Haraway ได้นำเราไปพิจารณาเส้นแบ่งอันพร่าเลือนสามเส้น กล่าวคือ เส้นแบ่งระหว่างมนุษย์และสัตว์ เส้นแบ่งระหว่างสิ่งมีชีวิตกับเครื่องจักร และเส้นแบ่งระหว่างกายภาพและสิ่งไม่ใช่กายภาพ (nonphysical) ผ่านการเล่านิทานของ cyborg
cyborg เป็นคำย่อที่มาจากคำว่า cybernetic organism นั่นหมายความว่า cyborg เป็นลูกผสมของทั้งเครื่องจักรและสิ่งมีชีวิต ร่างกายของ cyborg จึงมีทั้งส่วนที่มีเลือดเนื้อและส่วนที่เป็นเครื่องจักร ความเป็นลูกผสมของ cyborg จึงทำให้เกิดข้อกังขาว่า สรุปแล้วนี่เป็นสิ่งมีชีวิต เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ เป็นเครื่องจักร หรือเป็นอะไรกันแน่?
โดยเฉพาะกรอบคิดแบบมนุษยนิยมซึ่งเชื่อว่าความเป็นมนุษย์มีแก่นสารที่มั่นคงให้ยึดถือได้ แต่ cyborg ซึ่งเป็นลูกผสมของหลายสิ่งหลายอย่าง แต่กลับไม่สามารถจัดได้ว่าเป็นอะไรได้อย่างแน่นอนนั้น ย่อมทำให้เกิดความกระวนกระวายใจปนรำคาญ ไปจนถึงหวาดกลัว แก่ผู้ที่ต้องการรักษา “ความเป็นมนุษย์” ไว้ไม่มากก็น้อย
การให้ความสำคัญกับมนุษย์ว่าสูงส่งกว่าสัตว์หรือสรรพสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติอาจสืบรากไปได้ถึงความเชื่อของคริสต์ศาสนา เพราะพระผู้เป็นเจ้าสร้างโลก สร้างสรรพสิ่งในธรรมชาติ รวมไปถึงสัตว์น้อยใหญ่ แต่พระองค์ได้ทรงมอบความรักให้แก่มนุษย์มากที่สุดราวกับ “ลูกรักของพ่อ” ก็ไม่ปาน มนุษย์จึงยืนอยู่บนจุดสูงสุดใน the Great Chain of Being โดยรองลงมาจากพระเจ้าและเหล่าเทวทูต สรรพสิ่งต่างๆ จึงเป็นเพียงทรัพยากรหรือเครื่องมือที่พ่อสร้างเอาไว้ ให้ลูกๆ ได้ใช้งานด้วยความซาบซึ้ง
ครั้นเมื่อมีวิธีคิดแบบศาสนาลดความสำคัญลง (หากแต่ไม่เคยหายไปอย่างสิ้นเชิง) วิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ (ซึ่งพยายามเลียนแบบการศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ในระยะแรก) ได้เข้ามามีอิทธิพลในการอธิบายโลกให้แก่มนุษย์ สถานะของมนุษย์กลับยิ่งทวีความสำคัญขึ้น หากแต่ไม่ได้เป็นไปในฐานะของ “ลูกรัก” ของ “พ่อ” อีกต่อไป
มนุษย์ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่จนไม่ต้องการให้ใครมาควบคุม ชีวิตของมนุษย์ต้องเลือกเองได้ หาใช่เดินตามคำพ่อแต่อย่างใด เสรีภาพของปัจเจกจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์หันมาหวงแหนเป็นอย่างมาก แต่ถึงแม้ว่าการมีชีวิตของตนเอง โดยตนเอง และเพื่อตนเองจะน่าปราถนา แต่ในชีวิตมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่กลับไม่อาจมีอิสระได้มากเท่าที่ต้องการ เพราะมีพลังที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวปัจเจกคอยบีบรัดทางเลือกอยู่เสมอ ไม่ว่านั่นจะมาจากระบบทุนนิยม ปิตาธิปไตย หรือลัทธิล่าอาณานิคมก็ตาม
หากอำนาจใหญ่มาในรูปของทุนนิยม กรอบคิด Marxism ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยให้มนุษย์ปฏิวัติโค่นล้มอำนาจอันกดขี่ขูดรีดให้หายไป ส่วนนักคิดแบบสตรีนิยมก็ต้องการปลดแอกให้กับผู้หญิงที่โดนกดทับด้วยระบบชายเป็นใหญ่ โดยรวมๆ แล้วอาจมองได้ว่า นักคิดดังกล่าวต้องการปลดปล่อยให้มนุษย์ได้มีอิสรภาพไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
อย่างไรก็ดี สำหรับ Haraway ไม่ว่าจะเป็นกรอบคิดของ Marxism สตรีนิยม หรือจิตวิเคราะห์ก็ตาม ต่างล้วนอิงอยู่กับการเล่าเรื่องที่เริ่มจากจุดเริ่มต้นที่มีแต่ความเป็นเอกภาพ แล้วค่อยเคลื่อนไปยังจุดที่ความแตกต่างปรากฏขึ้น จนนำไปสู่การครอบงำหรือกดขี่ในรูปแบบต่างๆ ตามมา จนเกิดเป็น “ความแปลกแยก” (alienation) ขึ้น
เป้าหมายหรือโลกในอุดมคติของวิธีคิดดังกล่าวจึงเสนอให้ มนุษย์กลับไปสู่สภาพชีวิตที่ยังไม่เกิดระบบที่ขูดรีดขึ้นมา ไปสู่โลกที่มนุษย์ยังผลิตเพื่อยังชีพและใช้สอยด้วยแรงงานที่ตนลงแรงไป ไปสู่สังคมที่ยังไม่มีการแบ่งงานกันทำระหว่างชาย-หญิง ระหว่างชนชั้น อันก่อให้เกิดความอยุติธรรมที่ตามมาอีกมากมาย กล่าวอย่างง่ายคือ โลกในอุดมคติคือโลกที่มนุษย์ (ทุกคน) เป็นมนุษย์อย่างแท้จริง มนุษย์ผู้ดีงามต้องไม่โดนครอบงำจากระบบอันชั่วร้าย
แต่สำหรับ Haraway ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะย้อนกลับไปหาโลกใบเก่าที่มีแต่ความเป็น “ธรรมชาติ” ซึ่งไม่มีระบบ “สังคม” อันชั่วร้าย หรือพูดอีกแบบก็คือมันไม่มีเส้นแบ่งของธรรมชาติและวัฒนธรรมหรือสังคมอยู่เลยต่างหาก
โลกอุดมคติที่กรอบคิดสมัยใหม่ต้องการจะไปถึงแทบไม่ต่างอะไรไปจากความใฝ่ฝันที่จะกลับไปยังสวนของพ่อนั่นเอง มนุษย์ผู้ไร้เดียงสาโดนล่อลวงจากสิ่งชั่วร้ายจนทำผิดบาปอย่างมหันต์ นำไปสู่การร่วงหล่นจากสวนสวรรค์ของพ่อ ซึ่งจะกลับมาหาพร้อมความเมตตาในวันติดสินครั้งสุดท้าย แล้วมนุษย์จะได้อยู่กับพ่อชั่วนิรันดร์ หากแต่สวนสวรรค์อาจมาได้ในรูปแบบของสังคมคอมมิวนิสต์หรือสังคมที่เท่าเทียมกัน
ครั้นเมื่อไม่มีประวัติศาสตร์ของการหลุดพ้นจากบาป (salvation history) และ cyborg ก็ไม่ได้มุ่งไปสู่ความสมบูรณ์ หากแต่เป็น ความไม่สมบูรณ์ การประชดประชัน หรือความผิดมนุษย์มนา (perversity) มากกว่า กล่าวอีกแบบคือไม่มีความไร้เดียงสาในหมู่ cyborg
ครั้นเมื่อ cyborg ไม่ใช่เด็กอมมือไร้เดียงสาที่มีทางออกจากบาป คือความเมตตาและการให้อภัยจากพ่อเพียงเท่านั้น และ cyborg ไม่ได้ร้องเรียกหาพ่ออย่างในกรอบคิดแบบ Freud (1930) ในทางกลับกัน cyborg เป็นลูกนอกสมรส (illegitimate offspring) ที่ไม่ได้และไม่จำเป็นต้องซาบซึ้งต่อผู้ให้กำเนิดแต่อย่างใด
นิทานเรื่อง cyborg ของ Haraway จึงเกี่ยวกับการรุกล้ำเส้นแบ่ง ศักยภาพในการหลอมรวม และความเป็นไปได้ต่างๆ ที่อาจดูอันตราย แต่ก็เป็นโลกที่มนุษย์ไม่กลัวการเข้าไปมีความสัมพันธ์กับสัตว์หรือเครื่องจักร เพราะ cyborg ไม่มีพันธกิจในการปกป้องสารัตถะของความเป็นมนุษย์แต่อย่างใด การเป็น cyborg จึงเป็นการแยกส่วน (disassemble) แล้วประกอบสร้าง (reassemble) ขึ้นมาใหม่มากกว่าการปกป้องร่างกายหรือตัวตน
ไม่มีการเกิดใหม่ (rebirth) สำหรับ cyborg ไม่ว่าจะเป็นในสวนของพ่อหรือในสังคมคอมมิวนิสต์ หากจะมีก็เป็นเพียงการฟื้นฟูสภาพร่างกาย (และจิตใจ) (regeneration) มากกว่า Haraway ยกตัวอย่างซาลามันเดอร์ที่เมื่อสูญเสียส่วนต่างๆ ของร่างกายไป ก็สามารถงอกใหม่ขึ้นมาทดแทนในบริเวณที่เสียไปได้ ส่วนที่งอกใหม่นั้นอาจเหมือนหรือแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงก็เป็นได้
“เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” ปัจเจกจึงพยายามอย่างยิ่งในการปกป้องการมีอยู่ของตันเองนี้ให้ได้ แต่การคิดเองเออเองอยู่ในหัวคนเดียวของปัจเจก อาจเป็นเพียงภาพลวงตาที่ควรต้องหลีกทางในกับสัตว์ประหลาดพันธ์ผสมที่มีหลายหัวเสียมากกว่า เพราะสำหรับ Haraway แล้ว เราทุกคนล้วนเป็น chimera ด้วยเช่นกัน เป็นสัตว์ประหลาดที่บอกไม่ได้ว่าคือตัวอะไร หากแต่เป็นลูกผสมของสิ่งละอันพันละน้อย
ครั้นเมื่อเกิดอัตลักษณ์ที่ปริแตก (fractured identities) Haraway จึงตั้งคำถามต่ออัตลักษณ์ของความเป็นผู้หญิง ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่มีอยู่ตั้งแต่แรกเลยก็ได้ หากแต่เป็นการจัดประเภทอันซับซ้อนที่เกิดขึ้นมาปะทะกับวาทกรรมหลายชุดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น เพศ เชื้อชาติ หรือชนชั้น สิ่งสำคัญสำหรับ Haraway จึงเป็น affinity มากกว่า identity
affinity ที่จะนำ cyborg ไปเชื่อมต่อกับสิ่งอื่นๆ หาใช่ identity ที่ทำให้เกิดการแบ่งแยก จัดประเภท และปกป้องอภิสิทธิ์ให้กับ identity บางประเภทเพียงเท่านั้น เป้าหมายของ cyborg จึงเป็นการเดินหน้าต่อไปและเผชิญกับสิ่งต่างๆ หรือเป็นเรื่องของการเอาชีวิตรอดเท่านั้น (the matter of survival) อย่างที่เธอกล่าวไว้ว่า
“เรากลับไปไม่ได้อีกแล้ว ไม่ว่าจะในทางความคิดหรือทางวัตถุ”