Skip to content

ชีวิตทหารเกณฑ์ พิธีกรรมการเปลี่ยนผ่าน การต่อต้านและการขัดขืน

ชีวิตทหารเกณฑ์ พิธีกรรมการเปลี่ยนผ่าน การต่อต้านและการขัดขืน

 บทนำ

การเกณฑ์ทหารเป็นสิ่งที่ผู้ชายไทยทุกคนล้วนหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อชายไทยมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ จะต้องเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารกองประจำการ ตามพระราชบัญญัติการเข้ารับราชการทหาร พ. ศ. 2497 ทำให้ชายไทยทุกคนต้องเข้ารับการตรวจเลือกเพื่อเข้ารับราชการทหาร แต่ก็ยังมีการยกเว้นสำหรับคนที่มีโรคต้องห้าม หรือผ่านการศึกษาวิชาทหารมาแล้ว

เดือนพฤศจิกายน พ. ศ. 2556  เดือนแรกของการเข้ารับราชการทหารของผู้เขียน หรือเรียกกันทั่วไปว่า การเกณฑ์ทหาร โดยคนที่เข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ในเดือนพฤศจิกายนจะเรียกจะถูกเรียกว่า ทหารเกณฑ์ผลัดที่ 2[1]  ผู้เขียนในฐานะพลเมืองของรัฐไทยคนหนึ่ง ที่บังเอิญถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหารด้วย ในค่ายทหารแห่งหนึ่งในภาคเหนือ จึงได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นและเป็นไปของชีวิตทหารเกณฑ์ทั้งหลายที่เหมือนและแตกต่างจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับทหารเกณฑ์ที่ผู้เขียนเคยได้ยินได้ฟังมา ในปรับความชิ้นนี้เป็นเพียงประสบการณ์ส่วนหนึ่งจากการใช้ชีวิตเป็นทหารเกณฑ์ของผู้เขียนเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ. ศ. 2556  ถึงเดือนตุลาคมพ. ศ. 2557  เรื่องราวทั้งหมดนี้ในบทความชิ้นนี้มาจากประสบการณ์การมีส่วนร่วมของผู้เขียนในฐานะทหารเกณฑ์คนหนึ่ง หากเปรียบกับการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา มันเป็นวิธีการศึกษาของนักมานุษยวิทยาแล้วก็คงมีส่วนคล้ายกันอยู่บ้างเล็กน้อยในการในฐานะที่เป็นการศึกษาโดยการสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant Observation) แต่ต่างกันตรงที่ในขณะที่ผู้เขียนเป็นทหารเกณฑ์ หรือที่เรียกในภาษาของนักมานุษยวิทยาว่า “อยู่ในสนาม” นั้น สถานะของผู้เขียนในตอนนั้นไม่ใช่นักมานุษยวิทยา หรือนักเรียนมานุษยวิทยา หากแต่เป็นชายคนหนึ่งที่ถูกเกณฑ์เข้าไปเตรียมทหาร ดังนั้นอาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกผิดหวังกับอรรถรสของบทความชิ้นนี้ที่ไม่มีความเป็นงานชาติพันธุ์วรรณนาที่ละเอียดลุ่มลึกเช่นงานชิ้นอื่นอยู่บ้าง

ในงานเขียนชิ้นนี้ผู้เขียนนำออกกรอบแนวคิดทางมานุษยวิทยามามองชีวิตของทหารเกณฑ์ผ่านประสบการณ์ของผู้เขียน โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ การมองชีวิตทหารเกณฑ์ผ่านมุมมองของการเป็ันพิธีกรรมการเปลี่ยนผ่าน มองการเกณฑ์ทหารในฐานะที่เป็นพิธีกรรมการเปลี่ยนสถานะของชายจากเด็กวัยรุ่นสู่ผู้ใหญ่ จากชาวนา ชาวไร่ เด็กแว้น เด็กนักเรียน สู่ชายชาติทหาร โดยใช้แนวคิดเรื่องพิธีกรรมการเปลี่ยนผ่านของวิกเตอร์ เทิร์นเนอร์ (Victor turner)  และแมรี่ ดักลาส (Mary Douglas) ในส่วนที่ 2  จะเล่าถึงชีวิตของทหารเกณฑ์ในมุมมองของการต่อต้าน การขัดขืนและการต่อรอง วิธีการต่อต้านและขัดขืนต่อกฎระเบียบของทหารเกณฑ์ในสถาบันอำนาจที่ครอบงานทุกขั้นตอนของชีวิตประจำวันตลอด 24 ชั่วโมง การหลบเลี่ยงและการจำยอมต่ออำนาจโดยใช้มุมมองเรื่องรูปแบบการต่อต้านในชีวิตประจำวันของ  เจมส์ ซี สก็อต ( James C. Scott)

การเกณฑ์ทหารในฐานะพิธีกรรมการเปลี่ยนผ่าน

          ในส่วนนี้ผู้เขียนมองการเกณฑ์ทหารผ่านมุมของของวิกเตอร์ เทิร์นเนอร์ (Victor Turner)  และแมรี่ ดักลาส (Mary Douglas) ในฐานะที่พิธีกรรมของการเปลี่ยนผ่านจากสถานะหนึ่งไปสู่อีกสถานะหนึ่งแมรี่ ดักลาส อธิบายแนวคิดเรื่องความสิ่งสกปรกประกอบด้วย 2 แนวคิดประกอบดันคือความสะอาดและระเบียบความเชื่อดั้งเดิมที่ส่งต่อกันมา เมื่อกฎเกี่ยวกับความสะอาดเปลี่ยนไป แน่นอนว่าจะทำให้การรับรู้เกี่ยวกับระเบียบของเราเปลี่ยนไปด้วย (Douglas. 1996. pp. 7) ความสะอาดและความสกปรกเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกัน แมรี่ ดักลาสใช้ความสกปรกในการอธิบายสิ่งที่คนรู้สึกว่าผิดปกติและรบกวนระเบียบที่และพิธีกรรมคือกระบวนการขจัดสิ่งที่คนรู้สึกว่าผิดปกติ ขจัดสิ่งที่มารบกวนระบบระเบียบตามที่เราเชื่อ

ในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนได้เอาแนวคิดเรื่อง liminal ของวิกเตอร์ เทิร์นเนอร์ (1969.) มามองการฝึกทหาร โดยเทิร์นเนอร์มองว่าในขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านจากสถานะหนึ่งไปสู่อีกสถานะหนึ่งขั้นตอนสำคัญคือขั้นตอนที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนสถานะ  คนที่อยู่ในขั้นตอนนี้จะไม่มีสถานะ ไม่มีทรัพย์สิน เครื่องราช สัญลักษณ์ใดๆ หรือเสื้อผ้าที่บ่งบอกสถานะใดๆ เป็นคนไร้ตัวตน อยู่ในความมืด และอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์พิเศษ  ยอมรับเชื่อฟังและยอมรับการลงทัณฑ์โดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ การที่แต่ละคนไม่มีสถานะใดๆ ทำให้ทุกคนที่อยู่ในขั้นตอนนี้เท่าเทียมกัน เหมือนกันหมดทุกประการ (Turner. 1969. pp.95)

การฝึก พิธีกรรมการเปลี่ยนชาวบ้านให้เป็นทหาร

“น้อยหนานทหารเก่า” เป็นคำที่มักได้ยิน เป็นประจำ เมื่อพูดถึงชายที่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว หรือเป็นคนที่รู้เท่าทันคนอื่น ความหมายของประโยคนี้ในแง่หนึ่งคือ การจะเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวได้ ต้องผ่านพิธีการบวชและการเกณฑ์ทหาร ชาวบ้านส่วนใหญ่เชื่อว่า การเกณฑ์ทหาร จะช่วยให้ลูกชายของตนได้เป็นชายเต็มตัว เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เมื่อชายหนุ่มคนไหน จับใบแดงได้ไปเป็นทหาร หรือสมัครเข้ารับราชการทหาร วันก่อนที่จะเข้ารับราชการทหาร จะมีพิธีการบายศรีสู่ขวัญ เชิญญาติผู้ใหญ่เข้ามาอวยพรให้คนที่จะไปเป็นทหาร ผู้เขียนเอง ทางบ้านได้จัดงานพิธีบายศรีสู่ขวัญให้ก่อนเข้ารับราชการทหาร 1 วัน มีญาติผู้ใหญ่หลายคน มาร่วมงาน และ พูดคุยกับผู้เขียน ลุงจิตญาติผู้ใหญ่ของผู้เขียน ในอดีตเคยเป็นทหารเกณฑ์มาก่อน เมื่อพูดในเชิงปลอบใจด้วยเสียงว่า “ดีแล้วที่ได้เป็นทหาร เมื่อออกมา จะได้เป็นผู้ใหญ่ตัวลูกผู้ชาย ที่นั่นเขาสนใจเรามีระเบียบวินัย” ลุงถี หมอสู่ขวัญ เคยเป็นทหารเกณฑ์สมัยสงครามเวียดนาม ได้มอบพระองค์หนึ่งให้ผู้เขียน พร้อมกับบอกว่า “เป็นทหารสมัยนี้ดีกว่าเมื่อก่อนเยอะ ก่อนฝึกหนัก ลงไม้ลงมือ ได้โดดบ่อขี้ เวลาอาบน้ำต้องตักน้ำอาบตามเสียงนกหวีด” ลุงคำทหารผ่านศึกคนหนึ่ง ได้พูดกับผู้เขียนด้วยน้ำเสียงติดตลกว่า “ดีแล้วเป็นทหาร ได้เป็นผู้ใหญ่ลูกผู้ชาย ไม่ต้องกลัว ในค่าย เขาวัดกันหมดแล้วว่าใครใหญ่ใครเล็ก คนใหญ่สุดได้เป็นเจ้าพ่อ”

เมื่อถึงวันกำหนดนัดเข้ารับราชการทหารทุกคนจะมารวมกันตามที่สัสดีอำเภอนัดที่หน้าอำเภอ จากนั้นมีรถรับส่งจากหน้าอำเภอไปยังค่ายทหารในตัวจังหวัด จากนั้น จะมีการจัด แบ่งคน ไปตามหน่วยฝึกทหาร ที่ถูกจัดไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ในการเลือกหน่วยนี้ ส่วนหนึ่ง มาจากการสมัครเข้ามาเป็นทหาร คนที่สมัครใจหรือสมัครเข้ามารับราชการทหารจะสามารถเลือกหน่วยที่สังกัดได้ ในขณะที่คนที่ไม่ได้สมัครเข้ามาหรือคนที่จับใบแดงได้ จะถูกจัดให้โดยทางทหารไม่สามารถเลือกสังกัดได้  จากนั้นทุกคนก็จะแยกย้ายกันไปรวมตัวตามจุดนัดหมายของแต่ละสังกัดที่กำหนดไว้ หลังจากเช็คจำนวนและตรวจนับจำนวนว่ามาครบหมดแล้ว ก็จะมีการแจกของใช้สำหรับใช้ในระหว่างการฝึกทหาร โดยของเครื่องใช้ถูกห่อไว้ในผ้าห่มสำลีสีเทาผืนใหญ่ เมื่อแกะห่อออกมาภายในจะประกอบไปด้วย  ผ้าห่ม รองเท้าผ้าใบ 2 คู่ รองเท้าคอมแบท 2 คู่ถุงเท้า 6 คู่ กางเกงใน 1 แพ็ค หมอนและปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ผ้าขาวม้า ผ้าเช็ดตัว มุ้ง หมวกแก๊ป ชุดฝึกพรางสามชุด กางเกงขาสั้นสีดำสำหรับใส่ลำลอง 1 ตัว เสื้อแขนสั้นสีเขียว 5 ตัว  กางเกงขาสั้นสีเขียว 3 ตัว เข็มขัด แว๊กขัดรองเท้า  แปรงขัดรองเท้า ขันน้ำ สบู่แชมพู ยาสีฟัน แปรงฟัน  กรรไกรตัดเล็บ มีดโกนหนวด โรลออน ผงซักฟอก แปรงซักผ้า สมุดบันทึกเล่มเล็ก 1 เล่ม เล่มใหญ่ 1 เล่ม ปากกา 2 แท่ง เข็ม ด้าย สำลีก้าน แก้วน้ำและช้อน  โดยของส่วนหนึ่งเป็นของที่ทางราชการทหารจัดมาให้ และมีบางส่วนที่หักจากเงินเบี้ยเลี้ยงของทหารเกณฑ์ เช่น มีดโกนหนวด ผงซักฟอก แปรงซักผ้า โรลออน เข็ม ด้าย สำลีก้าน สมุด ปากกา เมื่อตรวจเช็คว่าได้ของครบหมดแล้ว ก็ทำการเปลี่ยนเสื้อผ้า โดยต้องการเปลี่ยน เต้นเสื้อแขนสั้นสีเขียวและกางเกงขาสั้นสีเขียว โดยเสื้อผ้า รองเท้าและของที่นำติดตัวมาจะถูกเก็บไว้ และจะคืนให้อีกทีเมื่อฝึกเสร็จ

ในการเข้ารับราชการทหาร หรือที่เรียกว่าการเกณฑ์ทหาร ผู้เข้ารับราชการทหารหรือทหารเกณฑ์ จะต้องเข้ามาอยู่ในค่ายทหาร และทำการฝึกเป็นเวลาอย่างน้อย 10 สัปดาห์ติดต่อกัน ในระหว่างการฝึก 10 สัปดาห์นี้ เปรียบเสมือนการเข้าพิธีกรรม ในการเปลี่ยนผ่าน จากชาวบ้านธรรมดา ชาวนาชาวไร่ เบื่อพวกเด็กแว้น เพื่อเปลี่ยนให้เป็นทหาร  หมู่โย ครูฝึกทหารใหม่คนหนึ่งได้พูดกับทหารใหม่ว่า “กู จะฝึกให้พวกมึงเป็นทหาร เอาเลือดชาวนาชาวไร่ เด็กแว้น ออกให้หมด แล้วจะฉีดเลือดทหาร เข้าไปในตัวพวกมึง”[2] ในระหว่างการฝึกทหารเกณฑ์จะถูกเรียกว่าทหารใหม่ อยู่ในภาวะที่ไม่เป็นทหารเต็มตัว ไม่สามารถออกไปไหนนอกจากหน่วยฝึกทหารใหม่ได้ เพราะยังไม่มีสถานะเป็นทหารเต็มตัว แม้จะเรียกว่าพลทหารแล้วก็ตาม สิ่งที่บ่งบอกว่ายังไม่ใช่ทหารเต็มตัวมีสองส่วน ส่วนแรกคือ เครื่องแต่งกายที่ยังไม่มีเครื่องหมายบ่งบอกว่าสังกัดหน่วยไหน ไม่มีป้ายชื่อบอกว่าชื่ออะไร เปรียบเสมือนทหารไร้สังกัด ไร้ตัวตน ส่วนที่สองคือยังไม่มีนิสัย หรือมีวินัยแบบทหาร ไม่รู้กฎระเบียบและมารยาทในแบบทหาร  หมู่โยพูดบ่อยๆ เมื่อทหารไม่มีวินัยว่า “ไม่มีวินัย เหลาะแหละ ฝึกต่อดีไหม”  ดังนั้นการฝึกจึงจำเป็นอย่างมากสำหรับการเป็นทหาร เพราะเป็นการควบคุม สร้างนิสัยแบบทหารให้คนที่ไม่ได้เป็นทหารมาเป็นทหาร

ในช่วงแรกของการฝึกทหารใหม่จะสวมเสื้อแขนสั้นสีเขียว กางเกงขาสั้น รองเท้าผ้าใบ และหมวกแก๊ป ชุดนี้แสดงว่าทหารนั้น ยังเป็นทหารใหม่ ไม่ได้เป็นทหารเต็มตัว แม้ว่าเมื่อฝึกเสร็จตามกฎระเบียบจะให้ใส่ชุดดังกล่าวเวลาไม่ใส่ชุดฝึกพราง แต่ในทางปฏิบัติแล้วมีการอนุโลมว่าสามารถใส่ชุดอื่นที่ไม่ผิดระเบียบได้ เช่น กางเกง ขาสั้นสีดำหรือกางเกงกีฬา และใส่เสื้ออื่นที่ไม่มีสีฉูดฉาดเกินไป เช่น  ชุดสีดำ ชุดสีเขียวหรือสีกรม เป็นชุดลำลองได้ ดังนั้นการใสเสื้อแขนสั้น กางเกงขาสั้นสีเขียวจึงมีแต่ทหารใหม่เท่านั้น ชุดที่ทหารใหม่ใส่ในการฝึกช่วงแรกนี้ถูกเรียกว่า ชุดเป็ดน้อย แสดงให้เห็นว่ายังไม่เป็นทหารเต็มตัว หมูโยพูดกับอาหารใหม่ในช่วงแรกว่า “พวกมึงยังใส่ชุดเป็ดน้อยยังไม่มีวินัยพอที่จะใส่ชุดฝึกพราง กูจะฝึกพวกมึงให้หนักให้พวกมึงมีวินัย ให้มึงภาคภูมิใจในการใส่ชุดฝึกพรางได้เป็นทหารเต็มตัว” เมื่อการฝึกผ่านไป 3 สัปดาห์  เหล่าทหารใหม่จะเปลี่ยนชุดในการฝึกจากชุดเป็ดน้อยเป็นชุดฝึกพราง ก่อนจะเปลี่ยนไปใส่ชุดฝึกพรางจะมีพิธีกรรมเพื่อพิสูจน์ว่าเริ่มมีความเป็นทหารแล้ว หมู่แก้ว ครูเวรในวันนั้นได้ให้ทหารใหม่ทำการม้วนหน้าเป็นระยะทาง 50 เมตร เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีความพร้อมในการใส่ชุดฝึกพรางแล้ว

ในระหว่างการฝึกครูฝึกจะถามเสมอในเวลาอบรมในตอนค่ำหลังการฝึกภาคปฏิบัติในตอนกลางวันแล้วว่า “ตอนนี้ มีเลือดทหารเต็มตัวหรือยัง มีเลือดสีเขียวหรือยัง” และมักพูดเสมอในเชิงข่มผู้ว่า “ทำดีๆนะเว้ย กูจำหน่ายตายได้ 5 คนนะ” เป็นการบอกว่าทหารใหม่เปรียบเสมือนคนที่ไม่มีตัวตน อยู่ในภาวะถึงกลาง ระหว่างคนธรรมดากับทหารเปรียบเสมือนสภาวะ liminal ในพิธีกรรมการเปลี่ยนผ่าน เพราะเหล่าทหารใหม่จะถูกแยกออกมาจากคนทั่วไป อยู่ในสถานที่พิเศษที่เรียกว่าหน่วยฝึกทหารใหม่ และอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ หมวดพล ผู้ฝึกหรือหัวหน้าครูฝึกเคยพูดกับทหารใหม่ว่า “ในหน่วยฝึกนี้ หมวดมีอำนาจมากที่สุด ใครจะให้ทหารใหม่ไปทำอะไรต้องมาขอหมวดก่อน” สถานะของทหารใหม่ทุกคนในหน่วยฝึกทหารใหม่จะถูกหลอมรวมให้เป็นเหมือนกันหมด แม้บางคนจะมีอายุมากกว่าหรือเรียนมาสูงกว่าดังที่หมู่โยมักจะพูดในช่วงฝึกบ่อยๆว่า “ในที่นี้ทุกคนเท่ากันหมด ไม่ว่าป.ตรี ปวช ปวส. ม. 6 หรือม. 3  ทุกคนเท่ากันหมด จะลูกคุณหนูลูกใครที่ไหนไม่สน ที่นี่ทุกคนคือพลทหาร” หรือคำพูดของจ่าเบิ้มมักพูดเสมอในระหว่างฝึกว่า “ใครมีเขี้ยวเล็บอะไร หรือเป็นอะไร ถอดทิ้งไว้หน้าค่ายหมดแล้ว ในที่นี้ เราทุกคนเหมือนกันหมด นิสัยเดิม ห้ามเอามาใช้ในค่าย เอาไปใช้ที่บ้านโน้น”  เหล่าทหารใหม่มักจะถูกมองว่าไม่รู้ โง่และถูกดุด่าอยู่เสมอเมื่อปฏิบัติในท่าที่ถูกฝึกสอนไม่ถูกต้องในขณะที่ฝึกชุดที่ใส่แม้จะเป็นชุดพรางแบบทหาร แต่ก็ไม่ใช่ชุดทหารเต็มตัวเพราะยังไม่มี เครื่องหมายครบถ้วน เช่น ไม่มีป้ายชื่อ ไม่มีป้ายบ่งบอกสังกัดที่เราอยู่ ไม่มีหมวกเบเรต์ แม้จะไม่ได้สวมชุดเป็ดน้อยในการฝึกแล้ว แต่ชุดฝึกที่ใส่ในระหว่างฝึกนั้นไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าเป็นทหารจริงๆ หรือเปล่า

ในการฝึกทหารเกณฑ์ใหม่มีบ่อยครั้งที่ต้องคลุกคลีอยู่กับดิน โคลน ทราย หญ้าและฝุ่น มีหลายครั้งที่ต้องกระโดดลงน้ำแล้วขึ้นมานอนกลิ้งบนพื้นที่เป็นฝุ่น คุกดินคลุกฝุ่น และอยู่ในสภาพนั้นตลอดทั้งวันจนกว่าจะฝึกในวันนั้นเสร็จ และในขณะอาบน้ำ ทุกคนต้องอาบพร้อมกันหมดภายในโรงอาบน้ำที่มีอ่างน้ำขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทุกคนยืนล้อมรอบอ่าง ถือขันน้ำ สบู่และยาสระผมของตนเอง อาบน้ำพร้อมกัน บางคนอาบในขณะที่ยังสวมกางเกงในอยู่ บางคนก็เปลือยกายล้อนจ้อน ในช่วงแรกๆ แม้หลายๆ คนจะมีความเขินอายที่ต้องอาบน้ำรวมกับคนอื่นๆ แต่ก็มีหลายคนหัวเราะสนุกสนาน ตามประสาเด็กวัยรุ่นผู้ชาย มีหลายครั้งที่ผู้ช่วยครูฝึกแกล้ง เช่น ให้อาบน้ำขันเดียว อาบน้ำสามขัน ให้จับอวัยวะเพศของ เพื่อนข้างๆ หรือถูสบู่ให้เพื่อนข้างๆ มีครั้งหนึ่งในระหว่างอาบน้ำ ผู้ช่วยครูฝึกเข้ามาในโรงอาบน้ำพร้อมกับบอกให้ทุกคนถอดกางเกงในออกให้หมด จากนั้นนั่งลงกอดเอวกันต่อเป็นแถว ไถลก้นไปรอบๆ อ่างอาบน้ำ มีครั้งหนึ่งทหารใหม่ถูกปลุกขึ้นมาซ่อมกลางดึกกลางสนามที่เต็มไปด้วยฝุ่นแล้วให้กลับไปนอนโดยที่ไม่ให้อาบน้ำ แม้จะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสิ่งสกปรกมากมาย เช่น ให้โดดบ่อขี้ หรือหมู่โอ๋ครูฝึกคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า สมัยที่ยังเป็นทหารใหม่มีคนเข้าห้องน้ำแล้วไม่ล้าง  ทหารในหน่วยฝึกทั้งหมดถูกลงโทษโดยการให้เอามือไปจิ้มในโถส้วม แล้วไปกินข้าวโดยไม่ให้ล้างมือ อาหารการกินในระหว่างฝึกมักจะเป็น แกงผักหรือน้ำพริกกับผักลวก และไข่ต้ม  ทหารเกณฑ์ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะกินอะไรต้องกินตามเมนูที่จัดมาให้ มีบางครั้งที่โชคดีจะได้กินลาบเนื้อหรือแกงเนื้อบ้างเป็นครั้งคราว  

เมื่อผ่านการฝึก 10 สัปดาห์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทหารใหม่ทุกคนจะได้รับมอบหมวกเบเรต์และชุดฝึก ที่มีเครื่องหมายครบถ้วนเพื่อบ่งบอกว่าเป็นทหารเต็มตัวแล้ว และจะถูกส่งเข้าประจำหน่วยที่สังกัด และเมื่อขึ้นหน่วยที่สังกัดจะมีพิธีรับน้องใหม่ หน่วยที่ผู้เขียนสังกัดเรียกว่ากองบังคับการ หรือเรียกย่อๆว่า หน่วยบก. การรับน้องของหน่วยนี้จะให้ทหารใหม่ มุดเข้าไปเก็บขยะใต้โรงนอนที่มีความสูงเพียง 1 เมตร ใต้โรงนอนนี้จะมืด และเต็มไปด้วยหยากไย้

หากมองผ่านแนวคิด liminal ของเทิร์นเนอร์แล้วการฝึกทหารใหม่เปรียบเสมือนขั้นตอนในการเปลี่ยนผ่านสถานะจากคนธรรมดาไปสู่ทหารอาชีพ ในขณะเดียวกันหากมองการฝึกในมุมมองของแมรี่ ดักลาสแล้วในระหว่างการฝึกเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่ประกอบไปด้วยสิ่งสกปรก (impurity) และความสะอาด (purity) ได้สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้กับทหารใหม่เหล่านี้ ทำให้พวกเขามีประสบการณ์ร่วมกัน (Douglas. 1966. pp.4) หลังจากฝึกเสร็จการแต่งกายของทหารจถูกตรวจตราอยู่ประจำหากแต่งการที่ดูซ่อมซ่อเกินไปก็จะถูกผู้บังคับบัญชาตำหนิ

เรื่องเล่าชีวิตของทหารเกณฑ์กับการเป็นคนใหม่

การฝึกทหารใหม่ กว่าจะได้เป็นทหารเต็มตัว ทหารใหม่ต้องอยู่ภายใต้บริเวณเฉพาะ อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เฉพาะ และสถานการณ์เฉพาะที่ไม่สามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป จ่ากอล์ฟหนึ่งในครูฝึกพูดกับบรรดาทหารใหม่ในช่วงแรกของการฝึกว่า “ถ้าทนการฝึกทหารได้ ต่อไป ไม่มีอะไรที่จะทนไม่ได้แล้ว ใครจะออกไปมีเมีย พ่อแม่สาวก็ยอมรับเพราะว่าผ่านการทหารฝึกทหารมาแล้ว เป็นคนมีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ เป็นที่พึ่งของฝ่ายหญิงได้”

นอกจากการฝึกที่เปลี่ยนคนธรรมดาให้เป็นทหารเต็มตัว แล้วการเกณฑ์ทหารยังเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงตัวของคนที่เคยทำไม่ดีมาก่อน เมื่อตอนเข้ามาเป็นทหาร วันแรกจะมีการตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด และเนื่องจากในหน่วยฝึกทหารใหม่เป็นพื้นที่พิเศษภายใต้กฎเกณฑ์พิเศษดังนั้นคนที่ถูกตรวจพบว่ามีปัสสาวะสีม่วง เคยเสพยาเสพติดมาก่อนจะไม่มีความผิดใดๆทั้งสิ้น ข้อมูลดังกล่าวจะถูกเก็บไว้เป็นสถิติตัวเลข ทหารใหม่ที่เคยเสพยาเสพติดเหล่านี้จะถูกเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงแรกของการฝึก เช่นเดียวกับคนที่มีโรคประจำตัว และเมื่อฝึกเสร็จ คนเรานี้จะได้รับการชื่นชมว่ามีความอดทน สามารถเลิกยาเสพติดได้แล้ว แม้ว่าภายหลังบางคนจะกลับไปเสพอีกก็ตาม ตัวอย่างของคนที่เสพยาเสพติดแล้วเข้ามาเป็นทหาร  เช่น อ้วน เด็กหนุ่มชาวเขาเผ่าม้ง หมู่บ้านของเขาขึ้นชื่อเรื่องยาเสพติด เขาเป็นคนหนึ่งที่เสพยาเสพติด เมื่อตรวจปัสสาวะพบว่ามีการเสพสารเสพติด อ้วนยอมรับว่าก่อนเข้ามาเป็นทหาร เคยเสพยาเสพติดวันละ 5 เม็ด ในช่วงแรกของการฝึก อ้วนมักจะง่วงนอนอยู่บ่อยๆ เนื่องจากขาดยา มีหลายครั้งที่ถูกลงโทษเพราะหลับขณะยืนเข้าแถว บางครั้งถูกทำโทษโดยการให้ไปวิ่ง หรือ ดันพื้น แต่ก็มีหลายครั้งที่ถูกลงไม้ลงมือ ถูกตบหน้า ถูกหมวกเหล็กเคาะหัว หรือถูกไม้ฟาด หลังจากรายการฝึกไปได้  4 สัปดาห์ อาการง่วงหลับของอ้วนก็ดีขึ้น ในช่วงท้ายของการฝึกครูฝึกหลายคนชมว่าอ้วนทำได้ดี สามารถอดทนมาจนฝึกเสร็จ แม้ว่าภายหลังเมื่อเข้าไปประจำหน่วยที่สังกัดอ้วนจะกลับมาเสพยาอีกและถูกจับได้ก็ตาม อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ปั๊ก ทหารเกณฑ์รุ่นน้องในหน่วยของผู้เขียน ปั๊กเคยเสพยาเสพติด และรับสมัครเข้ามาเป็นทหารเกณฑ์เพราะถูกทางบ้านบังคับเนื่องจากทนไม่ไหวที่ปั๊กเสพยาเสพติดเป็นประจำ จนทางบ้านทนไม่ไหวจึงต้องบังคับให้มาเป็นทหารเกณฑ์โดยหวังว่าการเป็นทหารเกณฑ์จะทำให้ปั๊กเลิกยาได้ เนื่องจากผู้เขียนเข้ามาเป็นทหารเกณฑ์คนละรุ่นกับปั๊กจึงมิได้ในสถานการณ์ ที่จะสังเกตพฤติกรรมของปั๊กในระหว่างการฝึกได้ แต่จากการสอบถามทหารเกณฑ์รุ่นเดียวกับปั๊กทราบว่า  เมื่อเข้ามาเป็นทหารเกณฑ์ในช่วงแรกปั๊กมีอาการคล้ายกับอ้วน ง่วงนอนอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากขาดยา และมักถูกทำโทษเป็นประจำเหมือนกับอ้วน แต่ปั๊กต่างจากอ้วน เพราะปั๊กไม่กลับไปเสพยาเสพติดอีก  หลายครั้งที่แม่และน้องสาวของปั๊กมาเยี่ยมที่ค่าย สีหน้าและรอยยิ้มของแม่ดูภาคภูมิใจและปลื้มที่เห็นลูกชายได้มาเป็นทหาร และสามารถเลิกยาเสพติดได้ จากเด็กที่เคยเสพยา การเข้ามาเป็นทหารเกณฑ์สามารถทำให้เขาเลิกยาเสพติดได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าจากรุ่นพี่ทหารเกณฑ์ ไกร รุ่นพี่ทหารเกณฑ์คนหนึ่งที่สนิทกับผู้เขียน เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า มีเพื่อนในรุ่นของเขาคนหนึ่ง ชื่อโซ้งเป็นชาวเขาและเคยเป็นเด็กส่งยามาก่อน โซ้งมีแฟน แต่ถ้าครอบครัวของแฟนเขาไม่ยอมรับเพราะเป็นเด็กส่งยา  เมื่อได้เข้าไปเป็นทหารเกณฑ์เขาได้สมัครสอบเข้าเป็นนายสิบ ได้ไปเรียนโรงเรียนนายสิบทหารบกและได้โควต้าไปเรียนนายร้อยจปร. เรื่องเล่าของไกรตรงกับเรื่องเล่าของหมู่แชมป์ อดีตครูฝึกของไกรและโซ้ง อีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้การเกณฑ์ทหารเพื่อเป็นช่องทางในการไปสู่ชีวิตใหม่คือเจมส์ เพื่อนทหารเกณฑ์รุ่นเดียวกับผู้เขียน ก่อนหน้าที่เจมส์จะเข้ามาเป็นทหารเกณฑ์ เขามีอาชีพรับจ้างทั่วไปไม่มีรายได้แน่นอน หลังจากเขาปลดจากการเป็นทหารเกณฑ์แล้ว เขาได้เข้าไปอบรมเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกับองค์การทหารผ่านศึก ได้งานทำเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในธนาคารแห่งหนึ่งและได้แต่งงานกับแฟนสาวของเขา

ในงานศึกษาเกี่ยวกับทหารของชาวปาเลสไตน์ที่อาสาสมัครเข้าไปในกองทัพอิสราเอลของ Kanaaneh (2005.) ได้ให้ภาพของทหารในกองทัพที่ถูกมองว่าเป็นคนทรยศต่อชุมชนและคนชายขอบ แต่พวกเขาเลือกที่จะอาสาเข้าไปเป็นทหารด้วยคติความเชื่อที่ว่าจะให้พวกเขากลายเป็นลูกผู้ชายเต็มตัวและมีโอกาสในการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจให้กับครอบครัวเนื่องจากพวกเขาอยู่ในสภาวะที่ไร้งานทำ โอกาสในการหางานทำมีจำกัด (Kanaaneh. 2005. pp. 268.)  การศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับตัวอย่างที่ผู้เขียนเล่ามาข้างต้น เห็นได้ว่า การเกณฑ์ทหาร ส่วนหนึ่งเป็นพิธีกรรมของการเปลี่ยนผ่านจากคนธรรมดา ชาวนา ชาวไร่มาเป็นทหาร บางคนใช้การเป็นทหารเพื่อเป็นการชุบตัวเป็นคนใหม่ หรือใช้เป็นช่องทางเพื่อไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า แม้ว่าหลายคนจะมองว่าการเป็นทหารทำให้สูญเสียเวลาในชีวิตไปจำนวนมาก แต่ก็มีหลายคนใช้โอกาสนี้เพื่อหาทางให้ชีวิตจะดีกว่า คนเหล่านี้ มักเป็นคนระดับล่างที่มีต้นทุนชีวิตต่ำและไม่สามารถแข่งขันกับคนอื่นที่มีต้นทุนชีวิตสูงกว่าได้ การเป็นทหารจึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนเหล่านี้ ดังกรณีของโซ้งและเจมส์ข้างต้น

การต่อต้าน  และการขัดขืนของทหารเกณฑ์

ในส่วนนี้ผู้เขียนนำกรอบแนวคือเรื่องการต่อต้านในชีวิตประจำวันของเจมส์ ซี สก็อต (James C. Scott) มามองพฤติกรรมของทหารเกณฑ์ในการแสดงออกถึงการต่อต้านวิถีชีวิตแบบทหาร การหลบเลี่ยงจากกฎระเบียบ สก็อตนำเสนอ “รูปแบบของการต่อต้านในชีวิตประจำวัน” ที่ไม่เปิดเผย ไม่มีรูปแบบเป็นทางการ เป็นการต่อต้านของชนชั้นล่าง (Scott. 1989. pp.4) การต่อต้านและการต่อต้านในชีวิตประจำวันตรงที่การต่อต้านโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นการเผชิญหน้าที่เปิดเผยกว่าการต่อต้านในชีวิตประจำวัน แต่การต่อต้านทั้งสองแบบมีเป้าหมายเดียวกัน ในขณะที่การต่อต้านในชีวิตประจำวันจะหลีกเลี่ยงการเป็นจุดสนใจ การต่อต้านในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องของปัจเจกมากกว่าจะเป็นเรื่องของชนชั้นและการต่อต้าน ด้วยเหตุนี้การต่อต้านในชีวิตประจำวันจึงไม่ถูกนับรวมว่าเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางชนชั้น แต่สก็อตกลับเห็นว่าการต่อต้านในชีวิตประจำวันเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางชนชั้น เพราะการต่อต้านในชีวิตประจำวันหลายๆ กรณีเป็นการขัดขวางการครอบงำของชนชั้นที่สูงกว่าหรือรัฐ

รูปแบบการครอบงำของรัฐจากข้างต้นเป็นการครอบครองหรือครอบงำในทางวัตถุ โดยการหาประโยชน์จากผลผลิต ภาษี แรงงานและที่ดิน การต่อต้านในชีวิตประจำวันจะมีหลายรูปแบบ เช่น การลักลอบบุกรุก การเลี่ยงภาษี การหลบหนีการเกณฑ์ทหาร ในขณะที่รูปแบบการครอบงำทางสังคมหรือการปฏิเสธสถานะ ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นคน การต่อต้านจะถูกแสดงออกมาในรูปของการเขียนบันทึกของความเกรี้ยวกราดและวาทกรรมที่แสดงถึงเกียรติ และสุดท้ายคือการครอบงำทางอุดมการณ์ความคิด เป็นการสร้างความชอบธรรมในการปกครองของรัฐ มีการสร้างชนชั้น วรรณะ การต่อต้านในชีวิตประจำวันจะออกมาในรูปแบบของวัฒนธรรมย่อย เช่น การรวมตัวของลัทธิความเชื่อ การสร้างฮีโร่ของชนชั้น (ยุกติ. 2556. น.28; Scott. 1989. pp.27) แนวคิดของสก็อตดังกล่าวทำให้มองเห็นว่าแม้แต่ผู้ด้อยอำนาจเองก็ยังมีวิธีการในการต่อต้านและขัดขืนต่ออำนาจของคนที่เหนือกว่า ในสังคมทหารที่อำนาจกระทำการกับพลทหารอยู่ตลอดเวลาจึงมีความน่าสนใจเมื่อนำมามองผ่านแนวคิดของสก็อต

ในสังคมทหาร กฎระเบียบเป็นสิ่งสำคัญที่สุดดังนั้นชีวิตทหารเกณฑ์ตลอดทั้ง 24 ชั่วโมงถูกกำกับอยู่ภายใต้กฎระเบียบ มีตารางเวลาของกิจกรรมในแต่ละวันชัดเจน เป็นระเบียบปฏิบัติประจำ มักเรียกโดยย่อว่า รปจ. ที่เริ่มตั้งแต่ตื่นนอนในเวลา 5.30 น. ออกกำลังกาย อาบน้ำ ทำความสะอาดเขตรับผิดชอบ ทานอาหารเช้า ทั้งหมดให้เสร็จก่อนแปดโมงเช้า หลังจากเคารพธงชาติและรับฟังคำชี้แจงประจำวันแล้วจึงแยกย้ายกันไปปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย หรือหากเป็นทหารใหม่ก็ต้องไปทำการฝึก จนกระทั่งพักเที่ยงรับประทานอาหารเที่ยงในเวลา 11.30 น. และเริ่มปฏิบัติงานต่อในเวลา 13.30 น. จนกระทั่งเวลา 16.30 น. เลิกปฏิบัติงาน ออกกำลังกายตอนเย็น และรับประทานอาหารเย็นในเวลา 17.30 น. หลังจากเคารพธงชาติตอนเย็นแล้ว อาบน้ำพักผ่อน เวลา 18.30 น. เข้ารับการอบรมจนกระทั่งเวลา 20.30 น. และเข้านอนในเวลา 21.00 น. ในวันเสาร์จะปฏิบัติงานในครึ่งเช้าและได้พักผ่อนในตอนบ่ายและวันอาทิตย์ทั้งวัน ด้วยตารางเวลาที่ตายตัวเช่นนี้ทำให้ทหารเกณฑ์แทบจะไม่มีเวลาส่วนตัวเลย แต่ภายใต้ชีวิตที่ถูกกำกับด้วยกฎระเบียบ 24 ชั่วโมงนี้ ทหารเกณฑ์เองก็มีวิธีการหลบเลี่ยงกฎระเบียบนี้เช่นกัน เรื่องเล่าที่ผู้เขียนจะเล่าต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของการหลบเลี่ยงกฎระเบียบ การต่อต้านในการขัดขืน

เรื่องเล่าที่หนึ่ง “ไม่หลบไม่อู้ เราอยู่ไม่ได้ จะหลบจะอู้ หูตาต้องไว”

“ไม่หลบไม่อู้รออยู่ไม่ได้ จะหลบจะอู้หูตาว่องไว” เป็นประโยคที่ ผู้เขียนมักได้ยินเสมอจากบรรดาทหารเกณฑ์ในหน่วยบก. ที่ผู้เขียน เนื่องจากหน่วยบก. เป็นหน่วยที่รับผิดชอบในส่วนของตึกกองบังคับการ ดังนั้นจะอยู่ใกล้ชิดกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากจึงจำเป็นต้องมีระเบียบวินัยมากกว่าหน่วยอื่น หน้าที่ของทหารหน่วยบก. คือทำความสะอาดตึกกองบังคับการ ดูแลความสะอาดทั้งภายในและภายนอกทั้งหมด ทำหน้าที่ในการเตรียมจัดห้องประชุม และมีบางคนถูกจัดให้ไปประจำหน้าห้องของผู้บังคับบัญชา ทหารหน่วยบก. เปรียบเสมือนแม่บ้านที่คอยดูแลทุกอย่างภายในตึก ตัวผู้เขียนเองถูกส่งให้ไปอยู่ประจำแผนกรับส่งเอกสาร ทำหน้าที่คัดแยกเอกสารที่รับเข้ามาและจัดส่งเอกสารออกไปถึงภายนอก ในขณะที่คนอื่นๆ จะถูกส่งไปประจำตามแผนกต่างๆ เช่นกัน หน้าที่ของทหาร หน่วยบก. จึงไม่ใช่แค่ดูแลความสะอาด ภายในตึก และจัดเตรียมห้องสำหรับการประชุมเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ในการช่วยเหลืองานตามแผนกต่างๆ บางคนมีความรู้ก็ถูกใช้ให้ทำงานเอกสาร บางคนถูกใช้ให้เป็นเด็กส่งเอกสาร ดังนั้นทหารหน่วยนี้จึงไม่ค่อยมีเวลาว่างมากนักเพราะต้องคอยทำตามคำสั่งบรรดานายทหารผู้ใหญ่อยู่ตลอดเวลา ทหารเกณฑ์ส่วนใหญ่มักไม่ชอบทำงานในแผนกเพราะรู้สึกว่า ตนเองถูกใช้งาน นายทหารในแผนกบางคนปฏิบัติต่อทหารเกณฑ์ราวกับเป็นคนใช้ อัพ รุ่นพี่ทหารเกณฑ์คนหนึ่ง บอกกับผู้เขียนว่า “พวกมันใช้เราอย่างกับเป็นคนใช้ กูมาเป็นทหารไม่ใช่คนใช้ บางครั้งก็ไม่ใช่หน้าที่เรา เราเป็นแค่ลูกมือ หน้าที่มันต้องทำ แต่มาใช้เรา” สิ่งหนึ่งที่พลทหารบก. มักใช้เป็นข้ออ้างในการหลีกเลี่ยงการถูกใช้งานในแผนกก็คือการอ้างเรื่องการจัดห้องประชุม เมื่อมีการประชุมของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ พลทหารบก.  จะเข้าไปเตรียมห้องประชุม เสร็จแล้วจะไปรวมตัวกันที่หลังห้องประชุม พูดคุยกัน บ้างเล่นโทรศัพท์ รอจนการประชุมเสร็จสิ้น  แล้วจะเข้ามาทำความสะอาดห้องประชุมอีกที ในระหว่างที่รอประชุมนี้ทหารเกณฑ์ใช้เป็นข้ออ้างในการหลบเลี่ยงการทำงานในแผนก เมื่อนายทหารที่แผนกถามว่าไปไหน ทำไมไม่มาช่วยงาน ทหารเกณฑ์ก็มักจะตอบว่า หัวหน้าบก. ให้ไปจัดห้องประชุมแล้วต้องรอเก็บห้องประชุม แม้ว่านายทหารที่แผนกจะไปฟ้องหัวหน้าบก. ว่าทหารไม่ยอมช่วยงานเพราะไปเก็บห้องประชุม และหัวหน้าบก. ก็สั่ง ว่าเมื่อจัดห้องประชุมแล้วให้ลงมาช่วยงานที่แผนกก่อน เมื่อประชุมเสร็จค่อยกลับขึ้นไปเก็บ แต่ในหลายๆ ครั้งทหารเกณฑ์ก็มักจะอ้างเหตุผลเดิม ว่าต้องรอเก็บห้องประชุม

ในบางครั้งแม้ไม่มีประชุมแต่ทหารเกณฑ์บางคนที่ไม่ได้ประจำแผนกใดๆ มักจะแอบไปหลบหลังห้องประชุม หรือบริเวณหลังโรงนอน ในช่วงปลายเดือนกันยายน อัพ หนึ่งในทหารเกณฑ์ผลัดปลดที่จะปลดประจำการในปลายเดือนตุลาคมไม่ได้ประจำแผนกใดๆ หัวหน้าบก. สั่งให้เป็นคนค่อยดูแลความสะอาดของพื้นอาคารไม่ให้มีรอยเท้าเนื่องจากช่วงนั้นเป็นช่วงฤดูฝนจึงมีคราบดินโคลนที่ติดมากับรองเท้าเปรอะเปื้อนตามพื้นอาคารอยู่ตลอดเวลา อัพต้องค่อยถูไม่ให้มีคราบเปื้อนเหล่านี้ หลังจากถูพื้นเสร็จ อัพมักจะไปแอบตามหลังโรงนอนและห้องประชุม อัพบอกกับผู้เขียนว่า “ต้องหูไวตาไว ไม่งั้น พวกมันเห็นเราว่างจะใช้งานเรา”

แม้ว่าหลายคนจะไม่ชอบการไปช่วยงานที่แผนก แต่บางครั้งการช่วยงานที่แผนกก็เป็นข้ออ้างหนึ่งในการหลบเลี่ยงงานที่หัวหน้าบก. มักจะสั่งให้ทำในวันหยุด คิม ทหารเกณฑ์คนหนึ่งรุ่นเดียวกับผู้เขียน มักจะอ้างจากช่วยงานที่แผนกเป็นประจำ เพื่อหลบเลี่ยงการใช้งานจากหัวหน้าบก. เนื่องจากในแผนกของคิม มีนายสิบที่เป็นเพื่อนสนิทกับคิม คิมจึงมักใช้การอ้างว่าไปช่วยงานที่แผนกเป็นประจำแม้จะเป็นวันหยุดก็ตาม ในบางครั้งวันเสาร์ อาทิตย์ หมวดณรงค์ นายทหารหัวหน้าแผนกของคิมมักจะมาขอพลทหารไปช่วยงานส่วนตัวที่บ้าน ครั้งหนึ่งคิมเคยชวนผู้เขียนไปช่วยงานหมวดณรงค์ที่สวนของหมวดณรงค์ นอกจากตัวผู้เขียนกับคิมแล้วยังมีพลทหารจากหน่วยอื่นอีก  3-4 คน เมื่อเสร็จงานแล้ว ก่อนกลับหน่วยหมวดณรงค์ได้เลี้ยงข้าวและเหล้าเป็นการตอบแทนพลทหารที่มาช่วยงาน คิมบอกกับเขียนว่า หลายๆ ครั้งที่หมวดณรงค์ให้ทหารมาช่วยงาน และมักจะมีการเลี้ยงเหล้าแบบนี้เสมอ แม้ว่าจะเป็นการผิดกฎระเบียบก็ตาม เพราะหากทหารเกณฑ์ดื่มเหล้าในค่ายทหาร หรือดื่มเหล้าจากภายนอกค่ายแล้วเมากลับมาในค่าย มักจะถูกสารวัตรทหารที่ประจำอยู่หน้าค่ายกักตัวไว้เสมอ แต่เนื่องจากเป็นการออกไปกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ดังนั้นพวกเราที่ไปช่วยงานจึงไม่ถูกสารวัตรทหารที่หน้าค่ายกักตัวไว้

พฤติกรรมของทหารเกณฑ์ที่มักจะหลบและอู้งานบ่อยๆ จะถูกเพื่อนเรียกว่า “แลน” หมายถึงสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่งคล้ายตะกวด ในบางครั้ง เมื่ออัพอยู่กับคิม เพื่อนๆ มักแซวว่า “สองคนนี้อยู่ด้วยกัน หางพันกันหมดแล้ว” แลนเป็นคำเรียกคนที่ชอบอู้และเอาเปรียบคนอื่นๆ มักเป็นคนเจ้าเล่ห์ที่ค่อยหาทางให้ตัวเองสบายกว่าคนอื่น แต่พฤติกรรมเหล่านี้จะแสดงออกเมื่ออยู่ลับหลังนายทหารเท่านั้น เมื่ออยู่ต่อหน้านายทหารหรือนายสิบ ทั้งอัพและคิมจะขยันขันแข็งกว่าคนอื่น และมักได้รับมอบหมายจากหัวหน้าบก. ให้คอยนำคนอื่นทำงาน เป็นที่รู้กันว่าเมื่ออยู่ลับหลังหัวหน้าหรือนายสิบที่หัวหน้ามอบหมายให้มาคุมทหารทำงานแล้ว ทั้งสองคนก็มักจะแอบอู้อยู่เสมอ จากการสังเกตและการมีส่วนร่วมไม่ใช่เพียงอัพกับคิมเท่านั้นที่แลน ทหารเกณฑ์คนอื่นๆ รวมทั้งผู้เขียนเองก็แลนด้วยเหมือนกัน เพราะระเบียบปฏิบัติที่แทบจะไม่มีเวลาพักส่วนตัวเลย การแลนจึงเป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างสุนทรียะท่ามกลางกฎระเบียบที่เข้มงวด

เรื่องเล่าที่สอง “เล้าไก่ จะหลบจะอู้ ไปอยู่เล้าไก่”

เล้าไก่เป็นสถานที่หนึ่งที่ทหารเกณฑ์มักใช้อ้างในการอู้งาน หมู่ดง นายสิบประจำหน่วยบก. เป็นคนชื่นชอบการเลี้ยงไก่ชนเป็นอย่างมาก และคิมก็ชื่นชอบไก่ชนเช่นกัน คิมสนิทกับหมู่ดงมากกว่าทหารเกณฑ์คนอื่น และได้รับมอบหมายจากหมู่ดงให้ช่วยดูแลไก่ชนให้ บ่อยครั้งที่คิมจะอ้างว่าไปเล้าไก่ของหมู่ดง เพื่อหลบเลี่ยงงานในวันเสาร์ อาทิตย์ และกิจกรรมหนึ่งที่บรรดาทหารเกณฑ์เกลียดคือการเข้ารับการอบรมโดยนายทหารในช่วงหัวค่ำของทุกวันตั้งแต่เวลา 18.30 น. จนถึงเวลา 20.30 น. โดยทหารทุกคนในค่าย ไม่ว่าจะอยู่หน่วยใด จะต้องไปรวมตัวกัน เพื่อรับการอบรมจากนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ทหารเกณฑ์ส่วนใหญ่ไม่ชอบเข้ารับการอบรม เนื่องจากต้องนั่งฟังในทหารชั้นผู้ใหญ่อบรมเป็นเวลาสองชั่วโมง ผู้คนเห็นว่าในเวลานี้ควรเป็นเวลาพักผ่อน ควรเป็นเวลาส่วนตัว หลายคนหาช่องว่างในการหลบเลี่ยงไม่เข้ารับการอบรมนี้ หลังจากเสร็จงานในแผนกในเวลา 16.30 น. แล้ว คิมมักอ้างเสมอว่าไปเล้าไก่และจะหายไปจนกระทั่งทุกคนไปเข้ารับการอบรมหมดแล้ว คิมจึงจะกลับมาที่หน่วย หลังจากที่คิมใช้วิธีนี้อยู่หลายครั้ง เต้เพื่อนสนิทคนหนึ่งของคิมก็ใช้ข้ออ้างนี้ในการหลีกเลี่ยงการเข้าอบรมเช่นกัน แม้ทหารเกณฑ์หลายคนจะไม่พอใจที่คิมและเต้ทำเช่นนี้ แต่ก็ไม่มีใครกล้าฟ้องหมู่ดง เพราะหมู่ดงมักจะพูดกับพลทหารเสมอว่า “ทหารไม่ฆ่าน้อง  เป็นทหารไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน หมู่เกลียดคนขี้ฟ้องที่สุด” ทุกคนเกรงว่าเมื่อฟ้องหัวหน้าบก. หรือฟ้องหมู่ดงแล้วจะถูกหมู่ดงลงโทษ เพราะนอกจากสิบเวรแล้ว หัวหน้าบก. ยังได้มอบหมายให้หมู่ดงดูแลพลทหารด้วย เล้าไก่และหมู่ดงจึงเปรียบเสมือนเกราะกำบัง เป็นข้ออ้างในการหลบเลี่ยงจากการใช้งานและหลังเข้าอบรมของทหารเกณฑ์ นอกจากคิมและเต้แล้วภายหลังมีอัพและโก้ เพื่อนทหารเกณฑ์อีกคนหนึ่งร่วมด้วยจนหลายคนเรียกพวกเขาว่าแก๊งเล้าไก่ และมักใช้ข้ออ้างการไปเล้าไก่เพื่อหลบเลี่ยงการเข้าแถวเคารพธงชาติในหยุดอีกด้วย สาเหตุหนึ่งมาจากความขี้เกียจในการใส่ชุดฝึกในวันหยุด เพราะในวันหยุดหากไม่ได้เข้าเวร บรรดาพลทหารก็มักจะใส่ชุดลำลอง เนื่องจากใส่สบายกว่าและไม่อึดอัดเหมือนชุดฝึก นอกจากแก๊งเล้าไก่ที่ใช้เล้าไก่เป็นข้ออ้างในการหลบเลี่ยงการเข้ารับการอบรม แล้วทหารคนอื่นก็มีวิธีในการหลบเลี่ยงการเข้าอบรมเช่นกัน  บางคนอ้างว่าไม่สบาย บางคนใช้วิธีการแลกเวรกับเพื่อน ในผลัดที่ 1 เนื่องจากเวรพลัดที่ 1 เข้าเวรตั้งแต่เวลา 18.00 น. จนถึง 20.00 น. ดังนั้นระยะเวลาตั้งแต่ 20.00 น. จนถึง 21.00 น. ก่อนเข้านอน พวกเขาจะมีเวลาว่างในการทำธุระและใช้ชีวิตส่วนตัวมากกว่าคนอื่น

เรื่องเล่าที่สาม “แอบดื่มเหล้าในค่ายทหาร”

หลายครั้งที่ผู้เขียนอยู่ในสถานการณ์แอบดื่มเหล้าในโรงนอนตอนกลางคืน แม้ในค่ายจะมีการห้ามทหารดื่มเหล้า แต่ก็มีร้านค้าที่ขายเหล้า ให้กับเหล่านายทหารและนายสิบ มีบางร้านที่แอบขายให้กับพลทหารเช่นกัน ป่าคำเป็นเมียนายทหารคนหนึ่งในค่ายที่เปิดบ้านพักเป็นร้านขายของและเป็นแหล่งที่ขายเหล้าให้กับพลทหาร แม้ว่าเราผู้บังคับบัญชาจะทราบว่าป้าคำแอบขายเหล้าให้พลทหาร แต่ก็ไม่มีมาตรการในการจัดการแต่อย่างใด มีเพียงการเข้าไปตักเตือนในบางครั้งเท่านั้น สาเหตุหนึ่งอาจเพราะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าป้าคำขายเหล้าให้กับพลทหาร และหลายครั้งที่มีการจับได้ว่ามีทหารเกณฑ์แอบดื่มเหล้าในค่าย จะไม่มีทหารเกณฑ์คนใดบอกว่าซื้อมาจากป้าคำเลย สาเหตุหนึ่งผู้เขียนมองว่า เพราะป้าคำเป็นแหล่งเดียวที่พวกเขาจะสามารถหาซื้อเหล้าได้ ครั้งแรกที่ผู้เขียนแอบดื่มเหล้าในค่ายทหารในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ.2557 ในตอนนั้นผู้เขียนและเพื่อนทหารเกณฑ์คนอื่นๆ พึ่งเข้ามาอยู่ในหน่วยหลังจากฝึกเสร็จได้ประมาณ 1 เดือน หลังจากปิดประตูและปิดไฟเข้านอนเรียบร้อยแล้ว นุ เพื่อนทหารเกณฑ์คนหนึ่ง ได้ชวนทหารเกณฑ์คนอื่นมาที่ข้างๆ เตียงนอนของผู้เขียน ซึ่งอยู่มุมห้อง ภายใต้แสงไฟที่เล็ดลอดเข้าตามช่องประตูและช่องหน้าต่างเข้ามา และแสงสว่างจากโทรศัพท์มือถือ นุหยิบขวดเหล้าในตู้เก็บของของเขาออกมาพร้อมกับแก้วหนึ่งใบ จากนั้นคนอื่นก็นำขนมที่เขาเตือนเอาไว้ในตู้ออกมาเป็นกับแกล้ม พวกเรานั่งล้อมวงกินเหล้ากันภายใต้ความมืดโดยอาศัยแสงไฟจากโทรศัพท์ตั้งแต่เวลา 21.00 น.จนกระทั่งผู้เขียนต้องไปเข้าเวรในเวลา 22.00 น. ผู้เขียนจึงผละออกจากวงเหล้าไปเข้าเวร เมื่อผู้เขียนกลับมาอีกทีในเวลาเที่ยงคืนทุกคนก็แยกย้ายกันเข้านอนหมดแล้ว หลายวันต่อมาเมื่อผู้เขียนคุยกับไกร ทหารเกณฑ์รุ่นพี่คนหนึ่งก็ทราบว่าในคืนเดียวกัน พวกทหารเกณฑ์รุ่นพี่ที่อยู่อีกห้องหนึ่งก็แอบดื่มเหล้าเช่นกัน สาเหตุหนึ่งที่ทหารเกณฑ์แอบกินเหล้าได้เนื่องมาจากสิบเวรไม่ได้อยู่ประจำโรงนอนเหมือนเช่นหน่วยทหารหน่วยอื่น เมื่อพลทหารปิดไฟนอนหมดแล้วสิบเวรจะไปอยู่ประจำในตึกกองบังคับการแล้วจะกลับมาที่โรงนอนอีกทีเพื่อเป่านกหวีดปลุกในตอนเช้า

เมื่อมีทหารเกณฑ์ผลัดใหม่เข้ามา ทหารเกณฑ์ในรุ่นของผู้เขียนได้ย้ายไปนอนห้องเดียวกับทหารเกณฑ์รุ่นพี่ และได้สนิทกันมากขึ้น มีการชวนกันกินเหล้าตอนกลางคืนอยู่บ่อยครั้ง ครั้งหนึ่งหัวหน้าสั่งให้พัฒนาโรงนอน หลังจากทำการพัฒนาโรงนอนเสร็จแล้ว โก้ ทหารรุ่นทหารเกณฑ์รุ่นเดียวกับผู้เขียนนำโต๊ะเก้าอี้ที่ไม่ได้ใช้ในโรงเก็บของ ไปไว้หลังห้องน้ำ จัดไว้เป็นสถานที่สำหรับกินเหล้ากันในตอนกลางคืน สาเหตุหนึ่งที่เลือกสถานที่นี้จัดเป็นสถานที่สำหรับกินเหล้าในตอนกลางคืนก็เพราะว่าสิบเวร จ่ากองและหัวหน้าบก. มักจะไม่เดินมาบริเวณหลังห้องน้ำซึ่งเป็นทางระบายน้ำที่มีตะไคร่น้ำ พื้นแฉะและอยู่ติดกับคลังเก็บสิ่งของของหน่วยทหารอีกหน่วยหนึ่ง และเมื่อมาตรวจโรงนอน มักจะมีการตรวจเฉพาะหน้าโรงนอนหรือหน้าห้องน้ำเท่านั้น สถานที่จัด หลังห้องน้ำนี้จึงเป็นสถานที่นัดกินเหล้าของพวกผู้เขียนและพวกทหารเกณฑ์รุ่นพี่อยู่บ่อยครั้ง แม้ว่าการดื่มเหล้าในค่ายจะเป็นการผิดระเบียบ แต่ก็มีการแอบกินเหล้าอยู่เป็นประจำ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ทหารเกณฑ์ไม่ถูกจับได้ว่าแอบกินเหล้าในค่ายคือการพยายามเอาใจสิบเวร หากสิบเวรคนไหนสนิทกับพลทหารก็มักจะไม่ค่อยเข้มงวดและไม่มาตรวจตาในตอนกลางคืน ทหารเกณฑ์คนไหนทำให้นายทหารเวรไม่พอใจมักจะถูกเพ่งเล็ง ครั้งหนึ่ง เต้าหู้  ทหารเกณฑ์รุ่นพี่ของผู้เขียนแอบดื่มเหล้ากับเพื่อนรุ่นพี่อีก 2 คน แต่เนื่องจากสิบเวรวันนั้น ไม่ชอบพฤติกรรมของรุ่นพี่อีก 2 คนที่เต้าหู้กินเหล้าด้วย ดังนั้นในคืนนั้นพวกเขาจึงถูกจับได้ว่าแอบดื่มเหล้าและถูกทำโทษ

เรื่องเล่าที่สี่ “รวมตัวประท้วงขอลา”

ชีวิตในค่ายที่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ตลอด 24 ชั่วโมง  การลากลับบ้านเป็นสิ่งมีค่าที่สุดสำหรับชีวิตทหารเกณฑ์  ในช่วงกลางปีของปี พ. ศ. 2557  มีการตรวจประเมินค่าย และเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตรวจประเมินค่าย จึงมีการงดลาสำหรับพลทหาร เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรับตรวจประเมินค่ายเป็นเวลา 1 เดือน แต่หลังจากการตรวจประเมินค่ายแล้ว ปรากฏว่าไม่ผ่านการตรวจประเมิน ผู้บังคับบัญชาจึงได้มีคำสั่งให้งดลาต่ออีก 1 เดือนทำให้ทหารเกณฑ์ส่วนใหญ่ไม่พอใจ แต่ก็ไม่สามารถโต้แย้งอะไรได้ อัพบ่นกับผู้เขียนว่า “พลทหารการลาสำคัญที่สุด เป็นสิทธิประโยชน์ของเรา  ไม่ได้ลามา 2 เดือนแล้ว ทีใช้งานพวกเราใช้เอาใช้เอา ไม่เคยเห็นใจ เราก็คนเหมือนกัน คอยดูถ้าวันไหนไม่มีพวกเราแล้วจะรู้สึก ทหารที่เหลืออยู่มีไม่พอแน่ กว่าทหารใหม่จะมาอีกนาน” ในช่วงเวลานั้นทุกคนในหน่วยต่างยินยอมพร้อมใจอู้งาน ครั้งหนึ่งผู้เขียนและบรรดาพลทหารคนอื่นๆ แอบอู้งานอยู่หลังโรงนอน ไม่ยอมขึ้นแผนกของตนเอง จนกระทั่งมีผู้บังคับบัญชาคนหนึ่งผ่านมาเห็นเข้า พวกเราจึงถูกไล่ให้ไปทำงานตามแผนก เหตุการณ์งดลาครั้งนี้ทำให้บรรดาทหารเกณฑ์ไม่พอใจผู้บังคับบัญชาเป็นอย่างมาก มีการนินทาลับหลัง ตลอดเวลา จนกระทั่งพวกเขาได้ลา ผู้เขียนจึงได้ยินคนบ่นน้อยลง และเงียบไปในที่สุด

อีกเหตุการณ์หนึ่ง ในช่วงปลายเดือนกันยายนเขียนต้นตุลาคม เป็นช่วงที่ผู้เขียนใกล้ปลดประจำการมีหลายคนขออนุญาตลาเพื่อไปหางานทำหลังจากปลดประจำการ แต่ไม่ได้รับอนุญาต คิมบ่นกับผู้เขียนว่า “ไม่เข้าใจ เดือนหน้าก็ปลดแล้ว ลาไปสมัครงานทำไมไม่ให้ลา” อัพซึ่งนั่งอยู่ด้วยกันเสริมขึ้นมาว่า “มันกลัวเราได้ดีกว่า เลยไม่ให้ลา” จากนั้นทหารเกณฑ์ผลัดปลดจึงรวมตัวกันเข้าไปหาหัวหน้าบก. เพื่อขอลา สำหรับคนที่จะไปหางานทำ หลังจากการเข้าพบครั้งนั้นก็ได้มีการอนุญาตให้คนที่จะไปสมัครงานลาได้สามวัน แต่ต้องนำหลักฐานการสมัครงานมายืนยันด้วย มีหลายคนที่นำหลักฐานการสมัครงานมายืนยัน แต่ความจริงแล้วมิได้ไปสมัครงาน นุกล่าวกับผู้เขียนว่า “ได้ออกจากค่ายแค่วันสองวันก็ยังดี ดีกว่ามาถูกใช้อยู่ในค่าย” การลาจึงมีความสำคัญกับทหารเกณฑ์ในฐานะที่เป็นเครื่องใหม่หนึ่งในการทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากการครอบงำของอำนาจและกฎระเบียบไปชั่วขณะหนึ่ง แม้เพียงวันเดียวก็ยอม

จากเรื่องเล่าทั้งสี่เรื่องที่กล่าวมาแสดงให้เห็นถึงการพยายามขัดขืนและต่อต้านกฎระเบียบของบรรดาพลทหาร การหลบเลี่ยง การแลน การแอบดื่มเหล้าจึงเปรียบเสมือนอาวุธของผู้ด้อยอำนาจอย่างทหารเกณฑ์ [3] ในความหมายของ James C. Scott (1985.) (บุญเลิศ. 2558. น. 318) และการต่อต้านของทหารเกณฑ์นี้ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้กับสังคมของทหารเกณฑ์ในเชิงโครงสร้าง แม้ว่าทหารเกณฑ์หลายคนจะรับรู้และเข้าใจว่าชีวิตของทหารเกณฑ์นั้นถูกกดขี่และขูดรีดอยู่ตลอดเวลา แต่การต่อต้านของพวกเขาไม่ได้ทำไปเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่มีการกดขี่นี้ พวกเขาทำไปเพียงเพื่อเอาตัวรอด โดยที่พวกเขาเองมิได้ตระหนักว่าการกระทำเหล่านี้เป็นการต่อต้านรูปแบบหนึ่งตามความคิดของ James C. Scott (1985.) (ยุกติ. 2556. น.26; Scott 1989. pp. 7) เพื่อความสะดวกสบายในระหว่างที่เป็นทหารเกณฑ์ ในส่วนนี้ผู้เขียนมองว่าเพราะพวกเขาเข้ามาเป็นทหารบางคนเป็นแค่ 6 เดือน บางคนเป็น 1 ปี อย่างมากก็เป็น 2 ปีดังนั้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมทหารจึงไม่จำเป็นสำหรับพวกเขาและเป็นไปไม่ได้เลยหากพวกเขาคิดจะทำเช่นนั้นจริงๆ ในขณะที่การหลบงาน การอู้งานจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุดของพวกเขาในการแสวงหาความอิสระแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ยังดี

บทสรุป

ในงานเขียนชิ้นนี้ ผู้เขียนพยายามนำเสนอแง่มุมของทหารเกณฑ์ที่แตกต่างไปจากเรื่องเล่าในสังคมที่มองว่าทหารเกณฑ์มีแต่เรื่องของการกดขี่ถูกข่มเหงหรือการขาดสิทธิประโยชน์หลายๆ อย่างในงานชิ้นนี้ผู้เขียนได้นำเสนอแง่มุมอื่นที่นอกเหนือไปจากสังคมรับรู้ มุมมองของทหารเกณฑ์ในฐานะที่ไม่ได้ถูกกดขี่แต่ เพียงอย่างเดียว แต่เรามีการต่อรอง ต่อต้าน และขัดขืนอยู่ตลอดเวลาถึงกระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้จะเหมารวมว่าทหารเกณฑ์ทั่วประเทศจะเป็นเช่นนี้เพราะสิ่งที่ผู้เขียนเล่ามาทั้งหมด ในบทความชิ้นนี้มาจากประสบการณ์ของผู้เขียนในฐานะทหารเกณฑ์ในค่ายแห่งหนึ่งเท่านั้น แม้ว่าทหารจะมีกฎระเบียบที่ใช้เหมือนกันทั่วประเทศ แต่ความเข้มงวดของกฎระเบียบเหล่านั้นก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติและมุมมองของผู้บังคับบัญชาแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป และค่ายทหารแต่ละที่ก็มีวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เราไม่อาจเหมารวมได้ว่าค่ายทหารทุกค่ายหรือพลทหารทุกคนจะเหมือนกันหมด ประโยคหนึ่งที่ผู้เขียนได้ยินบ่อยๆ ตลอดระยะเวลาที่เป็นทหารเกณฑ์คือ “ทหารเด็ดขาดแต่ไม่แน่นอน” อย่างที่หมู่ดงบอกกับผู้เขียนว่า  “ทหารเด็ดขาด แต่ไม่แน่นอน คำสั่งนายเป็นสิ่งที่ต้องทำตาม แต่คำสั่งนั้นก็เปลี่ยนแปลงได้เสมอ พลทหารมีหน้าที่ทำตาม มีปากเหมือนมีตูดพูดไม่ได้” ในอีกแง่หนึ่งประโยคนี้บ่งบอกเราว่า แม้กฎระเบียบของทหารจะมีความสำคัญมาก แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาเท่านั้นจึงไม่แปลกที่เราจะเห็นผู้มีอำนาจในบ้านเมืองบางคนบอกให้เราเคารพกฎหมาย แต่ก็มีคำสั่งที่ขัดแย้งกับตัวบทกฎหมายเอง แล้วอ้างเหตุเพราะมีความจำเป็นเร่งด่วน

เรื่องราวของอ้วน ปั๊กและเจมส์เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมาเล่าเพื่อแสดงให้เห็นว่าแม้ในสังคมทหารที่ดูเหมือนจะพรากเวลาและโอกาสในชีวิตของใครหลายๆ คนไป ในขณะเดียวกันก็สร้างชีวิตใหม่ให้กับใครอีกหลายคนเช่นกัน งานเขียนชิ้นนี้ผู้เขียนไม่ได้จะปกป้องหรือยกย่องสถาบันทหารแต่อย่างใด พียงแต่หวังว่าอาจจะช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ สำหรับใครหลายๆ คนที่มองทหารแต่ในแง่ลบด้านเดียวเสมอมาและเหมารวมว่าการเกณฑ์ทหารเลวร้ายไปเสียหมด ผู้เขียนเชื่อเสมอว่า ไม่ว่าสถานการณ์ที่มนุษย์เราเผชิญจะเลวร้ายอย่างไร มันมีมุมมองในการมองสถานการณ์นั้นมากกว่าหนึ่งมุมมองเสมอ เพียงแต่เราอาจจะยังมองไม่เห็นมันเท่านั้นเอง

ในส่วนของเรื่องราวทหารหน่วยบก.  ผู้เขียนยกขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ภายใต้สถานการณ์ที่บีบบังคับ ภาวะที่ดูเหมือนจะสูญสิ้นอิสรภาพ แต่คนเราก็ยังสามารถหาทางเลือกในการเอาตัวรอดได้เสมอ บางที ท่ามกลางปัญหาวิกฤตต่างๆ ในบ้านเมืองขณะนี้อาจจะมีทางออกที่เรายังมองไม่เห็นอยู่ก็เป็นได้ ผู้เขียนเชื่ออย่างนั้น และหวังว่าจะเป็นเช่นนั้น

เอกสารอ้างอิง

ภาษาไทย

ทองกร โภคธรรม (แปล.). 2554. ร่างกายใต้บงการ. กรุงเทพฯ : คบไฟ.

บุญเลิศ  วิเศษปรีชา. 2558. “นักบุญกับคนบาปและศีลธรรมบนท้องถนน: ชีวิตคนไร้บ้านในมะนิลา”. ชุมทาง  อินโดจีน: เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปริทัศน์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 7 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2558): 304-321

ยุกติ มุกดาวิจิตร. 2556. วัฒนธรรมต่อต้าน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

ภาษาอังกฤษ

Kanaaneh, Rhoda. 2005. Boys or Men? Duped or “Made”? Palestinian Soldiers in the Israeli  Military. In American Ethnologist, Vol. 32, No. 2 (May, 2005), pp. 260-275

Douglas, Mary. 1966. Purity and Danger: An analysis of concepts of pollution and taboo. London: Routledge & Kegal Paul

Scott, James C. 1985. Weapons of the Weak: Everyday Forms of Peasant Resistance.      New Heaven: Yale University Press.

——. 1989 “Everyday forms of resistance,” pp. 3-33 in Forest D. Colbum (ed.), Everyday Forms of Peasant Resistance. Armonk: M.

Turner, Victor W. 1969. The Ritual Process : Structure and Anti-structure. Chicago :        Aldine Pub. Co.


[1] ในแต่ละปีจะมีการเกณฑ์คนเข้ารับราชการทหารจำนวนสองผลัดคือเดือนพฤษภาคมและเดือนพฤศจิกายน ผู้เขียนได้เข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2556 จะถูกเรียกว่าทหารผลัด 2/56

[2] ประโยคนี้ของหมู่โยชวนให้ผู้เขียนนึกถึงประโยคของมิแช็ล ฟูโกต์ที่บอกว่า “ล้างเอาความเป็นชาวนาออกจากร่างกายคน แล้วสวมลักษณะทหารเข้าไป” (ทองกร. 2554. น.4) มันช่างคล้ายกันมากจนผู้เขียนคิดไปว่าหมู่โยอาจจะเคยอ่านฟูโกต์มาหรือเปล่านะ

[3] ในเชิงอำนาจและการบังคับบัญชาทหารเกณฑ์อยู่ในลำดับชั้นล่างสุดของสายการบังคับบัญชา มีหน้าที่เป็นเพียงพลลูกมือ ไม่มีอำนาจตัดสินใจใดๆ แต่ในระหว่างการฝึก ทหารเกณฑ์จะถูกสอนเสมอว่า ในหน่วยทหาร พลทหารสำคัญที่สุด ไม่มีพลทหารหน่วยทหารก็อยู่ไม่ได้

เกี่ยวกับผู้เขียน

40635138 10204915230637107 6061875369370189824 N

ฮอล aka Manotch นักเรียนมานุษยวิทยาจอมเกียจคร้าน ผู้ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ยอมเขียนวิทยานิพนธ์ ขี้เกียจคุยกับคนเลยหันไปคุยกับพืช สาธุ

Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด

เรื่องที่คล้ายกัน