Skip to content

แง่คิดจากนักศึกษาอาชีวะ

เรื่องการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ หลายคนมักให้ความสนใจไปที่ นักศึกษาและก็นักเรียน ผมจึงขอหันมาพูดถึงนักศึกษาอาชีวะซึ่งยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงเท่าไหร่ สารภาพว่า แว้ปแรกผมเองก้ไม่ชินกับบุคคลิกของพวกเขา พอเห็นนักศึกษาอาชีวะเดินมาเป็นกลุ่มๆ รู้สึกได้ทันทีว่า สไตล์และท่าทางไม่เหมือนกันนักศึกษาที่ตัวเองพบในมหาวิทยาลัย คืนวันที่ 21 ตุลาคม แถวยมราช นักศึกษาอาชีวะคนหนึ่งก็ถามผมที่กำลังเดินกับ บก. รุ่นใหญ่อีกคนว่า พี่ ๆ ที่ชุมนุมกันเขาไปไหนแล้ว (ความจริง คืนนั้นผมและพี่บก.ไปถึงช่วงท้ายๆ เพราะห่วงนักศึกษา และก็ไม่ทันขบวนที่ล่วงหน้าไปก่อน) ตอนได้ยินคำถาม แล้วปราดมองนักศึกษาอาชีวะอีกทั้งกลุ่ม ใจก็คิด นี่มาร่วมสนับสนุนนักศึกษาหรือ จะมาทำอย่างอื่น แต่ก็ตอบไปว่า เขาประกาศยุติชุมนุมกลับบ้านแล้วครับ จากนั้นจึงได้สังเกตพวกเขาอย่างถี่ถ้วน อ้อนักศึกษาอาชีวะเขารีบตามมาเพื่อสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาเยาวชนนั่นเอง
 
เมื่อคืน (23ตุลาคม) ผมไปร่วมฟังเวทีที่หน้าเรือนจำบางเขน เรียกร้องให้ปล่อยตัวผุ้ที่ยังถูกคุมขัง มีการปิดถนนหน้าเรือนจำและคนไม่แน่นมาก จึงมีโอกาสได้เดินคุยกับนักศึกษาอาชีวะสะดวกหน่อย (วันอื่นๆ ที่อื่นๆ ที่คนแน่นๆ เดินแทบไมไ่ด้) และก็พบว่า มากันหลายสถาบันมากจนน่าทึ่ง จากฝั่งธน ก็มาจาก ถ. พระราม2 ขี่มอเตอร์ไซด์มาใช้เวลาชั่วโมงครึ่ง จากย่านสะพานพระรามหก มาไกลจากนครปฐมก็มี ส่วนทางละแวกบางเขน มีมาจาก แถวดอนเมือง (ความจริงผมถ่ายรูปทั้งเห็นหน้าของพวกเขาและเธอ และด้านหลังเห็นเสื้อสถาบันของพวกเขา ที่มีพระวิษณุเป็นสัญลักษณ์อยู่ด้วย แต่ขอไม่นำมาโพสต์ เพื่อเป็นการปกป้องนักศึกษา ขอป้องกันไว้ก่อนแล้วกัน) ถามพวกเขาว่า เดี๋ยวนี้ไม่ตีกันแล้วใช่มั้ย นักศึกษากลุ่มหนึ่งบอกว่า มันเปลี่ยนไปแล้วพี่ เจอกันในนี้ สถาบันไหนก็ไม่ตีกันแล้วครับ พวกเรามาร่วมชุมนุม กับนักศึกษา (ฟังแล้วก็รู้สึกผิดที่ตัวเอง เป็นนักมานุษยวิทยาแท้ๆ ยังไป steryotype ว่า นักศึกษาอาชีวะ เท่ากับ ตีกัน) เห็นแล้วนึกไปถึงคำขวัญ “ฟันเฟืองอยู่ข้างหน้า นักศึกษาอยู่ข้างหลัง” ที่นักศึกษาอาชีวะมาร่วมเคลื่อนไหวกับนักศึกษาในช่วง 14 ตุลาคมและหลัง 14 ตุลาคม
 
ถามถึงนักศึกษาที่มาจากย่านฝั่งธน ส่วนใหญ่บอกว่าไปร่วมชุมนุมที่วงเวียนใหญ่เมื่อวันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา และก็อดถามเรื่องที่มีภาพนักศึกษาขว้างกรวยจราจรใส่รถน้ำ หลายกลุ่มก็อธิบายตรงกันว่า เป็นความเข้าใจผิดครับ เป็นจังหวะรถน้ำขับมาเร็วด้วย พวกเขาเลยเข้าใจว่า จะเอารถน้ำไปฉีดใคร ก็เลยสกัด แต่พอตอนหลังรู้ว่า เข้าใจผิด ก็ขอโทษคนขับรถน้ำแล้ว แถมยังอธิบายด้วยว่า คืนนั้นมีรถน้ำผ่านมาสองสอง มีเฉพาะคันแรกที่เห็นในคลิปเท่านั้นที่มีคนขว้างปา แต่พอคันสองผ่านมาพวกเราเข้าใจแล้ว ก็ไม่ได้ทำอะไร พี่คนขับรถ ยังลดกระจกมาคุยกับพวกเราเลย และคนที่ทำไปเพราะเข้าใจผิดวันนั้นเขาก็ขอโทษแล้ว
 
คุณูปการที่สำคัญที่สุดของการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวระลอกนี้ก็คือ เกิดคลื่นของการตื่นรู้ของคนจำนวนมากในสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ใช้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์ เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่สื่อหลักไม่ได้นำเสนอ ตอนนี้พวกเขาออกจากโลกออนไลน์มาเรียกร้องในโลกจริง ทางเดียวที่จะเอาชนะทางความคิดของพวกเขาได้ ก็คือ การหักล้างว่า ข้อมูลที่เขาได้รับมานั้น ผิดหรือ ไม่ถูกต้องอย่างไร ไม่ใช่ด้วยการบอกว่า พวกเขาถูกใครยุยงอยุ่เบื้องหลัง มิเช่นนั้น คนรุ่นใหม่ ก็จะบอกว่า คนที่ไม่ยอมฟังเขาพูดต่างหากที่งมงาย
 
ที่เขียนมาทั้งหมด เพื่อจะบอกว่า ความตื่นตัวทางสังคมการเมืองของคนหนุ่มสาวขณะนี้กว้างขวางในหมู่เยาวชนแทบจะทุกกลุ่ม จากนักศึกษาสู่นักเรียน ไปถึงนักศึกษาอาชีวะ ดังนั้น คนที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่จำเป็นต้องสนใจรับฟังและตอบ เยาวชนเหล่านี้ด้วยเหตุและผล มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่า ผู้ใหญ่ต่างหากที่จำนนด้วยเหตุผล ไม่รู้จะแย้งอย่างไร จึงใช้วิธีการสั่งปิดปาก ไม่ให้พูด ไม่ให้คิด ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก ในยุคสมัยที่คนตื่นตัวขนาดนี้ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเปิดกว้างอย่างปัจจุบัน…
 
ผมยังคาดหวังถึง การสนทนา ระหว่างคนที่เห็นแตกต่างที่ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างยืนกระต่ายขาเดียว ไม่อย่างนั้นจะประจันหน้ากันแบบนี้ และสักวันหนึ่งน่าห่วงว่าจะมีการปั่นกระแสความเกลียดชัง จนมีคนลงมือกระทำความรุนแรงต่อเยาวชนรุ่นลูกรุ่นหลานได้ โปรดรับฟังน้องๆ เขาบ้างเถอะ ข้อเสนอ ปฏิรูปสถาบัน ไม่ใช่การล้มล้างสถาบัน อย่าใช้คำที่เกินเลยจนสร้างความเกลียดชัง ส่วนจะปฏิรูปอย่างไรนั้น ข้อเสนอ 10 ข้อเป็นเพียงตุ๊กตาข้อเสนอ คุณปนัสยา หรือรุ้ง จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ก็เคยอภิปรายว่า ไม่จำเป็นต้องทำทั้งสิบข้อ จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร ก็ถกเถียงกับพวกเธอสิ
 
นักศึกษาอาชีวะ ยังประกาศเลิกตีกันมาเรียกร้องอย่างสันติ ผู้ใหญ่ก็ควรถกเถียงกับพวกเขาอย่างอารยะ ไม่ใช่การสร้างกระแสเกลียดชัง เพื่อกระทำความรุนแรงต่อพวกเขา ช่วยกันสร้างสังคมอารยะ (civil society) ที่หาทางออกด้วยข้อมูลด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่ยกพวกไปตีใคร นั่นมัน สังคมไร้อารยะ หรือ อนารยสังคม
 
ใครจะกระทำความรุนแรงก็รู้จักอายนักศึกษาอาชีวะบ้าง

เกี่ยวกับผู้เขียน

บุญเลิศ วิเศษปรีชา

อาจารย์ประจำ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​

Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด