Skip to content

หน้าคาว-รสหวาน: ข้ามสื่อและข้ามผัสสะไปกับเค้กข้าวแกง

เค้ก (Cake) เป็นของหวานชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน มักจะมีรสชาติหวาน โดยการทำเค้กจะมีส่วนผสมหลักอย่างแป้ง น้ำตาล และไข่ เป็นต้น ด้านองค์ประกอบอื่นๆที่สำคัญและมักจะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อก็คือ หน้าตาของเค้ก เนื่องจากเค้กจัดเป็นของหวานที่ใช้ในการเฉลิมฉลองในโอกาสพิเศษหรือวันสำคัญต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย อย่างเช่น งานวันเกิด วันแต่งงานหรือวันครบรอบต่างๆ เป็นต้น ทำให้รูปลักษณ์ภายนอกของเค้กมีความสำคัญอย่างมากทั้งด้านการตกแต่ง สีสัน จึงนำมาสู่การใช้ผลไม้ที่มีสีสันสดใสและวิปครีมต่าง ๆ ตกแต่งหน้าเค้กเพื่อดึงดูดสายตาจากผู้ซื้อ 

“เค้กข้าวแกง” ต่างออกไปจากเค้กรูปแบบเดิมอยู่สักหน่อย เพราะเป็นขนมหวานที่ถูกนำเสนอในภาพลักษณ์ของอาหารคาว ตัวอย่างเช่น เค้กพะโล้ บราวนี่ราดซอสช็อคโกแลต ตกแต่งด้วยช็อคโกแลตรูปอบเชยและโป๊ยกั๊ก เค้กเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย บราวนี่มัทฉะราดซอสชาเขียวตกแต่งด้วยคุ้กกี้ครัมเบิ้ลและช็อคโกแลตรูปมะเขือกับพริก เค้กต้มข่าไก่ เค้กชิฟฟ่อนราดด้วยซอสมะพร้าวอ่อน ตกแต่งด้วยคุ้กกี้ครัมเบิ้ลและช็อคโกแลตรูปพริก เค้กที่ไม่ปกตินี้ชวนให้เราหันมาพิจารณาเค้กในฐานะวัตถุวัฒนธรรม ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความหมายในวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง แต่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ในบริบทสังคมต่างๆ

เค้กทั้งสามอย่างนี้เป็นการนำเสนอภาพอาหารคาวของไทย โดย 2 ใน 3 ของเค้กที่กล่าวมา มีหน้าตาเป็นอาหารคาวแต่ทว่ามีรสหวาน “แกงเขียวหวาน” เป็นแกงที่มีรสหวานเด่น กระทั่งถูกใช้เรียกเป็นชื่อ มีสีเขียวที่โดดเด่นจากหนึ่งในส่วนผสมของเครื่องแกงอย่างพริกสีเขียว ทำให้เป็นเอกลักษณ์และภาพจำในสายตาผู้คน ส่วน “พะโล้”นอกจากเป็นแกงที่มีสีน้ำตาลเข้มแล้ว ยังเป็นอาหารที่มีน้ำตาลจำนวนมาก รสหวานแทบจะเป็นรสนำและยังมีกลิ่นเด่นจากอบเชย ซึ่งเป็นเครื่องเทศที่พบได้บ่อยในขนม ช็อคโกแล็ตรูปอบเชยอาจดูน่าแปลกใจแต่ในความเป็นจริงแล้วอบเชยก็เป็นสิ่งที่คาบเส้นคาวหวานอยู่เป็นทุนเดิม ความหอมมันของกะทิก็มีทั้งรสคาวหวานซึ่งเป็นของที่ข้ามเส้นอยู่ก่อนเช่นกัน เนื่องจากขนมหวานหลายชนิดนิยมใส่กะทิโดยเฉพาะขนมไทยในบ้านเรา เช่นขนมถ้วยหรือบัวลอย.

ในอีกด้านหนึ่งขนมหวานแทบทุกชนิดจะมีเกลือเป็นหนึ่งในส่วนผสม เพื่อเพิ่มความลึกของรสชาติและปรับสมดุลกับรสหวาน ซึ่งบางทียังกลายเป็นรสที่เด่นในของหวานได้ด้วย อย่างในครัมเบิ้ลที่มีรสเค็มนำ เมื่อไปเจอกับรสในขนมหวานแล้วจะทำให้มีรสเค็มผสมหวานที่ลงตัวกับความกรอบที่เคี้ยวไปเพลินไป สัมผัสแบบนี้ช่วยกระตุ้นให้อยากตัดกินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

สายตาอาจหลอกความเข้าใจของเรา แต่ผัสสะด้านการได้กลิ่น นำไปสู่การรับรู้ว่าเค้กชิ้นต่างๆแม้จะมีหน้าตาเป็นอาหารคาวแต่รสชาตินั้นอาจไม่ใช่อย่างที่ตาเห็น เพราะซอสและคุกกี้ต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของเค้ก กลับส่งกลิ่นชวนให้นึกถึงอาหารหวาน ในเค้กแกงเขียวหวาน ซอสชาเขียวถูกใช้แทนสีเขียวของน้ำแกง ช็อกโกแลตชาเขียวปั้นเป็นรูปมะเขือ ทำให้ได้กลิ่นของชาเขียวในขณะที่หน้าตาเค้กเป็นแกงเขียวหวาน ความขัดแย้งกันระหว่างผัสสะที่เห็นกับกลิ่นที่ได้รับนี้ เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ของผู้รับประทานเค้กเหล่านี้

วัตถุอย่างเค้กข้าวแกงเป็นการข้ามพ้นการศึกษาเพียงสิ่งที่มองเห็น กล่าวคือ เป็นการให้ความสำคัญกับผัสสะอื่นๆที่นอกจากสายตา เนื่องจากรูปร่างหน้าตาและชื่อของขนมนั้นเป็นอาหารคาว ทำให้ต้องชิมรสของอาหารซึ่งต้องใช้ผัสสะอย่างลิ้นในการรับรสชาติที่แท้จริง นอกจากนั้นยังใช้ผัสสะจมูกในการดมกลิ่นซึ่งจะสามารถบ่งบอกได้ว่าสิ่งที่เห็นผ่านสายตานั้นไม่ใช่อาหารคาวนอกจากนั้น อาจทำให้คนบางกลุ่มอาจเกิดความรู้สึกที่แปลกใหม่ในการทานขนมนี้ เนื่องจากเป็นวัตถุที่ข้ามอัตลักษณ์ของตนเองอย่างของหวาน ไปเป็นหน้าตาแบบอาหารคาว อาจจะส่งผลต่อความรู้สึกตอนทานที่เปลี่ยนไปจากเดิมซึ่งบางคนจะนึกถึงภาพอาหารคาวชิ้นนั้น ทำให้ไม่ได้รสชาติที่แท้จริงของขนม

เนื่องจากในแต่ละยุคสมัยมีการให้คุณค่าของขนมหวานที่ไม่เหมือนกัน ในสมัยก่อนผู้คนมักซื้อขนม เค้ก ของหวานต่างๆ เพื่อบริโภคหรือให้เป็นของขวัญ แต่ในปัจจุบันยังมีการซื้อมาเพื่อทำรีวิวลงช่องทางต่างๆ ทำให้เค้กข้าวแกงยังสามารถอธิบายผ่านการเป็นวัตถุวัฒนธรรมในด้านของปฎิสัมพันธ์เชิงผัสสะกับโลกภายนอกได้ (Sensory Worlds) อย่างเช่นในแพลตฟอร์ม Youtube หรือ instagram และยังมีบางกลุ่มซื้อมาเพื่อการถ่ายรูปเพียงอย่างเดียว โดยมองว่าขนมหวานเป็นองค์ประกอบหนึ่งของภาพที่ทำให้ดูมีคุณค่าขึ้นและเป็นที่น่าสนใจ ถือเป็นการให้คุณค่ากับผัสสะทางสายตามากกว่าลิ้น อย่างในช่วง Covid-19 ในประเทศไทยก็ได้มี Youtuber หลายคน ที่นำเค้กข้าวแกงไปรีวิว เพื่อเพิ่มความสนใจให้แก่คลิปนั้นและยังสามารถเพิ่มจำนวนผู้ชมให้แก่ช่องของตนเองได้ โดยจุดประสงค์หลักในการซื้อนั้นคือเพื่อนำไปรีวิวไม่ใช่ความอยากกิน ทั้งนี้ของหวานที่หน้าตาเป็นของคาวจึงมีความน่าสนใจ เพราะแตกต่างไปจากภาพจำเดิมของขนมหวานทั่วไป ทำให้ผู้คนเกิดการสงสัยว่าเป็นของหวานหรืออาหารคาวกันแน่ ด้วยรูปลักษณ์ที่แปลกใหม่  และอันเนื่องมาจากวัฒนธรรมอาหารฟิวชั่นที่มีกระแสมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา เป็นกระบวนการที่ทำให้ร้านขนมต่างๆพยายามใส่ความคิดสร้างสรรค์เรื่องหน้าตาที่เป็นตัวดึงดูดลูกค้า นอกจากนั้นยังส่งผลให้เกิดกระแสในสังคมที่ให้ความสนใจในของหวานที่หน้าตาแปลกใหม่ และยังสามารถเพิ่มมูลค่าของเค้กได้มากกว่าเค้กในท้องตลาดทั่วไปได้อีกด้วย ซึ่งส่งผลให้ไปยังลูกค้าต้องซื้อเค้กในราคาที่สูงขึ้น

เค้กข้าวแกงนั้นกว่าจะมีหน้าตาที่น่ารับประทาน ยังมีขั้นตอนสำคัญอย่างการรวมวัตถุดิบต่างๆให้เป็นเค้กข้าวแกงที่สมบูรณ์ โดยเริ่มจากก้อนเค้กธรรมดาที่ไม่มีการตกแต่ง ขั้นตอนต่อมาคือการราดซอสมะพร้าว และตกแต่งด้วยคุกกี้ครัมเบิ้ลจึงจะมีหน้าตาเป็นเค้กต้มข่าไก่ ในแง่นี้เรายังสามารถใช้แนวคิดชีวประวัติเชิงวัฒนธรรมของสิ่งของเป็นกรอบในการทำความเข้าใจเค้กข้าวแกงได้อีกด้วย โดยจะเห็นว่าวัตถุต่างๆ ก็มีช่วงเวลาชีวิตของตนเอง ตั้งแต่ช่วงเวลาถูกสร้างขึ้นจนถึงช่วงสิ้นสุดของชีวิต

ในกรณีชีวิตของเค้กข้าวแกง เริ่มขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนการทำเค้ก แต่ทว่าไม่ได้สิ้นสุดลงที่การรับประทานของผู้ซื้อ  เพราะเค้กข้าวแกงยังได้ถูกนำไปรีวิว จนเกิดกระแสในสังคมช่วงโควิด-19 และเป็นที่ต้องการในกลุ่ม Youtuber หรือ Food Blogger เพื่อนำไปรีวิวในช่องของตนเองทำให้เพิ่ม engagement ได้ จึงเชื่อมโยงในด้านชีวประวัติ (Biography) กล่าวคือ วัตถุสามารถมีชีวประวัติที่สามารถมองได้จากหลายแง่มุม อย่างเช่น ชีวประวัติด้านสังคมที่กล่าวไปข้างต้น และเค้กข้าวแกงยังถือเป็นนัยเชิงวัฒนธรรม (Cultural Biography) กล่าวคือ วัตถุสามารถถูกประกอบสร้างทางวัฒนธรรมได้ จากการรวมกันของสิ่งต่างๆ เพื่อสื่อถึงอีกวัฒนธรรมหนึ่ง อย่าง เค้กต้มข่าไก่ ตอนแรกเป็นเค้กมะพร้าวทั่วไป แต่พอมีคุกกี้ครัมเบิ้ลที่เหมือนชิ้นเนื้อไก่และช็อกโกแลตรูปพริก ทำให้หน้าตาโดยรวมสามารถสื่อถึงต้มข่าไก่ที่เป็นของคาวได้ การมารวมกันของสิ่งต่างๆ ที่ไม่ได้ผิดแผกไปจากองค์ประกอบของเค้กทั่วไป สามารถทำให้เค้กมีชีวิตอยู่ต่อไปแม้มันจะถูกกินเข้าไปแล้ว เพียงแค่มันข้ามเส้นความเข้าใจ คาว/หวาน ในวัฒนธรรมของเรา

@thintomorrow

เค้กข้าวแกง🍱 น่ารักก อร่อยมากกก ถึงหน้าตาจะเป็นข้าวแกง แต่รสชาติไม่ใช่นะจ้ะ เป็นบราวนี่มัทฉะ เค้กมะพร้าว และบราวนี่ช็อก อร่อยมากก #อร่อยไปกิน #ฉันหิว

♬ original sound – พรุ่งนี้ค่อยผอม(´◔౪◔

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการคือ เค้กข้าวแกงได้รับความนิยมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบให้ทุกคนในสังคมมีความจำเป็นต้องอยู่ที่บ้าน ผู้คนจึงเริ่มหันมาใช้สื่อออนไลน์มากขึ้นทั้งด้านการสั่งอาหาร ดูคลิปบันเทิง การสื่อสารกับผู้คนในโลกออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น แพลตฟอร์มทางออนไลน์จึงเป็นช่องทางที่ได้รับความสนใจโดยเฉพาะด้านอาหารหรือขนมต่าง ๆ และในปัจจุบันการติดต่อซื้อขายที่มีความสะดวกมากขึ้น เพียงแค่เข้าไปยังลิงค์ของร้านค้าหรือแสกนผ่านคิวอาร์โค้ดก็สามารถสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ได้ จากเดิมในช่วงที่กระแสในโลกออนไลน์ยังไม่ได้รับความนิยมมาก การดูรายการอาหารผ่านโทรทัศน์นั้นจะมีเพียงแค่การรับชมเพื่อความบันเทิง การตามไปซื้อสินค้าส่วนมากจึงเป็นเรื่องค่อนข้างยากเพราะต้องไปหน้าร้านเพียงเท่านั้น แต่มาในปัจจุบันช่องทางของรายการอาหารและร้านค้าต่าง ๆ  มีการปรับตัวตามสถานการณ์โควิด-19 จึงเปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบออนไลน์มากขึ้นทั้งใน Instagram หรือ Youtube ทำให้ง่ายต่อสั่งซื้อโดยผ่านการคลิกลิงค์ จากนั้นจะนำไปสู่อีกแพลตฟอร์มหนึ่งในการติดต่อ อย่าง Line และการสั่งสินค้ามาทำให้รับรู้ผ่านผัสสะได้หลากหลายมากขึ้น อย่างการได้กลิ่นและรับรู้รสชาติ และหลังจากรับประทานนั้นก็มักจะรีวิวลงในช่องทางออนไลน์ หรือเรียกได้ว่าเป็นการบอกต่อจนกลายเป็นค่านิยมใหม่ในโลกปัจจุบันไปแล้ว ว่าเมื่อสั่งซื้อสินค้าจะมาคู่กับการรีวิวลงไปในโลกออนไลน์ อย่างกรณีของขนมหวานก็จะมีการบรรยายหน้าตา ตามมาด้วยรสชาติ และมักจะมีการให้คะแนนในตอนสุดท้ายเพื่อประกอบการตัดสินใจของคนที่สนใจสั่งซื้อตาม 

ช่องทางของเค้กข้าวแกงที่ปรากฏอย่างโดดเด่นคือ Youtube ในปัจจุบันผู้คนมีการรับชมคลิปวิดีโอผ่านช่องทางนี้เป็นจำนวนมากขึ้น ทำให้เกิดอาชีพใหม่อย่าง Youtuber ที่สามารถสร้างรายได้จากการทำคลิปต่างๆและการทำคลิปรีวิวสินค้าที่แปลกหรือน่าสนใจ ถือเป็นสิ่งที่ดึงดูดผู้คนให้รับชมคลิปได้เป็นอย่างดี เค้กข้าวแกงจึงเป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับการรีวิวในช่องต่างๆ ทำให้เกิดกระแสในสังคมขึ้นมาช่่่่่่วงหนึ่งของสถานการณ์โควิด19 โดยช่องต่างๆแม้จะรีวิวรสชาติว่าไม่ได้เหมือนของคาวอย่างที่เห็นแต่ยังคงเน้นไปที่การบรรยายรูปลักษณ์ภายนอกว่าเหมือนของคาวอย่างไร  ทางด้านสื่อ Tiktok  สื่อที่เน้นทำคลิปสั้น ๆ เค้กข้าวแกงได้ถูกนำไปรีวิวโดยการพูดถึงหน้าตาของเค้กยังมีมากกว่าการพูดถึงรสชาติเช่นกัน แต่เนื่องด้วยเวลาที่จำกัดในความยาวของคลิปในสื่อนี้ทำให้มักจะเน้นไปที่รูปลักษณ์ของเค้ก แสดงให้เห็นว่าสื่อหรือเทคโนโลยีต่างๆก็มีส่วนกระตุ้นการให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอก มากกว่ารสชาติของอาหารต่างๆ ส่งผลมาถึงค่านิยมในปัจจุบันผู้คนจึงสนใจเรื่องหน้าตาของอาหารที่ต้องถ่ายรูปแล้วสวย โพสแล้วเป็นจุดสนใจ ด้านรสชาติหรือความต้องการซื้อเพราะอยากรับประทานรสชาติแบบต่างๆจึงถูกละเลยไปค่อนข้างมากในสังคมปัจจุบัน

การปรากฏตัวของเค้กข้าวแกงในหลากหลายช่องทางนี้ แสดงให้เห็นถึงพหุลักษณ์ของสื่อ (Polymedia) ตั้งแต่ Instagram ที่เป็นช่องทางสำหรับโพสรูปภาพในการขายเป็นหลัก ทำให้เห็นได้ถึงความสำคัญของการขายสินค้าหรือการเลือกซื้อมักจะเน้นไปยังรูปภาพและหน้าตาของเค้กที่ต้องแปลกใหม่ โดดเด่น สะดุดตา ถึงจะดึงดูดผู้คนในการหยุดเลื่อนดูเค้กชิ้นนี้ เมื่อสนใจจึงติดต่อสั่งซื้อโดยใช้ช่องทาง LINE เนื่องจากรูปแบบช่องแชทที่มีความสะดวกในการพูดคุยและมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น และเพิ่มความปลอดภัยให้กับข้อมูลต่างๆของผู้สั่งซื้อเค้ก นอกจากนั้นแล้วยังมีแอพบริการส่งอาหารที่เกิดขึ้นมากในปัจจุบัน การสั่งซื้ออาหารหรือขนมหวานจึงเป็นการดูรูปภาพผ่านทางออนไลน์เพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นการตอกย้ำเรื่องการซื้อขายทางออนไลน์เพิ่มขึ้นและความสำคัญของหน้าตาอาหารอย่างชัดเจน 

ในปัจจุบันสื่อมีความหลากหลายมากขึ้น แต่ละชนิดต่างก็มีการใช้ที่เชื่อมโยงกับความต้องการของแต่ละปัจเจกที่ต่างกันออกไป สื่อถือเป็นระบบนิเวศอย่างหนึ่งที่มีนิยามซึ่งจะต้องเข้าใจในเชิงสัมพัทธ์กับสื่ออื่นๆ โดยแนววิธีดังกล่าวนี้มีประเด็นที่สนใจ 2 ด้าน คือ ศักยภาพของเทคโนโลยี (รูปวัตถุ) และเป้าหมายในการสื่อสาร (ความเป็นอัตบุคคล) กล่าวคือ ใช้สื่ออะไรเพื่อการสื่อสารอะไร อย่างเช่น หากเราจะสื่อสารกับคนรอบตัวส่วนมากผู้คนจะใช้สื่อมากกว่า 1 สื่อ กรณีเช่น มีการแชทสั่งซื้อสินค้าผ่าน Line ดูรูปสินค้าผ่าน Instagram ดูรีวิวสินค้าผ่านYoutube หรือ Tiktok เป็นต้น ซึ่งสามารถใช้สื่อหลายอย่างพร้อมกันได้ตามความสะดวกของแต่ละบุคคล นอกจากนั้นสื่อช่องทางต่างๆก็มีกลุ่มคนที่ใช้ต่างกันตามช่วงวัย สามารถอนุมานได้ว่าทุกสื่อจะมี target group และเป้าหมายที่แตกต่างกันกันออกไป เพื่อรองรับความต้องการของคนในสังคม

อีกด้านหนึ่งคือ สภาวะความเป็นสังคมที่ปรับระดับได้ (Scalable sociality) โดยผู้คนส่วนใหญ่เลือกใช้สื่อตามระดับความสนิทสนมใกล้ชิดในสังคม อย่างใน Instagram มีความเป็นสาธารณะผู้คนสามารถดูรูปของคนแปลกหน้าได้ ติดต่อสื่อสารกันแบบผิวเผิน แต่ในช่องทาง Line จะมีความเป็นส่วนตัวมากกว่าและจะสื่อสารกันได้ก็ต่อเมื่อมีการเพิ่มไอดีของอีกฝ่าย เนื่องจากพื้นที่และรูปแบบของสื่อที่ต่างกันแต่ทั้งหมดก็ถือเป็นปฎิสัมพันธ์ที่ผ่านความเป็น polymedia 

ตัวอย่างข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าเค้กที่ดูเหมือนเป็นขนมหวานธรรมดา ก็สามารถมีพัฒนาการในด้านรูปลักษณ์ที่แปลกใหม่และพยายามหลุดจากกรอบเดิม ๆ ของขนมหวาน โดยมีการข้ามเส้นแบ่งของอาหารคาวกับอาหารหวาน ที่แม้จะมีความท้าทายในการรังสรรค์หน้าตาให้คล้ายกับอาหารคาวแต่ยังคงรักษารสชาติเดิมของขนมหวานเอาไว้  เค้กข้าวแกงเพิ่มความตื่นเต้นให้กับผู้ที่รับประทานโดยการสร้างความสับสนว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นอาหารคาวหรืออาหารหวานกันแน่ ทำให้เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ในการทานขนมหวานอีกรูปแบบหนึ่ง  ทางด้านกระแสการตอบรับในสังคมส่วนใหญ่มาจากช่องทางสื่อออนไลน์ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในการทำให้เค้กข้าวแกงได้รับความสนใจ เนื่องจากเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้การกระจายข้อมูล การบอกต่อ รวมไปถึงการสั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในโลกออนไลน์กลายเป็นเรื่องที่ง่าย สะดวกและรวดเร็ว จึงนำมาสู่การได้รับผัสสะที่หลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่ได้รับชมผ่านเพียงแค่ทางสายตา ในปัจจุบันก็สามารถสั่งซื้อทางออนไลน์มาลองรับประทานได้ ทำให้ได้ผัสสะผ่านทั้งทางสายตาที่รูปลักษณ์ภายนอกและการลิ้มลองรสชาติที่แท้จริงของเค้กไปพร้อม ๆ กัน นอกจากนั้นยังมองได้อีกว่าวัตถุวัฒนธรรมนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่วัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง และยังมีความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆโดยเฉพาะมนุษย์ ทำให้เห็นว่าวัตถุที่ดูเหมือนจะธรรมดาทั่วไป ล้วนเป็นสิ่งประกอบสร้างทางวัฒนธรรมทั้งสิ้น ล้วนมีเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในวัตถุชิ้นนั้น ๆ หากต้องการศึกษาวัตถุจึงเป็นการศึกษาที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเชิงสัญลักษณ์เพียงเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางสังคมที่รวมอยู่ในวัตถุชิ้นหนึ่งทั้งในด้านคุณลักษณะและความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับผู้คน

เกี่ยวกับผู้เขียน

238342347 401308344748123 4004399980522298120 N
ปาณิสรา อุดมสินธ์

นักศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาการวิจัยทางสังคม
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด