สรชัย อายุ 30 ปีชาวอุดรธานี เอื้อนเอ่ยในนามของคนงานว่า คุณรู้ไหม คนงานอย่างผมแบกรับความกดดันอย่างหนักอึ้ง กับรายได้เฉลี่ย 552 บาทต่อวัน และก่อนที่จะมาที่นี่ ก็หยิบยืมหรือกู้เงินจากพี่น้องป้องปลาย อ้าย น้า อา อาว มาจ่ายให้เอเย่นต์เป็นค่านายหน้ามาทำงานที่สิงคโปร์ เพื่อที่จะได้หาเงินคืนกลับบ้าน งานส่วนใหญ่ที่ทำคืองาน 3 D ยาก (Difficult) สรปรก (Dirty) และอันตรายเสี่ยงภัย (Dangerous) คนงานเหล่านี้พูดภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ จีนแมนดารินยิ่งแล้วใหญ่ ทำให้พวกเขาติดต่อสื่อสารกับนายจ้างและพวกหัวหน้าคนงานได้ยากลำบาก แต่พวกเขาก็เชื่อฟังทำตาม เพราะชีวิตทั้งหมดขึ้นอยู่กับนายจ้าง ไม่มีสิทธิเรียกร้องและไม่มีเสียงโต้เถียง แม้ว่างานที่ทำเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
เรื่องราวของสรชัย ปรากฏในบทความวิชาการชิ้นหนึ่ง ตีพิมพ์ในวรสารสถาบันวิจัยเอเชีย แห่ง NUS คนอีสานในสิงคโปร์ไม่ได้มีเพียงสรชัย เรื่องราวของบักหำน้อยหำใหญ่ไทบ้าน ที่มาทำงานบนเกาะแห่งนี้ เริ่มต้นขึ้นราว ๆ ปี 1970 หรือ 5 ปี หลังจากที่รัฐบาลกลางกัวลาลัมเปอร์ประกาศขับไล่สิงคโปร์ออกจากการร่วมอธิปไตยเมื่อปี 1965 (พ.ศ.2508) นับตั้งแต่นั้น ก็มีแรงงานอีสานหอบหิ้วกระเป๋าเดินทางเรื่อยมา จนได้รับสมญาว่า “คนอีสานผู้สร้างสิงคโปร์” แม้จะเรียนมาน้อยแต่ได้ทำงานสูง อยู่บนตึกหลายสิบชั้น ผสมปูนและเชื่อมเหล็กอยู่บนนั้นแหละ พวกเขามีส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างบ้านแปลงเมืองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสิงคโปร์ยุคสร้างชาติ
ในช่วง1980 ถึง 1990 สิงคโปร์มีนโยบายการพัฒนาที่พักอาศัย (Housing and Development Board) เปิดรับแรงงานจากภูมิภาคอาเซียนเข้ามาทำงานในภาคการผลิตมากขึ้น ส่งผลให้แรงงานอีสานหลังไหลเข้ามาอย่างคึกคัก ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย รวมทั้งในปี 1989 มีการประกาศนิรโทษกรรมให้แรงงานที่ผิดกฎหมายในประเทศให้มาลงทะเบียนอย่างถูกต้อง คนไทยกว่า 25,000 คน จึงมีใบอนุญาตทำงานถูกต้อง ขณะเดียวกันแรงงานชาวพม่า มาเลเซีย บังคลาเทศ ก็ได้รับประโยชน์นโยบายดังกล่าว
จำนวนคนงานที่เพิ่มมากขึ้น กลายเป็นความกังวลของรัฐบาลสิงคโปร์ในเวลาต่อมา ท่ามกลางรายงานข่าวเรื่องการไหลตายจากการทำงานหนัก การทะเลาะวิวาท และปัญหาการค้าบริการทางเพศ รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์อันคุกรุ่น
พัฒนา กิติอาษา อดีตอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ นักมานุษยวิทยาผู้ล่วงลับ ได้รวบรวมเรื่องราวจากเพื่อนของเขาที่ทำงานอยู่ในสิงคโปร์ ตีพิมพ์หนังสือ “คนไกลบ้าน” คำให้การของคนไทยในสิงคโปร์ จัดพิมพ์โดยสมาคมเพื่อนแรงงานไทยในประเทศสิงคโปร์ สามารถเข้าไปอ่านทั้งหมดในลิ้ง http://sprth.blogspot.com/2010/05/blog-post_6844.html งานเขียนนี้คล้ายกับบันทึกสนาม (Field note) ของนักเรียนมานุษยวิทยา ซึ่งบันทึกเรื่องราวของผู้คน ผ่านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ และสังเกตการณ์อย่างไกล้ชิด ทว่างานเขียนนี้กลับไม่ได้ถูกเขียนขึ้นโดยนักมานุษยวิทยา เพื่อนำเสนอในวงวิชาการ แต่เป็นแรงงานที่ขีดเขียนเรื่องราวของพวกเขาขึ้นมาเอง เรื่องต่าง ๆ ในหนังสือเล่มนี้จึงคับคั่งไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกหลากหลาย พูดถึงชีวิตของคนสามัญได้อย่างมีชีวิตชีวา
เรื่องราวที่ถูกบันทึกด้วยหมึกของแรงงานไทยเล่มนี้ เกี่ยวกับชีวิตประจำวันอันสามัญธรรมดา เรื่องของเด็กหนุ่มที่ห่างจากพ่อแม่และจารีตประเพณีเดิม เรื่องของเพื่อนที่ไหลตายแต่เมียกลับพาชู้มารับศพกลับบ้าน เหตุการณ์เกิดขึ้นในอาคาร Golden Mile Complex แหล่งพบปะในช่วงวันหยุดที่ช่วยเติมเต็มความรู้สึกถวิลหาบ้านของใครหลายคน อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของผู้สร้างสิงคโปร์ ไม่ได้มีเพียงการทำงานในภาคอุสาหกรรมหรือการสร้างอาคารบ้านเรือน สาวน้อยสาวใหญ่หลายชีวิต ทำงานที่พวกเธอเรียกว่า “เดินซอย” อยู่ย่านเกลังย์ บ้างขายบริการในซ่องกลางป่าที่สิงคโปร์ รวมถึงประสบการณ์การขายบริการแบบส่งถึงห้อง กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคบริการของสิงคโปร์
สิงคโปร์เปลี่ยนไปจากเดิมมากแล้ว การเดินทางไปทำงานต่างประเทศของบ่าวสาวชาวไทบ้าน ยังเป็นภาพที่มีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ข้อมูลสถิติจากกระทรวงแรงงาน ชี้ว่าคนไทยโดยเฉพาะชาวอีสาน เดินทางไปทำงานสิงคโปร์น้อยลงไปมาก ช่วงสิบปีที่ผ่านมาใต้หวันเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่ง รองลงมาคือเกาหลีใต้ และตะวันออกกลาง
บทความนี้เป็นเพียงบทนำเข้าสู่เรื่องราวการเดินทางทั้งหมด เส้นทางคนอีสานผู้สร้างสิงคโปร์ไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้ ตอนต่อไปผู้เขียนตั้งใจจะนำภาพถ่ายเก่า ๆ ของคนอีสานในสิงคโปร์และสัมภาษณ์พวกเขาสักเล็กน้อย
อ้างอิง
- เควินทร์ ลัดดาพงศ์. (2562). BROADCAST YOURSELF LAH! วีดิโอตลกภาษาซิงลิชในยูทูบและอุดมการณ์ภาษาในสิงคโปร์ยุคดิจิทัล. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
- พัฒนา กิติอาษา. (2553). “คนไกลบ้าน”: คำให้การของคนไทยในสิงคโปร์. กรุงเทพฯ : สมาคมเพื่อนแรงงานไทยในสิงคโปร์
- Pattana Kitiarsa. (2006). Village Transnationalism: Transborder Identities among Thai-Isan Migrant Workers in Singapore. ( National University of Singapore (NUS) – Asia