Skip to content

เซ็กส์ อีโรติก และเรื่องที่พูดไม่ได้ในสนาม

นักมานุษยวิทยา อาจตกหลุมรักในภาคสนาม โรมานซ์และความรักของพวกเขา เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงได้ในงานเขียนและชาติพันธุ์นิพนธ์ แต่เซ็กส์และอีโรติกนั้นเป็นคนละเรื่อง

ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าประวัติศาสตร์ของสนาม เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้อเพศ ปลอดเซ็กส์ เช่นเดียวกับประสบการณ์ภาคสนาม และแม้ว่านักมานุษยวิทยาในยุคหลังโครงสร้างนิยม จะพากันหันมามองสนามในความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบใหม่ๆ บางคน ได้ใช้อุปมาทางเพศในการเปรียบเปรยอำนาจของการผลิตความรู้จากภาคสนาม เฉกเช่นการเปิดบริสุทธิ์ของดินแดนและร่างกายธรรมชาติเพื่อสร้างครรภ์แห่งความรู้ (โปรดดู Vincent Crapanzano) แต่เรื่องเซ็กซ์ และ อีโรติก กลับยังคงเป็นเรื่องต้องห้ามในทางมานุษยวิทยา แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว งานศึกษาของมานุษยวิทยาจะเหยียบอยู่ในดินแดนนี้เสมอมาก็ตาม
ดีเบตในยุคแรกของนักมานุษยวิทยาว่าด้วยกำเนิดของสังคมและพัฒนาการของระบบเครือญาติและครอบครัว สะท้อนความเข้าใจของชนผิวขาวที่มีต่อความสัมพันธ์ทางเพศของชนพื้นเมือง นักมานุษยวิทยาพยายามและสนใจใคร่รู้ว่า ชนพื้นเมืองนั้น เป็นพวก monogamous หรือ promicusous ชนเหล่านั้น มีความสัมพันธ์ทางเพศในสายเลือดเดียวกันหรือไม่ งานเหล่านี้ เป็นการศึกษา “เซ็กส์” และชีวิตทางเพศของคนอื่น ในขณะที่เพศวิถี และเซ็กส์ของนักมานุษยวิทยา ความคิด ความต้องการ และนัยยะแห่งความเป็นเพศในสนามของพวกเขา ถูกทำให้เป็นเรื่องอเพศ หรือเป็นกลางทางเพศ

การตีพิมพ์ A Diary in the Strict Sense of the Term ของบิดาแห่งวงการมานุษยวิทยาตะวันตก Brownislaw Malinowski ในปี 1967 25 ปีหลังการตายของเขา อันเป็นสมุดโน๊ตที่มาลินอฟสกี้จดบันทึกเกี่ยวกับเรื่องราวของชาวโทรเบรียนด์ในปาปัวนิวกีนี ได้เปลี่ยนการมองเกี่ยวกับเรื่องเพศและตัวตนของนักมานุษยวิทยาในสนามไปอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่นักมานุษย์ประกาศตนและแสดงความรู้ที่ตนสร้างในฐานะที่เป็นศาสตร์จากสนาม ที่ไม่มีนัยแยกแยะทางเพศ แต่ Diary ได้บอกเราว่า แท้จริงแล้ว ไม่เพียงตัวตนของนักมานุษยวิทยาจะเป็นตัวตนที่เต็มไปด้วยเพศและอารมณ์ทางเพศเท่านั้น หากแต่เรื่องเพศเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของการทำงานภาคสนาม ซึ่งถูกปกปิด เก็บงำ และแยกออกมาจากงานชาติพันธุ์นิพนธ์ที่พวกเขาเขียนขึ้น มาลินอฟสกี้ เป็นผู้เขียน Sex and Repression in Savage Society ในปี 1927 ผลงานอันมีชื่อเสียงที่โต้แย้งกับฟรอยด์ในเรื่องปมอีดีปัส ขณะเดียวกัน Diary ของเขาก็สะท้อนความพยายามอย่างหนักในการกดปราบอารมณ์ทางเพศของตนที่มีต่อชนพื้นเมือง (แน่นอนผู้หญิง) ที่แวดล้อมเขา

หากอ่าน Sex and Repression คู่ไปกับ Diary ของมาลินอฟสกี้ เราอาจพบว่างานทั้งสองชิ้นเกี่ยวข้องซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง เพียงแต่งานชิ้นแรก ถูกนำเสนอในฐานะความรู้ที่สร้างจากภววิสัยของความสัมพันธ์กับชนพื้นเมือง และถูกนับเป็นความรู้ในปริมณฑลสาธารณะ ส่วนข้อเขียนชิ้นหลัง เป็นความรู้สึกที่เกิดจากอัตวิสัยของความสัมพันธ์กับชนพื้นเมืองในสนาม ที่ถูกเก็บงำไว้ในพื้นที่หลังฉากหรือพื้นที่ส่วนตัวของนักมานุษยวิทยา อันเป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบสร้างความรู้วิชาการ
ที่น่าสนใจคือ การเปิดเผยของ Diary กลับไม่ได้ช่วยให้เรื่องเพศ เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในวงการมานุษยวิทยาสักเท่าไหร่ ในกระบวนการ Reflexive turn อันโด่งดังอย่าง Writing Culture ของ James Clifford และ George Marcus ที่ตีพิมพ์ในปี 1986 เรื่องเพศไม่อยู่ในวาระของการสะท้อนย้อนคิดแต่อย่างใด เช่นเดียวกับหนังสือ “คนใน” ของไทย ที่ตีพิมพ์ในปี 2545 (คนใน ประสบการณ ภาคสนามของนักมานุษยวิทยาไทย) ก็ไม่มีมิติเรื่องเซ็กส์หรือเพศ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ภาคสนาม ที่สำคัญ ผู้เขียนส่วนใหญ่ของงานทั้งสองชิ้นนั้นเป็นผู้ชาย

Esther Newton ผู้เขียนบทความ “My best informant’s dress: the erotic equation in fieldwork” ได้เสนอว่าความเงียบหรือหลุมดำที่ปิดบังเรื่องเพศในภาคสนาม น่าจะเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่สองประการด้วยกันคือ การสนับสนุนอำนาจของตัวตนทางเพศของชายด้วยการเก็บมิติทางเพศของพวกเขาให้อยู่เหนือการตั้งคำถามและการวิพากษ์วิจารณ์ ขณะเดียวกันก็กดปราบผู้หญิงและเกย์ให้ไม่สามารถแสดงตัวตนทางเพศได้
และหากนักมานุษยวิทยาผู้หญิงบังเอิญแสดงตัวตนทางเพศของตนออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวตนที่ไม่สมยอมกับระเบียบวัฒนธรรมทางเพศที่เป็นอยู่ การแสดงออกดังกล่าว ก็สามารถถูกใช้เป็นข้อโจมตีหรือดิสเครดิตทางวิชาการได้ ในการโจมตีงานเขียนอันมีชื่อเสียงของ Margaret Mead เรื่อง Coming of Age in Samua, Derek Freeman วิจารณ์ Mead ว่างานดังกล่าวสร้างจากข้อมูลที่ผิดๆ และสาเหตุหนึ่งมาจากการที่ชาวซามัว มอง Mead จากพฤติกรรมทางเพศที่เสรี ในแง่นี้ ตัวตนทางเพศของนักมานุษยวิทยาหญิงได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ถูกนำมาใช้โจมตี และทำให้งานที่พวกเธอทำ ขาดความน่าเชื่อถือทางวิชาการ

ปฏิกิริยาที่มีต่อ Diary และตัวมาลินอฟสกี้ ในฐานะที่เป็น erotic subjectivity แตกต่างกันไปในหลายทิศทางอย่างน่าสนใจ นักมานุษยวิทยาชายบางคน เห็นว่า Diary ไม่ได้มีส่วนสำคัญอะไรที่ช่วยให้เข้าใจมาลินอฟสกี้ในฐานะนักสังคมศาสตร์มากขึ้น หากจะช่วยก็เป็นเพียงช่วยให้รู้จักเขาในฐานะปุถุชนคนหนึ่ง (Gorer 1967:311 อ้างใน Newton) [1] อุปมาดังพระที่ถูกยั่วยุด้วยพลังแห่งความชั่วร้าย Ian Hogbin นักมานุษวิทยาชายเห็นว่า Diary มีแต่เรื่องที่ไม่สลักสำคัญ และไม่ควรเลยที่จะนำมาตีพิมพ์ Geertz น่าจะเป็นนักมานุษยวิทยาชายไม่กี่คนที่มองเห็นว่าช่องว่างระหว่างมาลินอฟสกี้ในฐานะนักสังคมศาสตร์ กับมาลินอฟสกี้ในฐานะบุคคล ได้ทำลายภาพลักษณ์แห่งความสำเร็จของมานุษยวิทยาลงอย่างสิ้นเชิง แต่กระนั้นก็ตาม เกียรตซ์ก็ยังยกย่องมาลินอฟสกี้ ในฐานะนักชาติพันธุ์วรรณนาที่ยิ่งใหญ่ที่สามารถใช้ศาสตร์ของมานุษยวิทยาในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่แย่ของตนเองต่อชนพื้นเมืองชาวโทรเบรียนด์ได้

ในขณะที่นักมานุษยวิทยาอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงให้ความสนใจต่อ Diary อย่างจริงจังและกลับเห็นว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเพศวิถีกับมานุษยวิทยา Frances Hsu เห็นว่า ความพยายามปฏิเสธความรู้สึกทางเพศของตนเองของมาลินอฟสกีที่มีต่อผู้หญิงโทรเบรียนด์ สะท้อนภาวะความรู้สึกที่เหนือกว่าทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติของมาลินอฟสกี้ต่อชนพื้นเมือง อันเป็นภาวะทางจิตวิทยาที่ทำให้เขาไม่สามารถที่จะยอมจำนนต่อความรู้สึกของตนเอง ในขณะที่ Wengle วิเคราะห์ว่าการอดกลั้นต่อความต้องการทางเพศของมาลินอฟสกี้สะท้อนความพยายามในการรักษาอัตลักษณ์ของตนเองในบริบทของวัฒนธรรมต่างถิ่น โดยการหลีกเลี่ยงที่จะยอมจำนนตัวตนทางเพศของตนเองและด้วยการเปลี่ยนทิศทางของแฟนตาซีทางเพศกลับไปยังบ้านเกิดของตนเอง

ดูเหมือนว่า Kate Altork อาจเป็นนักมานุษยวิทยาผู้หญิงคนเดียวที่อ่าน Diary ของมาลินอฟสกีด้วยมุมมองที่ต่างออกไป สำหรับเธอแล้ว มาลินอฟสกี เป็น Synesthete หรือผู้มีประสาทสัมผัสพิเศษที่ภูมิทัศน์ของหมู่เกาะที่เขาทำงานภาคสนามอยู่ในช่วงเวลานั้น มีผลอย่างยิ่งต่ออารมณ์ความรู้สึกของเขา สำหรับ Altork แล้ว นักมานุษยวิทยาไม่ได้เป็นผู้ที่แทรกเข้าไปในสนามฝ่ายเดียว (penetration) แต่สนามได้แทรกเข้าไปในอารมณ์และความรู้สึกของนักมานุษยวิทยาด้วยเช่นกัน การตกหลุมรักภูมิทัศน์และชาวบ้าน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่สนามแทรกซึมเข้ามาในอารมณ์ความรู้สึกของนักมานุษยวิทยา การพยายามจะรักษาความเป็นกลางของศาสตร์ ให้ปลอดพ้นจากอารมณ์และเรื่องเพศ การกดทับและปิดกั้นความรู้สึกดังกล่าว ได้ทำให้เรื่องเพศกลายเป็นสิ่งที่เข้าใจไม่ได้ในทางมานุษยวิทยาไปอย่างไม่จำเป็น

อีโรติกกับสนาม

ในขณะที่หนังสือ Diary ของมาลินอฟสกี้ ไม่ใช่สิ่งที่ถูกใช้สอนในวิชาทางมานุษยวิทยา หนังสือที่เขียนเกี่ยวกับเพศกับสนาม ก็ไม่ค่อยได้รับการต้อนรับนักในแวดวงวิชาการ แม้ว่าในทศวรรษที่ 1990 จะมีหนังสือเหล่านี้ออกมาจำนวนหนึ่งก็ตามที

การพยายามเปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องเซ็กส์และภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ในงานที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ ได้ช่วยให้เห็นว่า ภาคสนามมิใช่เป็นเพียงการทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวตนของตนเองผ่านเส้นทางอ้อมของการเข้าใจผู้อื่น ดังที่ Paul Rabinow กล่าวเอาไว้เท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือ ภาคสนามคือพื้นที่ที่ช่วยให้เข้าใจผู้อื่นผ่านตัวตนและเพศวิถีของตัวนักมานุษยวิทยาเองอีกด้วย

นักมานุษยวิทยาจึงเป็นได้ทั้ง sexual actor และ sexual object สำหรับนักมานุษยวิทยาชาย erotic other ไม่ใช่ตัวเขาหากแต่เป็น ทั้งดินแดนที่เขาไปศึกษา หรือผู้หญิงของชนเผ่า แต่สำหรับนักมานุษยวิทยาเพศหญิงแล้ว การเป็น sexual object เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอสำหรับหญิงสาว โสด ที่เดินทางไปศึกษาสังคมต่างถิ่นตามลำพัง จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ นักมานุษยวิทยาเหล่านั้น ต้องห่อหุ้มตัวตนและเพศวิถีของตนเอง ให้ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศ หรือความเข้าใจผิดทางเพศ อันอาจเกิดขึ้นได้จากความแตกต่างทางวัฒนธรรม

หากการห่อหุ้มตัวตนเป็นส่วนสำคัญของประสบการณ์ภาคสนามของผู้หญิง การพยายามเปิดเผยตัวตนทางเพศ กลับเป็น dilemma และการประทะทางวัฒนธรรมที่สำคัญของนักมานุษยวิทยาเกย์และเลสเบียน คำถามสำคัญจึงได้แก่ นักมานุษยวิทยาสามารถเปิดเผยความเป็นเกย์ของตนในสนามได้หรือไม่ การยืนยันรับรองเพศวิถีของตน ในสังคมที่มีวัฒนธรรมทางเพศที่แตกต่างจากโลกตะวันตก และโลกในเมือง ต้นทุนของมันคืออะไร?
เมื่อ Evelyn Blackwood พยายามบอกแม่บุญธรรมที่เธอรักและเคารพของเธอในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในมินังกะเบาในเกาะสุมาตราตะวันตกว่า เธอเป็นเลสเบียน แม่บุญธรรมในสนามของเธอตอบด้วยสีหน้าเรียบเฉยว่า นั่นเป็นสิ่งที่เธอทำในอเมริกา แต่ไม่ใช่สิ่งที่พึงทำเมื่ออยู่ที่นี่ แน่นอนที่ว่าความพยายามในการซื่อสัตย์ต่ออัตลักษณ์หญิงรักหญิงของ Blackwood ตลอดจนการมีคนรักในภาคสนาม ต้องทำให้เธอเผชิญกับแรงเสียดทานของสังคมไม่น้อย เช่นเดียวกับ Susan Seizer ซึ่งต้องเผชิญกับพฤติกรรมต่อต้านซึ่งหน้าจากหญิงคนทำความสะอาดบ้านในทมิฬนาดู อันเป็นผลมาจากการที่หญิงดังกล่าวพบว่าเธอเป็นหญิงรักหญิง และมีเซ็กส์กันในบ้านของนายจ้างที่เธอทำงานอยู่

บริบทดังกล่าวสะท้อนสิ่งที่ Seizer เรียกว่า paradoxes of visibility in the field ในสังคมทมิฬนาดู ที่ซึ่งคำว่า lesbianism ไม่ปรากฎในพจนานุกรม ไม่มีชื่อหรือคำให้เรียก การยืนยันรับรองความเป็นเพศของตนเอง ในแง่หนึ่ง จึงเป็นการซื่อสัตย์ต่อความเป็นมนุษย์ของตนเองของนักมานุษยวิทยา แต่ในอีกแง่หนึ่ง ย่อมนำพานักมานุษยวิทยาเข้าไปประทะกับระเบียบของสังคมในการจัดการกับสิ่งที่ไม่ถูกจัดจำแนกทางเพศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักมานุษยวิทยาบางคนเลือกที่จะเก็บ sexuality ของตนไว้บนหิ้งหนังสือ รวมกับหนังสือที่ตนขนมาอ่านในสนาม เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง แต่สำหรับนักมานุษยวิทยาบางคน เช่น Ralph Bolton กลับเลือกที่จะประกาศอย่างเปิดเผยว่า เซ็กส์เป็นปริมณฑลที่สำคัญที่สุดในวัฒนธรรมเกย์ จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ที่นักมานุษยวิทยา จะศึกษาวัฒนธรรมของสังคมเกย์ หรือ Communitas ของเกย์ได้ โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางเพศในสนาม สำหรับ Bolton อีโรติกเป็นส่วนสำคัญของงานภาคสนาม แม้ว่าเขาจะเข้าใจดีถึงความเสี่ยงต่อการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศนี้ในวงการวิชาการของมนุษยวิทยาก็ตามที

อีโรติกในสนาม ยังมีนัยความหมายต่อตัวตนของนักมานุษยวิทยาชาย และหญิง ที่แตกต่างกัน สำหรับ Paul Rabinow (ใน Reflections on Fieldwork in Morocco) ประสบการณ์ทางเพศกับผู้หญิงคนหนึ่งในโมรอกโก ซึ่งได้รับการนำเสนอโดยเพื่อนชายชาวโมรอกโกของเขา เป็นความรื่นรมย์ประเภทหนึ่งที่ช่วยพิสูจน์ความเป็นชายในสังคมที่ให้ความสำคัญ และให้อำนาจกับความเป็นเพศของชายเช่นโมรอกโก และทั้งยังช่วยให้เขาสามารถพาภาพลักษณ์ของตนออกจากความเป็น super-ego ของนักมานุษยวิทยาที่ถูกมองจากชาวบ้านอีกด้วย ในเซ็กส์ชั่วคืนประเภทนี้ หญิงชนพื้นเมืองที่นักมานุษยวิทยาชายมีเซ็กส์ด้วย ในท่ามกลางการสร้างประสบการณ์ความเป็นชายในภาคสนาม ไม่มีแม้แต่ชื่อ ไม่ว่าจะชื่อจริงหรือชื่อสมมติก็ตามที

แต่สำหรับ Evlyn Blackwood การตกหลุมรักและมีความสัมพันธ์ทางเพศกับหญิงสาวในเกาะสุมาตรา ได้ทำให้เธอตระหนักถึงความเป็นตัวตนทางเพศของหญิงรักหญิงที่สลับซับซ้อนขึ้น ในสนาม Blackwood เรียนรู้ถึงความเป็นคนใน และคนนอกไปพร้อมๆกัน คนใน ในฐานะที่เธอแชร์ประสบการณ์ของความเป็นคนชายขอบทางเพศ เป็นเลสเบี้ยนที่เปิดเผยตัวตนต่อสาธารณะไม่ได้ไปพร้อมๆกับคนรักของเธอ และเป็นคนนอก เนื่องจากความแตกต่างของอัตลักษณ์ทางเพศและกรอบคิดทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับเพศระหว่างโลกตะวันตกและโลกของสุมาตราที่คนรักเธออาศัยอยู่ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า แม้ในโลกของหญิงรักหญิง การมองและความคาดหวังต่อบทบาททางเพศก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นประสบการณ์ร่วมที่ปราศจากความแตกต่าง

การมอง sex ในภาคสนาม ในฐานะประสบการณ์ที่โรแมนติก น่าจะเป็นมายาภาพ ที่ปิดบังอำนาจทางเพศที่แตกต่างกันระหว่างนักมานุษยวิทยาเพศชาย และเพศหญิง ประสบการณ์ทางเพศในสนามสำหรับ Eva Moreno พาความหมายของเพศเข้าไปยังดินแดนที่แทบไม่เคยถูกพูดถึงในงานมานุษยวิทยา นั่นก็คือความรุนแรงทางเพศ เมื่อเธอถูกผู้ช่วยนักวิจัยของเธอเองข่มขืน ขณะทำงานอยู่ในภาคสนาม ความเจ็บปวดต่อเรื่องนี้ ทำให้กว่าที่เธอจะฟื้นและเยียวยาความบอบช้ำ เพื่อเขียนถ่ายทอดบทเรียนดังกล่าวได้ต้องใช้เวลานานกว่า 20 ปีเต็ม และในการกลับย้อนไปพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง ทำให้เธอตระหนักรู้ถึงความผิดพลาดทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจ หรือไม่ตระหนักพอทางเพศที่เธอมีต่อสังคมเอธิโอเปีย บทเรียนดังกล่าว ไม่ใช่สิ่งที่ถูกสอนกันในคลาสมานุษยวิทยา และที่สำคัญ เมื่อครั้งที่เธอกลับจากภาคสนามมายังที่ๆเธอเรียนอยู่ การบอกเล่าประสบการณ์ดังกล่าวต่ออาจารย์ และเพื่อนนักมานุษย์ด้วยกัน กลับต้องเจอกับปฏิกิริยาอันกระอักกระอ่วนใจของผู้ที่เธอสนทนาด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่สามารถรับมือกับการประทะทางเพศ ของวงวิชาการมานุษยวิทยา

ความรุนแรงทางเพศภาคสนาม จึงเป็นด้านกลับ ที่ยืนอยู่ฝั่งตรงกันข้ามอย่างซึมเศร้ากับอีโรติก และโรมานซ์ เป็นด้านมืดที่ไม่เพียงเป็นหัวข้อต้องห้ามทางมานุษยวิทยาเท่านั้น หากแต่ยังเป็นประสบการณ์เฉพาะ ในโลกของผู้หญิงชาวมานุษยวิทยาเท่านั้น


หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในงานอาทิ Taboo: Sex, Identity, and Erotic Subjectivity in Anthropological Fieldwork, Don Kulick, Margaret Willson, eds., Psychology Press, 1995


[1] Newton, E. (1993). My Best Informant’s Dress: The Erotic Equation in Fieldwork. Cultural Anthropology, 8(1), 3-23.

เกี่ยวกับผู้เขียน

pk
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด

เรื่องที่คล้ายกัน