เก็บความโดย พรรณราย โอสถาภิรัตน์
ในประวัติศาสตร์ระยะใกล้ หลายคนมักจดจำนักมานุษยวิทยาและนักต่อสู้ตามแนวทางอนาธิปไตยอย่างเดวิด เกรเบอร์ (David Graeber) ในฐานะผู้เป็นต้นคิดประโยค “We Are the 99%” ที่กลายเป็นเหมือนสโลแกนของ Occupy Movement ช่วงต้นทศวรรษที่ 2010 (อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบกันดีว่าเกรเบอร์มักย้ำเสมอว่า ประโยคดังกล่าวไม่ได้มาจากความคิดของเขาเพียงคนเดียว)
ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นเกือบครึ่งศตวรรษ นักมานุษยวิทยาอีกคนหนึ่งได้รับการบันทึกไว้ว่าเป็นผู้นำเสนอรูปแบบกิจกรรมที่เรียกว่า “teach-in” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงคืนวันที่ 24 ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 25 มีนาคม 1965 ณ มหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) เมืองแอนอาร์เบอร์ (Ann Arbor) — เนื้อหาต่อไปนี้ เป็นการเรียบเรียงโดยสังเขปจากบันทึกความทรงจำและบทสะท้อนของมาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) ที่เผยแพร่ในปี 2009 และ 2017
ตารางกิจกรรม teach-in ครั้งแรก ณ มหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) เมืองแอนอาร์เบอร์ (Ann Arbor)
ที่มา: Bentley Historical Library
กำเนิด teach-in
ในข้อเขียนเมื่อปี 2009 ซาห์ลินส์ได้อ้างถึงรายงานของวุฒิสภาเกี่ยวกับ teach-in movement ที่ได้บันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เป็นจุดกำเนิดของขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวไว้ดังนี้
teach-in movement ถือกำเนิดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยมิชิแกน ภายหลังเกิดกระแสวิพากษ์อย่างรุนแรงต่อแผนการเริ่มแรกที่คณาจารย์จะนัดหยุดสอนเพื่อประท้วงนโยบายของสหรัฐในเวียดนาม นอกจากนิยามของการ “นัดหยุดงาน” จะฟังดูรุนแรงแล้ว ยังกลายเป็นประเด็นขัดแย้งที่เบี่ยงความสนใจของผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งจากเป้าหมายพื้นฐานของการเคลื่อนไหว นำมาสู่การถกเถียงเพื่อหาทางเลือกอื่นๆ ในการประชุมคืนวันที่ 17 มีนาคม … อยู่ๆ นักมานุษยวิทยานามซาห์ลินส์ได้กล่าวแทรกขึ้นมาในวงอภิปรายว่า “ผมนึกออกแล้ว ในเมื่อพวกเขาบอกว่าพวกเราละเลยความรับผิดชอบในฐานะผู้สอนหนังสือ เราก็ควรแสดงให้เห็นว่าพวกเรารู้สึกรับผิดชอบอย่างไร แทนที่จะออกไปสอนข้างนอก (teaching out) เราก็จัดการสอนในมหาวิทยาลัย (teach in) ข้ามคืนแทนสิ” (Sahlins 2009, 5)
ซาห์ลินส์ได้สอดแทรกอารมณ์ขันในการอธิบายถึงที่มาของการเล่นคำคู่ตรงข้ามดังกล่าวว่า มีที่มาจาก “Levi-Strauss” ซึ่งหมายถึงหนังสือของนักทฤษฎีโครงสร้างนิยมอย่างโคล้ด เลวี-สโทรสส์ (Claude Lévi-Strauss) ไม่ใช่กางเกงยีนส์ลีวาย-สเตราส์ แม้ว่ากางเกงยีนส์จะเป็นหนึ่งในวัตถุวัฒนธรรมที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมต่อต้านกระแสหลักก็ตาม
นอกจาก teach-in จะเชื่อมโยงโดยตรงกับ “sit-in” ในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองในทศวรรษ 1960 และอ้างอิงกับการประท้วงโดยเข้าไป “นั่ง” (sit-down) ในโรงงานระหว่างการนัดหมายหยุดงานของแรงงานผลิตรถยนต์ฟอร์ดที่เมืองฟลินต์ (Flint) มลรัฐมิชิแกน ช่วง ค.ศ. 1936-1937 ซึ่งอาจพิจารณาได้ว่าเน้นการเข้ายึดพื้นที่เพื่อแสดงออกทางการเมืองเช่นเดียวกับขบวนการรุ่นหลังอย่าง Occupy Movement แล้ว ซาห์ลินส์ยังชี้ให้เห็นว่านี่เป็นยุทธวิธีที่หลอมรวมมิติของการอยู่ทั้งในและนอกระบบ รวมถึงแง่มุมของความรับผิดชอบทางวิชาการและการขัดขืนในฐานะพลเมือง
บันทึกภาพเคลื่อนไหวจากกิจกรรม teach-in ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนในปี 1965 ประกอบเสียงให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความสำคัญของกิจกรรม teach-in ผู้ให้สัมภาษณ์ประกอบด้วย 1) ศาสตราจารย์ William A. Gamson นักสังคมวิทยาซึ่งสอนอยู่ที่แอน อาร์เบอร์ระหว่างปี 1962-1982 2) Richard Mann ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและศาสนาซึ่งเข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนใน ค.ศ. 1964 และ 3) William Charles (หรือ “Bill”) Ayers ผู้นำนักศึกษากลุ่ม Students for a Democratic Society (SDS)
ที่มา: http://michiganintheworld.history.lsa.umich.edu/antivietnamwar/items/show/54
ในกิจกรรมครั้งแรก อาจารย์และนักศึกษาได้ร่วมกันฟังบรรยายสาธารณะ การอ่านแถลงการณ์จากมุมมองที่หลากหลาย ตลอดจนการถาม-ตอบเกี่ยวกับปัญหาสงครามเวียดนาม จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดกิจกรรมลักษณะเดียวกันตามมหาวิทยาลัยต่างๆ หลายร้อยแห่งทั่วประเทศในคืนวันที่ 25 มีนาคมนั้นเอง ต่อมาได้มีการจัดกิจกรรมระดับชาติที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันที่ 15 พฤษภาคม ซึ่งมีการถ่ายทอดสัญญานออกสื่อไปทั่วประเทศ (Sahlins 2009; 2017) หลังจากนั้น ในวันที่ 21 พฤษภาคม ได้มีการจัดกิจกรรม teach-in ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California at Berkeley) ซึ่งดำเนินต่อเนื่องกว่า 36 ชั่วโมง และมีผู้เข้าร่วมมากที่สุดกว่า 30,000 คน ในยุคนั้น คนมักมองว่าเบิร์กลีย์กับมิชิแกนเป็นมหาวิทยาลัยคู่แข่งด้านการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ซาห์ลินส์ได้ชี้ให้เห็นความแตกต่างในรายละเอียดว่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เบิร์กลีย์เป็นการขับเคลื่อนของขบวนการนักศึกษาที่เน้นรณรงค์ด้านสิทธิพลเมือง โดยเฉพาะขบวนการเรียกร้องเสรีภาพในการพูด (Free Speech Movement) ในขณะที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนได้รับการผลักดันจากอาจารย์รุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ได้มีตำแหน่งอาจารย์ประจำ (tenure) และเน้นรณรงค์ต่อต้านสงครามเวียดนามเป็นหลัก
ถึงแม้ว่าสงครามจะยังคงดำเนินต่อไปอีกหลายปีนับจากจุดเริ่มต้นของ teach-in แต่การริเริ่มดังกล่าวก็มีบทบาทสำคัญในการยกระดับขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนามให้เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพที่ขับเคลื่อนด้วยพลังของคนหนุ่มสาว และนำไปสู่การปลุกจิตสำนึกของผู้คนจำนวนมากทั่วประเทศ
"rebels without a cause"
ซาห์ลินส์ได้ย้ำในข้อเขียนทบทวนขบวนการดังกล่าวในหลายโอกาสว่า นัยสำคัญของ teach-in คือการเชื่อมโยงระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับวัฒนธรรมต้านกระแสหลัก (counterculture) ทั้งในแง่การมีส่วนร่วมของกลุ่มคนต่างช่วงวัยและเป้าหมายของการเคลื่อนไหว
การรณรงค์ต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์หรือขบวนการสันติภาพฝ่ายซ้ายก่อนหน้านั้น มักใช้รูปแบบของการเดินขบวน จุดเทียนรำลึก หรือการร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ต่างๆ ซึ่งมีผู้สนับสนุนในวงจำกัดและไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสื่อมากนัก (Sahlins 2009) ในขณะเดียวกัน แม้ว่าวัฒนธรรมต้านกระแสหลักจะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของวัยรุ่น โดยรสนิยมการเสพดนตรี การแต่งกาย ความสัมพันธ์ทางเพศ การใช้ยา ฯลฯ กลายเป็นรูปแบบของการแสดงออกเพื่อต่อต้านสถาบันหลัก แต่ก็ยังไม่ได้ยึดโยงกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากนัก อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมดังกล่าวได้มีส่วนในการหลอมรวมประสบการณ์การต่อต้านเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายและตัวตนของคนหนุ่มสาว พวกเขาคิดว่าหากเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ก็ย่อมสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ด้วย
โจแอน ไบซ์ (Joan Baez) ร้องเพลง “We Shall Overcome” บนขั้นบันไดบริเวณ Sproul Plaza มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ก่อนที่ผู้ประท้วงจะแสดงออกด้วยการนั่งยึดพื้นที่ (sit-in) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 1965
ที่มา: Online Archive of California
ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 นักศึกษาจำนวนมากเริ่มไม่พอใจกับการเกณฑ์ทหาร ขณะเดียวกับที่นักวิชาการฝ่ายซ้าย-เสรีนิยมได้เข้าร่วมขบวนการต่อต้านสงครามในระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจกล่าวได้ว่า teach-in ได้เชื่อมโยงคนในช่วงวัยที่ให้ความสำคัญกับการต่อต้านวัฒนธรรมกระแสหลักเข้ากับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการยกระดับการประท้วงต่อต้านสงครามให้เป็นขบวนการระดับชาติ (Sahlins 2017)
อย่างไรก็ตาม นัยของการต่อต้านวัฒนธรรมกระแสหลักได้มีส่วนผลักดันขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองไปในทิศทางที่รุนแรงมากขึ้น กลุ่มเสรีนิยมผู้ต่อต้านสงครามเริ่มรู้สึกแปลกแยกจากยุทธวิธีของนักศึกษา และหวนกลับสู่การประท้วงตามขนบ โดยได้รับการสนับสนุนจากแนวร่วมกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งรวมทั้งนักการเมืองในระบบด้วย การนัดหยุดงานประท้วงใน ค.ศ. 1969 มีผู้เข้าร่วมมากกว่าหนึ่งล้านคน ส่วนการเดินขบวนประท้วงในเดือนต่อมา ก็มีผู้เข้าร่วมกว่า 500,000 คนในวอชิงตัน ดี.ซี. และกว่า 350,000 คน ในซาน ฟรานซิสโก หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นการกลับคืนสู่กระแสหลักในวัฒนธรรมการเคลื่อนไหวทางการเมือง (Sahlins 2009)
นับจากทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ได้มีการจัดกิจกรรม teach-in เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นระยะ รวมทั้งในขบวนการ Occupy Wall Street (ค.ศ. 2011) ซึ่งมีการจัดกิจกรรม teach-in ในสวนสาธารณะซุคค็อตติ กรุงนิวยอร์ก และ Black Lives Matter (ช่วงปี 2015-2016) โดยเฉพาะหลังจากชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2016 นักมานุษยวิทยาในสหรัฐอเมริกาได้หันกลับมาให้ความสนใจ teach-in ในฐานะหนึ่งในเครื่องมือรณรงค์ทางการเมืองในปริมณฑลวิชาการอีกครั้ง ซาห์ลินส์เองได้ร่วมบรรยายในรายวิชา “The Election of 2016: A Semester-Long Teach-In” ของลูกชายซึ่งสอนประวัติศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และได้สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมการเคลื่อนไหวทางการเมืองในสถาบันศึกษา กล่าวคือ แม้การเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับชาติ ทั้งในทศวรรษ 1960 และปัจจุบัน จะมีจุดเริ่มต้นจากการแสดงออกของสามัญชนที่ดูเหมือนปราศจากทิศทางที่ชัดเจนเหมือนๆ กัน แต่ซาห์ลินส์ก็ได้ชี้ให้เห็นแง่มุมที่แตกต่างโดยคร่าวๆ ดังนี้
"a cause without rebels"
ซาห์ลินส์ใช้ความเปรียบที่อ้างอิงจากชื่อผลงานภาพยนตร์ในตำนานของเจมส์ ดีน (James Dean, 1931-1955) ให้เห็นภาพว่า หากขบวนการนักศึกษาในยุค 1960-1970’s มีที่มาจากวัฒนธรรมต่อต้านที่ไร้เป้าหมายทางการเมือง (“rebels without a cause”) ก็อาจกล่าวได้ว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เป็นการเคลื่อนไหวอย่างมีเป้าหมายโดยปราศจากการต่อต้าน (“a cause without rebels”) (Sahlins 2009) เห็นได้จากความหลากหลายของกลุ่มประชากรที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวและประเด็นรณรงค์ ที่ล้วนมีเป้าหมายชัดเจนในการเรียกร้องการแก้ไขตามกระบวนการทางกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม หรือการตัดสินใจเชิงนโยบาย ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
ภาพโดย: Date Freedom
ความแตกต่างสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ในขณะที่นักศึกษายุค 1960’s มีความตื่นตัวในการเข้าร่วมกิจกรรม teach-in ในปัจจุบันกลับมีผู้ร่วมกิจกรรมวิชาการสาธารณะเพียงไม่มาก อย่างไรก็ดี สื่ออินเทอร์เน็ตต่างๆ ได้กลายเป็นพื้นที่ของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของอาจารย์และนักศึกษาจำนวนมาก หากเรากำลังอยู่ในยุคของ “รัฐพันลึก” (deep state) ก็อาจกล่าวได้ว่าพลเมืองโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่าน “deep public sphere” เช่นการที่เครือข่ายของ “เพื่อน” “ผู้ติดตาม” หรือผู้ส่งต่อข้อความทวีต (retweeters) สามารถระดมคนจำนวนมากมาร่วมแสดงออกทางการเมืองในประเด็นต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ในข้อเขียนจากเมื่อสามปีก่อนชิ้นนี้ ซาห์ลินส์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจเป็นการก่อตัวของชั่วรุ่นที่มีความคิดก้าวหน้า ซึ่งกำลังรอวันที่จะเผยตัวสู่การรับรู้ของสังคม
ประการสุดท้าย ซาห์ลินส์ได้ชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมต้านกระแสหลักไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐปัจจุบัน พวกเขาอยู่ในกระบวนการหล่อหลอมเป็นส่วนหนึ่งของโลกเสรีนิยมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มการขยายตัวของนักศึกษาในสาขาวิชาด้านธุรกิจ หรือการบริโภคสิ่งอำนวยความสะดวกในฐานะที่เป็น “ลูกค้า” ของมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะเดียวกัน กลับเป็นหนทางไปสู่พันธนาการและความเปราะบางของระบบจ้างงานรายเดือนภายหลังจบการศึกษา ดังนั้น การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน จึงไม่ได้งอกเงยจากความเบิกบานที่ได้ต่อต้าน หากเติบโตจากรากเหง้าของความหวาดกังวลและความทุกข์ทนทางสังคม