Jellyfish and humans: The scramble for eternity
จากการสังเกตเห็นว่าผู้คนมักนิยมนำแมงกะพรุนมารับประทาน และนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในเมนูอาหาร เช่น นำมาทำสุกียากี้ ชาบู หม้อไฟ หรือนำแมงกะพรุนมาย่างและทาน้ำมันงา ซึ่งกำลังเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมอยู่ในตอนนี้ ทำให้คณะเขียนได้ฉุกคิดและตั้งข้อสงสัยว่าสัตว์ที่มองด้วยตาเปล่าจากรูปลักษณ์ภายนอกที่แตกต่างจากมนุษย์ ไม่มีทั้งกระดูกสันหลัง ไม่มีหัวใจ ไม่มีแม้แต่ตา หู จมูก ปาก อย่างแมงกะพรุน แต่ทำไมถึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ และขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่อาศัยอยู่บนโลกมาไม่ต่ำกว่า 550 ล้านปีแล้ว ซึ่งนับเป็นสัตว์ที่มีความดึกดำบรรพ์ที่สุดในโลก เมื่อมนุษย์รับรู้ถึงความพิเศษนี้ของแมงกะพรุน มนุษย์จึงให้ความสนใจและทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแมงกะพรุนมากขึ้น เพื่อต้องการช่วงชิงความเป็นอมตะมาให้แก่ตนเอง
แมงกะพรุนเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง อยู่ในไฟลัม ไนดาเรีย (Cnidaria) ลักษณะของแมงกะพรุน คือไม่มีสมอง ไม่มีกระดูก ไม่มีหัวใจ และไม่มีปอด แต่มีระบบประสาท ด้านบนเป็นวงโค้งคล้ายร่ม ด้านล่างตอนกลางเป็นอวัยวะทำหน้าที่กินและย่อยอาหาร เส้นประสาทต่อกันเป็นร่างแหตามลำตัวและหนวดเพื่อรับสัมผัสและตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม ร่างกายมีน้ำเป็นองค์ประกอบของร่างกายมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ แมงกะพรุนส่วนใหญ่จะดำรงชีวิตโดยการลอยตามกระแสน้ำ กินอาหารจำพวกสัตว์ต่าง ๆ เช่น กุ้ง ปลา แมงกะพรุนมีหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งแบบทานได้และทานไม่ได้
ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์มักมองข้ามแมงกะพรุนมาตลอดหลายร้อยปี เหตุผลเพราะพวกมันไม่มีสมองส่วนกลางและการจะทำความเข้าใจชีวิตแมงกะพรุนเป็นเรื่องเกินกำลังของนักวิทยาศาสตร์สมัยก่อน เมื่อกาลเวลาผ่านไปวิทยาการก้าวหน้ายิ่งขึ้น เราศึกษาพบว่าแมงกะพรุนมีพฤติกรรมซับซ้อน และรับรู้การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ในระดับลึกซึ้ง มันสามารถแหวกว่ายในน้ำโดยใช้พลังงานอย่างประหยัดที่สุดและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบว่าแมงกะพรุนสายพันธ์ุ Turritopsis dohrnii สามารถฟื้นคืนชีพตัวเองได้และถูกจัดให้มีความอมตะในทางชีวภาพ (Biologically immortal) สิ่งนี้ทำให้เหล่าบรรดานักวิทยาศาสตร์หันกลับมามองและให้ความสนใจในตัวแมงกะพรุนเพื่อไขความลับไปสู่ชีวิตอันเป็นนิรันดร์ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแมงกะพรุนสายพันธุ์ Turritopsis dohrnii สามารถข้ามผ่านขีดจำกัดด้านความตายได้จากการใช้ศักยภาพทางชีววิทยาของตัวเองให้เกิดประโยชน์ งานศึกษาพบว่าแมงกะพรุนสายพันธุ์นี้ยังมียีน (Gene) ที่ควบคุมการซ่อมแซม DNA และยีน (Gene) ที่ทำหน้าที่สร้างเอนไซม์ทีโลเมอร์เรส (Telomerase) ในการยับยั้งความแก่ อีกทั้งยังมีวงจรชีวิตที่น่าสนใจจนได้รับการขนานนามว่าเป็นสัตว์ที่มีชีวิตอมตะ
แมงกะพรุนมีวงจรชีวิตที่เปลี่ยนรูปร่างไปในแต่ละช่วงชีวิต เริ่มจากไข่ที่ได้รับการผสมแล้วของแมงกะพรุนโตเต็มวัย มีลักษณะเป็นถุงตัวอ่อน (Larva) ไปยึดเกาะกับหิน จากนั้นจะค่อย ๆ พัฒนาเป็นขั้น โพลิป (Polyp) และกลายเป็นขั้นเมดูซ่า (Medusa) ที่โตเต็มวัย พร้อมผสมไข่กับสเปิร์มต่อไปจนครบวงจร สิ่งที่นักชีววิทยาค้นพบเกี่ยวกับแมงกระพรุนสายพันธุ์ Turritopsis dohrnii ยังมีความพิเศษตรงที่แมงกะพรุนเหล่านี้มีการเจริญเติบโตแบบ ‘ย้อนกลับ’ คือ แทนที่จะแก่ แต่กลับมีความอ่อนเยาว์ลงกลายเป็นเด็ก ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์เรียกกระบวนการนี้ว่า ‘Life cycle reversal’ คือ แมงกะพรุนเหล่านี้มีพฤติกรรมที่พัฒนาจากขั้นโพลิปไปเป็นเมดูซ่า แล้วจากเมดูซ่าก็จะสามารถย้อมกลับไปเป็นขั้นโพลิปได้ซ้ำอีกหลายครั้งโดยที่ไม่ตาย แต่ถ้าหากเมดูซ่าของแมงกะพรุนสายพันธุ์นี้ได้รับบาดเจ็บ ป่วย หรือชราลง พวกมันจะไม่ทำลายเมดูซ่าทิ้ง แต่จะเปลี่ยนเมดูซ่าที่ผิดปกติเหล่านั้นให้กลายเป็นถุงเนื้อเยื่อ (Cyst) และพัฒนากลับไปเป็นหน่อเมดูซ่าเช่นเดิม แล้วจึงค่อยเริ่มต้นกระบวนการฟื้นคืนชีพอีกครั้ง (The momentum, 2022) หรือที่เหล่านักชีววิทยาเรียกกันว่าชีวิตอมตะ
บทความชิ้นนี้ได้แบ่งหัวข้อการนำเสนอออกเป็น 4 ส่วน ส่วนที่หนึ่ง นำเสนอภาพแมงกะพรุนในสายตามนุษย์ ส่วนที่สอง จะแสดงให้เห็นว่าสายพันธุ์มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่หลงในรูปโฉมเผ่าพันธุ์ตัวเอง ส่วนที่สาม เนื้อหาเกี่ยวกับความพิเศษของแมงกะพรุน และสุดท้าย จะเปิดเผยให้เห็นว่าจากความหลงใหลในเผ่าพันธุ์ตัวเอง ทำให้มนุษย์พยายามจะช่วงชิงความเป็นนิรันดร์จากแมงกะพรุนอย่างไร
แมงกะพรุนในสายตามนุษย์
แมงกะพรุนเป็นสิ่งมีชีวิตที่แพร่กระจายอยู่ในทะเลทั่วโลก ไม่มีกระดูกสันหลัง ไม่มีระบบประสาทที่ทำงานโดยสมอง ด้านบนเป็นวงโค้งคล้ายร่ม ส่วนใหญ่ดำรงชีวิตอยู่ในทะเล พบได้บริเวณน้ำตื้นทั่วไป แมงกะพรุนมีหลายชนิดทั้งแบบมีพิษและไม่มีพิษ มีวิวัฒนาการมาหลายร้อยล้านปี ในสายตาของนักวิทยาศาสตร์มักมองว่าแมงกระพรุนมีชีวิตไม่ต่างจาก ‘สัตว์ต่างดาวที่อาศัยบนโลก’ ด้วยรูปลักษณ์ทั้งภายนอกและภายในที่แปลกประหลาด ซ้ำยังมีวัฏจักรที่สามารถฟื้นฟูเซลล์ของตนเองได้ จนได้ชื่อว่ามีชีวิตที่เป็นอมตะ บทความที่มีชื่อว่า ‘นวัตกรรมกำจัดแมงกะพรุนชายฝั่งเกาหลี’ นำเสนอว่า แมงกะพรุนบริเวณชายฝั่งเกาหลีมีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงจนทำให้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเล และทำให้สูญเสียรายได้ถึง 3 พันล้านวอน ภาครัฐแก้ปัญหาด้วยการอาศัยฝูงหุ่นยนต์ให้กำจัดแมงกะพรุนด้วยการปั่นแมงกะพรุนเป็นชิ้น ๆเพื่อให้ตาย ก่อนหน้านี้ได้มีการกำจัดแมงกะพรุนด้วยการลากอวนไปตามชายฝั่ง จากนั้นปล่อยให้ศัตรูตามธรรมชาติของแมงกะพรุน เช่น เต่าทะเล ออกไปกำจัดด้วยการกินแมงกะพรุน แต่วิธีดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายที่สูงและไม่ได้ผลลัพธ์เท่าวิธีใช้ฝูงหุ่นยนต์กำจัด วิธีดังกล่าวนี้เป็นวิธีที่โหดร้ายและไม่ได้คำนึงถึงแมงกะพรุนที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ มนุษย์มักคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของตนเอง และมีมุมมองต่อแมงกะพรุนว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่อันตราย ซึ่งแท้จริงแล้วแมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่ไม่ได้เป็นอันตรายหากรู้จักวิธีการอยู่ร่วมกัน แต่เป็นมนุษย์ต่างหากที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่อันตรายต่อแมงกะพรุน เนื่องจากธรรมชาติของแมงกะพรุนไม่ได้เป็นสัตว์สังคมและไม่จำเป็นต้องอยู่รวมกันเป็นฝูง รวมถึงไม่ค่อยมีศัตรูหรือคู่แข่งตามธรรมชาติ หากจะมีผู้ล่าหลักก็มีเพียงเต่าทะเล ปลาทูน่า ปลาฉลาม ปลาพระอาทิตย์ (Sunfish) และแมงกะพรุนด้วยกันเอง ถ้าจะมีผู้ล่าตัวสำคัญก็คงมีมนุษย์ที่เป็นศัตรูตัวฉกาจ เพราะมนุษย์ทำลายและบริโภคแมงกะพรุนมากที่สุดแล้ว
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการยึดเผ่าพันธ์ุมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Anthropocentrism) เนื่องด้วยมนุษย์คิดว่ามีแค่เผ่าพันธุ์ตนเองเพียงเท่านั้นที่มีวัฒนธรรม เช่น ภาษา จิตสำนึก อารมณ์ความรู้สึกทางสังคม และมนุษย์มีมุมมองว่ามีแต่มนุษย์เท่านั้น ที่สามารถกำหนดความเป็นไปของโลก สิ่งแวดล้อม และสังคม
บทความที่มีชื่อว่า ‘ร่างกายมหัศจรรย์ของน้องเยลลี่สวยใสไร้สมอง’ เป็นบทความที่กล่าวถึงคุณสมบัติและความอัศจรรย์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพของแมงกะพรุน แต่คำว่าสวยใสไร้สมองที่มาจากชื่อบทความเป็นสิ่งที่ใช้นิยามความเป็นตัวตนของแมงกะพรุน นั่นแสดงให้เห็นได้ว่ามนุษย์ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากมนุษย์มองว่าเผ่าพันธุ์ของตนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเฉลียวฉลาดซึ่งได้มาจากมันสมอง ส่งผลให้มนุษย์มีวัฒนธรรม และมีวิถีชีวิตที่มีพัฒนาการ มนุษย์ยังสามารถสร้างภาษาที่ซับซ้อน มนุษย์จึงเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่สามารถสร้างระบบวิถีคิดอย่างเป็นระบบและซับซ้อนได้ ซึ่งเป็นการให้คุณค่าว่าการมีสมองคือ ความฉลาด และใช้คำว่าไม่มีสมองหรือไร้สมองเป็นการเปรียบว่าไม่ฉลาด ในทำนองว่าไม่สามารถมีวิถีแนวคิดที่เป็นระบบแบบแผนที่เฉลียวฉลาดได้อย่างมนุษย์ บทความใช้คำว่า ‘สวยใสไร้สมอง’ และ ‘น้องเยลลี่’ แทนการกล่าวคำว่า ‘แมงกะพรุน’ การที่แมงกะพรุนไม่มีสมองทำให้มนุษย์นิยามว่าแมงกะพรุนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีแบบแผนวิถีชีวิตและแนวคิด ล่องลอยไปตามสายน้ำไปวัน ๆ การเปรียบเทียบว่าแมงกะพรุนไม่มีสมองคล้ายเยลลี่ และไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตที่พิเศษเท่ามนุษย์ สิ่งนี้เหมือนการตัดสินคุณค่าแมงกะพรุนด้วยการใช้เกณฑ์มาตรฐานคุณค่าความเป็นมนุษย์ หรือการยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางแล้วนำกฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานของมนุษย์ไปนิยามสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์หรือทุกสรรพสิ่งบนโลก
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่หลงตัวเอง
มนุษย์มีทัศนคติยึดลักษณะภายนอกของตนเองเป็นศูนย์กลาง ตามแนวคิดมานุษยรูปนิยม (Anthropomorphic) การเอาลักษณะมนุษย์ ไปใช้กับสิ่งที่ไม่ใช่มนษุย์ นำลักษณะของตนเองเป็นบรรทัดฐานไปใช้จำกัดความให้แก่สิ่งอื่น แท้จริงแล้วมนุษย์เองนั้นก็เป็นสัตว์ที่ถูกจำกัดความว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เฉกเช่นเดียวกับที่แมงกะพรุนที่ถูกจำกัดความว่าเป็นสัตว์ไม่มีสมอง
Anthropomorphism และ Personification ถูกนิยามความหมายว่า “เป็นเวลาหลายพันปีแล้วที่มนุษย์เราได้จินตนาการสิ่งต่าง ๆ รอบตัวให้มีชีวิตจิตใจหรือมีรูปร่างเหมือนตนเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่ได้พบเห็น และถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านั้นด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคำพูด ตัวหนังสือ รูปภาพ หรือแสดงพฤติกรรม กระบวนการดังกล่าวอยู่ในขอบเขตของคำศัพท์ตัวอย่าง 2 คำ ได้แก่ Anthropomorphism และ Personification มีการศึกษาประเด็นนี้ในหลายสาขาวิชา รวมทั้งปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ในปัจจุบัน Anthropomorphism คือการกำหนด “ลักษณะของมนุษย์” ไม่ว่าจะรูปร่างหน้าตา กิริยาอาการ นิสัย อารมณ์ หรือสติปัญญานึกคิด มาสร้างให้แก่สิ่งใดก็ตามที่ “ไม่ใช่มนุษย์” เช่น สัตว์ สิ่งของ สถานที่ รวมถึงสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือปรากฏการณ์ พูดง่าย ๆ ก็คือเรา “สร้าง” สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ให้แสดงลักษณะอาการต่าง ๆ ราวกับว่าเป็นมนุษย์ (Humanlike) คำว่า Anthropomorphism มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ ได้แก่ anthropos แปลว่า มนุษย์ และ morphos แปลว่า รูปร่าง ดังนั้นในภาษาไทยจึงบัญญัติศัพท์ว่า “มานุษยรูปนิยม” (ภัทรชนน ศักดิ์ศิริสัมพันธ์, 2564)
จากนิยามความหมายของมานุษยรูปนิยม เราสามารถนำมาวิเคราะห์ผ่านเรื่องราวของแมงกะพรุนในสายตามนุษย์ ในอุดมคติของมนุษย์ที่ลักษณะรูปลักษณ์ต้องมี หู ตา จมูก ปาก แขน ขา มนุษย์จึงยึดลักษณะภายนอกของตนเองเป็นศูนย์กลาง ตามแนวคิดมานุษยรูปนิยม (Anthropomorphic) การเอาลักษณะมนุษย์ ไปใช้กับสิ่งที่ไม่ใช่มนษุย์ เมื่อมนุษย์มีมุมมองว่าแมงกะพรุนนั้นมีรูปลักษณ์ภายนอกแตกต่างจากตนเอง จึงไปนิยามให้แมงกะพรุนเป็นสัตว์ประหลาดและดูไร้ประโยชน์ในสายตาของมนุษย์ และอยู่ในฐานะฝ่ายถูกกระทำ แต่แท้จริงมนุษย์ไม่ได้อยู่ในฐานะผู้กระทำ แต่ยังอยู่ในฝ่ายถูกกระทำได้ เพราะแมงกะพรุนบางชนิดจะมีเข็มพิษที่ร้ายแรงถ้าหากสัมผัสอาจทำก่อให้เกิดอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้ แต่ความรุนแรงของพิษจะมากหรือน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละสายพันธุ์ อีกทั้งแม้โลกเราจะสลายไปโดยไม่มีมนุษย์อยู่บนโลกนี้แล้ว แต่แมงกะพรุนก็สามารถดำรงอยู่ได้และยังมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในแบบที่เคยเป็น ไม่ใช่พอโลกไม่มีมนุษย์แล้วโลกจะถึงจุดอวสาน หรือแมงกะพรุนจะสูญพันธุ์
ความพิเศษของแมงกะพรุน
แมงกะพรุนถูกขนานนามว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่สวยใสไร้สมอง ร่างกายนุ่มนิ่มเหมือนเยลลี่ ชีวิตดูไร้ทิศทางและความรู้สึก ถึงแม้จะดูเหมือนไม่มีอะไรโดดเด่น แต่แมงกะพรุนนั้นเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่สุดในโลก มีอายุมานานกว่า 500 ล้านปี แม้แต่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (Mass Extinction) กว่า 5 ครั้ง ที่คร่าสิ่งมีชีวิตเกือบทั้งโลก แต่ก็ไม่สามารถทำให้แมงกะพรุนสูญพันธุ์ได้ ถึงแม้ความใสของแมงกะพรุนจะทำให้ดูเหมือนไม่มีระบบการทำงานของอวัยวะภายในใด ๆ แต่ภายใต้ความใสของแมงกะพรุนนั้นได้ซ่อนความพิเศษเกี่ยวกับกลไกการทำงานของอวัยวะภายในไว้ เพราะความใสนี้สามารถอำพรางตัวจากศัตรูและยังง่ายต่อการเข้าหาเหยื่อ ซ้ำยังไม่จำเป็นต้องผลิตเม็ดสีและไม่จำเป็นต้องมีระบบหลอดเลือด เพราะออกซิเจนสามารถซึมผ่านเนื้อเยื่อได้โดยตรง ทำให้สามารถนำพลังงานไปพัฒนาส่วนอื่น ๆ ได้
แม้แมงกะพรุนจะไม่มีสมองแต่ก็มีระบบประสาทที่ช่วยให้รับรู้การเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบข้าง เช่น แสง อุณหภูมิ สารเคมี แรงสั่นสะเทือนของน้ำ และการตอบสนองต่อสิ่งเร้า อีกทั้งแมงกะพรุนยังเป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มแรก ๆ ที่มีวิวัฒนาการระบบประสาท ถึงแม้ว่าจะไม่มีสมองหรือศูนย์กลางประสาทก็ตาม นอกจากนี้แมงกะพรุนยังมีระบบย่อยอาหารที่มีรูโพรง (Gastrovascular Cavity) ทำหน้าที่ทั้งกินอาหารและขับถ่ายในรูโพรงเดียวกัน และบางสายพันธุ์ยังสามารถวัดระดับความเค็มของน้ำเพื่อหลีกเลี่ยงน้ำจืดได้อีกด้วย
แมงกะพรุนไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ลอยตามกระแสน้ำอย่างไร้ประโยชน์ไปวัน ๆ เพียงเท่านั้น แมงกะพรุนยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถช่วยรักษาสมดุลของระบบวัฏจักรห่วงโซ่อาหารได้ และยังเป็นสารอาหารสำคัญต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคลำดับที่ 1 ของห่วงโซ่อาหารในท้องทะเล เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารของพวกแพลงก์ตอน เต่าทะเล และสัตว์ชนิดอื่น ๆ แมงกะพรุนสามารถเจริญเติบโตได้ในทุกมหาสมุทรทั่วโลก และมีพฤติกรรมเบียดเบียนระบบนิเวศน้อยมาก อีกทั้งแมงกะพรุนในสายพันธุ์ที่รับประทานได้ยังมีคุณประโยชน์และสารอาหารมากมาย เพราะมีโปรตีนสูงแต่ไขมันต่ำ มีแร่ธาตุหลากหลายชนิด ได้แก่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส ไอโอดีน เหล็ก วิตามินต่าง ๆ และยังมีคอลลาเจนที่ช่วยเรื่องของข้อกระดูกและผิวพรรณเต่งตึง ซึ่งคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาวิจัยสกัดคอลลาเจนในกลุ่ม Type I คือชนิดที่พบได้ในผิวหนัง สามารถนำไปใช้ด้านการแพทย์เพื่อช่วยสมานแผลและสามารถนำไปเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ อาหารเสริม รวมทั้งสามารถพัฒนาต่อยอดสู่การผลิตเจลาตินจากแมงกะพรุน สำหรับการผลิตหูฉลามเทียมได้อีกด้วย
นอกจากนี้ แมงกะพรุนยังมีเซลล์ที่สามารถแตกตัวและฟื้นคืนชีพตนเองได้ จนเรียกได้ว่าเป็นอมตะ กล่าวคือ เซลล์ของมันล้วนเป็นเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) ที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตอีกเรื่อย ๆ ราวกับไม่มีขีดจำกัด และเซลล์กล้ามเนื้อของแมงกะพรุนสายพันธุ์ Turritopsis dohrnii หรืออีกชื่อคือแมงกะพรุนอมตะ สามารถเปิดและปิดยีนได้ ทำให้เซลล์เหล่านี้ย้อนกลับได้หลายครั้ง ซึ่งความพิเศษตรงส่วนนี้ทำให้มนุษย์หันกลับมาสนใจในกลไกร่างกายของแมงกะพรุน เพราะอาจสามารถนำมาต่อยอดในด้านการแพทย์การรักษาโรคและทำให้เยาว์วัย รวมถึงมีการพยายามนำเซลล์ของแมงกะพรุนมาวิจัยเพื่อหาแนวทางในการทำให้มนุษย์เป็นอมตะหรืออีกนัยหนึ่งคือ สามารยืดอายุจากการรักษาเซลล์หรือโรคร้ายแรงต่าง ๆ ของมนุษย์ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำมาสู่ประเด็นที่ว่าด้วยการช่วงชิงความเป็นนิรันดร์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการผลประโยชน์ของมนุษย์จากความพิเศษของแมงกะพรุนนั่นเอง
ว่าด้วยการช่วงชิงความเป็นนิรันดร์
โลกใบนี้ทุกสรรพสิ่งล้วนมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสัจธรรมของชีวิต สิ่งมีชีวิตทั้งมนุษย์และสัตว์ต่างมีข้อจำกัดทางชีวภาพ แต่มนุษย์กลับโหยหาสิ่งที่จะสามารถรักษาความเยาว์วัย ช่วยชะลอความแก่ชรา ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ สมรรถภาพทางร่างกายลดลง เพราะเมื่อมนุษย์มีอายุที่มากขึ้น ร่างกายจะมีความเสื่อมถอยและสึกหรอไปตามช่วงอายุ ไม่เพียงเท่านั้นมนุษย์ยังมีความปรารถนาสูงสุด คือ การมีชีวิตอยู่อย่างยาวนาน มีการคิดค้นหาแนวทางในการลดข้อจำกัดเรื่องอายุขัย เพื่อดำรงเผ่าพันธ์ุของตนเองไว้ให้สามารถอยู่รอดได้ในวิกฤตโรคระบาดหรือภัยพิบัติต่าง ๆ
ในปัจจุบันกระแสการดูแลใส่ใจสุขภาพร่างกายของมนุษย์ในสังคมมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง เป็นรากฐานที่สำคัญของการมีอายุยืนยาว สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ โดยไม่ต้องพึ่งพาคนรอบตัวและไม่เป็นภาระให้กับลูกหลานหรือสังคม และมนุษย์ยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรักสวยรักงาม ตามกระแสโลกาภิวัตน์ที่เทคโนโลยี ได้ถูกพัฒนาให้มีความก้าวล้ำนำสมัย มนุษย์ไม่เคยหยุดที่จะคิดค้นหาวิธีรักษาสภาพความอ่อนเยาว์ของเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกายและผิวหนัง มีการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยเหลือในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประวัน เช่น ครีมบำรุงผิว ยา และอาหารเสริม เป็นต้น ไม่เพียงแค่มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอกร่างกายเท่านั้น แต่ยังมีวิธีการทางการแพทย์ รวมถึงในวงการนักวิทยาศาสตร์ที่มีการทดลองเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดด้านกลไกอายุวัฒนะของมนุษย์
โดยได้หันมาให้ความสนใจกับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างแมงกะพรุนสายพันธุ์อมตะ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้นำมาถอดรหัสทางพันธุกรรม เพื่อค้นหาความลับของยีนที่ทำให้แมงกะพรุนมีชีวิตอยู่อย่างอมตะได้และหวังที่จะช่วงชิงความเป็นนิรันดร์จากแมงกะพรุนมาต่อยอดหาแนวทางในการยืดอายุขัยของมนุษย์ ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ชินยะ ยามานากะ (Shinya Yamanaka) และ คัสซูโตชิ ทากาฮาชิ (Kazutoshi Takahashi) ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเซลล์ต้นกำเนิด พวกเขาได้ทำการทดลองด้วยการนำยีนของแมงกะพรุนอมตะ Turritopsis dohrnii ฉีดเข้าไปในผิวหนังของหนูทดลอง มีวิธีการคือ การนำโปรตีนทรานสคริปชันแฟคเตอร์ (Transcription factors) ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมการแสดงออกหรือไม่แสดงออกของยีนไปจับกับเส้น DNA เพื่อควบคุมการเปิด-ปิดของยีนคล้ายกลไกในแมงกะพรุน พบว่าสามารถควบคุมเซลล์ผิวหนังของหนูให้ย้อนกลับได้ (Thanet Ratanakul, 2017) การค้นพบนี้อาจนำมาพัฒนาต่อยอดความรู้ในเรื่องการเลี้ยงเซลล์ของมนุษย์ให้กลับมางอกใหม่ได้ทั้งเซลล์ประสาท เซลล์เลือด เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ และถ้าหากการทำวิจัยครั้งนี้ประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพ อาจเป็นการค้นพบกระบวนการรักษาโรคที่เกิดจากภาวะความเสื่อมสภาพของเซลล์ได้ ยกตัวอย่างเช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) โรคสมองเสื่อม (Dementia) และโรคมะเร็งที่เซลล์เนื้อร้ายเติบโตอย่างต่อเนื่อง นำความรู้ที่ได้จากการศึกษากลไกของแมงกะพรุนมาประยุกต์ใช้ในการเปิด-ปิดยีนที่เจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ก็อาจเป็นการพบทางสว่างของวงการแพทย์ในการรักษาโรคมะเร็งที่มีผลกระทบต่อผู้ป่วยต่ำ
ไม่เพียงเท่านั้นแมงกะพรุนยังมีคุณค่าทางอาหาร คือ มีแคลอรีต่ำและมีโปรตีนประเภทคอลลาเจนสูง สามารถนำมารับประทานได้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าคอลลาเจนจากแมงกะพรุนอาจจะมีส่วนรักษาโรคไขข้ออักเสบ และโรคหลอดลมอักเสบ ตลอดจนทำให้ผิวหนังนุ่มนวล อีกทั้งมนุษย์ยังนำคอลลาเจนมาใช้เป็นส่วนประกอบของสิ่งต่าง ๆ มากมาย ยกตัวอย่างเช่น ยา เครื่องสำอางค์ การศัลยกรรม และทางทันตกรรมซึ่งถึงแม้ว่าคอลลาเจนจะสามารถสกัดได้จากสัตว์อื่น เช่น หมู วัว ไก่ แต่ในบางกรณียังคงมีข้อจำกัดเกี่ยวกับด้านศาสนา หรืออาจเกิดปัญหาเรื่องโรคติดต่อจากสัตว์สู่มนุษย์ได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการวิจัยเพื่อสกัดคอลลาเจนจากแมงกระพรุนที่มีคอลลาเจนเป็นองค์ประกอบหลัก และคอลลาเจนที่ได้จากแมงกะพรุนยังสามารถเข้ากับเซลล์ของมนุษย์ได้หลากหลายประเภท ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยหลายท่านจึงมองว่าคอลลาเจนที่สกัดได้จากแมงกะพรุนมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ มากมาย
บทสรุป
แมงกะพรุนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกมองข้าม อาจด้วยเหตุผลจากการที่มีอวัยวะภายในที่ไม่หลากหลายและความโปร่งใสที่ยากจะมองเห็น ทำให้ถูกมองข้ามและถูกนิยามให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีวิถีชีวิตและไม่มีกระบวนการทางความคิด จากบทความที่เปรียบแมงกะพรุนเหมือนขนมเยลลี่ที่สวยงามแต่ไร้สมอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว แมงกะพรุนมีระบบประสาทที่สามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีระบบประสาทส่วนกลางมาควบคุม เช่น สามารถรับรู้อุณหภูมิของน้ำ วัดระดับความเค็มของน้ำ สามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนและสารเคมีที่เจือปนอยู่ในน้ำ เป็นต้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวของแมงกะพรุนที่หาได้ยากในสิ่งมีชีวิตอื่น นอกจากนี้แมงกะพรุนยังมีวัฏจักรที่น่าอัศจรรย์เพราะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกขนานนามว่าเป็นอมตะ เนื่องจากมีเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) ที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตอีกเรื่อย ๆ ราวกับไม่มีขีดจำกัด มนุษย์จึงนำเซลล์เหล่านี้มาวิจัยเพื่อต่อยอดด้านการแพทย์และช่วยรักษาโรคต่าง ๆ รวมถึงทำให้ดูเยาว์วัยได้ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของมนุษย์ที่มีต่อแมงกะพรุน ไม่เพียงเท่านั้นมนุษย์ยังใช้บรรทัดฐานของตนในการตัดสินสิ่งมีชีวิตอื่น ด้วยการยึดตนเองเป็นศูนย์กลางและลดทอนคุณค่าของแมงกะพรุน เพราะภาพลักษณ์ ลักษณะและรูปลักษณ์ภายนอกของสิ่งมีชีวิตในอุดมคติของมนุษย์ส่วนใหญ่ต้องมีตา อวัยวะภายใน หรือสมอง มนุษย์จึงยึดลักษณะภายนอกของตนเองเป็นศูนย์กลาง ตามแนวคิดมานุษยรูปนิยม การเอาลักษณะมนุษย์ไปใช้กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ และเมื่อมนุษย์มีมุมมองว่าแมงกะพรุนนั้นมีรูปลักษณ์ภายนอกแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตในอุดมคติของตนเอง นำไปสู่การให้คำนิยามแก่แมงกะพรุนว่าเป็นสัตว์ประหลาด ไร้ประโยชน์ และอยู่ในฐานะฝ่ายถูกกระทำเสมอ แต่ความเป็นจริงแล้วแมงกะพรุนบางสายพันธุ์นั้นก็มีพิษที่อันตรายต่อมนุษย์ถึงชีวิตหากเข้าไปสัมผัส สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่เป็นฝ่ายกระทำอยู่ฝ่ายเดียวและมีความพิเศษ (Human exceptionalism) เหนือกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นใด
จากที่กล่าวมาข้างต้น การที่มนุษย์ยึดเผ่าพันธุ์ตนเองเป็นศูนย์กลางเป็นมายาคติที่ทำให้มนุษย์คิดว่าตนอยู่เหนือกว่าและสามารถเข้ามาควบคุมสรรพสิ่งอื่นได้ ดั่งเช่นที่มนุษย์มีมุมมองต่อแมงกะพรุนว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสถานะผู้ถูกล่าและมองแมงกะพรุนเป็นเพียงอาหารของตนเท่านั้น รวมถึงมีการสร้างนิยามให้ความหมายกับแมงกะพรุนว่าเป็นสิ่งอื่นที่แปลกประหลาด เพียงเพราะมีรูปลักษณ์แตกต่างจากตน แท้ที่จริงแล้วไม่ว่าจะแมงกะพรุนหรือสรรพสิ่งอื่นล้วนมีความพิเศษเฉพาะตัว และมนุษย์ต่างต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งอื่นจากความพิเศษเหล่านั้น ในบางครั้งก็ต้องการช่วงชิงความพิเศษจากสรรพสิ่งอื่นมาให้ตนเองเพื่อการดำรงชีวิตและรักษาเผ่าพันธ์ุอยู่ดี
ท้ายที่สุด บทความชิ้นนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพยายามลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ แต่เป็นการขยายมุมมองต่อความเป็นมนุษย์ให้กว้างไกลขยายขอบเขตไปมากขึ้น จากที่เคยมีจุดยืนที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง เป็นโลกที่สรรพชีวิตต่างล้วนแล้วแต่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน พึ่งพาอาศัยกัน และการเคารพความเป็นตัวตนที่เฉพาะของสรรพชีวิต
พัฒนาจากรายงานในวิชา เรื่องเฉพาะทางมานุษยวิทยา
หัวข้อ มานุษยวิทยาที่มีมากกว่ามนุษย์ (More-than human anthropology)
ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ปีการศึกษา 1/2565
บรรณานุกรม
- กรุงเทพธุรกิจ.(2565). ไม่มีสมอง มีแต่เส้นสาย นักวิทย์ฯ เผย ทำไม “แมงกะพรุน” ถึงอยู่รอดนับล้านปี.
สืบค้น 4 พฤศจิกายน 2565, จาก https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1034583
- ภัทรชนน ศักดิ์ศิริสัมพันธ์. (2564). Anthropomorphism & Personification เมื่อเราให้ตุ๊กตา กระต่าย
และสายน้ำเป็นมนุษย์. สืบค้น 5 พฤศจิกายน 2565, จาก https://www.gqthailand.com/style/article/anthropomorphism-personification - สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2558). คอลลาเจนแมงกะพรุน: เพิ่มมูลค่าของดี จากแมงกะพรุน. สืบค้น 5 พฤศจิกายน 2565, จาก https://www3.rdi.ku.ac.th/?p=15743
- ANTI X JELLYFISH. (2562). ร่างกายมหัศจรรย์ของน้องเยลลี่ สวยใสไร้สมอง. สืบค้น 3 พฤศจิกายน 2565, จาก https://www.antijellyfish.com/สวยใสไร้สมอง/
- ANTI X JELLYFISH. (ม.ป.ป.). รู้จักกับแมงกะพรุน. สืบค้น 5 พฤศจิกายน 2565, จาก https://www.antijellyfish.com/รู้จักกับแมงกะพรุน/
- Ngthai. (2561). สวยใสไร้สมอง! แมงกะพรุนมีดีอะไรถึงอยู่มาได้หลายร้อยล้านปี. สืบค้น 3 พฤศจิกายน 2565, จาก https://ngthai.com/animals/14532/jellyfish-epic/
- The momentum. (2565). นักวิทยาศาสตร์ค้นหาและวิเคราะห์ ‘ดีเอ็นเอ’ แมงกะพรุนอมตะ เพื่อค้นหาความลับสู่ชีวิตอันเป็นนิรันดร์. สืบค้น 5 พฤศจิกายน 2565, จาก https://themomentum.co/report-immortal-jellyfish/
- Thanet Ratanakul. (2560). ทำไมวิทยาศาสตร์สนใจ ‘ความอมตะ’ ของแมงกะพรุน หรือเราอาจช่วงชิงความเป็นนิรันดร์จากมันได้?. สืบค้น 5 พฤศจิกายน 2565, จาก https://thematter.co/science-tech/immortal-jellyfish/42310
- thaiscience. (2562). คุณประโยชน์ที่น่าค้นหาจากแมงกะพรุน. สืบค้น 5 พฤศจิกายน 2565, จาก https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/75808
- Voiceonline. (2535). นวัตกรรมกำจัดแมงกะพรุนชายฝั่งเกาหลี. สืบค้น 4 พฤศจิกายน 2565, จาก https://www.voicetv.co.th/read/84950
- American Museum of natural. (2015). The Immortal Jellyfish. Retrieved 5 November 2022, from https://www.amnh.org/explore/news-blogs/on-exhibit-posts/the-immortal-jellyfish
- Vera Gorbunova. (2022). Comparative genomics of mortal and immortal cnidarians unveils novel keys behind rejuvenation. Retrieved 5 November 2022, from https://www.pnas.org/doi/10.1073/pnas.2118763119
เกี่ยวกับผู้เขียน
ภูนเรศ บุรีรักษ์, สรัญญา ตันติวัฒนสุทธิ, อารดา สมศรี, ธนาภา นิตยวัน
นิสิตภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- This author does not have any more posts.