Skip to content

ทานยาหลังอาหาร แล้วดื่ม ‘น้ำตา’ มากๆ

ไม่รู้ว่านับนิ้วเป็นจำนวนครั้งได้ไหม แต่ฉันถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้ามาแล้วสองครั้ง

ครั้งแรกคือตอนเรียนอยู่ปีสาม ฉันไปหาหมอด้วยความรู้เต็มเปี่ยมเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า งานวิจัยถูกงัดมาค้านกับหมอตลอดช่วงการรักษา เป็นต้นว่า อุตสาหกรรมยาต้านเศร้าที่ทำให้คนยิ่งเศร้า หรือทำไมหมอถึงมีสิทธิขาดในการบอกว่าฉันเป็นหรือไม่เป็นอะไร

ผลของการทำตัวเป็นหมอคือฉันโยนยาทิ้ง เลิกไปพบหมอตามนัด แล้วลงเอยด้วยอาการถอนยาขั้นรุนแรง รู้สึกว่าแผ่นดินยุบฮวบลงไปทุกก้าวที่เดิน คลื่นไส้ เวียนหัว และความดันผิดปกติ แต่ฉันก็ไม่ได้กลับไปหาหมออีก

เรื่อยมาจนครั้งที่สอง ฉันได้ยินเสียงในหูบอกว่าควรไปตาย เห็นภาพตัวเองตายในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระโดดตึกตาย ดื่มน้ำยาล้างห้องน้ำ กรีดข้อมือ หรือกระโดดลงรางรถไฟฟ้า ฉันกลัวการตื่น เพราะเมื่อใดที่ตื่นก็เท่ากับการเห็นภาพตัวเองตายซ้ำๆ พอถึงจุดที่อาการแสดงชัดขึ้นจนคนรอบข้างตกใจ ฉันจึงเลือกพาตัวเองกลับไปหาหมออีกครั้ง พร้อมบอกคนใกล้ชิดว่า ถ้าครั้งนี้ไม่ไปหาหมอฉันต้องตายแน่ๆ

สำหรับการรักษาครั้งที่สอง อาการของฉันค่อยๆ ไต่ระดับยาไปเรื่อยๆ จาก Fluoxetine เม็ดเดียว ขยับมาเป็นสอง สาม และสี่เม็ด เพิ่ม Olanzapine มาเม็ดครึ่ง จนตอนนี้มาลงเอยที่ยาสูตร Fluoxetine 3 เม็ด Olanzaphine 1 เม็ด และ Sertraline อีก 2 เม็ด

ค่าใช้จ่ายค่อยๆ เพิ่มขึ้น เพราะ Olanzapine ตกราคาเม็ดละ 45.50 บาท Sertaline อีกเม็ดละ 4.75 บาท ส่วน Fluoxetine ยังพอปราณีฉันด้วยราคาเม็ดละหนึ่งบาทกว่าๆ ค่ายาบวกค่ารักษาต่อสองสัปดาห์ตามหมอนัดอยู่ที่ประมาณ 2,000 กว่าบาท

เพราะยาต้านเศร้าต้องกินในช่วงเวลาใกล้เคียงกันทุกวัน ฉันจึงกลายเป็นคนใช้ชีวิตตามกรอบเวลา กิน Fluoxetine 3 เม็ด ตอน 10.00 น. กิน Sertraline 2 เม็ด ตอน 18.00 น. และพอ 22.30 น. ฉันก็กิน Olanzapine เข้าไปอีก 1 เม็ด เวลาทั้งสามช่วงถูกตั้งไว้ใส่โทรศัพท์มือถือให้คอยแจ้งเตือน

แล้ววันหนึ่งฉันก็คิดได้ว่า ยาแค่ไม่กี่เม็ดเข้ามามีอำนาจเหนือชีวิตของฉันขนาดไหน

ฉันเริ่มสังเกตตัวเอง วันไหนที่นาฬิกาแจ้งเตือน แล้วฉันไม่ได้พกยาติดตัว การลืมกินยาจะทำให้ฉันกระวนกระวาย มีแนวโน้มที่จะจิตแตกง่ายค่อนข้างสูง ถึงหมอจะยืนยันว่าลืมกินยาวันเดียวไม่เป็นอะไรหรอก เพราะยาพวกนี้มีค่าอายุที่จะฝังอยู่ในร่างกายเราอย่างยาวนาน แต่เมื่อไหร่ที่ลืมกินยา หัวของฉันจะคิดทั้งวันว่าลืมกินยา จนพาลให้ประสิทธิภาพในการทำงานตกต่ำ ไม่เป็นอันทำอะไร แล้ววันหนึ่งฉันก็คิดได้ว่า ยาแค่ไม่กี่เม็ดเข้ามามีอำนาจเหนือชีวิตของฉันขนาดไหน

ไม่ใช่แค่เวลากินยา แต่ฉันสูญเสียชีวิตส่วนอื่นไปด้วย ห้ามดื่มเบียร์คือคำขอจากหมอที่ฉันคิดว่าทำยากที่สุด แต่ฉันก็ทำมันจนได้ บางวันก็ต่อรองเอาเองว่าดื่มตอนนี้ แล้วค่อยขยับไปกินยาอีกเวลาหนึ่ง ใช่ ฉันดื้อและฉันก็รักความวิไลที่ได้จากการดื่มเบียร์มากด้วย

ฉันขอพูดเรื่องยาอีกสักรอบ ยาทุกตัวมีผลข้างเคียงของมัน เมื่อกินยาวันแรกเราจำเป็นต้องทนกับปฏิกิิริยาอื่นๆ ที่จะเกิดตามมา มึนหัว คลื่นไส้ อ้วก ปวดหัวไมเกรนจนทำอะไรไม่ได้ ได้กลิ่นอะไรก็ชวนอ้วกไปหมด นี่คืออาการที่ฉันเจอ ทุกครั้งที่หมอปรับยา เท่ากับการต้องเริ่มกระบวนการพวกนี้ใหม่ทั้งหมด จนกว่าร่างกายจะรับสภาพได้

เฉพาะผลข้างเคียงของ olanzapine อีกอย่างคือ อ้วน เพราะยามีผลต่อระบบการเผาผลาญและเพิ่มความอยากอาหารให้มากขึ้น ตั้งแต่กินยา น้ำหนักฉันเพิ่มมากว่า 7 กิโล อย่างไม่มีทีท่าว่ามันจะหยุดอยู่แค่นี้ ฉันเลยลองวิ่ง แล้วก็พบว่าตัวเองเป็นนักวิ่งที่ไร้วินัย สุดท้ายแผนลดน้ำหนักก็ล้มเหลว และฉันก็กินอย่างรู้สึกผิดต่อระดับไขมันต่อไป

หมอกลายมาเป็นคนที่ฉันไว้ใจและอยากเจอหน้ามากที่สุด มากขนาดที่แฟนของฉันก็ทำให้ฉันสบายใจเท่านี้ไม่ได้ ฉันพร้อมจะเล่าทุกอย่างให้หมอฟัง เชื่อในสิ่งที่หมอบอกทุกอย่าง ต่างกับฉันคนแรกที่ตั้งตนอยู่ตรงข้ามหมอทุกวิถีทาง

รักษามานาน หมอบอกว่าอาการดีขึ้น แต่ดีขึ้นได้มากกว่านี้ ฉันหอบกำลังใจกลับบ้านไปเริ่มทำงานที่ใหม่ ทำได้ไม่ดี ยาก ไม่สนุก ฉันปลอบใจตัวเองว่าคงไม่ถนัดกับงานสายธุรกิจจ๋า ก่อนจะเริ่มวางแผนฆ่าตัวตาย เริ่มจากเสิร์ธหาวิธีกรีดข้อมือยังไงให้ตาย หรือจะเอาของหนักๆ ใส่เป้แล้วสะพายไปกระโดดแม่น้ำ (ส่วนกินน้ำยาล้างห้องน้ำนั้นตายยาก แต่จะทำให้อวัยวะภายในถูกทำลาย กว่าจะตายได้ก็ทรมาน ฉันเลยไม่เลิกวิธีนี้)

ฉันร้องไห้ ฉันหยุดเห็นภาพตัวเองนอนตายด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ได้ เสียงในหัวดังขึ้นเรื่อยๆ ว่าคนอย่างฉันสมควรไปตาย แค่งานง่ายๆ ยังทำไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้เรื่องสักอย่าง ฉันไม่ได้อยากตาย แต่ฉันหาเหตุผลให้การมีชีวิตอยู่ไม่ได้แล้ว

เช้าวันต่อมาเป็นวันนัดพบหมอพอดี ฉันเล่าทุกอย่างให้หมอฟัง ความเสี่ยงของการฆ่าตัวตายของฉันพุ่งสูงสุด หมอบอกว่าน่าจะเสี่ยงที่จะอยู่ข้างนอก ข้างนอกที่หมายถึงนอกโรงพยาบาล ทางที่ดีฉันควรแอดมิตเพื่อให้อยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญตลอด 24 ชั่วโมง

 


 

เนื่องจากโรงพยาบาลที่ฉันรักษาอยู่ประจำเตียงเต็ม ฉันจึงถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่ง ภาพจำของโรงพยาบาลจิตเวชที่มักจะเห็นในละครหลังข่าวคือ มีสนามหญ้าให้เดินเล่น คนวุ่นวาย อะไรประมาณนี้ แต่เอาเข้าจริงคือ ฉันโดนขังไว้แค่ในพื้นที่ชั้น 5 ของโรงพยาบาล ไปได้ไกลสุดคือห้องกินข้าวกับห้องกิจกรรม หน้าต่างทุกบานมีลูกกรง ผู้ป่วย (ขอเรียกอย่างนี้ตามพยาบาลละกัน) ผู้ป่วยหลายคนชอบไปยืนเกาะลูกกรงมองวิวนอกหน้าต่าง ซึ่งส่วนมากคือวิวตึกสูงในกรุงเทพฯ นี่คือ first impression แรกของโรงพยาบาลจิตเวช

ฉันไปถึงตอนที่โรงพยาบาลปลายทางประมาณสองทุ่ม กว่าจะซักประวัติตรวจสุขภาพพื้นฐานและส่งตัวฉันไปหอนอนก็ราวสี่ทุ่มแล้ว พิธีกรรมแรกของการเข้าเป็นผู้ป่วยแอดมิตคือพยาบาลส่งมอบตะกร้าให้ เป็นตะกร้าที่ใช้ใส่อุปกรณ์อาบน้ำที่เราต้องเตรียมมาเอง โดยตะกร้านี้พี่พยาบาลจะเป็นคนเก็บไว้ให้และเขียนชื่อฉันลงไปในอุปกรณ์ทุกชิ้น ฉันจะได้รับตะกร้าตอนเวลาอาบน้ำสองครั้งต่อวัน คือ ตีห้า และบ่ายสาม อุปกรณ์มีค่าอีกชิ้นคือแก้วน้ำพลาสติกที่จะติดชื่อฉันไว้ที่แก้วป้องกันการใช้สลับกับผู้ป่วยคนอื่น

ก่อนนอนต้องเปลี่ยนชุดเป็นชุดผู้ป่วยสีฟ้าประทับตราโรงพยาบาล ขั้นตอนการเปลี่ยนชุดคือ พี่พยาบาลบอกว่าให้ไปเปลี่ยนในห้องน้ำ แต่ห้ามปิดประตูห้องน้ำ และพี่พยาบาลก็ยืนดูฉันเปลี่ยนชุดแบบห้ามใส่ชุดชั้นในใดๆ ทั้งสิ้น

นอกจากโดนพี่พยาบาลไล่เปิดไฟให้สว่างคาตาทุกตีห้าแล้วตื่นขึ้นมาอาบน้ำ พวกเราก็ไม่ได้ทำอะไรอีกนอกจากรอเวลากินข้าวตอนเจ็ดโมง พาให้ฉันสงสัยว่าแล้วเราจะตื่นกันตั้งแต่ตีห้าไปทำไม หลังจากกินข้าวซึ่งเป็นข้าวต้มแบบจืดสนิทกับหมูหยอง และผัดมะเขือ (ซึ่งฉันกินไม่เป็น เลยกินแต่หมูหยอง) ก็ได้พักดูทีวีอันเป็นความบันเทิงหนึ่งเดียวของชีวิตในโรงพยาบาล ก่อนที่พยาบาลจะเรียนไปต่อแถววัดความดัน กินยาต่อหน้าพยาบาล จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการออกกำลังกาย

เราออกกำลังกายกันในห้องโถงที่ดูทีวี วิดีโอที่พยาบาลเปิดให้ออกกำลังกายตามเป็นวิดีโอยุค 90 เห็นจะได้ แถมเพลงที่ใช้ออกกำลังกายเป็นเพลงไทย เช่นค้างคาวกินกล้วย หรือลอยกระทง นอกจากนั้นยังมีการเต้นประกอบจังหวะกับเพลงล้างมือ คือเต้นท่าล้างมือแบบต่างๆ จนครบ 45 นาที

ออกกำลังกายเสร็จ เหงื่อออก และสงสัยว่าทำไมให้ออกกำลังกายหลังอาบน้ำ จากนั้นก็เรียงแถวตามลำดับความสูง เพื่อขวาหันไปเคารพธงชาติ และซ้ายหันกลับมาสวดมนต์ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในโถงที่ดูทีวี เสร็จแล้วก็ปล่อยฟรี ฟรีในบริเวณชั้น 5 ที่มีแต่ห้องนอน ห้องกินข้าง ห้องกิจกรรม และโถงดูทีวี

ทีวีกลายเป็นสิ่งเดียวที่เราจะรู้ได้ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นที่โลกภายนอก ทีวีกลายเป็นทุกอย่างของผู้ป่วยอย่างพวกเรา (ไม่นับรวมหนังสือสวดมนต์ที่วางอยู่เต็มชั้นหนังสือ ซึ่งฉันว่ามันไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเท่าไหร่)

วันหนึ่งขณะนั่งอึอยู่ในห้องน้ำที่ล็อกประตูไม่ได้ แม่บ้านท่านหนึ่งเปิดประตูเข้ามาเก็บถังขยะ ฉันเข้าใจว่าคงไม่มีใครอยากดูคนอื่นอึ แต่มันก็ทำให้ฉันรู้ว่าแม้แต่อึ ฉันยังทำไม่ได้อย่างสบายใจและปลอดสายตาควบคุม

วันๆ จึงหมดไปด้วยการมองหน้าต่างลูกกรง เห็นว่าข้างนอกมันมีอะไร แล้วก็อยากออกไปข้างนอกเหลือเกิน อยากไปเที่ยววัดที่มองเห็นหลังคาข้างล่างนั่นจัง พอจับกลุ่มคุยกันก็มักหนีไม่พ้นหัวข้อว่า อยู่มากี่วันแล้ว ไม่มีการคุยว่าจะได้ออกวันไหน เพราะมันดูเป็นไปได้ยากกว่าการเข้ามาในนี้อีก นอกนั้นก็ดูทีวี หรือไม่ก็ถูกไล่ให้เข้าไปนอนในห้อง แล้วก็นั่งๆ นอนๆ

ตลอดเวลาที่อยู่ที่นี่ก็คิดในใจว่า การคืน ‘คนปกติ’ สู่สังคมของที่โรงพยาบาลนี้มันยิ่งบีบให้คนเครียดผ่านกิจกรรม พื้นที่อันจำกัด และลูกกรงล้อมรอบ วันแรกที่ตื่นเช้ามาในโรงพยาบาลฉันร้องไห้ไม่หยุด ไอ้บ้า กูต้องมาอยู่ในที่แบบนี้หรอวะ ทำไมพวกเราต้องมาผจญอะไรแบบนี้วะ ซึ่งพอร้องไห้ ก็โดนพยาบาลหมายหัวอีกว่าอีนี่ยังไม่ปกติ อ๋อ ยังมีอีกอย่างที่รู้สึกว่าบ้าบอคือ พยาบาลชอบขู่หรือไม่ก็เล่นมุกทำนองว่า เดี๋ยวจับฉีดยาเลยนะ

ชีวิตในโรงพยาบาลจิตเวชจึงเป็นประมาณนี้ ถูกตัดสินว่าไม่ปกติโดยหมอ และรอวันที่หมอจะบอกว่าเราปกติ แต่ละวันเป็นไปด้วยความวายป่วงที่ทำให้จิตใจไม่ค่อยจะสงบสุข

ที่สำคัญคือฉันคิดถึงหมอที่โรงพยาบาลเก่ามากๆ มากจนอยากกอดแน่นๆ แล้วบอกว่าอย่าส่งฉันเข้ามาในโรงพยาบาลแบบนี้อีก

 


เมื่อไหร่ที่ฉันเศร้าหรือควบคุมตัวเองไม่ได้ ภาพทุกอย่างในโรงพยาบาลที่ไปแอดมิตมาจะปิ๊งเข้ามาในหัว แล้วฉันก็กลัวว่าต้องกลับเข้าไปอยู่ที่นั่น อาการฉันก็ค่อยๆ ดีขึ้นจนน่าตกใจ

ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องดีหรือเปล่าที่หลังออกจากโรงพยาบาล เมื่อไหร่ที่ฉันเศร้าหรือควบคุมตัวเองไม่ได้ ภาพทุกอย่างในโรงพยาบาลที่ไปแอดมิตมาจะปิ๊งเข้ามาในหัว แล้วฉันก็กลัวว่าต้องกลับเข้าไปอยู่ที่นั่น อาการฉันก็ค่อยๆ ดีขึ้นจนน่าตกใจ

ยาเข้ามาจัดการชีวิตฉันใหม่ ฉันกลายเป็นคนว่าง่าย มีที่พึ่งหนึ่งเดียวคือหมอ และรอวันให้หมอบอกว่าฉันดีขึ้น ไม่ต้องกินยาแล้ว ส่วนระหว่างที่รอให้หายนั้น จะเป็นอย่างไรคงแล้วแต่หมอ

แต่เรื่องน่าเศร้าก็คือ นอกจากค่ายาจะแพง ทุกครั้งที่เปลี่ยนยาก็เท่ากับการนับหนึ่งใหม่ไปจนกว่าจะหายาที่เข้ากับร่างกายได้ ถ้าไม่เจอยาที่ร่างกายถูกใจ ก็ต้องลองยาใหม่ และเจอสภาพปรับตัวแสนทรมานใหม่ไปเรื่อยๆ หมอเคยเสนอว่า มียาตัวหนึ่งที่กินแล้วไม่น่าจะเจอปัญหาอะไร

สนนราคาอยู่ที่เม็ดละ 100 บาท

เกี่ยวกับผู้เขียน

Nalineethi

นลินีเป็นโรคซึมเศร้า นลินีมีอาการจิตเวชแบบหูแว่วภาพหลอนร่วมด้วย นลินีเป็น content creator อยู่ที่สื่อออนไลน์แห่งหนึ่ง นลินีมีอาชีพเสริม (ที่ทำรายได้หลัก) เป็นนักวิจัย และพิสูจน์อักษรไร้วินัย

Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด