Skip to content

สรุปเนื้อหา – Global Smartphone: Beyond a youth technology

jpg_rgb_1500h

Daniel Miller, Laila Abed Rabho, Patrick Awondo, Maya de Vries, Marilia Duque, Pauline Garvey, Laura Haapio- Kirk, Charlotte Hawkins, Alfonso Otaegui, Shireen Walton and Xinyuan Wang

อ่านและดาวน์โหลดต้นฉบับภาษาอังกฤษที่เผยแพร่ให้เข้าถึงโดยเสรี (open access) ได้ที่เว็บไซต์ของ UCL Press


บทที่ 1: บทนำ

ชุดโครงการวิจัย Anthropology of Smartphones and Smart Ageing (ASSA) เสนอแนวทางการศึกษาสมาร์ตโฟนที่ให้ความสำคัญกับมุมมอง “smart-from-below” ซึ่งมุ่งเรียนรู้ผ่านกระบวนการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาที่ผู้วิจัยทำการสังเกตและเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความสร้างสรรค์และการปฏิบัติของผู้ใช้สมาร์ตโฟนทั่วโลก

เมื่อพิจารณาการใช้งานสมาร์ตโฟนในปัจจุบัน ชื่อเรียก “สมาร์ตโฟน” ออกจะสื่อความหมายคลาดเคลื่อนพอสมควร ประการแรก เราไม่ควรเริ่มต้นด้วยการจัดสมาร์ตโฟนเป็นเพียงอุปกรณ์โทรศัพท์ประเภทหนึ่ง เพราะในปัจจุบัน การใช้สมาร์ตโฟนเพื่อโทรศัพท์คุยกันคิดเป็นสัดส่วนเล็กน้อยของการใช้งานทั้งหมด ประการที่สอง การศึกษาในโครงการนี้พบว่าสมาร์ตโฟนอาจไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีของคำว่า “สมาร์ต” ในความหมายดั้งเดิมที่มาจากอักษรย่อของ “Self-monitoring, Analysis and Reporting Technologies” หรือในความหมายที่รับรู้ทั่วไปในปัจจุบันว่าเป็น “เทคโนโลยีอัจฉริยะ” ที่อุปกรณ์ต่างๆ สามารถเรียนรู้ผ่านกระบวนการใช้งาน สมาร์ตโฟนที่เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ชีวิตพวกเราในทุกวันนี้ ไม่ได้สำคัญในแง่ที่แสดงถึงการเรียนรู้ของอุปกรณ์ดิจิทัล เท่ากับในแง่ของอุปกรณ์สื่อสารที่เปลี่ยนแปลงผ่านการใช้งานของมนุษย์

ในชุดโครงการวิจัยก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงเปรียบเทียบเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคม (Miller et al 2016) ผู้ให้ข้อมูลในพื้นที่วิจัยต่างๆ ยังมีแนวโน้มจะมองว่าสมาร์ตโฟนและสื่อสังคมเป็นช่องทางการสื่อสารเฉพาะกลุ่มเยาวชน แต่ในปัจจุบัน กลุ่มผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนครอบคลุมประชากรทุกช่วงวัย ดังนั้นจึงมีเหตุผลสมควรที่จะศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสมาร์ตโฟนจากมุมมองของผู้ใหญ่ ไม่น้อยไปกว่าจากมุมมองของเยาวชน 

ชุดโครงการวิจัยนี้ครอบคลุมผลงานของนักวิจัย 11 คน ซึ่งใช้เวลาทำวิจัยภาคสนามประมาณ 16 เดือนใน 10 พื้นที่ เพื่อทำการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณนาในประเด็นเกี่ยวกับสังคมสูงวัย การใช้งานสมาร์ตโฟน และศักยภาพของสมาร์ตโฟนในการใช้งานด้านสุขภาพ หนังสือเล่มนี้จะเน้นนำเสนอข้อค้นพบจากแนววิธีศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณนาของคณะผู้เขียน ทั้งนี้ โดยตระหนักในข้อจำกัดว่าเรายังขาดข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยภายนอกที่มีนัยสำคัญ เช่น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การกดขี่แรงงานและบทบาทของบรรษัทขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้อง

เนื้อหาของบทนำ จะเป็นการนำเสนอประวัติศาสตร์ของสมาร์ตโฟนโดยสังเขป หลังจากนั้นจะเป็นการปริทัศน์แนวการศึกษาที่ผ่านมา ทั้งโดยนักมานุษยวิทยาและสาขาวิชาอื่นๆ 


บทที่ 2: สมาร์ตโฟนจากหลากหลายมุมมอง

ผู้คนมักแสดงทัศนะที่ขัดแย้งกันเองเกี่ยวกับสมาร์ตโฟน ความย้อนแย้งนี้สะท้อนการรับรู้เกี่ยวกับสมาร์ตโฟนที่สามารถเป็นทั้งอุปกรณ์ที่มีประโยชน์และเป็นปัญหาได้ในเวลาเดียวกัน วาทกรรมเกี่ยวกับสมาร์ตโฟนมีแนวโน้มจะถูกลดทอนเป็นประเด็นถกเถียงเชิงศีลธรรมหรือการเมือง ซึ่งแตกต่างจากการใช้งานสมาร์ตโฟนในชีวิตจริง ดังนั้น จึงควรพิจารณาวาทกรรมเหล่านี้ในฐานะองค์ประกอบอีกประการหนึ่งของความเป็นสมาร์ตโฟน ซึ่งเป็นประเด็นศึกษาที่น่าสนใจในตัวเอง 

นอกจากนี้ รัฐ สื่อ และธุรกิจต่างๆ ยังเป็นเงื่อนไขเพิ่มความซับซ้อนย้อนแย้งมากขึ้นอีก ยกตัวอย่างเช่น รัฐต่างๆ มักมีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์การใช้งานสมาร์ตโฟนอย่างล้นเกิน แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความยากลำบากให้กับพลเมือง ด้วยการจำกัดช่องทางการติดต่อกับหน่วยงานรัฐในปัจจุบัน ให้จำต้องอาศัยกระบวนการดิจิทัลเท่านั้น

ในขณะที่การใช้งานสมาร์ตโฟนของผู้สูงอายุในพื้นที่อื่นๆ มีแนวโน้มเชิงอนุรักษ์นิยม ผู้สูงอายุในกรณีศึกษาประเทศจีนมักอ้างถึงสมาร์ตโฟนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบในหน้าที่พลเมืองของตน ด้วยการช่วยสนับสนุนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้กับประเทศ 

งานศึกษาเกี่ยวกับสมาร์ตโฟนยังค่อนข้างจำกัดความสนใจอยู่เพียงไม่กี่ประเด็น เช่น ข่าวปลอม การเสพติดการใช้งานสมาร์ตโฟน หรือการจับจ้องตรวจตรา (surveillance) ในทางตรงกันข้าม ประเด็นศึกษาเกี่ยวกับการใช้งานและผลสืบเนื่องของสมาร์ตโฟนในชีวิตประจำวัน กลับยังไม่ค่อยได้รับความสนใจในวงกว้าง ยิ่งไปกว่านั้น หลักฐานทางวิชาการที่ใช้สนับสนุนข้อสรุปเกี่ยวกับผลสืบเนื่องของสมาร์ตโฟนซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ก็ยังมีประเด็นขัดแย้งอีกไม่น้อย


บทที่ 3: บริบทในการทำความเข้าใจสมาร์ตโฟน

สมาร์ตโฟนเป็นวัตถุที่ผู้คนใช้เป็นเครื่องประดับตามแฟชั่น เป็นเครื่องแสดงสถานะหรือศาสนา อีกทั้งยังอาจถูกขโมยได้ อย่างไรก็ดี ในภาพรวมระดับโลก การเข้าถึงสมาร์ตโฟนในพื้นที่ต่างๆ ยังมีความแตกต่างกันอยู่ งานศึกษาเกี่ยวกับสมาร์ตโฟนอาจมองข้ามกลุ่มประชากรที่ไม่สามารถซื้อสมาร์ตโฟนได้ หรือในกรณีประเทศญี่ปุ่น ก็อาจไม่ครอบคลุมกลุ่มคนที่ยังคงใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเดิม (feature phone)

สำหรับผู้มีรายได้น้อย เงื่อนไขต่างๆ ตั้งแต่ราคาเครื่องโทรศัพท์ อัตราค่าบริการ ความสามารถใช้การเชื่อมต่อสัญญาณ Wi-Fi หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมาก จึงส่งผลให้กลายเป็นกลุ่มผู้ใช้สมาร์ตโฟนที่ใส่ใจศึกษาข้อมูลเพื่อหาช่องทางในการเข้าถึงอุปกรณ์และบริการต่างๆ เหล่านี้

(Miller et al 2021, fig 3.8)

คณะผู้วิจัยได้ใช้คำ “ระบบนิเวศหน้าจอ” (screen ecology) เพื่อสื่อถึงการที่สมาร์ตโฟนทำงานเชื่อมต่อกับหน้าจอของอุปกรณ์อื่นๆ เช่น แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์พกพา หรือสมาร์ตทีวี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การใช้งานของอุปกรณ์หนึ่งๆ จะมีนัยสัมพันธ์กับอุปกรณ์อื่นๆ ส่วนคำว่า “ระบบนิเวศทางสังคม” (social ecology) ใช้ในการพิจารณาว่าสมาร์ตโฟนสะท้อนรูปแบบของความสัมพันธ์ทางสังคมในบริบทเฉพาะ ตัวอย่างเช่น การใช้สมาร์ตโฟนร่วมกันของบางครอบครัวใน Kampala (ประเทศอูกันดา)

สมาร์ตโฟนช่วยเสริมขยายเครือข่ายของปัจเจก อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันก็อาจมีบทบาทในการตอกย้ำกลุ่มสังคมตามขนบอย่างครอบครัวหรือชุมชน นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังเริ่มมีการใช้งานสมาร์ตโฟนเป็นอุปกรณ์ควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ  ในโลกอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งเพิ่มมากขึ้นด้วย 


บทที่ 4: แอปพลิเคชั่นกับชีวิตประจำวัน

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนมักให้ความสำคัญกับการใช้งานแอปพลิเคชั่นเพื่อตอบโจทย์บางอย่าง มากกว่าจะสนใจว่าเป็นแอปอะไร บ่อยครั้งที่ผู้ใช้สมาร์ตโฟนจะผนวกการใช้งานบางฟีเจอร์ของแอปต่างๆ เพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการ ตัวอย่างเช่นในกรณีการใช้งานเกี่ยวกับสุขภาพ เราพบว่าผู้ใช้งานมักให้ความสำคัญกับแอปเกี่ยวกับสุขภาพโดยตรง น้อยกว่าการผนวกการใช้งานแอปทั่วๆ ไป เช่น การใช้วอตส์แอป (WhatsApp) ร่วมกับการสืบค้นผ่านกูเกิ้ล (Google)

คณะผู้เขียนเสนอคำว่า “scalable solutionism” เพื่ออธิบายระดับความครอบคลุมของการใช้งานแอปพลิเคชั่นต่างๆ ตั้งแต่แอปที่ทำงานเฉพาะด้าน หรือถูกใช้งานราวกับว่าเป็นแอปที่มีฟังก์ชั่นเพียงอย่างเดียว ไปจนถึงแอปอย่างวีแชต (WeChat) ที่เน้นนำเสนอว่าเป็นแอปที่มีประโยชน์สำหรับเป้าหมายการใช้งานทุกอย่าง ความหลากหลายของการใช้งานเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะของผู้ใช้งานแต่ละคนนี้ แสดงให้เห็นว่าแอปพลิเคชั่นไม่ใช่เพียงผลงานและไม่จำเป็นต้องถูกใช้งานตามความตั้งใจของผู้พัฒนา/ออกแบบเสมอไป เพราะผู้คนเชื่อมโยงกับแอปเฉพาะด้านที่ต้องการใช้งาน และอาจกลายเป็นความรับรู้เกี่ยวกับแอปนั้นๆ โดยรวมด้วย

การจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับสมาร์ตโฟนและการใช้งานสมาร์ตโฟน นอกจากต้องอาศัยการสำรวจแนวทางการพัฒนาแอปพลิเคชั่นและการตอบสนองของบริษัทผู้พัฒนาต่อการใช้งานที่ไม่เป็นไปตามคาดการณ์แล้ว ยังอาจอาศัยแนววิธีวิจัยที่คณะผู้เขียนเรียกว่า “the app interview” (Miller et al 2021, 80) โดยการขอสำรวจแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟนในระหว่างพูดคุยกับผู้ให้ข้อมูล รวมถึงการสำรวจการจัดระเบียบแอปต่างๆ บนหน้าจอสมาร์ตโฟน เพื่อให้เห็นภาพว่ามีการใช้งานแอปเหล่านั้นหรือไม่ และมีการใช้งานอย่างไร 


บทที่ 5: “perpetual opportunism”

“perpetual opportunism” สื่อถึงคุณลักษณะของสมาร์ตโฟนที่พร้อมใช้งานตลอดเวลา และการที่คุณลักษณะดังกล่าวมีส่วนในการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ของผู้คนกับโลกรอบตัว 

ในบล็อกของชุดโครงการวิจัยฯ ได้ขยายความมโนทัศน์ดังกล่าวโดยสังเขปว่า “perpetual opportunism” ไม่ใช่แค่การที่สมาร์ตโฟนช่วยให้เราสามารถติดต่อกันได้บ่อยๆ แต่เป็นกระบวนการที่สมาร์ตโฟนเอื้อให้เราสามารถบันทึกหรือแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ในห้วงเวลาหรือสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมุมสวยๆ สำหรับโพสต์บนอินสตาแกรม (Instagram) ประกาศสำคัญที่ต้องรีบถ่ายเก็บไว้ หรือวิดีโอบันทึกพัฒนาการสำคัญๆ ของลูกน้อย ฯลฯ การตระหนักถึงโอกาสที่เราสามารถฉวยไว้ด้วยสมาร์ตโฟน ส่งผลต่อความคาดหวังและประสบการณ์กับโลกรอบๆ ตัวเราที่เปลี่ยนไป และเริ่มคุ้นชินกับการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้วางแผนมาก่อน ซึ่งแต่ละคนอาจมองการเปลี่ยนแปลงนี้ในแง่บวกหรือลบแตกต่างกันไป 


ในบทนี้ได้ยกตัวอย่างการถ่ายภาพด้วยสมาร์ตโฟน ซึ่งเกือบจะกลายเป็นคู่ตรงข้ามของการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม จากที่แต่เดิมการถ่ายภาพเป็นเรื่องของการสร้างภาพแทนและการเก็บบันทึกที่คงทนถาวร การถ่ายภาพด้วยสมาร์ตโฟนกลับมีลักษณะเป็นความสนใจชั่วขณะและการมีปฏิสัมพันธ์ผ่านการ “แชร์” ภาพถ่ายเพียงชั่วครู่​ 

ข้อมูลจากงานชาติพันธุ์วรรณนาในพื้นที่ต่างๆ แสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุตอบสนองต่อการถูกถ่ายภาพแตกต่างกันไป ตัวตน “ที่แท้จริง” อาจเป็นได้ทั้ง 1) ตัวตนที่พวกเขารับรู้จากภายใน 2) รูปลักษณ์ภายนอก 3) ภาพที่พวกเขาสามารถสร้างสรรค์ด้วยฟิลเตอร์และแอปต่างๆ

อีกตัวอย่างหนึ่งคือการที่ “perpetual opportunism” ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ต่อสถานที่และระบบคมนาคมขนส่ง นอกจากจะช่วยให้สามารถตัดสินใจเดินทางอย่างกะทันหันได้ง่ายขึ้นแล้ว แอปแผนที่ต่างๆ ช่วยมีฟีเจอร์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการจัดการวันหยุดและการพักผ่อนอีกด้วย นอกจากนี้ สมาร์ตโฟนยังช่วยให้เราสามารถเข้าถึงความบันเทิงได้ในทุกโอกาสที่อาจเกิดความเบื่อหน่าย เช่น เวลาที่ต้องต่อคิวหรือในระหว่างการเดินทาง เป็นต้น  

ตัวอย่างสุดท้ายของประสบการณ์แบบ “perpetual opportunism” คือการไหลเวียนของข่าวสารแบบเรียลไทม์ ซึ่งบางครั้งก็กลายเป็นภาระในการติดตามข่าวอยู่เสมอ ตัวอย่างนี้สะท้อนให้เห็นบทบาทใหม่ๆ ของข้อมูลข่าวสารในความสัมพันธ์กับชุมชน 


บทที่ 6: การขัดเกลาตัวตน

คุณลักษณะที่น่าสนใจเกี่ยวกับสมาร์ตโฟนคือความยืดหยุ่นในการใช้งานและการเข้าถึงพื้นที่ส่วนตัวของบุคคล กระบวนการใช้งานได้หลอมรวมสมาร์ตโฟนเป็นส่วนหนึ่งของปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบุคลิกและความสนใจของผู้ใช้งานแต่ละคน แต่คุณลักษณะดังกล่าวอาจเป็นผลจากการทำงานของอัลกอริธึมและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว น้อยกว่าความสามารถของปัจเจกในการเลือกใช้แอปพลิเคชั่นต่างๆ ปรับเปลี่ยนการตั้งค่า สร้าง หรือคัดสรรเนื้อหา

คณะผู้เขียนเลือกใช้คำว่า “การขัดเกลา” (crafting) เพื่อสื่อถึงนัยที่ครอบคลุมกว้างกว่ากระบวนการใช้งานและปรับเปลี่ยนสมาร์ตโฟน โดยพิจารณาสมาร์ตโฟนในมิติที่เชื่อมโยงกับการขัดเกลาตัวตน อันเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงชีวิตทั้งในระดับปัจเจก สังคม และชุมชน การจัดการสมาร์ตโฟนในรูปแบบต่างๆ เป็นการปรับแต่งเพื่อรองรับเงื่อนไขความสัมพันธ์มากกว่าเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการส่วนบุคคล ดังจะเห็นได้จากการใช้งานที่ผูกโยงกับความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิต ระหว่างผู้ปกครองและบุตร หรือระหว่างนายจ้างและพนักงาน

ปัจเจกมีแนวโน้มจะแสดงออกถึงบรรทัดฐานและระบบคุณค่าของสังคม ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงสมาร์ตโฟนของแต่ละคนด้วย อย่างไรก็ตาม ย่อมมีทั้งปัจเจกที่อ้างอิงและตั้งคำถามกับบรรทัดฐานเหล่านั้น ดังนั้น สมาร์ตโฟนจึงอาจมีลักษณะที่เป็นไปตามบรรทัดฐานที่ยอมรับร่วมกัน เช่นในญี่ปุ่นหรือชุมชนทางศาสนาต่างๆ หรืออาจมีนัยที่เสริมสร้างการเปลี่ยนแปลงคุณค่าทางวัฒนธรรมเหล่านั้นก็ได้ เช่นในกระบวนการสร้างคุณค่าใหม่ๆ ของชนชั้นกลางชาวแคเมอรูน


บทที่ 7: สมาร์ตโฟนกับช่วงวัย

นอกจากสมาร์ตโฟนจะสะท้อนถึงเกณฑ์จำแนกต่างๆ ทางสังคมแล้ว ยังมีบทบาทในกระบวนการปรับเปลี่ยนเกณฑ์จำแนกเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาวะ ชนชั้น หรือที่เป็นประเด็นอภิปรายของบทนี้คือการแบ่งช่วงวัย

สมาร์ตโฟนอาจมีส่วนเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะสำหรับคนรุ่นลูกในอิตาลีที่สำรวจแง่มุมต่างๆ ของอัตลักษณ์ตัวตน หรือผู้สูงอายุที่พยายามประกอบสร้างชีวิตประจำวันแบบใหม่ในวัยเกษียณ และสำหรับบางคน สมาร์ตโฟนอาจแสดงถึงการสูญเสียความเคารพต่อความรู้ที่พวกเขาได้สั่งสมมาหลายทศวรรษ ซึ่งได้กลับกลายเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ในปัจจุบัน

คนรุ่นหลังที่สอนให้ผู้สูงอายุใช้งานสมาร์ตโฟน มักอ้างผิดๆ ว่าเป็นการใช้ทักษะตามสัญชาตญาณ ในทางปฏิบัติ ผู้สูงอายุต้องใช้ความพยายามในการจัดการกับสมาร์ตโฟน ซึ่งบ่อยครั้งจำเป็นต้องอาศัยความชำนาญด้านดิจิทัลหรือคำศัพท์ที่ใช้สื่อความต่างไปจากที่คุ้นเคย นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคต่างๆ ในการเรียนรู้เกี่ยวกับการนำไปใช้และการใช้งานอย่างเหมาะสมอีกด้วย 

แม้ในระยะแรก ผู้สูงอายุอาจรู้สึกว่าถูกกีดกันจากลูกหลาน แต่สำหรับผู้ที่สามารถใช้งานสมาร์ตโฟนได้คล่องแคล่ว มักรู้สึกใกล้ชิดกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น ในทางตรงกันข้าม มีผู้ให้บริการบางส่วนที่หันมาพัฒนาแอปพลิเคชั่นเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ เช่น แอป แต่งภาพและเทมเพลตข้อความอย่างแอปเหม่ยเพียน (Meipian) ในประเทศจีน ซึ่งตอบสนองความต้องการและได้รับความนิยมในกลุ่มผู้สูงอายุฐานะดี ที่ต้องการจัดเก็บและแชร์ภาพถ่ายและข้อความเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง เป็นต้น


บทที่ 8: หัวใจของสมาร์ตโฟน: ไลน์ (LINE) วีแชต วอตส์แอป

ผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนจำนวนไม่น้อยนิยมใช้แอปพลิเคชั่นอย่างไลน์ วีแชต และวอตส์แอป จนมักมองว่าสมาร์ตโฟนเป็นอุปกรณ์สำหรับเข้าถึงแพลตฟอร์มเหล่านี้

แอปพลิเคชั่นเหล่านี้เป็นองค์ประกอบในการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยมีส่วนในกระบวนการที่ย้อนพัฒนากางด้านภาพ เช่น สติ๊กเกอร์ในแอปสนทนา ที่มีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาเช่นเดียวกับคำพูดและข้อความ และเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปฏิสัมพันธ์ผ่านสมาร์ตโฟนในการให้ดูแลและแสดงออกถึงความห่วงใยสำหรับสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ห่างไกลกัน อีกทั้งยังได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินกิจกรรมและการจัดการชุมชน รจากครอบครัวขยายมาเป็นครอบครัวเดี่ยว เนื้อหาของบทนี้ได้ยกตัวอย่างการใช้สื่อทา

ในแง่นี้ สมาร์ตโฟนจึงมีบทบาทในการเชื่อมโยง “สภาวะความเป็นสังคมที่ปรับระดับได้” (scalable socaility; ดู Miller et al 2016) โดยการปรับการใช้งานให้สอดคล้องกับขนาดของกลุ่มและระดับความเป็นส่วนตัวต่างๆ กัน ซึ่งในทางกลับกัน ผู้ให้บริการต่างๆ ก็อาจเรียนรู้จากมิติเชื่อมโยงทางสังคมของแอปเหล่านี้และพยายามปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้สอดคล้องกัน เช่น การเพิ่มฟีเจอร์ “บัตรเครือญาติ” (kinship card) เป็นส่วนหนึ่งของระบบการชำระเงินผ่านวีแชต เป็นต้น


บทที่ 9: บทสะท้อนในภาพรวมและเชิงทฤษฎี  

คณะผู้เขียนเสนอคำอธิบายสมาร์ตโฟนว่าเป็น “transportal home” เพื่อให้สามารถพัฒนากรอบการทำความเข้าใจได้ดีขึ้น โดยเสนอให้พิจารณาว่าสมาร์ตโฟนเป็นเหมือนสถานที่ที่เราใช้ชีวิต แทนที่จะเป็นเพียงหนึ่งในอุปกรณ์สื่อสารที่เราใช้งาน ดังตัวอย่างต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนจัดการสมาร์ตโฟนเหมือนเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของพวกเขา 

ที่ผ่านมา มักมีการตั้งข้อสังเกตว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่แสดงถึง “จุดจบของความห่างไกล” (death of distance) เพราะช่วยให้เราสามารถติดต่อกับผู้คนทั่วโลกราวกับอยู่ใกล้ชิดกัน ในทางกลับกัน สมาร์ตโฟนในปัจจุบันอาจแสดงถึง “จุดจบของความใกล้ชิด” (death of proximity) เนื่องจากคนที่นั่งข้างๆ เราอาจกำลังพูดคุยกับใครซักคนจากที่ต่างๆ ทั่วโลก โดยที่ไม่ได้คุยกับเราเลยก็ได้ 

ในแง่นี้ แม้ผู้ใช้สมาร์ตโฟนจะเดินทางเคลื่อนย้ายตลอดเวลา แต่กลับมีความรู้สึกเหมือนได้อยู่ “บ้าน” ความรู้สึกนี้อาจมีนัยสำคัญสำหรับคนบางกลุ่ม เช่น คนหนุ่มสาวที่ยังไม่สามารถมีบ้านเป็นของตัวเองในโลกทางกายภาพ หรือประชากรย้ายถิ่นในดินแดนต่างๆ เช่น งานศึกษาในชุดโครงการวิจัยฯ นี้ ที่กล่าวถึงประสบการณ์ของผู้ย้ายถิ่นในอิตาลีและชิลีซึ่งมีความผูกพันบ้านในหลายพื้นที่ ภาพเล่าเรื่องในบล็อกของชุดโครงการวิจัยฯ ถ่ายทอดชีวิตของหญิงชาวอียิปต์ที่ย้ายถิ่นมาทำงานในมิลาน การใช้เวลา “อยู่บ้าน” ทั้งในแฟลตและบ้านสมาร์ตโฟน ช่วยให้เธอสามารถเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวทั้งในมิลานและในอียิปต์ 

ในขณะเดียวกัน “transportal home” ยังเป็นกรอบการทำความเข้าใจที่ท้าทายนิยามความเป็นสาธารณะและความเป็นส่วนตัว เราแบ่งพื้นที่ในสมาร์ตโฟนเช่นเดียวกับการแบ่งโซนต่างๆ บ้านในโลกกายภาพ และแทนที่เราจะแอบส่องเพื่อนบ้านผ่านหน้าต่าง สมาร์ตโฟนก็เป็นเหมือนหน้าต่างที่เปิดช่องให้เราแอบส่องบ้านสมาร์ตโฟนของคนอื่นได้เช่นกัน 

สมาร์ตโฟนได้ก้าวข้ามคุณลักษณะ “ลอกเลียนมนุษย์” (anthropomorphism) แบบที่หลายคนมักใช้เป็นความเปรียบเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะสมาร์ตโฟนไม่ได้สร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดโดยการพยายามจำลองรูปลักษณ์ของมนุษย์ แต่ด้วยการเติมเต็มศักยภาพของมนุษย์เช่นกระบวนการในระดับการระลึกรู้ และด้วยเหตุนี้จึงทำให้เรารู้สึกเหมือนสมาร์ตโฟนเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นบุคคล

ในแง่นี้ สมาร์ตโฟนจึงสามารถเป็นส่วนหนึ่งของแง่มุมที่ไม่สวยงามนักของมนุษย์เราได้ด้วย ดังปรากฏในพฤติกรรมตั้งแต่การบูลลี่ไปจนถึงการเสพติดการใช้งานสมาร์ตโฟน เป็นต้น

การเกิดโรคระบาดใหญ่อย่างโควิด-19 ยิ่งขับเน้นความย้อนแย้งเกี่ยวกับสมาร์ตโฟนให้เด่นชัดขึ้น สมาร์ตโฟนช่วยให้การจับจ้องตรวจตราเป็นไปได้โดยสะดวกมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการให้การดูแลที่ข้ามพ้นข้อจำกัดเรื่องระยะทางด้วย 

ชุดโครงการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า เหตุใดเราจึงควรพิจารณาประสบการณ์ของผู้คนเป็นส่วนหนึ่งของฐานข้อมูลในกระบวนการออกแบบนโยบายเกี่ยวกับการใช้งานสมาร์ตโฟนในอนาคต ดังที่คณะผู้เขียนเสนอให้เรียกว่าเป็นมุมมองแบบ “smart-from-below” นั่นเอง

Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด