คุณผู้อ่านเคยเป็นคนหนึ่งไหม? ที่รู้สึกว่าผู้หญิงกับกีฬาฟุตบอลไม่น่าเป็นอะไรที่ไปด้วยกันได้ อาจด้วยว่าภาพลักษณ์ของกีฬาชนิดนี้ที่เป็นที่ดูมีความรุนแรงและมีการปะทะกันสูง รวมถึงมักจะพ่วงมาด้วยการกล่าวว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่แห่งการแสดงออกซึ่งความเป็นชายเสียมากกว่า
มีผู้ชายจำนวนไม่น้อยในโลกที่ใช้กีฬาฟุตบอลในการเข้าสังคม ทั้งในระดับกลุ่มเล็กและกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นมา อาจจะเริ่มตั้งแต่การเป็นเล่นขำๆ กับเพื่อนในวัยเด็ก และหลายคนอาจพัฒนามาสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพเมื่อเติบโตขึ้น หรือถึงไม่ได้ฝักใฝ่อยากเป็นนักกีฬาอาชีพ แต่อย่างน้อยๆ ก็อาจจะเป็นผู้ที่ติดตามและสนับสนุนกีฬาฟุตบอลผ่านการบริโภควัฒนธรรมแฟนที่เรียกกันจนติดปากว่า ‘แฟนบอล’
คำถามที่น่าคิดต่อคือ แล้วผู้หญิงสามารถอยู่ในพื้นที่แห่งความเป็นชายนี้ได้ไหม?
โดยเฉพาะในฐานะแฟนกีฬา ผู้หญิงจะสามารถเป็นแฟนกีฬาฟุตบอลด้วยได้ไหม หรือถ้าเป็นได้ จะเป็นได้อย่างไร?
มายาคติว่าด้วยผู้หญิงและกีฬาฟุตบอลมีอยู่มากมายและพบได้อย่างดาษดื่น (และถ้าหากคุณผู้อ่านเป็นแฟนบอลอยู่แล้ว หรือมีคนรอบข้างที่เป็นแฟนบอลอยู่บ้างก็อาจนึกภาพสถานการณ์ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ได้ชัดเจนขึ้น)
“ดูล้ำหน้าเป็นป่ะ”
“เป็นผู้หญิงจะดูบอลเป็นได้ยังไง”
“จริงๆ แล้วเป็นแอนตี้ใช่ไหมล่ะ”
“ติ่งเกาหลีที่ไหนจะดูบอล”
“มาดูบอลหรือดูนักบอล”
ดังที่ผู้เขียนยกตัวอย่างมาข้างต้น มักเป็นคำที่เราเห็นกันเป็นประจำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสื่อสังคมออนไลน์ คำเหล่านี้มักจะปรากฏอยู่บนตัวโพสต์หรือการแสดงความคิดเห็นของเหล่าแฟนบอลชายที่มีอคติต่อผู้หญิงที่ดูฟุตบอลอยู่เสมอ อีกทั้งในงานวิชาการที่ศึกษาแฟนกีฬาฟุตบอลใดๆ ก็มักจะศึกษาเพียงแต่แฟนบอลชาย หรือให้ความสำคัญกับผู้หญิงเพียงในฐานะของผู้ติดตามครอบครัวหรือแฟนแต่เพียงเท่านั้น และมีเพียงชิ้นเดียวที่ศึกษาเรื่องแฟนบอลหญิงอย่างตรงไปตรงมาคืองานของปลายฟ้า นามไพร (2562) ที่มุ่งสนใจศึกษาและอธิบายถึงกระบวนการเข้าสู่พื้นที่ ‘สนาม’ ฟุตบอลไทยของแฟนบอลหญิง อีกทั้งผลการศึกษายังพบว่าด้วยโครงสร้างที่ผู้ชายครอบงำเสียส่วนใหญ่จึงส่งผลให้พวกเธออยู่ในสถานะ “คนชั้นสอง” ในพื้นที่สนามฟุตบอล (ปลายฟ้า นามไพร 2562) นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ผู้เขียนสนใจศึกษากลุ่มแฟนบอลหญิงเช่นกัน ถึงแม้ว่าการศึกษาในครั้งนี้จะแตกต่างจากงานชิ้นก่อนๆ ที่ศึกษาเกี่ยวกับแฟนบอลหญิง เนื่องด้วยเป็นการแฟนบอลคนละกลุ่มกันซึ่งส่งผลให้อัตลักษณ์ที่แสดงออกมา รวมถึงพื้นที่ในการแสดงอัตลักษณ์นั้นแตกต่างกันอยู่แล้ว และแฟนบอลหญิงกลุ่มที่ผู้เขียนศึกษาก็มีวิธีการต่อรองทางพื้นที่การเป็นแฟนกีฬาที่แตกต่างกันไป ดังที่จะเสนอต่อไปนี้
แฟนฟุตบอลกลุ่มที่ผู้เขียนศึกษานั้น เป็นกลุ่มที่เรียกตนเองว่า “ด้อมบอล” โดยแรกเริ่มเดิมทีเกิดจากการมารวมตัวกันของแฟนฟุตบอลหญิงที่ถูกกีดกันออกจากการเป็นแฟนบอลทั้งในพื้นที่ทางกายภาพอย่างชีวิตจริงและพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์แพลตฟอร์มอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกตั้งคำถามและดูถูกเหยียดหยามถึงจริตการบริโภคกีฬาฟุตบอล แต่ ณ ขณะนั้นพวกเธอกลับช่วงชิงความหมายของคำว่า “ด้อมบอล” จากคำเหยียดในแง่ลบมาเรียกขานตนเองและภูมิใจกับอัตลักษณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตามตั้งแต่นั้นมาอัตลักษณ์ของความเป็น “ด้อมบอล” นั้นหลากหลายขึ้นโดยมีผู้คนกลุ่มใหม่พยายามเข้ามาเป็นส่วนร่วมและให้นิยาม/ความหมายเพิ่มกับอัตลักษณ์นี้ และบางนิยามนั้นก็อาจขัดแย้งกับจุดเริ่มต้นเสียเอง จนเกิดมาเป็นความหลากลั่นในทางการนำเสนออัตลักษณ์นี้ออกไปสู่สายตาคนนอก แต่ถึงอย่างนั้นพวกเธอก็ยังมีสำนึกในความเป็น “ด้อมบอล” ร่วมกันอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกเหยียดหยามจากวาทกรรมผู้หญิงกับกีฬาฟุตบอลและการเคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคม
ในบทความนี้ผู้เขียนจะนำเสนอตั้งแต่ภาพรวมความเป็นมา การเข้ามาเป็น/กลายมาเป็นด้อมบอล ตั้งแต่กระบวนการก่อร่างสร้างพื้นที่ชุมชน (Community), จริตในการบริโภคและการเป็นผู้ผลิตต่อในฐานะแฟนกีฬาฟุตบอลของด้อมบอล (Fan Cultures) และการนำเสนออัตลักษณ์ (Identity) ที่หลากหลาย และลื่นไหลของด้อมบอล รวมถึงการเมืองเชิงอัตลักษณ์ในกลุ่มด้อมบอลเอง (Identity Politics)
ถึงแม้ถ้าหากเทียบกับภาพรวมในสังคมพวกเธอจะยังคงเป็นแค่แฟนบอลกลุ่มเล็กๆ แต่พวกเธอก็สามารถแสดงถึงการมีอยู่ของพวกเธอออกมาได้ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ รวมถึงเรายังสามารถศึกษาประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรมได้หลากหลายอย่างจากกลุ่มแฟนคลับกลุ่มนี้อีกด้วย โดยในการศึกษาครั้งนี้ ผู้เขียนใช้ระเบียบวิธีวิจัยโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตุการณ์อย่างมีส่วนร่วม รวมถึงวิธีวิทยาอย่างชาติพันธุ์วรรณาดิจิทัลร่วมด้วย
ผู้หญิง ฟุตบอล แฟนด้อม และ “อัลกอริทึมนำพา”
พวกเธอล้วนเล่าที่มาไปในทิศทางเดียวกันว่าเริ่มมาจากการที่เป็นผู้หญิงวัยรุ่นที่ชื่นชอบในกีฬาฟุตบอลที่ติดตามลีกแข่งขันของยุโรป (ลาลีกา เซเรียอา บุนเดสลิกา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรีเมียร์ลีก) อย่างใกล้ชิด ซึ่งถึงแม้ว่าจุดเริ่มต้นการดูฟุตบอลจะแต่งต่างกันไป มีทั้งได้รับอิทธิพลจากครอบครัว, จากแฟน, จากเพื่อน หรือกระทั่งเริ่มติดตามด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามเมื่อพื้นที่ส่วนใหญ่ของฟุตบอลและแฟนกีฬาฟุตบอลเป็นพื้นที่ของผู้ชาย พวกเธอจึงรู้สึกถูกกดทับทั้งจากคำพูดที่ถากถางถึงรสนิยมในการรับชมฟุตบอล การถูกกีดกันให้มีสถานะที่ต่ำกว่า การปิดกั้นพื้นที่ที่แสดงอัตลักษณ์ความเป็นแฟนบอล ทั้งหมดนี้ส่งผลให้พวกเธอพยายามหาพื้นที่ใหม่ในการแสดงอัตลักษณ์ความเป็นแฟนบอลของตนเองออกมา โดยเริ่มจากการสร้างบัญชีทวิตเตอร์ ทวีตถึงคำและแฮชแท็กที่เกี่ยวข้อง (ทั้งทีมฟุตบอล นักกีฬาฟุตบอล สโมสรฟุตบอล หรืออื่นๆ ตามที่จะเกี่ยวข้องกับฟุตบอล) แล้วก็เจอคนอื่นที่ทวีตคำไปในแนวทางเดียวกัน “คุยภาษาเดียวกัน” จนเกิดปรากฏการณ์ “อัลกอริทึมนำพา” ให้มารู้จักและติดตามกันเป็นวงกว้างจนสามารถสร้างเป็นชุมชนใหม่ได้ ซึ่งพอนานวันเข้าพวกเธอก็คุยกันเรื่องอื่น บอกเล่าชีวิตประจำวัน แบ่งปันรสนิยมความชอบอย่างอื่น และบางกลุ่มก็ไปพบปะกันในชีวิตจริงด้วยเลยทำให้สนิทกันมากยิ่งขึ้น
“จริงๆ มันก็ไม่เชิงว่าเรามารวมกันเป็นกลุ่มตั้งแต่แรก จำได้ว่ามันเป็นช่วงที่เราเองไม่รู้จะเรียกกลุ่มแฟนบอลในทวิตยังไงดี เพราะเวลาจะพิมพ์ว่า ‘แฟนบอลที่รู้จักกันในทวิต’ ก็ยาวเกินไป แล้วตอนนั้นคำว่า ‘แฟนด้อม’ กำลังเป็นที่นิยมใช้ด้วย (ตอนประมาณปี 2560) ก็เลยเรียกแบบรวบๆ ง่ายๆ ว่าด้อมบอล”
จากคำบอกเล่าดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่าเป็นการเรียกขานอัตลักษณ์ของตนเองอันเกิดมาจากการการสร้างชุมชนใหม่ อีกทั้งในแรกเริ่ม “ด้อมบอล” เป็นคนที่ใช้เรียกแฟนบอลในทวิตเตอร์โดยรวม ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนที่เชียร์ทีมเดียวกันเสมอไป คนที่เชียร์กันต่างทีมก็สามารถเรียกตนเองว่าเป็นด้อมบอลเหมือนกันและสามารถทำความรู้จักและเป็นเพื่อนกันได้ อีกทั้งคำนี้ก็เป็นที่รู้จักผ่านการพูดเรียกขานต่อๆ กัน จนสามารถนิยามออกมาได้ว่าด้อมบอลคือกลุ่มแฟนบอลที่สร้างพื้นที่ชุมชนใหม่ของตนเองขึ้นมาในทวิตเตอร์ และมีการนิยามอัตลักษณ์ในเบื้องต้นว่าถึงเป็นแฟนบอลต่างทีมกันก็มาคุยทำความรู้จักและอยู่ด้วยกันได้โดยไม่จำเป็นจะต้องทะเลาะกันเสมอไป
อย่างไรก็ตามก็มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้กลุ่ม “ด้อมบอล” มาเป็นที่รู้จักในวงกว้างอีกครั้ง เริ่มจากช่วงราวปี 2561-2562 ที่มีอดีตสมาชิกวงไอดอล BNK48 ที่ได้รับการขนานนามจากแฟนคลับวงและแฟนบอลผู้ชายบางกลุ่มว่า “ธิดาชาวสวน”[su_tooltip text=”มีที่มาจากคำว่า “แทงสวน” (แต่หมายถึงการเชียร์ทีมตรงข้ามเฉยๆ มิได้มีความหมายไปในเชิงการพนัน)” background=”#f7dad0″ color=”#000000″][1][/su_tooltip] อันเนื่องมาจากเธอออกตัวว่าเป็นแฟนบอลทีมลิเวอร์พูล แต่เมื่อเธอออกตัวโพสต์ว่าเชียร์ลิเวอร์พูลเมื่อใด ลิเวอร์พูลจะแพ้ทันที รวมไปถึงทีมอื่นๆ ด้วย อดีตไอดอลผู้นั้นพยายามสร้างเอกลักษณ์ของตนเองในการนำฟุตบอลมาเป็นจุดขาย (ซึ่งทำให้ได้รับความนิยมจากแฟนคลับและแฟนบอลชายอย่างรวดเร็ว”[su_tooltip text=”อ่านเพิ่มเติมได้ใน “ธิดาชาวสวน คนเฉียบ 2018 แนทเธอรีน BNK48 ไม่เชียร์ทีมเดียว” https://voicetv.co.th/read/BkdJvyH57″ background=”#f7dad0″ color=”#000000″][2][/su_tooltip]) จากปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ด้อมบอลไม่พอใจเป็นอย่างมาก
“เอาตรงๆ รำคาญกันทั้งแฟนบอลลิเวอร์พูลและแฟนบอลทีมอื่น เพราะเหมือนก็มาโหนทีมเขา เมื่อมีแฟนบอลในทวิตเตอร์ทวีตออกตัวว่าไม่ชอบ ก็มีโอตะ[su_tooltip text=”ชื่อเรียกแฟนคลับวงไอดอล BNK48″ background=”#f7dad0″ color=”#000000″][3][/su_tooltip]ชาย (บ้างก็ว่าเป็นแอคไอโอ[su_tooltip text=”ย่อมาจากคำว่า Information Operation ซึ่งหมายถึงปฏิบัติการข่าวสาร โดยหลักการสำคัญของไอโอคือการเผยแพร่ความคิดและความเชื่อของฝ่ายตนเองให้อีกฝ่ายรับทราบ และทำให้เกิดความเชื่อคล้อยตามฝ่ายตนเอง” background=”#f7dad0″ color=”#000000″][4][/su_tooltip]น้องเขา) ออกตัวมาปกป้องแล้วทำมาเป็นพูดว่าไม่เคยได้ยินคำว่าด้อมบอลมาก่อนเลย”
หลังจากนั้นก็มีคำที่ดูถูกและเหยียดหยามด้อมบอลมาเรื่อยๆ เช่น
“เป็นผู้หญิงจะดูบอลเป็นได้ยังไง”
“จริงๆ แล้วเป็นแอนตี้ใช่ไหมล่ะ”
“ติ่งเกาหลีที่ไหนจะดูบอล”
“ด้อมบอลมีอยู่จริงเหรอ คืออะไรไม่เคยรู้จักมาก่อน”
“ด้อมบอลคืออะไร ผมดูบอลมา 40 ปีไม่เห็นจะรู้จัก” แต่ถึงอย่างนั้นการกล่าวเหยียดด้อมบอลไปในแง่ลบกลับทำให้พวกเธอแสดงตัวตนและอัตลักษณ์ออกมาได้อย่างชัดเจนขึ้นจากการนำมากล่าวซ้ำให้บ่อยกว่าเดิม “เออ ก็เป็นด้อมบอลแล้วจะทำไม” รวมถึงเมื่อพวกเธอผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการดูถูกเหยียดหยามด้วยกันมาหลายครั้ง มันเหมือนทำให้เกิด “สำนึกความเป็นส่วนหนึ่งร่วมกันบางอย่างที่คนในกลุ่มมีร่วมกัน” สมาชิกแรกเริ่มของด้อมบอลคนหนึ่งกล่าว
พัฒนาการของ “แฟน” และชุมชนแฟนกับอุตสาหกรรมกีฬา
นิยามของ “แฟน” (Fan) นั้น แรกเริ่มเดิมทีมาจากรากศัพท์คำว่า Fanatic ซึ่งมีนัยยะความหมายไปในเชิงลบ กล่าวคือ หมายถึงการเป็นส่วนหนึ่งของวัด เป็นสาวก และเป็นผู้อุทิศตนให้วัดอย่างไม่มีเงื่อนไข ทำให้คำนี้หมายถึงผู้ที่ถูกชักจูงไปในได้ง่ายด้วยความศรัทธาและบ้าคลั่ง (อาจินต์ ทองอยู่คง 2555, 75) อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะออกมาจากความหมายเชิงศาสนาแล้ว “แฟน” ก็ยังคงถูกตีความและผลิตซ้ำในแง่ลบอย่างต่อเนื่อง เพราะภาพจำเกี่ยวกับแฟนนั้นมักจะเป็นผู้หลงไหลและคลั่งไคล้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากๆ หรือเป็นพวกชักจูงได้โดยง่ายตลอดมา ทั้งนี้ภาพจำดังกล่าวมิได้หมายถึงเพียงแค่แฟนกีฬา แต่รวมไปทั้งหมดไม่ว่าจะเกี่ยวกับภาพยนตร์ ซีรีส์ วงดนตรี ฯลฯ
หากเทียบกับในบริบทของประเทศไทย ด้อมบอลมักจะถูกมองว่าเป็น “ติ่งบอล” งานของบุณยนุช นาคะ (2560, 1-2) เสนอว่า ในแรกเริ่มคำว่า “ติ่ง” เริ่มมีการใช้ตั้งแต่ราวปี 2556 และมักใช้กับกลุ่มแฟนคลับที่ไม่มีมารยาท ไม่สนใจความเป็นไปอย่างอื่นของโลกนอกจากกลุ่มศิลปินที่ตนเองชื่นชอบ ซึ่งได้ความหมายมาจากสองที่มา คือ มาจากทรงผมติ่งหูของนักเรียนมัธยม (เปรียบว่าเป็นเด็กไม่รู้จักโต) และอีกความหมายหนึ่งคือ ไส้ติ่ง (เปรียบว่าเป็นอวัยวะที่ไม่มีประโยชน์ของร่างกาย) ถึงแม้ว่า “ติ่ง” ในบริบทของปี 2561 เป็นต้นมาจะหมายถึง “ผู้ที่เป็นผู้รู้จัก ติดตาม และชื่นชอบเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษและรู้ดีในเรื่องกลุ่มต่างๆ” (เช่น ติ่งการเมือง ติ่งดารา ติ่งฟุตบอล) แต่ก็ยังถูกคนภายนอกมองมาด้วยสายตาและคำถากถางเชิงลบอยู่ดี อย่างไรก็ตาม “ด้อมบอล” ก็มีความเป็นไปคล้ายกับในงานของบุณยนุช ในท้ายที่สุดผู้ที่ถูกเรียกว่าติ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับคำว่าติ่งในแง่ลบ แต่กลับรู้สึกว่าเป็นคำที่ให้ความหมายว่าเป็นผู้ชื่นชอบสิ่งเหล่านั้นอย่างแท้จริง และนำมาเป็นคำที่ใช้เรียกตนเองว่าเป็นผู้บริโภคในฐานะ “ติ่ง”
งานของ Cornel Sandvoss (2005 อ้างอิงใน อาจินต์ ทองอยู่คง 2555, 75) เสนอว่า ลักษณะประการหนึ่งที่สำคัญของแฟนที่คือการเป็นผู้บริโภค และเป็นเครื่องสะท้อนที่สำคัญในการสะท้อนถึงวัฒนธรรมสมัยนิยม ณ ขณะเวลานั้น ซึ่งข้อถกเถียงที่สำคัญประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ‘แฟนเป็นผู้บริโภคที่เฉื่อยชาที่ถูกควบคุมโดยผู้ผลิต’ (Passive Consumer) หรือ ‘แฟนเป็นผู้บริโภคที่ตื่นตัว’ (Active Consumer) บทความชิ้นนี้เสนอว่าแฟนด้อมบอลเป็นผู้บริโภคที่ตื่นตัว โดยจะเสนอตั้งแต่ศักยภาพในการมารวมตัวกันเป็นชุมชนแฟน (ดังที่กล่าวไปในส่วนก่อนหน้า) และการแสดงบทบาทเป็นผู้ผลิตในชุมชนแฟน (ดังที่จะกล่าวในส่วนถัดไป) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการโต้แย้งว่าแฟนบอลกลุ่มนี้มิใช่ผู้ที่หลงไหลและถูกควบคุมได้ง่ายผ่านผู้ผลิต หากแต่เป็นส่วนสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมสมัยนิยมผ่านการเป็นทั้งผู้บริโภคที่มีความจงรักภักดี (Royalty Fan) และเป็นผู้ผลิตที่สำคัญในชุมชนแฟน
“ด้อมบอล” พื้นที่ดูบอลออนไลน์ที่เป็นมากกว่าโลกเสมือน
เนื่องจากการบริโภคฟุตบอลลีกยุโรปนั้นเป็นเพียงการถ่ายทดสดจากสนามที่นั่นเท่านั้น การปฏิสังสรรค์ระหว่างแฟนบอลลีกยุโรปจึงต้องเป็นการรับชมจากหน้าจอเพียงอย่างเดียว ไม่ได้สามารถไปรับชมข้างสนามได้โดยง่ายเช่นดังฟุตบอลไทย ซึ่งรูปแบบการรับชมที่แตกต่างกันนี้ส่งผลโดยตรงไปถึงพื้นที่แห่งการปฏิสังสรรค์ของแฟนฟุตบอลยุโรป
หากเรากล่าวถึงพื้นที่ดูบอลที่คุ้นเคยกันโดยทั่วไปก็มักจะเป็นในบ้าน หรือนอกบ้านเช่นร้านเหล้า ร้านอาหาร ลานเบียร์ (ซึ่งก็มักจะเป็นสถานที่ที่แฟนบอลชายชอบไปกัน) หรือถึงแม้ว่าจะใช้โซเชียลมีเดียก็ใช้แต่น้อย แฟนบอลชายส่วนมากไม่ค่อยหาเพื่อนดูบอลจากในสื่อสังคมออนไลน์เท่าใด
อย่างไรก็ตามสำหรับด้อมบอลแล้ว การปฏิสังสรรค์ระหว่างกันของชาวด้อมบอลจะเป็นไปในสื่อสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์เสียส่วนมาก แต่ก็มิได้ส่งผลให้การปฏิสังสรรค์ กิจกรรมที่ทำร่วมกัน และความสนิทสนมของพวกเธอลดน้อยลงแต่อย่างใด อีกทั้งยิ่งเทคโนโลยีก้าวไกลมากขึ้นเพียงใดยิ่งส่งผลให้การปฏิสังสรรค์ระหว่างกันของพวกเธอยิ่งแนบแน่นขึ้นด้วยซ้ำ เช่น จากเดิมที่จะแยกกันไปดูแต่สลับมาทวิตถึงการแข่งขันแล้วคุยกันผ่านตัวอักษรเท่านั้น เมื่อมีแอพพลิเคชัน Discord[su_tooltip text=”Discord คือ โปรแกรมสนทนาที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายซึ่งใช้งานได้กับทั้งคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์พกพา เป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน” background=”#f7dad0″ color=”#000000″][5][/su_tooltip] เข้ามา ด้วยฟังก์ชันของแอพฯ ที่สามารถดูการถ่ายทอดสดด้วยกันได้ รวมถึงยังพูดคุยกันได้ระหว่างชมการถ่ายทอดสด จึงส่งผลให้เกิดสภาวะเสมือนราวกับว่าพวกเธอกำลังรับชมฟุตบอลด้วยกันจริงๆ “เราดูด้วยกัน ด่าด้วยกัน อุทานด้วยกัน” นี่คือสิ่งที่สมาชิกด้อมบอลคนหนึ่งกล่าว
รวมถึงการเกิดขึ้นของฟังก์ชัน Twitter Spaces[su_tooltip text=”พื้นที่สนทนาที่ทวิตเตอร์พัฒนามาแข่งขันกับ ClubHouse โดยเริ่มเปิดทดลองให้คนบางกลุ่มใช้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา” background=”#f7dad0″ color=”#000000″][6][/su_tooltip] ในตัวเอพทวิตเตอร์เองที่จะมีฟีเจอร์คล้ายกับ แอพ-พลิเคชัน ClubHouse กล่าวคือ จะเป็นการสตรีมมิ่งผ่านเสียงบนทวิตเตอร์ โดยจะมีคนหนึ่งเป็น Host (ซึ่งก็คือผู้กดเปิดการสนทนา) และผู้ที่กดเข้ามานั้นก็สามารถเลือกได้ว่าจะเป็นผู้สนทนาร่วมด้วย (Speaker) หรือว่าเป็นเพียงผู้ฟัง (Listener) เฉยๆ ก็ได้ ซึ่งทั้ง Discord และ Twitter Spaces มีจุดเด่นคือเป็นการถ่ายทอดสดที่เข้าถึงง่ายและมีความเสถียรมาก ส่งผลให้ได้รับความนิยมมากจากผู้คนในด้อมบอล โดย
“การเปิดสะเป้ด (สเปซ) และการเปิดดิส (ดิสคอร์ด) นั้นเหมือนเป็นกิจวัตรรูปแบบใหม่ของพวกเรา จริงๆ มันก็ไม่ได้มีใครกำหนดว่าเราจะต้องมาเจอกันทุกวันที่มีบอลเตะ แต่เหมือนเป็นความเคยชินใหม่ไปแล้วที่ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์เราจะมารวมตัวกันโดยไม่ได้นัดหมาย มันจะต้องมีใครสักคนที่เปิดสเปซขึ้นมาแล้วทุกคนก็มักจะเข้ามารวมกันโดยไม่ได้มีใครทักไปชวนใคร แต่เหมือนรู้กันเองว่าทุกคนอยู่ในนี้ เราจะมาคุยกันที่นี่”
สมาชิกคนหนึ่งในด้อมบอลกล่าวเสริม
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าด้อมบอลจะเป็นการรวมตัวกันของคนที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชียร์คนละทีม การเลือกว่าจะใช้ Discord หรือ Twitter Spaces นั้นมีนัยยะสำคัญอยู่หลายครั้งสำหรับแฟนบอลกลุ่มย่อยๆ ในด้อมบอล โดย Discord มักจะเป็นพื้นที่สำหรับการเชียร์ฟุตบอลในทีมเดียวกันเพราะมันได้อรรถรสกว่า คุยไปในทิศทางเดียวกันมากกว่า ส่วน Twitter Spaces เป็นพื้นที่ที่มีความสาธารณะมากกว่า Discord (ด้วยเพราะไม่ต้องย้ายแอพฯ และคนที่ไม่ได้ติดตามกันสามารถเข้ามาฟังได้) ด้วยความเคยเกิดความขัดแย้งมาแล้วรอบหนึ่ง
“มันมีวันหนึ่ง (28 พ.ย. 64) ที่ลิเวอร์พูลกับเชลซีแข่งกันแล้วการแข่งขันมันอึดอัดมาก คือวันนั้นใครชนะจะขึ้นหัวตาราง[su_tooltip text=”หมายถึง ได้คะแนนขึ้นเป็นอันดับสูงสุดของตารางคะแนนการแข่งขัน” background=”#f7dad0″ color=”#000000″][7][/su_tooltip]เลย ต่างคนต่างก็อยากให้ทีมตัวเองได้สามแต้ม [su_tooltip text=”หมายถึง ได้รับชัยชนะในการแข่งขัน” background=”#f7dad0″ color=”#000000″][8][/su_tooltip] ช่วงพักครึ่งการแข่งขันพวกเรา (แฟนบอลลิเวอร์พูล) ก็มาเปิดสเปซคุยกัน แต่ทีนี้มันมีแฟนบอลเชลซีที่มาฟังแล้วออกไปทวีตเสียดสีเราเพราะมุมมองต่อการตัดสินที่ต่างกัน วันนั้นโคตรเดือด มันเหมือนมีการทะเลาะกันแบบย่อมๆ (แต่มันก็ปกติของแฟนบอลแหละ) ซึ่งเราก็ไม่ได้มองว่าเรื่องนี้มันเป็นปัญหานะ แค่ว่าหลังจากนั้นมาก็ย้ายไปคุยกันในดิสมากกว่าเพราะมันสบายใจที่จะมีแต่แฟนทีมเดียวกัน แต่ก็ยังมีมาเปิดสเปซอยู่บ้างวันไหนที่อยากมีเพื่อนคุยเพิ่ม เพราะสเปซมันทั่วถึงกว่า แต่ครั้งไหนที่จะมาเปิดสเปซก็คือคิดตั้งแต่แรกแล้วว่ามันพับบลิคนะ ก็อาจจะมีแฟนทีมอื่นมาฟัง ซึ่งเราก็ไม่ได้อะไรถ้าเขาไม่ได้มาด่าทีมเราแบบเทสาดเทเสีย”
นอกจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างแฟนบอลทีมเดียวกันและต่างทีมในชุมชนแฟนแล้ว ด้อมบอลยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำร่วมกันอย่างน่าสนใจ และในหลายกิจกรรมก็พัฒนาจากผู้บริโภคมาสู่ผู้ผลิต ซึ่งจะสอดคล้องกับข้อเสนอในงาน “เป็นแฟนบอลมันมีอะไรมากกว่าดูบอล”: ปฏิบัติการสร้างวัฒนธรรมของการมีส่วนร่วมของแฟนสโมสรฟุตบอลไทย (2555, 76-77) ที่กล่าวว่า การบริโภคกีฬาในฐานะแฟนอาจไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการบริโภค หากแต่ผู้บริโภคในฐานะแฟนกลับสลับบทบาทตนเองมาเป็นผู้ผลิตด้วยการไม่คิดกำไรในชุมชนแฟน ดังที่จะกล่าวในต่อไปนี้
ชุมชนแฟน และการใช้ทวิตเตอร์ในฐานะพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์อย่างหลากหลายของด้อมบอล
(1) บ้านแฟนเบส (Fanbase)
บ้านแฟนเบสหรือที่เรียกกันว่า “บ้านเบส” คือบัญชีทวิตเตอร์สำหรับเผยแพร่ข่าวสารของนักฟุตบอลคนใดคนหนึ่ง และคู่ใดคู่หนึ่งโดยเฉพาะ
บ้านเทรนต์ ณ ไทยแลนด์ (นักเตะสโมสร Liverpool FC)
“มันเริ่มมาจากการที่เราติดตามข้อมูลข่าวสารของนักเตะอย่างใกล้ชิดมากๆ และเราอยากนำเสนอข่าว (ทั้งข่าวจริงและข่าวลือที่พอมีมูลหรือสามารถเปิดประเด็นให้พูดคุยได้) ซึ่งหลายคนก็ชอบนักเตะคนเดียวกันกับเราแต่ไม่มีเวลาตาม เราก็เลยงั้นมาเราเปิดแอคบ้านเบสเลย แล้วเปิดบ้านเดี่ยวด้วยเพราะเราก็ตามหนักๆ แค่คนนี้ อีกอย่างถ้าเป็นข่าวทีมก็มีทั้งบัญชีของสโมสรและบัญชีที่แปลข่าวทีมเยอะแล้ว เราก็เลยมาเปิดบ้านเดี่ยวๆ เลยแล้วกันเผื่อใครอยากตามเฉพาะนักเตะคนนี้ด้วย”
ผู้ริเริ่มเปิดบ้านเทรนต์ ณ ไทยแลนด์กล่าว รวมถึงเธอยังได้แนะนำผู้เขียนให้รู้จักกับอีกสองบ้านเบสที่มีอยู่และกำลังได้รับความนิยม ณ ขณะนี้
บ้าน Mohamed Salah Thailand
เป็นบ้านที่นำเสนอข่าวและสถิติของโมฮัมเหม็ด ซาลาห์ (นักฟุตบอลชื่อดังของสโมสร Liverpool FC) รวมถึงประชาสัมพันธ์ข่าวของซาลาห์หากมีการโหวตเพื่อให้ซาลาห์เป็นที่รู้จักและได้รับการสนับสนุนเป็นวงกว้าง
บ้านไรซ์เมาท์ไทยแลนด์
เป็นบ้านที่เปิดมาสนับสนุนเฉพาะเมสัน เมาท์ (นักฟุตบอลสโมสร Chelsea FC) และดีแคลน ไรซ์ (นักเตะสโมสร West Ham United) โดยเฉพาะ โดยจะอัพเดทข่าวสารโดยเฉพาะเจาะจงของนักฟุตบอลทั้งสองคนนี้ (รวมถึงข่าวของทีมในบางครั้ง แต่จะเน้นไปที่นักเตะโดยตัวบุคคลมากกว่า) รวมถึงบ้านนี้เปิดมาในฐานะชิปเปอร์ (Shipper[su_tooltip text=”มาจากคำว่า Ship ที่แปลว่าเรือ แต่ในบริบทของแฟนคลับ หมายถึง การจับคนสองคนมามโนว่ามีความรักสัมพันธ์ระหว่างกันเกินกว่าที่เห็น, การชื่นชอบความสัมพันธ์ที่มีต่อระหว่างกันของทั้งสองบุคคลดังกล่าว” background=”#f7dad0″ color=”#000000″][9][/su_tooltip]) ที่ชื่นชอบความสัมพันธ์ของนักเตะทั้งสองคนนี้โดยเฉพาะ[su_tooltip text=”Mason Mount และ Declan Rice เป็นนักฟุตบอบอาชีพชาวอังกฤษที่เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก เติบโตมาด้วยกันในสโมสรเยาวชนของสโมสรเชลซี และยังคงสนิทมีมิตรภาพระหว่างกันกระทั่งในปัจจุบันที่อยู่กันคนละสังกัดสโมสร (ผู้เขียน)” background=”#f7dad0″ color=”#000000″][10][/su_tooltip]ในหลายๆ ครั้งจึงมีการนำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ของทั้งสองคนทั้งเรื่องเก่าและเรื่องใหม่ และบ้านจะมีการเคลื่อนไหวในช่วงแข่งบอลทีมชาติ[su_tooltip text=”หมายถึง ทีมชาติอังกฤษ ซึ่งจะมีการแข่งขันกันในรายการต่างๆ ทั้งในระดับภุมิภาคและระดับโลก เช่น ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป และฟุตบอลโลก” background=”#f7dad0″ color=”#000000″][11][/su_tooltip] มากกว่าช่วงบอลพรีเมียร์ลีก เพราะเป็นช่วงที่นักเตะทั้งสองคนได้อยู่ด้วยกันบ่อยกว่าจึงมีการนำเสนอที่เยอะกว่า (เพราะปกติในพรีเมียร์ลีกอยู่กันคนละทีม แต่ทีมชาติอยู่ทีมชาติอังกฤษเหมือนกัน)
(2) จากผู้บริโภคมาสู่การเป็นผู้ผลิตในชุมชนแฟน
“พื้นที่ในทวิตเตอร์ของด้อมบอลเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างเรื่องการผลิตและศิลปะออกมาเยอะแยะมากเลย ด้วยความที่คนในนี้เราซัพพอร์ตกัน และพื้นที่ตรงนี้เปิดกว้างหลากหลายมาก เพราะมีทั้งแฟนอาร์ต มีงานกราฟฟิก มีแฟนวีดีโอเกี่ยวกับฟุตบอลให้เสพ” สายผลิตคนหนึ่งของด้อมบอลกล่าว โดยผู้เขียนจะยกตัวอย่างดังต่อไปนี้
Fan Art
OPV[su_tooltip text=”ย่อมาจาก Original Promotion Video หรือ Other People’s Video ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในความหมายแบบหลัง ซึ่งหมายถึงวีดีโอที่ไม่ได้มาจากช่องทางโปรโมทหลักของศิลปิน/บุคคลในคลิปดังกล่าว มักใช้ในบริบทที่แฟนคลับตัดต่อวีดีโอเพื่อโปรโมทให้ศิลปิน/บุคคลเหล่านั้นเป็นที่รู้จัก” background=”#f7dad0″ color=”#000000″][12][/su_tooltip]
Graphic-Banner
ตรงจุดนี้ผู้เขียนคิดว่าการเปิดบ้านเบสนั้นมีหลากหลายรูปแบบจากที่ยกตัวอย่างมา ตั้งแต่การนำเสนอทั้งแค่ข่าวจริงและสถิติของนักเตะ (Mohamed Salah Thailand) ทั้งเสนอทั้งข่าวจริงและข่าวลือ (ที่ก็ยังพอมีมูลแต่ยังไม่ได้รับการยืนยัน) เพื่อสร้างการพูดคุย (เทรนต์ ณ ไทยแลนด์) และการเสนอข่าวทั้งสองคนในบ้านเดียว (ไรซ์เมาท์ไทยแลนด์) รวมถึงการผลิตงานศิลปะก็มีความหลากหลายรูปแบบเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่เป็นจุดร่วมสำคัญคือการพยายามทำให้นักเตะเป็นที่รู้จักในวงกว้างและการสร้างสรรค์รูปแบบการนำเสนอที่เข้าถึงง่าย ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นการพัฒนาชุมชนแฟนอย่างมีนัยสำคัญ เพราะด้วยภาษาที่ใช้ ท่าทีที่แสดงออกถูกจริตกับผู้รับสารที่ทั้งเป็นแฟนบอลและไม่ได้เป็นแฟนบอล รวมถึงด้วยความที่เป็นการผลิตต่อขั้นที่สองที่เอื้อต่อการบริโภคต่อในบริบทของผู้ใช้ทวิตเตอร์ จึงส่งผลให้บ้านเบสและการสร้างสรรค์ผลงานเหล่านี้ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้ที่เป็นแฟนบอลอยู่แล้วและผู้ที่เริ่มสนใจการติดตามวงการกีฬาฟุตบอล (ในบริบทผู้ใช้งานทวิตเตอร์)
“ด้อมบอล” ในฐานะอัตลักษณ์ที่มีความหลากหลาย ลื่นไหล และมีการต่อรองระหว่างกัน : ปรากฏการณ์การถกเถียงครั้งใหญ่เกี่ยวกับ “การเชียร์บอลสองทีมในลีกเดียว”
จากที่กล่าวไปตอนต้นของบทความที่ว่าด้อมบอลเกิดจากแฟนฟุตบอลวัยรุ่นหญิงที่เป็นแฟนฟุต
บอลยุโรปมาพูดคุยและปฏิสังสรรค์กันจนเกิดมาเป็นชุมชนแฟนคลับเล็กๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ ซึ่งในช่วงแรกตั้งแต่การเกิดการรวมตัวกันนั้นก็มาจากพื้นที่ในชีวิตจริงและพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ ไม่ยอมรับการมีอยู่และแนวทางการบริโภคกีฬาของพวกเธอ (ซึ่งพวกเธอก็ไม่ได้ต้องการจะไปสร้างตัวตนของตนเองในพื้นที่เหล่านั้น หากแต่พยายามหาช่องทางใหม่ๆ เพื่อสร้างชุมชนแฟนและนิยามอัตลักษณ์เฉพาะของกลุ่มของตนเองขึ้นมา) จนกระทั่งเมื่อเป็นชุมชนแฟนแล้วก็เกิดปรากฏการณ์การปะทะระหว่างด้อมบอลกับแฟนคลับของ “ธิดาชาวสวน” รวมถึงแฟนบอลชายกลุ่มอื่นๆ ในทวิตเตอร์ จนคำว่า “ด้อมบอล” เป็นที่รู้จักในวงกว้างของวงการแฟนกีฬาฟุตบอลมากขึ้น แม้จะโดนดูถูกเหยียดหยามซ้ำๆ โดยเฉพาะในเรื่องของ “ผู้หญิงไม่เหมาะกับกีฬาฟุตบอล” หากแต่พวกเธอกลับนำคำดูถูกตรงนี้มาเรียกและนำเสนอตนเองอย่างภาคภูมิใจมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้การขับอัตลักษณ์ความเป็นด้อมบอลมีความชัดเจนขึ้นไปด้วย
อย่างไรก็ตามผู้เขียนจะนำเสนอถึงความไม่อยู่นิ่งคงทนคงของอัตลักษณ์ว่าจะต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่งเสมอไป ไม่มีอะไรหยุดนิ่ง และวันเวลาที่ผ่านไปย่อมนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง โดยจะนำเสนอจากคำนิยาม “ด้อมบอล” ที่เปลี่ยนไปโดยคนบางกลุ่มดังต่อไปนี้
“ด้อมบอลตั้งแต่ปี 2563 เปลี่ยนไปเยอะมาก ในตอนนี้เราก็ไม่ค่อยอยากเรียกตัวเองว่าด้อมบอลเท่าไหร่แล้วเพราะมันถูกเปลี่ยนความหมายโดยคนกลุ่มใหม่บางคนที่เข้ามา จากเดิมที่ความหมายมันคือ ‘การที่แฟนฟุตบอลในทวิตเตอร์มาพูดคุยกัน’ กลายเป็น ‘การเชียร์ในลีกเดียวกันสองทีม’ ซึ่งเราไม่ซื้อแนวคิดนี้เลย การเชียร์สองทีมในลีกเดียวมันจะไปโอเคได้ยังไง เพราะทุกทีมส่งผลต่อตารางคะแนนและอันดับของทีมที่เราเชียร์ทั้งนั้น”
สมาชิกที่เริ่มต้นการใช้คำว่าด้อมบอลในช่วงแรกกล่าวกับผู้เขียน
“คือมันเริ่มมาจากการที่มีคนหนึ่งนำความคิดเห็นหนึ่งในเฟซบุ๊กมาพูดคุย โดยต้นทางเฟซบุ๊กบอกว่า ‘ไม่เคยเห็นใครเชียร์สองทีมในลีกเดียว’ แล้วคนที่นำมาพูดคุยกันในทวิตก็บอกว่า ‘ทำไมจะไม่มี ด้อมบอลเยอะแยะ’ เราเห็นก็เลยรีทวิต[su_tooltip text=”มาจาก Retweet ซึ่งเป็นฟีเจอร์การแชร์ของทวิตเตอร์” background=”#f7dad0″ color=”#000000″][13][/su_tooltip] มาขำที่หน้าไทม์ไลน์ตัวเอง แต่เขาดันติดตามเราอยู่ หลังจากนั้นกลุ่มเรา (ที่ไม่เห็นด้วยเลยกับการเชียร์บอลในลีกสองทีม) กับกลุ่มเขา (ที่เชียร์บอลในลีกสองทีมหรือมากกว่านั้น) ก็ทวีตโต้ตอบกันในพื้นที่ของตนเองแต่ต่างคนก็ต่างมาส่องกันและกัน ไม่ได้มีข้อสรุปอะไรว่าใครถูก และสุดท้ายก็จบลงด้วยการบล็อกกันไป ส่วนตัวไม่ได้มองคำนี้ในทางลบไปเสียทีเดียว แต่ช่วงนี้เวลาเห็นคนใช้คำว่าเราด้อมบอลเราก็แอบคิดอยู่นิดนึงว่ามีจุดยืนอยู่ฝั่งไหน (อาจจะเพราะเพิ่งมีประเด็นกันหมาดๆ ไปด้วย ถ้าผ่านไปสักพักอาจจะเผลอเลี่ยงใช้คำนี้จนชิน หรือไม่คิดอะไรแล้วกลับมาใช้ตามปกติก็ได้)”
สมาชิกเริ่มแรกของด้อมบอลอีกคนกล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตามสำหรับเรื่อง “การเชียร์บอลสองทีมในลีกเดียว” ก็มิได้เป็นคำนิยามใหม่ของทุกคนที่เรียกตัวเองว่าด้อมบอลไปเสียทีเดียว จากการที่ผู้เขียนไปพูดคุยสัมภาษณ์และสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม ความคิดเห็นแตกออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ[su_tooltip text=”เป็นการจำแนกความคิดเห็นออกมาเท่าที่สัมภาษณ์พูดคุยและสังเกตโดยผู้เขียนเท่านั้น อาจมีมากกว่านี้” background=”#f7dad0″ color=”#000000″][14][/su_tooltip] ดังนี้
- ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการที่จะเชียร์บอลสองทีมในลีกเดียว (ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มที่เริ่มต้นนำคำว่าด้อมบอลมาใช้ เป็นผู้ผ่านดรามาธิดาชาวสวนมาด้วยกัน และเป็นกลุ่มที่ริเริ่มสร้างอัตลักษณ์ของด้อมบอลในทวิตเตอร์ขึ้นมา) โดยจะยกตัวอย่างคำพูดดังต่อไปนี้ “เราจะเชียร์บอลหลายทีมเหมือนติ่งหลายวงได้จริงดิ”, “การชอบนักเตะทีมอื่นมันเป็นเรื่องธรรมดามาก แต่ถึงขั้นมาเชียร์ทีมอื่นและมาติดตามแฟนที่เขามีทีมประจำของเขาอยู่แล้ว เราไม่เห็นด้วย”, “ไม่ชอบเราก็ไม่น่าจะเอาคำเราไป reclaim นะ” และที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด “เราจะมาเป็นด้อมบอลเหมือนกันไม่ได้”
- ไม่เห็นด้วยกับการเชียร์บอลสองทีมในลีกเดียว แต่ถ้าเป็นเชียร์สองทีม (หรือมากกว่านั้น) ต่างลีกก็ไม่เป็นไร (อาจด้วยเพราะมีโอกาสมาเจอกันน้อยกว่าในลีกเดียวกัน) เช่น “เราเชียร์ดอร์ทมุน (ทีมในลีกบุนเดสลีกาเยอรมนี) กับอาร์เซนอล (ทีมในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ) เพราะสองทีมนี้สไตล์คล้ายกันในการปั้นเด็กและให้โอกาสดาวรุ่งเป็นส่วนใหญ่” และ “เราเชียร์ลิเวอร์พูล (ทีมในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ) กับบาร์เซโลนา (ทีมในลาลีกาสเปน) มีไม่กี่ครั้งหรอกที่ต้องมาเจอกัน แต่ถ้าตอนเจอกันเราก็มีวิธีการจัดการตัวเองนะ อย่างนัดที่แข่งกันเองในถ้วยยุโรป
ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงวัยรุ่นผู้หญิงในฐานะที่ไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผู้มีวัฒนธรรมเป็นของตนเองและมีการต่อรองทางวัฒนธรรมอยู่ตลอดเวลา (อุกฤษฎ์ เฉลิมแสน 2561, 121) บทความชิ้นนี้จึงอยากนำเสนอถึงการต่อสู้ช่วงชิงความหมายและความเป็นอัตลักษณ์กันเองระหว่างกลุ่มด้อมบอลผ่านการวิเคราะห์วาทกรรมและการประกอบสร้างของ “ด้อมบอล” โดยใช้แนวคิดการเมืองเชิงอัตลักษณ์ (Identity Politics) ได้ดังนี้
แนวคิดการเมืองเชิงอัตลักษณ์ (Identity Politics) หมายถึง การเมืองที่สนใจสิทธิในการต่อรองทางวัฒนธรรมในการอ้างถึงอัตลักษณ์ในกลุ่มของตนเอง อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบหนึ่งที่เปิดที่ทางให้เสียงส่วนน้อยและเปิดกว้างรับความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งการเมืองเชิงอัตลักษณ์เหล่านี้จึงสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ขาดกับการต่อรองเชิงอำนาจ (อุกฤษฎ์ เฉลิมแสน 2561, 124) ดังในกรณีการถกเถียงในประเด็น “การเชียร์บอลสองทีมในลีกเดียว” ที่เกิดจากการนิยามความหมายใหม่ของด้อมบอลบางกลุ่ม อันนำมาซึ่งความไม่พอใจให้คนกลุ่มแรกที่นิยามอัตลักษณ์ไว้อีกแบบหนึ่งและรับไม่ได้อย่างเด็ดขาดกับวิถีการบริโภคดังกล่าว และกลุ่มที่เฉยๆ กับวิถีการบริโภคเพราะคิดว่าเป็นรสนิยมความชอบส่วนบุคคล การพยายามต่อรองอัตลักษณ์ระหว่างกันนี้แสดงให้เห็นถึงความท้าทายและการต่อรองอัตลักษณ์ว่าไม่ได้มีคำนิยามแบบเดียวหากแต่มีความลื่นไหล ไม่ตายตัวรวมถึงมีพลวัตในตนเองสูงมาก ซึ่งการช่วงชิงความหมายเหล่านี้ถึงแม้ว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งกันเองในกลุ่ม แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการขยับขยายขอบเขตอัตลักษณ์ของด้อมบอลให้หลากหลายมากขึ้นผ่านการเปิดรับความเป็นไปได้ของการนิยามอัตลักษณ์ใหม่ๆ ทั้งยังช่วยขับอัตลักษณ์ความเป็น “ด้อมบอล” ให้เด่นชัดมากขึ้นหากมองจากสายตาของคนภายนอก ซึ่งอาจจะส่งผลให้อัตลักษณ์เหล่านี้มีที่ทางในสังคมมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ในฐานะการเป็นแฟนกีฬาฟุตบอลของพวกเธอ
อย่างไรก็ตามผู้เขียนตระหนักดีว่าประเด็นการเชียร์ฟุตบอลสองทีมในลีกเดียวมิได้มีเพียงแค่เฉพาะในแฟนฟุตบอลหญิงหรือแค่ในด้อมบอลเท่านั้น หากแต่จุดนี้เป็นสิ่งสำคัญที่พวกเธอมักถูกแฟนบอลผู้ชายจากในทั้งชีวิตจริงและแพลตฟอร์มอื่น (โดยเฉพาะในเฟซบุ๊ก) โจมตีอยู่บ่อยครั้ง เพราะผู้ที่บอกว่าตนเองเป็นด้อมบอลก็มีการแสดงอัตลักษณ์เช่นนี้ออกไป (ถึงแม้จะไม่ใช่ทั้งหมด) จึงส่งผลให้เกิดการโต้เถียงนิยามอัตลักษณ์ “ด้อมบอล” ครั้งใหญ่ขึ้นมา แต่ถึงอย่างนั้นพวกเธอก็ยังคงอยู่เป็น “ด้อมบอล” และยังคงปฏิสังสรรค์ในพื้นที่ชุมชนแฟนดังกล่าวเช่นเดิม
“ด้อมบอล” ในฐานะผู้เรียกร้องการเปิดกว้างทางการกีฬาและเป็นผู้สนับสนุนประเด็นการเคลื่อนไหวทางสังคม
“ด้อมบอลเป็นคอมมู[su_tooltip text=”ย่อมาจาก Community เป็นคำที่เรียกกันสั้นๆ ในหมู่แฟนคลับในทวิตเตอร์ (ผู้เขียน)” background=”#f7dad0″ color=”#000000″][16][/su_tooltip] ที่มีเรื่องกันเยอะแยะยิบย่อยมากค่ะ (โดยเฉพาะช่วงหลังๆ มีเรื่องให้เถียงกันเยอะมาก) ลองนึกภาพเหมือนห้องเรียนที่มีแบ่งกลุ่มย่อยหลายกลุ่มและในบางครั้งก็มีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน อีกอย่างเราอยู่แค่กับกลุ่มไม่กี่กลุ่มเลยอาจจะเล่าอะไรได้ไม่เยอะมาก ไม่ได้เห็นทุกมุม แต่ถึงอย่างนั้นเวลามีแฟนบอลผู้ชายที่มาว่าร้ายด้อมบอลเราก็สงบศึกและจับมือร่วมกันต่อสู้ (ด่า) กับคนพวกนั้นในทันที แต่เวลาไม่อะไรเราก็อาจจะมาหยิกหลัง[su_tooltip text=”เป็นสำนวนที่ใช้กันบ่อยในหมู่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ช่วงนี้ (2564) มีความหมายประมาณว่า ยามศึกเรารบ ยามสงบเรารบกันเอง (ผู้เขียน)” background=”#f7dad0″ color=”#000000″][17][/su_tooltip] กันเอง แต่เราก็ไม่อะไรนะเป็นสีสัน”
จากคำบอกเล่าดังกล่าวและการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมของผู้เขียน ผู้เขียนก็สังเกตเห็นเช่นเดียวกันว่าเมื่อมีคนมาถากถางการมีอยู่ของด้อมบอลและประเด็นเรื่องผู้หญิงดูบอลไม่เป็น (จากการเหยียดหยาม, การวัดความรู้ในเชิงกฎกติกาฟุตบอล เช่น “ดูล้ำหน้าไม่เป็นหรอก ดูเป็นแต่นักบอล”, และการถากถางในเชิงการบริโภคในฐานะแฟนกีฬาของพวกเธอ เช่น “ถ้าจะมาทำเท่แค่รอชนะแล้วแชร์ภาพสกอร์ไม่เอานะครับ” และ “ก็แค่ติ่งเกาหลีที่บ้าผู้ชายพอมาดูบอลก็เลยมาบ้านักบอลด้วย” และอื่นๆ อีกมากมาย) ทำให้ด้อมบอลซึ่งเป็นวัยรุ่นหญิงที่เป็นแฟนฟุตบอลที่ถึงแม้จะมีความขัดแย้งอันเกิดจากความหลากหลายในการนิยามอัตลักษณ์บางอย่างของกลุ่มมาจับมือร่วมกันไปเถียงและด่ากลับเกี่ยวกับสิทธิในการบริโภคฟุตบอลและการเป็นแฟนกีฬาของพวกเธออยู่เสมอ
รวมถึงเมื่อมีประเด็นทางสังคมอย่างอื่นในวงการการกีฬา เช่น กรณีที่ Josh Cavallo ที่เป็นนักกีฬาฟุตบอลออกมาเปิดเผยตัวตน (Came Out) ว่าเป็น LGBTQIA+ ในขณะที่เขายังคงค้าแข้งในลีกสูงสุดของออสเตรเลียอยู่ (The Standard 2564) พวกเธอก็ออกมาให้การสนับสนุนและให้กำลังใจผ่านการรีพลาย[su_tooltip text=”มาจาก Reply ซึ่งเป็นฟีเจอร์การตอบกลับ/แสดงความคิดเห็นในทวิตเตอร์” background=”#f7dad0″ color=”#000000″][18][/su_tooltip] ที่ใต้ทวีตของนักฟุตบอลท่านนี้เพื่อให้เขาได้รับรู้ถึงกำลังใจและการสนับสนุนที่พวกเธอมีให้กับความกล้าหาญของเขาในการการประกาศตนครั้งนี้ รวมถึงทวีตแปลวีดีโอและบทสัมภาษณ์ของเขาออกมาเป็นภาษาไทยเพื่อให้คนวงกว้างได้รับรู้อีกด้วย พวกเธอล้วนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันในทำนองที่ว่า “พวกเราต่อต้านการเหยียดเพศทุกประการ และอยากให้วงการฟุตบอลเปิดกว้างในมิติแห่งความหลากหลายทางเพศโดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความเป็นชายเท่านั้น”
อีกประเด็นหนึ่งที่คนในด้อมบอลให้ความสนใจและให้การสนับสนุนอย่างมากไปในทิศทางเดียวกันคือการเหยียดสีผิว (Racism) สำหรับประเด็นนี้ถึงแม้ว่าหลังๆ วงการกีฬาจะค่อนข้างเปิดกว้างมากขึ้นในมิติของสีผิว เชื้อชาติ และศาสนา หากแต่ไม่นานมานี้ยังมีการเหยียดสีผิวของที่นักฟุตบอลทีมชาติอังกฤษถูกเหยียดจากการที่พ่ายแพ้จุดโทษให้กับทีมชาติอิตาลีในการแข่งขันฟุตบอลยูโรรอบชิงชนะเลิศ 2020/2021 ที่ผ่านมา (Main Stand 2564) พวกเธอได้แสดงจุดยืนปกป้องนักฟุตบอลชาวอังกฤษจากการถูกเหยียดหยามดังกล่าว รวมถึงทวีตตอบโต้กับแฟนฟุตบอลที่เหยียดนักฟุตบอลด้วยประเด็นเหล่านี้ทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษอีกด้วย
“เมื่อก่อนเราไม่ได้รู้เกี่ยวกับเรื่อง Racism เลย แต่การมาดูฟุตบอลทำให้เราเริ่มมาเห็นเขา (แฟนบอลต่างชาติ) มารณรงค์กัน จนเริ่มสนใจเลยไปหาอ่านเพิ่ม รวมถึงเรื่อง LGBTQIA+ ด้วย เพราะคนในด้อมบอลเองถึงแม้เพศสถานะจะเป็นผู้หญิงแต่เพศภาวะและเพศวิถีมีความหลากหลายมาก (ทั้งเลสเบี้ยน, ไบเซ็กชวล, แพนเซ็กชวล, และเจ็นเดอร์เควียร์ ฯลฯ) ดังนั้นพื้นที่ตรงนี้มันเลยทำให้เราตระหนักรู้ในประเด็นเหล่านี้มากขึ้น รวมถึงสังคมตรงนี้ยังเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างให้ทั้งการสนับสนุนและการขับเคลื่อนในประเด็นเหล่านี้อีกด้วย มันเลยเหมือนเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เราและอีกหลายๆ คน”
สมาชิกด้อมบอลคนหนึ่งกล่าวขึ้นมา และอีกหลายคนก็บอกกับผู้เขียนไปในทิศทางเดียวกัน
บทสรุป: การโดนกดทับจากสังคมชายเป็นใหญ่สู่การนิยามอัตลักษณ์และการสร้างชุมชนขึ้นมาใหม่, การนิยามอัตลักษณ์ที่เลื่อนไหลและหลากหลาย และการเคลื่อนไหวในฐานะผู้สนับสนุนประเด็นการเคลื่อนไหวทางสังคม
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า “ด้อมบอล” เกิดจากการมารวมตัวกันของกลุ่มแฟนบอลผู้หญิงในตอนแรกที่เกิดจากการถูกกดทับจากสังคมชายเป็นใหญ่ในวงการกีฬา ทั้งการแสดงออกผ่านการดูถูกจริตในการบริโภคฟุตบอลและการตั้งเหยียดหยามว่าด้วยวาทกรรมผู้หญิงกับกีฬาฟุตบอล
โดย “ด้อมบอล” ในช่วงแรกให้การนิยามความหมายว่า “เป็นพื้นที่ใหม่สำหรับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของแฟนบอลแต่ละทีมในสื่อสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์” แต่เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อมีคนในชุมชนมากขึ้นจึงเกิดความหลากหลายของการนิยาม/อธิบายอัตลักษณ์ที่มากขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะมีความลื่นไหลที่มากขึ้นต่อไปในอนาคต โดยผู้เขียนวิเคราะห์ว่าขึ้นอยู่กับวิถี/จริตในการบริโภคฟุตบอลที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีพลวัตและไม่มีผิดถูก (มีเพียงแค่คนกลุ่มไหนพอใจและไม่พอใจ)
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากปรากฏการณ์การมารวมตัวกันโดยมิได้นัดหมายเมื่อเกิดประเด็นเหยียดผู้หญิงในพื้นที่แห่งการกีฬา, การสนับสนุนการเท่าเทียมและเสมอภาคทางเพศ รวมไปถึงปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างอื่นเช่นการเหยียดสีผิวดังที่กล่าวไปข้างต้น ก็อาจวิเคราะห์ได้เช่นกันว่าด้วยพวกเธอมีพื้นฐานมาจากการโดนกดขี่ในมิติความไม่เท่าเทียมกันในพื้นที่การกีฬา พวกเธอจึงรวมพลังกันในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติและการดูถูกเหยียดหยามทางสังคมรวมถึงผลักดันว่าพื้นที่แห่งนี้ควรเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ถึงแม้ว่าพวกเธอจะไม่ได้คาดหวังโดยตรงว่าการเรียกร้องและเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้สังคมเปิดพื้นที่ให้พวกเธอ หากแต่เสียงของพวกเธอก็เริ่มท้าทายวงการแฟนกีฬาฟุตบอลอยู่พอสมควร (จากการที่แฟนบอลชายเริ่มให้ความสนใจกับกลุ่มเล็กๆ ของพวกเธอ) แม้จะด้วยคำถากถางเดิมๆ เกี่ยวกับผู้หญิงและฟุตบอล (อันเนื่องมาจากอัตลักษณ์ที่หลากลั่นกันเองของพวกเธอด้วย) แต่สิ่งดังกล่าวก็ทำให้ “ด้อมบอล” เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นและอาจเปิดพื้นที่มากขึ้นให้กับพวกเธอในอนาคต
สุดท้ายนี้ผู้เขียนทราบดีว่าการเขียนบทความเกี่ยวกับอัตลักษณ์ไม่ว่าจะในเรื่องใดย่อมมีความหลากหลายเกินกว่าจะจำกัดได้ในกรอบศึกษาของผู้เขียนเอง แต่อย่างน้อยผู้เขียนก็คาดหวังว่าบทความชิ้นนี้จะช่วยให้ผู้ที่อ่านได้ทำความรู้จักเกี่ยวกับชุมชนแฟนคลับเล็กๆ แห่งนี้ ที่ถึงแม้จะมีวิถีการบริโภคในวัฒนธรรมแฟนที่อาจแตกต่างจากแฟนคลับกลุ่มอื่นในทางการกีฬาอยู่บ้าง และมีอัตลักษณ์ที่ลื่นไหลเกินกว่าที่กระดาษเอสี่จะกำหนด หากแต่พวกเธอมีความสนใจในแง่ทั้งการศึกษาปรากฏการณ์การรวมตัวและการเคลื่อนไหวทางสังคมในสื่อชุมชนออนไลน์, วัยรุ่น การเป็นแฟนคลับ และสื่อ, การวิเคราะห์ปฏิบัติการทางวาทกรรม รวมไปถึงพื้นที่แห่งการเป็นพหุวัฒนธรรม หรือประเด็นอื่นๆ อีกมากมายแล้วแต่ผู้อ่านจะสนใจนำไปศึกษาต่อยอด
บรรณานุกรม
- เอกสารภาษาไทย
- อาจินต์ ทองอยู่คง. 2555. “ ‘เป็นแฟนบอลมันมีอะไรมากกว่าดูบอล’: ปฏิบัติการสร้างวัฒนธรรมของการมีส่วนร่วมของสโมสรแฟนฟุตบอลไทย.” วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา 31 (1): 71-104.
- อุกฤษณ์ เฉลิมแสน. 2561. “การต่รองความเป็นอีสานบนพื้นที่สื่อดิจิทัล: การเมืองเชิงอัตลักษณ์ของเน็ตไอดอลอีสาน.” วารสารภาษาและวัฒนธรรม 37 (1): 117-138.
- ปลายฟ้า นามไพร. 2562. “แฟนบอลหญิง: การบริโภค ก่อร่างสร้าง ‘ชุมชนของผู้หญิง’ ในพื้นที่ฟุตบอลไทย.” วารสารสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 31 (1): 110-143
- บุณยนุช นาคะ. 2560. “แฟนคลับเกาหลี อัตลักษณ์เชิงวัตถุและชุมชนแฟนคลับ.” สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต., มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- เอกสารภาษาอังกฤษ
- Sanvoss, Cornel. 2005. Fans: The Mirror of Consumption. Cambridge: Polity Press.
- Sanvoss, Cornel. 2005. Fans: The Mirror of Consumption. Cambridge: Polity Press.
- เอกสารออนไลน์
- กรุงเทพธุรกิจ. 2563. “ ‘ไอโอ’ คืออะไร ทำไมรัฐต้องมีปฏิบัติการนี้?.” เข้าถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2564. https://www.bangkokbiznews.com/news/868029
- VOICE online. 2561. “ ‘ธิดาชาวสวน’ คนเฉียบ 2018 ‘แนทเธอรีน BNK48’ ไม่เชียร์ทีมเดียว.” เข้าถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2564. https://voicetv.co.th/read/BkdJvyH57
- THE STANDARD. 2564. “จอช คาวาลโญ กลายเป็นนักฟุตบอลอาชีพในลีกสูงสุดคนเดียวที่เปิดเผยตัวเป็น LGBTQ+ โดยยังลงเล่นอยู่.” เข้าถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2564. https://thestandard.co/josh-cavallo-lgbtq/
- Main Stand. 2564. “ ‘ลุค ชอว์’ เผยทั้งทีมซัพพอร์ต ‘ซาก้า’ ชนะเป็นทีม แพ้เป็นทีม ไม่มีใครต้องรับผิดชอบคนเดียว.” เข้าถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2564. https://today.line.me/th/v2/article/gDXJRz
เชิงอรรถ
[1] มีที่มาจากคำว่า “แทงสวน” (แต่หมายถึงการเชียร์ทีมตรงข้ามเฉยๆ มิได้มีความหมายไปในเชิงการพนัน)
[2] อ่านเพิ่มเติมได้ใน “ธิดาชาวสวน คนเฉียบ 2018 แนทเธอรีน BNK48 ไม่เชียร์ทีมเดียว” https://voicetv.co.th/read/BkdJvyH57
[3] ชื่อเรียกแฟนคลับวงไอดอล BNK48
[4] ย่อมาจากคำว่า Information Operation ซึ่งหมายถึงปฏิบัติการข่าวสาร โดยหลักการสำคัญของไอโอคือการเผยแพร่ความคิดและความเชื่อของฝ่ายตนเองให้อีกฝ่ายรับทราบ และทำให้เกิดความเชื่อคล้อยตามฝ่ายตนเอง
[5] Discord คือ โปรแกรมสนทนาที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายซึ่งใช้งานได้กับทั้งคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์พกพา เป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน
[6] พื้นที่สนทนาที่ทวิตเตอร์พัฒนามาแข่งขันกับ ClubHouse โดยเริ่มเปิดทดลองให้คนบางกลุ่มใช้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา
[7] หมายถึง ได้คะแนนขึ้นเป็นอันดับสูงสุดของตารางคะแนนการแข่งขัน
[8] หมายถึง ได้รับชัยชนะในการแข่งขัน
[9] มาจากคำว่า Ship ที่แปลว่าเรือ แต่ในบริบทของแฟนคลับ หมายถึง การจับคนสองคนมามโนว่ามีความรักสัมพันธ์ระหว่างกันเกินกว่าที่เห็น, การชื่นชอบความสัมพันธ์ที่มีต่อระหว่างกันของทั้งสองบุคคลดังกล่าว
[10] Mason Mount และ Declan Rice เป็นนักฟุตบอบอาชีพชาวอังกฤษที่เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก เติบโตมาด้วยกันในสโมสรเยาวชนของสโมสรเชลซี และยังคงสนิทมีมิตรภาพระหว่างกันกระทั่งในปัจจุบันที่อยู่กันคนละสังกัดสโมสร (ผู้เขียน)
[11] หมายถึง ทีมชาติอังกฤษ ซึ่งจะมีการแข่งขันกันในรายการต่างๆ ทั้งในระดับภุมิภาคและระดับโลก เช่น ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป และฟุตบอลโลก
[12] ย่อมาจาก Original Promotion Video หรือ Other People’s Video ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในความหมายแบบหลัง ซึ่งหมายถึงวีดีโอที่ไม่ได้มาจากช่องทางโปรโมทหลักของศิลปิน/บุคคลในคลิปดังกล่าว มักใช้ในบริบทที่แฟนคลับตัดต่อวีดีโอเพื่อโปรโมทให้ศิลปิน/บุคคลเหล่านั้นเป็นที่รู้จัก
[13] มาจาก Retweet ซึ่งเป็นฟีเจอร์การแชร์ของทวิตเตอร์
[14] เป็นการจำแนกความคิดเห็นออกมาเท่าที่สัมภาษณ์พูดคุยและสังเกตโดยผู้เขียนเท่านั้น อาจมีมากกว่านี้
[15] หมายถึง การแข่งขันยูฟาแชมเปี้ยนส์ลีก (UEFA: Champions Leauge)
[16] ย่อมาจาก Community เป็นคำที่เรียกกันสั้นๆ ในหมู่แฟนคลับในทวิตเตอร์ (ผู้เขียน)
[17] เป็นสำนวนที่ใช้กันบ่อยในหมู่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ช่วงนี้ (2564) มีความหมายประมาณว่า ยามศึกเรารบ ยามสงบเรารบกันเอง (ผู้เขียน)
[18] มาจาก Reply ซึ่งเป็นฟีเจอร์การตอบกลับ/แสดงความคิดเห็นในทวิตเตอร์
เกี่ยวกับผู้เขียน
นักศึกษาสังคมวิทยาฯ ที่ชอบกิน นอน ฟุตบอล และแมว
- This author does not have any more posts.