พลันเวลาตะวันอัสดง จุดเริ่มต้นของสีแสงที่เปิดสนามท้าชนกับท้องฟ้ามืด ย่านพัฒน์พงษ์ในเวลานี้ดูจะครึกครื้นกว่าช่วงที่ผ่านมา สี่โมงเย็นจะเริ่มเห็นพนักงานหญิงชายตบเท้าเดินเข้าซอยเพื่อลงเวลาเข้างาน จัดร้าน เปลี่ยนเสื้อผ้า และรับลูกค้าที่เริ่มมาจับจองพื้นที่ภายในร้านอย่างต่อเนื่อง บรรยากาศเริ่มครึกครื้นเมื่อแสงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ความโกลาหลของการจราจรสองฝากฝั่งถนนสีลมและถนนสุรวงศ์แสดงให้เห็นถึงความรุ่งโรจน์ของความเป็นเมือง ตลาดนัดกลางคืน (night market) ในพื้นที่พัฒน์พงษ์ซอย 1 ดารดาษไปด้วยนักท่องเที่ยวนั่งจิบเบียร์ และเดิน shopping สินค้าของฝาก ในขณะที่นักท่องเที่ยงกลุ่มหนึ่งเข้ามาเดิน shopping หญิงสาวที่สวมเสื้อผ้าน้อยชิ้นคอยเรียกลูกค้าเข้าร้าน
ในด้านหนึ่ง หากเดินเข้าไปในพัฒน์พงษ์ซอย 2 จะได้รสสัมผัสทางพื้นที่ที่แตกต่างไปจากพัฒน์พงษ์ซอย 1 ที่ผ่านมา บรรยากาศความมืดที่ถูกแทนที่ด้วยไฟตกแต่งระยิบระยับ ไม่มีตลาด ไม่มีลานเบียร์ แต่มี sexy show ไว้คอยบริการลูกค้าเป็นจุดขายนักท่องเที่ยวที่หากเดินเข้าไปก็จะถูกเชื้อเชิญให้คุณลองสัมผัส สถานบันเทิงในลักษณะของบาร์เกย์ที่มีพนักงานบริการชายจึงเป็นที่นิยม ซึ่งปัจจุบันการท่องเที่ยวและการทำงานในลักษณะนี้ไม่ได้ถูกทำให้เป็น “เรื่องเป็นต้องห้าม” เพราะสังคมต่างก็รับรู้ถึงการมีอยู่ของสถานบันเทิง รวมไปถึงการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านวาทกรรมที่ว่าด้วยโสเภณีและธุรกิจการค้ากาม
จากเชียงใหม่สู่พัฒน์พงษ์ – ทำความเข้าใจดอยบอยในพื้นที่ย่านโคมแดง
พัฒน์พงษ์ถูกขนานนามว่าเป็นย่านโคมแดง (Red Light District) หรือสถานบันเทิงที่มีการขายบริการทางเพศ โดยหลักแล้วการทำงานในลักษณะนี้จะต้องทำให้ถูกกฎหมายซึ่งหลายประเทศผลักดันอย่างจริงจัง รวมถึงประเทศไทยที่มีภาคประชาสังคมขับเคลื่อนประเด็น sex worker ถูกกฎหมายมาอย่างต่อเนื่องแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เราจึงเห็นภาพพนักงานบริการชายในสถานบันเทิงซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์จากชายแดนพม่า ชาวไทใหญ่ หรือประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ จำนวนมากที่ข้ามแดนเข้ามาทำงานในย่านโคมแดงอย่างพัฒน์พงษ์ และพื้นที่อื่นอย่างลับ ๆ กล่าวโดยง่ายคือคงไม่ดีนักหากพวกเขาจะบอกว่าเข้ามาทำงานประเทศไทยด้วยอาชีพ sex worker ซึ่งส่วนมากการเข้าสู่อาชีพขายบริการทางเพศในย่านโคมแดงอย่างพัฒน์พงษ์จะเป็นการบอกกล่าวต่อ ๆ กันของคนรู้จักหรือการชักชวนโดยตรงจากเพื่อน นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์รับสมัครผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของสถานบริการด้วย
รวมไปถึงพื้นที่เชียงใหม่ สถานที่ท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่รองรับนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก มีการนำเสนอและถ่ายทอดเรื่องราวของอาชีพขายบริการทางเพศอย่างสนใจผ่านภาพยนตร์ เรื่อง ดอยบอย – Doi Boy ฉายทาง Netflix นำแสดงโดย อัด อวัช รัตนปิณฑะ และเป้ อารักษ์ อมรศุภศิริ
ภาพยนตร์เรื่อง ดอยบอย มีแก่นเรื่องคือการนำเสนอการทำงานของอาชีพขายบริการทางเพศชายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ “ศร” ซึ่งเป็นชาวไทใหญ่หลบหนีการเป็นทหารจากภาวะสงครามของประเทศพม่าข้ามมายังประเทศไทยด้วยความมุ่งมั่นสู่การมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม แม้ศรจะตั้งคำถามถึงทางเลือกของชีวิตอย่างน่าหดหู่ในสภาวะชีวิตที่เปราะบาง (precarity) แต่ก็ใช้ความฝันมาผลักดันชีวิตให้มีความกล้าในการตัดสินใจหลบหนี
การดำเนินเรื่องราวของศรในภาพยนตร์ซึ่งเป็น sex worker เกี่ยวโยงกับมิติทางการเมือง ความรุนแรง และพัลวันกับความเป็นความตายของพลเมืองไทยที่ออกมาเรียกร้องเกี่ยวกับการบังคับให้บุคคลสูญหาย หรือการอุ้มหาย ในโลกของความเป็นจริงที่หากเรามองผ่านพื้นที่การทำงานในสถานบริการ เราในฐานะคนเมืองที่ขวักไขว่เร่งรีบกับเวลาและง่วนอยู่กับการทำงาน ในวันหนึ่ง ๆ เราเดินสวนทางกับพวกเขาเหล่านั้นกันมากน้อยแค่ไหน เราอาจจะเคยซื้ออาหารร้านเดียวกันหรือข้ามทางม้าลายตรงถนนสีลมร่วมกันก็ย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะท้ายที่สุดชีวิตของเราและเขาก็ใกล้ชิดกันเพียงนี้ แต่เราจะเข้าใจพวกเขาว่ามิติทางชีวิตแตกต่างจากศรได้อย่างไรบ้าง?
ผู้เขียนอยากจะขอแนะนำให้ท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ได้ลองดูภาพยนตร์เรื่อง “ดอยบอย” ในช่วงเวลาที่ท่านสะดวกและมีโอกาสเหมาะสม ดูและคิดไปกับการเล่าเรื่อง น้อยที่สุดก็เพื่อทำความเข้าใจ “พวกเขา” และสะท้อนคิดกลับมาเข้าใจทางโลกทางสังคมที่เราอาศัยอยู่
ศรในภาพยนตร์และศรในชีวิตจริง กับเรื่องราวอาชีพที่บอกไม่ได้
แม้สังคมจะรับรู้ถึงการมีอยู่ของอาชีพขายบริการ (อย่างลับ ๆ) ในพื้นที่ย่านโคมแดง แต่ก็ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับในทางกฎหมายซึ่งส่งผลต่อสังคมที่เลือกปฏิบัติกับคนที่ทำอาชีพนี้อย่างมีนัยสำคัญ ภาพทั่วไปในสถานบันเทิงจึงมีเพียงเพศชายที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ หรือชาวไทใหญ่เข้ามาทำงาน กล่าวโดยง่ายคือจะไม่พบชายชาวไทยในสถานบันเทิงในลักษณะของบาร์เกย์ (ผู้เขียนขอละการทำงานในบาร์โฮสเพราะอยู่นอกเหนือจากการเขียนในครั้งนี้ ซึ่งจะต่างบริบทกัน) และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้เขียนได้พบกับคนที่คล้ายศรในภาพยนตร์ แต่เขาดำเนินชีวิตอยู่ในโลกของความเป็นจริง ผู้เขียนขอใช้นามสมมติในการเล่าเรื่อง บอกกล่าวผ่านเสียงของ “แก้ว” และ “ไม้” หนุ่มไทใหญ่อายุยี่สิบต้น ๆ ทำงานในสถานบันเทิงย่านพัฒน์พงษ์
วันนี้พี่จะรุกหรือรับครับ
“…เคยมีลูกค้าเสนอเงินให้เป็นหมื่นเลยครับ เขาอยากให้ผมรับ (bottom) แต่ผมก็ปฏิเสธ…”
– แก้ว –
คำบอกเล่าจากแก้ว ชายหนุ่มไทใหญ่ อายุ 20 ปี หน้าตาตี๋ ผิวขาว บอกว่าตนนั้นใคร่ชอบผู้หญิง รวมถึงไม่เคยมีร่วมกิจกรรมทางเพศกับผู้ชาย แก้วเพิ่งเริ่มงานในสถานบริการย่านพัฒน์พงษ์ได้สองเดือนโดยประมาณ แต่ได้รับความนิยมและถูกจับจองในแต่ละวันหรือการ off time รวมถึงเรียกให้เข้ามาบริการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ประสบการณ์ทำงานในแต่ละวันคือความท้าทายและต้องเผชิญหน้ากับลูกค้าที่คาดเดาไม่ได้ แม้ว่าจะอยู่ภายใต้การดูแลของสถานบริการ แต่จำนวนเงินที่ลูกค้าเสนอมามักจะอยู่เหนือกฎเกณฑ์เสมอ ในกรณีของแก้วแม้ว่าช่วงแรกของการทำงานจะมีอาการเคอะเขินอยู่บ้าง แต่พอทำงานไปสักพักก็เคยชินเพียงเพราะมันคือหน้าที่ ลูกค้าเป็นคนจ่ายเงิน และแก้วในฐานะคนบริการก็ทำงานให้เต็มที่เท่านั้น
ในขณะเดียวกัน มีพนักงานบริการจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะ “รุก” หรือ “รับ” แต่ต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เขาเหล่านั้นอาจจะไม่ใช้ผู้ที่สามารถเลือกได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าต้องการแบบไหน และต้องการให้ทำอะไร จากการคำเล่าของแก้ว บางครั้งในการบริการลูกค้าจะต้องมีตัวช่วยเข้ามาด้วยเพื่อเป็นตัวช่วยกระตุ้น ครั้นจะปฏิเสธไม่ไปเลยก็ไม่ได้เพราะเราถูก off time มาแล้ว
เหมือนกับที่ศรในภาพยนตร์ดอยบอย ผ่านการทำอาชีพมากมายก่อนหน้าที่จะเข้าสู่อาชีพขายบริการทางเพศ แต่ก็ติดกับดักในพื้นที่ของผู้มีอำนาจที่สร้างขึ้นเพื่อควบคุมพลเมือง อย่างในขณะที่บวชก็บังคับให้มารับใช้ชาติ ผู้มีอำนาจเลือกกระทำในลักษณะนี้จึงส่งผลต่อความฝันและความหวังของคน ๆ หนึ่งได้ การบังคับสูญหายที่ปรากฎในภาพยนตร์ดอยบอยก็แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจรัฐในการดำรงความชอบธรรมที่ผิดเพี้ยนที่จะกำหนดความเป็นและความตายของพลเมือง ในแง่หนึ่งมันคือแนวคิด Necropolitics ที่ถูกพูดถึงโดย Achille Mbebbe หรือที่มักจะเจอความหมายในบริบทของภาษาไทยว่า “การเมืองเรื่องความตาย” แต่อย่างไรก็ตาม การสูญหายหรือความตายไม่ใช่ประเด็นทางสังคมที่พลเมืองจะต้องเคยชิน ตัวละครในภาพยนตร์ได้นำเสนอให้เห็นถึงพลังของการต่อสู้และความต้องการที่จะงัดข้อกับอำนาจรัฐ ทำแบบนั้น ซ้ำๆ แม้ว่าจะยังมองไม่เห็นปลายทางก็ตาม
“ชีวิตของแก้วและศรก็ไม่ได้ต่างกันมาก เพราะเขาทั้งสองต่างก็อาศัย “ความเคยชิน” ในการรับมือกับความไม่แน่นอนที่ต้องเจอในแต่ละวัน บางวันเลือกได้ บางวันเลือกไม่ได้ ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรแน่นอนที่จะเข้ามากำหนดชีวิต เขาแค่ต้องการชีวิตที่ดีกว่าเดิม”
เรื่องลับ–คำต้องห้ามที่บอกพ่อแม่ไม่ได้
“…ทำงานได้เงินเยอะ อย่างเดือนนี้ได้ประมาณห้าหมื่น ส่งให้ที่แม่ไปสี่หมื่น
ที่เหลือเก็บไว้ใช้ จ่ายค่าห้องบ้าง ค่ากินบ้าง…”
– ไม้ –
รายรับจำนวนมากที่ได้รับจากการทำงานบริการในสถานบันเทิง แบ่งเป็นการบริการที่แตกต่างกันไป อาทิ การเข้ามาบริการและรับแขกในร้าน รายได้จาก off time หรือการที่ลูกค้าพาพนักงานออกไปบริการด้านนอก และการบริการอื่น ๆ เช่น เพื่อนทานข้าว เพื่อนเที่ยว เป็นต้น จำนวนเงินที่ได้รับคือภาพของการการันตีสู่การมีชีวิตขึ้น และสามารถต่อเติมความฝันของพวกเขาเหล่านั้นให้เติบโตได้ ไม่เพียงความฝันของตนเท่านั้นแต่ยังหมายความรวมถึงความฝันและคุณภาพชีวิตของครอบครัวด้วย
ไม้ ชายหนุ่มอายุยี่สิบต้น ๆ เช่นเดียวกับแก้ว บอกเล่าให้ผู้เขียนฟังเกี่ยวกับรายได้ของตนในช่วงเดือนที่ผ่าน ในรายได้จำนวนนี้สามารถจรรโลงชีวิตของเขาได้อย่างสะดวกสบาย เขาอยากที่จะเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือ ย้ายที่อยู่ใหม่ และหากมีเวลาว่างก็อยากที่จะเที่ยวใน กทม. ให้ได้เยอะ ๆ อย่างไรก็ตาม ในจำนวนรายจับที่ได้มานั้น ไม้เลือกที่จะส่งกลับไปให้ที่บ้านในจำนวนเกินกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นของทั้งหมด แน่นอนว่าย่อมได้รับคำถามจากพ่อแม่ว่า “ทำงานอะไร” ถึงได้รับเงินเดือนนี้ การบ่ายเบี่ยงที่จะตอบคำถามอย่าซื่อสัตย์ต่อผู้ถามคือการปกปิดอาชีพที่จะถูกด้อยค่าหากเขารับรู้ แสดงให้เห็นถึงอาชีพที่ยังไม่เป็นยอมรับและคงรับไม่ได้หากรู้ว่าลูกหลานหรือคนใกล้ชิดที่จากจรบ้านเกิดมาไกลเพื่ออาชีพนี้ และเรื่องนี้ก็ยังคงเป็นความลับต่อไปสำหรับไม้
ในด้านหนึ่ง ช่วงที่เกิดความไม่สงบขึ้นในพื้นที่พม่า เงินจำนวนหนึ่งจะถูกส่งไปเป็นท่อน้ำเลี้ยง น้อยที่สุดคือได้สนับสนุนการต่อสู้เพื่อบ้านเกิดของตนแม้ว่าจะไม่ได้ถือปืนบากบั่นในพื้นที่นั้นก็ตาม ความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นจึงแยกไม่ขาดจากรายรับ อาชีพ และเรื่องการเมืองที่เกิดขึ้น
ส่งท้าย
โลกนี้คงเหมือนละคร และเราทุกคนก็คือหนึ่งในกลไกที่ขับเคลื่อนการเป็นไปของโลก ข้าพเจ้าในฐานะผู้เขียนเพียงมองเห็นศร แก้ว และไม้ ภายใต้แว่นที่ผู้เขียนสวมใส่ แตกขยายให้เห็นความลักลั่นปิดบังของอาชีพ การเมือง ผู้คน และการโยกย้ายถิ่นฐานการทำงาน ผู้เขียนจักนำเสนอให้เห็นว่าทุกอย่างล้วนสัมพันธ์กัน กระทั่งผู้เขียน แก้ว และไม้ก็มีเรื่องราวบางอย่างที่สัมพันธ์กันภายใต้เมืองที่อาศัยอยู่ และบทละครของโลกที่ถูกขีดเขียนอย่างไม่สิ้นสุด ภาพยนตร์เรื่องดอยบอยนำเสนอให้เห็นมิติของอาชีพและการเมืองไทยผ่านตัวละครศร ถูกสวมบทบาทและเล่าเรื่องได้อย่างน่าพอใจ และจักทำให้เราในฐานะผู้ชมได้เข้าใจ “พวกเขา” ได้มากยิ่งขึ้น
และจักดีถ้าโลกนี้มีโอกาส ความฝัน และการเดินทางสู่ชีวิตใหม่ให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม เปิดเผย และซื่อสัตย์ โดยที่ไม่ต้องขีดเขียนให้เป็นเรื่องลับอีกต่อไป
ขอขอบคุณ ภาพยนตร์ ดอยบอย – Doi Boy
เกี่ยวกับผู้เขียน
ไทเกอร์
บัณฑิตมานุษยวิทยา ผู้เร่ร่อนอยู่ในโลกใบใหญ่ อยากไปไหนก็ไปอยากทำอะไรก็ทำโตแล้ว
- This author does not have any more posts.