Skip to content

มานุษยวิทยาใต้ทะเล : making sense of the underwater world

ตูม!!

ครั้งแรกของการ giant stride หรือการก้าวกระโดดลงจากเรือลงไปยังมหาสมุทรที่เคว้งคว้างกว้างใหญ่เป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ยากจะลืมเลือน

ผมอยู่ในชุด wet suite ซึ่งแนบรัดเสมือนเป็นผิวหนังที่ห่อหุ้มเราอีกชั้น พร้อมด้วยอุปกรณ์ดำน้ำ ไม่ว่าจะเป็นแท็งก์บรรจุอากาศน้ำหนักรวมประมาณ 20 กิโลกรัม สายต่อท่อระโยงระยางทั้งซ้ายขวาหน้าหลัง เครื่องมือบอกปริมาตร ขนาด ความลึก อุณหภูมิ เวลา ทิศทาง และมาตรวัดค่าต่าง ๆ มากมายติดอยู่ตามแขนทั้งสองข้างและส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย  หน้ากาก snorkel ที่สวมครอบตาและจมูกอยู่ แม้ว่าจะใสและสวมใส่พอดีกับใบหน้า แต่ก็ยังทำให้รู้สึกอึดอัดไม่น้อย ด้วยเพราะมันบังคับให้หายใจเข้าออกทางปากโดยความช่วยเหลือของ regulator และท่อหายใจพลาสติก ปลายเท้าที่ใช้ในการก้าวออกจากเรือเมื่อไม่กี่วินาทีก่อนหน้านี้ ถูกเตือนว่าให้ทำหน้าที่ใหม่ ที่ไม่ใช่การเดินไปข้างหน้า หากแต่ต้องหาทางทำงานร่วมกับ fins และ buoyancy พองลม เพื่อพยุงให้เจ้าของร่างกายสามารถจัดหาสมดุลของการลอยตัว

ไม่กี่วินาทีหลังจาก giant stride ลงไปในท้องทะเลของอ่าวไทย ผมยกมือขึ้นเหนือผิวน้ำ เอาปลายนิ้วชี้มาชนกับปลายหัวแม่มือทำเป็นรูปวงกลม ส่งสัญญาณบอกครูสอนดำน้ำว่าทุกอย่าง “โอเค”

นี่เป็นพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านจากโลกบนบกไปสู่โลกใต้ท้องทะเล และจากมนุษย์เดินดินไปสู่การเป็นนักดำน้ำสกูบา  

มหาสมุทรเป็นโลกของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตที่กว้างใหญ่ มันประกอบไปด้วยระบบนิเวศและความสัมพันธ์มากมายที่มนุษย์ยังไม่รู้จักดีพอ ที่ผ่านมา มีนักมานุษยวิทยาน้อยคนนักจะได้มีประสบการณ์ตรงในการสำรวจความสัมพันธ์หรือทำงานภาคสนามกับสรรพสิ่งในโลกที่แปลกใหม่แห่งนี้

ภาพถ่ายใต้น้ำโดย Tasspon Paknin

เอเลี่ยนในมหาสมุทร

“สำหรับฝูงปลาเหล่านี้ พวกเราก็คงเหมือนเอเลี่ยนที่เข้าไปในพื้นที่ของมัน มันอาจจะสนใจเราหรือไม่สนใจเราก็ได้”

ครูไอซ์ ครูสอนดำน้ำและนักอนุรักษ์ปะการัง พูดขึ้นมาในคืนวันหนึ่งในช่วงของการกินดื่มฉลอง หลังจากที่พวกเราเสร็จภารกิจของการดำน้ำครั้งสุดท้ายของทริป

ครูไอซ์เป็นคนหนุ่มจากอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ผู้ซึ่งมีความหลงใหลในการแหวกว่ายอยู่ตามกองหินและปะการังที่อยู่ลึกลงไปในท้องทะเลในแถบภาคใต้ของไทย มากกว่าที่จะเดินป่าไปตามผาที่ลาดชันของเทือกเขาในภาคเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ที่เขาเติบโตมา ครูไอซ์เป็นครูสอนดำน้ำให้กับกลุ่มของพวกเราที่เกาะเต่า  นอกเหนือจากความเป็นมืออาชีพในการสอนทักษะการดำน้ำ ตลอดจนความใจดีและใจเย็นในการค่อย ๆ อธิบาย สาธิต และให้โอกาสเราได้ฝึกปฏิบัติทักษะขั้นตอนมากมายอย่างอดทนแล้ว ครูไอซ์ยังมักสอดแทรกเกร็ดความรู้เกี่ยวกับท้องทะเลให้กับพวกเราในช่วงของการพักเบรกจากการดำน้ำด้วย ครูไอซ์เก็บเกี่ยวความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกใต้น้ำนี้มาจากการเรียนในสาขาเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ รวมทั้งจากประสบการณ์ตรงในการเป็นนักดำน้ำ และหัวหน้าทีมปลูกปะการังของศูนย์ดำน้ำ BigBubble Diving ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

2

อย่างที่ครูไอซ์ว่า ไม่แปลกที่เราจะเป็นเอเลี่ยนใต้ท้องทะเล

มนุษย์มีความสามารถในการสำรวจพื้นที่ใต้ท้องทะเลอย่างจำกัดมาก แม้ว่าทะเลจะครอบคลุมพื้นที่เกือบสามในสี่ของพื้นที่ทั้งหมดของโลก แต่กระนั้น มนุษย์เองก็ยังมีความรู้ที่ไม่ชัดเจนนักว่าน้ำจำนวนมหาศาลเหล่านี้เกิดขึ้นมาในโลกได้อย่างไร[i] ท่ามกลางพื้นทะเลที่กว้างใหญ่ ถึงทุกวันนี้มนุษย์เองมีโอกาสและศักยภาพในเข้าไปสำรวจพื้นที่ดังกล่าวเพียงแค่ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น พื้นที่ส่วนร่องที่ลึกที่สุดของมหาสมุทรมีความลึกอยู่ที่ประมาณ 11,000 เมตร แต่นักดำน้ำส่วนใหญ่ก็มักจะดำน้ำอยู่ได้ในระดับความลึกไม่เกิน 18-30 เมตรเท่านั้น สำหรับนักดำน้ำเฉพาะทางซึ่งอาจจะดำน้ำได้ลึกถึง 100 เมตร แต่ก็มีจำนวนที่จำกัดมากและต้องอาศัยการอบรม ฝึกฝน และประสบการณ์นานหลายปี

เช่นนั้นแล้ว การสำรวจโลกใต้น้ำที่ผ่านมามักจำกัดอยู่เพียงแค่ในโซน Epipelagic หรือพื้นที่ทะเลเปิดส่วนบนซึ่งมีพื้นผิวมหาสมุทรลึกไม่เกิน 200 เมตร นี้เป็นพื้นที่ที่การสังเคราะห์แสงสามารถเกิดขึ้นได้เพราะมีแสงแดดส่องถึง จนถึงขณะนี้ มีการค้นพบพืชและสัตว์น้ำมากกว่า 200,000 ชนิดในโซนดังกล่าว พื้นที่ทะเลเปิดส่วนบนนี้เป็นที่อยู่ของสัตว์ใต้น้ำที่เรามักเห็นในรูปภาพใต้ท้องทะเล เช่น วาฬ โลมา ทูน่า นีโม แมงกะพรุน ฉลาม นอกจากสัตว์แล้ว พืชโดยเฉพาะสาหร่ายที่อาศัยอยู่ในเขตนี้ก็มีหน้าที่สำคัญในการผลิตอาหารจากการสังเคราะห์แสง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิตแทบจะทั้งหมดในมหาสมุทร สาหร่ายเหล่านี้ยังช่วยผลิตออกซิเจนมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ลอยอยู่ในบรรยากาศอีกด้วย

ส่วนอีก 4 โซนที่อยู่ลึกลงไป เป็นพื้นที่เต็มไปด้วยความมืด ความเย็นยะเยือก แรงกดดันจากน้ำมหาศาล และอากาศที่เบาบางอย่างยิ่งยวด ท่ามกลางสภาวะที่ยากต่อการอยู่อาศัยนี้ แต่กระนั้นมันก็ยังมีสิ่งมีชีวิตจำนวนไม่น้อยที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ สัตว์บางชนิดมีแสงสว่างในตัวเอง วาฬมีระบบกลไกที่ทำให้สามารถดำดิ่งลงไปได้ ปลาหมึกและปลาดาว (แน่นอนว่าทั้งสองชนิดนี้ไม่ใช่ “ปลา”) อยู่ได้ในพื้นที่อุณหภูมิต่ำ และในชั้นโซนที่ลึกที่สุดอย่าง Hadopelagic ก็มีสัตว์อย่างหนอนท่อ สัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังหลายชนิด และจุลชีพอยู่อาศัยอย่างมากมาย 

สำหรับมนุษย์อย่างเรา ๆ อย่าว่าแต่จะมีศักยภาพในการอยู่อาศัยใต้น้ำเลย การดำน้ำเพียงแค่ไม่กี่สิบเมตรในชั่วเวลาไม่นานนัก ก็นับเป็นเรื่องยุ่งยากอยู่พอสมควร

ในการเรียนดำน้ำ เราเริ่มจากการเรียนรู้แนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจว่ามนุษย์จะดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางพื้นที่ดังกล่าวนี้แม้จะเป็นเวลาช่วงสั้น ๆ ได้อย่างไร สิ่งที่เราต้องคิดคำนึงในโลกใต้น้ำนั้นต่างไปจากความคุ้นชินในการดำรงชีวิตบนพื้นดินอย่างมาก เราคิดมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องของความกดดันของน้ำและอากาศที่ล้อมรอบตัวเรา เราคิดถึงเรื่องความเร็วในการเคลื่อนที่ และน้ำหนักของเราในยามที่เราเคลื่อนไหว การขยับตัวขึ้นลงเพียงแค่สองสามเมตรก็สร้างความแตกต่างในแง่ของแรงกดดัน อุณหภูมิ และปฏิกิริยาที่มันมีต่อร่างกายของเราได้อย่างมากมาย แม้ว่าเราจะมีอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ที่ประกอบเข้ากับตัวเราที่ทำให้เรามีลักษณะเยี่ยงไซบอร์ก[ii] ที่ซึ่งร่างกายและเทคโนโลยีทำงานร่วมกันอย่างแยกไม่ออก แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะกลายมาเป็นพลเมืองของระบบนิเวศในมหาสมุทรได้อย่างไม่รู้สึกแปลกแยก

นอกเหนือจากข้อมูลและทฤษฎีที่เราต้องเรียนรู้แล้ว ขั้นตอนและทักษะของการอยู่ใต้น้ำเป็นอีกส่วนที่มีความสำคัญ ครูไอซ์สอนวิธีการสื่อสารใต้น้ำให้กับเรา ภาษาใหม่ที่เราเรียนรู้มีความเรียบง่ายและจำกัด และทำให้เราเลือกที่จะสื่อสารเฉพาะสิ่งที่มีความจำเป็นเท่านั้น โดยมากแล้ว เราจะสื่อสารกันเรื่องทิศทาง ความกดดัน ความลึก สถานะของร่างกาย ปริมาณอากาศที่เหลือ หรือปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากอุปกรณ์  ตลอดจนการเอาตัวรอดให้ปลอดภัยในกรณีฉุกเฉิน เราไม่สามารถถกเถียงปรัชญาที่ลุ่มลึก อุดมการณ์ทางการเมืองที่ซับซ้อน หรือข้อค้นพบล่าสุดของวงการวิทยาศาสตร์ที่น่าตื่นเต้นได้ ภูมิปัญญาของมนุษย์ถูกลดทอนลงเหลือเพียง “โอเค” “ไม่โอเค” “อากาศเหลือน้อย” และ “ฉันขออากาศที” เท่านั้น

3
ภาพถ่ายใต้น้ำโดย Tasspon Paknin

ในการขึ้นจากน้ำแต่ละครั้ง เราจะทำสิ่งที่เรียกว่า safety stop ซึ่งเป็นการขึ้นจากพื้นน้ำขึ้นมาลอยตัวอยู่ใต้ผิวน้ำในระดับ 5 เมตรเป็นเวลา 3 นาที เพื่อให้ร่างกายโดยเฉพาะปอดของเราปรับตัวก่อนขึ้นสู่ผิวน้ำ มาตรการขั้นตอนเหล่านี้มีความจำเป็นสำหรับเอเลี่ยนอย่างเรา ๆ ในการเข้าออกระหว่างโลกใต้น้ำและบนน้ำเสมอ

ท่ามกลางการช่วยเหลือของอุปกรณ์และเทคโนโลยี ท่ามกลางทักษะและขั้นตอนสำคัญที่ถูกกำหนดไว้อย่างรัดกุมและจะละเลยเสียไม่ได้ ท่ามกลางอากาศ การมองเห็น ภาษา และการสื่อสารที่จำกัด และท่ามกลางอุบัติการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ การดำน้ำจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้มนุษย์อย่างเราเข้าไปยังโลกแห่งนี้ด้วยความถ่อมตัว มันเป็นช่วงเวลาที่เราได้ตระหนักว่า มนุษย์มีข้อจำกัดมากเพียงใดเมื่อเข้ามาอยู่ในโลกที่ไม่ใช่ของตนเอง

มหาสมุทรของเอเลี่ยน

ในหนังสือ Alien Ocean: Anthropological Voyages in Microbial Seas[iii] นักมานุษยวิทยา Stefan Helmreich ชี้ว่า การเรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับมหาสมุทรอันกว้างใหญ่นี้จะมีส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจการอยู่รอดของมนุษย์ไม่มากก็น้อย ข้อค้นพบใหม่ ๆของนักชีววิทยาทางทะเลได้ทำให้เรามีมุมมองต่อมหามหาสมุทรที่เปลี่ยนไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้เริ่มมีความเข้าใจที่มากขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศใต้ท้องน้ำกับระบบนิเวศบนบกที่มนุษย์อาศัยอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน นับวันมหาสมุทรก็ปรากฏให้เห็นในลักษณะที่น่าพิศวงและยากต่อการเข้าใจในหลาย ๆ มิติ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมหาสมุทรทั้งในแง่ของความใกล้ชิดและความแปลกแตกต่างนี้อุปมาได้กับการเผชิญหน้ากับเอเลี่ยนที่ยากต่อการคาดเดา แน่ละ เรากำลังหาวิธีการในการที่จะอยู่ร่วมกันกับมหาสมุทรในฐานะเอเลี่ยน  โดยหวังว่าจะเป็นไปในลักษณะของมิตร ไม่ใช่ศัตรู

4

นอกเหนือไปจากการสำรวจโลกใต้น้ำโดยนักดำน้ำทั่วไปและนักมานุษยวิทยาแล้ว[iv] ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความสามารถของมนุษย์ในการก้าวเข้าไปสู่พื้นที่เร้นลับของมหาสมุทรนั้นอาจเพิ่มมากขึ้น โดยการช่วยเหลือของเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลสามารถสำรวจพื้นทะเลได้ลึกขึ้น ผ่านยานดำน้ำขนาดเล็ก การเดินทางของเสียงใต้น้ำ ตลอดจนการใช้อุปกรณ์ควบคุมระยะไกลในการสำรวจพื้นที่ใต้ท้องทะเลลึก ที่ทำให้มีความรู้สึกเหมือนกับว่าได้เข้าไปอยู่ใกล้สิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศเหล่านั้น แม้ว่าจะทำงานจากพื้นผิวน้ำที่อยู่ไกลขึ้นมา[v] 

เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน

ในวันสุดท้ายของการดำน้ำ ผมได้มีโอกาสเฝ้าสังเกตกลุ่มปะการังเขากวางที่มีปลายงอกออกมาเป็นยอดสีขาว ปะการังที่กำลังงอกออกมาใหม่ เป็นความพยายามของธรรมชาติในการฟื้นตัวจากผลกระทบที่เกิดจากมนุษย์ โดยเฉพาะจากการท่องเที่ยวในลักษณะ mass tourism และการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ ครูไอซ์เล่าให้เราฟังว่า ช่วงเวลาสองสามปีที่ผ่านมาที่ชายฝั่งทะเลของเกาะเต่าถูกรบกวนจากจำนวนเรือและนักท่องเที่ยวน้อยลงนั้น ได้ส่งผลอย่างมากต่อการกลับมาฟื้นตัวของปะการังน้ำตื้นและรวมไปถึงสัตว์ทะเลอื่น ๆ ด้วย

แน่นอนว่า การฟื้นตัวของปะการังธรรมชาตินี้เป็นผลมาจากปริมาณและผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่รบกวนระบบนิเวศใต้น้ำลดลง แต่กระนั้น มันก็ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จะมีความสัมพันธ์เชิงปฏิปักษ์กับธรรมชาติ หรือต้องอยู่แยกขาดจากสรรพสิ่งในโลกใต้น้ำอย่างสิ้นเชิง ในทางกลับกัน มนุษย์สามารถเป็นเพื่อนร่วมโลกกับสรรพสิ่งเหล่านี้ได้ ถ้าใช้คำแบบ Haraway ก็คือ เราสามารถสร้าง multispecies companionship/kinship ได้ โดยการจัดความสัมพันธ์ของเราในรูปแบบใหม่ที่เป็นไปในลักษณะของการเคารพและอาศัยเกื้อกูล

5
ภาพถ่ายใต้น้ำโดย Tasspon Paknin
6

ครูไอซ์และเพื่อน ๆ นักดำน้ำใช้เวลานอกเหนือจากการสอนดำน้ำ ในการเป็นนักดำน้ำอาสาปลูกปะการัง การปลูกปะการังเป็นความพยายามของมนุษย์ในการยื่นมือเข้าไปร่วมบ่มเพาะเลี้ยงดู หรือสร้างพื้นที่ของความสัมพันธ์ร่วมกันกับปะการังและสภาพแวดล้อม  ในการฟื้นฟูปะการัง แม้ว่าจะมีหลักการพื้นฐานบางอย่างที่เป็นสากล แต่ความความสำเร็จของการปลูกปะการังก็ขึ้นอยู่กับเทคนิควิธีการและความเข้าใจบริบทของโลกใต้ทะเลที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ การเรียนรู้ที่จะมองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ใต้ท้องทะเลในพื้นที่จำเพาะจึงมีความสำคัญมากในการที่จะทำให้ปะการังเติบโตขึ้นมาพร้อม ๆ กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมอีกครั้ง แม้ว่าหน่วยงานรัฐจะทำหน้าที่ในการจัดทำโครงการฟื้นฟูดังกล่าวนี้ในหลายพื้นที่ แต่ความสำเร็จส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเหล่านักดำน้ำในท้องถิ่น ที่มีความเข้าใจความสัมพันธ์เชิงพึ่งพาระหว่างพวกเขาเองในฐานะมนุษย์กับปะการัง และระหว่างปะการังกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และสรรพสิ่งรอบตัว

การอยู่ร่วมและดูแลสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตใต้น้ำไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในรูปของการประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์หรืออุทยานแห่งชาติทางทะเลเสมอไป ในหลายกรณี โครงการการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของรัฐในลักษณะของการปิดกั้นและรวมศูนย์อำนาจ นอกจากจะไม่เอื้อประโยชน์ต่อผู้คนในท้องถิ่นแล้ว ยังส่งผลทางอ้อมต่อการสร้างและแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับโลกใต้ท้องทะเลอีกด้วย

7

ในหนังสือ Drawing the Sea Near: Satoumi and Coral Reef Conservation in Okinawa[vi] ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณนาของการอนุรักษ์ปะการังโดยชุมชนแห่งหนึ่งในโอกินาวา นักมานุษยวิทยา C. Anne Claus ชี้ว่าความพยายามในการอนุรักษ์โดยการพยายามแยกมนุษย์ให้อยู่ห่างจากธรรมชาติ โดยเฉพาะการเฝ้าดูธรรมชาติแบบไกล ๆ หรือที่เธอเรียกว่า “conservation-far” นั้นบ่อยครั้งมักจะล้มเหลว ซึ่งต่างไปจากรูปแบบการจัดการของท้องถิ่นกับระบบนิเวศที่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด มีการรับรู้กับสภาพแวดล้อมผ่านผัสสะหลากหลายรูปแบบ เป็นความสัมพันธ์เชิงพึ่งพาอาศัย และเน้นการมีส่วนร่วม วิถีปฏิบัติที่เธอเรียกว่าเป็น “conservation-near” นี้ ทำให้ความเชื่อมโยงระหว่างบ้านหรือพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์กับท้องทะเลไม่ได้แยกขาดจากกัน และส่งผลต่อความสำเร็จในการอยู่ร่วมกันของคนในพื้นที่และธรรมชาติที่พวกเขาพึ่งพิง

นักดำน้ำท้องถิ่นที่เกาะเต่าก็คงไม่ต่างกันนัก พวกเขาได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ใกล้ ๆ สรรพสิ่งในท้องทะเลอย่างเคารพ พึ่งพา และเห็นอกเห็นใจ การอนุรักษ์แบบใกล้ชิดน่าจะเป็นหนึ่งในหัวใจของความยั่งยืนมากกว่าการแยกตัวออกมา

มานุษยวิทยา at the bottom of the sea

นักมานุษยวิทยาได้เรียนรู้จากสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ มากมายว่ามันสามารถเอาชีวิตรอดท่ามกลางสภาวะที่เลวร้ายและความผกผันต่างๆ รอบตัวได้อย่างไร Anna Tsing ชวนให้เราพิเคราะห์การดำรงอยู่ของเห็ดมัตสึทาเกะท่ามกลางซากปรักหักพังของความรุนแรงและทุนนิยม[vii] Helmreich พาเราไปรู้จักกับจุลชีพใต้ท้องทะเลลึกที่ดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางความมืดทึบ แรงกดดันของน้ำมหาศาล อุณหภูมิที่ต่ำ และอากาศที่เบาบาง

นอกจากสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถในการปรับตัวเหล่านี้แล้ว ในอีกด้านหนึ่ง เราก็อาจจะเรียนรู้ปรากฏการณ์ของโลกที่เราอาศัยอยู่จากสิ่งที่มีชีวิตมีความเปราะบางมากที่สุดในธรรมชาติอย่างปะการังด้วยเช่นกัน ความเปราะบางของปะการังและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ใต้ทะเลเป็นสิ่งที่บ่งชี้ได้อย่างดีถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในระดับที่มนุษย์ไม่ตระหนักรู้[viii] การสังเกตการณ์การเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ทำให้เราเห็นข้อจำกัดของชีวิต ธรรมชาติมักสอนเราทั้งด้านของความแข็งแกร่งและด้านของความเปราะบางในการมีชีวิตอยู่เสมอ

8
ภาพถ่ายใต้น้ำโดย Tasspon Paknin

นักมานุษยวิทยาที่สนใจเรื่องโลกท่ามกลางมนุษยสมัย (Anthropocene) ควรหันมาให้ความสนใจกับโลกใต้น้ำให้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงเพราะว่าโลกใต้น้ำเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศหลัก ที่ประกอบร่วมขึ้นมาเป็นอาณาบริเวณที่ Bruno Latour เรียกว่าเป็น critical zone ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการมีชีวิตรอดของมนุษย์เท่านั้น[ix] ทว่า มันยังเป็นพื้นที่หรือโลกที่มีความสำคัญที่ยังรอคอยการดำเข้าไปฝังตัวและร่วมเรียนรู้ ไม่ต่างจากการที่นักมานุษยวิทยาพยายามศึกษาโลกนิเวศวัฒนธรรมอื่น ๆ นักมานุษยวิทยา Justin Raycraft เสนอว่า การดำน้ำทำให้เราได้เผชิญกับสภาวะหลังมนุษย์ (posthuman) และก่อนมนุษย์ (prehuman) ไปพร้อม ๆ กัน นั่นเพราะว่า ในด้านหนึ่งความเป็นไซบอร์กของนักดำน้ำทำให้เราข้ามพ้นข้อจำกัดของมนุษย์และสามารถเข้าไปยังโลกใต้น้ำได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเข้าไปอยู่ในโลกใต้น้ำก็ทำให้เรามีประสบการณ์กับจุดกำเนิดของชีวิตและความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและกว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งก่อเกิดและวิวัฒนาการมาก่อนมนุษยชาติจะปรากฏบนโลกใบนี้เสียอีก[x] 

การทำความเข้าใจการดำรงอยู่และความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในโลกที่ต่างจากพื้นที่ที่เราคุ้นชินและอยู่อาศัยนี้ จะช่วยทำให้เราเรียนรู้ที่จะปรับตัวและปรับวิธีคิดของเราในการอยู่ร่วมกับสิ่งอื่น ๆ แบบไม่แยกขาดจากกัน หากแต่ร่วมเติบโตและเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ไปด้วยกัน นี่คือสิ่งที่นักปรัชญา Donna Haraway เรียกว่าเป็น tentacular thinking[xi]

หนวดปลาหมึก หรือ tentacles เป็นสิ่งที่มีระบบประสาทอันซับซ้อน มันอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว แต่ในขณะเดียวกันก็ฉลาดในการเผชิญหน้ากับอันตรายและปรับตัวกับความท้าทายที่เข้ามา

การดำน้ำไม่เพียงแต่ทำให้เรามีประสบการณ์ตรงกับสายระโยงระยางที่พันอยู่รอบตัวเราอย่างกับหนวดปลาหมึก หนวดปลาหมึกของชุดดำน้ำเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยขยายการรับรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศใต้ท้องทะเลให้กับเรามากขึ้นเท่านั้น หากแต่ยังเปิดโอกาสให้เราได้ลองคิดและเผชิญกับโลกใต้น้ำอย่างหนวดปลาหมึกด้วย

การคิดอย่างหนวดปลาหมึก จึงหมายถึงการตระหนักความสัมพันธ์ที่โยงใยและละเอียดอ่อนที่เรามีร่วมกันกับสิ่งอื่น ๆ รอบตัว ตลอดจนการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่าง ๆ ให้ได้ ภายใต้ข้อจำกัดและสภาวการณ์ที่เราไม่คุ้นเคยนั่นเอง


[i] Lovelock, James. 2016. “The Sea” in Gaia: A New Look at Life on Earth. Oxford: Oxford University Press.

[ii] Picken, Felicity and Ferguson, Tristan. 2014. “Diving with Donna Haraway and the Promise of a Blue Planet” Environment and Planning D: Society and Space 32: 329-341. 

[iii] Helmreich, Stefan. 2009. Alien Ocean: Anthropological Voyages in Microbial Seas. Berkley: University of California Press.

[iv] Rodineliussen, Rasmus. 2017. “Visual Methods to Study the Underwater World: Scuba Divers and a Sensorial Experience of Water” Anthrovision 5(2).

[v] Helmreich, Stefan. 2007. “An Anthropologist Underwater: Immersive Soundscapes, Submarine Cyborgs, and Transductive Ethnography” American Ethnologist 34(4): 621-641. และ Helmreich, Stefan. 2009. “Intimate Sensing” in Simulation and Its Discontents, edited by Sherry Turkle. Cambridge: MIT Press.

[vi] Claus, C. Anne. 2020. Drawing the Sea Near: Satoumi and Coral Reef Conservation in Okinawa. Minneapolis: University of Minnesota Press.

[vii] Tsing, Anna L. 2015. The Mushroom at the End of the World: On the Possibility of Life in Capitalist Ruins. Princeton: Princeton University Press.

[viii] Helmreich, Stefan. 2016. “How Like a Reef: Figuring Coral, 1839-2010” in Sounding the Limits of Life: Essays in Anthropology of Biology and Beyond. Princeton and Oxford, Princeton University Press.

[ix] Latour, Bruno. 2020. Critical Zones: The Science and Politics of Landing on Earth. Bruno Latour and Peter Weibel (eds.). Cambridge and London: The MIT Press.

[x] Raycraft, Justin. 2020. “Seeing from Below: Scuba Diving and the Regressive Cyborg” Anthropology and Humanism 45(2): 301-321.

[xi] Haraway, Donna. 2016. “Tentacular Thinking: Anthropocene, Capitalocene, Chthulucene” in Staying with the Trouble: Making Kin in the Chthulucene. Durham and London: Duke University Press.

Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด