ภาพปก: https://www.facebook.com/TWFreedom89/posts/2998147140468109
บทนำ
“พันธมิตรชานม” เป็นชื่อของแนวร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองข้ามชาติบนโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นจากเหตุพิพาทระหว่างชาวเน็ตจีนกับชาวเน็ตไทย จนตอนนี้เวลาผ่านมาแล้ว 1 ปี มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องในหลากหลายระดับ ไม่ได้เป็นเพียงแค่หัวข้อหนึ่งที่มีการถกเถียงกันในพื้นที่ออนไลน์อย่างเดียว หากแต่กลับกลายเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองบนพื้นที่ออฟไลน์ด้วย
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นจากกรณีที่ “ไบร์ท วชิรวิชญ์ ชีวอารี” นักแสดงชาวไทยจากซีรี่ส์แนว Boy love เรื่อง “เพราะเราคู่กัน” หรือ 2gether The Series ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายทั้งในประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เขาได้รีทวีตภาพถ่ายตึกสูงจาก “4 ประเทศ” ของช่างภาพคนหนึ่งโดยมีฮ่องกงเป็นหนึ่งในนั้น ทำให้แฟนคลับชาวจีนของไบร์ทไม่พอใจเพราะเมื่อเห็นภาพแล้วกลับตีความได้ว่า ฮ่องกงมีสถานะเป็นประเทศ จึงถูกมองว่าการทำแบบนี้เท่ากับไม่เคารพประเทศจีนที่ยึดถือหลักการจีนเดียวที่มีเพียงแค่สาธารณรัฐประชาชนจีน อันมีฮ่องกงและไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งจะแบ่งแยกมิได้ ต่อมาไบรท์ ได้ออกมาขอโทษสำหรับ “การรีทวีตที่ไม่ได้คิดทบทวนอย่างระมัดระวัง” เขากล่าวว่าไม่ได้อ่านคำบรรยายภาพให้ชัดเจน และจะไม่ให้เกิดความผิดพลาดแบบนี้ขึ้นอีก (บีบีซีไทย, 2563)
เรื่องราวกลับดำเนินต่อไปโดยชาวเน็ตจีนที่ได้ย้อนไปดูรูปในอินสตราแกรมของ “นิว” แฟนไบร์ทที่มีไบรท์เข้าไปคอมเมนต์ว่า “สวยจังเหมือนสาวชาวจีนเลย” โดยนิวตอบกลับว่า “รายง่ะ” ซึ่งชาวเน็ตจีนคนนี้กลับเข้าใจในความหมายว่า “What?” ในทำนองว่านิวไม่พอใจที่ถูกเรียกหรือถูกวิจารณ์ว่าหน้าตาเหมือนคนจีน ในคอมเมนต์ต่อมา นิวตอบกลับเพื่อนที่มาคอมเมนต์ในอินสตาแกรมว่า เธอเป็นแนว “สาวไต้หวัน” ทำให้ชาวเน็ตจีนตั้งคำถามขึ้นว่า แฟนของไบรท์นั้นมองว่าไต้หวันเป็นประเทศหรือเปล่า ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ประกอบกับมีชาวเน็ตจีนที่เป็นผู้ใช้ทวิตเตอร์นำข่าวที่นิวเคยทวิตที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกรณีที่ประเทศจีนโทษสหรัฐอเมริกา ว่าเป็นผู้แพร่เชื้อไวรัสโคโรนาในจีนโดยที่ไม่ให้ต่างชาติเข้ามาตรวจสอบห้องทดลองของตัวเองในเมืองอู่ฮั่น ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของกรณีพิพาทออนไลน์ระหว่างชาวเน็ตจีนและชาวเน็ตไทย ที่รวมไปถึงชาวเน็ตไต้หวันและชาวเน็ตฮ่องกงด้วย ซึ่งขยายประเด็นไปสู่เรื่องการเมืองมากกว่าเพียงแค่เรื่องความคิดเห็นของนักแสดงและแฟนของเขา (บีบีซีไทย, 2563) และแฮชแท็ก #nnevvy ซึ่งมาจากชื่อบัญชีผู้ใช้ของนิว กลายเป็นแฮชแท็กต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนแฮชแท็ก #NMSL ที่ชาวเน็ตจีนใช้เพื่อตอบโต้กลับ ด้วยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโปรแกรม VPN เพื่อเข้าทวิตเตอร์ไปใช้แฮชแท็กนี้ซึ่งย่อมาจากคำในภาษาจีนที่อ่านออกเสียงว่า “หนี่มาสื่อเลอ” มีความหมายว่า “แม่มึงตายแล้ว” (ประชาไท, 2563)
การแปลภาษาที่สื่อความอย่างผิดพลาดนี้ มาจากความแตกต่างในเชิงบริบทของการใช้ภาษา เพราะคำว่า “รายง่ะ” ในที่นี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะสื่อความในเชิงลบเหมือนคำว่า “What?” ที่ใช้ตอบเมื่อรู้สึกไม่พอใจหรือจะตั้งคำถามบางอย่างต่อประโยคก่อนหน้า การพึ่งพาเพียงแค่เทคโนโลยีเพื่อการแปลภาษาเพียงอย่างเดียวไม่อาจสื่อความหมายได้อย่างครอบคลุมในทุกด้านทุกบริบท ทำให้การสื่อความหมายผิดพลาดไป และความแตกต่างในเรื่องอารมณ์ขันในต่างวัฒนธรรมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้สื่อสารกันผิดพลาดได้ ทั้งนี้ตัวเทคโนโลยีการแปลภาษาที่ใช้เองก็อาจถูกพัฒนาภายใต้ความเข้าใจหรือมุมมองจากวัฒนธรรมของผู้แปลเพียงฝ่ายเดียว ในที่นี้ชาวเน็ตจีนไม่ได้ใช้บริการของกูเกิลด้วยเหตุที่รัฐบาลจีนบล็อกไม่ให้สามารถเข้าใช้งานได้ จึงเป็นการแปลภาษาด้วยเทคโนโลยีบนเว็บไซต์ของชาวจีนเอง แต่ถึงกระนั้นเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ก็พัฒนาขึ้นมาโดยไม่ได้รองรับทุกบริบทสังคมหรือทุกวัฒนธรรมทั่วโลกได้อย่างครบถ้วนขนาดนั้น
กรณีพิพาทออนไลน์ข้ามชาติในครั้งนี้ เหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีความเข้มข้นมากขึ้นเนื่องจากการออกแถลงการณ์ของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เพื่อประกาศย้ำถึง “หลักการจีนเดียว” อันเป็นจุดยืนที่รัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยยึดมั่นมาเป็นเวลานาน พร้อมกล่าวว่ามีคนบางฝ่ายที่ไม่รู้และมีอคติมุ่งร้ายให้เกิดความผิดใจกัน และกล่าวว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” มิตรภาพระหว่างจีน – ไทยมีมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย หรือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จีน – ไทยและประชาชนทั้งสองประเทศต่างก็ดูแลและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมฟันฝ่าความทุกข์ยากนี้ไปด้วยกัน (มติชนสุดสัปดาห์, 2563)
คำแถลงจากสถานทูตดังกล่าวข้างต้นนี้ กลับถูกมองจากชาวเน็ตว่าเป็นท่าทีที่แข็งกร้าว ตำหนิ และดูถูกข้อวิจารณ์ที่ถกเถียงกัน และไม่พูดถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มต้นมาจากประเทศจีน ส่งผลให้ชาวเน็ตไทย แสดงทัศนะวิพากษ์วิจารณ์ และล้อเลียนกันมากขึ้น โดยพวกเขาได้นำภาพจากนำภาพเจ้าหญิงเอลซ่ากับเจ้าหญิงอันนาจากภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง “Frozen” และพี่น้องบุญธรรมของซินเดอเรลล่าจากภาพยนตร์แอนิเมชันของดิสนีย์ มาใช้เป็น “มีม” เพื่อนำมาล้อเลียนกับวลี “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ของสถานทูตจีน (มติชนสุดสัปดาห์, 2563; ประธานเหมียว, 2563)
นอกจากนี้ ชาวเน็ตทั้งชาวไทย ชาวฮ่องกง และชาวไต้หวัน ต่างออกมาแสดงทัศนะที่ไม่พอใจต่อท่าทีของคำแถลงจากสถานทูต จนมีชาวเน็ตจีนที่ถูกเรียกว่า “ชมพูน้อย” พาดพิงว่าชานมไต้หวันไม่อร่อย จึงมีการใช้แฮชแท็ก #ชานมข้นกว่าเลือด และ #MilkTeaAlliance เพื่อแสดงความคิดเห็น ถกเถียง นำเสนอข้อมูล รวมไปถึงการทะเลาะวิวาทกัน ตลอดจนการตอบโต้กันไปมาด้วยมีมกับการล้อเลียนฝ่ายตรงข้าม ในช่วงก่อนหน้านั้นไม่นาน ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินของไต้หวันได้ทวิตข้อความอวยพรสงกรานต์ให้กับชาวไทยในไต้หวัน แม้ว่าไม่ได้เป็นการแสดงจุดยืนถึงการพิพาทออนไลน์โดยตรง แต่ก็ถูกตั้งข้อสังเกตถึงจังหวะเวลาในการทวิต และการใช้ภาษาไทย (ประชาไท, 2563)
ชานม จึงกลายมาเป็นชื่อของแนวร่วมอย่างหลวม ๆ ที่ไม่เป็นทางการนี้ เนื่องจากกระแสของการดื่มชานมไข่มุกได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศไทย อันมีต้นกำเนิดจากประเทศไต้หวัน ในขณะเดียวกัน สำหรับชาวฮ่องกงแล้วชานมไข่มุกก็ได้รับความนิยมเช่นกัน อีกทั้งการดื่มชาก็เป็นการแสดงถึงวัฒธรรมที่ได้รับจากประเทศอังกฤษที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคมปกครองฮ่องกงมาก่อนที่จะส่งมอบคืนให้กับประเทศจีน การใช้ชาจึงเป็นการแสดงความเชื่อมโยงระหว่างชาวเน็ตทั้งสามดินแดนเข้าด้วยกัน (ประธานเหมียว, 2563)
พื้นที่อินเทอร์เน็ตกับรัฐชาติ
“อินเทอร์เน็ต” เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้มนุษย์สามารถก้าวข้ามผ่านพรมแดนในเชิงกายภาพและพรมแดนทางด้านวัฒนธรรม ด้วยการที่ผู้คนสามารถใช้งานเพื่อเชื่อมต่อเข้าเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน หรือมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางหรือเคลื่อนย้ายในพื้นที่เชิงกายภาพ (space of place) กลายเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการเข้าถึงบุคคลและข้อมูลข่าวสาร และเอื้อให้เกิดปฏิบัติการทางสังคม (social practices) (Castells, 2019; Dutton, 2009, p. 1 – 33, อ้างถึงใน พิรงรอง รามสูต และถมทอง ทองนอก, 2563, หน้า 23 -24)
ผู้คนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อการแลกเปลี่ยน ส่งต่อ หรือถ่ายทอดค่านิยม วัฒนธรรม แนวคิด หรือความคิดเห็นต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว (velocity) เข้มข้น (intensity) และขยายวงกว้าง (extent) ได้มากขึ้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ในเชิงกระบวนการ การถกเถียงเรื่องการเมืองจึงเกิดขึ้นได้ง่ายและสามารถขยายเป็นวงกว้างได้ (Held, McGrew, Goldblatt, & Pe, 2000, p. 15) เมื่อการติดต่อสื่อสารในระดับปัจเจกบุคคลถูกเชื่อมโยงเข้าหากันเป็นเครือข่าย (networked individuals) ปัจเจกบุคคลจึงมีความสามารถในการค้นหาข้อมูลหรือเลือกรับข่าวสารต่าง ๆ ได้สะดวกมากขึ้น และเชื่อมโยงกันจนเกิดเป็นเครือข่ายของเครือข่ายอีกทีหนึ่ง (networks of networks) ทำให้กลุ่มบุคคลข้ามขอบเขตที่เป็นรูปธรรมของสถาบันหรือองค์กร และในขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางใหม่ในการเพิ่มหรือเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคส่วนต่าง ๆ ได้ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีอิทธิพลอื่น ๆ (Dutton, 2012, อ้างถึงใน พิรงรอง รามสูต และถมทอง ทองนอก, 2563, หน้า 25)
เขตแดนของรัฐชาติจึงกลับถูกพร่าเลือนลงด้วยการเชื่อมโยงของปัจเจกบุคคลที่สามารถทำได้ง่ายมากขึ้นดังที่กล่าวไปในข้างต้น โดยปัจเจกบุคคลไม่ต้องสนใจรัฐชาติ สอดคล้องกับทัศนะของผู้ที่ศรัทธาในโลกาภิวัตน์ (Globalizers) ที่มองว่า “โลกไร้พรมแดน” ได้อุบัติขึ้น พรมแดนของรัฐชาติค่อย ๆ เสื่อมสลาย รัฐชาติจึงสูญเสียความสามารถในการกำหนดทิศทางของชีวิตทางสังคมภายในเขตแดนของตนลง ด้วยเทคโนโลยีและระบบเศรษฐกิจที่ไม่อาจปิดกั้นได้ ในทางตรงข้ามผู้ที่กังขาในโลกาภิวัตน์ (Globalization skeptics) กลับมองว่ารัฐชาตินั้นยังคงมีบทบาทต่อกระบวนการโลกาภิวัตน์ซึ่งเทคโนโลยีและเศรษฐกิจไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง หากแต่รัฐชาตินั้นเป็นผู้ยกเลิกข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายหรือควบคุมทุนในช่วงยุค 80 – 90 การตัดสินใจทางการเมืองของรัฐชาติจึงยังคงมีผลต่อโลก (Steger, 2562, หน้า 119 – 120)
ถึงกระนั้นรัฐชาติก็ยังคงพยายามเข้ามามีบทบาท แผ่อิทธิพล หรือขยายอำนาจอธิปไตยเข้าไปในพื้นที่บนอินเทอร์เน็ตด้วยกลไกต่าง ๆ ทั้งการออกกฎหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงหรือการใช้งานบางอย่างที่อาจเข้าข่ายการกระทำความผิด และการดำเนินนโยบายกับภาคธุรกิจเอกชนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ได้รับสัมปทานในการดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ตลอดจนปฏิบัติการโดยหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินกิจกรรมเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับรัฐบนพื้นที่อินเทอร์เน็ตด้วยทรัพยากรของรัฐ เพื่อการโน้มน้าวพลเมืองในรัฐชาติ ตลอดจนการก่อกวนต่อปัจเจกบุคคลในบางกรณี รวมทั้งความพยายามในการลบหรือปกปิดข้อมูลบางอย่างบนอินเทอร์เน็ต (บีบีซีไทย, 2560)
“อินเทอร์เน็ต” เป็นเทคโนโลยีที่หลาย ๆ คน อาจมองว่าทำให้เกิดเป็น “ปริมณฑลสาธารณะ” (Public sphere) ที่เปิดให้ปัจเจกบุคคลได้เข้ามาถกเถียงกันได้อย่างเปิดกว้าง ไม่กีดกัน มีเสรีภาพ ได้อย่างเท่าเทียมกัน เป็นแนวคิดเชิงอุดมคติที่ยากจะเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุที่มีการจำกัดแวดวงในการสนทนาเพียงแค่คนบางกลุ่มโดยปริยาย ดังเช่นที่เป็นในพื้นที่คาเฟ่ เสวนาสโมสร หรือวารสาร ในศตวรรษที่ 18 ที่จำกัดการสนทนาได้เพียงแค่แวดวงของคนบางกลุ่มโดยตัวมันเอง (Finlayson, 2559, หน้า 39 – 45) “อินเทอร์เน็ต” ก็เช่นเดียวกัน โดยตัวมันเองก็ยังคงมีข้อจำกัดในแง่ของผู้ใช้งานที่เป็นคนวัยเรียนจนถึงวัยทำงานที่สามารถใช้งานได้อย่างคล่องแคล่ว และสามารถเข้าถึงได้ตามกำลังทรัพย์ของผู้ใช้งานตามแพ็กเกจอินเทอร์เน็ต รวมทั้งลักษณะของภาษาที่ใช้สื่อสารทั้งคำศัพท์และไวยกรณ์ในภาษาเดียวกันแต่ต่างระดับกับภาษาต่างประเทศจึงยิ่งยากแก่การสนทนากันอย่างเปิดกว้างและทั่วถึง แม้ว่าการเกิดขึ้นของดราม่าแฮชแท็ก #nnevvy และ #ชานมข้นกว่าเลือด หรือ #MilkTeaAlliance จะไม่ใช่การถกเถียงกันด้วยเหตุผลอย่างเท่าเทียมกัน แต่ก็เผยให้เห็นการทำงานของเครือข่ายทั้งตัวอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายทางสังคมที่เชื่อมโยงปัจเจกบุคคลเข้ามาถกเถียงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางสังคมหรือการเมืองที่ท้าทายรัฐชาติที่เป็นประเทศอำนาจนิยม
การถกเถียงหรือพิพาทกันในประเด็นทางการเมืองได้กลายมาเป็นสิ่งที่ผู้คนธรรมดาสามัญกระทำได้สะดวกข้ามพรมแดนรัฐชาติ รัฐชาติหรือองค์การระหว่างประเทศในฐานะตัวแสดงที่เหนือรัฐชาติ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสถาบันก็ยากที่จะเข้ามาจัดการในประเด็นที่เกิดขึ้นได้อย่างเท่าทันภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐชาติที่เป็นเผด็จการ เห็นได้ชัดเจนจากวิธีการรับมือของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยผ่านคำแถลงที่โพสต์บน Facebook page ที่ยังคงยึดติดว่าประเทศจีนในฐานะรัฐชาติมหาอำนาจของโลกย่อมมีอิทธิพลเหนือชีวิตของภาคประชาชนไม่ว่าจะเป็นคนชาติใด และถูกท้าทายโดยชาวเน็ตทั้งชาวไทย ชาวฮ่องกง และชาวไต้หวัน ด้วยข้อมูลต่าง ๆ ที่เผยแพร่ ส่งต่อ และแลกเปลี่ยนกันผ่านเครือข่ายที่เชื่อมโยงระหว่างปัจเจกบุคคล
จากการเคลื่อนไหวออนไลน์สู่การเคลื่อนไหวออฟไลน์
การเชื่อมโยงระหว่างปัจเจกบุคคลดังกล่าว แม้จะกระทำผ่านบทสนทนาที่หลากหลายทั้งในลักษณะไม่ทางการ และลักษณะกึ่งทางการ ผ่านการโต้เถียงทั้งถ้อยคำที่สุภาพและถ้อยคำที่รุนแรง หากแต่ก็ทำให้เกิดการสร้างแนวร่วมอย่างหลวม ๆ ที่ชื่อ “พันธมิตรชานม” ที่นอกจากจะถกเถียงต่อสู้กับ “ชมพูน้อย” ซึ่งเป็นกลุ่มชาวเน็ตจีนรุ่นเยาว์ที่มีแนวคิดชาตินิยม และ “แก๊ง 50 เหรียญ” ที่เป็นกลุ่มจัดตั้งที่ได้รับค่าจ้างวันละ 50 เหรียญจากการโพสต์สนับสนุนรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (ประชาไท, 2563) อีกทั้งยังร่วมกันสร้างแรงผลักดันต่อการเคลื่อนไหวในพื้นที่ออฟไลน์ อันเห็นได้จากการดำเนินกิจกรรมการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนในประเทศไทยที่บริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน และการชุมนุมที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในหลาย ๆ ครั้ง ที่ผู้ชุมนุมได้สื่อสารเพื่อย้ำถึงประเด็นปัญหาที่มีร่วมกันของคนไทยและคนฮ่องกง คือการต่อสู้กับรัฐชาติเผด็จการอำนาจนิยมเหมือนกันและเป็นพันธมิตรร่วมกัน คือ ประเทศไทยและประเทศจีน นอกจากนี้ยังขยายประเด็นข้อเรียกร้องที่ครอบคลุมทั้งการเรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจ และสวัสดิภาพของประชาชน ในขณะเดียวฝั่งของกลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงเองก็ได้พยายามเปิดพื้นที่ในการพูดคุยในประเด็นที่เกี่ยวกับการเมืองไทย เช่น กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการแสดงออกได้อย่างเสรีและปลอดภัย (สำนักข่าวอิศรา, 2563)
กระแสการต่อต้านอำนาจนิยมของรัฐบาลในประเทศเผด็จการและอิทธิพลของประเทศจีน นั้นยังครอบคลุมไปถึงการชุมนุมเพื่อต่อต้านการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา เนื่องจากรัฐบาลทหารที่เข้ามาใหม่นั้นมีผลประโยชน์ที่ผูกพันและเกี่ยวข้องกับประเทศจีน อีกทั้งยังเป็นเรื่องของการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมเช่นเดียวกัน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมชาวเมียนมาทั้งในประเทศเมียนมา และประเทศต่าง ๆ เช่นในประเทศไทย เลือกที่จะแสดงออกทางการเมืองด้วยการประกาศตนเข้าร่วมในฐานะแนวร่วมหนึ่งของ “พันธมิตรชานม” (The States Times World Team , 2564; The Standard, 2564)
การเคลื่อนไหวทางการเมืองของแนวร่วม “พันธมิตรชานม” จึงมีลักษณะเป็นอุดมการณ์แบบลัทธิความยุติธรรมโลกนิยม (Justice globalism) เป็นแนวคิดเชิงอุดมคติร่วมกันของผู้คนข้ามพรมแดนที่ต้องการสร้างความร่วมมือในระดับโลกเพื่อความเสมอภาคหรือความยุติธรรมทางสังคม ไม่ต่างกับการเคลื่อนไหวของ “ขบวนการออคคูพาย” (Occupy) และ “อาหรับสปริง” (Arab Spring) เพื่อผลักดันการต่อสู้ทางการเมืองในประเด็นต่าง ๆ เพื่อความเท่าเทียม ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ที่ได้อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการติดต่อ นัดหมาย และเคลื่อนไหวข้ามขอบเขตพื้นที่ และกลายมาเป็นต้นแบบของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในภาคประชาชนทั่วโลกในทศวรรษที่ผ่านมา (Steger, 2562, หน้า 198 – 206)
โลกาภิวัตน์ทางการเมืองจึงเป็นกระบวนการที่ทำให้การเผยแพร่ค่านิยม หรือแนวคิดทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่านิยมแบบประชาธิปไตย และแนวคิดแบบลัทธิความยุติธรรมโลกนิยม ถูกส่งต่อ ถ่ายทอด หรือแพร่กระจายผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่อำนวยความสะดวกให้ปัจเจกบุคคลได้เชื่อมโยงเข้าหากันและนำไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่ายในแต่ละกลุ่มต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง อาจกล่าวได้ว่าสร้างภารกิจทางการเมืองแบบใหม่ในภาคประชาชนหรือคนธรรมดาสามัญ ทั้งในเรื่องความยุติธรรมทางสังคม ความเท่าเทียม และอิสรภาพ ให้ออกมาเป็นโครงการทางการเมืองที่ต้องผลักดันร่วมกันข้ามเขตแดนของรัฐชาติ อันมีส่วนช่วยในการรื้อสร้างการเมืองใหม่ภายในประเทศ พร้อมกับการขับเคลื่อนให้มีผลต่อกลไกเชิงสถาบันภายในประเทศและระหว่างประเทศ (Held, McGrew, Goldblatt, & Pe, 2000, pp. 27 – 28)
สรุป
อนาคตของ “พันธมิตรชานม” เป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าการต่อสู้ทางการเมืองร่วมกันของคนหนุ่มสาวในภูมิภาคนี้จะสามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการเมืองภายในประเทศของตนหรือเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยต่อไปอย่างไร จะมีจุดจบเช่นเดียวกับอาหรับสปริงที่โค่นล้มเผด็จการแต่ยังคงได้เผด็จการและอยู่ในสงครามกลางเมือง หรือเป็นไปตามอุดมคติของผู้ที่ศรัทธาในโลกาภิวัตน์ที่เฝ้าคอยโลกที่เป็นประชาธิปไตยสากลที่เคารพความหลากหลาย (Cosmopolitan democracy) ที่ทั้งภูมิภาคหรือทั้งโลกรวมอยู่ในโครงสร้างทางการเมืองเดียวกันที่ยึดโยงแต่ละรัฐภายใต้หลักการเดียวกันด้วยค่านิยมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ดังที่ปรากฏให้เห็นเป็นสหพันธ์โลกในจักรวาลของกันดั้ม และสหพันธ์แห่งดวงดาวในจักรวาลของสตาร์เทรค อย่างไรก็ตามในระหว่างหนทางที่ไปสู่การเปลี่ยนผ่านดังกล่าว พวกเราในฐานะปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มคนก็ดี ยังคงต้องเผชิญกับแนวรบหรือการขับเคลื่อนที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยตรงเพียงอย่างเดียว นั่นก็คือการต่อสู้ทางวัฒนธรรม ทั้งผ่านงานวิชาการ วรรณกรรม ภาพยนตร์ ศิลปะ การบริโภค หรือแม้แต่การเขียนโค้ด เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ไม่ใช่เพียงแค่การโค่นล้มเผด็จการและแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ หากแต่มุ่งแก้ปัญหาในทุกมิติที่สะสมอยู่ในสังคม ทั้งปัญหาอคติทางเพศ ชนชั้น และชาติพันธุ์ ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสิทธิมนุษย์ชน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
รายการอ้างอิง
ภาษาอังกฤษ
Held, D., McGrew, A., Goldblatt, D., & Pe, J. (2000). Global Transformations: Politics, Economics and Culture. In C. Pierson, & S. Tormey (Eds.), Politics at the Edge (pp. 14 – 28). London: Palgrave Macmillan.
ภาษาไทย
พิรงรอง รามสูต, และ ถมทอง ทองนอก. (2563). ฐานันดรที่ 5 จากภาคประชาสังคมผู้ตรวจสอบสื่อสู่พลเมืองออนไลน์. กรุงเทพ: คบไฟ.
B. Manfred Steger. (2562). โลกาภิวัตน์: ความรู้ฉบับพกพา. (วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง, ผู้แปล) กรุงเทพ: Bookscape.
James Gordon Finlayson. (2559). ฮาเบอร์มาส: มนุษย์กับพื้นที่สาธารณะ. กรุงเทพฯ: สวนเงินมีมา.
The Standard. (28 กุมภาพันธ์ 2564). ชาวเมียนมาในนาม ‘พันธมิตรชานม’ ร่วมชุมนุมกับกลุ่ม REDEM ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ. เรียกใช้เมื่อ 14 มีนาคม 2564 จาก The Standard: https://thestandard.co/myanmar-milk-tea-alliance-joined-redem/
The States Times World Team . (27 กุมภาพันธ์ 2564). Milk Tea Alliance พันธมิตรชานมแห่งเอเชีย ประกาศนัดรวมพลชาวเน็ตทั่วเอเชีย แสดงจุดยืนต่อต้านเผด็จการทหารในพม่าผ่านทางทวิตเตอร์พร้อมกันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ ตั้งแต่เวลา 15.00 น.เป็นต้นไป. เรียกใช้เมื่อ 12 มีนาคม 2564 จาก The States Times: https://thestatestimes.com/post/2021022711
บีบีซีไทย. (15 พฤศจิกายน 2560). ผลวิจัยชี้รัฐบาลแทรกแซงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ทอนเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นออนไลน์. เรียกใช้เมื่อ 12 มีนาคม 2564 จาก บีบีซีไทย: https://www.bbc.com/thai/international-41993512
บีบีซีไทย. (30 เมษายน 2563). #nnevvy : กระแสนิยมซีรีส์วายกลายเป็นประเด็นพิพาทไทย-จีนได้อย่างไร. เรียกใช้เมื่อ 1 มีนาคม 2564 จาก บีบีซีไทย: https://www.bbc.com/thai/thailand-52265031
ประชาไท. (16 เมษายน 2563). ‘ชมพูน้อย‘ หรือ ‘เสี่ยวเฟิ่นหง‘ นักรบไซเบอร์ผู้คอยปกป้องรัฐบาลจีนคือใคร. เรียกใช้เมื่อ 12 มีนาคม 2564 จาก ประชาไท: https://prachatai.com/journal/2020/04/87222
ประชาไท. (21 เมษายน 2563). ฝ่ายค้านจีนมองศึกทวิตเตอร์ #MilkTeaAlliance ไทยและเอเชียเพิ่งชนะยกแรก. เรียกใช้เมื่อ 1 มีนาคม 2564 จาก ประชาไท: https://prachatai.com/journal/2020/04/87289
ประธานเหมียว. (15 เมษายน 2563). สรุปดราม่า #ชานมข้นกว่าเลือด จากชาวเน็ตไทย-จีน ด่ากันข้ามชาติ สถานทูตลงมาร่วมด้วย. เรียกใช้เมื่อ 1 มีนาคม 2564 จาก Catdumb: https://www.catdumb.tv/milk-tea-alliance-drama/
มติชนสุดสัปดาห์. (15 เมษายน 2563). ลุกลาม! ดราม่า “จีนเดียว” จากศึกบนทวิต สู่สถานทูตจีนตอบโต้ และ “พันธมิตรชานม” ถือกำเนิด. เรียกใช้เมื่อ 1 มีนาคม 2564 จาก มติชนสุดสัปดาห์: https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_296015
สำนักข่าวอิศรา. (31 ตุลาคม 2563). จากม็อบต้านจีนสู่กลุ่มเยาวชนปลดแอกไทย- ‘พันธมิตรชานม‘ แผ่อิทธิพลทั่วเอเชียได้อย่างไร? เรียกใช้เมื่อ 12 มีนาคม 2564 จาก สำนักข่าวอิศรา: https://www.isranews.org/article/isranews/93144-Milktea00.html
เกี่ยวกับผู้เขียน
เป็นคนเดินเท้า (pedestrian) อาศัยอยู่ในย่านที่รายล้อมไปด้วยชุมชนดั้งเดิมของผู้สืบเชื้อสายมลายู มอญ ลาว โปรตุเกส อินเดีย และจีนโพ้นทะเล ที่ปัจจุบันเป็นแหล่งพักอาศัยของแรงงานและนักศึกษาด้วย ทั้งมาจากต่างภูมิภาค และข้ามชาติ
- This author does not have any more posts.