ฉันยังจำประสบการณ์ครั้งแรกที่ฉันอ่านหนังสือถึงเช้าได้ ฉันถือหนังสือเล่มหนากลับจากร้านดอกหญ้าซึ่งตอนนั้นมีขนาดสามชั้นในซอยสยาม สแควร์ หน้าปกเป็นรูป “นก ฉัตรชัย” กับ “จันจิรา จูแจ้ง” พร้อมกับดาราเด็กสองคน มันคือนิยายที่เขียนขึ้นเพื่อสร้างเป็นละคร “รักสุดท้ายที่ปลายฟ้า” ประพันธ์โดย พิง ลำพระเพลิง กรอบปกหนังสือเป็นสีน้ำเงิน หนังสือเล่มนี้ยาวหลายร้อยหน้า
ในห้องนอนที่ตอนนี้กลายเป็นห้องของหลานไปแล้ว ฉันเริ่มเปิดหนังสือในเวลาหกโมงเย็นและนั่งอ่านจนถึงหกโมงเช้าอีกวัน นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันอ่านหนังสือข้ามคืน และนั่นก็คงเป็นครั้งแรกที่ฉันตระหนักถึงอานุภาพของเรื่องเล่า ฉันอยากจะพรรณนาความรู้สึกที่เกิดขึ้นในเวลานั้น แต่ฉันจำอะไรไม่ได้เลย ถ้าหนังสือทำให้ฉันอยู่ข้ามคืนได้ ความรู้สึกสนุก วางไม่ลง ก็คงจะเกิดขึ้นกระมัง
ฉันไม่รู้ว่าคนอื่นอ่านหนังสือเพื่ออะไร แต่ฉันอ่านเพื่อรู้สึก ไม่มีอะไรวิเศษไปกว่านวนิยายรักที่ทำให้คุณรู้สึกตกหลุมรักคนใหม่ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งชายทั้งหญิง ไม่มีอะไรตื่นเต้นเท่านวนิยาย ที่พาคุณขึ้นลงเหวทางอารมณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางครั้งมันอาจจะเป็นหุบเหวเดิมที่คุณเคยตกลงไปแล้ว แต่คุณกลับเจอเส้นทางใหม่ในเหว หลายครั้งมันเป็นดินแดนแห่งใหม่ที่คุณไม่เคยสัมผัสมาก่อน ไม่มีอะไรเปิดจักรวาลความรู้สึกคุณได้ราคาถูกเท่าหนังสืออีกแล้ว แถมไม่ต้องลงทุนทางร่างกาย คุณไม่ต้องไปยุ่งยากสู้กับลอร์ดโวลเดอมอร์ด้วยตัวเอง เพราะแฮรี่ไปสู้ให้คุณแล้ว
จริงอยู่ หนังสือเป็นประสบการณ์ชั้นสอง เหมือนศัพท์ภาษาอังกฤษที่บอกว่า (living vicariously) แต่เพียงเพราะมันเป็นประสบการณ์ชั้นสองก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่เป็นประสบการณ์ ตราบใดที่มันจริงในหัวคุณ มันก็จริงในชีวิตคุณอยู่ดี คนที่อยู่กับหนังสือมากไปอาจจะละเมอเพ้อพก ซึ่งฉันก็ไม่เถียง เพราะตัวฉันเองก็เป็นหนึ่งในนั้น กว่าจะใช้เวลาปรับเข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตก็อาศัยเวลาหลายสิบปี มีภาวะซึมเศร้า (แค่ภาวะ ไม่ใช่โรค) ไปบ้าง แต่มานั่งคิดดูในยามที่อายุเยอะแล้วก็รู้สึกคุ้มค่าอยู่ เพราะสุดท้ายแล้วหนังสือจำนวนมากในชีวิตก็นำฉันสู่ความใกล้เคียงที่จะมีชีวิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชีวิตตัวเองมากที่สุด Sylvia Plath เคยบอกว่า “Why can’t I try on a different life like a different dress to see which one fits best.” (“ทำไมฉันถึงไม่ลองชีวิตได้เหมือนลองชุด จะได้รู้ว่าชีวิตไหนดีที่สุด”) สำหรับฉันแล้วหนังสือคือชุดที่พาฉันไปลองเป็นชีวิตคนอื่นทางอารมณ์ นอกจากค่าหนังสือแล้ว สิ่งที่ต้องเตรียมจ่ายคืออารมณ์และเวลาเท่านั้น
ฉันเคยแอบอ่านนิยายในชั้นเรียนมัธยม ในลิ้นชักใต้โต๊ะไม้ที่มีรอยลิควิดฉันกางหนังสือที่ยืมจากห้องสมุดออก เรียนไปไม่ถึงคาบสาม ฉันก็อ่านพริกขี้หนูกับหมูแฮมเล่มกระจ้อยจบเสียแล้ว หนังสือให้ความหยิ่งทะนงบางอย่างแก่ผู้อ่านจบ ประเด็นนี้ฉันไม่เถียง แต่มันก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่แข่งกีฬาจนจบตา หรือ คนที่ขับรถไปถึงที่หมายได้สำเร็จ หนังสือก็เป็นการเดินทางพอๆ กับกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิต
หลายครั้งที่ฉันต้องอ่านหนังสือเพื่อท่องจำ (ซึ่งแน่นอนว่ามันแทบไม่เข้าหัว) หลายครั้งที่ต้องอ่านหนังสือเพื่อจะต้องทำรายงานส่ง (ซึ่งแน่นอนก็ลืมหลังทำรายงานส่งเสร็จ) หลายครั้งที่ฉันลืมรายละเอียดที่เป็นเนื้อหา แต่สิ่งที่ฉันจำได้แม่นยำคือความรู้สึก หนังสือเล่มใดก็ตามต่อให้เป็นนิยายหรือไม่ใช่นวนิยาย ถ้ามันทำให้ฉัน “รู้สึก” ได้ มันคือที่สุด (ซึ่งความรู้สึกนี้จะต้องเป็นความรู้สึกอื่นที่ไม่ใช่ “ความเบื่อหน่าย”) ฉันรับเอามันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตฉันเรียบร้อย ไม่ว่ามันจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจ
ความรู้สึกในที่นี่นั้นมีหลากหลาย ในอดีตความรู้สึกที่ฉันโปรดปรานที่สุดคือ ความรัก การตกหลุมรัก ความรู้สึกขวยเขินจากเรื่องราวของคนอื่น ความรู้สึกเมื่อมนุษย์ได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ซึ่งปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์แต่ละคู่หรือแต่ละกลุ่มก็นำมาซึ่งความแตกต่างหลากหลาย ต่อมาความรู้สึกที่ฉันโปรดปรานมากๆ คือ การตื่นจากความไร้เดียงสา (fall of innocence) ในชีวิตนี้เราไร้เดียงสาได้อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้นจากสังคมที่หล่อหลอมหรือจากธรรมชาติความเป็นมนุษย์ การได้อ่านหนังสือที่ “เปิดโลก” จึงเป็นความรู้สึกวิเศษที่สุด เหมือนที่ F. Scott Fitzgerald กล่าวไว้ “I don’t want to repeat my innocence. I want the pleasure of losing it again.” (“ฉันไม่ได้อยากจะไร้เดียงสาอีกครั้ง แต่ฉันอยากจะสูญเสียความไร้เดียงสาอีกครั้ง”) การสูญเสียความไร้เดียงสาหรือที่ฉันชอบเรียกว่า “มายาทลาย” เป็นสิ่งที่ฉันโปรดปรานเหลือเกิน
ถึงกระนั้นฉันก็ไม่อาจบอกว่าหนังสือแทนประสบการณ์ในชีวิตจริงได้ ฉันรักประสบการณ์ในชีวิตจริง และคิดว่าทุกคนต้องปล่อยให้ตัวเองไปเผชิญกับเหตุการณ์ในชีวิตจริง ฉันคิดว่าหนังสือเป็นภัยต่อชีวิตจริงพอๆ กับที่มันเป็นภูมิคุ้มกัน หนังสือทำให้คุณรู้สึกอะไรมากมาย แต่ถ้าคุณไม่มีโลกที่คุณออกไปปะทะกับผู้คนหรือสิ่งอื่นๆ เลย ความรู้สึกจากหนังสือก็จะไม่ได้ถูกนำมาใช้เชิงปฏิบัติ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความจำเป็น คนบางคนอาจจะพอใจเช่นนั้นก็ได้ แต่ฉันซึ่งไม่ได้พอใจอยู่แค่นั้นก็ต้องแสวงหาความรู้สึกในโลกควบคู่ไปกับความรู้สึกในหนังสือ
เมื่อไม่นานมานี้มีคนเล่าให้ฉันฟังเกี่ยวกับ “นักเก็บเสียง” เขาเป็นนักดนตรีที่เดินทางไปเก็บเสียงถึงธารน้ำแข็งในอเมริกาเหนือ เพราะน้ำที่นั่นใสบริสุทธิ์จะทำให้ได้เสียงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน อยู่ดีๆ มานั่งพินิจพิเคราะห์ดู ฉันก็อยากริอาจหาญเรียกตัวเองว่า “นักเก็บความรู้สึก” เพราะฉันเองก็เสาะแสวงหาความรู้สึกใหม่ไปเรื่อยๆ หรืออยากรู้สึกลึกซึ้งขึ้นในเรื่องเดิม (ซึ่งในท้ายที่สุดก็เป็นความรู้สึกใหม่ในตัวมันเอง เพราะไม่เคยเข้าได้ลึกขนาดนี้)
แม้ว่าศิลปะอื่นๆ (เช่น ภาพยนตร์ ละคร ละครเวที ฯลฯ) และสิ่งต่างๆ ในชีวิต (การพบเจอพูดคุย ความสัมพันธ์ การทานอาหาร ฯลฯ อันที่จริงก็ทุกสิ่งนั่นแหล่ะ) จะกระตุ้นความรู้สึกเช่นกัน แต่ข้อได้เปรียบของหนังสือ ซึ่งมาจากการเขียน คือ การถ่ายทอดความรู้สึกจากตัวเราผ่านไปสิ่งที่เขียนได้ทันที (แม้ว่าภายหลังอาจจะมีการตัดทอนหรือปรับเปลี่ยน) เหมือนกับที่ฉันอ่านหนังสือ วรรณกรรมประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ (A Little History of Literature by John Sutherland) ฉบับแปลภาษาไทยด้วยสำนวนแปลอันถูกใจเป็นที่สุดของคุณสุรเดช โชติอุดมพันธ์อยู่ๆ ดี ก็ชวนให้นึกถึงห้วงแรกที่ตกหลุมรักหนังสือขึ้นมา ก็เลยต้องมานั่งรำพันอยู่ ณ ตอนนี้ ในขณะที่เรื่องเล่าลักษณะที่คล้ายกันอย่างภาพยนตร์หรือละครจะต้องใช้เวลาและผ่านอีกหลายมือกว่าจะถ่ายทอดออกมาได้ (แต่ภาพยนตร์กับละครก็ให้ผลลัพธ์แก่ฉันในลักษณะที่คล้ายคลึงกับหนังสือ อันที่จริงฉันเองก็ตกหลุมรักภาพยนตร์และละครไม่ต่างจากหนังสือ เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่มันทำให้ฉันรู้สึกได้ ฉันก็ยอมแพ้ราบคาบเช่นกัน)
ความรู้สึกฉันคงไม่ต่างจากคนที่ใช้ดนตรีเป็นสื่อ เพราะทันทีที่รู้สึกท่วมท้นหากมีกีตาร์ว่างอยู่ข้างๆ ก็อาจจะหยิบขึ้นมาเขียนเพลงเพื่อถ่ายทอดได้ทันที หรือจะเป็นจิตรกรวาดภาพก็ดี แต่สำหรับฉันผู้ไม่รู้ภาษาดนตรี และคิดว่าภาพวาดมีไวยากรณ์การเล่าเรื่องต่างจากหนังสือโดยสิ้นเชิง จึงยกความดีความชอบให้หนังสือ แถมหนังสือยังเป็นงานที่เรียกร้องจากคนอ่านให้ใช้เวลาเสพย์มันสักระยะ (ยกเว้นจะเป็นหนังสือเล่มบาง) มันจึงทำให้ซึมซาบได้อย่างลึกซึ้งจมไปกับมันได้พอสมควร คนหลายคนอาจจะอ่านหนังสือแล้วไม่อยากจม แต่สำหรับฉันแล้วการอ่านแล้วจมหายไปในหนังสือเป็นสิ่งวิเศษที่สุดเท่าที่คนเขียนหนังสือจะมอบให้ฉันได้
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุดคนึงเป็นคนชอบคิด เลยคิดไปเรื่อยๆ มีคดิประจำใจว่าชอบอะไรจะไม่เก็บไว้คนเดียว เลยต้องมาเผยแพร่ให้คนอื่นฟังเพื่อหาพวกมาชอบด้วยกัน