Skip to content

กะเลย มึงน่ะสิกะเลย: มองภาษาลูผ่านแว่นของนักมานุษยวิทยาภาษา

ณ ริมหาดพัทยา ฉันในวัยที่คำนำหน้ายังเป็นเด็กชายมองเห็นเหล่าพี่ ๆ ชาวเทย เดินเรียงหน้าเข้ามาสั่งส้มตำคุณป้าหาบเร่ ฉันได้ยินพวกเธอพูดภาษาที่มีเสียงแปลก ๆ ความคล่อง (fluency) ในการพูดของเธอชวนให้พูดเขียนเข้าใจผิดว่าพวกเธอเป็นชาวต่างประเทศผู้อพยพเข้ามาทำงานในประเทศไทย

ฉันสะกิดถามพี่สาว “เขาพูดภาษาอะไรอะ”

“ภาษาไทยนี่แหละ เขาเรียกว่าภาษาลู” พี่สาวบอกกับฉัน

พี่สาวในวัยนักศึกษามหาวิทยาลัยเคยได้ยินเสียงพูดเหล่านี้ในวิทยาเขตของเธอ เธอจึงเข้าใจว่าสิ่งที่ฉันได้ยินไม่ใช่ต่างประเทศ แต่เป็นภาษาเฉพาะกลุ่มของภาษาไทย ที่ทำให้ผู้คนที่อยู่ภายนอกกลุ่มถูกกันออกด้วยความพิศวงงงงวย

เวลาผ่านมาถึงปัจจุบัน ผู้คนภายนอกกลุ่มความหลากหลายทางเพศรู้จักภาษาลูมากยิ่งขึ้น ภาษาลูเริ่มกลายเป็นภาษามวลชน และได้เปลี่ยนแปลงสถานะจากภาษาเฉพาะกลุ่มวัฒนธรรมย่อย สู่รูปแบบการพูดหนึ่งของวัฒนธรรมหลัก เป้าหมายของการเขียนบทความนี้ของฉันคือการพยายามทำความเข้าใจภาษาลูผ่านมุมมองของนักมานุษยวิทยาภาษา เพื่อตอบคำถามส่วนหนึ่งว่าภาษาลูมีความหมายเชิงสังคมและวัฒนธรรมในปัจจุบันอย่างไร

ไม่มีใครบันทึกประวัติศาสตร์ของภาษาลูอย่างแน่ชัด แต่มีทฤษฎีการกำเนิดขึ้นของภาษาลูอันหลากหลายเช่น เป็นภาษาของผู้ต้องขังเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจตราของผู้คน หรือเป็นภาษาวัยรุ่นของคนรุ่นก่อน เป็นภาษาที่เมื่อผู้พูดพูดได้แล้วจะมีความโก้เก๋และทันสมัย (Siamzone, 2544) ภาษาลูยังมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งอันสวยงามว่า “ภาษาดอกไม้” แต่อย่างไรก็ตาม ที่เรารู้อย่างแน่ชัดคือภาษาลูไม่ใช่ภาษาใหม่ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ และมีตำแหน่งแห่งที่ในวิถีปฏบัติด้านการสื่อสารของผู้พูดภาษาไทยมาอย่างยาวนาน

วิเคราะห์ไวยากรณ์ภาษาลู

หลักการทั่วไปของภาษาลูคือการผวนคำ (spoonerism) ซึ่งเป็นวิธีการเล่นกับภาษาของคนไทยมาตั้งแต่อดีต เช่นบทกลอนทะลึ่งตึงตังสุดคลาสสิก “สรรพลี้หวน” หรือประโยคลิ้นพัน (tounge twister) ต่าง ๆ เช่น “ยายมีขายหอย…”

การผวนคำตามหลักภาษาลูจะผวนคำในระดับพยางค์ โดยจะนำคำว่าลูไปวางข้างหน้าพยางค์ของคำที่ต้องการผวน และจัดการผวนพร้อมกับการนำเสียงพยัญชนะท้ายและวรรณยุกต์ติดสอยห้อยท้ายไปด้วยทุกพยางค์ เช่นคำว่า “เต่า” จะต้องนำคำว่า “ลู” บวกเสียงพยัญชนะท้ายและวรรณยุกต์ของคำว่าเต่า (พยัญชนะท้าย = แม่เกอว, วรรณยุกต์ = เอก) จึงกลายเป็น “หลู่ว” ดังนั้นเราจึงได้ตัวตั้งในการผวนแล้ว่า “หลู่ว เต่า” จนกระทั่งเป็นคำภาษาลูที่สมบูรณ์ว่า “เหล่า ตู่ว”

ข้อยกเว้นเล็กน้อยของภาษาลูก็มีเพียงคำที่มีพยัญชนะต้นเป็น ร หรือ ล เช่นคำว่า “รัก” จะตั้งต้นด้วยคำว่า “ซู” แทน เพราะฉะนั้นคำภาษาลูของคำว่ารักคือ “รัก ซุก” — ง่ายเหลือเกิน

เห็นได้ชัดว่าภาษาลูได้เก็บลักษณะสำคัญของภาษาไทยไว้ได้เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะวรรณยุกต์ ที่คำเสียงเดียวกันจะมีความหมายที่แตกต่างเมื่อวรรณยุกต์เปลี่ยนไป (เช่น เสื่อ เสือ เสื้อ) และเมื่อนำมาผวนแล้ว ก็จะเกิดความเป็นไปได้ต่อการพ้องเสียงอื่น ๆ ที่มีความหมายแตกต่างกันไปตามวรรณยุกต์ และก่อให้เกิดความตลกขบขันที่ซ่อนอยู่ในเสียงและความหมายของภาษา

หากจับให้เข้ากับศัพท์แสงทางภาษาศาสตร์ เทคนิคทางภาษาเหล่านี้อาจเข้ากับแนวคิด cryptolect (ภาษาอำพราง) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางภาษาที่เกิดขึ้นในทุกชุมชนภาษาทั่วโลก ในส่วนต่อไป ฉันจะเดินทางไปสู่ชุมชนภาษาต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้เทคนิคภาษาอำพรางของพวกเขา

ภาษาอำพรางในภาษาอื่น ๆ

ในเกาหลี ภาษาโทแกบีมัล (도깨비말) ถือเป็นการเล่นภาษารูปแบบหนึ่งอันยอดนิยม โดยมีจุดเริ่มต้นในโรงเรียนมัธยมปลายช่วงทศวรรษที่ 1960 เพื่อเป็นรหัสลับระหว่างนักเรียนเมื่อต้องการพลอดรักกัน (Namu, 2019) หลักการของภาษาโทแกบีมัลคือการเพิ่มหนึ่งพยางค์ที่มีสระเดียวกันกับพยางค์สุดท้าย แต่มีเสียง บ () เป็นพยัญชนะต้น เช่นคำว่า ยา () จะกลายเป็นคำว่า (야바) ภาษาโทแกบีมัลหายไปจากชุมชนภาษาเกาหลีตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 และกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในยุคอินเทอร์เน็ต ที่โปรแกรมแชท “Buddy Buddy” เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นเกาหลีในช่วงทศรรษที่ 2000

ในญี่ปุ่น เด็กผู้หญิงชั้นมัธยมในช่วงทศวรรษ 1930 มีลักษณะภาษาเฉพาะตัวคือภาษาเทโย ดาวะ โคโตบะ (てよだわ言葉) ซึ่งเป็นการผสมคำภาษาจีนและอังกฤษในคำลงท้ายพิเศษของลักษณะภาษานี้ จากการศึกษาของมิยาโกะ อิโนะอุเอะ (Miyako Inoue) นักมานุษยวิทยาภาษา พบว่าลักษณะภาษาดังกล่าวถูกปราบปรามให้หมดสิ้นไปภายใต้กระบวนการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ของญี่ปุ่น ที่นักปฏิรูปภาษาต่างมองว่าลักษณะภาษาดังกล่าวเป็นภาษาของชนชั้นล่าง และเป็นปฏิปักษ์ต่อโครงสร้างชายเป็นใหญ่ในญี่ปุ่น (Inoue, 2006)

ในภาษาจีน ซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่งที่ระบบการเขียนเป็นอักษรภาพ (pictograph) แตกต่างจากนานาภาษาทั่วโลก ภาษาดาวอังคาร (火星文) เป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มบล็อกเกอร์วิพากษ์การเมืองของจีน ท่ามกลางการปิดกั้นสื่อและขจัดคู่ขัดแย้งทางการเมืองของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ บล็อกเกอร์เหล่านี้ใช้ภาษาดาวอังคาร หรือตัวเขียนที่พ้องเสียงกับคำที่ต้องการจะพูดจริง ๆ เช่นคำว่า รัฐบาล (เจิ้งฝู่ 政府) ก็ถูกแทนที่ด้วยอักษรโบราณที่ภาษาจีนสมัยใหม่เลิกใช้ไปแล้ว แต่มีการออกเสียงเดียวกัน เช่น 䕄䩉 (ออกเสียงว่าเจิ่งฝู่เหมือนกัน) มาเขียนแทน และตัวอักษรเหล่านี้ก็จะถูกแทนที่ในทุกคำของบทความ บล็อกเกอร์เหล่านี้ต่างสะท้อนเสียงออกมาว่า ที่เขียนเช่นนี้เพราะหลีกหนีการตรวจจับของรัฐบาล (Wikipedia, 2019) แต่อย่างไรก็ตาม ในยุคที่ AI กำลังถูกพัฒนาอย่างรุดเร็วในประเทศจีน การเขียนภาษาดาวอังคารก็อาจถูกข่มขู่ด้วยเช่นเดียวกัน

ในมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ (University of Philippines) การสลับพยางค์ในแต่ละคำก็ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นรหัสลับในขบวนการนักศึกษาช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ด้วยรักษาความลับให้ห่างจากหูตำรวจ แทนที่นักศึกษาเหล่านี้จะพูดคำว่า pulis (ตำรวจ) พวกเขาจะพูดว่า lispu (หลวดตำ) แทน (Lem, 2018) ส่วนในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ เก้งกวางชาวเซบู (Cebuano) ก็มีภาษาเฉพาะในวงวานของตน โดยหลักการคือนำตัวอักษรในคำจับเรียงย้อนกลับใหม่ทั้งหมด เช่นคำว่า boang (โบอัง – อีโง่) จะถูกสลับเป็น ngaob (งาอบ – โงอี้) แทน (Torres, 2019)

ภาษาอำพรางเชิงภาษาศาสตร์สังคม

จากตัวอย่างที่ได้สำรวจ ฉันพบว่าประเด็นสำคัญของการเกิดภาษาอำพรางคือการสร้างขอบเขต (boundary) ทางวัฒนธรรมของผู้ที่ถูกกดขี่ เช่นหญิงสาวในญี่ปุ่นก่อนเหตุการณ์แพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ขบวนการนักศึกษาที่ถูกไล่ล่าโดยตำรวจชาวฟิลิปปินส์ บล็อกเกอร์แนวการเมืองผู้หลบเลี่ยงอำนาจของรัฐบาล หรือแม้ภาษาลูของนักโทษ (หากทฤษฎีนี้เป็นความจริง)

ในวรรณกรรมชื่อดังของวิกเตอร์ ฮูโก (Victor Hugo) เรื่อง Les Miserables ก็ปรากฏการพลิกคำในภาษาฝรั่งเศสที่ใช้โดยตัวละครชนชั้นล่าง โดยภาษาลักษณะดังกล่าวถูกเรียกว่า “ภาษาแห่งความมืดมน” หรือ “ภาษาแห่งความโศกเศร้า” (Wikipedia, 2019)

ด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า การกำเนิดภาษาจินตนาการและภาษาอำพรางทั้งหลายเป็นการสร้างอัตลักษณ์ ตัวตน และท่าทีที่แปลกแยกออกไปจากอำนาจหลักที่มีแน้วโน้มกดขี่วิธีการพูดและการแสดงออกของผู้คน

ในอีกประเด็นที่น่าสนใจคือการเข้ามามีบทบาทของอินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน และการเผยแพร่ภาษาอำพรางเหล่านี้ให้กลายเป็นที่นิยม เช่นการใช้ภาษาโทแกบีมัลในโปรแกรมแชทของเกาหลี ภาษาดาวอังคารในยุทธภพอินเทอร์เน็ตหลังกำแพงไฟเมืองจีน (The Great Firewall) หรือแม้แต่การทำให้ภาษาลูเป็นที่นิยมตามเพจและยูทูบช่องต่าง ๆ ของประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนเสียงและรูปแบบการใช้ภาษาที่แตกต่างออกไปจากอุดมการณ์หลัก แต่อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมแบบจีน ภาษาดาวอังคารถูกมองว่าเป็นพิษเป็นภัยต่อรัฐในแง่ของเนื้อหา แต่ในกรณีประเทศไทย (ที่ก็ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมเหมือนกัน — นะ) ภาษาลูเป็นเพียงภาษาที่ตลกขบขัน สนุกสนาน เป็นสีสันของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ และไม่มีเนื้อหาที่เป็นพิษเป็นภัยทางการเมืองหรืออุดมการณ์ภาษาหลัก

หากคิดเร็ว ๆ ฉันคิดว่าภาษาลูเป็นภาษาที่อยู่บนพื้นฐานของภาษาพูด และมีความย่อยเฉพาะกลุ่ม (niche) สูง ทำให้ไม่เป็นการรบกวนอุดมการณ์ภาษาหลักของไทยได้มากเท่า “นะค่ะ นะคะ” ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาษาเขียนและใช้กันทั่วไปในระดับภาษาสุภาพ (ชนชั้นสูง) ทำให้คนใช่คะ ค่ะผิดเสียงวรรณยุกต์จึงเป็นริดสีดวงอันเจ็บปวดในร่างกายของผู้กุมอำนาจหรือสมาทานภายใต้อุดมการณ์หลัก

ในปัจจุบันที่ภาษาลูเริ่มกลายเป็นภาษาที่แมสมากขึ้นเรื่อย ๆ ภายใต้ยุคที่การเขียนและการอ่านกลับมาเฟื่องฟูบนอินเทอร์เน็ต ภาษาลูก็ย้ายตัวเองจากภาษาพูดมาเป็นภาษาเขียน น่าสนใจอย่างยิ่งว่าสักวันภาษาลูจะทำให้ผู้ควบคุมภาษาไทยระแคะระคายบั้นท้ายบ้างไหม

ภาษาลูกับกะเลยไทย

ในปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่ต่างมองว่ากลุ่มคนหลากหลายทางเพศเป็นเจ้าของวัฒนธรรมการสื่อสารภาษาลู (หรือแม้แต่กะเลยจำนวนมาก็เคลมภาษาลูเป็นวัฒนธรรมของตน — ซึ่งไม่ได้ผิดอะไร) ฉันจึงสนใจว่าผู้พูดภาษาลูมีความคิด ความรู้สึก ทัศนคติ และวิธีการใช้ภาษาลูอย่างไร ในส่วนนี้ ฉันจะนำเสนอข้อมูลการสัมภาษณ์จากพวกเขาเหล่านั้น

หยก สาวประเภทสองหน้าเฉี่ยววัย 39 ปี เล่าให้ฟังว่า “ตอนพี่เรียนมหาวิทยาลัย ภาษาลูฮิตมากในกลุ่มกะเทย ใครพูดไม่ได้คือไม่ใช่กะเทยตัวจริง อีดอก กูก็ต้องฝึกสิ สุดท้ายพี่ก็ติดไปเลย ติดไปเลยช่วงนึง จนคิดเป็นภาษาลูไปเลย” ปิ่นศรี กะเลยแต่งหญิงหน้าสวยในวัย 23 ปี ผู้พูดคำภาษาลูกอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า “มันตลกดีอะพี่ แค่ผวนคำธรรมดา ๆ ก็ตลกแล้ว แล้วก็สีสันใช่ไหมละ กะเทย เพิ่มสีสันให้กับเรื่องเล่า”

ปอนด์ เกย์หนุ่มวัย 30 ปี กล่าวว่า “บางทีเราออกสาว เราก็เป็นกะเทยถูกมะ แต่กูแบบ แต่งแมนขนาดนี้จะมาเรียกกูกะเทยก็ไม่ใช่อะ เราเลยใช้ภาษาลูกับคำที่มันดูรุนแรงต่าง ๆ เช่น กะเทย เราก็จะเรียกว่า “กะเลยทุย” หรือ “กะเลย” เฉย ๆ เพราะถ้าเราโดนเรียกว่ากะเทยเรารู้สึกเหมือนโดนกระแทกอะ กูไม่ใข่อะ กูก็จะไม่เรียกคนอื่นถ้ากูไม่อยากให้ใครมาเรียกกูแบบนี้ เพราะฉะนั้นเราเลยใช้คำว่ากะเลยแทนเพราะมันดูซอฟท์กว่า สุภาพกว่า กระแทกน้อยกว่า ‘เลี่ยหู้’ ‘หลีหู’ ต่าง ๆ ก็ทำให้ดูสุภาพมากยิ่งขึ้น”

จากการสำรวจโดยเบื้องต้น ฉันพบว่าอย่างน้อยภาษาลูก็มีตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม เช่น การทำให้เกิดความใกล้ชิดและกันเองภายในกลุ่ม สร้างความตลกขบขัน หรือทำให้เกิดความสุภาพอย่างที่ปอนด์บอก

สรุป

การพลิกภาษา เช่นการเกิดขึ้นของภาษาลู แสดงให้เห็นถึงความสร้างสรรค์อย่างยิ่งของมนุษย์ ผู้มีความสามารถในการเรียนรู้ภาษาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยเฉพาะในบริบทการกดขี่ของอุดมการณ์หลัก ที่ความสร้างสรรค์จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อทำให้เกิดขีวิตชีวาและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้ถูกควบคุม ดังนั้น เราจึงต้องจับตาดูต่อไปว่าภาษาลูจะกลายมาเป็นประเด็นทางสังคมอย่างไร เมื่อการใช้ภาษาลูกลายเป็นภาษาเขียนและเป็นที่นิยมจนรบกวนภาษาทางการมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เท่าที่เห็นในปัจจุบันนี้ ฉันรู้สึกว่าการกำเนิดขึ้นของภาษาลูแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของการต่อสู้กับอุดมการณ์หลัก ที่สามารถแทรกต้วอย่างแนบเนียนในฐานะสีสัน ซึ่งอาจเป็นลักษณะพิเศษของการต่อสู้กับอำนาจในวัฒนธรรมไทย

กิตติกรรมประกาศ

ขอบคุณส้มโอ ฟรานซิส และคาร์ลสำหรับข้อมูลจากเกาหลีและฟิลิปปินส์

รายการอ้างอิง

Inoue, M. (2006). Vicarious language : gender and linguistic modernity in Japan. Berkeley, Calif.: University of California Press.

https://namu.wiki/w/%EB%8F%84%EA%B9%A8%EB%B9%84%EB%A7%90

https://www.siamzone.com/board/view.php?sid=2331545

https://en.wikipedia.org/wiki/Cant_(language)

เกี่ยวกับผู้เขียน

kevinxladd

เควินทร์คนบ้าภาษา การเรียนภาษาคือการพักผ่อน ตอนนี้ผันตัวมาเป็นนักมานุษยวิทยาภาษา กำลังทำวิจัยเกี่ยวกับภาษาจีนจ้า
English - ไทย - 中文 - Deutsch - Tiếng Việt - Singlish

Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด

เรื่องที่คล้ายกัน