คนเราจะเป็น ‘พี่’ ได้นานสักกี่ปี ก่อนจะต้องกลายเป็น ‘ลุง’ ‘น้า’ ‘ตา’ ‘ยาย’ ฯลฯ ตามสถานะของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ปรากฎว่ามีบางคนสามารถเป็นพี่มายาวนานกว่า 30 ปี จนกระทั่ง ‘น้อง’ หลายคนกลายเป็น ‘ป้า’ ‘พ่อ’ กันไปแล้ว แต่พี่ก็ยังคงเป็นพี่อยู่เหมือนเดิม คำว่า ‘พี่’ มีความหมายยังไงไปแล้วในสังคมไทยทุกวันนี้ อ่านต่อกันได้ในตอนจบของ blog ตอนพิเศษ เนื่องในโอกาสเกษียณอายุราชการของ ‘พี่วิชัย’
#9
เรียกพี่ได้ไหม
“เรียกพี่ได้ไหม แล้วพี่จะให้กินขนมหมื่นห้า ถ้าเรียกอาลดมาห้าพัน เรียกลุงเลิกพลัน ไม่ให้สักพัน แน่นอน….”
เพลงเรียกพี่ได้ไหม [2542] ขับร้องโดย เสรี รุ่งสว่าง ประพันธ์โดย ชลธี ธารทอง ศิลปินแห่งชาติที่เพิ่งล่วงลับไป เพลงนี้เป็นเพลงอมตะที่อยู่คู่กับคนไทยมากว่า 20 ปีแล้ว ทำนองคุ้นหู โดยใช้ทำนองเพลงไทยเดิมอย่างทยอยยวน จึงทำให้เพลงนี้ฟังง่าย สบายๆ จากทำนองเก่าที่คุ้นเคย ไม่เพียงเท่านั้นเพลงลูกทุ่งแบบชาวบ้านๆ เช่นนี้ยังมีมุกตลก ที่ยั่วล้อเล่นกับศัพท์ที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติฝั่งทางพ่อ เช่นคำว่า “พี่” “อา” หรือคำว่า “ลุง”
ความอาวุโสในการลำดับชั้นทางเครือญาติมีอยู่ในหลายวัฒนธรรม ซึ่งแต่ละวัฒนธรรมก็มีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป นักมานุษยวิทยาก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้1 กล่าวว่าคำศัพท์ทางเครือญาติเป็นหมวดหมู่ของคำ ที่ปัจเจกบุคคลถูกสอนให้รู้จักกลุ่มในโครงสร้างทางสังคมที่ตนเองอยู่ เช่น การจะนับญาติจากฝั่งผู้ชาย รุ่นราวคราวเดียวกับเราก็นับเป็นพี่ เป็นน้อง หรือน้องของพ่อให้เรียก “อา” พี่ชายของพ่อให้เรียก “ลุง” หรือแก่ขึ้นไปอีกขั้นเรียก “ตา” เรียก “ปู่”
ในภาษาลาว อีสาน ตั้งแต่รุ่นลุงขึ้นไปก็สามารถเรียก “พ่อใหญ่” ได้แล้ว นั่นหมายถึงการแสดงออกถึงความเคารพผู้ที่อาวุโสมากกว่าของผู้ที่อาวุโสน้อยกว่า
แต่ในบางบริบทบางคนที่ไม่ใช่ญาติ ที่สืบเชื้อสายทางสายเลือดโดยแท้จริงตามการลำดับวงศ์ตระกูลเราก็สามารถเรียกโดยใช้คำเดียวกันนี้ เพราะถือเป็นการให้เกียรติและให้ความเคารพในฐานะของความเป็นผู้อาวุโสกว่า
แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนอยากได้รับการเคารพในเชิงแบบผู้อาวุโสที่ว่ามานี้ และบางทีการถือวิสาสะไปนับญาติกับคนรุ่นราวคราวพ่อเองก็หมายถึงการหยาบคายและเสียมารยาท หากไม่ได้รับการอนุญาตก่อน [จะด้วยธรรมชาติหรือไม่ก็ตาม]
ก็พูดยากอีกนั่นแหละประเด็นนี้ นึกถึงตอนเด็กๆ อยู่ต่างจังหวัด เวลาต้องพบผู้ใหญ่ที่เราไม่คุ้นเคย ทำตัวไม่ถูกว่าต้องใช้สรรพนามอะไร เรียกผิดๆ ถูกๆ ก็มักจะถูกสั่งสอนและโดนดุ ความผิดเพียงเพราะลำดับชั้นการเรียกด้วยศัพท์ทางเครือญาติไม่เป็น แต่เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน และเข้ามาอยู่ในสังคมของวัยทำงานก็พบว่า ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ รุ่นไหน เราคือพี่น้องกัน!
“อยากขอร้องให้น้องเรียกพี่ ฝืนใจเอาหน่อย คนหนุ่มเหลือน้อยขอกำลังใจ”
พี่วิชัยก็ถือว่าเป็นคนรุ่นใหญ่ [หากเทียบกับอายุพวกเรา] และหากจะนับชั้นเชิงแบบระบบเครือญาติคงได้เป็นลุงพวกเราเลยทีเดียว แต่อย่างที่กล่าวไปว่า “ไม่ใช่ว่าทุกคนจะอยากได้รับการเคารพในเชิงแบบผู้อาวุโส”
พี่วิชัยชอบมาบอกเราด้วยความตกใจว่าบางทีมีเด็กนักศึกษาเรียกว่า “ลุง” นี่คือหนึ่งตัวอย่างของการปฏิเสธการยกย่อง ความเคารพ แบบอาวุโสในศัพท์ที่เกี่ยวกับการนับญาติ เพราะไม่ได้เป็นญาติ ความเคารพในฐานะของความอาวุโสสำหรับกรณีนี้คือเป็น “พี่” ก็พอแล้ว
แต่ไม่ว่าจะให้เรียกพี่ หรือ เรียกอะไร ชาวเราก็ยังให้ความเคารพคุณวิชัยอย่างเต็มอกเต็มใจด้วยความรัก ขอให้สุขสันต์กับการเข้าสู่ช่วงชีวิตที่กำลังเปลี่ยนผ่านค่ะ “พี่” วิชัย
เขียนโดย: น้องแหวน
#10
‘พี่’ อะไรที่คนไทยค้นหา
หากวัดจากจำนวนครั้งที่มีการค้นหาใน google เราอาจจัดอันดับสุดยอด ‘พี่’ ที่คนไทยค้นหามากที่สุดตลอดกาล [2547-2565] ได้ดังนี้
ข้อมูลจาก google trend
1 – สมเด็จพระ ‘พี่’ นาง
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 และได้กลายเป็นผลการค้นหาคำว่า ‘พี่’ อันดับหนึ่งตลอดกาล โดยเทรนด์การค้นหาพุ่งขึ้นถึง 2 ครั้งในปีเดียวกัน ครั้งแรกเมื่อสิ้นพระชมน์และครั้งที่สองในช่วงพระราชพิธี โดยมากผลการค้นหาจะเป็นข่าวและพระราชประวัติ
2 – ‘พี่’ มาก พระโขนง
ผลงานภาพยนตร์ดัดแปลงจากเรื่องเล่าพื้นบ้านของไทย เขียนบทและกำกับโดยบรรจง ปิสัญธนะกุล [สี่แพร่ง, ห้าแพร่ง,กวน มึน โฮ] นำแสดงโดย มาริโอ้ เมาเร่อ และดาวิกา โฮร์เน่ การพลิก ‘พี่มาก’ ให้มีบทบาทนำและผสมผสานแนวโรแมนติก สยองขวัญ ตลก เข้าด้วยกันทำให้ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จในด้านรายได้อย่างมาก ทำเงินให้กับ GTH ถึง 569 ล้านบาท นับเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้ในประเทศสูงสุดตลอดกาลจนถึงปัจจุบัน [2023]
3 – หลวง ‘พี่’ แจ็ส 4G
ภาพยนตร์โดยพชร์ อานนท์ ซึ่งทำรายได้ทะลุร้อยล้าน สูงสุดเท่าที่พี่พชร์เคยทำมา และอาจกล่าวได้ว่าเป็นภาพยนตร์แนว ‘พระ’ ที่แมสที่สุดตลอดกาลจนกระทั่งต้องมีภาคต่อ ‘หลวงพี่แจ็ส 5G’ ในเวลาต่อมา ซึ่งทำหน้าที่ในทำนองเดียวกับหนังพี่พชร์เรื่องอื่นๆ คือเป็นเครื่องบันทึกประวัติศาสตร์สังคมร่วมสมัยของไทยในห้วงเวลาต่างๆ เช่น การเปลี่ยนเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่
เขียนโดย: น้องเต่า ฟอนต์ซิ่ง
#11
มีเวลาให้ ‘พี่’ ไหม
ในวิชาฟิสิกส์ ปริภูมิ-เวลา [spacetime] เป็นแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ใด ๆ ที่ประสานปริภูมิ [space] และเวลา [time] เข้าด้วยกันเป็นความต่อเนื่องเดียว
เดิมนั้น ปริภูมิ-เวลาของเอกภพถูกตีความจากมุมมองปริภูมิแบบยุคลิด [Euclidean space] ซึ่งถือว่าปริภูมิประกอบด้วยมิติ 3 มิติ และเวลาประกอบด้วย 1 มิติ การรวมปริภูมิและเวลาเข้าไปในทบหรือแมนิโฟลด์ [manifold] เดียว เรียกกันว่าปริภูมิ-เวลาแบบมินคอฟสกี [Minkowski space]
ความสำเร็จในการรวมปริภูมิเวลานี้ ทำให้ทฤษฎีทางฟิสิกส์จำนวนมากเรียบง่ายขึ้นอย่างสำคัญ ตลอดจนทำให้สามารถอธิบายการทำงานของเอกภพทั้งในระดับที่ใหญ่กว่าดาราจักรและระดับที่เล็กกว่าอะตอมได้อย่างเป็นรูปแบบเดียวกันมากยิ่งขึ้น
ในกลศาสตร์ดั้งเดิมที่ไม่เป็นเชิงสัมพัทธ์ การใช้ปริภูมิแบบยุคลิดแทนปริภูมิเวลามีความเหมาะสม เนื่องจากเวลานั้นถือว่าเป็นสากล คงที่ และดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระโดยไม่ขึ้นกับการเคลื่อนที่ของผู้สังเกตการณ์
อย่างไรก็ตาม ในบริบทเชิงสัมพัทธภาพ เวลาไม่สามารถแยกออกจากสามมิติของปริภูมิได้ เพราะอัตราของการสังเกตนั้นขึ้นอยู่กับความเร็วของวัตถุเทียบกับผู้สังเกตการณ์ และยังขึ้นอยู่กับความแรงของสนามความโน้มถ่วงอีกด้วย
เขียนโดย: น้องหน้าบันได
#12
นี่คือบทความ พรี่โจว อ่ะครับ
พรี่โจว คือใครคงเป็นที่สงสัยกันพอสมควร ความจริงแล้วพี่โจว ไม่ใช่คนอยากดัง หิวแสง หรืออยากถูกสัมภาษณ์ออกสื่อมากนัก พรี่โจวมักจะอยู่แบบสันโดษ กับน้องไวท์น้อย ทางตอนเหนือของประเทศไทยติดกับ สหพันธ์รัฐว้า ช่างเถอะ แม้เราจะไม่ค่อยรู้จักชายผู้นี้แต่อย่างน้อยหลายคนคงเคยเสพผลงานของพี่โจวมาบ้างแล้ว เพราะเป็นงานนอกกระแสที่ค่อยข้างแมสเลยทีเดียว
พรี่โจวถือว่ามีผลงานหลายด้าน และทรงอิทธิพลต่อวงการนักกิจกรรมหัวก้าวหน้าหลายด้าน พรี่โจวคือโคฟาวเด้อ พรรคสนุกเกอร์ไทย และวางรากฐานและแนวนโยบายต่างๆ เอาไว้อย่างเฉียบแหลม
พรี่โจวยังเป็นผู้สร้างและกองบรรณาธิการเพจ อย่ารอง และเพจ สื่อสาธารณะหมูหลุม ซึ่งทุกสเตตัสที่ออกมา รับประกันฮาครืนแน่นอน โดยเฉพาะช่วง บทสนทนาระหว่างความดาร์คกับความบักเสี่ยว น้องๆ กดไลน์แทบไม่มันเพราะลบสเตตัสเร็วมาก
ผลงานเชิงวรรณศิลป์ ได้เผยแพร่ผ่านวรรณกรรม ศึกวันแดงดูด หาโหลดอ่านได้ทั่วไปในเน็ตหรือสั่งได้ที่เพจอับดุลบุ๊ค
ผลงานต่อมาคือ งานอาร์ตบนเสื้อผ้า ในคอนเซ็ปต์ สื้อยืดต้านภัยนักท่องเที่ยว และ สินค้า กระตุ้นซอฟพาวเวอร์ อบต.นาซ่าว และอื่น ๆ อีกมากมาย
นอกจากนี้ พรี่โจวยังเป็นนักวิเคราะห์ฟุตบอล ที่ช่วงพี่ลิ หรือลิเวอร์พูลมักจะนอนเร็วไม่ค่อยได้ดูเลย ส่วนบอลไทยนี้วิเคราะห์ได้ลำเอียงเลย เพราะพี่โจวเทคไซส์อยู่ฝั่งท่านวรวีชัดเจนเดินไป
พรี่โจวเป็นนักปั้นอินพลูเอนเซอร์ หลายคน เช่น พี่ อ๋อ อาก้า อ.ธง ทองแดง จันฑาลสุด น้องไวท์น้อย นอกจากนี้พี่โจวยังชี้ให้สังคมเห็นศักยภาพของท้องถิ่นขนาดเล็ก เช่น ตำบลเสือเฒ่า ตำบลน่าซ่าว เป็นต้น
ผลงานหลายชิ้นพี่โจวไม่ได้ผลิตและจัดจำหน่ายเอง แต่มักจะเป็นน้องๆ ที่นำไอเดียพรี่โจวไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์
A : แต่เอ ทำใมพี่โจวถึงมีความเป็น “พรี่” อ่ะครับ
B : เอ่อ ช่างมันเถอะครับ
เขียนโดย: น้องอาร์ม
#13
คุณพี่อยู่จังหวัดอะไรค้าาาาา
ถ้าเราอ่านแค่ประโยค “คุณพี่อยู่จังหวะอะไรคะ” อาจจะนึกถึงน้ำเสียงไม่ออก แต่หากเราลองเห็นภาพที่คุณลีน่าจังกำลังตะโกนด้วยประโยคข้างต้นด้วยแล้ว ผู้อ่านคงจะเกิดจินตนาการถึงประโยคนี้ด้วยน้ำเสียงของคุณลีน่าจังที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความโกรธเกรี้ยวในระดับพ่นไฟ
เรื่องราวของประโยค “คุณพี่อยู่จังหวัดะไรคะ” คือการที่คุณลีนา จังจรรจาหรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ ลีน่าจัง ได้สอบถามผู้ชมที่โทรศัพท์เข้ามาพูดคุยในรายการเครื่องสำอาง ไฮโซลีน่า จากที่ผู้เขียนฟังบทสนทนาดังกล่าว จับใจความได้ว่า ผู้ชมโทรเข้ามาหาคุณลีน่าเพื่อปรึกษาปัญหาโทรทัศน์จานดาวเทียมที่ไม่สามารถรับชมได้ แต่เมื่อคุณลีน่าจังสอบถามเกี่ยวกับจังหวัดของผู้ชมที่โทรเข้ามาในรายการ ผู้ชมในสายกลับไม่ตอบ คุณลีน่าจังจึงเร่งเครื่อง [เสียง] เพื่อสอบถามอีกสองรอบแต่ผู้ชมในสายก็ยังคงไม่ตอบ ผู้เขียนคาดว่า คุณลีน่าอาจจะถามจนถึงจุดเดือดแล้วจึงได้ตะโกนออกไปว่า “คุณพี่อยู่จังหวัดอะไรค้าาาาา” พร้อมกับตอบคำถาม “คุณพี่โทรหาช่างจานดาวเทียม เอารีโมตมาจูนเลยค่ะ จูนหาสัญญาณ V3829 simulated 5259 แล้วคุณพี่ดึงปลั๊กออก ปลั๊กของจานดาวเทียม ดึงออกแล้วเสียบเข้าไปใหม่ เพราะสายที่อยู่หลังจอ บางทีมันอาจจะหลวม มันอาจจะไม่แน่น ดึงออกแล้วเสียบเข้าไปใหม่ค่ะ เพราะว่าของเรา มันดูชัดเจนค่ะ ไม่งั้นมันเครียด”2 หากใครที่มีปัญหารับชมรายการโทรทัศน์ดาวเทียมไม่ได้ ทดลองทำตามที่คุณลีน่าแนะนำดู จะได้ไม่เครียดดดดด
คุณพี่ของคุณลีน่าจัง เป็นการเรียกอีกฝ่ายว่า “พี่” เนื่องจากให้ความเคารพคู่สนทนาที่เราไม่เห็นหน้าค่าตากันมาก่อน ที่น่าสนใจคือ มีการเติมคำว่า “คุณ” เข้าไปด้วย ทำให้ดูสุภาพขึ้นไปอีกระดับ และยังให้ความรู้สึกคล้ายๆกับที่พี่ไรเดอร์เรียกผู้ใช้บริการว่าพี่ในบทความก่อนหน้านี้ “เราเป็นพี่กัน” แม้ว่าอารมณ์จะเดือดปุดๆแล้ว แต่การชิงเรียกอีกฝ่ายว่าพี่ไปก่อนก็เป็นเกราะป้องกันในเรื่องความเคารพและนับอีกฝ่ายว่าเป็นผู้อาวุโสกว่าไปเลย
วลีฮิตในตำนานนี้หวนคืนสู่โลกออนไลน์อีกครั้งเมื่อใหม่ ดาวิกา หยิบมาโคฟเวอร์3 แต่ที่เป็นตำนานไม่แพ้กันก็คือฉากหลังรูปสวนเคอเคนฮอฟ [Keukenhof] ของประเทศเนเธอแลนด์4 ถึงจะไม่มีคุณลีน่านั่งประจำอยู่ด้านหน้า แต่พอเห็นภาพนี้ ก็จะอดนึกถึงคุณลีน่าไม่ได้ทุกที
C.S. Peirce เคยกล่าวถึงการเห็นบางอย่างแล้วเราก็คิดประหวัดไปนึกถึงสิ่งนู้นสิ่งนี้ หรือการที่มนุษย์ได้รับ “ความหมาย” จากโลกรอบๆตัวจากการเห็น “สัญญะ” มันเกิดขึ้นมาได้เพราะสัญญะสามประเภท ได้แก่ icon หรือสัญญะที่คล้ายกับวัตถุโดยตรง มีคุณสมบัติจับต้องได้แบบเดียวกับวัตถุนั้น เช่น เมื่อเราเห็นรูปบุหรี่ ก็หมายถึงบุหรี่จริงๆ ส่วน index จะมีความสัมพันธ์โดยนัยกับสิ่งที่ต้องการจะสื่อสาร เช่น เมื่อเราได้ยินเสียงท้องร้องในโฆษณา นั่นสื่อถึงความหิวและสุดท้าย symbol ที่มักเป็นสัญญะที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่ายที่สุด เพราะตัวมันเองจะเชื่อมโยงความหมายเข้ากับวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมของสังคมนั้นๆ เนื่องจากแต่ละสังคมก็จะมีการสอนทั้งทางตรงและทางอ้อมให้แก่สมาชิกในสังคม ซึ่งคนนอกอาจจะไม่เข้าใจ5
ภาพสวนเคอเคนฮอฟนี้มาเป็นไวรัลอีกครั้งเมื่อ “นักเรียนเลว” นำมาใช้ในการชุมนุม #หนูรู้หนูมันเลว ซึ่งเป็นการชุมนุมที่มีเวทีกลางเป็นการดีเบตระหว่างตัวแทนนักเรียนเลว กับคุณณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมต. ศธ. ในขณะนั้น6 ภาพพื้นหลังที่ใช้ในการดีเบตทำเอาผู้ชมได้หวนรำลึกความหลังถึงทั้งคุณลีน่าจังและปัญหาอำนาจนิยมในโรงเรียนสมัยที่เราๆท่านๆยังเป็นนักเรียนกันอยู่
เขียนโดย: น้องน๊ะนก หัวยุกยิก
#14
พี่ๆ บอลเตะไหม
เรื่องสั้น
บรรยากาศเงียบเหงาของสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ผ่านพ้นไปไม่กี่เดือน ที่แห่งนี้เงียบเหงาไร้ผู้คน มีเพียงกลิ่นเลือดที่ฝนเดือนตุลายังชะล้างไปไม่หมด เด็กชายแสงดาวถามพี่ชายของเขา “พี่ ๆ บอลเตะไหม” ไม่มีคำตอบจากพี่ชาย
ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนเด็กชายแสงดาว เคยตามพี่ชายมาเตะบอลที่สนามแห่งนี้เป็นประจำ แต่ตอนนี้นักฟุตบอลที่เคยเล่นด้วยกันหายหน้าไปหมด บ้างถูกจับตอน 6 ตุลา บ้างหนีเข้าป่า เหลือเพียงเขาและพี่ชาย
6 ตุลา ไม่ใช่ครั้งแรกที่เหตุการณ์ทางการเมืองแรกเข้ามาปะทะชีวิตเขา ตอนเด็กชายแสงดาวอยู่ชั้น ป.5 เขาก็เคยเห็นเหตุการณ์ 14 ตุลา มาแล้ว เพียงแต่ยังไปประสีประสาเท่าตอนนี้ เขาอยู่ป.7 แล้ว พอจะเข้าใจเรื่องราวของบ้านเมืองมากกว่าก่อนหน้านี้
หลังจากจบชั้น ป.7 แสงดาวสนใจแนวคิดทางการเมืองของฝ่ายซ้ายมากขึ้น จากที่พี่ชายพูดถึงเรื่องการเข้าป่าอยู่บ่อยครั้งหลังนักฟุตบอลในก๊วนของพี่ชายหนีเข้าป่าไป เขาเข้าร่วมขบวนการจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ร่วมงานในฐานะสมาชิกพรรค แต่แล้วเขาก็ถูกการเมืองพัดพาชีวิต หลังจากเหล่านักศึกษาออกจากป่า แสงดาวก็ถูกชะตาพาชีวิตของเขาให้มาตกล่องปล่องชิ้นอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งเหตุการณ์ พฤษภา 35 การรัฐประหาร 2 ครั้ง คือ ครั้งแล้วกับครั้งเล่า ตั้งแต่ปี 2535 จนถึง 2557 เขาทำงานอยู่ที่ธรรมศาสตร์ พบปะนักวิชาการ นักศึกษา และนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตย เรียกได้ว่าเป็นผู้กว้างขวางในธรรมศาสตร์ ความสนใจทางการเมืองของเขาไม่เคยเปลี่ยน ตั้งแต่เป็นเด็กชายแสงดาว ชั้น ป.7 จนกระทั่งถึงวัยใกล้ปลดเกษียณ เขาแทบไม่เคยพลาดงานเสวนาที่ชวนถกเถียงความคิดทางการเมือง เกือบทุกวัน เขาสนทนาเรื่องการเมืองกับเหล่านักศึกษาและอาจารย์ ถกเถียงกันจนกระทั่งเหล่าปัญญาชนยกให้เขาเป็น “พี่”
อีกไม่กี่วัน ก่อนเขาจะกลายเป็นอดีตพนักงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขายืนมองสนามฟุตบอล สถานที่ที่เขาเคยมาเตะบอลกับพี่ชาย เวลาไหลเอื่อยเป็นสายน้ำ เขาได้ยินเสียงดังมาจากด้านหลัง “พี่ ๆ บอลเตะไหม”
“ผมรอมา 45 ปี เพื่อที่จะมีใครสักคนมาถาม….” แสงดาวเอ่ยกับนักศึกษาหนุ่ม
—— มอบให้พี่วิชัย แสงดาวฉาย ผู้เฝ้าดูการเติบโตของนักศึกษาและประชาธิปไตยมาทุกยุคสมัย
ส่งท้าย อธิบายความ “พี่ ๆ บอลเตะไหม”
“พี่ ๆ บอลเตะไหม” ประโยคคำถามสุดแสนจะธรรมดาที่ดูเหมือนว่า ผู้ถามจะต้องการให้ผู้ถูกถามตอบว่า เตะหรือไม่เตะ คำว่า “เตะ” ในที่นี้เป็นภาษาในวงการฟุตบอลที่หมายความว่าวันนี้มีฟุตบอลเตะไหม หากแต่ประโยคคำถามนี้เมื่อมาอยู่ในบริบทของสังคมนักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตย จะหมายถึงการพาดพิงเหล่านักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตยชายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายซ้าย แฝงตัวเข้ามาในขบวนการนักกิจกรรมเพื่อประโยชน์มุ่งหวังบางประการ จนท้ายที่สุดเกิดการทำร้ายร่างกายขึ้น และจากกรณีดังกล่าว ทำให้เกิดสมมติฐานว่า กลุ่มนักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตยเป็นพวกชอบ “เตะเมีย”
เมื่อเกิดกรณีการทำร้ายร่างกายขึ้นในหมู่นักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตย ก็มีจะพูดถึงเหตุการณ์เหล่านั้นโดยใช้ประโยคคถามเชิงอุปมาอุปไมยล้อเลียนว่า “พี่ ๆ บอลเตะไหม” บางครั้งก็อาจจะใช้คำว่า “รับประชาธิปไตยสักหน่อยมั้ยครับ”
เขียนโดย: มาโนช ฮอล จอมซน
#15
แต่วันนี้ถือว่าไม่เป็นรุ่นพี่ผม
กลายมาเป็นกระแสอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อการอภิปรายในสภาเกิดการปะทะคารมกันระหว่าง “พี่น้องสองตู่” ได้แก่ ตู่ผู้พี่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีตนักเรียนเตรียมทหารุ่น 8 และ ตู่ผู้น้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 ซึ่งในขณะนั้นตู่ผู้พี่เป็น สส. ป้ายแดง ส่วนตู่ผู้น้องก็เป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง [มั้ง] ป้ายแดงเช่นกัน
การปะทะกันครั้งนี้เริ่มจากความที่ตู่ผู้พี่อภิปรายอย่างดุเดือด อันเนื่องมาจากตู่ผู้น้องนั้นรัฐประหาร ยึดอำนาจทำลายระบอบประชาธิปไตย ถึงขั้นที่ตู่ผู้พี่ระบุว่าในวันรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 “ถ้ามีผมอยู่ด้วย จะยิงกบาลประยุทธ์ทันที เพราะมันคือกบฏ” คำพูดเช่นนี้จากรุ่นพี่ อย่าว่าแต่ชาวบ้านร้านตลาด เด็กช่าง นักเลงทั่วไปที่ฟังแล้วจะเกิดอาการน้อยใจเลย นี่เป็นถึงรุ่นพี่รุ่นน้องจากโรงเรียนเตรียมทหาร คลาน [ลอดลวดหนาม] ตามกันมาแท้ ๆ มาพูดแบบนี้ย่อมทำให้เจ็บช้ำน้ำใจกันแน่นอนอยู่แล้ว สุดท้ายตู่ผู้น้องถึงกับลุกขึ้นระบายความรู้สึกเสียใจว่า
“ผมกับท่าน รู้จักกันมานานแล้วนะครับ แต่งงานก็วันเดียวกัน สมรสพระราชทานมาด้วยกัน เป็นรุ่นพี่ผม แต่วันนี้ถือว่าไม่เป็นรุ่นพี่ผม เพราะท่านไม่ให้เกียรติ ท่านบอกว่าจะชักปืนยิงผมตั้งแต่วันโน้น ถ้าท่านชักปืนยิงวันนั้นท่านก็ติดคุก เหรียญรามาฯ ท่านได้ ผมก็ได้ แต่ผมไม่เคยคุย ไม่เคยไปแอบอ้าง ผลงานต่างๆ ผมมีมากมาย พูดจาหยาบคายอวดอ้างอำนาจ ท่านไปทบทวนของท่านเอง”
คำพูดของตู่ผู้น้องคงสะท้อนความรู้สึกถึงความผูกพัน และความเป็น “รุ่นพี่ รุ่นน้อง” ภายใต้ระบบ SOTUS ที่นับความอาวุโสเป็นสำคัญได้เป็นอย่างดี และโดยเฉพาะ “คนมีสี” ที่มีคติประจำใจที่ว่า “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” การพูดว่าจะชักปืนยิงน้องนี่นอกจากทำร้ายจิตใจน้องแล้ว ยังถือว่าไม่ทำตามครรลองของคติประจำใจด้วย [ผิดเรื่องฆ่าน้อง] นอกจากนี้ตู่ผู้น้องยังพูดถึงความสัมพันธ์ที่นอกเหนือไปจากการเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง นั่นคือมีวันสำคัญในชีวิตที่ตรงกันอีก ทั้งการแต่งงานวันเดียวกัน และเป็นการสมรสพระราชทานด้วย ซึ่งคงอยากให้พี่ตู่ระลึกถึงความสัมพันธ์กับน้องตู่ในแง่โรแมนติคนี้เอาไว้ด้วย ไหนจะศักดิ์และศรีที่ได้รับพระราชทานเหรียญรามาฯเหมือนกันอีก และอาจจะด้วยเหตุนี้ ราวกับว่าคำพูดของตู่ผู้น้องจะทำให้ตู่ผู้พี่จะย้อนคิดถึงความสำคัญของการเป็นพี่น้องอยู่ เมื่อสื่อมวลชนถามอีกครั้งภายหลังการประชุมสภาในวันนั้นจบลงว่ารู้สึกอย่างไร ตู่ผู้พี่จึงตอบด้วยเสียงที่สั่นเครือคล้ายจะร้องไห้ว่า “ผมก็เสียใจนะ เสียน้องไปคนหนึ่ง ต้องกลับบ้านร้องไห้แล้ว”
การทะเลาะเบาะแว้งกันของพี่น้องรุ่น 8 และรุ่น 12 ออกจะตึงเครียดสะเทือนใจน้ำตาไหล ถือเป็นการวางตัวไม่เหมาะสม ต่างจาก “พี่ใหญ่” ตัวจริงที่วางตัวได้ดี และสามารถธำรงระบอบ SOTUS ให้แข็งแรงด้วยการอุปถัมภ์น้อง ๆ ทั้งหลาย ซึ่งพี่ใหญ่คนนี้คงหนีไม่พ้น “พี่ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 6 ที่เมื่อมีใครมาถามถึงปมขัดแย้ง หรือปัญหาต่าง ๆ ก็ตอบเพียงว่า “ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้” โดยไม่แพร่งพรายปัญหาภายในให้ใครทราบ สงบเงียบดั่งแม่น้ำแยงซีที่รี่ไหลไปสู่ทิศบูรพา [พยัคฆ์] สมดังคติที่ว่า “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน [เพราะ] ไม่รู้”
เขียนโดย: น้องโน้ต
#16
พี่หลวง
วันดีคืนดีระหว่างนั่งคุยเล่นอยู่หน้าโต๊ะประจำที่คุณแสงดาวฉายนั่ง ประโยคแนว “เป็นสมัยก่อนผมเตะเลยนะ” บางครั้งอาจเป็น “คุณเชื่อไหม ผมนี่ท้าชกเลยนะ” นี่คือบทสนทนาแบบแรนด้อมที่เจอในวันปกติที่คุณอาจจะเข้าไปถามแค่ว่า กินไรยังพี่ ก่อนจะมีอีก 10 เรื่องตามมาทั้งจริงจังและคุยเล่น
ปกติแล้วคำว่า หลวง ในภาษาใต้จะถูกเอาไว้ใช้เรียก คนที่ผ่านการบวชเรียนเป็นพระ แต่หากเวลาเรียกกันจริง ๆ แล้ว หลวงจะถูกใช้เป็น suffix เอาไว้ขยายว่าบรรดาพวกคำเรียกความสัมพันธ์ที่อาวุโสกว่า เช่น พี่หลวง หรือ น้าหลวง คนนั้น ๆ ที่เราเรียกผ่านการบวชเรียนมาเรียบร้อย แม้คุณแสงดาวฉายจะเป็นคอมมิวนิสต์ผู้ไม่เชื่อในศาสนาแต่มีข่าวลือเล่าอ้างว่า กลัวผี อาจดูไม่เหมาะกับคำนี้ แต่ในอีกบริบท พี่หลวง ถูกใช้เรียกคนที่เราให้เกียรติ/ยกย่อง หากคุณแสงดาวฉาย อยู่มหาวิทยาลัยทางใต้ จากพี่วิชัย อาจจะได้กลายเป็น พี่หลวงหรือหลวงวิชัย แทนที่ทุกคนจะเรียกเขาว่า พี่วิชัย
ด้วยประสบการณ์ที่มากกว่าใครหลายคนในมหาวิทยาลัย ว่ากันว่า หากติดขัดอะไรให้บอกหลวงวิชัยได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะมีปัญหากับทางคณะ อาจารย์ หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยเขาสามารถจัดการด้วยการพูดคุย เพียงไม่นาน ถ้าไม่ติดลมกันเสียก่อน และเรื่องราวตำนานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยที่เขาเข้าไปเกี่ยวข้อง หากใครไม่คุ้นเคยกับหลวงวิชัยแล้ว คำพูดหรือประโยคที่มักจะต่อท้ายอย่างที่ย่อหน้าแรกยกตัวอย่างมา อาจจะถูกมองว่าเป็นคน “ทำพี่หลวง” หรือหากให้แปลง่ายที่สุดน่าจะตรงกับคำว่า ทำเป็นเก่ง แต่อันที่จริงแล้วจากแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นผ่านเรื่องเล่าที่ได้ฟังมาจากพี่วิชัยเป็นการอธิบายสิ่งที่ไม่น่าจะมีเหตุผลรองรับได้อย่างระบบราชการไทยให้ดูมีเหตุผลขึ้นมาทันที ความเก่งกาจนี้ทำให้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหรือหลายครั้งก็เกิดขึ้นไปแล้วสามารถคลี่คลายได้โดยง่ายผ่านชายผู้นี้
พี่วิชัย จึงไม่ใช่คนทำพี่หลวง เหมือนที่เขาชอบเล่าตัวเองออกมาแบบทีเล่นทีจริง แต่เขาคือ พี่หลวง ตัวจริงที่ช่วยนักศึกษาและอาจารย์มาหลายทศวรรษ
เขียนโดย: น้องกิต
- Read, Dwight W. [2001] . Anthropological Theory “Formal analysis of kinship terminologies and its relationship to what constitutes kinship”. Anthropological Theory 1 [2]P 239–267. ↩︎
- ตำนานคุณพี่อยู่จังหวัดอะไรคะ – ลีน่าจัง ดูได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=TigbFYa6l4c ↩︎
- ใหม่ ดาวิกา เอาฮาลิปซิ้ง ลีน่าจัง กับวลีเด็ดในตำนาน “คุณพี่อยู่จังหวัดอะไรคะ” ↩︎
- ทำความรู้จัก สวนเคอเคนฮอฟ สวนดอกไม้สุดยิ่งใหญ่ ที่คนไทยเราต้องคุ้นตา https://www.sanook.com/campus/1414587/ ↩︎
- Nöth, Winfried. Charles S. Peirce’s Theory of Information: A Theory of the Growth of Symbols and of Knowledge in Cybernetics and Human Knowing. Vol. 19, nos. 1-2, pp. 137-161 ↩︎
- “ณัฏฐพล” ขึ้นเวทีนักเรียนเลว พร้อมรับฟัง ลั่น ปัญหาซุกใต้พรมต้องลากออกมาhttps://www.thairath.co.th/news/politic/1924692 ↩︎
เกี่ยวกับผู้เขียน
น้องๆ
น้องๆ ที่ได้ใช้ช่วงหนึ่งของชีวิตเข้าๆ ออกๆ ห้องโครงการบัณฑิตศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ ร่วมกันเขียน blog ตอนพิเศษเนื่องในวาระเกษียณอายุราชการของ 'พี่วิชัย'