Skip to content

Quentin Skinner: ความหมายและความเข้าใจในประวัติศาสตร์ความคิด

นักประวัติศาสตร์ความคิด คือ คนที่พยายามทำความเข้าใจในวิธีคิดของยุคต่างๆ ไม่ว่าจะกระทำผ่านงานเขียนประเภทวรรณกรรม–กวี บทละคร นิยาย–หรือข้อเขียนทางปรัชญา เช่น จริยศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือศาสนา แต่ไม่ว่าความสนใจจะเน้นไปที่ความคิดประเภทไหน คำถามสำคัญยังคงเป็น อะไรคือวิธีการในการทำความเข้าใจข้อเขียนนั้นๆ?

แนวทางที่ได้รับความนิยมมี 2 แนวทาง ได้แก่ 1) การให้ความสำคัญกับ บริบท (context) ซึ่งต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมทางศาสนา การเมือง และเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดข้อเขียนชิ้นนั้นขึ้น จึงสามารถทำให้เราเข้าใจความหมายของมันได้ และ 2) ตัวบท (text) ซึ่งในตัวมันเองแล้วเป็นกุญแจสำคัญในการเข้าถึงความหมายได้อย่างเพียงพอโดยไม่ต้องอ้างถึงสิ่งอื่นๆ ที่อยู่นอกตัวบท 

สำหรับ Skinner วิธีการที่กล่าวมายังไม่ช่วยให้เราทำความเข้าใจข้อเขียนต่างๆ ได้ดีพอ เพราะ…

การยึดมั่นในความพอเพียงของตัวบทวางอยู่บนหลักการที่ว่า มีความคิดและความรู้สากล ซึ่งสามารถทะลุข้ามกาลเวลาและสถานที่จนสามารถนำไปปรับใช้กับสังคมใด ในช่วงเวลาใดก็ได้ กรอบคิดเช่นนี้นำไปสู่การยกสถานะให้ข้อเขียนบางเล่มเป็น “หนังสือคลาสสิค” และทำให้ผู้เขียนกลายเป็นนักคิดคลาสสิคไปโดยปริยาย

ครั้นเมื่อมนุษย์ต้องจัดระเบียบ/แบ่งประเภทเพื่อทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ แต่เรามักจัดระเบียบสิ่งที่ไม่คุ้นเคยผ่านความคุ้นเคยของเราเท่านั้น เมื่อนักประวัติศาสตร์ความคิดต้องเชิญหน้ากับงานคลาสสิคจึงมีปัญหาตามมา คือ ความคาดหวังล่วงหน้าเกี่ยวกับสิ่งที่เขากำลังจะได้อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีทราบมาก่อนว่านักคิดคนนั้นเป็นนักคิดประเภทใดหรือเป็น ‘เจ้าพ่อ’ สำนักคิดอะไร นักอ่านจึงมักแสวงหาในสิ่งที่ตนคุ้นเคยหรือคาดว่าจะเจอจากงานคลาสสิคเหล่านี้

ในแง่นี้ นักอ่านจึงไม่เคยเผชิญกับตัวบทเพียงลำพังโดยปราศจากอคติที่วางอยู่ล่วงหน้า สำหรับ Skinner นี่จะนำไปสู่การได้ความเข้าใจผิดๆ ที่แม้แต่นักเขียนเองก็คงไม่ทราบว่าไปเสนอไว้ตอนไหน Skinner ถึงกับกล่าวว่า

นี่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์แต่ประการใด หากเป็นเพียงมายาคติมากกว่า

มายาคติข้างต้นเรียกว่า ‘มายาคติของหลักคำสอน’ (the mythology of doctrines)

กรอบคิดเรื่องการมีลัทธิหรือสำนักนำไปสู่การทำให้ความคิดเป็นรูปธรรม เมื่อเป็นรูปธรรมก็สามารถหาจุดกำเนิดของความคิดได้ นักประวัติศาสตร์ที่คิดในแนวทางนี้จะจบลงด้วยการให้เครดิตว่าใครเป็น ‘บิดา’ ของความคิดหนึ่งๆ แล้วเขาได้ส่งอิทธิพลทางความคิดให้กับใคร

ในแง่นี้ นักเขียนในอดีตมักได้รับคำชมหรือตำหนิด้วยการมองว่าความคิดเขาส่งผลต่อปัจจุบันอย่างไร Machiavelli ได้รับคำชมว่าเป็นบิดาของทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่ เพราะเขามองการเมืองในแบบเดียวกันกับที่เรามอง งานของเขาจึงคลาสสิค มาก่อนกาล สามารถใช้ได้แม้กระทั่งทุกวันนี้ ส่วนนักคิดร่วมสมัยของ Machiavelli ที่คิดเรื่องพวกนี้ไม่ได้จึงกลายเป็นพวกกระจอก ไม่ควรค่าแก่การเสียเวลาอ่าน

งานของ ‘เจ้าพ่อ’ ทางความคิดเหล่านี้นไปสู่การเกิด ‘มายาคติของความสอดคล้อง’ (the mythology of coherence) ตามมา กล่าวคือ เมื่อผู้อ่านพยายามมองหาคำสอนอะไรบางอย่างในข้อเขียน มักพบว่ามันกระจัดกระจายและไม่เป็นระเบียบ ครั้นเมื่อไม่พบอะไรที่ชัดเจน ผู้อ่านมักต้องโทษตัวเองว่า “อ่านไม่แตก” ผู้อ่านที่สิ้นหวังเช่นนี้ต้องการหาที่พึ่งซึ่งมาในรูปของ “อรรถกถาจารย์” ซึ่งอวดอ้างว่าตนมองเห็นระบบความคิดในงานที่กระจัดกระจายเหล่านั้น กล่าวในภาษา Skinner ได้ว่า

ประวัติศาสตร์ในรูปแบบนี้เป็นเพียงการละเล่นที่เรากระทำต่อคนตายเท่านั้น

เมื่อมาถึงการศึกษาบริบทเพื่อให้เข้าใจความหมายของตัวบท Skinner ชี้ว่าบริบทอาจช่วยให้เราเข้าถึงความหมายของความคิดได้ดีขึ้น แต่ความเข้าใจว่าบริบทสังคมเพียงวิธีการเดียวที่ช่วยให้เข้าใจตัวบทถือเป็นข้อเสนอที่ใช้ไม่ได้

นักคิดที่เน้นความสำคัญของบริบทมักกล่าวว่า บริบททางสังคมช่วยให้เกิดและเปลี่ยนแปลงความคิดได้ ในขณะเดียวกันความคิดก็ช่วยเปลี่ยนแปลงบริบทสังคมได้เช่นกัน แต่การกล่าวเช่นนี้ไม่ต่างไปจากการหาว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน?

ตัวอย่างเช่น ในยุคที่ความคิดที่แตกต่างจากของศาสนจักรโดนตีความให้เป็น ‘ความคิดนอกรีต’ ทำให้นักคิดสมัยนั้นไม่สามารถแสดงออกทางความคิดได้อย่างตรงไปตรงมา ประเด็นของ Skinner ไม่ใช่การศึกษาว่าบริบทสร้างข้อจำกัดให้นักเขียนอย่างไร เพราะการอธิบายเช่นนี้นำไปสู่การยกย่องคนที่กล้า ‘แหวกขนบ’ ของยุคสมัยให้มีสถานะราวกับเป็นวีรบุรุษ ปัจจัยทางบริบทจึงมีความกำกวมจนไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมนักคิดบางคนในบริบทนั้นคิดได้ ในขณะที่คนอื่นคิดไม่ได้

สิ่งที่นักประวัติศาสตร์ความคิดควรทำ คือ การทำความเข้าใจว่านักคิดจงใจใช้กลยุทธ์ใดเพื่ออำพรางความหมายที่ต้องการสื่อออกมา เช่น การใช้คำศัพท์ที่มีอย่างแพร่หลายในขณะนั้นโดยสื่อความหมายที่ต่างออกไป

อย่างไรก็ดี การศึกษาประวัติศาตร์ความคิดไม่ใช่การเน้นรูปแบบของคำศัพท์เท่านั้น เมื่อการใช้คำแต่ละครั้งสื่อความถึงความคิดที่ต่างกัน เราควรหาว่าคำศัพท์นั้นทำหน้าที่อะไรมากกว่าการหาความหมายของมัน พูดใหม่คือคำแต่ละคำโดนใช้อย่างไรในบริบทและจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน ทำไมนักคิดที่เลือกมันมาใช้จึงคิดว่าคำๆ นั้นสามารถตอบโจทย์ได้ ไปจนถึงว่าข้อเขียนนั้นเขียนขึ้นมาให้ใครอ่าน

เราจึงต้องไปดูว่านักคิดคนอื่นๆ ซึ่งร่วมสมัยกับนักคิดคลาสสิคพูดถึงความคิดนั้นว่าอย่างไร ในแง่นี้ Skinner และเหล่าลูกศิษย์ของเขาจึงนิยมอ่านงานที่ไม่ค่อยมีใครอ่าน นักคิดที่ได้รับอิทธิพลจาก Skinner เช่น ธเนศ วงศ์ยานนาวา เคยหล่นประโยคว่า

“ผมไม่เคยคิดว่ามันมี great thinker หรือกระจอก thinker เพราะผมคิดว่าทั้งหมดนั้นสำคัญ และมันผูกโยงใยกันหมด “

กล่าวโดยสรุป การทำความเข้าใจทางความคิดจึงไม่อาจมองได้ที่ตัวบทหรือบริบทเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ต้องมองถึงความสัมพันธ์ของความหมายที่โยงใยถึงกันทั้งหมด กล่าวอย่างง่ายคือ การมองว่านักคิดคนดังกล่าวมีข้ออ้างความชอบธรรม (justification) ในการเสนอความคิด กำหนดโจทย์ และหาทางแก้ปัญหาด้วยเครื่องมืออะไร

‘งานคลาสสิค’ จึงมีโจทย์และคำถามซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องของตัวเองเท่านั้น ทำให้ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีคำถามอะไรจะเป็นจุดสุดยอดทางปรัชญาที่ใช้ได้กับทุกยุคสมัย หน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ความคิดเมื่ออ่านข้อเขียนจึงไม่ใช่การสกัดเอาบทเรียนมาปรับใช้กับสังคมของตัวเอง ราวกับว่าความคิดของคนอื่นเป็นเครื่องมือที่เอาไปใช้แก้ไขปัญหาได้ทั่วไป สิ่งที่ต้องทำคือ การเรียนรู้ที่จะคิดให้ได้ด้วยตัวเราเอง!

อ้างอิง

Quentin Skinner (1969), Meaning and Understanding in the History of Ideas. pp. 3-53.

Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด

เรื่องที่คล้ายกัน