“กล่องสุ่ม” เป็นหนึ่งในสินค้ายอดนิยมของปี 2564 ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจะมีคนจำนวนไม่น้อย ตัดสินใจจ่ายเงินหลักพันหลักหมื่นซื้อกล่องที่ไม่ทราบว่ามีอะไรบรรจุอยู่ภายใน สินค้าประเภทนี้ไม่ได้เพิ่งถูกคิดค้นขึ้น และไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย บทความชิ้นนี้จะพาไปทำความรู้จักกับ “ถุงโชคดี” ถุงสุ่มของชนิดหนึ่งซึ่งอาจเป็นต้นตำรับของกล่องสุ่มในบ้านเรา และจะสำรวจความน่าสนใจของเจ้าถุงชนิดนี้ในด้านที่เป็นมากกว่าแค่ “การเสี่ยงโชค” รูปแบบหนึ่ง แต่จะลองพิจารณาดูว่าวัตถุชนิดนี้ มีชีวิตและบทบาทอย่างไรในสังคมของเรา
ถุงโชคดี (福袋) มีต้นกำเนิดที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นของที่จะวางจำหน่ายในวันปีใหม่โดยนำสินค้าในร้านหลายๆ ชิ้นมาใส่ในถุงเดียวกัน วางขายในราคาพิเศษ เพื่อระบายสินค้าของตนเองออกไปก่อนที่จะรับสินค้าคอลแลคชั่นใหม่หรือสินค้าฤดูใหม่เข้ามาแทน ดังนั้น สินค้าในแต่ละถุงจะแทบไม่ซ้ำกัน และผู้ซื้อจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าในถุงมีสินค้าชนิดใดและจำนวนเท่าใดบ้าง ถุงโชคดีในประเทศญี่ปุ่นมีตั้งแต่ในร้านทั่วไปไปจนถึงร้านแบรนด์เนมที่ลูกค้าจำเป็นต้องต่อคิวรอข้ามวันเพื่อครอบครองถุงโชคดีสักถุง ถุงโชคดีมีกระทั่งในแวดวงร้านขายของกิน เช่น McDonald’s Baskin Robbins เป็นต้น (รัฐวรรณ พัฒนรัชตอดุล 2561)

ภาพจาก wikipedia
กระแสความนิยมในถุงโชคดีได้เดินทางข้ามมหาสมุทรมายังประเทศจีน ที่ซึ่งเป็นที่ทำการของเว็บไซต์ขายของออนไลน์ขนาดใหญ่ใหญ่และทรงอิทธิพลทั้งในจีนและต่างประเทศอย่าง เถาเปา (taobao) เถาเปาเป็นนิยมอย่างสูงในหมู่คอสเพลย์เยอร์ (cosplayer) [1] ตั้งแต่อดีต โดยเสื้อผ้าคอสเพลย์นั้นหากผลิตที่ไทยทั้งแบบทำเองหรือสั่งตัด ล้วนแต่มีต้นทุนสูงมากทั้งส่วนที่เป็นวัสดุและค่าตัดเย็บ รวมไปถึงข้อจำกัดเรื่องเวลาที่ชุดคอสเพลย์ต้องใช้เวลาในการผลิตมากกว่าชุดทั่วไป ทำให้การพรีออเดอร์ (pre-order)[2] หรือการสั่งของต่างประเทศนั้นเป็นที่นิยมมากในหมู่คอสเพลย์เยอร์โดยเฉพาะพรีออเดอร์จากจีนซึ่งมีราคาถูกกว่า เนื่องจากปัจจัยการใช้ต้นทุนที่ต่ำและใช้เวลาการผลิตน้อย ทั้งยังมีร้านค้า SME และรายการสินค้าชุดคอสเพลย์ที่หลากหลายกว่าพันชุด (marketeer 2561) ส่งผลให้การสั่งพรีออเดอร์เว็บเถาเปา (taobao) เป็นทางเลือกที่คอสเพลย์เยอร์ไทยเลือกบริโภค
ความนิยมของเว็บไซต์เถาเปา (taobao) เติบโตมากขึ้นเมื่อการจับจ่ายกลายเป็นวัฒนธรรมป๊อป (pop culture)[3] ตัวอย่างเช่น กระแสลดราคาในวันที่ 11 เดือน 11 คนจีนจะเรียกว่า “วันคนโสด” ห้างสรรพสินค้าจะลดราคาสินค้าพิเศษในวันนี้เพื่อดึงดูดให้ผู้คนมาใช้สอย เถาเปาปรับตัวตามกระแสนิยมนี้ มีการลดราคาสินค้า และเป็นจุดกำเนิดถุงโชคดีในร้านชุดคอสเพลย์ของจีนอีกด้วย จนกลายเป็นสิ่งที่คอสเพลย์เยอร์ทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศต่างเฝ้าคอย ถุงโชคดีในเถาเปามีราคาถูกและคุ้มค่า โดยสินค้าที่นำมาทำเป็นถุงโชคดีนั้นส่วนใหญ่ก็คือสินค้าโล๊ะสต็อกของร้านจีน และสินค้าเกรดบีลงมาหรือสินค้าที่ต่ำกว่าคุณภาพร้านของตนเอง ถุงโชคดีชุดคอสเพลย์จึงเป็นที่นิยมมากขึ้นทั้งในวันที่ 11/11 และวันที่เดือนและวันที่ซ้ำกันเกิดกลายเป็นวัฒนธรรมป๊อป (pop culture) ภายหลัง เช่นวันที่ 01/01, 02/02, 03/03 เป็นต้น
ความสัมพันธ์ของคอสเพลย์เยอร์และถุงโชคดีคอสเพลย์จากจีน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมคอสเพลย์ต้องอาศัยต้นทุนในมือสูงมากในการแต่งคอสเพลย์แต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนวัสดุอุปกรณ์ เช่น วิก เสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องสำอาง คอนแทคเลนส์ พร็อพ (prop) หรือ อุปกรณ์เสริมที่อาจเป็นได้ตั้งแต่ของชิ้นเล็กๆ อย่างกระเป๋า ดอกไม้ จนไปถึงอาวุธขนาดใหญ่ที่ตัวละครต้นฉบับถือ และอื่นๆ อีกทั้งวัสดุอุปกรณ์เสริมแต่ละชิ้นเองก็มีราคาต่างออกไปขึ้นอยู่กับวัสดุการผลิต รายละเอียดของวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าว เนื่องจากการจะได้วัสดุอุปกรณ์ในการแต่งคอสเพลย์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ส่วนใหญ่จะถูกสร้างขึ้นในรูปแบบงานฝีมือ ค่าแรงที่ประดิษฐ์ ถักทอ ตัดเย็บ ด้วยฝีมือมนุษย์ส่งผลให้วัสดุดังมีค่าแรงสูง ยิ่งมีรายละเอียดมาก ชุดก็ราคาสูงตามไปด้วย
การคอสเพลย์เพื่อสื่อความเป็นตัวละครออกมา ต้องอาศัยเสื้อผ้าและอุปกรณ์เสริมหลายชนิด
ภาพโดย: CosplaySlayer
ผู้เขียนได้สอบถามกับช่างตัดชุดคอสเพลย์ ชื่อพี่เบลล์ (นามสมมติ) ผู้ที่รับตัดชุดเพลย์ออนไลน์ เบลล์กล่าวว่า ชุดคอสเพลย์มีเอกลักษณ์พิเศษคือเสื้อผ้าเกิดขึ้นในโลกสองมิติ ถูกออกแบบขึ้นจากจินตนาการ ช่างตัดชุดคอสเพลย์ต้องใช้ความสามารถสูงมากในการออกแบบแพทเทิร์นเสื้อผ้าว่าถ้าจะให้มนุษย์ใส่จริงๆ ควรทำอย่างไร เลือกใช้วัสดุอะไรที่จะเหมาะสม เบลล์เคยตั้งแต่ใช้วัสดุผ้าทั่วไป ไปจนถึงการหล่อเรซิ่น ดังนั้นชุดคอสเพลย์ที่พี่เบลล์ตัด จึงจำเป็นต้องตั้งราคาสูง โดยค่าแรงเริ่มต้นที่ 1,200 บาท รวมค่าส่ง ค่าวัสดุเริ่มต้นที่ 300 บาท ไปจนถึง 1,300 บาท
การสั่งตัดและสั่งทำชุดคอสเพลย์และอุปกรณ์ที่เห็นข้างต้นเป็นเพียงวิธีการหนึ่งเท่านั้น คอสเพลย์เยอร์ยังมีทางเลือกในการแต่งคอสเพลย์มากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็น การพรีออเดอร์สินค้าคอสเพลย์จากจีนที่วัสดุอุปกรณ์มีราคาถูกกว่าการผลิตในประเทศไทย เนื่องจากมีการผลิตในปริมาณมาก ร้านคอสเพลย์บางร้านมีกระทั่งโรงงานผลิตวัสดุอุปกรณ์คอสเพลย์ของตัวเอง การแลกชุดคอสเพลย์ทั้งชั่วคราวและถาวรระหว่างคอสเพลย์เยอร์กันเองเพื่อให้คอสเพลย์เยอร์คนหนึ่งสามารถมีประสบการณ์การแต่งคอสเพลย์ตัวละครอื่นๆ มากขึ้นโดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยมาก หรือการแต่งคอสเพลย์ที่เกิดได้จากการเช่าชุดคอสเพลย์มาสวมใส่ซึ่งเป็นบริการที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน นอกจากนี้การแต่งคอสเพลย์ก็เกิดขึ้นได้จากการซื้อถุงโชคดีชุดคอสเพลย์ที่มีลักษณะมีราคาที่หลากหลายและสามารถจับต้องได้
ตัวอย่างรายละเอียดถุงโชคดีจากจีน
ความพิเศษประการหนึ่งของถุงโชคดี ก็คือในถุงอาจจะมีจำนวนชุดคอสเพลย์มากกว่า 1 ชิ้นขึ้นไป ซึ่งทำให้รู้สึกว่าการซื้อถุงโชคดีนั้นไม่ได้เสี่ยงจนเกินไปนัก มีโอกาสสูงที่จะคืนกำไรให้คอสเพลย์เยอร์ที่มีทุนต่ำแต่ต้องการแต่งคอสเพลย์ ถุงโชคดีจึงถูกให้คุณค่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังในกิจกรรมคอสเพลย์ ทำให้แม้แต่คนที่ฐานะไม่ดีมากก็สามารถแต่งคอสเพลย์ได้ นอกจากนี้ในบางครั้ง คอสเพลย์เยอร์ก็เลือกที่จะชักชวนเพื่อนหรือผู้ที่สนใจถุงโชคดีมาหารค่าถุงโชคดี กระทั่งเป็นเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน กล่าวคือถุงโชคดีทำหน้าที่ดึงความสัมพันธ์ของคนสองคนเข้าด้วยกันระยะหนึ่งทั้งการตัดสินใจ อีกทั้งปัจจุบันกิจกรรมการสุ่มของเกิดขึ้นหลากหลายเป็นจำนวนมากเช่น กาชาปอง[4] ไข่LOL[5] กล่องสุ่มต่างๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมป๊อป (pop culture) ของเด็กและวัยรุ่นที่ชอบกิจกรรมที่มีความรู้สึกต้องลุ้นกับของสุ่มได้ จนถูกขนานนามว่า “มิตรรักนักสุ่ม” ทำให้ถุงโชคดีชุดคอสเพลย์ก็ถูกให้คุณค่าในฐานะของสุ่มที่สามารถลองได้ของนักสุ่มและคอสเพลย์เยอร์ที่รักในการสุ่มของอีกด้วย
ระเบียบวิธีวิจัย
ใช้วิธีสัมภาษณ์ โดยเป็นผู้หญิงจำนวน 4 คน อายุระหว่าง 16-31ปี มีประสบการณ์คอสเพลย์เยอร์ระหว่าง 2-6 ปี ผู้ถูกสัมภาษณ์มีดังนี้ ได้แก่ ฟ้า(นามสมมติ)[6] , Littlefluid(นามสมมติ)[7] , ธัญญา(นามสมมติ)[8] , พี่แอนนา(นามสมมติ)[9] , uri (นามสมมติ)[10]
ประสบการณ์เสี่ยงถุงจากประเทศต่างๆ
ผู้เขียนพบว่า ชุดคอสเพลย์ในถุงสุ่มจีนซึ่งมีราคาถูกนั้นมักเป็นของเกรดต่ำกว่าร้านจะนำไปขาย กล่าวคือ เป็นของที่มีตำหนิเล็กน้อยแต่สามารถสวมได้แต่แล้วหากมาใส่รวมกันในถุงเดียวก็สามารถทำให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่า จากการสัมภาษณ์กับพี่แอนนา ก็ได้เล่าถึงตำหนิของที่ได้ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าที่บางเกิน หรือตัวกระโปรงที่สั้นเกิน อีกทั้งประสบการณ์ที่แกะถุงโชคดีก็ได้กางเกงชั้นจีสตริงมา 1 ตัวรวมในถุงนั้นแต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าถุงนั้นขาดทุนหรืออย่างไร

ที่มา : รูปโดยพี่แอนนาได้รับการอนุญาตในการใช้รูปประกอบแล้ว
ถุงโชคดีของจีนมีความคล้ายคลึงกับถุงโชคดีในไทย แต่ของถุงโชคดีไทยนั้นเป็นลักษณะรวมของปนกันแต่มักจะเน้นขายเอากำไรมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด คนไทยมักจะเรียกว่า “ถุงสุ่ม” มากกว่าถุงโชคดี เอกลักษณ์ของถุงสุ่มไทยคือ ลูกค้าสามารถระบุราคาของถุงได้เอง แล้วผู้ขายก็จะทำหน้าที่จัดชุดของสุ่มให้ลูกค้าตามจำนวนเงินนั้น ธัญญ่าอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างถุงโชคดีจีนและญี่ปุ่นว่า ถุงโชคดีของประเทศญี่ปุ่นเป็นหน้าเป็นตาให้กับแบรนด์ กล่าวคือถุงโชคดีของแบรนด์หนึ่งๆ สามารถช่วยโปรโมทร้านค้าได้ อีกทั้งเป็นกลไกล้างสต็อกสินค้าของฤดูกาล (season) โดยเฉพาะเสื้อฤดูเก่าๆ ที่ขายออกยาก ดังนั้นของที่นำมาบรรจุถุงโชคดีจึงยังคงเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ
ผู้เขียนพบว่า คนญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะบริโภคเสื้อผ้าแบบ “ฟาสแฟชั่น” (Fast fashion) บริโภคเสื้อผ้าตามกระแสที่เกิดจากการแนะนำเสื้อผ้าตามนิตยสารแฟชั่น กระแสจากคนดัง กระแสตามการริโภคของคนหมู่มาก เสื้อผ้าบนราวจึงตกรุ่นอย่างรวดเร็ว และถุงโชคดีก็เป็นทางเลือกที่ดีในการระบายสินค้าค้างสต็อกออกไปคราวละมากๆ และยังช่วยโปรโมตแบรนด์ไปด้วยในคราวเดียวกัน ธัญญ่ามีประสบการณ์ซื้อถุงโชคดีญี่ปุ่นซึ่งเป็นเสื้อผ้าฤดูกาลเก่าของแบรนด์หนึ่งในมูลค่า 5 พันบาท ธัญญ่าแสดงความคิดเห็นว่าถุงโชคดีของประเทศญี่ปุ่น เมื่อเทียบประสบการณ์กับของประเทศจีนแล้ว ในด้านราคาต้องยกให้ประเทศจีน แต่ในด้านคุณภาพขอยกให้ประเทศญี่ปุ่น

ตัวอย่างสิ่งของจากถุงโชคดีของประเทศญี่ปุ่นของธัญญ่า
ที่มา : รูปโดยธัญญ่าได้รับการอนุญาตในการใช้รูปประกอบแล้ว
ชั่วขณะแห่งความหวัง
จากการสัมภาษณ์ผู้มีประสบการณ์ซื้อถุงโชคดีคอสเพลย์จากจีนคือ ฟ้า แอนนา ธัญญา พบว่าทั้งสามคนต่างก็มีความเห็นต่อการบริโภคสินค้าชนิดนี้ไปในทางเดียวกัน คือไม่ได้คาดหวังกับสิ่งของที่ได้ ทว่าก็ไม่ใช่การเผื่อใจเอาไว้เจ็บ “ไม่ได้โฟกัสเรื่องสิ่งของที่ได้ขนาดนั้น” หากชุดสวยก็จะเก็บเอาไว้ ไม่สวยก็เพียงขายต่อหรือมอบให้คนอื่นก็ไม่ได้รู้สึกขาดทุน นอกจากนี้ผู้เขียนก็ยังพบว่าแอนนามักจะซื้อถุงโชคดีทีละมากๆ คัดเสื้อผ้าที่ตนชอบและที่ไม่ชอบก็สามารถขายสร้างกำไรอีกทีอีกด้วย ผู้ให้สัมภาษณ์พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าสิ่งที่บริโภคจริงๆนั้นคือความหวังที่จะได้รับโชคดี การเล่นกับดวงในชั่วขณะที่แกะถุงโชคดีออกมา จังหวะที่ต้องมาลุ้นกับสิ่งของที่ตนเองจะได้ เป็นความรู้สึกที่มีเพียงการแกะถุงโชคดีเท่านั้นที่จะมีได้ ยกตัวอย่างเช่น LittleFluid แม้จะเล่าว่าตนเองมีประสบการณ์ที่โชคไม่ดี ไม่ได้ของที่ตนเองชอบซักครั้ง ถึงขั้นอารมณ์เสียกับของที่ได้รับเพราะของนั้นดูไม่ใช่เสื้อคอสเพลย์แต่เป็นเสื้อผ้าทั่วไปมากกว่า แต่เมื่อถามว่าต้องการซื้อถุงโชคดีอีกไหม ก็ตอบว่าต้องการ “ชอบจังหวะที่แกะถุงโชคดีออกมา” เช่นเดียวกับฟ้า ที่กล่าวว่าความรู้สึกของการแกะถุงโชคดีนั้นเต็มไปด้วยความรู้สึกดีและตื่นเต้น จึงอยากแกะถุงโชคดีบ่อยๆ เพื่อรับรู้ความรู้สึกนั้น
นอกจากนี้ การบริโภคถุงโชคดียังสามารถสร้างตัวตนในโซเชียลมีเดียได้อีกด้วย การผลิตวิดีโอหรือรูปภาพที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแกะถุงโชคดีดึงดูดผู้ชมและผู้ติดตามได้เป็นจำนวนมาก นำไปสู่การสร้างเครือข่ายสังคมผู้ที่ชอบถุงโชคดีเหมือนกัน อย่างที่ uri เล่าว่าตนเองมักจะถ่ายคลิปเวลาแกะถุงโชคดี ลงในอินสตราแกรมจนมีคนมาเห็นและคอยเฝ้าติดตาม นำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์จนเกิดสังคมคนชอบถุงโชคดี
คลิปวิดีโอการเปิดถุงโชคดีที่สั่งซื้อมา
วัตถุที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน
ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ถุงโชคดีคอสเพลย์จากจีนสามารถตอบโจทย์ความต้องการของคอสเพลย์ชาวไทยได้เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้น ถุงเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงวัตถุของการเสี่ยงโชค แต่ยังเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน และทำให้ชุมชนของคนที่มีความสนใจร่วมกันขยายวงกว้างออกไป
ถุงโชคดีคอสเพลย์ราคาประหยัดจากจีนเปิดโอกาสให้คนที่มีทุนน้อยเข้าสู่สังคมคอสเพลย์ได้ และยังเป็นวัตถุที่ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างคนที่สนใจการคอสเพลย์ก่อตัวขึ้นได้ รูปแบบการสั่งซื้อถุงโชคดีคอสเพลย์จากจีนที่มีลักษณะเกิดขึ้นถี่ๆ อย่างน้อยเดือนละครั้งนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในสังคมของคอสเพลเยอร์ เช่น การแท็ก (tag) เรียกคนอื่นให้ทราบถึงข่าวสาร รายละเอียดของสินค้าถุงโชคดี หรือแม้แต่เป็นประเด็นการเริ่มต้นบทสนทนาจากถุงโชคดีคอสเพลย์ถุงหนึ่ง การหารถุงโชคดีนอกจากเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ยังช่วยแบ่งของในถุงที่อาจมีมากเกินและไม่ตรงความต้องการของคนหนึ่งแต่อาจตรงกับความต้องการของอีกคน ซึ่งการหารค่าถุงโชคดีกันนี้เกิดขึ้นได้ทั้งกับคนที่รู้จักกันอยู่แล้วและไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ความไม่แน่นอน ความคาดเดาไม่ได้ในถุงโชคดีของวงการคอสเพลย์จึงไม่ได้เป็นความเสี่ยงที่จะขาดทุน แต่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการสานสัมพันธ์กับคอสเพลเยอร์คนอื่นๆ
พัฒนาจากงานในรายวิชา AN226 ความรู้เบื้องต้นว่าด้วยวัตถุวัฒนธรรมและวัฒนธรรมทัศนา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปีการศึกษา 2/2563
[1] คอสเพลย์เยอร์ (cosplayer) คือ ผู้แต่งคอสเพลย์ บางครั้งถูกเรียกด้วยชื่ออื่น เช่น เลเยอร์ คอสเซอร์ เป็นต้น
[2] พรีออเดอร์ หรือการสั่งสินค้าจากต่างประเทศมีลักษณะสั่งสินค้าและโอนเงินที่ต้องการผ่านแม่ค้าคนกลาง จากนั้นแม่ค้าคนกลางทำหน้ากดสั่ง ติดตามจากจีนและส่งสินค้าให้ลูกค้า
[3] วัฒนธรรมป๊อป ( pop culture ) คือ วัฒนธรรมที่เป็นที่นิยมของผู้คนในสมัยนั้น (สถาบันการศึกษานานาชาติ 2561)
[4] กาชาปอง คือ ตู้ขายของเล่นอัตโนมัติโดยการหยอดเหรียญลงไปแล้วบิด แคปซูลก็จะหล่นลงมาให้ผู้หยอดเหรียญ (gashadoko 2564)
[5] ไข่LOL คือ ของเล่นเซอร์ไฟรส์ที่อยู่ในลูกบอล โดยจะสุ่มตัวตุ๊กตา เครื่องประดับ และเสื้อผ้ามาให้ (Salie 2561)
[6] ฟ้า(นามสมมติ) สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2564
[7] Littlefluid(นามสมมติ) สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2564
[8] ธัญญา(นามสมมติ) สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2564
[9] พี่แอนนา(นามสมมติ) สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2564
[10] uri (นามสมมติ) สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2564
เกี่ยวกับผู้เขียน

ปัญญดา อัศวจิตตานนท์
นักศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาการวิจัยทางสังคม
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- This author does not have any more posts.