Skip to content

“Sourciodoughy 101” อันตัวข้าพเจ้านี้คือรา: ผัสสะสนทนาระหว่างมนุษย์ ยีสต์ และขนมปังซาวโดวจ์

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ผู้คนจำเป็นที่จะต้องกักตัวอยู่ในบ้านกันต่อไป ทั้งความกังวลเมื่อต้องออกไปเผชิญกับโลกภายนอก ความเบื่อหน่ายต่อชีวิตประจำวันที่ซ้ำซากจำเจ หรือแม้กระทั่งเรื่องสุขอนามัยหรือความสดใหม่ของวัตถุดิบ ส่งผลให้หลายคนเริ่มหันมาทำอาหารและขนมอบรับประทานเอง จนเกิดปรากฏการณ์ “Baking Boom” ไปทั่วโลก

ข้าพเจ้าคือหนึ่งในคนจำนวนนั้นที่คล้อยตามไปกับปรากฏการณ์ทางสังคมนี้ ด้วยเหตุจากความไม่มั่นคงภายในจิตใจอันเนื่องมาจากความรู้สึกไม่แน่นอนในการดำรงชีวิต ประกอบกับความห่างเหินทางสังคมซึ่งเป็นผลจากมาตรการของรัฐ โดยหลังจากที่ได้ศึกษาศาสตร์และศิลป์แห่งการอบขนมปังได้สักระยะเวลาหนึ่งจนกลายเป็นงานอดิเรกที่ชื่นชอบไปเสียแล้ว วันนี้จึงอยากลองมาแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์เกี่ยวกับวิธีการทำขนมปังซาวโดวจ์ (Sourdough Bread) สำหรับผู้เริ่มต้น เพื่อที่ใครหลายคนที่อาจกำลังประสบกับสภาวะเช่นเดียวกันนี้ได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ในช่วงกักตัว หรืออาจนำไปสู่การ ‘ค้นพบ’ บางสิ่งท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยวิกฤตการณ์แห่งนี้

เช่นเดียวกับที่ข้าพเจ้าได้ ‘ค้น’ และ ‘พบ’ แล้วนั่นเอง

จากมโนสัมผัสสู่การแปลงเปลี่ยนมโนทัศน์ต่อโลกที่เปลี่ยนแปลง

หลายท่านอาจกำลังสงสัยว่า ‘อะไรคือซาวโดวจ์?’

เป็นคำถามเดียวกับที่ผุดขึ้นมาในหัวของข้าพเจ้าตอนที่ได้ยินชื่อขนมปังชนิดนี้เป็นครั้งแรก สรุปฉบับย่อคือซาวโดวจ์เป็นขนมปังที่ใช้กรรมวิธีผลิตแบบดั้งเดิม คือการนำหัวเชื้อ (Sourdough Starter) ที่ได้จากยีสต์ตามธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากกระบวนการหมักเป็นเวลานานจนเกิดการทำปฏิกิริยาของแป้ง น้ำ และแบคทีเรียมาใช้ทำให้ขนมปังขึ้นฟู มีรสชาติเปรี้ยว มักเป็นที่รู้จักในฐานะภูมิปัญญาการประกอบอาหารของชาวตะวันตกมาแต่โบราณ นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่สร้างภูมิคุ้มกันต่อร่างกาย จึงเป็นสาเหตุที่ขนมปังซาวโดวจ์กลับมาได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ก่อนจะเริ่มลงมือทำ ข้าพเจ้าอยากจะแนะนำให้รู้จักกับ “ยีสต์” (Yeast) จุลินทรีย์ชนิดหนึ่งในอาณาจักรเห็ดรา (Fungi) มีหลายสายพันธุ์ ดำรงอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ เช่น ผืนดิน พืชและสัตว์ หรือแม้แต่ในร่างกายมนุษย์ ถือเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรม (culture) อาหารที่ผูกพันกับมนุษยชาตินานนับพันปี โดยยีสต์เป็นผู้ช่วยสำคัญและมีบทบาทแฝงอยู่ในทุกกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งขนมปังที่สมบูรณ์ ยีสต์จึงเป็นสิ่งมีชีวิตแรกที่ข้าพเจ้า (รวมถึงนักทำขนมปังทุกคน) จะได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์และทำความคุ้นเคยไปโดยปริยาย

สำหรับตัวข้าพเจ้าแล้วการเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับขนมปังซาวโดวจ์จากการศึกษาวัตถุดิบ หลักการ ที่มา และกระบวนการต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจ รวมถึงเตรียมความพร้อมก่อนลงมือปฏิบัติจริงถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะในชั่วขณะที่ข้าพเจ้า “คิด” (think) นำพาจิตใจเข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตจำพวกเห็ดราเหล่านี้ เส้นแบ่งระหว่างความเป็นมนุษย์และธรรมชาติได้พร่าเลือนลงไป ณ ขณะนั้น

ทัศนะผ่านจักขุสัมผัสแต่ไม่อาจมองเห็น

sourcriodoughy01

สูตรหัวเชื้อ (Sourdough Starter)

แป้งสาลีประเภทไม่ขัดสี 50 กรัม

น้ำสะอาด 50 กรัม

ขั้นตอนแรกเริ่มจากการ “เพาะเลี้ยงยีสต์” (Yeast Cultivation) โดยนำแป้งสาลีและน้ำผสมกันในอัตรา 1:1 จนละลายเป็นเนื้อเดียวกัน นำไปใส่ลงในภาชนะที่เตรียมไว้ ทำเครื่องหมายและจดบันทึกเวลา ปิดฝาไว้หลวม ๆ จากนั้นวางไว้ที่อุณหภูมิห้อง 24 ชั่วโมงเพื่อ ‘รอ’ ให้เกิดการทำปฏิกิริยาจนยีสต์ปรากฏขึ้น

เรื่องราวของยีสต์ไม่ได้เริ่มต้นขึ้นภายในพื้นที่นี้ด้วยการกระทำของมนุษย์ แต่แท้จริงแล้วถือกำเนิดขึ้นและดำเนินไปควบคู่กับข้าวสาลีตลอดมาตั้งแต่วินาทีที่ต้นพืชเหล่านี้หยั่งรากลึกลงในดิน

ยีสต์ดำรงอยู่บนเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวสาลีก่อนจะผ่านกระบวนการนำมาทำเป็นแป้ง โดยภายในแป้งประกอบด้วยจุลินทรีย์หลายชนิด เมื่อสัมผัสกับน้ำ ยีสต์จะผลิตเอนไซม์อะไมเลสออกมาย่อยแป้งเป็นน้ำตาลกลูโคสและมอลโตสร่วมกับแบคทีเรีย กลายเป็นอาหารให้ยีสต์ธรรมชาติเพาะตนเอง (culture) ขึ้น 

sourcriodoughy02

แม้มนุษย์ไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่ความงดงามของวงจรชีวิตและความสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์ได้ถือกำเนิดขึ้นภายในห้วงเวลาหนึ่งแห่งการรอคอย

จะเห็นว่าการเพาะหรือ “สร้าง(ตัว)ของจุลินทรีย์” ใช้คำศัพท์เดียวกับ “วัฒนธรรม” ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ ‘มนุษย์สร้าง’ ตามนิยามของ Edward B. Tylor (1871) เมื่อทุกอย่างเป็นวัฒนธรรม เราจึงเชื่อว่ามนุษย์คือศูนย์กลางของสรรพสิ่ง ขณะที่คำว่า “cultivation” หรือการเพาะเลี้ยงก็มีนัยยะเชิงอำนาจครอบงำ (domination) ระหว่างผู้เลี้ยงดูและผู้อยู่ภายใต้การเลี้ยงดู ในที่นี้คือมนุษย์และยีสต์ ทำให้รู้สึกว่าธรรมชาติเป็นวัตถุที่ครอบครองได้ แต่เมื่อมองดูเรื่องเล่าที่ให้ความสนใจกับความเป็นอื่น (otherness) กลับพบว่ามนุษย์ไม่ใช่ผู้สรรสร้าง แต่ธรรมชาติเป็นสิ่งที่อยู่ล้อมรอบตัวมนุษย์มาตั้งแต่ต้น (Sheldrake, 2020) และมนุษย์ก็ไม่ใช่เจ้าของ “culture” ตามความหมายที่กล่าวอ้าง แต่ธรรมชาติเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ช่วยมนุษย์สร้างขึ้นมาร่วมกัน

โดยระหว่างขั้นตอนนี้เราต้องใช้ “สายตา” (vision) คอยสังเกตปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยว่ายีสต์ปรากฏตัวขึ้นหรือยัง เป็นความจริงที่ว่าข้าพเจ้าหรือไม่ว่าใครก็ไม่อาจมองเห็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้ แต่เราสามารถเห็นฟองอากาศจากกระบวนการย่อยที่เกิดขึ้น เป็นสัญญาณว่ายีสต์ได้ปรากฏขึ้นแล้ว

เมื่อลองคลายความยึดติดออกจากดวงตา ข้าพเจ้ายังมองเห็นสายรยางค์ของความสัมพันธ์ที่ทับซ้อนกันอย่างหนาแน่นซึ่งล้วนต่างมีบทบาทในตนเอง ดังนั้น แม้ไม่อาจมองเห็นแต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอยู่ และการมีอยู่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นคือทั้งหมด

ฆานสัมผัสและพลวัตในความสัมพันธ์

ยีสต์เจริญเติบโตและสืบพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว อาหารจึงหมดเร็วตามไปด้วย เราจึงต้อง “ให้อาหาร” (Feeding) โดยนำประชากรบางส่วนออก (discard) แล้วใส่แป้งและน้ำเข้าไปในอัตรา 1:1:1 จากนั้นวางไว้ในอุณหภูมิห้อง 24 ชั่วโมง ทำซ้ำจนครบหนึ่งสัปดาห์จนได้แป้งลักษณะข้นเหลวที่เต็มไปด้วยฟองอากาศ

สิ่งสำคัญคือต้อง feed ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เมื่อได้รับอาหารครั้งแรกยีสต์จะขยายตัว (rise) ถึงจุดที่สูงที่สุด (peak) และคงอยู่ที่จุดนั้นระยะหนึ่ง เมื่ออาหารเริ่มหมด โครงสร้างจะตกลงเหลือระดับเท่าเดิม (fall) เป็นสัญญาณของการ feed ครั้งถัดไป

สุดท้ายแล้วในบางมิติเห็ดรากลับเป็นฝ่ายที่มีอำนาจเหนือในการควบคุมพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ดังนั้น ไม่ใช่ว่ามนุษย์เป็นตัวแสดงหลักที่มีอำนาจควบคุมชีวิตหรือยีสต์นั้นเป็นวัตถุที่เฝ้ารอคอยการเลี้ยงดู (domestication) เหมือนสัตว์เลี้ยง แต่กลับเป็นตัวเราที่กำลังตอบสนองเงื่อนไขความต้องการของสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์และถูกทำให้เชื่อง (taming) เสียเอง เพียงแต่เป็นความเชื่อฟังที่ใจยินดี

sourcriodoughy06

ข้าพเจ้านึกลองก่อกบฏด้วยการปล่อยปะละเลยในบางครั้ง ผลปรากฏว่ายีสต์นั้นไม่ตาย แต่หัวเชื้อกลับเกิดแอลกอฮอล์สีน้ำตาล (hooch) มี ‘กลิ่นฉุน’ คล้ายกลิ่นถุงเท้า และมีรสเปรี้ยวเกินกว่าจะนำมาทำขนมปัง หลังจาก “ดมกลิ่น” (smell) ของยีสต์ที่เสื่อมสลาย ความรังเกียจเป็นอารมณ์ความรู้สึกแรกที่ปรากฏขึ้น ร่างกายมนุษย์มักตีความกลิ่นไม่พึงประสงค์สำหรับตนว่าเป็นภัยคุกคาม และจงถอยห่างจากสิ่งนั้นหากปรารถนาที่จะมีชีวิต ข้าพเจ้าตระหนักได้ในตอนนี้เองว่าเหตุใดมนุษย์จึงหลีกเลี่ยงที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตจำพวกเห็ดรา ไม่ใช่เพราะอันตรายแต่พวกเขาเกรงกลัวความตายจนเกินไป

ข้าพเจ้าขออุทิศเรื่องราวในส่วนนี้ให้แก่ “ส่วนเหลือทิ้ง” (Sourdough Discard) ยีสต์ที่ถูกนำออกเพื่อควบคุมปริมาณให้ประชากรส่วนใหญ่เติบโต เน่าเปื่อย และตายไปในที่สุด อย่างไรก็ตาม มนุษย์ไม่ใช่ผู้คัดสรรธรรมชาติ แต่การเกิดและการตายเป็นวัฏจักรชีวิต ส่วนเหลือทิ้งมีนัยยะให้เห็นว่าการสูญสิ้นของชีวิตหนึ่งเป็นการเตรียมการสู่การมาถึงของชีวิตใหม่ การกลายเป็นส่วนเหลือทิ้งจึงเป็นสิ่งปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นในโลกที่กำลังเสื่อมสลายอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

sourcriodoughy07

ข้าพเจ้าจึงขอรำลึกด้วยเจตจำนงแห่งการไว้ทุกข์ (mourning) แก่ทุกสรรพสิ่งที่จุติเพื่อส่งต่อ ดำรงอยู่เพื่อเปลี่ยนแปลง และอุบัติขึ้นเพื่อรับมา ข้าพเจ้าเรียนรู้ที่จะอยู่และยอมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกที่ไม่แน่นอนนี้เพื่อพัฒนาไปสู่การสร้างเครือญาติ (kinship) กับทุกชีวิตในห้วงเวลาแห่งทูลูซีน (Chthulucene) (Haraway, 2016)

เมื่อกายสัมผัสกายจึงไร้ซึ่งกายในกายา

สูตรขนมปังซาวโดวจ์ (Sourdough Bread)

แป้งขนมปัง 175 กรัม
แป้งโฮลวีทแบบละเอียด 50 กรัม
หัวเชื้อ (Sourdough Starter) 50 กรัม
น้ำสะอาด 170 กรัม
เกลือ 5 กรัม

นำวัตถุดิบทั้งหมด “ผสม” (Mixing) ให้เข้ากัน กลายเป็น ‘แป้งหัวเชื้อ’ (Dough) ซึ่งจะเกิด “กระบวนการหมัก” (Bulk Fermentation) ในตนเองจนกลายเป็นระบบนิเวศ (ecosystem) ที่ระบบและโลกชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ดำรงอยู่ร่วมกันอย่างทับซ้อน

ในระหว่างนั้นจะต้อง “นวดขนมปัง” (Kneading) ด้วย ข้าพเจ้าใช้เทคนิคการยืดและพับแป้ง (Stretch and Fold) เนื่องจากทำได้ง่าย โดยให้ใช้นิ้วมือหยิบแป้งด้านหนึ่งทั้งสองข้างขึ้นมาแล้วยืดออก พับทบด้านบนจนครบทั้งสี่ด้าน สลับกับพักแป้งหัวเชื้อเพื่อป้องกันการถ่ายโอนอุณหภูมิจากร่างกายจนทำให้มีอุณหภูมิโดว์สูงเกินไป (overheating) และให้โครงสร้างภายในคลายตัวเพื่อให้แป้งยืดหยุ่นสูง ทำให้เกิดโครงสร้างภายในขนมปังที่เต็มไปด้วยโพรงอากาศเล็กใหญ่อันเป็นลักษณะของซาวโดวจ์ที่ดี

ระยะเวลาพักแป้งนั้นไม่ตายตัว หรือหากยืดและพับแป้งมากเกินไปอาจทำให้โดว์ฉีกขาดได้ จึงเป็นขั้นตอนที่น่ากังวลสำหรับผู้เริ่มต้น แต่เมื่อข้าพเจ้าได้เข้ามี “ปฏิสัมผัส” (touch) พบว่าเครือญาติเหล่านี้พยายามสร้างบทสนทนากับตัวข้าพเจ้ามาเป็นระยะหนึ่งแล้ว และสำหรับข้าพเจ้าสัมผัสแรกนี้ช่างนุ่มนวล อ่อนนุ่ม และเป็นมิตร                                   

เมื่อสื่อสารจนเริ่มคุ้นเคยกันจะเริ่มจับความรู้สึกได้ว่าหากระยะพักแป้งสั้นเกินไป กลูเตนยังไม่คลายตัวดี เมื่อลองยืดแล้วแป้งจะยืดหยุ่นน้อย ซึ่งกลูเตนอาจฉีกขาดและส่งผลต่อโครงสร้างขนมปัง ข้าพเจ้าตีความได้ว่าเราจำเป็นที่จะต้อง ‘หยุด’ และ ‘รอ’ ต่อไปเพื่อปล่อยให้กลไกตามธรรมชาติดำเนินไปตามเงื่อนไขของเวลา ดังนั้น ไม่ใช่ว่าธรรมชาตินั้นไม่ดุร้ายเราจึงเข้าใจ แต่เมื่อเราเข้าใจ ธรรมชาติจึงไม่ดุร้ายเกินไปนัก

นอกจากนี้ ผัสสะสัมผัสยังนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนจุลินทรีย์แบบสองทิศทางระหว่างส่วนอวัยวะของมนุษย์และสมาชิกภายในแป้งหัวเชื้อ สะท้อนให้เห็นระบบนิเวศที่มีอยู่ทั้งในร่างกายและสิ่งแวดล้อมที่ต่างสร้างสัมพันธ์กันตลอดเวลา บทบาทสำคัญที่สุดของจุลินทรีย์ในแง่นี้จึงอาจเป็นการสลายความเป็นคู่ตรงข้ามให้เห็นว่าการแยกมนุษย์ออกจากธรรมชาตินั้นไม่มีจริงเพราะทั้งสองสิ่งเชื่อมต่อกันเสมอและตลอดมา (anastomosis)

โสตสัมผัสบทสนทนาแต่ทว่าปราศจากเสียง

ขั้นตอนต่อไปคือการ “ขึ้นรูปขนมปัง” (Shaping) เป็นการพับแป้งมาไว้ตรงกลางทีละมุม จากนั้นรวบแป้งให้กลายเป็นทรงกลม ดึงผิวแป้งให้ตึงและเก็บชายตะเข็บกึ่งกลางไว้ด้านล่างของขนมปัง วางพักไว้ประมาณ 3-4 ชั่วโมงในภาชนะเพื่อให้กระบวนการหมักแป้งดำเนินต่อไปอีกครั้ง

sourcriodoughy09

“เสียงดำรงอยู่ทุกหนทุกแห่งและถูกเปล่งออกมาอยู่เสมอแม้ในที่เงียบสงัด แต่มนุษย์มักเพิกเฉยต่อบทสนทนานั้น เพราะมนุษย์กำลังยุ่งวุ่นวายกับการแสดงตนเป็นผู้รอบรู้ เราจึงไม่เคยหยุดฟัง (hearing)”

ภายในสถานที่นี้มีเพียงตัวข้าพเจ้าและแป้งสำหรับทำขนมปังก้อนหนึ่ง ผ่านประสบการณ์ที่ดำเนินมาโดยผัสสะที่ไร้เสียง ‘แป้งก้อนเล็ก ๆ’ นี้ถูกประกอบสร้างขึ้นจากตัวแสดงที่หลากหลายไม่ใช่เพียงแค่มนุษย์ เมื่อลองชะลอและขบคิดจึงได้ย้อนมองดูอัตตาในตัวตน ข้าพเจ้าได้ยินเสียงและกำลังสร้างบทสนทนากับเห็ดรา พบว่าตัวข้าพเจ้าก็เป็นเช่นเดียวกัน เป็นระบบนิเวศที่เกิดจากการประกอบสร้างโดยสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติที่หลากหลาย และไม่เคยมีพรมแดนให้ก้าวข้ามออกไปตั้งแต่ต้น

รู้หรือไม่ว่าร่างกายมนุษย์นั้นประกอบไปด้วยเซลล์จำนวนกว่าหนึ่งร้อยล้านล้านเซลล์รวมตัวกันเป็นอวัยวะที่ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ทว่าทุก 9 ใน 10 เซลล์ในตัวเรากลับไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของจุลินทรีย์ที่อยู่ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย (microbiome) ก่อตัวเป็นชุมชนและทำงานร่วมกันอย่างซับซ้อน ทำให้ร่างกายมีลักษณะคล้ายระบบนิเวศที่สิ่งมีชีวิตอยู่ร่วมกันแบบอิงอาศัย (symbiosis) เราจึงไม่อาจกลายเป็น (becoming) มนุษย์ไม่ได้หากปราศจากปฏิสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตเหล่านี้

ภายในสถานที่นี้มีเพียงจิตวิญญาณของข้าพเจ้าผูกโยงอยู่กับสายสัมพันธ์จำนวนหนึ่ง ผ่านประสบการณ์ที่ดำเนินมาโดยผัสสะที่เปล่งเสียง ระบบนิเวศแห่งเล็ก ๆ นี้ถูกประกอบสร้างขึ้นจากชีวิตที่หลากหลายไม่ใช่เพียงแค่วัฒนธรรม เมื่อลองเงียบและสดับฟังจึงได้แสดงความเคารพอัตตาในตัวตน ข้าพเจ้าฟังเสียงและกำลังสนทนากับญาติมิตรในฐานะเห็ดรา

ชิวหาสัมผัสลิ้มรสชาติชาตะและมรณา

ขั้นตอนสุดท้ายเป็นการนำขนมปังเข้า “อบ” (Baking) ที่อุณหภูมิ 440 องศาฟาเรนไฮต์ประมาณ 40 นาที จากนั้นจึงเสร็จสิ้นกระบวนการทำขนมปังซาวโดวจ์

sourcriodoughy10

สิ่งที่ออกมาจากเตาอบสำหรับข้าพเจ้าบัดนี้ไม่ใช่เพียงขนมปัง แต่เป็นเรื่องเล่าเชิงประจักษ์แห่งความสัมพันธ์อันซับซ้อนที่สรรพสิ่งในโลกล้วนถูกประกอบสร้างร่วมและร่วมกันประกอบสร้าง (sympoiesis) (Haraway, 2015) มนุษย์จึงไม่เคยวิวัฒนาการตนให้หลุดพ้นออกจากสภาวะธรรมชาติด้วยอารยธรรมที่อ้างว่าตนเป็นผู้สร้างเพียงหนึ่งเดียว (autopoiesis) เพราะมนุษย์ยังต้องพึ่งพาธรรมชาติเพื่อให้ได้มาซึ่งวัฒนธรรม

sourcriodoughy11

เมื่อลองหั่นขนมปังออกมา โครงสร้างนั้นเต็มไปด้วยโพรงอากาศ รสสัมผัสนุ่มและยืดหยุ่นดี แต่รสชาติกลับ ‘เปรี้ยว’ เกินไปจึงยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นภายในระบบนิเวศที่มองไม่เห็น หรือตนเองทำผิดพลาดในขั้นตอนใด แต่เราต่างมีส่วนในผลลัพธ์ของขนมปังนี้และอาศัยอยู่ในผลลัพธ์นี้ร่วมกัน

ขนมปังก้อนนี้เป็นขนมปังที่ผ่านการเกิด การเน่าสลาย และการตาย จึงเต็มไปด้วยจิตวิญญาณของเหล่าสมาชิกแห่งอาณาจักรเห็ดรา อันหมายรวมถึงตัวมนุษย์ ดังนั้น เมื่อมองเห็นความสัมพันธ์จึงรับรู้ถึงการมีอยู่ของกันและกัน เมื่อรับรู้แล้วลองทำความเข้าใจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการใส่ใจ เมื่อใส่ใจจึงหวนแหนและปกปักรักษาไว้ ข้าพเจ้าได้พบเจอความยั่งยืนท่ามกลางในโลกที่ไม่ยั่งยืนด้วยขนมปังก้อนหนึ่ง

การเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับขนมปังซาวโดวจ์ผ่าน “การลิ้มรส” (taste) ได้นำพาห้วงคำนึงไปสู่การอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ที่ว่าภาวะของการดำรงอยู่ในโลกใบนี้เป็นที่ซึ่งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตมารวมตัวกัน ทุกแรงสั่นสะเทือนบนเส้นด้ายที่แต่ละตัวแสดงส่งต่อสลับกันไปตลอดมาได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้เล่นที่ถูกยึดโยงไว้ หลุดลอยไป หรือกำลังจะพันเกี่ยวเข้ามาในเครือข่ายรยางค์นี้

สุดท้ายข้าพเจ้าขอนมัสการสิ่งมีชีวิตอันเล็กจ้อยนี้ มิใช่ในฐานะผู้ควบคุม ผู้ใช้ประโยชน์ ผู้มีอำนาจเหนือ หรือผู้ที่อยู่เบื้องล่าง แต่ในฐานะผู้ยอมรับและเคารพเป็นเครือญาติ

และข้าพเจ้าขอไว้ทุกข์ให้กับสิ่งมีชีวิตอันเล็กจ้อยนี้ มิใช่ในฐานะผู้สดุดีวีรชน ผู้สรรเสริญความกล้าหาญ หรือผู้โศกเศร้าในความตาย แต่ในฐานะผู้น้อมรับความอาลัยที่กำลังจะมาถึง

“เพราะตัวข้าพเจ้านี้คือรา”


บรรณานุกรม

Haraway, D. J. (2016). Tentacular Thinking. In Staying with the Trouble: Making Kin in the Chthulucene (p. 30-357). Durham: Duke University Press.

Sheldrake, M. (2020). The Intimacy of Strangers. In Entangled Life (p. 47-69). New York: Random House.

Tylor, E. B. (1871). Primitive Culture. London: John Murray Press.

เกี่ยวกับผู้เขียน

275864784 285603393707735 4591001741373686446 N
กรวีร์ ภูวัฒนเศรษฐ

นักศึกษามานุษยวิทยา ชื่นชอบการทำขนม มีห้องครัวเป็นพื้นที่ปลอดภัย ผู้เชื่อว่าพลังงานดีๆแอบซ่อนตัวอยู่ในบทสนทนา ตัวอักษร และสรรพสิ่ง

Subscribe
Notify of
guest

5 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด

เรื่องที่คล้ายกัน