Skip to content

Anticipating the Futures: มานุษยวิทยาว่าด้วยอนาคต

เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมวิชาการด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาครั้งที่ 2 วันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2563 ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มี panel หนึ่งที่น่าสนใจว่าด้วย “วิธีวิทยาในโลกที่พลิกผัน” ว่าด้วยการศึกษามานุษยวิทยาท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงโลกในปัจจุบัน โดยเล่าผ่านประสบการณ์ ผลงานและสนามที่วิทยากรสนใจ วิทยากรที่มานำเสนอล้วนเป็นอาจารย์ผู้บ่มเพาะความเป็นสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาให้ผู้เขียน แต่มีหัวข้อหนึ่งที่ค่อนข้างใหม่สำหรับผู้เขียน คือ “มานุษยวิทยาอนาคต” (Anthropology of the Future) โดย รศ.ดร.จักรกริช สังขมณี ที่แนะนำแนวทางศึกษามานุษยวิทยาแบบใหม่ และแนะนำหนังสือเกี่ยวกับการศึกษาอนาคตมากมายให้ได้ไปอ่านจนสามารถเขียนนำไปคิดและเขียนออกมาได้ 

ก่อนที่จะแนะนำเรื่องอนาคต ผู้เขียนขอนำพาย้อนกลับไปคิดถึงช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา หลังจากผ่านพ้นปี ค.ศ. 2020 มาจนถึงปี 2021 ที่เราทุกคนยังคงต้องเผชิญผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 อยู่ การแพร่ระบาดของโรคก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ การท่องเที่ยวระหว่างประเทศและการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ การสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้านกลายเป็นเรื่องปกติของคนทั่วไป หากเราย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 2019 ในตอนนั้น เราทุกคนใช้ชีวิตกันโดยไม่มีใครคาดการณ์ว่าในปีต่อมา โรคระบาดจะแพร่กระจายไปในวงกว้างจนได้รับผลกระทบมาถึงการใช้ชีวิตของมนุษย์ในระดับนี้ ทุกคนต่างคาดหวังให้ปีต่อมาเป็นปีที่ดี จากปรากฏการณ์นี้เราได้เห็นความไม่แน่นอน (uncertain) ของอนาคต 

มนุษย์จินตนาการอนาคตไว้หลากหลายรูปแบบ เรื่องนี้สามารถพบเห็นได้จากภาพยนตร์ การ์ตูน นิยาย อนาคตหลายแบบที่ถูกจินตนาการขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอนาคตที่โลกล่มสลาย มนุษยชาติต้องต่อสู้กับซอมบี้หรือมนุษย์ต่างดาว อนาคตที่มนุษย์คิดค้นเทคโนโลยีอันล้ำสมัย อนาคตที่มนุษย์ย้ายไปอยู่ดาวดวงอื่น เห็นได้ว่ามนุษย์มีวิธีการคิดถึงอนาคตออกมาหลากหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตาม อนาคตนั้นไม่เคยแน่นอนและไม่เป็นตามที่เราหวังเสมอไป ในชื่อบทความนี้ผู้เขียนได้เติมตัว s ไว้ท้ายคำว่า future เพื่อแสดงให้เห็นว่าอนาคตนั้นสามารถเป็นไปได้หลายทิศทาง แต่ว่าคนเราสามารถมองอนาคตร่วมกันได้หรือไม่? สมาชิกครอบครัวอาจมีความคาดหวังต่อชีวิตครอบครัวในแบบเดียวกัน แต่ว่าในระดับสังคมที่ใหญ่ออกไป คนในเมืองมีความคาดหวังต่ออนาคตแบบเดียวกับคนในชนบทหรือเปล่า? หรือคนที่อยู่อีกฟากหนึ่งของโลกมีจินตนาการถึงอนาคตแบบเดียวกับเราหรือไม่?

ในช่วงศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา มนุษย์ได้เผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่ ภัยก่อการร้าย ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ วิกฤติทางการเงิน ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้มนุษย์เริ่มคาดการณ์และคิดเกี่ยวกับอนาคตอันไม่แน่นอนนี้มากขึ้น มานุษยวิทยาเองเป็นหนึ่งในศาสตร์ที่หยิบยกเอาเรื่องอนาคตมาเป็นประเด็นศึกษา โดยแต่เดิมนั้นมานุษยวิทยามักจะให้ความสำคัญกับเบื้องหลังหรือภูมิหลังของสิ่งที่จะศึกษา ซึ่งหมายถึงการพูดถึงความสำคัญของอดีตที่มีต่อสิ่งที่จะศึกษาในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามมานุษยวิทยาอนาคตจะพาเราไปสนใจปัจจุบัน-อนาคต (present-future) ซึ่งหมายถึงการกระทำในปัจจุบันที่ส่งผลต่ออนาคต หรือการกระทำในปัจจุบันอันเกิดจากความความหวังต่ออนาคตแบบใดแบบหนึ่ง บทความนี้จะนำพาเราไปทำความรู้จักกับการมองอนาคตผ่านมุมมองแบบมานุษยวิทยา และแนะนำตัวอย่างของการใช้อนาคตมาเป็นวิธีการทำงาน (future as a method) ในการศึกษาสังคมและจินตนาการต่อสังคมที่เราอาศัยอยู่นี้

มานุษยวิทยากับการศึกษาอนาคต

สำหรับคนที่คุ้นเคยกับนักคิดด้านมานุษยวิทยาร่วมสมัย คงต้องรู้จัก Arjun Appadurai อย่างแน่นอน อัปปาดูรัยได้เขียนบทความหนึ่งชื่อว่า The Future as Cultural Fact (2013) โดยชี้ว่าจริงๆ แล้วมานุษยวิทยาก็ทำงานกับอนาคตด้วยงานเขียนเชิงชาติพันธุ์วรรณนามาตั้งนาน ยกตัวอย่างงาน Witchcraft, Oracles and Magic Among the Azande ของ E.E. Evans-Pritchard ซึ่งเป็นงานศึกษาปฏิบัติการของแม่มดและเวทย์มนต์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดวงชะตา งานศึกษานี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมการจัดการกับอนาคตที่ไม่แน่นอนผ่านโหราศาสตร์ (astrology) การทำนาย (prediction) นอกจากนี้อัปปาดูรัยยังชี้ให้เห็นว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างอนาคต และการประกอบสร้างอนาคตของมนุษย์สามารถคาดเดาและมีรูปแบบของมัน เพราะว่าอนาคตคือวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่ง (cultural fact) (Appadurai, 2013, 285) และอนาคตถูกกำกับด้วย cultural capacity ของคนในวัฒนธรรม ทำให้อนาคตมีลักษณะเหมือนกับภาษา ค่านิยมทางสังคม ประวัติศาสตร์หรือระเบียบทางสังคม เขายกตัวอย่างการคาดหวังชีวิตที่ดีในแต่ละสังคม ในยุคที่แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยขยายวงกว้างขึ้น ประเทศที่ไม่ได้ปกครองแบบประชาธิปไตย ก็อาจมีจินตนาการร่วมถึงอนาคตที่ประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย (Appadurai 2013, 290) 

วิธีคิดแบบนี้ยังสามารถนำมาใช้อธิบายการมองอนาคตผ่านศาสนาได้ด้วยเช่นกัน คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทแบบไทยอาจมีจินตนาการต่อโลกหลังความตายร่วมกันในเรื่องของการทำบุญเพื่อให้ได้ขึ้นสวรรค์ และหากทำความชั่วจะต้องตกนรก จินตนาการเหล่านี้มากำหนดการกระทำในชีวิตประจำวันของพุทธศาสนิกชนให้หมั่นทำบุญ ทำความดี รักษาศีล เมื่อตายไปแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์

จากที่เล่ามาข้างต้นจะเห็นถึงคำสำคัญสำหรับการอธิบายถึงอนาคตไม่ว่าจะเป็น การคาดหวัง หรือจินตนาการ ในการศึกษาอนาคตเราจะพบเห็นคำเหล่านี้ได้แก่ expectation, anticipation, imagination, speculation, potentiality, destiny หรือ hope คำเหล่านี้ถูกนำมาอธิบายในหนังสือ The Anthropology of the Future (Rebecca Bryant and Daniel M. Knight, 2019) และการศึกษาอนาคตจากคำเหล่านั้น ต้องใช้วิธีการมองแบบ “futural orientations” ที่ทำให้งานเขียนเชิงชาติพันธุ์วรรณนาสามารถศึกษาอนาคตได้ 

ชาติพันธุ์วรรณนาว่าด้วยอนาคตไปศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง “future” และ “action” มีตัวอย่างน่าสนใจจากหนังสือที่ยกคำว่า anticipation มาเปรียบเทียบกับ expectation ผ่านปรากฏการณ์ฝนตกว่า เราพกร่มติดตัวเวลาออกไปนอกบ้าน เป็นการคาดว่าฝนจะตก (expect) ส่วน anticipation คือการที่เรารู้สึก ได้กลิ่นฝน ปิดหน้าต่าง เก็บผ้าที่ตากไว้เป็นการจินตนาการฝนที่อาจจะตกในอนาคต ณ เวลาปัจจุบัน หรือเรียกว่าเป็นการดึงอนาคตมาให้มาอยู่ปัจจุบัน ดังนั้น expectation จะต่างจาก anticipation ในแง่นี้ ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าการคิดคำนึงถึง “อนาคต” ย่อมมีความซับซ้อน และมีเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมที่มากำกับอยู่เสมอ ในระดับสังคม การศึกษาการคาดการณ์สามารถทำได้ผ่านการตามหา “collective anticipation” หรือสิ่งที่สังคม วัฒนธรรมคาดหวังร่วมกัน (Rebecca Bryant and Daniel M. Knight 2019) ในที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤติโรคระบาดเช่นนี้ เราก็ได้เห็นความคาดหวังของมนุษย์ที่จะจัดการกับโรคผ่านโครงการวัคซีนในปัจจุบันจากหลายชาติ นโยบายสาธารณสุขที่พยายามควบคุมการระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตผ่านการจำกัดการเดินทางนานาชาติ เป็นต้น

อีกคำที่น่าสนใจในหนังสือเล่มเดียวกันคือคำว่า hope หรือความหวัง ความหวังคือความรู้สึกถึงความเป็นไปได้ ความพยายามที่จะเชื่อว่าอนาคตที่ดีอยู่ตรงหน้า เป็นการมองอนาคตในรูปแบบที่เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยน “ความเป็นไปได้” ให้กลายเป็น “ความจริง” ขึ้นมาได้ ผู้เขียนได้หยิบยกตัวอย่างเรื่องการนำเอาคำว่า “hope” มาใช้เป็น สโลแกนในการหาเสียงของบารัก โอบาม่า อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2008 ว่าภายหลังจากที่คนอเมริกันต้องเผชิญภัยก่อการร้าย 9/11 พายุเฮอริเคน Katrina และปัญหาเศรษฐกิจ โอบามาได้มอบความหวังและสร้างความคาดหวังใหม่ต่อตัวเขาให้กับมวลชน (Rebecca Bryant and Daniel M. Knight 2019, 134)

โปสเตอร์ Hope โดย Shepard Fairey โปสเตอร์นี้ถูกใช้ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ค.ศ.2018

นักมานุษยวิทยาศึกษาอนาคตผ่านอะไรบ้าง?

ก่อนหน้านี้ เราได้พูดถึงงานศึกษาของนักมานุษยวิทยาในสังคมชนเผ่าที่เกี่ยวกับเวทย์มนต์และการทำนายอนาคตแล้ว มาถึงในยุคปัจจุบัน นักมานุษยวิทยาศึกษาอนาคตอย่างไรและศึกษาอะไรบ้าง? Donna Haraway บอกว่า “SF” สามารถแปลความ/รับรู้ได้หลากหลายความหมายไม่ว่าจะเป็น science fiction, speculative fabulation หรือ string figures มานุษยวิทยาอนาคตเองก็เอาแนวคิดของความเป็นพหุภาวะนี้มาเพื่อใช้ศึกษาอนาคตหลากหลายรูปแบบในกลุ่มการศึกษานี้เรียกว่า speculative anthropologies ทั้งนี้ เนื่องจากเรายังไม่สามารถเดินทางด้วย time machine ไปศึกษานิเวศวิทยา เทคโนโลยีหรือสังคมของอนาคต แบบที่เดินทางไปศึกษาเกาะที่อยู่ห่างไกล หรือหมู่บ้านในภูเขาได้ เนื่องจากอนาคตเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิด ดังนั้นนักมานุษยวิทยาจึงนำเอา speculative หรือ science fictions มาศึกษาผ่านมุมมองมานุษยวิทยาที่พยายามทำความเข้าใจกับ “ความแตกต่าง” ในที่นี้อาจเป็นการพูดถึงสายพันธุ์ที่แตกต่างจากมนุษย์ เช่น การศึกษามนุษย์ต่างดาวในนวนิยายวิทยาศาสตร์ หรือการศึกษาการมองอนาคตผ่านนวนิยายเป็นต้น (Ryan Anderson, Emma Louise Backe, Taylor Nelms, Elizabeth Reddy, and Jeremy Trombley 2018) หากลองนึกถึงภาพยนตร์ เกมหรือนวนิยายเกี่ยวกับโลกหลังยุคที่ซอมบี้หรือหุ่นยนต์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ นั่นคือการใช้จินตนาการมองอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเป็นชาติพันธุ์วรรณนาว่าด้วยอนาคตแบบหนึ่งนั่นเอง

ภาพ Night City จากเกม Cyberpunk 2077 ที่จำลองอนาคตปี 2077

ส่วนตัวผู้เขียนที่เป็นแฟนคลับของซุปเปอร์ฮีโร่ อยากยกตัวอย่างคอมมิคซุปเปอร์ฮีโร่ที่ในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ปี 2021 นี้ DC comics (ค่ายที่ผลิตซุปเปอร์ฮีโร่แบทแมน, และวันเดอร์วูแมน) จะพักการปล่อยเนื้อหาคอมมิคของเดิมทั้งหมดและทดลองปล่อยหนังสือการ์ตูนชุด Future State ที่เป็นการคาดการณ์เรื่องราวของซุปเปอร์ฮีโร่เช่น แบทแมน ซุปเปอร์แมน ทีม Justice League ในโลกอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เนื้อหาในเรื่องเช่น มี Batman คนใหม่เป็นคนผิวสี สภาพเมือง Gotham เหมือนรัฐที่ล่มสลาย ถูกปกครองโดยผู้มีอำนาจ ประกาศกฎอัยการศึก คอมมิคชุดนี้จะถูกปล่อยมาเป็นเวลา 2 เดือน ก่อนจะกลับมาจำหน่ายเนื้อหาเดิมที่ทิ้งท้ายไว้ปีก่อน แนวคิดนี้หากคิดดูอาจเป็นเหมือนการทดลองของนักวิจัย ทดลองดูกระแสตอบรับและความเห็นจากแฟนคลับ หากดีก็เรื่องที่ทดลองปล่อยออกมาก็อาจนำมาเป็นเนื้อหาหลัก ความน่าสนใจของกรณีนี้คือ จากตัวอย่างก่อนหน้านี้ เราเห็นนักมานุษยวิทยาที่ทำงานกับการศึกษาโลกอนาคตผ่านวรรณกรรม ภาพยนตร์ แต่ในคอมมิคชุดนี้เป็น speculative fiction ที่คาดการณ์ถึงอนาคตของคอมมิคอีกทีหนึ่ง จินตนาการว่าด้วยอนาคต (speculative fiction) ถูกทำให้มีชีวิตขึ้นมาได้ (animated) ผ่านเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบันนั่นเอง

ในอีกด้าน เวลาที่พูดถึงมานุษยวิทยาในไทย หลายคนอาจมีภาพงานวิชาการสาธารณะ การพูดถึงประเด็นกลุ่มคนชายขอบ แต่จริงๆ แล้วเริ่มมีการพูดถึงการนำองค์ความรู้ทางมานุษยวิทยาไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์อื่นมากขึ้นที่เรียกว่า applied anthropology เช่นมานุษยวิทยาการแพทย์ มานุษยวิทยาธุรกิจ มานุษยวิทยาพิพิธภัณฑ์ หรือมานุษยวิทยาออกแบบ (design anthropology) ที่ได้นำเอาแนวคิดเรื่องอนาคตมาใช้ในการทำงานเช่นเดียวกัน Sarah Pink นักมานุษยวิทยาผู้สนใจเรื่องการออกแบบ เธอพูดถึงการออกแบบสิ่งต่างๆ ออกมาจำเป็นต้องคำนึงถึงผู้ใช้งาน การนำองค์ความรู้ทางมานุษยวิทยามาใช้จึงจำเป็นต่อการออกแบบ มานุษยวิทยาอนาคตผ่านการออกแบบก็คือการคาดการณ์ถึงประสบการณ์ของผู้ใช้งานวัตถุหรือสิ่งที่กำลังจะคิดค้นออกมา งานที่โดดเด่นของเธอคือเรื่อง future mobilities ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนย้าย การเดินทางในอนาคต เช่น การออกแบบรถยนต์ที่ขับเคลื่อนเองได้ (autonomous driving cars) หรือการทำงานกับนักออกแบบเสียง (sound designer) ในการศึกษาประสบการณ์ต่อเสียงจากรถบนทางหลวง เพื่อนำไปสู่การออกแบบเทคโนโลยีป้องกันเสียงรบกวนในสถานที่สาธารณะ

ชมคลิปวีดิโอที่เธอพูดเกี่ยวกับการนำแนวคิดมานุษยวิทยาอนาคตมาใช้ในการออกแบบได้ที่ “Prof Dr. Sarah Pink: Futures anthropology, emerging technology and anticipating experience”

เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดกว่าเดิม อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือการนำเอาวิธีการทำงานแบบมานุษยวิทยามาสำรวจแนวคิดต่อการอยู่อาศัยในอนาคต งานของ Tony Knight เป็นการทำงานชาติพันธุ์วรรณนาเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับความขัดแย้งของแนวคิดระหว่างนักปศุสัตว์กับนักสิ่งแวดล้อม จากกรณีสุนัขภูเขา Pyrenean ในฝรั่งเศส ในยุค Anthropocene ที่มนุษย์จำเป็นต้องคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติมากขึ้น เขาถามคำถามกับผู้ให้ข้อมูล โดยให้คิดถึงจินตนาการถึงการใช้ชีวิตในโลกอนาคต เขาใช้วิธีการทำงานแบบมานุษยวิทยา ที่เราคุ้นเคยกับวลี “being there” แต่เขาเรียกมันว่า “being in their dwelt-in future reality” เพื่อใช้ present ในการมองให้เห็นถึง future ของผู้ให้ข้อมูล ข้อสรุปของ Knight ชี้ให้เห็นถึงการมองอนาคตที่แตกต่างกันของทั้งสองฝั่ง ฝั่งนักสิ่งแวดล้อมที่มีวิธีคิดพื้นฐานจากวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมมองว่ามนุษย์ไม่ควรเข้าไปยุ่งกับสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ ในขณะที่คนบนภูเขามองเห็นถึงอนาคตของการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) และยังก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่นำพานักท่องเที่ยวที่มาบนภูเขา ที่น่าสนใจไปกว่าคือทั้งสองแนวคิดนี้ไม่ได้ยึดโยงอยู่ระหว่างปัจจุบันและอดีต แต่เป็นการเสนอแนวทางแบบ future-present ที่มองไปยังการมีชีวิตอยู่ในโลกอนาคตระหว่างมนุษยและอมนุษย์ (Tony Knight, 2017, 84-90) 

สรุป: อนาคตของมานุษยวิทยาอนาคต

มานุษยวิทยาว่าด้วยการศึกษาอนาคตเป็นการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อเส้นของเวลาที่เคยมองเวลาเป็นเส้นตรงเส้นเดียว เปลี่ยนเป็นการมองอนาคตที่สามารถเป็นไปได้หลากหลายรูปแบบและแนวทาง (futures) และใช้ future orientation มาศึกษาปัจจุบัน-อนาคต ผ่านความคาดหวัง คาดการณ์หรือจินตนาการของอนาคตมากำกับ ในปัจจุบันมีงานศึกษาที่พูดถึงอนาคตก็ออกมาทั้งในเชิงทฤษฎี งานวิเคราะห์วรรณกรรม ไปจนถึงงานมานุษยวิทยาประยุกต์ที่นำเอาแนวคิดอนาคตในฐานะวิธีวิทยาไปใช้ในการออกแบบสิ่งต่างๆ มากมาย

การทำความเข้าใจอนาคตผ่านมุมมองมานุษยวิทยาทำให้เรารู้ว่ามนุษย์ใช้ชีวิตในปัจจุบันโดยมองไปที่อนาคตรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แม้แต่ผู้เขียนเองก็คาดหวังว่าข้อเขียนสั้นๆ นี้จะสร้างความสนใจให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยนเรื่องอนาคตมากขึ้น หรือจุดประกายความสนใจให้กับเพื่อนและน้องที่เรียนอยู่ในสาขาเดียวกันสนใจมาค้นคว้าเพิ่มเติม  ในสภาพสังคมปัจจุบันที่ความไม่แน่นอนอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระดับปัจเจกบุคคลอย่างการมีความหวังที่อยากให้คนรักกลับมาคืนดีด้วย ความหวังของการรอคอยการติดต่อกลับมาของบริษัทหรือหน่วยงานที่ส่งใบสมัครไป ไปจนถึงเรื่องที่ใหญ่ขึ้นกว่านั้น อนาคตทางการศึกษาของเด็กที่อยู่บนภูเขา ความหวังที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือในทางตรงกันข้ามดำรงไว้ซึ่งการปกครองแบบเดิมของสองขั้วทางการเมืองไทย และประเด็นอื่นๆ อีกมากมายที่น่าสนใจ การทำความเข้าใจปรากฏการณ์เหล่านี้จะสมบูรณ์ไปไม่ได้เลย ถ้าเราไม่มีมิติการมองอนาคตในการศึกษาสังคม

References

Arjun, Appadurai. 2013. The Future as Cultural Fact. London: Verso.

DC Comics. 2020. DC FUTURE STATE GIVES FANS A LOOK AT THE FUTURE OF THE DC UNIVERSE THIS JANUARY!. Accessed January 20, 2021. https://www.dccomics.com/blog/2020/10/15/dc-future-state-a-glimpse-into-the-future-of-the-dc-universe

Rebecca, Bryant and Daniel M. Knight. 2019. The Anthropology of the Future. Cambridge: University Printing House.

Ryan Anderson, Emma Louise Backe, Taylor Nelms, Elizabeth Reddy, and Jeremy Trombley. 2018. “Introduction: Speculative Anthropologies” Accessed January 18, 2021. https://culanth.org/fieldsights/introduction-speculative-anthropologies

Tony, Knight. 2017. “Pyrenean rewilding and ontological landscapes: A future(s) dwelt-in ethnographic approach”. In Anthropologies and Futures: Researching Emerging and Uncertain Worlds, edited by Juan Francisco Salazar, Sarah Pink, Andrew Irving and Johannes Sjoberg, 83-100. London: Bloomsbury Academic.

***บันทึกการเสวนา หัวข้อ “วิธีวิทยาในโลกที่พลิกผัน” โดย SASA
(ส่วนที่พูดถึงมานุษยวิทยาอนาคตตั้งแต่ 01.08.40 เป็นต้นไป) https://www.facebook.com/thacas2020/videos/160931312382570

เกี่ยวกับผู้เขียน

S 590059

นักเรียนมานุษยวิทยา ป.ตรีเรียนที่ธรรมศาสตร์ มาต่อป.โทที่จุฬา แต่บ้านอยู่เกษตร

Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด