Skip to content

ความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” ในเพลงสไตล์ไทบ้าน

“มาเด้อขวัญเอ้ยยยย..”

            “ขวัญ” ในวัฒนธรรมอีสานปรากฏอยู่ทุกหนทุกแห่งรอบๆ ตัว หรือจะบอกว่าคนอีสานผูกความเชื่อเรื่องขวัญไว้อยู่ในสรรพสิ่งต่างๆ มากมายเต็มไปหมด ไม่ใช่แค่ในรูปของสิ่งของเท่านั้น อาการต่างๆ ก็ใช้ความเชื่อนี้มาผูกโยง เช่น หัวขวัญ หมายถึง หัวเราะ เว้าขวัญ หมายถึง การนินทา

ความเชื่อเรื่องขวัญนั้นไม่ได้มีอยู่เฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในอุษาคเนย์ ราว 3,000 ปีที่ผ่านมา หมายถึงสิ่งที่ไม่มีตัวตนของคน สัตว์ สิ่งของ  

ขวัญหน้าตาแบบไหน? บ้างบอกว่าขวัญมีรูปร่างเหมือนลายเขียนสีบนหม้อบ้านเชียง (สุจิตต์ วงษ์เทศ . 2559) หรือ ขวัญอาจจะหมายถึงผม หรือขนที่มีการขดเวียนลักษณะแบบก้นหอย (วีณา วีสเพ็ญ อ้างใน ณรงค์ศักดิ์ ราวะรินทร์. 2558)

สำหรับความเชื่ออีสานเมื่อใดที่เจ้าของขวัญเจ็บไข้ได้ป่วย หรือประสบอุบัติเหตุร้ายแรงตกใจจนขวัญไม่ได้อยู่กับตัว จำต้องทำพิธีเรียกขวัญกลับคืนเข้ามาสู่เจ้าของขวัญ ในวัฒนธรรมอีสานเรียกพิธีนี้ว่า “พิธีส่อนขวัญ” โดยมีหมอขวัญ หรือ หมอสูตร เป็นผู้นำการประกอบพิธี

การสู่ขวัญไม่ใช่ใช้ได้แค่ยามเกิดเคราะห์ร้ายเท่านั้น แต่การสู่ขวัญสามารถกระทำได้หลายพิธี ในงานมงคลเรียกว่า “พิธีบายศรีสู่ขวัญ” มีพานบายศรีหรือขันหมากเบ็ง เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมหลักในการทำ “พาขวัญ” นิยมใช้ในงานแต่งงาน งานสู่ขวัญนาคในงานบวช หรือการตอนรับแขกบ้านแขกเมือง นอกจากนั้นยังพบว่ามีการสู่ขวัญสำหรับสิ่งของและสัตว์ เช่น การสู่ขวัญข้าว สู่ขวัญเรือน สู่ขวัญวัว ควาย เป็นต้น

ขวัญเมื่ออยู่ในเพลง

เพลงอกหักเมื่อจะบอกถึงความเจ็บปวดต้องพยายามบรรยายให้เห็นว่าความเจ็บนั้นมันได้ลงไปจนลึกถึงก้นบึ้งของหัวใจ แค่นั้นยังน้อยไป เพลงไทบ้านอีสาน หรือเพลงอีสานร่วมสมัยในช่วงปี พ.ศ.2562-2563 หลายเพลงได้บรรยายความเจ็บปวดและความสูญเสียที่ลึกลงกว่านั้นมาก โดยใช้ความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” นี่แหละเป็นตัวเล่าเรื่อง เป็นความสูญเสียทางจิตใจที่ยากจะเยียวยาได้

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเพลงไทบ้านอีสานมา 3 เพลงที่โด่งดังรู้จักกันในวงกว้างแต่ละเพลงมียอดผู้ชมผ่านทางยูทูบกว่าร้อยล้านวิว คือ 1. เพลงกอดเสาเถียง โดยปรีชา ปัดภัย  2. เพลง สุขขีหมั่น โดยแจ็ค ลูกอีสาน และ 3. เพลงอ้ายมันคนซั่ว ร้องโดย มอส คำหมากบิน และขอแถมเพลงไทยสากล 1 เพลง คือเพลงขวัญเอยขวัญมา ของปาล์มมี่ ที่เป็นใครๆ ต้องพูดถึง เพราะภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากที่มีการปล่อยเพลงออกมามีผู้ชมเข้าชมกว่าล้านครั้งเลยทีเดียว

อย่างในเนื้อเพลงกอดเสาเถียง “มันเจ็บพอปานสิใจขาด พัดไปกับสายลมส่า ลิ่วหลุดไปคือว่าว ที่เอาคืนบ่ได้ ห่ายเหล้าเข้าปาก สะมักจนน้ำตาไหล ฮ้องเอิ้นใส่เสียง มาเด้อขวัญเอย..” เพลงเล่าถึงชีวิตของชายหนุ่มที่อยู่ท่ามกลางงานแต่งงานของอดีตคนรักซึ่งกำลังเข้าพาขวัญกับคนอื่นอย่างมีความสุข ส่วนคนแพ้อย่างเขานั้นก็ต้องกลับไปรักษาแผลใจที่กำลังช้ำๆ โดยการเมาและพยายามทำร้ายตัวเอง ประชดประชันด้วยการร้องเรียกขวัญเหมือนจะยินดีแต่ไม่ยินดี

เพลงสุขขีหมั่น สุขขีหมั่นเสมอมันเครือใหม่ ขอให้เจ้าได้สุขสมโซค….” ในเพลงยกบทของหมอสูตร (บทสวดขวัญ) ที่กำลังประกอบพิธีกรรมในงานแต่งงานมาใส่ในเนื้อร้อง ผนวกเข้ากับซาวน์ดนตรีสมัยใหม่อย่างลงตัว หนักแน่น และสื่อความหมายของผู้แพ้ที่ต้องจำใจถอยออกมาได้อย่างดีมาก

เพลงอ้ายมันคนซั่ว “ศรีมื้อนี่แม่นมือดี มื้อเศรษฐีอมุตะโศก ไก่ผูโอ่กตื่นข้าวสาร แม่มารตื่นมดส่ม เข่าต้มตื่นเจ้าหัว ดอกบัวตื่นพระเจ้า หมาเฒ่าตื่นลิงโทน” เพลงนี้ตัวละครหลักที่เป็นนักร้องรับบทเป็นหมอสูตรขวัญที่เข้าไปประกอบพิธีกรรมเองเลย เนื้อเพลงยังแอบมีคำแช่งที่ล้อกับคำอวยพร และเพลงนี้ตอกย้ำความเจ็บปวดรวดร้าวแบบหนักแน่นฝังลึกด้วยดนตรีที่ใช้บทหมอสูตรขวัญเล่นเข้ากับเอฟเฟคกีตาร์ กลอง เบส หนักๆ ถึงใจผู้ชมเลยทีเดียว

ส่วนเพลงสุดท้ายที่เพิ่มเข้ามาคือเพลงขวัญเอยขวัญมา ของปาล์มมี่ เอ็มวีเซอร์ไฟรส์สุดๆ นึกไม่ถึงเหมือนกันว่าจะออกมาแนวนี้ ส่วนตัวประทับใจมาก ในงานชิ้นนี้ไม่รู้จะจัดเพลงนี้เป็นเพลงสไตล์ไทบ้านได้ไหม เพราะโดยตัวของปาล์มมี่เองก็เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงจากเพลงไทยสากลมาอย่างยาวนานและเพลงยังเป็นเพลงสไตล์แบบปาล์มมี่อยู่ แต่เอ็มวีทั้งหมดเป็นฉากไทบ้านท้องถิ่นอีสานอย่างชัดเจน

พูดถึงเอ็มวีซึ่งเป็นจุดสนใจมาก เล่ารายละเอียดดีงามอย่างไร้ที่ติ เริ่มจากผู้ชายคนรักของนางเอกต้องไปแต่งงานกับหญิงอื่นแทนที่จะเป็นตัวเอง เขาเสียใจมากจนต้องใช้คำว่า “ขวัญหนี” ขวัญกระเจิงเลยทีเดียว ฉากช่วงแรกมีขันหมากเบ็งล้มคือเปิดเรื่องได้ดีมาก รวมถึงเก็บรายละเอียดอย่างอื่นได้แนบเนียน โดยเฉพาะ “การส่อนขวัญ”

การส่อนขวัญในความเชื่ออีสานเป็นพิธีกรรมที่ทำขึ้นเมื่อมีการตกใจอย่างร้ายแรง ชาวบ้านเชื่อว่า “ขวัญหนี” จำเป็นต้องเรียกขวัญนั้นให้คืนกลับมาสู่ร่างกาย

“ส่อน” ในภาษาอีสานแปลว่า ช้อนหรือตัก ในพิธีกรรมครั้งนี้จะใช้สวิงมาส่อน (ช้อน) ในที่ประสบอุบัติเหตุ หรือที่ที่เชื่อว่าทำขวัญหาย ในเอ็มวีเพลงนี้มีฉากการส่อนขวัญตามสถานที่ต่างๆ ที่หนุ่มสาวในเรื่องเคยพบเจอกัน

อุปกรณ์ในการประกอบพิธีนอกจากสวิงแล้วก็จะมีขันธ์ 5 เพื่อขอขมาเจ้าแม่ธรณี หมากพลู บุหรี่ ข้าวเหนียว ไข่ไก่ต้มสุก 1 ฟอง ข้าวต้มมัด ฝ้ายสำหรับผูกแขน ดอกไม้ ของหวาน และ เสื้อผ้าของเจ้าของขวัญนั้น การทำพิธีส่อนขวัญต้องนำผู้เฒ่า ญาติผู้ใหญ่ให้ไปเรียกขวัญกลับคืนมา เพื่อให้เจ้าตัวที่ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยได้อยู่เย็นเป็นสุข พร้อมคำเรียกขวัญแบบชาวอีสานว่า “มาเยอขวัญเอย” ซึ่งในเพลงนี้สามารถเก็บรายละเอียดสิ่งเหล่านี้ได้ดีมากทีเดียว

อกหักวันกินดอง

จุดร่วมของทั้งสี่เพลงดังที่ยกมาคือการอกหักในงานกินดอง หรือพิธีกรรมแต่งงาน ฉากที่ชัดเจนและโดดเด่นที่สุดที่ทั้งสี่เพลงมีคือฉากในพาขวัญที่กำลังทำพิธีสู่ขวัญเจ้าบ่าว เจ้าสาว และการผูกแขนป้อนไข่เป็นเสมือนการป่าวประกาศว่าทั้งสองคือสามีภรรยากันแล้วอย่างลึกซึ้งโดยไม่ต้องขึ้นห้องหอซึ่งดูจะตรงและโจ่งแจ้งตั้งใจเกินไป ทั้งสี่เพลงเลยเลือกใช้ฉากนี้แหละที่สะท้อนความเจ็บปวดที่สุดของคนไม่สมหวัง

การผูกแขนป้อนไข่ในพิธีกรรมแต่งงานของชาวอีสานซึ่งถือเป็นพิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน (rite of passes) ที่สำคัญ เป็นการต้อนรับสมาชิกใหม่ในครอบครัว โดยมีฝ้ายผูกแขนเป็นสัญลักษณ์การต้อนรับอันแสนอบอุ่น เปลี่ยนผ่านจากสถานะแฟนที่คบหากันแบบหนุ่มสาวมาเป็นสามีภรรยาที่อยู่กินกันได้ตามระเบียบทางสังคม

ส่วนของการป้อนไข่ ไข่ไก่ที่ใช้ในพิธีเรียกว่า “ไข่ขวัญ” สำหรับเจ้าสาวและเจ้าบ่าวที่ต้องกินในพิธี นอกจากนี้ไข่ที่ว่ายังใช้เป็นการเสี่ยงทายถึงอนาคตของคู่รักตามความเชื่อด้วย แอบมีฉากหนึ่งในบทเอ็มวีของเพลงปาล์มมี่ที่นางเอกกัดไข่กินคำนึงและที่เหลือก็ยัดไข่เข้าปากเจ้าบ่าวอดีตแฟนหนุ่มด้วยความคับแค้นใจ ฉากนี้ลึกซึ่งและกินใจผู้ชมอย่างเรายิ่งนัก (เหมือนจะสะใจแต่ลึกๆ ก็เสียใจ)

การทำเพลงแบบใหม่ของนักดนตรีอีสานมีอิสระและเปิดกว้างมากขึ้น เพลงอีสานที่ไม่มีเครื่องดนตรีอีสานก็ยังคงอัตลักษณ์ความเป็นอีสานได้โดยการเล่าเรื่องที่ออกมาจากท้องถิ่นของตนเอง เช่น การนำเรื่องขวัญในพิธีแต่งงานมาใช้ หรือ เพลงอีสานที่มีคำร้อง และเครื่องดนตรีอีสานอยู่ก็ได้ประกาศความเป็นดนตรีร่วมสมัยโดยการใช้ซาวน์ดนตรีที่หนักแน่น มีชั้นเชิง สามารถนำความเป็นดนตรีอีสานมาปรับใช้กับดนตรีสากลอย่างลงตัว

อ้างอิง

ณรงค์ศักดิ์ ราวะรินทร์. (2558) . สู่ขวัญ : คน สัตว์ และสรรพสิ่งในเอกสารใบลานอีสาน.กลุ่มงานอนุรักษ์เอกสารใบลาน สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2559) .ขวัญเอ๋ย ขวัญมา.คอลัมน์ สยามประเทศไทย มติชนรายวัน

เกี่ยวกับผู้เขียน

Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด