เผยแพร่ครั้งแรกที่ Gallery VER เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2559
ปัญหาประการหนึ่งของการกำหนดคุณค่าและความหมายของทัศนศิลป์ (Visual Arts) ก็คือทัศนะที่ลุ่มหลงในตำแหน่งแห่งที่อันตรงข้ามกับการค้นหาความรู้แบบวิทยาศาสตร์ของตนเอง ผ่านการพยายามพรรณนาความรู้สึกนานาชนิด ความคิดเช่นนี้นับว่าเป็นสำนึกที่ผิดพลาดโดยสิ้นเชิง เพราะโดยเนื้อแท้ การทำงานด้านทัศนศิลป์คือมรดกของยุคแสงสว่างทางปัญญาและมีญาณวิทยาในการเข้าถึงความจริงไม่แตกต่างจากวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับดวงตาและสภาวะการมองเห็นเป็นศูนย์กลางในการรับรู้โลก (Ocularcentrism) ทัศนศิลป์ได้มอบให้การมองเห็นเป็นประจักษ์พยานสำคัญในการดำรงอยู่ของงานศิลปะมากกว่าผัสสะประเภทอื่น พันธกิจในการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินจึงไม่มีอะไรมากไปกว่าการนำเสนอวิธีคิดให้ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมผ่านวิถีแห่งการมอง
พิจารณาในแง่นี้ งานศิลปะจึงเป็นสิ่งที่ถูกคุมขังอยู่ภายในคุกของดวงตา ผลงานศิลปะจึงเป็นได้เพียงวัตถุวิสัยที่ถูกจับจ้อง ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา
การปลดปล่อยศิลปะจากพันธนาการดังกล่าว เป็นสิ่งที่ศิลปินและนักวิชาการให้ความสำคัญ ท่ามกลางการเติบโตของกระแสความคิดว่าด้วยวัฒนธรรมการทัศนา (Visual Culture) ในสังคมสมัยใหม่ การมองเห็นถือเป็นผัสสะหลักในการสร้างประสบการณ์ทางสังคมและเวทีของการครอบงำทางอุดมการณ์อย่างเข้มข้น ผู้คนล้วนสร้างและถูกสร้างการจดจำทางสังคมผ่านการมองในชีวิตประจำวันอันเต็มไปด้วยการจัดแสดง ไม่ว่าจะเป็น สถาปัตยกรรมของอาคารสถานที่, แผ่นป้ายโฆษณา, ร้านขายของข้างทาง, การแต่งกายของผู้คน, การแสดงในพิพิธภัณฑ์, ตลอดจนการนำเสนอข่าวทั้งในพระราชสำนักและข่าวชาวบ้านร้านตลาด ทั้งหมดนี้ สิ่งที่ผู้ศึกษาวัฒนธรรมการทัศนาสนใจคือ นัยทางการเมืองของสิ่งที่ปรากฏ (Presence) และ ไม่ปรากฏ (Absence) โดยเฉพาะอย่างหลังซึ่งไม่อาจใช้ดวงตาสำรวจอย่างถ้วนทั่วได้
ชุดผลงานศิลปะของทัศนัย เศรษฐเสรี ในชื่อ “WHAT YOU DON’T SEE WILL HURT YOU” ได้ดำเนินอยู่ในการท้าทายขนบของการมองและพาผู้ชมไปสู่สิ่งที่ไม่อาจมองเห็นได้อย่างชัดเจน ทัศนัยปักหมุดงานศิลปะชุดนี้จากการค้นหาภาพถ่ายสถาปัตยกรรมอันเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองและการสร้างสังคมไทยให้ทันสมัยเพื่อนำมาเป็นฉากหลังสุดของชิ้นงาน อาทิ ภาพการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475, สถานีรถไฟหัวลำโพง และโรงแรมรัตนโกสินทร์ เป็นต้น ทัศนัยมีความเชื่อว่า สถาปัตยกรรมเหล่านี้มิได้เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ก่อรูปด้วยคอนกรีตจนมีรูปทรงงามแปลกตา ทว่าถูกก่อขึ้นมาด้วยสถาปัตยกรรมทางสายตาของผู้คนที่เห็นพวกมันยืนเป็นประจักษ์พยานการเปลี่ยนผ่านในสังคมและความรุนแรงทางการเมืองหลายช่วงสมัย
ชั้นถัดมาบนผืนผ้าจีวรทัศนัยได้เปลี่ยนพื้นที่ฉากหน้าของสถาปัตยกรรมหรือพื้นที่เกิดเหตุทางการเมืองให้เป็นเสมือนโรงมหรสพขนาดใหญ่อันประกอบไปด้วยสีสันที่ทั้งตระการตาและชวนหดหู่, เส้นสัญลักษณ์ ตลอดจนร่องรอยขีดทับ และพื้นผิวขรุขระ ทั้งหมดเกิดจากการแปะทับด้วยกระดาษที่ใช้เทคนิคการตัดอันเป็นพื้นฐานดั้งเดิมของการประดับประดางานเฉลิมฉลองตามประเพณี ผืนผ้าจีวรที่ถูกปะติดปะต่อด้วยกระดาษในงานแต่ละชิ้นของเขาจึงกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันของช่วงเวลาต่างๆ ที่ถูกกำหนดด้วยประสบการณ์ร่วมทางการเมือง ทว่า ถูกจดจำแตกต่างกันออกไป
นอกจากนี้ ชิ้นงานขนาดใหญ่แต่ละชิ้นยังส่งผลต่อปฏิกิริยาทางอารมณ์ของผู้พบเห็น ผู้ชมแต่ละคนจะถูกผลักออกมาจากความใกล้ชิดกับผลงานเพื่อค้นหาระยะในการมอง (View from afar) ตลอดจนจุดเริ่มต้นและจุดจบของสายตา เพื่อกลับไปสู่ความใกล้ชิดกับผลงานแต่ละชิ้นอีกครั้ง นี่คือการก่อกวนสายตาด้วยการอำพรางศักยภาพของตาเนื้อและนำผู้ชมไปสู่สภาวะไร้การมองเห็น (Invisibility) ในการทำความเข้าใจสิ่งที่ไม่ปรากฏและส่งผลต่อการจดจำความรุนแรงทางการเมือง
โดยส่วนตัว ผมรับแรงปะทะจากภาพซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นพิเศษ หัวใจสำคัญของเหตุการณ์ในครั้งนั้นคือการที่สามัญชนกล้าที่จะลิขิตและกุมชะตาของตนเองเอาไว้ โดยไม่ยอมก้มหัวให้ชนชั้นปกครองเข้ามาตัดสินชี้นำ นี่คือ การถือกำเนิดของตัวตนใหม่ทางการเมืองและการประกาศก้องว่าเป็นอัตบุคคลแห่งเสรีภาพ
ทว่า จิตวิญญาณดังกล่าวในสังคมไทยมีอายุขัยที่สั้นนัก
ทัศนัยทวงถามสิ่งที่สังคมมิได้จดจำ ด้วยดวงตาจ้องกลับแต่ละดวง สลับกับพิรุณเลือดที่ตกลงมาบดบังฉากหลัง อาณาบริเวณแห่งสถาปัตยกรรมที่ถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่การท่องเที่ยว, การบวงสรวงลัทธิพิธี และโรงมหรสพแห่งลัทธิราชาชาตินิยม ทัศนัยไม่ได้ถามเราเพียงว่าพวกเราเห็นอะไรในภาพบ้าง? แต่การสบตาระหว่างเราและดวงตาที่มีอยู่มากมายในภาพของเขาทำให้เราได้ยินเสียงของใครบ้างในจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์, เรารับรสขมขื่นแห่งชีวิตที่มิอาจเป็นไทบ้างไหม, เคยดอมดมกลิ่นของเสรีภาพมากน้อยเพียงไร และเคยสัมผัสกับชีวิตที่เสมอภาคและทัดเทียมกันหรือไม่ ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่เคยเป็นอุดมคติในปรัชญาความเป็นมนุษย์แต่เราล้วนถูกลวงตาให้จดจำแต่สิ่งที่ปรากฏ จนหลงลืมสิ่งที่ถูกทำให้ลืมและเลือนหายไปในสังคมไทย
ดวงตาเป็นทั้งสัญลักษณ์ของการเห็นและความมืดบอด เป็นทั้งสัญลักษณ์ของความรู้แจ้งและความขลาดเขลา ยามที่เราสบตากับใครสักคน ใบหน้าของเขาและเธอจะปรากฏขึ้นในใจของเรา ดวงตาที่ปรากฏขึ้นในผลงานชิ้นนี้เล่า ดวงตาที่ไม่สมประกอบเพราะมีอยู่ดวงเดียวเต็มผืนผ้า เราเห็นใบหน้าใครซ่อนอยู่ในนั้น? และเราจะจดจำใบหน้าของผู้คนที่ถูกทำให้เลือนหายไปในประวัติศาสตร์ได้อย่างไร?
ในห้วงยามที่คนแทบทุกกลุ่มในสังคมมีบทบาทในการขับเคลื่อนทางการเมืองสูงเช่นทุกวันนี้ การ “เบิกเนตร”ความตื่นตัวทางการเมืองก็เกิดขึ้นกับบรรดาศิลปินน้อยใหญ่ซึ่งพยายามชี้นำและสนับสนุนการเมืองทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ทว่า ด้วยดวงเนตรของศิลปินเหล่านั้น พวกเขาสร้างการจดจำอะไรให้กับสังคม? หรือทำได้เพียงการผลิตซ้ำกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐท่ามกลางการกล่าวอ้างว่าตนเป็นอิสระจากการเมืองในฐานะผู้ทำงานศิลปะ
การรับเอาดวงตาที่มิอาจมองเห็นและใบหน้าที่สังคมมิได้จดจำเข้ามาอยู่ในใจดูจะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ศิลปินและผู้ชมงานปลดเปลื้องตนเองจากโซ่ตรวนที่ผูกมัดตนเองและศิลปะ เป็นการเปิดช่องทางแห่งความหวังให้สาธารณะชนกับงานศิลปะได้มีโอกาสสร้างบทสนทนาระหว่างกันมากขึ้น
เช่นนี้แล้ว ทัศนศิลป์ในสังคมไทยก็คงสามารถขยายพรมแดนของการมองเห็นไปได้อย่างกว้างไกลเกินกว่าขอบฟ้าที่เป็นอยู่
สถานที่ : แกลเลอรี่เวอร์ และ คาเทล อาร์ตสเปซ, ซอยนราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15)
ระยะเวลา : 6 ตุลาคม – 20 พฤศจิกายน 2559