Skip to content

ทบทวนมโนทัศน์ว่าด้วย ‘พี่’ ในสังคมไทยร่วมสมัย #1

#0

“ก่อนจะอำลา น้องๆ Soc-Ant ของพี่ น้องเอ๋ยโปรดฟังให้ดี

คำเตือนของพี่นี้มาจากใจ พี่ห่างเพียงตัว หัวใจพี่นี้อยู่ใกล้ ถึงแม้พี่จะห่างไกล มิใช่ว่าใจพี่จะห่างตาม…”

โดย: ไพรวัลย์ ลูกแครส

#1

เราคือพี่กัน

สังคมไทยได้ดำเนินมาถึงจุดที่คนต่างฝ่ายต่างเรียกกันว่า “พี่” อย่างไม่ลดราวาศอก  ในสถานการณ์เผชิญหน้ากันอย่างอิหลักอิเหลื่อของคนแปลกหน้าในร้านสะดวกซื้อ หรือการส่งสินค้าจากแพล็ตฟอร์มออนไลน์โดยเหล่าไรเดอร์ แม้เราจะเรียกพี่กลับไป เขาจะยังคงเรียกเราว่าพี่กลับมา ไม่มีใครยอมรับสถานะ ‘พี่’ อีกต่อไป อย่างไรก็ดีการตอกย้ำว่าอีกฝ่ายเป็นพี่ ก็ไม่ได้ทำให้ใครกลายเป็น ‘น้อง’ ขึ้นมา ทว่านำมาสู่ความสัมพันธ์แบบ ‘เราคือพี่กัน’ 

การเลือกใช้คำสรรพนามเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนไทย ในความสัมพันธ์แบบเครือญาติ คำเรียกมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนเสมอ เช่น เรียกพี่ชายของพ่อว่า ‘ลุง’ ’แต่ในกรณีของคนแปลกหน้า คนไทยต้องประเมินกันอย่างรวดเร็วว่าจะเรียกอีกฝ่ายว่าอะไร สำหรับคนที่ต้องพบปะคนแปลกหน้าจำนวนมาก ปัญหานี้ถูกแก้ด้วยการจัดวางความสัมพันธ์ที่ตัดปัญหาอายุและเพศทั้งหมดไปเช่น เรียกทุกคนว่า ‘คนไข้’ หรือ ‘ลูกค้า’ เท่าๆ กันทั้งหมด ‘พี่’ ก็ตอบโจทย์นี้เช่นกัน

สรรพนาม ‘พี่’ ยังมีนัยในเชิงให้เกียรติผู้ถูกเรียกว่ามีอาวุโสกว่า แต่ก็ไม่อาวุโสจนเกินไป สื่อถึงการชื่นชมว่ายังคงกระฉับกระเฉงกระชุ่มกระชวยซึ่งเป็นไปได้มากว่าใช้ได้ดีเป็นพิเศษกับเพศชาย เช่นในเพลง ‘เรียกพี่ได้ไหม’ ที่ครูชลธี ธารทองแต่งให้เสรี รุ่งสว่างร้อง “เรียกลุงเรียกตาทีไร หัวใจแทบวาย แทบหมดความหมายของชายชาตรี” แม้แต่ประยุทธ์ จันทร์โอชาซึ่งยินดีกับการถูกเรียกว่า ‘ลุง’ มาตลอดระยะเวลา 9 ปี ยังต้องขอเปลี่ยนสรรพนามตัวเองเป็น ‘พี่’ ในการหาเสียงช่วงเลือกตั้งเมื่อต้นปี 25661

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะชอบให้เรียกพี่ สำหรับคนวัยหนุ่มสาว การถูกคนที่ดูเหมือนจะมีอายุมากกว่าเรียกพี่ฟังดูเป็นการกล่าวหาว่าเรามีอายุ แต่ในมุมของคนค้าขายและทำงานบริการซึ่งมักเป็นฝ่ายจู่โจมก่อน การชิงเรียก ‘พี่’ ถือว่าเป็นการ ‘ปลอดภัยไว้ก่อน’ คนที่ความจริงแล้วอายุน้อยกว่าเรา อย่างมากก็เอาไปโพสบ่นในโซเชียลมีเดียสักแห่ง แต่ไม่ถือเป็นเรื่องราวผิดมารยาทใหญ่โต ดังนั้นแม้จะใช้ไม่ได้ 100% แต่การใช้คำนี้ก็มีนัยแบบที่คำว่า ‘ลูกค้า’ ทำไม่ได้

การออกตัวว่าเป็น ‘น้อง’ เป็นการกดปุ่มเปิดเกราะบรรทัดฐานทางสังคมที่สั่งสอนกันมาว่า ‘คนเป็นพี่ต้องดูแลน้อง’ ‘ต้องเสียสละให้น้อง’ ฯลฯ การทำงานผิดพลาดไปบ้าง ล่าช้าไปบ้าง ภายใต้สภาพการทำงานที่คาดคั้นให้แรงงานต้องเร่งทำรอบ ทำงานควงกะ รับภาระรอบด้านแต่ค่าจ้างเท่าเดิม การออกตัวว่าเป็นน้องจึงอาจมีนัยของการขอให้ ‘เอ็นดูผมเถอะ’ หรือสื่อว่า ‘พี่เห็นใจผมหน่อย’ ไปในคราวเดียวกัน

เขียนโดย: เต่า ฟอนต์ซิ่ง

#2

พูดได้ไหมพี่จี้

ในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าชาวเน็ตโดยเฉพาะชาวต๊อกต๊อก [ติ๊กต๊อก] ต้องเคยเห็นหรือได้ยินแบบทดสอบแห่งชาติชุดนี้และอาจจะมีไปลองถามเพื่อน พี่ น้อง ที่เป็นชายแท้แมนๆเตะบอลกันบ้าง

image

ซึ่งเราจะไม่เฉลยทั้งหมด เพราะเฉลยก็มีอยู่ทั่วไปในโลกโซเชียล2 แต่มีข้อหนึ่งที่น่าจะเกี่ยวกับมโนทัศน์ว่าด้วยพี่ในสังคมไทย นั่นคือ “พูดได้ไหม____” ซึ่งประโยคเต็มก็คือ “พูดได้ไหมพี่จี้” ไม่ใช่แค่ชายแท้ทั่วไปที่งงว่าพี่จี้คือใคร3 แม้แต่พี่หนุ่มกรรชัยก็งง4

พี่จี้ หรือป้าจี้ จารุชา เป็นแฟนนางงามที่ถูกชาวเน็ตอวยยศให้เป็นกูรูนางงามในเวลาถัดมาพร้อมกับ แอนนา ทีวีพูล เนื่องจากพี่จี้และแอนนา ได้ไลฟ์รีแค็ปนางงามหลากหลายเวที ด้วยจริตกะเทยดูนางงามและการพูดฟีลเพื่อนสาวเม้ามอยข่าวนางงามแบบคนวงใน ทำให้แอนนาและพี่จี้เป็นที่รู้จักในหมู่คนดูการประกวดนางงาม ความสัมพันธ์ของพี่จี้กับแอนนา ดูเหมือนว่าจะเป็นคล้ายๆกับพี่สาวน้องสาว ตามสถานะที่แอนนาเรียกพี่จี้ว่า “พี่” แต่กระนั้น แอนนาก็จะมีจิกกัดพี่จี้บ้างตามประสา ด้วยความที่แอนนาเคยเป็นพิธีกรรายการทีวีพูล และมักเป็นพิธีกรหลักของการไลฟ์ ทำให้แอนนามักจะเป็นคนนำบทสนทนาและมีพี่จี้เป็นลูกคู่อยู่ด้านหลัง แต่ก็มีครั้งหนึ่งที่แอนนาถามพี่จี้ด้วยน้ำเสียงไม่มั่นใจ เพราะต้องพูดถึงการเกาเหลากันในหมู่นางงามว่า “พูดได้ไหมพี่จี้” และพี่จี้ก็ตอบว่า “พูดเลยแอนนา”5

image

ขโมยมาจาก พี่จี้ว่าไง พูดได้ไหมพี่จี้ : ช่อง 8 คว้า “แอนนา – พี่จี้” แจม “ปอบผีเจ้า ภาค2” https://pantip.com/topic/40004401

มีผู้ให้คำจำกัดความไว้ว่า พูดได้ไหมพี่จี้ คล้ายคลึงกับสำนวนไทยที่ว่า น้ำท่วมปาก6 ส่วนในพจนานุเกรียน เว็บไซต์รวมคำศัพท์เกิดใหม่ที่บอกว่าตัวเองเป็นเว็บคลังคำศัพท์สแลงและภาษาวิบัติที่ใครก็แก้ไขได้ นิยามสำนวนนี้ในความหมายว่า พูดได้จริงเหรอ พูดได้ไหม7 ซึ่งให้คำจำกัดความคล้ายกับเว็บ https://slang.in.th8 ผู้เขียนคิดว่า คำถามประเภทนี้คล้ายๆกับคำถามของคุณป้าจิตที่ถามพี่หนุ่ม กรรชัยในรายการโหนกระแสว่า “[ป้า]พูดได้ไหม” แล้วพี่หนุ่มบอกว่า “อ่ะพูดไป”9 หรือ ตำนานผีโคกะโหลก ที่พี่ช่างแต่งหน้าท่านหนึ่งที่มาเล่าเรื่องผีในรายการเดอะช็อค แล้วถามพี่ป๋องหรือพ่อป๋อง พิธีกรรายการเดอะช็อคว่า “เอ่อ… พูดได้ใช่มั้ยฮะพี่ป๋อง” พอพี่ป๋องตอบกลับไปว่า “พูดได้สิครับ”10 แน่นอนว่า หลังจากได้รับการอนุญาตจากพิธีกร ทั้งป้าจิตและพี่ช่างแต่งหน้าก็พูดบางอย่างออกมาจริงๆ

ด้วยพลังของชาวต๊อกต๊อกและการทำงานของอัลกอรึทึ่ม รวมไปถึงจังหวะโบ๊ะบ๊ะของทั้งป้าจิต พี่ช่างแต่งหน้า และแอนนากับพี่จี้ คลิปที่ว่าทั้งหมดก็ไวรัลทันทีในชั่วข้ามคืน แต่วลีพูดได้ไหมพี่จี้ ดูเหมือนจะไปไกลกว่าวลีในหมวดเดียวกัน เพราะแอนนาได้ต่อยอดความปังด้วยการนำคำว่า พูดได้ไหมพี่จี้ เปิดเพจเฟสบุ๊คทำรายการไลฟ์รีแค็ปวิเคราะห์นางงามในเวลาถัดมา แม้ว่าเพจพูดได้ไหมพี่จี้และได้รันวงการกูรูนางงามจนมีชื่อเสียงถึงกับมีสปอนเซอร์เข้า แต่ทั้งแอนนาและพี่จี้ก็ได้ปิดตำนานไลฟ์รีแค็ปนางงามไปเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ปี 256411 เหลือไว้เพียงการต่อบทของสองคนที่เป็นตำนานและยังคงถูกใช้เรื่อยมา

ผู้เขียนเห็นว่า คำว่าพูดได้ไหมพี่จี้ อาจจะไม่ตรงกับสำนวนไทยน้ำท่วมปากนัก เวลาที่เราถามว่า “พูดได้ไหมพี่จี้” นอกจากจะเป็นการ “ต่อบท” ไปเรื่อยไปเปื่อยที่รู้กันในหมู่เพื่อนฝูง มันยังแฝงไปด้วยความรู้สึกของการอยากพูดหรือเล่าอะไรบางอย่างมากๆ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะพูดหรือเล่าสิ่งนั้นดีไหม คำถามหรือคำพูดหรือการระบายความรู้สึกของเรา มันจะตลกหรือดูเสร่อหรือเปล่า เราในฐานะคนพูดอาจจะต้องการกำลังใจ หรือต้องการการยืนยันว่า เราพูดได้หรือทำได้ เราอาจจะต้องการใครก็ตามที่อยู่ข้างหลัง คล้ายๆกับที่พี่จี้มักจะอยู่หลังแอนนาเสมอในตอนไลฟ์รีแค็ปนางงามคู่กัน ในสังคมที่พยายามสร้างปัจเจกขึ้นมา หลายครั้งเรากลับต้องการใครสักคนมาคอยซัพพอร์ตกันในยามที่เราลังเลสงสัยและเกิดคำถามกับตัวเอง แม้ว่าพี่จี้กับแอนนาจะประกาศเลิกไลฟ์รีแค็ปนางงามคู่กันไปแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่า หากเราลองทบทวนชีวิตที่ผ่านมา เราทุกคนล้วนเคยเป็นพี่จี้ของใครสักคน และเราทุกคนล้วนมีพี่จี้เป็นของตัวเอง

เขียนโดย: น้องน๊ะนก หัวยุกยิก

#3

พี่กัลนมแม่

การเลี้ยงเด็กทารกคนหนึ่งในสังคมสมัยใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย ชุดความรู้และความเชื่อโบราณที่มีมาได้ถูกวิทยาศาสตร์ผลักไล่ให้หลบฉากออกไปจากโลกของการเลี้ยงทารก ขณะที่แม่ของคุณเองก็ลืมๆ ไปแล้วเหมือนกันว่าการเลี้ยงเด็กอ่อนต้องทำอย่างไรบ้างเพราะนั่นก็เป็นเรื่องของเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว เมื่อคุณออกจากโรงพยาบาลกลับมาอยู่กับเด็กตัวจ้อยโดยลำพัง ความตระหนกก็เริ่มต้นขึ้น ต้องให้กินนมยังไงนะ? กินเท่าไหร่? ผูกผ้าอ้อมยังไง? แล้วนี่นอนยาวต้องปลุกมากินนมมั้ย? จะดูยังไงว่าตัวเหลืองรึเปล่า? สารพัดคำถามถาโถมเข้ามาพร้อมความกลัวสุดขั้วหัวใจว่าคุณจะเลี้ยงเจ้าก้อนที่แสนเปราะบางนี้รอดไหม? และดูเหมือนว่าคุณไม่สามารถพึ่งพาใครได้เลยในสถานการณ์นี้

ในจังหวะนั้นเอง ‘พี่’ คนหนึ่งก็ปรากฎตัวขึ้น เป็นแสงสว่างวาบขึ้นมาจากแอปยูทูปในหน้าจอมือถือท่ามกลางห้องมืดมิด

สุภาษิตยอดนิยมที่ว่า “เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน” อาจพอจะเทียบเคียงเป็นความหมายในเชิง ‘สวัสดิการสังคม’ ในปัจจุบัน แต่ในแง่ของการ ‘ดูแล’ ในชีวิตประจำวัน เราจะพบว่า ‘หมู่บ้าน’ อาจพยายามเอากล้วยน้ำว้ามายัดปากลูกเรา เอาเหล้ามาป้าย ไปจนถึงเอาเขียดมาตบปาก พ่อแม่สมัยใหม่อาจเลือกที่จะหนีไปจากหมู่บ้านนี้มากกว่า แต่ก็ไม่รู้จะหนีไปพึ่งใคร ปัจจุบันจึงมีพยาบาลวิชาชีพหลายคนผันตัวมาทำคอนเทนท์สอนความรู้พื้นฐานในการดูแลเด็กอ่อน หนึ่งในนั้นคือ ‘พี่กัลนมแม่’ ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 2.7 แสนคน

หมู่บ้านยูทูปขนาดใหญ่ดึงดูดให้สินค้าเด็กอ่อนต่างๆ เข้าหา ‘อินฟลูเอ็นเซอร์’ ด้านการเลี้ยงเด็กเหล่านี้ เราจะเห็นการโฆษณาสินค้านานาชนิดทั้งที่แนบเนียนและไม่แนบเนียนแทรกไปกับเนื้อหาต่างๆ เป็นปกติ แน่นอนว่าสินค้าเหล่านี้มีประโยชน์และช่วยให้การดูแลง่ายขึ้น แต่ถึงที่สุดแล้วพ่อแม่ก็จึงทำได้เพียงหนีจากอิทธิพลของหมู่บ้านหนึ่ง มาเจอกับอิทธิพลของอีกหมู่บ้านที่สร้างแรงกดดันในการเลี้ยงเด็กให้ดีอีกแบบ และเป็นแบบที่คุณต้องหาเงินมาซื้อคุณภาพการดูแลที่ดีให้กับเจ้าตัวน้อยของคุณไม่จบไม่สิ้น

เขียนโดย: เต่า ฟอนต์ซิ่ง

#4

นกอยู่ข้างพี่ตานะคะ

โลกยุคอินเตอร์เน็ตปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยมีมมากมาย และเกิดมีมใหม่อยู่เสมอ ท่ามกลางพายุมีมอันบ้าคลั่งทั่วทุกแห่งหน ชาวเน็ตไทยส่วนต่างเคยผ่านตามีม “นกอยู่ข้างพี่ตานะคะ” ด้วยรูปภาพหญิงสาวแก้มป่องในกิริยาตาโต ยิ้มแบบไม่จริงใจ แม้จะไม่มีตัวอักษรใดๆ ประกอบภายในภาพ แต่ชาวเน็ตก็รับรู้ความหมายภาพได้พร้อมเพรียงกัน โดยนำมาใช้เสียดสีได้หลากหลายบริบท รวมถึงสร้างอารมณ์ขันกันภายในกลุ่มได้อย่างดี เหตุใดวลีดังกล่าวจากละครเรื่อง แรงเงา พ.ศ. 2555 ซึ่งรับบทโดย จอย ชลธิชา กลายเป็นมีมอมตะค้างผืนฟ้าแห่งโลกอินเตอร์เน็ตไทยที่ไม่มีสิ้นสุด แม้ละครชุดนี้จะจบลงไปเป็นสิบปีแล้วก็ตาม

“นกเคยพูดร้ายๆ กับพี่ตา แต่จริงๆ แล้วนกอยู่ข้างพี่ตานะคะ” นก รัชนก พูดด้วยน้ำเสียงอ่อนหวานกับบุคคลที่เธอเรียกว่า “พี่” ด้วยนิสัยประจบประแจงตลบตะแลงทำให้การเรียก “พี่ตา” ของเธอนั้นเต็มไปด้วยความน่าเคลือบแคลง หนูนกในละครแรงเงาเป็นตัวละครที่เกิดขึ้นมาใหม่ ไม่มีอยู่ในบทประพันธ์เดิม รัชนกเป็นพนักงานชั่วคราวในที่ทำงานเดียวกันกับนางเอก ทำหน้าที่ตีสนิทกับนางเอกและไปรายงานให้หัวหน้า รวมถึงใช้หน้าตาแบ๊วใสหลอกล่อชายหนุ่มในเรื่องอีกด้วย ในแต่ละครั้งที่ตัวละครนี้ออกมา แฟนละครจะต้องจับตามองว่า แม่นางคนนี้จะต้องทำอะไรร้ายกาจหรือใช้วาจาปั่นประสาทนางเอกและตัวละครอื่นอีกหรือไม่ ดังนั้นน้ำเสียงอ่อนหวานที่เอื้อนเอ่ยคำว่า “พี่” ในแต่ละครั้งของเธอช่างไม่ตรงกับความหมายทั่วไปของคนไทยที่นิยมเรียกผู้ที่อาวุโสกว่า แฝงไปด้วยความเคารพหรือตำแหน่งเชิงสังคมที่ต้องการสือว่าบุคคลนั้นอยู่เหนือกว่า

ตัวละครหนูนกไม่เหมือนนางร้ายกรี๊ดกร๊าดตบกระจายแบบที่คอละครไทยคุ้นเคยกัน อย่างไรก็ตามคนดูสามารถ “อิน” หรือเชื่อมโยงเข้ากับชีวิตจริงได้ไม่ยาก จึงกลายเป็นที่มาของมีมนกอยู่ข้างพี่ตาให้ได้ใช้กันทั่วโซเชียลมีเดียไทย กระแสมีมโด่งดัง นิยมนำมาใช้ในบริบทเสียดสีประชดประชัน คล้ายกับจะให้กำลังใจแต่ก็รอซ้ำเติมอยู่กลายๆ หรือในทำนองต่อหน้ารักเพื่อนแต่ก็แอบไปแกล้งหยิกหลัง จนกระทั่งเกิดเป็นบทความทางอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับตัวละครหนูนกมากมาย โดยเฉพาะวิธีการรับมือกับคนแบบน้องนก ไปจนถึงเกิดกระทู้คำถามที่มาของวลีดังตามเว็บบอร์ดชื่อดังอย่าง Pantip ว่า “”พี่ตา” กับ “น้องนก” คือใครคะ” พฤติกรรมของตัวละครนกที่ใกล้เคียงกับสำนวนไทยว่า “นกสองหัว” ตามความหมายของ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ว่า คนที่ทำตัวฝักใฝ่เข้าด้วยทั้ง 2 ฝ่ายที่ไม่เป็นมิตรกันโดยหวังประโยชน์เพื่อตน 

ด้วยเหตุนี้มีม “นกอยู่ข้างพี่ตานะคะ” ช่างเข้ากับสถานการณ์ชีวิตของใครหลายคนเหลือเกิน เราอาจมีนกที่มาในรูปแบบเพื่อนร่วมชั้นเรียน เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ แม้ว่าละครจะฉายไปนานแล้วแต่ตัวละครนกและพี่ตายังใช้ได้อยู่เสมอ ทั้งนี้เราอาจเคยเป็นทั้ง “หนูนก” และ “พี่ตา” ในมุมมองของใครหลายๆ คนก็เป็นได้ สุดท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้ผู้อ่านทุกท่าน “นกอยู่ข้างพี่ตาเสมอนะคะ”

เขียนโดย: น้องอ้อม

#5

พี่เบิร์ด น้าค่อม และสมเจียม

หากไม่บอก หลายคนอาจไม่รู้ว่า พี่เบิร์ด, น้าค่อม และสมเจียมนั้นเป็นคนที่เกิดในปีเดียวกัน [พ.ศ.2501] และถึงแม้ไม่ได้กรีดเลือดสาบานในสวนท้อ เรื่องราว และชื่อเสียงของบุคคลทั้ง 3 นั้นก็ขจรขจายไปไกลในเส้นทางของตัวเอง

“พี่เบิร์ด” มีชื่อจริงว่า ธงไชย แมคอินไตย์ เป็นศิลปินอมตะที่เส้นทางชีวิตผ่านยุคผ่านสมัยมาอย่างยาวนาน นานแค่ไหนลองไลน์ไปถามพ่อ หรือแม่คุณดูก็ได้ ซึ่งนับว่ายากที่จะมีศิลปินคนไหนสักคนที่ในช่วง 2-3 เจเนอเรชั่นก็ยังคงมีคนรู้จักเขาอยู่ แต่ถึงแม้เส้นทางชีวิตของพี่เบิร์ดจะผ่านพ้นมากว่า 65 ขวบปีแล้ว แต่อายุหาได้เป็นอุปสรรคขัดขวางคำว่า “พี่เบิร์ด” ไม่ คือไม่ว่าคุณจะไปที่ใด ถามใครว่าพี่เบิร์ดคือใคร ทุกคนก็จะตอบเหมือนกันว่า “พี่เบิร์ด คือ พี่เบิร์ด” ซึ่งถามว่าเขามีชื่อที่คนรู้จักเพียงเท่านี้หรือเปล่า ก็ตอบว่าไม่ใช่ เขายังมีชื่ออื่นที่คนเรียกอย่าง “ป๋าเบิร์ด” หรือชื่อที่แอบเรียกในอีกคำที่คล้ายกัน แต่ชื่อเหล่านั้นก็เทียบไม่ได้กับคำว่า “พี่เบิร์ด” เลย

“น้าค่อม” ชื่อจริงคือ อาคม ปรีดากุล ชีวิตของน้าค่อมเริ่มในวงลิเก ก่อนจะมาเป็นตลกจน ๆ และโด่งดังในคณะชวนชื่น ก่อนในเวลาต่อมาถึงจุดสิ้นสุดของตลกคาเฟ่ น้าค่อมผันตัวมาเล่นภาพยนตร์ และกลายมาเป็นศิลปินตลกที่หลายคนรัก และเมื่อน้าค่อมเสียชีวิตลง ทุกคนก็เลือกเก็บน้าค่อมไว้ในความทรงจำ น้าค่อมน่าจะเป็นคนเดียวที่กล่าวได้ว่ามีคนอยากให้แกด่าเวลาเจอหน้ามากที่สุด และต้องเป็นคำด่าคำนั้นเท่านั้นด้วย ใช่แล้ว คำว่า “ไอ้สัส !” ไอ้สัตว์ก็ไม่ได้ ไอ้ษัตริย์ยิ่งไม่ได้ใหญ่ ส่วนไอ้สัซซ ไอ้ซัสส หรือไอ้ซัซซ นั้นพอได้ ขอแค่ stress เสียงพยางค์สุดท้ายให้ชัดก็พอ สิ่งที่น่าสนใจคืออะไรที่ทำให้คำด่าของน้าค่อมนั้นไม่ถูกมองว่าเป็นคำหยาบ หยามเหยียด คำด่า หรือลดทอนความเป็นมนุษย์ ในทางตรงกันข้าม คำด่าของน้าค่อมกลับถูกให้คุณค่า และความหมายในทำนองที่ผู้ใหญ่ให้ศีลให้พรด้วยซ้ำ

“สมเจียม” “จารย์เจียม” “อาจารย์สมศักดิ์” “บาโฟ” “หงอก” คือชื่อที่คนเรียก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในหลายแบบที่ให้ความหมายในหลายลักษณะ ชีวิตของสมเจียมนั้นดูจะมีเส้นทางชีวิตที่บุกบั่นกว่าใครพวก เขาประกาศศักดาให้โลกรู้ครั้งแรกจากการเป็นนักโทษการเมืองหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะได้รับอภัยโทษ และไปศึกษาต่อ และกลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และธรรมศาสตร์ตามลำดับ สมเจียมถูกมองว่าเป็นคนที่กล้าตั้งคำถามต่อประเด็นที่สังคมมองว่าละเอียดอ่อน และไม่กล้าแตะต้องอย่างเรื่อง “สถาบันกษัตริย์” มีคำพูดที่หลายคนอาจได้ยินว่า “ยกเลิก 112 สิครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง” ซึ่งแน่นอนว่า 112 ยังไม่ถูกยกเลิก ชีวิตของสมเจียมก็ผกผันอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เส้นทางชีวิตพาแกออกทางเส้นทางธรรมชาติสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ปลายทางที่ฝรั่งเศสในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง พอถึงจุดนี้ ต่อให้ 112 ยังไม่ถูกยกเลิก ก็เหมือนกับว่าสมเจียมจะตระบัดสัตย์โดยการเล่าให้ฟังทุกอย่าง เฮ้อออ

เขียนโดย: น้องโน้ต

#6

พี่เห็นหนูด้วยเหรอคะ?

[ในกลุ่มคนนับร้อย พี่วิชัยมองเห็นน้องๆ ทุกคนและส่งคำทักทายอยู่เสมอ]

ประโยคคำถามชวนหลอนที่ไม่มีที่มาแน่ชัด เพราะผู้เขียนไม่มีความสามารถในการหาจริงๆ  ขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาหาทิ้งไว้จะเป็นพระคุณ [อ้าว] แต่ถึงแม้ที่มาจะไม่แน่ชัดแต่ผู้เขียนมั่นใจว่าที่แรกที่ผู้เขียนเห็นประโยคนี้คือ
เฟซบุ๊กเพจ “น้องง” เพจขำขันกระตุกความคิด โดยเชื่อว่าประโยคที่ดูไม่มีที่มาที่ไปลักษณะนี้น่าจะถูกสร้างจากเหล่าสาวกน้องเงี่ยน [nongian แบบว่า เอี้ยนๆ เหมือน คนแคเนเดี้ยน] หมายถึง ผู้ติดตามและผู้สร้างสรรค์ผลงานคุณภาพของเพจ ผ่านการตอบกระทู้ต่างๆ [status] โดยอาจจะตอบแบบตรงประเด็นและตั้งใจไม่ตรงประเด็นหรือเพียงเกี่ยวข้องอย่างกว้าง คำตอบเหล่านี้บางครั้งยังเป็นจุดตั้งต้นในการสร้างคำและโครงสร้างประโยคใหม่ๆ  อย่างไม่รู้จบ 

เช่นเดียวกับประโยคที่เราจะพูดถึงในตอนนี้  “พี่เห็นหนูด้วยเหรอคะ?” เป็นมุขตลกที่รู้กันทางวัฒนธรรม12 ของชาวเน็ตกลุ่มหนึ่ง  ประโยคนี้จะนำมา “เล่น” ต่อกันเรื่อยๆ พร้อมกับมีมหรือรูปภาพที่มีสิ่งของบางอย่างหรือลักษณะบางอย่างในภาพที่มีหน้าตาคล้ายคน หรือ สัตว์ เช่นในรูปภาพด้านล่าง จะสังเกตว่าบริเวณที่เป็นราวจับรถเมล์ที่ทาบกับหัวผู้โดยสารท่านหนึ่งอย่างพอดิบพอดีนี้ มีลักษณะคล้ายตาสองข้าง เหมือนเป็น “น้อง” มนุษย์หรือสัตว์ที่แล้วแต่ “พี่ ๆ” ผู้ชมหรือผู้ที่ถูกสื่อสารถึงจะจินตนาการ เมื่อนำภาพและข้อความมารวมกัน ก็เหมือนราวกับว่าน้องในภาพกำลังถามถึงสถานะตัวตนของเขาว่าพี่ๆ มองเห็นเขาบ้างหรือไม่ 

ภาพจากเพจน้องง

นอกจากเพื่อความตลกขำขันมีมนี้ถูกเล่นอย่างแพร่หลาย เช่น ใช้กับมีมเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองเรื่องคนชายขอบว่า “พี่” สามารถหมายถึงบุคคลในสังคมทั่วไปที่บางครั้งไม่สามารถมองเห็นตัวตนของ “น้อง” คนชายขอบของสังคม เช่น LGBTQIA+, คนจน, คนชาติพันธุ์, คนเอเชีย, คนไทย, คนจีน, ชาวโลก ในบริบทต่าง ๆ และแม้กระทั่งการเมืองทางตรงที่กลุ่มผู้ชุมนุมเขียนประโยคคำถามนี้ลงบนป้ายผ้าเพื่อทวงถามถึงความเป็นคนของเขาว่าผู้มีอำนาจมองเห็นพวกเขาบ้างหรือไม่

เขียนโดย: น้องส้มโอ

#7

พี่นงลัก หวัดดีค่ะ

แคปหน้าจอมาจากเพจน้อง แหว่งๆหน่อยเพราะเซ็นเซอร์ชื่อผู้ใช้คนอื่น

พี่นงลัก [พาสาทิพ] หรือพี่นงลักษณ์ [ภาษาไทยมาตรฐาน] หรือที่คนเหนือเรียกว่า “นางไหว้” เป็นชื่อเรียกหุ่นไม้ลักษณะคล้ายหญิงสวมชุดไทย ทำท่าพนมมือสวัสดีอยู่ตามหน้าสถานบริการต่างๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร คอฟฟี่ชอป นัยว่าให้มาเป็นผู้รับลูกค้าแทนพนักงานจริงๆ โดยผู้เรียกตุ๊กตาที่ว่าด้วยชื่อนี้เป็นคนแรกๆ น่าจะเป็นแอดมินเพจน้องง13 จากภาพที่ได้แคปเจอร์หน้าจอมาข้างต้น ด้วยความที่เพจน้องง เป็น “น้อง” คนอื่นๆก็ต้องเป็น “พี่” น่ะสิ รวมพี่นงลักด้วย

แม้ว่าเพจน้องงจะมีแนวโน้มวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นสมัยใหม่ของไทย ท้าทายไวยากรณ์ตามมาตรฐานราชบัณฑิตยสถานและท้าทายความเชื่อในสังคมไทยร่วมสมัยว่าด้วยเรื่องศาสนาหรือลัทธิต่างๆ14 แต่เพจน้องงก็เต็มไปด้วยการล้อเลียนที่ไม่ถูกต้องทางการเมืองแบบสุดๆ การที่พี่นงลักถูกนำมาใช้เป็นมีมล้อเลียนเกี่ยวกับการแสดงออกทางใบหน้าของดารานักแสดงหรือโซเชียลอินฟลูเอ็นเซอร์ที่ผ่านการทำศัลยกรรมตกแต่งเสริมความงาม กลายเป็นข้อโจมตีเพจน้องงและชาวน้อง aka น้องเงี่ยน ว่าเป็นแสดงออกไม่เหมาะสม ไม่พีซี [non-pc] แต่ในขณะเดียวกัน ความไม่ถูกต้องทางการเมืองประเภทนี้ก็นำไปสู่การตั้งคำถามเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของคน[ไทย]ในเน็ต

รูปพี่นงลักจากเพจน้องง15 มีแคปชั่นว่า
“ขนะที่เพจน่องลฺกเป็นไฟ พี่นงก็ทำได้แค่ อืม เพราะลงแลกเกอรร์ไว้ยังไม่แห้ง”

มีมพี่นงลักอันนี้ขโมยมาได้จากในเน็ต

แถมนิดนึง พี่นงลักถูกพูดถึงและโด่งดังขึ้นมาอีกครั้ง คราวนี้ออกไปในแนวสยองขวัญจากเรื่องเล่า “หุ่นไม้แกะสลัก” ของคุณวิทย์ เซลล์แมน ในรายการเดอะโกสต์เรดิโอ เมื่อ 25 ก.พ. 66 แต่หุ่นไม้ในเรื่องนี้สามารถถอดสลักตรงข้อต่อได้ ว่าแล้วก็ขนลุกซ์ ลองไปหาฟังแห้ง [ฟังย้อนหลัง] ได้ในยูทูป16

ป.ล. จริงๆ พี่วิชัยก็แอบคล้ายพี่นงลักตรงที่ เมื่อเปิดประตูโครงการบัณฑิตศึกษาฯ เข้ามา ก็จะเจอพี่วิชัยทักทายก่อน ตามด้วยพี่หนึ่ง เพิ่งทราบภายหลังว่าทั้งสองคนพยายามจำชื่อนักศึกษาผ่านการทักทายในช่วงเทอมแรกของทุกรุ่น และพยายามช่วยเหลือดูแลนักศึกษาเพื่อให้น้องๆทุกคนได้เดินไปบนเส้นทางการเป็นนักเรียนมานุษยวิทยาอย่างราบรื่นเท่าที่จะเป็นไปได้ ขอบคุณพี่วิชัยมากๆเลยค่ะ

เขียนโดย: น้องน๊ะนก หัวยุกยิก

#8

What’s the tea, sis?

เมื่อเราพูดถึงการดื่มชา เรามักจะนึกถึงวัฒนธรรมอังกฤษที่ต้องจิบชาร้อนๆ ยามบ่าย พร้อมกับขนมที่วางเรียงบนจานเป็นชั้นๆ อย่างสวยงาม แต่ในระยะเวลาหลังๆ มานี้ คำว่า “ชา” ได้เปลี่ยนความหมายไป จนเมื่อฉันนึกถึงการดื่มชา ฉันนึกถึงพี่วิชัย…

Tea ไม่ได้หมายถึงเพียงเครื่องดื่มจากใบไม้อบแห้งหอมๆ แต่หมายถึง “ความจริง” truth ความจริงที่มักจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกพูดถึง เพราะอาจสั่นคลอนขนบ สร้างความอับอาย รับรู้แต่กลั่นออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ ถูกมองข้ามว่าไม่สำคัญ หรือแม้กระทั่งเป็นความลับที่ต้องปกปิดอย่างตั้งใจ

Tea ที่หมายถึง truth น่าจะเริ่มมาจากวงการแดรกควีน ที่หมายถึงการพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างซื่อตรง โดยไม่ผ่านการคัดกรองใดๆ และมักจะระคนด้วยความเจ็บคันนิดๆ เพราะแน่นอน น้อยครั้งที่ความจริงจะหอมหวาน

ทุกคนที่สัมผัสพี่วิชัยคงจะรู้อยู่แล้วว่า พี่วิชัยเป็นคนชอบเล่าเรื่อง มิหนำซ้ำยังจำเรื่องราวเก่าๆ ย้อนไปหลายทศวรรษ พี่วิชัยน่าจะรู้จักทุกคนในศูนย์ท่าพระจันทร์ ตำนานเล่าว่าถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นที่ไหนก็ตามในวิทยาเขต ถ้าคุณวิชัยโทรฯ ไปแกร๊กเดียว — problem solved

ทุกครั้งที่ฉันทำงานจนดึกบนชั้นสาม ตึกอเนกประสงค์สอง พี่วิชัยยังคงนั่งบนโต๊ะทำงานของเขา และพร้อมที่จะแบ่งปันเรื่องราวเสมอ ถ้าน้องๆ ไปนั่งสนทนา

ฉันคนหนึ่งที่ชอบไปนั่งคุยกับพี่วิชัยยามเย็น เมื่อคนอื่นๆ เดินทางกลับบ้านไปแล้ว ถึงแม้ว่าฉันไม่เคยถามอะไรพี่วิชัยเป็นเรื่องเป็นราว พี่วิชัยมักจะชงชาร้อนๆ ให้ฉันเสมอ — ความจริงว่าทำไมสิ่งต่างๆ มันเป็นไปในแบบของมัน

ชาร้อนๆ จากพี่วิชัยทำให้ฉันรับรู้ว่าสิ่งที่ฉันรู้สึกในบางที มัน make sense ในแบบของมันอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ทำไมทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จมันยากเหลือเกิน ความกลัวของฉันที่เป็นอุปสรรคในการทำงานให้เสร็จมาจากไหน

ชาร้อนๆ จากพี่วิชัยทำให้ฉันจัดการกับความกังวลต่อระบบและสถาบัน บางทีก็เป็นการปลง การปล่อยวาง บางทีก็เป็นความเข้าใจ

เวลาที่ฉันเป็นนักเรียน โดยเฉพาะที่เป็นนักเรียนในสังคมไทย ฉันมักจะรู้สึกว่าฉันเป็นผู้ชมหน้าฉากละคร สิ่งที่เกิดขึ้นหลังเวทีมักจะถูกบดบัง ในฐานะนักเรียน สภาวะทางการเมืองของสถาบันมักจะไม่ได้เป็นสิ่งที่สามารถรับรู้ได้

แต่หารู้ไม่ว่านักเรียนก็สามารถสัมผัสไดนามิกเหล่านั้น ทั้งๆ ที่มองไม่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังฉาก ชาต้มสุกของพี่วิชัยหลอมละลายฉากเหล่านั้น ทำให้ฉันเข้าใจระบบ บรรยากาศที่มองไม่เห็นกลายเป็น narrative ที่จับต้องได้

ในฐานะที่เป็นนักเรียนผู้ใหญ่ ชาร้อนๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ต่างไปจากความรู้จากหนังสือหรือชาติพันธ์ุนิพนธ์ ในภาษาอังกฤษ หลายคนเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า hidden curriculum หรือหลักสูตรที่ถูกซ่อน พี่วิชัยปลดสลักหินเหล่านั้น ทำให้นักศึกษาปริญญาโท first generation อย่างฉัน หาทางปรับตัวและปรับใจกับความยากของ graduate school ที่ฉันไม่สามารถไปปรึกษาใครในวงวานของฉันได้

ทั้งๆ ที่อ่านหนังสือและฝึกฝนการเขียนอย่างหนัก แต่มันก็ชนอะไรบางอย่างที่ทำให้ไปต่อไม่ได้  แต่บ่อยครั้งปัญหาบางส่วนได้หมดไป เมื่อพี่วิชัยทำชาร้อนๆ หกเรี่ยราดบนโต๊ะทำงานของเขา

คิดถึงพี่วิชัย ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสไปท่าพระจันทร์ ฉันก็มักจะกลับไปนั่งเก้าอี้ตัวเดิม เสียใจที่ไม่ได้ไปร่วมฉลองงานเกษียณพี่วิชัย แต่ก็ขอแสดงความยินดี มุทิตาจิตมา ณ ที่นี้นะ

เขียนโดย: น้องแคร์ บลูมิงตัน อินดิแอนา


อ่านตอนที่ 2 →


  1. https://www.komchadluek.net/news/politics/547962 ↩︎
  2. เฉลยแบบทดสอบชายแท้ ไวรัล TikTok แต่ละข้อตอบอะไร ที่มาจากไหนบ้าง ?
    https://hilight.kapook.com/view/233098 ↩︎
  3. สามารถติดตามคำตอบของเหล่าชายแท้ที่โดนแฟนหรือเพื่อนสาวให้ลองทำแบบทดสอบนี้ดูได้จาก #แบบทดสอบชายแท้ ในแอพ tiktok หรือ reel ใน instagram ที่โดนดูดมาจาก tiktok อีกที ↩︎
  4. ผู้เขียนอนุมานเอาเองว่า พี่หนุ่มกรรชัยอยู่ในวงการสื่อ น่าจะรู้จักหรือคุ้นเคยคำนี้อยู่บ้าง แต่ปรากฏว่าพอถึงคราวที่มีคนใช้จริง พี่หนุ่มดันงงซะงั้น https://fb.watch/nbInQ_n1eJ/?mibextid=syKCpP ↩︎
  5. ผู้เขียนสืบค้นจากชาวต๊อกต๊อก พบคลิปคล้ายกับเป็นต้นฉบับตามที่ได้แนบมา ผู้เขียนไม่แน่ใจว่านี่ใช่ต้นฉบับจริงหรือไม่ เพราะแอนนาพูดว่า “ขอพูดตรงนี้เลยได้ป่ะ” ส่วนพี่จี้ก็ตอบว่า “พูดเลย พูดเลยแอนนา” แม้ว่าบางคำจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่บริบทมันใช่เลย https://www.tiktok.com/@pongdechathorn/video/6878639273071938818 ↩︎
  6. เปิด “สุภาษิตไทยยุคใหม่” พร้อมความหมายและวิธีใช้แบบจัดเต็ม บอกเลยว่าใช้แล้ว ไม่มีตกเทรนด์แน่นอน! https://www.dailynews.co.th/news/508999/
    ↩︎
  7. พจนานุเกรียน – พูดได้ไหมพี่จี้ https://pojnanukrian.com/%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B9%89 ↩︎
  8. Slang.in.th ศัพท์วัยรุ่น ศัพท์ใหม่ สแลงไทย หาความหมาย พูดได้มั้ยพี่จี้ https://slang.in.th/term/%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B9%89 ↩︎
  9.  [ป้า]พูดได้มั้ย คลิปตัดจากรายการโหนกระแส https://www.facebook.com/watch/?v=342948257591874 ↩︎
  10. ตำนานผีโคกะโหลก คลิปตัดจากรายการ The Shock https://www.facebook.com/watch/?v=292689412807388 ↩︎
  11. แฟนคลับช็อก ปิดตำนาน “แอนนา-พี่จี้” ประกาศแยกทางไลฟ์สดคู่กัน https://www.komchadluek.net/entertainment/481309 ↩︎
  12. Herzfeld, Michael. Cultural intimacy: Social poetics in the nation-state. Routledge,2014. ↩︎
  13. เมื่อก่อนมีง.งูตัวเดียว แต่ถูกระงับการแสดงผลเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559 จึงมีการเปิดเพจขึ้นมาใหม่ด้วยคำเดิมเพิ่มเติมง.งูอีกตัว และในโครงการทบทวนมโนทัศน์ว่าด้วย ‘พี่’ ในสังคมไทย ก็มีเพจน้องงเป็นหนึ่งในพื้นที่ก่อร่างสร้างมีมต่างๆขึ้นมา ลองไปตามอ่านบทความอื่นได้ เช่น พี่เห็นหนูด้วยเหรอคะ? ↩︎
  14. อยากรู้จักเพจน้องงให้มากขึ้น ลองเข้าไปดู “ที่มาเพจ “น้องง”ความโด่งดังแม้ในยุคเผด็จการเฟซบุค” https://www.youtube.com/watch?v=Gyb-xyTjowY ↩︎
  15. รูปพี่นงลักพร้อมแคปชั่นรูปนี้ คนกดแสดงอารมณ์ตั้ง 6.3k เลย https://www.facebook.com/nongngneverdie/photos/a.1700672633591985/1745042612488320/?type=3&locale=th_TH ↩︎
  16. หุ่นไม้แกะสลัก • คุณวิทย์ เซลล์แมน | 25 ก.พ. 66 | THE GHOST RADIO
    https://www.youtube.com/watch?v=JzwmrGx043o ↩︎

เกี่ยวกับผู้เขียน

น้องๆ

น้องๆ ที่ได้ใช้ช่วงหนึ่งของชีวิตเข้าๆ ออกๆ ห้องโครงการบัณฑิตศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ ร่วมกันเขียน blog ตอนพิเศษเนื่องในวาระเกษียณอายุราชการของ 'พี่วิชัย'

Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด