจำนวนนับไม่ถ้วนก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน 
  2. การเดินเป็นการสร้างช่วงเวลาของการครุ่นคิด (thinking time) ซึ่งทำให้ผู้เดินได้ส่องสะท้อนตัวเอง ในข้อนี้ การเดินทั้งในขบวนผู้ชุมนุมและในโลกออนไลน์เป็นช่วงเวลาสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการกลับมาย้อนคิดถึงสภาพสังคมที่พวกเรากำลังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำแหน่งแห่งที่ของประชาชนคนธรรมดา คนที่ต้องเดินด้วยสองตีนบนถนนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม สิ่งที่คนสามัญทำได้มีแค่การหยัดยืนแล้วเดินอย่างซื่อตรง เพราะเราไม่มียานพาหนะหรูหราหรืออภิสิทธิ์ใดช่วยสร้างทางลัดหรืออำนาจในการเปิดปิดเส้นทางเพื่อสงวนไว้ให้ตนโดยเฉพาะ
  3. การเดินทำให้ผัสสะต่าง ๆ ถูกนำมาใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส การได้กลิ่น การรับรส ในแง่นี้ ข้อความที่ถูกพ่น เสียงที่ตะโกน การชูสามนิ้วและสายตาที่สัมผัสกัน กลิ่นเหงื่อไคล ข้าวไข่เจียว หรือแม้แต่รสชาติของแก๊สน้ำตา เหล่านี้เป็นการหลอมรวมพรมแดนของร่างกายกับสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดการตระหนักรู้และเกิดอารมณ์ความรู้สึกที่เกาะเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่รายรอบ โดยเฉพาะความเจ็บปวด ความโกรธเกรี้ยว และความหวัง ซึ่งนั่นทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยว่าเหตุใดผู้ชุมนุมจึงมีความแน่นแฟ้นและออกมารวมตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะถูกกดปราบครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะพวกเขา “รู้สึก” ร่วมกันว่าเป็นผู้ถูกกระทำ
 
นอกจากนี้ Lee และ Ingold ยังเสนอว่าการเดินเป็นคือการสร้างสถานที่ (the creation of place)เพราะผู้คนไม่ได้แค่เดินไปมาระหว่างสถานที่ต่าง ๆ แต่การเดินต่างหากที่สร้างสถานที่ต่าง ๆ ขึ้นมา การเดินในฐานะของการสร้างสถานที่คือการสร้างเรื่องราวชีวิตซึ่งหลอมรวมอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของ  แต่ละบุคคล ในที่นี้ ผู้เขียนนึกถึงการเลือกพื้นที่และเวลาอย่างถนนราช (ราษฎร์) ดำเนิน แยกราช (ราษฏร์) ประสงค์ ในช่วงตุลาคมเป็นสถานที่ชุมนุม เพราะพื้นที่และเวลาที่มีความเฉพาะเจาะจงในประวัติศาสตร์การเมืองระยะใกล้นี้กำลังซ้อนทับการต่อสู้ในอดีตเข้ากับปัจจุบันเพื่อสร้างอนาคตขึ้นมาใหม่
 
และสุดท้าย ซึ่งเป็นแง่มุมที่ผู้เขียนคิดว่าสำคัญที่สุด นั่นคือ การเดินทำให้เกิดการปรากฏร่วมกัน (co-presence) เพราะผู้คนต้องออกมาพบหน้ากัน เกิดกิจกรรมที่ได้จ้องมองและสื่อสารกับผู้อื่น หากกล่าวโดยเฉพาะวิธีการแสวงหาความรู้ของนักมานุษยวิทยา การเดินไม่ได้เป็นเพียงการเดิน แต่เป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่บนพื้น (on ground) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่นักมานุษยวิทยาไม่ได้เป็น “คนนอก” แต่เป็น “คนใน” ที่ต้องใช้ชีวิตภายใต้ระบอบเผด็จการเหมือนกัน การเดินจึงเป็น กระบวนการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมโดยการปรับเปลี่ยนร่างกายให้เข้ากับจังหวะของผู้อื่น เพื่อให้สามารถเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์และอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่มีความแตกต่างไปจากเรา โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือนักเรียนนักศึกษาที่เป็นกำลังสำคัญของการต่อสู้ในครั้งนี้

เราจะมองเห็นสิ่งเดียวกัน ตราบเท่าที่ยังเดินไปด้วยกัน 

เอกสารอ้างอิง

Lee, J., & Ingold, T. (2006). Fieldwork on foot: perceiving, routing, socializing. In P.                            Collins,& S. Coleman (Eds.), Locating the Field. Space, Place and Context in                          Anthropology (pp. 67-86). Berg, Oxford.

เกี่ยวกับผู้เขียน

chutchon9

แนวร่วมน้าแห่งชาติ

Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด