Skip to content

anthropological machine เป็นบทหนึ่งในหนังสือ The Open: Man and Animal ของ Agamben ในหนังสือเขานำเอาแนวคิดเรื่องสภาวะยกเว้นและ Bare life ที่เขาเคยเสนอไว้มาขยายความไปสู่การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์กับมนุษย์

Agamben เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับกำเนิดของมนุษย์โดยยกงานของ Ernst Haeckel มาไล่เรียงให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องวิวัฒนาการของมนุษย์ของ Haeckel นั้นวิวัฒนาการมาจากลิงคล้ายกับที่ Charles Darwin เสนอไว้ แต่เมื่อคนวิวัฒนาการมาจากลิงแล้วอะไรเป็นตัวแยกแยะระหว่างคนกับลิง Haeckel เสนอว่าสิ่งที่แยกแยะระหว่างมนุษย์กับลิงก็คือภาษา และเรียกลิงที่คล้ายมนุษย์แต่ไม่มีภาษาพูดว่า Homo Alalus หรือ มนุษย์ลิง (ape-man) มนุษย์ลิงเป็นสิ่งมีชีวิต อาจสรุปได้ว่าข้อสมมติฐานของ Haeckel สร้างจากการแบ่งแยกระหว่างมนุษย์กับสัตว์ และ Agamben เรียกการแบ่งแยกระหว่างมนุษย์กับสัตว์ว่า anthropological machine

ลักษณะการทำงานของ anthropological machine คือสร้างพื้นที่ของการไม่แยแส (zone of indifference) ไว้ตรงกลางแล้วกีดกันสิ่งที่เคยมีอยู่ภายในพื้นที่ออกไปและรวมเอาสิ่งที่เคยถูกกีดกันภายนอกเข้ามาภายใน หรือพื้นที่กำหนดที่ภายนอกไม่มีอะไรเลยนอกจากสิ่งที่ถูกกีดกันจากภายในและภายในก็มีเพียงสิ่งที่ถูกรวมเข้ามาจากภายนอก การทำงานแบบนี้ทำให้เกิดสภาวะของการยกเว้น (state of exception) ถ้าจะพูดเป็นภาษาไทยให้ฟังดูยากขึ้นก็อาจจะบอกว่าเป็นการ “เข้าไปข้างนอก ออกมาข้างใน”

Agamben แบ่ง anthropological machine ที่ทำงานอยู่ในวัฒนธรรมของเราออกเป็นสองแบบคือ แบบโบราณที่ภายในเป็นการรวมสิ่งที่อยู่ภายนอกเข้ามา และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ถูกสร้างโดยการทำสัตว์ให้เป็นมนุษย์ (humanizing the animal) หรือ ลิงมนุษย์ (man-ape) (ปล. man-ape ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงคู่ปรับของ Black Panther ในจักรวาลมาร์เวลแต่อย่างใด) เป็นการทำให้สัตว์อยู่ในลักษณะของมนุษย์ (anthropomorphism) แม้ Agamben จะบอกว่านี่เป็น anthropological machine แบบโบราณแต่มันก็ยังคงทำงานอยู่ในปัจจุบัน เรายังคงในความเป็นมนุษย์เข้าไปในสัตว์เสมอทั้งการพยายามตั้งชื่อ การอธิบายพฤติกรรมสัตว์โดยให้เกณฑ์ของมนุษย์เข้าไปอธิบาย

แบบที่สองคือ anthropological machine แบบสมัยใหม่ที่ทำงานโดยการกีดกันสิ่งที่ยังไม่ใช่มนุษย์แต่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ออกไปโดยการทำให้เป็นสัตว์ (animalizing the human) ความไม่เป็นมนุษย์ถูกสร้างขึ้นในมนุษย์ เช่น ในกรณีของชาวยิวช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หรือพวกนอกรีต ส่วนนี้ Agamben ดูจะมองไปในแง่ลบเกินไป สงสัยไม่เคยดูมาสค์ไรเดอร์ ไอ้มดเอ็กซ์ ไอ้มดแดง หรือแม้แต่พวกฮีโร่ในการ์ตูนอเมริกันอ่ะครับ พวกนี้ทำให้คนเป็นสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นจากภายใน และสิ่งมีชีวิตพวกนี้ไม่ได้ถูกมองว่าต่ำกว่ามนุษย์อย่างที่เขาอธิบายไว้ ตรงกันข้ามฮีโร่พวกนี้กลับสูงส่งกว่ามนุษย์ธรรมดาเสียด้วยซ้ำ

ในการทำงานของ anthropological machine ทั้งสองแบบทำให้เกิดชีวิตที่ไม่ใช่ทั้งมนุษย์และสัตว์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกแยกออกและรวมเข้าด้วยกัน Agamben เรียกสิ่งมีชีวิตนี้ว่า bare life และไม่สำคัญว่าแบบไหนจะดีกว่ากัน แต่เราต้องเรียนรู้และหยุดการทำงานของมัน

น่าสังเกตว่าในการอธิบายความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสัตว์ในที่นี้ Agamben ไม่ได้บอกว่ามีองค์อธิปัตย์ที่มีอำนาจสร้างพื้นที่หรือสภาวะการยกเว้นเหมือนในเล่มอื่นที่เขาเขียน สิ่งหนึ่งที่พอจะเปรียบได้กับองค์อธิปัตย์ที่กำหนดสภาวะการยกเว้นในที่นี้คือวัฒนธรรมของมนุษย์ และในตอนท้ายของบท Agamben เสนอว่าเราควรจะหยุดการทำงานของ anthropological machine จึงไม่ใช่แค่การหยุดมองหรือทำให้คนอื่นเป็นสัตว์แต่ยังเป็นเป็นการหยุดการแบ่งแยกระหว่างคนกับสัตว์ในวัฒนธรรมของเรา (ชาวตะวันตก) อีกด้วย

ผลพวงของงานเขียนชิ้นนี้ไม่ได้มีเพียงเพื่อชี้ให้เห็นว่าในวัฒนธรรมของเรามี anthropological machine ทำงานอยู่และทำงานอย่างไรแต่ยังชวนให้เราคิดใหม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสัตว์รวมถึงการคิดถึงสัตว์โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางยังคงทำได้อีกต่อไปหรือไม่

อ้างอิง

G Agamben, The Open Man and Animal, Stanford University Press, Stanford, California, 2002.

เกี่ยวกับผู้เขียน

40635138 10204915230637107 6061875369370189824 N

ฮอล aka Manotch นักเรียนมานุษยวิทยาจอมเกียจคร้าน ผู้ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ยอมเขียนวิทยานิพนธ์ ขี้เกียจคุยกับคนเลยหันไปคุยกับพืช สาธุ

Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด

เรื่องที่คล้ายกัน