Skip to content

แม้ถูกพรากความเป็นมนุษย์ไป แต่ความหวังยังคงอยู่: กรณีศึกษาชีวิตในค่ายกักกันนาซีผ่านมุมมองมานุษยวิทยาความหวัง

“… เขาพุ่งตัวมายังผมเหมือนสัตว์ป่าที่ดุร้าย ทุบตีที่หน้าอกและคอของผม ทุ่มผมลงบนพื้นและดึงผมขึ้นมาทำร้ายผม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า … จนเลือดอาบร่างกายของผม … แต่จู่ ๆ เขา [ผู้ปฏิบัติการนาซี] ก็สงบลงทันทีแล้วส่งผมไปทำงานต่อ โดยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น” (Wiesel, 2006, 53)

ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งจากความทรงจำของคุณเอลลีเอเซอร์ วีเซิล (Eliezer Wiesel) ในช่วงเวลาที่เขาถูกจองจำอยู่ในค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ (Auschwitz Concentration Camp) การถูกผู้ปฏิบัติการ (perpetrator) ในระบอบนาซีพุ่งเข้ามาทำร้ายโดยไม่มีปี่มีขลุ่ยนั้นถือเป็นเรื่องปกติที่เหยื่อทุกคนต้องเผชิญ ซึ่งเหตุการณ์อันแสนโหดร้ายผิดมนุษย์มนาเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นประจำในค่ายมรณะนาซีอยู่แล้ว หากเราศึกษาบันทึกความทรงจำของเหยื่อผู้รอดชีวิตรายอื่นก็จะพบกับความทรงจำในทำนองนี้เช่นเดียวกัน จากการที่ผู้เขียนได้ศึกษาบันทึกความทรงจำจำนวนหนึ่งของเหยื่อผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันนาซี ประกอบกับความสนใจในประเด็นเรื่องศาสตร์มานุษยวิทยาความหวัง (Anthropology of Hope) นำไปสู่การตั้งคำถามว่า เหยื่ออดทนต่อความรุนแรงเช่นนี้ได้อย่างไร อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เหยื่อตัดสินใจที่จะต่อสู้เพื่อที่จะมีชีวิตต่อในวันพรุ่งนี้ อะไรคือความหวังของเหยื่อ และสภาวะแวดล้อมที่เปรียบเสมือนนรกบนดินนี้สามารถสร้างความหวังให้เหยื่อได้หรือไม่และอย่างไรบ้าง

น่าสนใจที่ผู้เขียนยังไม่พบงานด้านมานุษยวิทยาความหวังที่เกี่ยวข้องกับเหยื่อในค่ายกักกันนาซีเลย แต่ผู้เขียนกลับพบว่านักมานุษวิทยามักใช้แนวคิดนี้ในการศึกษาความหวังภายในค่ายผู้ลี้ภัย มีงานศึกษาจำนวนหนึ่งเสนอว่า สภาพแวดล้อมและประสบการณ์อันไม่พึงปรารถนาในค่ายผู้ลี้ภัยนั้นไม่ถือเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความหวังอันเป็น ความหวังที่ปลายอุโมงค์ (Radical hope)[1] ของผู้ลี้ภัยเลย ประเด็นนี้กระตุ้นให้ผู้เขียนในฐานะคนที่สนใจประเด็นด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนตั้งคำถามต่อว่า ความหวังเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมของค่ายกักกันนาซีได้ไหม ความหวังเหล่านั้นเกิดขึ้นอย่างไร ความหวังทำงานอย่างไร และความหวังส่งผลกระทบต่อเหยื่อจากเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust) ในช่วงเวลาที่ถูกจองจำในค่ายกักกันนาซีอย่างไรบ้าง ในการพยายามหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ ผู้เขียนได้เลือกใช้เอกสารชั้นต้นประเภทบันทึกความทรงจำของผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวสองท่านคือ คุณเอลลีเอเซอร์ วีเซิล (Eliezer Wiesel) และคุณ เอบบราแฮม โซโลมอน เจคุโบวิคซ์ (Abraham Salomon Jakubowicz) มาประกอบการศึกษาวิเคราะห์ในครั้งนี้ ผู้เขียนเลือกคุณวีเซิล เพราะบันทึกความทรงจำของเขาเผยให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมอันแสนโหดร้ายทารุณของค่ายเอาช์วิตซ์ ส่วนบันทึกความทรงจำของคุณเจคุก็เปี่ยมไปด้วยความหวังภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปรียบเสมือนนรกบนดินนี้

ผู้เขียนเห็นว่า การอ่านบันทึกความทรงจำหรือเอกสารที่เกี่ยวกับเหยื่อผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว รวมถึงการพูดถึงความหวังนั้นเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำความเข้าใจประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและเรื่องแก่นสารของความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยปัจจุบันที่สงครามในยูเครนกำลังปะทุอย่างหนัก และยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกมากมายในที่ต่างๆ ทั่วโลก เหตุการณ์อันน่าสลดเหล่านี้ผลักให้คนต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย ผู้คนจำนวนมากต้องพลัดพรากจากครอบครัวหรือคนรัก อีกทั้งผู้บริสุทธิ์ต่างพากันล้มตายและหายสาบสูญ ในฐานะที่เราเป็นเพื่อนมนุษย์ต่อกัน เราจะสามารถทำความเข้าใจถึงความหวังของพวกเขาได้อย่างไร แล้วเราจะยื่นมือเข้าช่วยได้ด้วยวิธีการใดบ้าง

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ความหวัง เข้ามามีบทบาทในแวดวงการศึกษามานุษยวิทยามากขึ้น ความหวังถือเป็นความสามารถอันน่าทึ่งอย่างหนึ่งของมนุษย์ เรามีความหวังกับหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต กระทั่งเมื่อตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สุดแสนจะสิ้นหวัง แต่เรายังสามารถสร้างความหวังและใช้ความหวังนั้นเป็นแรงผลักดันไปสู่อนาคตได้ ประเด็นนี้ทำให้นักมานุษยวิทยาต้องการหาคำตอบว่า มนุษย์เรามีความหวังในด้านใดบ้าง เราเติมเต็มความหวังอย่างไร สภาพแวดล้อมแบบไหนที่ทำให้เรามีความหวังหรือหมดหวัง และความหวังและความสิ้นหวังส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในด้านใดบ้าง (Jansen, 2021)

ตัวอย่างงานการศึกษาที่ใช้ทฤษฎีมานุษยวิทยาความหวังที่น่าสนใจที่ผู้เขียนแนะนำก็คือ Radical Hope in Asylum Seeking: Political Agency Beyond Linear Temporality (Pauliina et al., 2020) ที่ทำการศึกษาความหวังและความเป็นผู้กระทำการ (agency) ของผู้ลี้ภัยหนุ่มชาวอิรักและอัฟกัน งานที่สองคือ Waiting in the asylum determination process: Just an empty interlude? (Rotter, 2016) ที่ทำการศึกษาการทำงานของความหวัง เวลา และการรอคอยภายในค่ายผู้ลี้ภัย และงานที่สามก็คือ Precarious Lives: Waiting and Hope in Iran (Khosravi, 2017) ที่ทำการศึกษาชีวิตที่เปราะบางและความอ่อนแอทางสังคมของคนวัยหนุ่มสาวชาวอิหร่าน

ชีวิตก่อนถูกกวาดต้อนไปยังค่ายมรณะเอาช์วิทซ์ (Auschwitz Death Camp)

คุณเอ็ดดี้ เจคุ (Eddie Jaku) (ชื่อเต็ม: Abraham Salomon Jakubowicz) เกิดในปี 1920 ณ เมืองไลป์ซิก (Leipzig) ประเทศเยอรมนี ครอบครัวของคุณเจคุนั้นเป็นครอบครัวที่อบอุ่นและเพียบพร้อม คุณพ่อของเขาเป็นช่างเครื่องฝีมือดีและเปิดโรงงานในเมืองไลป์ซิก พวกเขาผูกพันกับเยอรมนีและภาคภูมิใจในความเป็นคนเยอรมันอย่างมาก หากถามว่าพวกเขาเป็นใคร คำตอบที่ได้นั้นไม่ใช่ชาวยิว แต่เป็นคนเยอรมันนั่นเอง และแม้จะเป็นยิวแต่คุณเจคุและครอบครัวไม่ใช่คนเคร่งศาสนา ในบันทึกความทรงจำของคุณเจคุ เขามักเขียนสรรเสริญความงดงามของเมืองในเยอรมนี เยอรมนีเต็มไปด้วยองค์ความรู้และวิทยาการที่ชวนตื่นตาตื่นใจ เยอรมนีมีนักปรัชญา นักคิด นักเขียนที่โด่งดังระดับโลกมากมาย และมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม การเถลิงอำนาจของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ในช่วงทศวรรษที่ 1930s ได้ทำลายความรักและความภาคภูมิใจในเยอรมนีของคุณเจคุไปจนหมดสิ้น คุณเจคุถูกไล่ออกจากโรงเรียนเพียงเพราะเป็นคนยิว คุณพ่อเขาจึงพยายามใช้เส้นสายเพื่อปลอมแปลงเอกสารโดยให้คุณเจคุมีอัตลักษณ์ใหม่ในฐานะเด็กชายชาวเยอรมันแท้ในนาม วาลเทอร์ ชไลฟ์ (Walter Schleif) จนเขาได้เรียนต่อในวิทยาลัยในเมืองทุทลิงเง่น (Tuttlingen)

1
คุณเจคุในวัยเด็ก (ด้านหน้าขวามือ)
ที่มา: https://nypost.com/2021/10/12/holocaust-survivor-happiest-man-on-earth-author-dead-at-101/

หลังสำเร็จการศึกษา คุณเจคุทำงานในฐานะวิศวกรเครื่องมือแพทย์ในเมืองทุทลิงเง่นอยู่พักใหญ่จนเขาตัดสินใจแวะกลับบ้านเพื่อไปเซอร์ไพรส์ครอบครัวของเขา แต่เมื่อเขากลับถึงบ้านคุณเจคุกลับถูกเซอร์ไพรส์เสียเองเพราะบ้านเขานั้นร้างและเต็มไปด้วยความมืดมิด และเช้ามืดวันถัดมาเขาก็ต้องพบกับเซอร์ไพรส์อีกครั้งเมื่อทหารนาซีรุกเข้ามาลากเขาลงจากเตียง สักสัญลักษณ์สวัสดิกะบนแขน จากนั้นก็กระทืบเขาจนเลือดอาบปางตาย เจ้าลูลู่ หมาน้อยของคุณเจคุพยายามเข้าช่วยแต่ก็ถูกทหารนาซีใช้ดาบปลายปืนไรเฟิลแทงตายไปต่อหน้าต่อตา ซึ่งช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์นี้คือเวลาเดียวกันกับเหตุการณ์คืนกระจกแตก (ภาษาอังกฤษ: Night of Broken Glass; ภาษาเยอรมัน: Kristallnacht) นั่นเอง คุณเจคุบรรยายว่า “ในตอนนั้นผมได้เสียเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไปหมดสิ้น เสรีภาพและความเชื่อมั่นในมนุษย์ของผมหายไป ผมสูญเสียทุกอย่างที่ผมมีชีวิตเพื่อมัน ผมถูกลดทอนจากการเป็นมนุษย์ไปเป็นอะไรก็ไม่รู้ที่ไร้ค่า” (Jaku, 2020, 25)

2
ภาพร้านค้าของชาวยิวที่ถูกทำลายในคืนกระจกแตก
ที่มา: public domain

ตัดภาพมายังชุมชนออร์โธด็อกซ์ยิวหนึ่งในเมืองซิกเกต (Sighet) แคว้นทรานซิลเวเนีย ประเทศโรมาเนีย บ้านเกิดของคุณวีเซิล (ชื่อเต็ม: Eliezer Wiesel) เขาเกิดในปี 1928 และเป็นคนที่เคร่งศาสนาตั้งแต่ยังเด็ก ชีวิตประจำวันเขาเต็มไปด้วยการศึกษาคัมภีร์ทัลมุดและการไปโบสถ์ยิว ผู้คนในซิกเกตเริ่มรับรู้ความปรารถนาร้ายของบรรดาผู้ปฏิบัติการในระบอบนาซีและพวกเกสตาโป (Gestapo) (ตำรวจลับของพวกนาซี) ตั้งแต่ช่วงปี 1941 แล้ว ในระยะแรกพวกเขาไม่ค่อยเชื่อในข่าวหรือคำบอกเล่าที่ได้ยินมา แต่แล้วในช่วงปี 1943 ความน่าหวาดกลัวที่แท้จริงก็เกิดขึ้นในซิกเกต เมื่อทหารเยอรมันได้เคลื่อนเข้ามายังซิกเกตและออกคำสั่งเคอร์ฟิว ให้ทุกคนอยู่แต่ในบ้าน ใครออกจากบ้านจะถูกฆ่าทันที เวลาผ่านไปกฎข้อบังคับก็เพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีการสั่งห้ามคนยิวไม่ให้ครอบครองทรัพย์สินที่มีค่า ห้ามประกอบกิจกรรมทางศาสนา ผู้ปฏิบัติการในระบอบนาซีจับชาวยิวในซิกเกตมาอาศัยรวมกันอย่างแออัดในเก็ทโต้ (ghetto) และส่งพวกเขาไปยังค่ายมรณะเอาช์วิทซ์ในที่สุด ซึ่งในขณะนั้นคุณวีเซิลมีอายุเพียง 15 ปีเท่านั้น

3
รูปของคุณวีเซิลในวัย 15 ปีก่อนถูกส่งตัวไปยังค่ายเอาช์วิตซ์
ที่มา: https://www.chipublib.org/elie-wiesel-biography/

สภาพแวดล้อมภายในค่ายมรณะเอาช์วิทซ์จากประสบการณ์ของคุณวีเซิลและเจคุ

“นายเห็นควันตรงนั้นไหม นั่นแหละคือที่ที่พ่อของนายไป และแม่ของนายด้วย ไปที่ห้องรมแก๊สและเตาเผาศพนั่นน่ะ” (Jaku, 2020, 70)

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าค่ายกักกันนาซีคือนรกบนดินที่แท้จริง หนึ่งในค่ายกักกันนาซีที่มีชื่อเสียงฉาวโฉ่มากที่สุดคือ ค่ายเอาช์วิทซ์ (Auschwitz) ซึ่งเป็นค่ายสังหารหมู่ที่มีวลีถากถางในภาษาเยอรมันว่า ‘ARBEIT MACHT FREI’ อยู่บนประตูเหล็กของค่าย วลีนี้แปลตรงตัวก็คือ ‘การทำงานนำมาซึ่งอิสรภาพ’ อันที่จริงแล้วเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวภายในค่ายนั้นต้องทำงานจนตัวตาย หลังจากถึงค่ายเอาช์วิทซ์แล้ว เหยื่อจะถูกกล้อนผม และถูกริบทรัพย์สินที่มีค่าทั้งหมด จากนั้นผู้ปฏิบัติการนาซีจะคัดเลือกอายุ เพศ และสุขภาพ ทุกคนจะต้องพลัดพรากจากครอบครัวและคนที่รักไปโดยไม่ทราบชะตากรรม เด็กอายุน้อย คนชรา รวมถึงคนที่สุขภาพไม่แข็งแรงจะถูกส่งไปสังหารทันที ดังที่หนึ่งในผู้ปฏิบัติการนาซีกล่าวในข้อความที่ผู้เขียนยกมาในข้างต้น มีหลายกรณีที่ Angel of Death (Dr. Josef Mengele) นายแพทย์ของระบอบนาซีผู้วิปริตและอำมหิตผิดมนุษย์มนาจะมาเยือนกระบวนการคัดคนที่เพิ่งมาถึงค่าย เพื่อสรรหาเหยื่อไปเป็นหนูทดลองในห้องแล็บ ส่วนคนที่รอดชีวิตจากกระบวนการคัดเลือกจะถูกส่งไปใช้แรงงาน โดยสิ่งที่เหล่านาซีให้เพื่อตอบแทนแรงงานของเหยื่อในค่ายมีเพียงขนมปังชั้นเลวและซุปเจือจางเท่านั้น ใครทำงานไม่ดีหรือทำงานไม่ไหว จะถูกลงโทษหรือถูกฆ่าทันที

“… เขาพุ่งตัวมายังผมเหมือนสัตว์ป่าที่ดุร้าย ทุบตีที่หน้าอกและคอของผม ทุ่มผมลงบนพื้นและดึงผมขึ้นมาทำร้ายผมซ้ำแล้วซ้ำเล่า … จนเลือดอาบร่างกายของผม … แต่จู่ ๆ เขา [ผู้ปฏิบัติการนาซี] ก็สงบลงทันทีแล้วส่งผมไปทำงานต่อโดยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น” (Wiesel, 2006, 53)

แม้ว่าคุณเจคุและคุณวีเซิลจะไม่รู้จักกันในตอนที่ถูกกักขังอยู่ในเอาช์วิทซ์ แต่เขาทั้งสองเผชิญหน้ากับสถานการณ์อันโหดร้ายเหนือคำบรรยายในลักษณะที่คล้ายกัน ทั้งสองถูกกล้อนผมและถูกสักเลขประจำตัวบนแขน คุณวีเซิลได้เลข A-7713 ส่วนของคุณเจคุคือ 172338 นั่นหมายความว่า ในเอาช์วิทซ์นั้น นอกจากเหยื่อจะถูกพรากสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทรัพย์สินที่มีคุณค่าทางโลกและทางใจ เหยื่อยังถูกพรากแม้กระทั่งชื่อและอัตลักษณ์ไปด้วย มนุษย์คนหนึ่งกลายเป็นเพียงตัวเลขในแฟ้มเอกสารของนาซีเท่านั้น นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติการนาซียังชื่นชอบการทารุณกรรมเหยื่อ เหตุการณ์ความโหดร้ายมักถูกเล่าบ่อยครั้งในบันทึกความทรงจำของคุณวีเซิล ซึ่งผู้เขียนมองว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคุณวีเซิลในขณะนั้นเด็กกว่าคุณเจคุ และไม่ได้เป็นแรงงานฝีมือ ในขณะที่คุณเจคุเป็นวิศวกรเครื่องกลที่เป็นที่ต้องการของเหล่านาซีในเวลาสงคราม ดังนั้นคุณวีเซิลจึงใช้เวลาในค่ายมากกว่า และเป็นประจักษ์พยานความโหดร้ายที่เกิดขึ้นมากมาย การถูกทำร้ายเอง การเห็นผู้อื่นถูกทำร้ายและถูกฆ่าในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการยิงและแขวนคอ คือสิ่งที่คุณวีเซิลเห็นบ่อยครั้ง บ่อยเสียจนมันกลายเป็นเรื่องปกติในเอาช์วิตซ์ไปเสียแล้ว แม้กระทั่งการอยู่เฉย ๆ แล้วโดนผู้ปฏิบัติการนาซีพุ่งเข้ามาทำร้ายเจียนตายโดยไร้เหตุผลดังข้อความที่ผู้เขียนยกไว้ตอนต้นของย่อหน้านี้ ก็ถือเป็นเรื่องปกติในเอาช์วิตซ์เช่นกัน….

5
คุณเจคุและเลข 172338 ที่ถูกสักบนแขน
ที่มา: https://www.bbc.com/news/world-australia-58883318

ความสิ้นหวัง และภาวะเสื่อมถอยของศาสนา

“แล้วเราก็ต้องเดินผ่านหน้าเหยื่อ [ที่ถูกผู้ปฏิบัติการนาซีแขวนคอโชว์เหยื่อคนอื่น] ผู้ชายสองคนแรกสิ้นลมหายใจแล้ว … แต่เชือกที่สามยังคงเคลื่อนไหว เพราะเป็นเด็กน้อย ตัวเบาเกินไป เด็กคนนี้ยังหายใจอยู่ … เขาอยู่ในสภาพนั้นครึ่งชั่วโมง สภาพก้ำกึ่งระหว่างความเป็นและความตาย … พวกเราถูกบังคับให้ดูเขาใกล้ ๆ … ผู้ชายข้างหลังผมกล่าวสบถขึ้นว่า “ให้ตายเถอะ พระเจ้าอยู่ที่ไหนกัน” ผมได้ยินเสียงตอบว่า “พระเจ้าอยู่ไหนน่ะเหรอ นี่ไง ถูกแขวนอยู่บนตะแลงแกงตรงนี้” แล้วในคืนนั้น ซุปที่ทานก็รสชาติเหมือนซากศพ” (Wiesel, 2006, 64-65)

โดยทั่วไปแล้ว ศาสนาทำงานในหลากหลายมิติ ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้ที่ศรัทธา ศาสนามอบคำสอนและวิถีปฏิบัติต่าง ๆ ให้แก่มนุษย์ ศาสนาเปรียบเสมือนไฟที่ส่องไปยังจิตวิญญาณที่หมองหม่น และศาสนาก็สร้างความหวังให้มนุษย์ แต่ไม่ใช่ในกรณีของคุณวีเซิลตอนอยู่ในเอาช์วิตซ์ ในส่วนนี้ผู้เขียนไม่ขอกล่าวถึงคุณเจคุเนื่องจากเขาไม่ใช่คนเคร่งศาสนาและเขาแทบจะไม่เอ่ยถึงพระเจ้าหรือศาสนายูดาห์ในบันทึกความทรงจำของเขาเลย แต่สำหรับคุณวีเซิลที่เคยรักและศรัทธาพระผู้เป็นเจ้า ศึกษาพระคัมภีร์มากมายมาตั้งแต่เด็ก เขาวิพากษ์วิจารณ์พระเจ้าไว้มากมายตลอดบันทึกความทรงจำของเขา ความศรัทธาต่อพระเจ้าและศาสนาของเขาลดลงเรื่อยๆ และหายไปพร้อมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาที่ถูกพรากไป คุณวีเซิลมักตั้งคำถามว่า ‘พระเจ้าอยู่ที่ไหน ทำไมพระเจ้าถึงไม่มาช่วยชาวยิวจากการกระทำอันโหดร้ายของระบอบนาซี’ น่าสนใจว่าภาวะเสื่อมถอยของศาสนานี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณวีเซิลเพียงคนเดียว แต่เกิดกับเหยื่อชาวยิวในเอาช์วิตซ์อีกมากมาย ครั้งหนึ่งคุณวีเซิลโต้เถียงกับผู้ร่วมชะตากรรมในค่ายมรณะในเรื่องเกี่ยวกับฮิตเลอร์และพระเจ้า คุณวีเซิลถามว่า “นายอยากให้พวกเราคิดว่าเขา [ฮิตเลอร์] เป็นศาสดา (prophet) เหรอ” เพื่อนของเขาจึงตอบกลับมาอย่างประชดประชันว่า “ผมศรัทธาในตัวฮิตเลอร์มากกว่าใครเสียอีก เพราะเขารักษาสัญญาที่ได้ให้ไว้กับคนยิวไง ทุกคำสัญญาเลยนะ” (Wiesel, 2006, 80-81)

ความหวังที่ปลายอุโมงค์ (Radical Hope)

มนุษย์มีความสามารถอันน่าทึ่งหลายอย่าง รวมถึงความสามารถในการสร้างและคงไว้ซึ่งความหวัง การวิเคราะห์ความหวังของคุณ Wiesel และคุณ Jaku ในส่วนนี้ ผู้เขียนใช้แนวคิดเรื่อง ความหวังที่ปลายอุโมงค์ (radical hope) มาประกอบการวิเคราะห์ ผู้สร้างทฤษฎีนี้คือคุณ โจนาธาน เลียร์ (Jonathan Lear) เขาเสนอว่า มนุษย์มีความสามารถในการแสวงหาความหวังและความเป็นไปได้จากสถานการณ์ที่เข้าตาจนและสิ้นหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ผู้คนสูญสิ้นความหมายของการมีชีวิตอยู่ ในตอนที่คุณเลียร์ศึกษาชนเผ่าโครว์ (Crow Nation) วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวโครว์ถูกทำลายล้าง แต่แทนที่จะสิ้นหวังและยอมจำนนต่ออนาคตที่ดับมืด พวกเขากลับมีความหวังภายใต้สถานการณ์ที่ความหมายของการมีชีวิตอยู่นั้นไม่เหลือแล้ว ความหวังนี้เองที่คุณเลียร์เรียกว่า ความหวังที่ปลายอุโมงค์ อันเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาไม่ยอมแพ้และดิ้นรนที่จะทำเพื่ออนาคตที่ดีต่อไป หากพูดอย่างสั้น ความหวังที่ปลายอุโมงค์ก็คือ ความสามารถในการคงไว้ซึ่งความหมายและคุณค่าของการมีชีวิตที่ยังหลงเหลืออยู่ในวันที่ชีวิตอยู่บนปากเหว (Pauliina et al., 2021, 3)

จากสภาพแวดล้อมที่ไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ของเอาช์วิตซ์ ทุกอย่างในชีวิตที่ถูกพรากไป แต่แทนที่คุณวีเซิลและคุณเจคุจะสิ้นหวังและเลือกที่จะจบชีวิตของตนโดยการวิ่งไปจับรั้วลวดหนาม แต่เขาทั้งสองมีความหวังที่ปลายอุโมงค์ และเขาสามารถที่จะคงไว้ซึ่งความหวังเหล่านั้นจนรอดชีวิตมาได้ สำหรับคุณวีเซิล ความหวังที่ปลายอุโมงค์ของเขาผูกพันอยู่กับพ่อของเขา ส่วนความหวังที่ปลายอุโมงค์ของคุณเจคุผูกพันอยู่กับเพื่อนรักของเขา รวมถึงผูกพันกับทัศนคติเชิงบวกของตัวเขาเอง

6
คุณวีเซิล (ชายในเครื่องหมายวงกลม)
ที่มา: https://www.dailymail.co.uk/news/article-3671671/Elie-Wiesel-Holocaust-survivor-Nobel-laureate-died-museum.html

คุณวีเซิลไม่ค่อยได้กล่าวถึงความหวังในบันทึกความทรงจำของเขา แต่ในมุมของผู้เขียน ผู้เขียนเห็นว่าความหวังที่ปลายอุโมงค์ของคุณวีเซิลในบันทึกความทรงจำของเขาเกิดขึ้นใน 2 ช่วงเวลาหลัก ๆ ช่วงเวลาแรกคือ ก่อนที่เขาและคนในซิกเกตถูกส่งตัวไปยังเอาช์วิตซ์ หลังจากที่รถของทหารเยอรมันเคลื่อนมายังเมืองซิกเกต คนยิวในซิกเกตถูกริบทรัพย์สินที่มีค่าและถูกจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานมากมาย ผู้ปฏิบัติการนาซีจับคนในซิกเกตมาอาศัยรวมกันอย่างแออัดในเก็ทโต้ (ghetto) ในช่วงเวลาที่สิ้นหวังแบบนี้ คุณวีเซิลกลับบอกว่า “รั้วลวดหนามที่ล้อมรอบพวกเราไม่ได้ทำให้พวกเราหวาดกลัวเลย แต่จริง ๆ แล้วพวกเรามองว่ามันก็ไม่ได้แย่นะ อย่างน้อยพวกเราก็อยู่ท่ามกลางพวกเดียวกันเอง เหมือนสาธารณรัฐเล็ก ๆ ของชาวยิว (a small Jewish Republic) …” (Wiesel, 2006, 11-12)

ส่วนในช่วงเวลาที่สองคือ หลังจากที่คุณวีเซิลถูกส่งตัวไปยังเอาช์วิตซ์ ที่นั่นคุณวีเซิลถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ในทุกมิติ ถูกแยกจากครอบครัวของตนเอง พระเจ้าที่เขารักและศรัทธาก็ได้ตายจากเขาไปแล้ว อีกทั้งคุณวีเซิลยังต้องมาเป็นประจักษ์พยานต่อความเลวทรามที่เกิดขึ้นกับเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆในค่าย แต่อย่างไรก็ตามสิ่งมีค่าสิ่งเดียวที่เหลืออยู่ในชีวิตเขาคือ พ่อของเขา คุณวีเซิลแสดงให้เห็นว่าเขาไม่สามารถทิ้งความหวังที่จะมีชีวิตต่อได้ เพราะคุณพ่อของเขาจะลำบากแน่หากไม่มีเขาอยู่ด้วย จะเห็นได้ชัดเจนมากที่สุดคือ ตอนที่เขาและคุณพ่อเข้าร่วมมาร์ชแห่งความตาย (ภาษาอังกฤษ: Death march; ภาษาเยอรมัน: Todesmarsch) (มาร์ชแห่งความตาย ในบริบทของนาซีคือ การบังคับให้เหยื่อเดินขบวนออกจากค่ายกักกันหนึ่งไปยังอีกค่ายหนึ่ง เดินจนกว่าจะถึงที่หมายปลายทาง ใครที่เดินไม่ไหวและเป็นภาระของผู้อื่นก็จะถูกยิงตาย หรือไม่ก็สิ้นลมหายใจไปเสียก่อนที่จะถูกพวกนาซียิง) ในช่วงเวลานั้นคุณวีเซิลสิ้นเรี่ยวแรงที่จะเดินต่อ เขากล่าวว่า “ความตายได้เข้าโอบล้อมผมไว้แล้ว มันทำให้ผมหายใจไม่สะดวก … ความตายและการจบชีวิตตรงนี้มันเป็นความคิดที่ไม่เลวเลย ไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว … แต่การมีอยู่ของพ่อผมคือสิ่งเดียวที่หยุดผมไว้ … ผมไม่มีสิทธิปล่อยให้ตัวเองตาย เขา [พ่อ] จะทำอย่างไรถ้าขาดผม ผมคือคนคนเดียวที่จะช่วยเหลือค้ำจุนพ่อของผมได้” (Wiesel, 2006, 86-87)

8
ที่มา: https://www.bu.edu/bostonia/2016/elie-wiesel-obituary/

ที่อีกมุมหนึ่งของเอาช์วิตซ์ คุณจะพบกับความหวังที่เปี่ยมล้นและทัศนคติเชิงบวกมากมายจากบันทึกความทรงจำของคุณเจคุ ความหวังที่ปลายอุโมงค์ของเขามาจากทัศนคติเชิงบวกและมาจากเพื่อนรักของเขานั่นคือคุณเคือท เฮียส์ชเฟล (Kurt Hirschfeld) แม้จะสูญเสียคนรัก ครอบครัว และความหมายของการมีชีวิต แต่คุณเจคุไม่เคยยอมแพ้ ซึ่งเห็นได้จากหลายเหตุการณ์ที่คุณเจคุพยายามที่จะคงไว้ซึ่งความหมายและคุณค่าของการมีชีวิตที่ยังหลงเหลืออยู่แม้ว่าเขาจะสิ้นความหวังในการมีชีวิตก็ตาม ครั้งหนึ่งเขาเคยบอกคุณเฮียส์ชเฟลว่า “เคือท ไปกันเถอะ เราจะมีชีวิตอยู่เพียงเพื่อรอรับความทรมานในวันพรุ่งนี้ไปเพื่ออะไร” (Jaku, 2020, 83) แน่นอนว่าคุณเฮียส์ชเฟลไม่ยอมปล่อยให้คุณเจคุวิ่งไปจับรั้วลวดหนาม ในเอาช์วิตซ์นั้น คุณเจคุและเฮียส์ชเฟลพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะรักษาชีวิตของเขาทั้งคู่ไว้ มิตรภาพของเขาทั้งคู่นั้นงดงาม เขาทั้งสองจะนัดพบปะกันทุกครั้งเมื่อมีโอกาส พวกเขามักจะแอบเก็บขนมปังหรือข้าวของไว้ให้กันและกัน คุณเจคุกล่าวว่า “เรื่องที่เรียบง่าย [การได้พบปะแลกเปลี่ยนบทสนทนาและสิ่งของกับคุณเฮียส์ชเฟล] มันมากพอที่จะทำให้ผมสู้ต่อ เพราะผมยังได้รู้ว่าในโลกนี้ยังเหลือคนที่ห่วงใยผม และผมก็ห่วงใยเขา” (Jaku, 2020, 79)

ในเรื่องของการมองโลก คุณเจคุเลือกที่จะมองแต่สิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้น และทิ้งความเลวร้ายเกินบรรยายในเอาช์วิตซ์ไว้ เขากล่าวว่าการที่เขาได้พบเจอและได้รับความช่วยเหลือจากคนกลุ่มน้อยเพียงหยิบมือของระบอบนาซีทำให้เขามีกำลังในการต่อสู้ชีวิต อย่างเช่นการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายนาซีแอบเพิ่มปริมาณอาหารให้เขา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ เพราะในมุมหนึ่งคนเหล่านี้อาจไม่ได้เห็นด้วยกับระบอบนาซี และการที่พวกเขาแอบช่วยคนยิวก็ถือว่าเสี่ยงต่อชีวิตของพวกเขาเช่นกัน แต่ความ ‘อัศจรรย์’ เหล่านี้ “พิสูจน์ให้ผมเห็นว่าโลกนี้ยังเหลือคนดี ๆ อยู่ การที่ได้รู้อย่างนี้มันคือความหวัง และความหวังนี้สร้างพลังให้กับร่างกายของผม (Jaku, 2006, 121)

9
ที่มา: https://www.sueddeutsche.de/kultur/eddie-jaku-auschwitz-holocaust-kz-interview-1.5266676?reduced=true

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวความหวังของทั้งผู้ลี้ภัยในค่ายผู้ลี้ภัย หรือแม้แต่ความหวังของเหยื่อในค่ายมรณะนาซี ทำให้ผู้เขียนเห็นว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถสุดแสนพิเศษ นั่นก็คือ ความสามารถในการสร้างความหวังแม้จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่แสนจะสิ้นหวัง และมนุษย์ยังมีความสามารถในการพยายามที่จะคงไว้ซึ่งความหวังแม้สภาวะแวดล้อมจะไม่เป็นใจก็ตาม เราอาจจะเคยคิดว่าความหวังนั้นเป็นสิ่งที่เป็นอัตวิสัย เป็นเรื่องของความคิดและความต้องการของปัจเจก แต่สิ่งที่คุณเจคุและคุณวีเซิลพิสูจน์ให้พวกเราเห็นนั่นก็คือ ความหวังนั้นเป็นเรื่องของทัศนคติ เราสามารถตีความและนำเอาเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้นมาสร้างความหวังและใช้เป็นแรงผลักดันในชีวิตได้ นอกจากนี้ ความหวังและความพยายามทำเพื่อบรรลุความหวังนั้นมิได้เกิดขึ้นจากความต้องการของปัจเจกแต่เพียงผู้เดียว แต่มันยังเกิดจากความสัมพันธ์ของปัจเจกที่ผูกโยงอยู่กับผู้คนรอบตัวของเขาด้วย ในแง่นี้เราจึงศึกษาความหวังได้ผ่านหลายมิติ ความหวังจึงเป็นสิ่งควรค่าแก่การศึกษาอย่างมาก ผู้เขียนมองว่า หากเรานำเอาทฤษฎีมานุษยวิทยาความหวังไปศึกษาความหวังของผู้คนภายใต้บริบทและสถานที่อื่นๆ ก็จะทำให้เราทราบมิติอื่นๆที่น่าสนใจของความหวังได้เช่นกัน

บทส่งท้าย

หลังสิ้นสุดสงครามโลกทั้งสองครั้ง รวมถึงการที่มนุษยชาติได้ทราบถึงความทารุณโหดร้ายผิดมนุษย์ที่นาซีและผู้สมาทานระบอบนาซีกระทำต่อชาวยิว นำไปสู่การลงนามในคำประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ในปี 1948 โดยองค์การสหประชาชาติ แต่เมื่อพิจารณาถึงช่วงปี 1948 จนถึงปัจจุบัน ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในโลกนี้ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงเลย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสงครามรัสเซียบุกยูเครน ประเด็นผู้ลี้ภัย การเหยียดเชื้อชาติ การเหยียดเพศวิถี การทำร้ายร่างกายผู้อื่น ปัญหาความอดยาก และอื่นๆอีกมากมาย และดูเหมือนว่ากลุ่มคนที่เกลียดชาวยิว (anti-Semite) และผู้ที่ปฏิเสธการเกิดขึ้นของเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust denier) นั้นมีมากขึ้นและแสดงความเกลียดชังที่รุนแรงมากขึ้นทุกที

เหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวที่เกิดขึ้นเป็นหมุดหมายสำคัญในการประกาศคำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน คำปฏิญญานี้ทำให้โลกของเราดูมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง แต่นั่นเป็นเพียงความหวังที่ไม่มีหวัง เพราะปัญหาสิทธิมนุษยชนและการใช้ความรุนแรงต่อมนุษย์ด้วยกันเองนั้นทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับเพื่อนมนุษย์มีให้เห็นตลอดเวลา ภายใต้สังคมที่ดูแสนจะน่าสิ้นหวังในปัจจุบันนี้ยังสร้างความหวังต่อพวกเราได้หรือไม่ และเรามีความหวังต่อสังคมของพวกเราอย่างไร….

รายการอ้างอิง

Jaku, E. (2020). The Happiest Man on Earth The Beautiful Life of an Auschwitz Survivor. London: Macmillan.

Jansen, S.  The Anthropology of Hope. Oxford Research Encyclopedia of Anthropology. Retrieved 6 Feb. 2022, from https://oxfordre.com/anthropology/view/10.1093/acrefore/9780190854584.001.0001/acrefore-9780190854584-e-182.

Pauliina, K. K., Meier, I., & Häkli J. (2021). Radical Hope in asylum seeking: political agency beyond linear temporality. Journal of Ethnic and Migration Studies, 47(17), 4006-4022. doi: 10.1080/1369183X.2020.1764344

Wiesel, E. (2006). Night. New York: Hill & Wang.

*เนื้อหาบางส่วนของบทความนี้ถูกแปลจากหนังสือและบทความภาษาอังกฤษ


[1] คำว่า ความหวังที่ปลายอุโมงค์ เป็นคำที่ผู้เขียนแปลขึ้นเอง และก็ไม่ใช่คำแปลที่ตรงตามคำว่า radical hope ในเชิงตัวอักษร ซึ่งอันที่จริงผู้เขียนไม่ค่อยพอใจกับคำแปลนี้เท่าไรนัก แต่ขณะนี้ผู้เขียนยังไม่พบคำแปลของคำว่า radical hope ในภาษาไทย ผู้เขียนจึงขออนุญาตใช้คำว่า ความหวังที่ปลายอุโมงค์ ในบทความนี้ไปเสียก่อน

เกี่ยวกับผู้เขียน

ผู้เขียน
อนัตตา วัฒนผลิน

นิสิตปริญญาตรี สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด