Skip to content

ในช่วงทศวรรษ 2540-2550 แผ่นซีดีได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นแผ่นเพลง แผ่นหนัง แผ่นรายการโทรทัศน์ เราสามารถพบร้านค้าที่จำหน่ายซีดีเหล่านี้ได้ตามสถานที่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นตลาดนัดหรือห้างสรรพสินค้า เดิมทีการดูหนังฟังเพลงเป็นเรื่องที่ผูกติดกับพื้นที่และเวลา ต้องไปโรงภาพยนตร์ สถานบันเทิง หรือรอฟังจากสถานีวิทยุ ต่อมาจึงมีเทป ซึ่งทำให้ผู้คนสามารถเลือกดูและฟังได้ในสถานที่และเวลาที่สะดวกสบายมากขึ้น แต่ก็ยังมีราคาแพงและพกพาไม่ได้ง่ายดายนัก การมาถึงของแผ่นดิสขนาดพกพา (compact disc) หรือ “ซีดี” จึงถือเป็นสิ่งที่ตอบสนองความต้องการที่จะรับชมและรับฟังสื่อต่างๆ ไปอีกขั้นหนึ่ง มีขนาดเล็กลง มีความจุที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ราคาก็ถูกลง เปิดชมซ้ำแล้วซ้ำอีกได้มากเท่าที่ต้องการ โดยไม่ต้องออกจากบ้าน ไม่ต้องรอรอบภาพยนตร์ ไม่ต้องรอดีเจ ไม่ต้องรอนั่ง “กรอ” เทป

คุณสมบัติของแผ่นซีดีที่กล่าวมาไม่ได้เพียงอำนวยให้ความต้องการที่มีอยู่เดิมสะดวกง่ายดายขึ้น แต่ยังสร้างความต้องการและกิจกรรมใหม่อีกหลายประการให้กับผู้ชมผู้ฟังด้วย กล่าวคือความจับต้องได้ของแผ่นซีดีนำไปสู่การเป็นเจ้าของวัตถุ โดยการซื้อแผ่นซีดีนั้นเปรียบดังกับการมีกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของสิ่งของชนิดนี้อย่างแท้จริงทั้งยังมีรูปแบบอันเป็นรูปธรรม  ประสิทธิภาพในการจัดเก็บสื่อของมันทำให้สื่อบันเทิงมีความหลากหลายเพิ่มขึ้นมาก ไม่ว่าใครต่างก็สามารถซื้อหาสิ่งที่ต้องตรงรสนิยมของตนมาไว้ในครอบครอง บ้างกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ บ้างกลายเป็นของสะสมที่มีมูลค่าสูงเพราะหายาก บ้างกลายเป็นการลงทุนในการปล่อยให้เช่าในร้านเช่าซีดีที่พบได้ทั่วทุกมุมเมือง

แน่นอนว่าในเมื่อยังคงเป็นวัตถุ แผ่นซีดีก็ยังมีข้อจำกัดในตัวของมันเอง แม้จะกะทัดรัดกว่าม้วนฟิล์มและม้วนเทปในยุคก่อน แต่ก็ยังคงต้องอาศัยอุปกรณ์อีกหลายชิ้นและสายสัญญาณ สายไฟอีกหลายเส้น ต้องมีโทรทัศน์ เครื่องเล่นซีดี ลำโพง ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถพกพาไปด้วยได้ทุกที่ทุกเวลา และแม้จะไม่มีปัญหาเทปยานจากการเล่นซ้ำมากๆ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นสื่อที่คงทนถาวร แผ่นซีดียังคงเป็นวัตถุที่สามารถชำรุด เกิดรอยขีดข่วน จนส่งผลต่อคุณภาพการรับชม เกิดภาพกระตุก หรืออาจเปิดเล่นไม่ได้อีกต่อไป

เทคโนโลยีได้เติบโตไปข้างหน้าอยู่เสมอ สิ่งที่เราอาจกล่าวว่าเป็นสิ่งทันสมัยในวันนี้ก็ย่อมกลายเป็นล้าสมัยในเวลาต่อมา ในกรณีนี้แผ่นซีดีก็เช่นกัน เมื่ออินเทอร์เน็ตมีความเร็วสูงขึ้นและราคาถูกลงมาก ความนิยมแผ่นซีดีก็เริ่มจางหายไป ประกอบกับอุปกรณ์พกพายุคถัดมาอย่างสมาร์ทโฟน (smartphone) และแท็บเล็ต (tablet) ซึ่งได้ทำให้สื่อออนไลน์กลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายสามารถเปิดได้ทุกที่ทุกเวลา สื่อบันเทิงออนไลน์จึงเป็นสิ่งที่มาแทนที่ซีดีอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับที่มันเคยแทนที่ม้วนเทปมาก่อน

อุตสาหกรรมสื่อบันเทิงเองก็ผันตัวเองไปสู่รูปแบบใหม่ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการตามกลไกการตลาดที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี ผู้ให้บริการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นแบบออนไลน์ ผู้ใช้สามารถเลือกบริโภคสิ่งที่ต้องการผ่านเครือข่ายหรือแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เช่น  การรับชมภาพยนตร์ รายการต่าง ๆ ผ่าน Netfilx หรือการสตรีมมิ่งเพลงผ่าน Spotify ในแง่การใช้บริการ ผู้ใช้บริการดูเหมือนจะจ่ายเงินรับชมและฟังในราคาที่ถูกลง เนื่องจากมูลค่าของสื่อบันเทิงไม่ได้ผูกติดอยู่กับวัตถุที่บรรจุสื่อ และเปลี่ยนมาเป็นช่องทางในการเข้าถึง หรือการจ่ายค่าสมาชิก (subscription) แทน การใช้บริการประเภทนี้สามารถรับชมได้ไม่จำกัดจำนวน ไม่จำกัดสถานที่ ลองจินตนาการว่าหากเราตั้งใจจะชมภาพยนตร์ที่มีหลายภาค ก็จะต้องจ่ายเงินไปกับภาพยนตร์เรื่องนั้นเป็นจำนวนมาก เช่น หากต้องการดู Harry Potter ที่มีทั้งหมด 8 ภาค รวมกับเรื่องราวภาคต่ออย่าง Fantastic Beasts อีก 2 ภาค รวมทั้งสิ้นเป็น 10 ภาค ถ้าแผ่นภาพยนตร์มีราคาแผ่นละประมาณ 200 บาท แสดงว่าผู้บริโภคจะต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับภาพยนตร์ชุดนี้ 2,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เท่ากับการเป็นสมาชิกสตรีมมิ่งได้นานหลายเดือน ในแง่นี้จึงดูเหมือนว่าบริการออนไลน์เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและให้ประโยชน์แก่ผู้รับบริการอย่างมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว สื่อบันเทิงที่รับชมผ่านผู้ให้บริการต่าง ๆ เท่ากับว่ากฎเกณฑ์ในการเข้าถึงภาพยนตร์และเพลงต่างๆ ล้วนเป็นไปตามเงื่อนไขของให้ผู้บริการทั้งสิ้น 

หากพิจารณาไปถึงประเด็นว่าด้วยวิธีการออกแบบ UI (user interface) และ UX (user experience) จะพบว่าทั้งสองสิ่งนี้มีส่วนช่วยอย่างสำคัญในสร้างความนิยมให้แก่บริการสตรีมมิ่งต่างๆ  UI คือการออกแบบหน้าตาของโปรแกรม เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่นที่ผู้ใช้บริการสามารถรับรู้ได้จากภายนอกผ่านการสัมผัสหรือการมองเห็น ในขณะที่ UX คือการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกและการสร้างประสบการณ์ภายในของผู้ใช้บริการตามเป้าหมายของผู้ออกแบบ ทั้งนี้ยังรวมถึงการสร้างคอนเทนต์หรือเรื่องราวที่น่าสนใจให้ผู้ใช้บริการเกิดความพึงพอใจและเลือกที่จะใช้บริการเป็นระยะเวลานาน ระบบที่จดจำเรียนรู้แนวของสื่อที่ผู้ใช้เลือกรับชมและฟังเพื่อแนะนำภาพยนตร์และเพลงที่ตรงความสนใจมาให้เลือกอีกไม่จบสิ้น  การออกแบบเหล่านี้ดูเหมือนไม่ใช่วัตถุที่จับต้องได้ ทว่ากลับเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลเหนือผู้ใช้บริการอย่างมาก ผู้ให้บริการต่างก็แข่งกันกันพัฒนารูปแบบการนำเสนอทั้งในด้านรูปแบบโปรแกรมและวิธีการใช้ให้ตรงกับความต้องการเฉพาะตัวบุคคล (personalized) มากขึ้นเพื่อกล่อมให้ผู้ชมและผู้ฟังต่ออายุสมาชิกออกไปทุกเดือน แม้จะบอกว่าเราสามารถยกเลิกบริการได้ทุกเมื่อก็ตาม

อินเทอร์เน็ตได้เปิดช่องโหว่ให้การละเมิดลิขสิทธิ์ทำได้ง่ายดายยิ่งกว่าก่อน การบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ก็ทำได้ยากขึ้นมากเมื่อสื่ออยู่ในรูปแบบที่จับต้องได้ยากและการรับสื่อก็เกิดขึ้นในทุกที่ทุกเวลา เปิดให้มีช่องทางการละเมิดที่หลากหลายและสามารถทำได้ง่ายกว่าสื่อที่จับต้องได้อย่างแผ่นซีดีและแผ่นเสียง ด้วยเหตุนี้เอง รูปแบบการให้บริการแบบสตรีมมิ่งจึงใช้แก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ได้เป็นอย่างดี เพราะผู้รับบริการถูกทำให้เชื่อว่าตนเป็นฝ่ายได้เปรียบในเงื่อนไขการซื้อขายเช่นว่า การจัดการเช่นนี้ถึงแม้จะแก้ปัญหาการซื้อขาย แต่กลับกลายเป็นว่าประเด็นของการเอาเปรียบผู้ใช้บริการกลับถูกยกขึ้นมาพูดถึงแทน เช่นการถกเถียงถึงเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของหรือสิทธิการเข้าถึงในการเข้าใช้บริการของสื่อออนไลน์ ทั้ง ๆ ที่ผู้ใช้บริการได้เสียค่าบริการเหมือนกับสื่อที่จับต้องได้แต่มีสิทธิ์ในสิ่งของชิ้นนั้นต่างกัน  ซีรีส์หรือภาพยนตร์ที่เราชื่นชอบ อยากดูซ้ำแล้วซ้ำเล่า อาจหายไปจากรายการของเราในวันถัดไปหากผู้ให้บริการตัดสินใจถอดมันออก บริการสื่อบันเทิงออนไลน์จึงไม่เพียงแค่อำนวยให้ความต้องการที่มีอยู่เดิมสะดวกง่ายดายขึ้นไปอีก แต่ในขณะเดียวกันก็พรากเอาความต้องการบางอย่างที่แผ่นซีดีเคยให้ไว้กับเราไปด้วย

แผ่นซีดีได้เดินทางผ่านช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านต่างๆ แรกเริ่มได้รับความนิยมเนื่องจากเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าทันสมัย สะดวกสบาย อีกทั้งยังมีคุณค่าทางจิตใจ แผ่นซีดีจึงเป็นวัตถุที่แสดงถึงการเป็นเจ้าของสิ่งของทั้งในแง่ทางกายและทางใจ แต่เมื่อมีการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต แผ่นซีดีที่เคยได้รับความนิยมก็ค่อยๆ สูญหายไปในที่สุด คุณค่าของสื่อบันเทิงที่เคยถูกบันทึกอยู่บนแผ่นซีดีถูกนำมาประกอบขึ้นใหม่ ในรูปแบบและเงื่อนไขที่จับต้องได้ยากขึ้น และดูเหมือนว่าจะถูกกำกับควบคุมโดยผู้ให้บริการสตรีมมิ่งในโลกออนไลน์แทน เรื่องราวของแผ่นซีดีสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่เรียกว่าความทันสมัย ความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของประสิทธิภาพและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ยังเป็นเรื่องของการเปลี่ยนผ่านคุณค่าของวัตถุที่สัมพันธ์กับมนุษย์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวัตถุไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งหากแต่มีการเดินทางอยู่เสมอภายใต้การให้ความหมาย การให้คุณค่า การนำเสนอตามวัฒนธรรมการบริโภคของมนุษย์และสังคม

เกี่ยวกับผู้เขียน

242299723 898545164413356 464518882692572258 n
กานต์มณี อนุจร

นักศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาการวิจัยทางสังคม
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

242229216 533403741286016 7244889468656643057 n
ฐิติภา หนูรอต

นักศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาการวิจัยทางสังคม
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

242433800 192775509499152 911392888613029336 n
นจิรา ออมทรัพย์

นักศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาการวิจัยทางสังคม
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

242393948 881079642829284 4743775206113502806 n
ปาณิสรา พิมพ์สุวรรณ์

นักศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาการวิจัยทางสังคม
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด