Skip to content

Franco “Bifo” Berardi กับความป่วยไข้ทางจิตในโลกทุนนิยมสัญญะ

บทนำ

          Franco Berardi (1948- ) หรือ Bifo เป็นนักคิดมาร์กซิสต์ชาวอิตาลีและเป็นหนึ่งในกลุ่ม Autonomia งานของ Bifo เน้นไปที่บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในระบบทุนนิยมหลังอุตสาหกรรม (post-industrial capitalism) เมื่อทุนนิยมปรับตัวจากการผลิตแบบอุตสาหกรรมมาเป็นการผลิตเชิงสัญญะ ซึ่งเน้นการใช้ความคิด ปัญญา ประสบการณ์ และอารมณ์ความรู้สึกในฐานะที่เป็นเงื่อนไขและพลังการผลิต (เก่งกิจ 2561, น.107) มากกว่าจะเป็นการผลิตสินค้าเชิงวัตถุที่มีมาตรฐานเดียวกันคราวละมากๆ ในระบบสายพานการผลิต Bifo จึงเรียกทุนนิยมในลักษณะดังกล่าวว่าเป็นทุนนิยมสัญญะ (semiocapitalism)

ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนต้องการสรุป รีวิว หรือสะท้อนถึงความเข้าใจของตนเองที่ได้จากการอ่านงานของ Bifo ในหนังสือที่ชื่อว่า The Soul at Work: From Alienation to Autonomy. (2009) Bifo ชี้ให้เห็นว่าความป่วยไข้ทางจิตที่เห็นกันดาษดื่นในปัจจุบัน โดยเฉพาะการเป็นโรคซึมเศร้า (depression) เป็นผลมาจากระบบทุนนิยมสัญญะ ซึ่งเปลี่ยนจากการขูดรีดแรงงานในเชิงกายภาพมาเน้นการขูดรีดจิตวิญญาณ (the soul) ของมนุษย์ หรือเรียกได้ว่าเป็นการเรียกร้องให้จิตวิญญาณต้องทำงานตามชื่อหนังสือ หลังจากที่ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมสนใจเพียงแต่เรือนร่างที่เชื่องเชื่อและมีระเบียบวินัยของแรงงานเท่านั้น โดยไม่ให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณซึ่งรวมไปถึง ความคิด ปัญญา และอารมณ์ความรู้สึกของแรงงาน

จนอาจกล่าวได้ว่า หากทุนนิยมแบบอุตสาหกรรมต้องการแรงงานที่เปรียบเสมือนร่างที่ไร้จิตวิญญาณ (the soulless body) ทุนนิยมสัญญะกลับต้องการจิตวิญญาณของแรงงานที่หากมีร่างกายก็เป็นเพียงร่างที่ไร้ประโยชน์ (the useless body) เนื่องจากมีการนำเอาเครื่องจักรเข้ามาใช้แทนแรงงานกายภาพของมนุษย์ในกระบวนการผลิตแล้ว ในแง่นี้ ร่างกายเป็นเพียงภาระที่ต้องคอยตอบสนองให้มีความสุขเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการออกกำลังกาย กินอาหาร หรือมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ดี นี่ไม่ได้หมายความว่าหนังโฆษณาที่ว่าทุนนิยมจะสามารถการันตีความสุขให้กับมนุษย์ได้จะเกิดขึ้นได้จริง เพราะมิฉะนั้น Bifo หรือแม้แต่ผู้เขียนคงไม่ต้องลงมือเขียนบทความในประเด็นเรื่องความป่วยไข้ทางจิตในระบบทุนนิยมสัญญะ

แรงงานความรับรู้ (cognitariat)

Karl Marx อธิบายมโนทัศน์ “มูลค่า” ไว้ว่า ทุนคิดคำนวณมูลค่าของทั้งสินค้าและแรงงานจากการวัดปริมาณแรงงานทางสังคมที่จำเป็น (socially necessary labor) ซึ่งหมายถึงค่าเฉลี่ยของการใช้แรงงานคนในการผลิตสินค้าต่างๆ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ทุนพยายามมองข้าม “แรงงานรูปธรรม” (concrete labor) ซึ่งมีความหลากหลายในเชิงคุณภาพ โดยการเปลี่ยนให้กลายเป็นสิ่งที่เหมือนกันและสามารถวัดค่าได้ในระดับนามธรรม (abstract labor) หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ อีกครั้งได้ว่า สำหรับทุนแล้วไม่สำคัญว่าจะเป็นแรงงานของเด็ก/ผู้ใหญ่ ผิวขาว/ผิวเหลือง/ผิวดำ ผู้ชาย/ผู้หญิง แต่ทุนจะนับเวลาที่ใช้ในการผลิตเป็นตัวกำหนดมูลค่า โดยมีเงินเป็นเครื่องมือควบคุม

ในแง่นี้ ชั่วโมงการทำงานของแรงงานจึงมีความสำคัญอย่างมาก และกลายมาเป็นพื้นที่/ประเด็นสำคัญในการต่อสู้กันระหว่างชนชั้นแรงงานกับนายทุน โดยเฉพาะในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมซึ่งแรงงานต้องทำงานในระบบการผลิตแบบสายพาน เพื่อผลิตสินค้าที่เป็นมาตรฐานเดียวกันออกมาคราวละมากๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว  นายทุนจึงต้องการเพิ่มชั่วโมงการทำงานให้มากที่สุดเพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนมากในขณะที่ต้องการจ่ายค่าแรงให้น้อยที่สุด เพื่อให้ได้กำไร ดังนั้น สิ่งที่ทุนต้องการและสิ่งที่แรงงานต้องขายจึงเป็นแรงงานในเชิงกายภาพที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิต ซึ่งทำให้กระบวนการผลิตจำกัดตัวอยู่แค่ภายในโรงงานและภายในชั่วโมงการทำงานที่กำหนดเท่านั้น เช่น 8 ชั่วโมงต่อวัน (หรืออาจมากกว่านั้น!)

อย่างไรก็ดี สำหรับมาร์กซิสต์สำนัก Autonomia กิจกรรมการผลิตไม่จำกัดอยู่เพียงแค่การเปลี่ยนรูปวัตถุในเชิงกายภาพให้กลายเป็นสินค้าเท่านั้น แต่รวมไปถึงการสื่อสาร การสร้างสรรค์สภาวะทางจิตใจ อารมณ์ และจินตนาการขึ้นมาด้วย หรือเรียกอีกแบบได้ว่า “การผลิตอวัตถุ” (immaterial production) ซึ่งมักเรียงร้องให้แรงงานต้องใช้ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการในกระบวนการผลิตมากไปกว่าแรงงานในเชิงกายภาพ อันที่จริง การใช้แรงในเชิงกายภาพของแรงงานประเภทนี้กลับไม่มีอะไรมากไปว่าการนั่งอยู่หน้าจอแล้วก็ออกแรงเคาะแป้นพิมพ์ลงไปบนคีย์บอร์ด อย่างมากก็แค่เดินร่อนไปมาเพื่อถ่ายเอกสารและชงกาแฟเท่านั้น

Bifo จึงเรียกแรงงานที่ต้องทำการผลิตอวัตถุว่าเป็นแรงงานความรับรู้ (cognitariat) ซึ่งแตกต่างจากแรงงานอุตสาหกรรม พวกเขาต้องทำการติดต่อสื่อสารกันตลอดเวลาและยังต้องเชื่อมต่อกับระบบเครือข่าย (the network) แบบเรียลไทม์ ครั้นเมื่อมโนทัศน์การผลิตขยายจากวัตถุไปยังความสัมพันธ์ทางสังคม อารมณ์ สัญญะ ความรู้ ฯลฯ ตราบใดก็ตามที่แรงงานทำการเชื่อมต่อกับเครือข่าย Bifo ก็ถือว่าพวกเขากำลังทำการผลิตอยู่ ในแง่นี้ เวลาในการทำงานจึงไม่เพียงจำกัดอยู่แค่ 8 ชั่วโมงในโรงงานเท่านั้น แต่ขยายขนาดขึ้นจนเกือบจะครอบคลุมเวลาทั้งหมดในชีวิต

โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำให้แรงงานสามารถเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายได้ทุกที่ทุกเวลา แต่นั่นก็นำไปสู่การพึ่งพิง (dependency) ในรูปแบบใหม่ แม้แรงงานความรับรู้จะมีอิสระในการท่องไปในเครือข่ายดิจิทัล เพื่อสามารถเสพย์/บริโภคสัญญะต่างๆ มากมายได้อย่างไม่รู้สิ้น แต่ในขณะเดียวกันนั้น พวกเขาก็พร้อมจะโดนเอื้อมถึง (reachable) ในทุกขณะที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย เพื่อเรียกกลับมาทำงานผลิต ในแง่นี้ มือถือทำให้ฝันของทุนเป็นจริงจนสามารถเข้ายึดกุมเวลาแม้แต่ส่วนที่เล็กที่สุดของแรงงานได้ แต่กลับจ่ายค่าตอบแทนแค่ในบางช่วงเวลาที่ทำการผลิตเท่านั้น นำไปสู่คำถามที่ว่า

 

เมื่อแรงงานความรับรู้ต้องตื่นตัวและโดนบีบให้เชื่อมต่อกับเครือข่ายของทุนตลอดเวลา แล้วอะไรคือราคาที่ต้องจ่าย?

การประกอบสร้างตัวตนในฐานะผู้ประกอบการ

            ก่อนจะตอบคำถามดังกล่าว ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่าเมื่อทุนนิยมสัญญะของ Bifo มาเจอกันกับกรอบคิดเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) จะยิ่งทำให้สถานการณ์ของแรงงานเลวร้ายมากขึ้น ในหนังสือเรื่อง The Birth of Biopolitics (2008) Michel Foucault ชี้ให้เห็นว่า ตัวตนของมนุษย์ในวิธีคิดของเสรีนิยมใหม่มีสถานะเป็น “ผู้ประกอบการ” (entrepreneur) ซึ่งโดนเรียกร้องให้ต้องเข้าไปทำการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ครั้นเมื่อทุกคนต่างก็ต้องแข่งขันกัน คนอื่น (the other) จึงค่อยๆ กลายสภาพไปเป็นคู่แข่งและอาจถึงขั้นเป็นศัตรูกันในท้ายที่สุด ชีวิตประจำวันของมนุษย์ตามแบบฉบับของเสรีนิยมใหม่จึงมีแต่ปัจเจกที่สูญเสียความเป็นปึกแผ่นทางสังคมไปแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น กรอบคิดเสรีนิยมใหม่ยังลดทอนความมั่งคั่ง (wealth) ให้เป็นเพียงเรื่องของเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น หากใครมีอำนาจในการซื้อสินค้ามาไว้ครอบครองย่อมถือเป็นคนมั่งคั่งนั่นเอง หลักการเสรีนิยมเข้ามาทำให้งานกลายเป็นสิ่งที่มีความหมายในฐานะการผลิตสร้างไปพร้อมๆ กับการบริโภค เนื่องมาจากงานทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้ รายได้ก็จะนำมาซึ่งความสุขที่ได้จากการบริโภค ดังนั้น จงรักงานของคุณ ความสุขไม่เพียงจะเป็นไปได้ แต่ต้องเป็นไปด้วย แต่ความสุขในทุนนิยมก็ต้องมีราคาที่ต้องจ่ายด้วยการมีวิถีชีวิตบางแบบ หากมีความพยายามและขยันมากพอ คุณก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตและบรรลุถึงศักยภาพในตัวตน (self-realization)

แต่นี่ก็เป็นการโกหกคำโต เพราะในท้ายที่สุด โฆษณาดังกล่าวมักล้มเหลวและนำความไม่สุขมาให้แทน เนื่องจากยิ่งเราใช้เวลาทำงานมากขึ้นเพื่อแลกปัจจัย (means) ไปซื้อความสุขมากขึ้นเท่าไหร่ เรายิ่งมีเวลาในการเพลิดเพลินใจกับตัวเองน้อยลงเท่านั้น ความสุขเป็นอะไรที่ต้องมีค่าใช้จ่ายและมักต้องเลื่อนออกไป หากเราหาความสุขใส่ตัวเองได้บ้างก็มักจะเป็นไปอย่างเร่งรีบราวกับเสียดายเวลาที่ควรเอาไปใช้ในการทำงาน ตัวตนแบบผู้ประกอบการจึงต้องรีบหาทางกลับไปทำงานต่อเพื่อไม่ให้รู้สึกผิดไปมากกว่านี้

มองในแง่นี้ มนุษย์แทบไม่ต่างอะไรจากการเป็นสัตว์เศรษฐกิจ (homo oeconomicus) ที่เคลื่อนไหวไปตามการบวกลบคูณหารความคุ้มค่าของสิ่งต่างๆ ในชีวิตตามหลักเศรษฐศาสตร์เท่านั้น โลกตามแบบเสรีนิยมใหม่กลับไม่ได้เสรีโดยปราศจากการควบคุมจากกฎใดๆ หากแต่เป็นการทุบทำลายกฎอื่นๆ ทิ้งหมดให้เหลือแค่เพียงกฎเศรษฐศาสตร์ แต่มนุษย์ก็ไม่เหลือทางเลือกมากนักนอกจากต้องยินยอมโดยสมัครใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (the voluntary yet inevitable submission) ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้จิตวิญญาณเริ่มแข็งตัวจนสูญเสียความอ่อนนุ่มและความสามารถในการปรับตัวของมัน


“เราต่ออายุให้ความรักในงานเพราะการเอาตัวรอดทางเศรษฐกิจทำได้ยากขึ้นและชีวิตประจำวันมันช่างเหงาและจืดชืด ชีวิตในเมืองช่างน่าเศร้าเสียจนเรายอมขายมันเพื่อแลกเงินก็ได้”

จิตวิญญาณโดนยาพิษและเปราะบาง

ตัวตนแบบผู้ประกอบการที่ประสบความล้มเหลวในการแข่งขันมักจบลงด้วยความป่วยไข้ทางจิต ยิ่งเมื่อเจอกับการผลักความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวให้เป็นเรื่องของปัจเจกเท่านั้น ไม่มีที่พึ่งยามยากจากสังคม (social safety net) มาคอยรองรับในยามร่วงหล่น การโทษความป่วยไข้ทางจิตให้เป็นเรื่องส่วนตัวกลับเป็นเพียงความพยายามที่จะอำพรางการครอบงำของระบบทุนนิยม เนื่องด้วยหากทุนยอมรับว่าความล้มเหลวเป็นผลจากบรรทัดฐานทางสังคมของมันเอง ความชอบธรรมที่มันเคยโฆษณาเอาไว้ย่อมพังทลาย

สำหรับ Bifo ความป่วยไข้ทางจิตไม่ใช่เรื่องของปัจเจก แต่เป็นผลจากระบบทุนนิยม เขาเปรียบว่าเมื่อสภาวะแวดล้อมเป็นพิษเสียแล้ว จะไม่ให้จิตวิญญาณได้รับพิษจนต้องทนทุกข์ทรมานได้อย่างไร

ผลของความตึงเครียดที่แรงงานความรับรู้ต้องเผชิญจึงมาในรูปของอาการตื่นตระหนก (panic) และซึมเศร้า (depression) ซึ่งเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน กล่าวคืออาการตื่นตระหนกเกิดขึ้นเมื่อจิตวิญญาณเผชิญหน้ากับสิ่งเร้าที่ดาหน้ากันเข้ามาจนไม่สามารถตอบสนองได้หมดอย่างทันท่วงที อันเนื่องมากจากการผลิตสัญญะที่ล้นเกินและการขยายตัวอย่างรวดเร็วและมหาศาลของเครือข่ายดิจิทัล ทำให้สมองของมนุษย์ไม่สามารถประมวลผลตามได้ทัน ครั้นเมื่อจิตวิญญาณเผชิญหน้ากับวิกฤติของความรับรู้ มันอาจตอบโต้ในอีกลักษณะด้วยการถอนตัวและถอยห่างจากกระแสข้อมูล เมื่อไม่สามารถทนต่อข้อเรียกร้องให้แข่งขันได้อีกต่อไป เมื่อมันรู้สึกราวกับเป็นผู้พ่ายแพ้ มันก็ยุติการสื่อสารระหว่างตัวเองกับสิ่งเร้าภายนอกจนแสดงออกมาในรูปของการสูญเสียแรงจูงใจหรือที่เรียกกันว่าสภาวะซึมเศร้า

เพื่อให้วัฒนธรรมการแข่งขันดำเนินต่อไปได้ ทุนนิยมสัญญะจึงต้องฉีดพลังที่รุนแรงเข้าไปกระตุ้นจิตวิญญาณที่ป่วยไข้คล้ายๆ กับการช็อคด้วยไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้จิตวิญญาณสามารถกลับมาทำการผลิตและบริโภคสัญญะที่ระบบผลิตขึ้นมาอย่างล้นเกินได้อย่างต่อเนื่อง เขาเรียกมันว่าเป็นเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพายากระตุ้นประสาท (Prozac economy) – Prozac เป็นชื่อทางการค้าของยา Fluoxetine ซึ่งเป็นยาต้านซึมเศร้า – ในการสร้างสภาวะครึ้มใจ (euphoria) แต่พลังความปรารถนาของวิญญาณในสายตา Bifo กลับมีขีดจำกัด ซึ่งแตกต่างไปจากความปรารถนาที่ Deleuze และ Guattari กล่าวถึงใน Anti-Oedipus: Capitalism and Schizophrenia (1972) นั่นก็ทำให้เขาเสนอทางออกให้กับจิตวิญญาณแตกต่างออกไป

จิตวิญญาณจะเป็นอิสระได้หรือไม่?

            การขูดรีดแรงงานของทุนนิยมนำไปสู่ความแปลกแยก (alienation) ของแรงงาน แต่สำหรับ Bifo เขาไม่เห็นด้วยว่ามโนทัศน์ความแปลกจะสามารถใช้อธิบายสภาวะป่วยไข้ทางจิตของแรงงานความรับรู้ได้ จึงเสนอให้พิจารณาความแปลกแยกใน 2 ความหมาย ได้แก่ 1) ความแปลกแยกเกิดขึ้นเมื่อตัวตนต้องเผชิญหน้ากับวัตถุภายนอก และ 2) การเผชิญหน้าระหว่างจิตกับวัตถุที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้จิตวิญญาณสูญเสียตัวตน หากแต่เป็นการขยับขยายตัวตนออกไป ในแง่นี้ จิตกับวัตถุไม่ใช่สิ่งที่แยกขาดออกจากกันในระบบทุนนิยมสัญญะ

มโนทัศน์ความแปลกแยกแบบแรกอาจใช้ได้ในทุนนิยมแบบอุตสาหกรรม ซึ่งแรงงานโดนทำให้ไร้ความสามารถในการสื่อสาร (incommunicability) แต่ในทุนนิยมสัญญะที่จิตวิญญาณของมนุษย์ถูกเรียกร้องจากทุนให้ต้องมีสื่อสารอย่างล้นเกิน (over-communication) Bifo เสนอให้เราใช้มโนทัศน์เรื่องการหนีห่าง (estrangement) แทน

ทุนนิยมความรับรู้พยายามเล่นกับความสนใจของมนุษย์อยู่เสมอ (constant mobilization of attention) ผ่านการนำเสนอสัญญะในทุกพื้นที่และเวลา เพื่อปรับแต่งจินตนาการ (imagineering) และความปรารถนาให้เราบริโภค เช่น ป้ายโฆษณาซึ่งปรากฏอยู่ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นในอินเทอร์เน็ต สถานีรถไฟฟ้า สถานที่ทำงาน ห้องน้ำ หรือแม้แต่ในวัด! ในแง่นี้ เราโดนละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างถึงที่สุด การหนีห่างจากทุนจึงต้องเป็นการมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ดูสิ่ง/สัญญะที่ทุนนิยมยัดเยียดให้ การหนีห่างต่อกลไกการควบคุมของทุนยังต้องกระทำอย่างแข็งขัน

จิตวิญญาณยังหมายถึงการมีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ซึ่งต้องเข้ามาใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม – ผู้เขียนเข้าใจว่าคงคล้ายกับ Conatus ในหนังสือของอ.เก่งกิจ – ครั้นเมื่อจิตวิญญาณเองก็มีความปรารถนา แต่เป็นความปรารถนาในแบบที่ต่างออกไปจากกรอบคิดแบบ Freud ซึ่งมองเป็นเรื่องของความขาด (lack) และการโดนเก็บ กด ปิด กั้นจากสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวปัจเจก Bifo นั้นมองความปรารถนาใกล้เคียงกับมโนทัศน์ความปรารถนาของ Deleuze และ Guattari หากแต่ความปรารถนาไม่ใช่พลัง (force) แต่เป็นสนาม (field)  ซึ่งเปิดโอกาสให้พลังต่างๆ เข้ามาปะทะสังสรรค์กันอย่างต่อเนื่อง

ในแง่นี้ คนอื่นไม่ใช่ขีดจำกัดและไม่ได้เข้ามาลดทอนศักยภาพในการสร้างตัวตนของเราอย่างที่ Hegel หรือ Freud เสนอให้เราต้องก้าวข้าม แต่เป็นเรื่องของความรัก อารมณ์ และความเห็นอกเห็นใจกัน ((com)passion) ในลักษณะที่เป็นเงื่อนไขที่สำคัญต่อการขยายอำนาจของตัวตนออกไป การมีชีวิตของมนุษย์จึงต้องอาศัยกระบวนการประกอบเข้ากันใหม่ (the recomposition process) กับความเป็นอื่นตลอดเวลา

เมื่อความปรารถนาต้องเปิดตัวรับต่อความเป็นอื่นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในทุนนิยมสัญญะที่จิตวิญญาณโดนกระตุ้นให้ต้องแสดงออกซึ่งความปรารถนาอย่างสุดขั้ว (hyper-expressivity) เช่น คำขวัญ just do it! ความโกลาหลย่อมตามมาในรูปแบบของความป่วยไข้ทางจิตดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ดังนั้น Bifo จึงย้อนกลับไปหามโนทัศน์เรื่องความโกลาหล (chaos) ของ Guattari เสียใหม่ ซึ่งความปรารถนาจะตอบโต้กับสภาวะโกลาหลด้วยการละเว้น (refrain)

การละเว้นเป็นการสร้างลักษณะชั่วคราวที่เป็นเอกเทศ (singular temporality) ขึ้นมาเป็นเกราะป้องกันตัวไม่ให้พบกับความยุ่งเหยิงจากความโกลาหล แต่ในอีกทางหนึ่งมันก็เป็นการสร้างกรงขังขึ้นมาจนทำให้ความปรารถนาไม่สามารถไปเชื่อมต่อกับสิ่งอื่นๆ ได้อีก ซึ่งสัมพันธ์กับความชรา (senility) อันเป็นสภาวะขาดความกล้าในการเผชิญหน้าและไม่กล้าเดิมพันกับอนาคตในแบบที่ผู้ป่วยไข้ทางจิตเป็น ดังนั้น หากการละเว้นจะช่วยให้จิตวิญญาณสามารถทนต่อกระแสการไหลบ่าของสัญญะ ในขณะที่ยังคงเอกสภาวะของตนเองได้ (singularity) มันต้องอาศัยการเคลื่อนตัวออกห่างจากจุดเดิมด้วยการกลายพันธุ์ การสลายเส้นแบ่ง (deterritorialization) ไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่อย่างต่อเนื่อง

มันจึงไม่ใช่เรื่องของความแปลกแยกที่มองว่ามนุษย์มีแก่น (essence) ให้เรากลับไปหา ไม่ใช่เรื่องของการบอกให้ผู้ป่วยไข้ทางจิตรักษาพยาธิสภาพของเขาให้หายกลับสู่สภาวะปกติที่สอดคล้องกับบรรทัดฐานทางสังคมทุนนิยม แต่เป็นการทำให้เขามั่นใจที่จะทำ สร้างสรรค์ และคิดในรูปแบบของความเป็นไปได้แบบใหม่ๆ โดยไม่ต้องกลับไปอ้างอิงกับความหลังอันสวยงาม (nostalgia) เพราะ

 

ความเป็นตัวตนไม่ได้มีอยู่ก่อนหน้า (pre-exist) กระบวนการผลิตสร้างตัวมันเอง        

 

อ้างอิง

  • เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. 2561. Autonomia ทุนนิยมความรับรู้ แรงงานอวัตถุ และการเมืองของการปฏิวัติ. กรุงเทพฯ : Illuminations Editions.
  • เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. 2561. Conatus ชีวิตและอำนาจควบคุมชีวิตในระบบทุนนิยมแห่งศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ : Illuminations Editions.
  • Berardi, Franco. 2009. The Soul at Work : From Alienation to Autonomy. Los Angeles, CA : Semiotext(e).
  • Foucault, Michel. 2008. The Birth of Biopolitics : Lectures at the College de France, 1978-79. Basingstoke [England] : Palgrave Macmillan.
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด

เรื่องที่คล้ายกัน