Skip to content

หลากสายพันธุ์หลายดวงดาว

ช่วงนี้ข่าวฮอตฮิตในวงการวิทยาศาสตร์คงไม่พ้นการลงจอดบนดาวอังคารของยาน InSight รวมถึงการส่งเสียงลมบนดาวอังคารลงมายังโลก มนุษย์เราพยายามออกนอกโลกมานานและทำสำเร็จในช่วงทศวรรษ 60 การก้าวข้ามดวงดาวทำให้มนุษย์กลายไปเป็นสิ่งมีชีวิตใหม่ที่เรียกว่าสายพันธุ์หลากหลายดวงดาว (multiplanetary species)

เราไมได้อยู่บนดาวเพียงดวงเดียวที่ชื่อว่าโลกอีกต่อไป และก็แน่นอนว่าไม่ใช่แค่เรามนุษยษ์สายพันธุ์โฮโมเท่านั้นแต่ยังมีสายพันธุ์อื่น อย่างที่เรารับรู้กันว่าสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์แรกที่ถูกส่งขึ้นไปในอวกาศคือเจ้าไลก้า หมาอาภัพที่ไปไม่ถึงดวงดาวเพราะเสียชีวิตก่อนจะออกนอกโลกจากความร้อนของยานขณะพุ่งผ่านชั้นบรรยากาศ ไม่เพียงแค่มนุษย์และสัตว์ที่ถูกส่งออกไปนอกอวกาศ พืชเองก็ถูกส่งออกไปด้วยเช่นกัน ในปี 2013 Mike Hopkins นักบินอวกาศ ได้ทวีตภาพฟักทองและทานตะวันที่เขาปลูกไว้บนสถานีอวกาศนานาชาติในทวิตเตอร์ของเขา Hopkins กล่าวว่าพืชของเขานั้นเติบโตช้ากว่าอยู่บนโลก หลังจากนั้นในปี 2014 นาซาก็เริ่มโครงการทดลองปลูกผักบนสถานีอวกาศ และเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2015  นักบินอวกาศก็ได้ทานอาหารเมนูแรกทำจากผักที่ปลูกบนสถานีอวกาศ แน่นอนว่าการปลูกพืชในอวกาศไม่เพียงแต่จะเป็นอาหารของนักบินอวกาศเท่านั้นแต่ยังช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์และสร้างออกซิเจนให้กับสถานีอวกาศด้วย

รูปจาก Nasa

นอกจากการปลูกพืชบนสถานีอวกาศนานาชาติแล้วยังมีโครงการปลูกผักที่น่าสนใจมากอีกโครงการหนึ่งคือการปลูกพืชบนดวงจันทร์ นี่ยังไมนับการวิจัยอื่น ๆ บนสถานีอวกาศนานาชาติที่พยายามจะสร้างสายพันธุ์หลากหลายดวงดาว หากทำสำเร็จก็อาจจะเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้การไปอยู่บนดาวดวงอื่นเป็นไปได้ ในขณะเดียวกันนักชีวอวกาศ (astrobiologist) David Grinspoon  ก็ชี้ชวนให้เราขบคิดว่าเมื่อมนุษย์เข้าไปครอบครองดาวดวงอื่นแล้วดาวดวงนั้นจะเป็นของใครกัน ของนาซา ของสหรัฐอเมริกาหรือว่าของมวลมนุษย์ แม้ว่าสุดท้ายแล้ว Grinspoon จะสรุปว่าดาวเหล่านั้นเป็นของสรรพชีวิตที่อาศัยอยู่ในจักรวาลนี้ แต่เมื่อมองตามความเป็นจริงแล้ว ชาติที่ด้อยอำนาจและเงินทุนคงไม่อาจไปอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของดวงดาวอื่นได้ ปรากฏการณ์สงครามแย่งชิงทรัพยากรในอดีตสะท้อนภาพความเป็นจริงนี้ได้เป็นอย่างดี

พอพูดถึงการครอบครองดวงดาวเราก็อดนึกถึงการ์ตูนเรื่องโปรดของเราไม่ได้ ดราก้อนบอลคือการ์ตูนที่ประกอบไปด้วยสรรพชีวิตจากหลากหลายดวงดาว ซุนโกคู ตัวเอกของเรื่องมาจากต่างดาว ต่อสู้กับผู้รุกรานต่างดาวที่หมายจะทำลายโลก แม้ว่าโกคูจะไม่ได้เป็นชาวโลก แต่กลับมีความรู้สึกว่าโลกเป็นดวงดาวของเขา แน่นอนว่าเพื่อนพระเอกอย่างเบจิต้าก็ด้วย เจ้าชายแห่งดาวไซย่าแม้ตอนแรกจะมาเพื่อทำลายโลก แต่สุดท้ายก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกับโกคู ไม่เพียงแต่โลกที่พวกเขารู้สึกว่าเป็นเจ้าของจักรวาลเองก็เช่นกัน หลายครั้งที่พวกเขาก้าวข้ามจากการปกป้องโลกไปสู่การปกป้องจักรวาล ด้วยตรรกะง่าย ๆ ที่ว่าถ้าจักรวาลถูกทำลายโลกก็จะถูกทำลายไปด้วย การ์ตูนดราก้อนบอลชวนให้เรากลับไปทบทวนข้อสรุปของ Grinspoon ว่าท้ายที่สุดแล้วดวงดาวต่าง ๆ เป็นของใครกัน โลกมนุษย์ที่ดูเหมือนจะเป็นของมนุษย์แต่กลับถูกปกครองโดยเทพเจ้าที่มาจากต่างดาว ขณะเดียวกัน แม้จะมาจากต่างดาว ทั้งเทพเจ้าและซุนโกคูต่างก็รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโลก แม้ตัวละครต่าง ๆ ในการ์ตูนจะมีลักษณะของการเป็นสิ่งมีชีวิตหลากหลายดวงดาว (multiplanetary species) แต่พวกเขากลับรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของ (belonging to) ดาวเพียงดวงเดียว

ความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งของดาวดวงใดดวงหนึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราออกไปสำรวจนอกโลก แต่มันเกิดขึ้นและถกเถียงกันมานานมากในแวดวงนักวิชาการ ก่อนจะเลยเถิดไปเรื่องของความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่หรือรัฐชาติ แน่นอนว่าเราจะไม่ไปแตะตรงนั้นให้มันปวดหัว กลับมาที่ยาน InSight เป้าหมายของยานคือการลงจอดและขุดเจาะสำรวจพื้นผิวของดาวอังคาร แม้ว่าจะมีกฎหมายระหว่างประเทศที่ให้สำรวจดวงดาวโดยเลี่ยงการสร้างความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของดวงดาวเพื่อให้การสำรวจศึกษาดวงดาวเหล่านั้นในสภาพที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด แต่การขุดเจาะพื้นผิวดวงดาวรวมถึงการส่งตัวอย่างกลับมายังโลกทำให้เกิดคำถามในหมู่นักวิชาการว่าการขุดเจาะดังกล่าวสร้างความเสียหายให้ดวงดาวเกินไปหรือไม่ และจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อดาวอย่างที่เรากำลังทำต่อโลกหรือไม่

หลายคนอาจสงสัยว่าการเป็นห่วงเป็นใยสภาพแวดล้อมบนดาวอังคารจะช่วยให้พ่อใหญ่แม่ใหญ่พี่น้องเกษตรกรอิ่มปากอิ่มท้อง หรือช่วยแก้ปัญหาสังคมไทยได้อย่างไร แน่นอนว่าเป้าหมายของการสำรวจดวงดาวนอกจากจะเป็นไปเพราะความอยากรู้ของมนุษย์เป็นพื้นฐานแล้วเขาก็ยังใส่เป้าหมายสวย ๆ เก๋ ๆไปด้วยว่าการสำรวจอวกาศนั้นก็เพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติในอนาคตเพื่ออพยพไปในกรณีที่โลกไม่เหมาะสำหรับการดำรงชีวิตอยู่แล้วและเราคิดว่าลุงตู่ ท่านนายกฯ ผู้มีวิสัยทัศน์ก้าวไกลได้ตอบคำถามนี้ไปแล้วว่าการสำรวจดาวอังคารรวมถึงดาวอื่นจะช่วยพ่อใหญ่แม่ใหญ่พี่น้องเกษตรกรอย่างไร 


“….ปลูกกันเข้าไปเถอะ แล้ววันหน้าก็ไปขายโน่น…บนดาวอังคารขายในนี้ไม่พอแล้ว โลกไม่พอซื้อแล้ววันนี้เราพัฒนาใหม่แล้ว เราต้องไปดาวอังคาร”

อ้างอิง

The Social Lives of Plants, in Space: https://goo.gl/QMWLJv

Interplanetary Environmentalism: https://www.sapiens.org/column/wanderers/terraform-mars-anthropocene/

เกี่ยวกับผู้เขียน

40635138 10204915230637107 6061875369370189824 n

ฮอล aka Manotch นักเรียนมานุษยวิทยาจอมเกียจคร้าน ผู้ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ยอมเขียนวิทยานิพนธ์ ขี้เกียจคุยกับคนเลยหันไปคุยกับพืช สาธุ

Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด

เรื่องที่คล้ายกัน