“หากคำว่า ‘Disenchantment’ สำหรับนักสังคมวิทยาชาวเยอรมันอย่างแม็กซ์ เวเบอร์ (Max Weber) หมายถึงการคลี่คลายตัวของประวัติศาสตร์ไปสู่กระบวนการใช้เหตุผลของมนุษย์ที่เพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับแล้ว Disenchantment สำหรับ แมตต์ เกรนิง (Matt Groening) ผู้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนชุดอันลือชื่ออย่าง เดอะซิมป์สัน (The Simpson) ซึ่งมีเนื้อหาล้อเลียนเสียดสีสังคมอเมริกันอย่างเผ็ดร้อน ตลอดจนเป็นผู้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนชุดชื่อเรื่องดังกล่าวจะหมายถึงอะไร”
แม้จะเป็นช่วงปิดภาคการศึกษาของการเรียนมานุษยวิทยาในระดับปริญญาโทมาได้สักพักหนึ่งแล้ว การพักผ่อนสักเล็กน้อยหลังจากเหน็ดเหนื่อยกับการอ่านหนังสือที่ดูหนาจนน่าขนลุกและบทความวิชาการกองโตมากว่า 4 เดือนสำหรับผู้เขียนดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ดีก่อนเขียนรายงานปลายภาคส่งอาจารย์ประจำวิชาก่อนขึ้นปีใหม่ หากการพักผ่อนเป็นประตูบานใหญ่ของทางเลือกย่อย ๆ อีกมากมาย การเลือกไม่อ่านหนังสือสำหรับการพักผ่อนอันเล็กน้อยนี้ก็ดูเหมือนจะไม่เลว เมื่อหน้าจอคอมพิวเตอร์เปิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง การเปิดขึ้นของมันในครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อให้ผู้เขียนทำงานเอกสารหรือเขียนรายงานน่าปวดหัวเหมือนดั่งเคย หากแต่เป็นการเปิดขึ้นเพื่อใช้เวลากับเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งนำพาผู้เขียนไปสู่โลกอันหฤหรรษ์ของภาพยนตร์การ์ตูนชุดอันมีชื่อเรื่องชวนสะดุดตาอย่างเรื่อง Disenchantment
สำหรับนักศึกษาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่เคยผ่านการเล่าเรียนแนวคิดและทฤษฎีมาอย่างชุ่มโชก คำว่า disenchantment ดูจะเป็นคำที่ให้ความรู้สึกคุ้นเคยอย่างน่าประหลาดในฐานะรากฐานวิธีคิดต่อการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในลักษณะหนึ่ง กล่าวคือ ในเบื้องต้นที่สุด คำว่า disenchantment ในภาษาไทยอาจแปลได้ว่าเป็นการคลายมนต์เสน่ห์ หรือก็คือการไม่รู้สึกหลงใหลได้ปลื้มกับบางสิ่งบางอย่างอีกต่อไป คำว่าการคลายมนต์เสน่ห์ที่ผู้ศึกษาทฤษฎีสังคมส่วนใหญ่คุ้นเคยกันคือการคลายมนต์เสน่ห์ในความหมายคลาสสิกของเวเบอร์ นั่นคือกระบวนการคลี่คลายตัวของวิธีคิดเชิงศาสนาในสังคมแบบจารีตไปสู่ไปสู่วิธีเชิงเหตุผลซึ่งวางอยู่บนหลักวิทยาศาสตร์ของสังคมสมัยใหม่ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อผู้เขียนได้ดู Disenchantment จนจบ (ปัจจุบันจบที่ซีซัน 2) การคลายมนต์เสน่ห์ซึ่งเป็นชื่อเรื่องของภาพยนตร์การ์ตูนดูเหมือนจะเป็นไปในความหมายอื่นที่ไม่ใช่ความหมายของเวเบอร์เท่าใดนัก เนื่องด้วยแกนการดำเนินเรื่องของภาพยนตร์การ์ตูนชุดดังกล่าวเป็นโลกยุคกลางแนวแฟนตาซีอันอุดมไปด้วยเวทมนต์คาถา โลกทางศาสนา พ่อมดแม่มด ตลอดจนตัวละครในเทพนิยายนับไม่ถ้วน คำถามสำคัญที่สติปัญญาและการขบคิดหาคำตอบในบริบทที่พักผ่อนอันแสนสั้นของผู้เขียนจะเอื้ออำนวย จึงเป็นการขบคิดว่าการคลายมนต์เสน่ห์ของภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องดังกล่าวนี้ว่าสามารถหมายถึงอะไรได้บ้าง ดังที่ได้วางคำถามไว้ข้างต้น
หากจะลองพิจารณาว่าการคลายมนต์เสน่ห์ในภาพยนตร์การ์ตูนสามารถเป็นอะไรได้บ้าง การขบคิดผ่านตัวละครหลักทั้งสาม (tritagonist) ของเรื่องที่เข้ามาเป็นสหายกัน คือ เอลโฟ่ (Elfo) เอลฟ์จากป่าเอล์ฟวูด ลูซี่ (Luci) ปีศาจจอมแสบจากแดนนรก และบีน (Bean) หรือเจ้าหญิงทีอาบีนนี่ (Tiabeanie) แห่งอาณาจักรดรีมแลนด์ ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์บางประการของเรื่องราวว่าด้วยการคลายมนต์เสน่ห์ อาจช่วยส่องสะท้อนให้เห็นถึงความปกติระหว่างสหายรักทั้งสามในความไม่ปกติของแกนการดำเนินเรื่อง

เอลโฟ่ผู้เด็ดปีกเทพนิยาย
หากจะเริ่มด้วยการวิเคราะห์เอลฟ์ซึ่งเป็นตัวละครในเทพนิยายอย่างเอลโฟ่ การคลายมนต์เสน่ห์ของเรื่องโดยมีเอลโฟ่เป็นสัญลักษณ์อาจมองได้ว่าเป็นการเด็ดปีกเทพนิยาย กล่าวคือแกนการดำเนินเรื่องซึ่งเป็นโลกยุคกลางแนวแฟนตาซีอันนับเป็นแดนสวรรค์ของเทพนิยายโลกสวยเรื่องแล้วเรื่องเล่า ได้ถูกขัดขวางโดยสิ่งแปลกปลอมในเทพนิยายคือตัวของเอลโฟ่เอง
การค้นหาน้ำอัมฤตนับเป็นภารกิจสำคัญที่กษัตริย์ซ็อค (Zog) ราชาแห่งดรีมแลนด์และบิดาของบีนให้ความสำคัญด้วยเหตุผลบางประการ เลือดหนึ่งหยดของเอล์ฟถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การสร้างน้ำอัมฤตบรรลุผลตามตำราเวทมนตร์ เอลโฟ่ซึ่งเดินทางออกมาจากป่าเอล์ฟวูดถูกวางตัวเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างน้ำอัมฤตของราชาโดยอนุญาตให้อาศัยอยู่ในปราสาท อย่างไรก็ดี เลือดหนึ่งหยดของเอลโฟ่ไม่สามารถนำไปสร้างน้ำอัมฤตได้ จนกระทั่งตอนท้าย ๆ ของซีซั่นแรกที่เนื้อเรื่องเฉลยว่า จริง ๆ แล้วเอลโฟ่เป็นลูกครึ่งเอล์ฟ ไม่ใช่เอล์ฟบริสุทธิ์ทางสายเลือด อันเป็นเหตุให้ความหวังของอภิมหาโครงการในโลกแห่งเทพนิยายอย่างการสร้างน้าอมฤตต้องเป็นม่ายไปพักใหญ่ สัญลักษณ์ของการเด็ดปีกเทพนิยายที่นำโดยเอลโฟ่ยังอาจกล่าวได้ถึงคราวที่เขาเข้าไปมีส่วนช่วยเปิดเผยความลับในบ้านขนมของแม่มด สถานที่ซึ่งตามต้นฉบับเทพนิยายแล้วเป็นบ้านของแม่มดที่ล่อลวงฮันเซลกับเกรเทลเข้าไปกินเป็นอาหาร เพียงแต่หลังจากที่บีนกับลูซี่เข้ามาช่วยสหายรักในบ้านขนมนี้ กลับกลายเป็นว่าฮันเซลกับเกรเทลต่างหากที่จับแม่มดขังไว้แล้วล่อลวงคนอื่นมาเป็นอาหารเสียเอง การคลายมนเสน่ห์ของเนื้อเรื่องบนทางเดินของเอล์โฟ่จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการเด็ดปีกเทพนิยายออกจากภาพจำอันแสนสุขในความรับรู้แบบเดิม ๆ
คลายมนต์ศาสนากับลูซี่
ในขณะที่บทบาทของปีศาจตัวน้อยอย่างลูซี่อาจช่วยวิเคราะห์การดำเนินเรื่องได้ว่าเป็นการคลายมนต์ศาสนา นั่นคือในขณะที่ยุคกลางซึ่งเป็นแกนดำเนินเรื่องตามความเป็นจริงถูกทำความเข้าใจว่าเป็นยุคที่ศาสนามีอิทธิพลในเชิงศรัทธาเป็นสาระของการผูกขาดสิ่งที่ดีในยุคดังกล่าว การเชิดชูตัวละครที่เป็นปีศาจในฐานะหนึ่งในตัวละครหลักย่อมหมายถึงการกลับขั้วความคิดเชิงศาสนาได้ในทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเนื้อหาจิกกัดของเรื่องที่ค่อนแคะว่าในบัญชีนรกมีรายชื่อของพระสันตปาปามากเสียจนน่าแปลกใจ
ลูซี่นับเป็นตัวละครสำคัญที่ส่งอิทธิพลต่อการกระทำต่าง ๆ ของตัวละครนำอื่น ๆ ในเรื่องอย่างมีนัยสำคัญ ภายใต้จินตภาพของผู้คนถึงการกระทำของปีศาจที่ชักจูงเภทภัยมาสู่หนทางแห่งชีวิต อย่างไรก็ดี มิติเชิงคุณค่าที่ศาสนาถูกประเมินไว้ในความเป็นปกติวิสัยว่าจะนำพาชีวิตไปสู่ความสุขสมบูรณ์กลับถูกพลิกขั้วโดยปีศาจน้อยตัวนี้ ตั้งแต่การที่ลูซี่ยุยงให้บีนจัดปาร์ตี้ในปราสาทขณะที่บิดาของเธอไม่อยู่จนเป็นเหตุให้เมื่อบีนถูกจับได้ บีนถูกขับไล่ให้ไปใช้ชีวิตเป็นนางชีในอารามแห่งหนึ่งซึ่งดูเหมือนจะไม่ใช่ชีวิตที่ดีนัก จนเมื่อความป่วนที่ลูซี่ก่อขึ้นผ่านการยุยงบีนในอารามทำให้เธอถูกขับไล่ออกและกลับมาใช้ชีวิตที่ดีในแบบเจ้าหญิงอีกครั้งหนึ่งเมื่อเธอสามารถช่วยชีวิตและคืนความเป็นธรรมให้กับแม่มดเจ้าของบ้านขนม ซึ่งตกเป็นเหยื่อของฮันเซลกับเกรเทลได้ในที่สุด หรือในอีกครั้งที่ลูซี่ล่อลวงให้เอลโฟ่ตกนรกเพื่อช่วยเหลือเอลโฟ่ให้ได้พบกับตนเองและบีนอีกครั้งหนึ่งก่อนจะพากันหนีออกจากนรกกลับไปยังดรีมแลนด์ด้วยกัน ภาพจำของปีศาจในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่แต่เดิมผูกติดอยู่สิ่งชั่วร้าย ภายใต้การเหยียบย่ำของศาสนาซึ่งเชื่อมโยงไปถึงสิ่งที่ดี จึงผุดเกิดขึ้นมาใหม่ในอีกวิถีหนึ่งซึ่งมนต์แห่งความดีงามไม่ได้ถูกครอบครองแต่เพียงฝ่ายศาสนาอีกต่อไป
บีนนี่ในมายาความเป็นอื่น
หากซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) นักปรัชญาสาวชาวฝรั่งเศส เคยกล่าวไว้ว่า “เราไม่ได้เกิดมาเป็นหญิง แต่กลายไปเป็นหญิง” เพื่อวิพากษ์วิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่อันจัดวางความเป็นหญิงอยู่ในหมวดหมู่ความเป็นอื่นของสังคมอันเป็นปกติของผู้ชายแล้ว ตัวละครสำคัญอย่างบีน หรือเจ้าหญิงทีอาบีนนี่อาจกลายเป็นตัวละครที่เข้ามาสลายมายาความเป็นอื่นของผู้หญิงในสังคมผ่านการชี้ให้เห็นว่าความเป็นหญิงนั้นสิ่งประกอบสร้างทางวัฒนธรรม หาใช่ความจริงโดยกำเนิดทางชีวะไม่
การดำเนินเรื่องของภาพยนตร์การ์ตูนผ่านเส้นทางของบีนเริ่มต้นด้วยการที่ราชาซ็อคพยายามควบคุมบงการให้เธอแต่งงานกับเจ้าชายจากอาณาจักรอื่นเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สถานะเจ้าหญิงของบีน แม้ว่าจะมีความเป็นอยู่ที่ดี แต่ก็มีสภาพไม่ต่างไปจากทรัพย์สมบัติของชายผู้เป็นบิดา การสลายมายาความเป็นอื่นของบีนได้เริ่มคลี่คลายตัวจากการปฏิเสธการแต่งงานจากชายผู้เป็นใหญ่ในปราสาทผ่านการหลบหนีการแต่งงาน เหล่านี้ยังไม่รวมถึงการทำให้ว่าที่เจ้าบ่าวคนแล้วคนเล่ากลับกลายเป็นอื่นด้วยความตายหรือไม่ก็กลายเป็นสัตว์อย่างหมูพูดได้แทน การขบทต่อความเป็นหญิงที่วัฒนธรรมในสังคมชายเป็นใหญ่หยิบยื่นให้ของบีนปรากฎมากขึ้นเมื่อครั้งหนึ่งเธอถอดเสื้อเดินในปราสาทเช่นเดียวกับที่ชายสามารถทำได้ พอ ๆ กับการจับมีดดาบ การขี่ม้า รวมไปถึงการเป็นผู้หญิงคนเดียวในดรีมแลนด์ที่สวมกางเกง ความพยายามต่อต้านการกดขี่จากผู้ชายของบีนโดยการทำสิ่งเดียวกับที่ผู้ชายทำ จึงเป็นการคลายมนต์เสน่ห์ที่สังคมชายเป็นใหญ่ยัดเยียดให้ผู้หญิงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ภายใต้ความเป็นอื่นซึ่งผู้ชายไม่ทำ จนกลายเป็นว่าความยัดเยียดนั้นเป็นเพียงภาพลวงตาซึ่งมิได้สัมพันธ์กับเพศกำเนิดทางชีวะแต่อย่างใด
ภาพสะท้อนความปกติ
ดังนี้เอง การคลายมนต์เสน่ห์ของ Disenchantment เมื่อเทียบกับแนวคิดของเวเบอร์ซึ่งเป็นการคลี่คลายจากความคิดเชิงศาสนาไปสู้ความคิดเชิงเหตุผลในมิติเชิงประวัติศาสตร์แล้ว แนววิถีของการไม่หลงไหลได้ปลื้มกับบางสิ่งบางอย่างอีกต่อไปในมุมมองของเกรนิ่ง ผู้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนจึงคาดหมายได้ว่าปรากฎในรูปของการไม่จินตนาการถึงโลกในเชิงบวกอย่างสวยสดงดงามราวกับเทพนิยาย การไม่เชื่อถือคุณค่าของความดีงามว่าจะต้องผูกขาดกับโลกทางศาสนา ตลอดจนมองเห็นว่าความเป็นอื่นของผู้หญิงในสังคมเป็นเพียงมายาของภาพแทนอันถือกำเนิดขึ้นจากการประกอบสร้างทางวัฒนธรรม
ข้อพิจารณาที่น่าสนใจต่อการคลายมนต์เสน่ห์จากวิธีคิดอันเป็นปกติแบบเดิมเช่นนี้ยังปรากฎในลักษณะของการไม่นำเสนอการคลี่คลายตัวไปสู่สภาวะตรงข้ามอย่างสุดขั้ว หากแต่เป็นการกระตุกให้ฉุกคิดถึงสภาวะอันเป็นที่หลงไหลได้ปลื้มอยู่แต่เดิม หรืออาจกล่าวถึงกรณีวิเคราะห์ทั้งสามได้ว่าเป็นเรื่องของการมองโลกแบบเทา ๆ ในกรณีของเอลโฟ่ คุณค่าของสิ่งที่ดีอาจไม่ได้ยึดยืนกับบางสิ่งบางอย่างอย่างตายตัวในกรณีของลูซี่ และสภาวะตรงข้ามระหว่างหญิงชายเป็นเพียงการลวงหลอกที่บดบังความเท่าเทียมในศักยภาพการทำสิ่งต่าง ๆ ได้เหมือน ๆ กัน ในกรณีของบีน ความไม่เป็นปกติในความเป็นปกติแบบดั้งเดิมที่ผู้คนเคยหลงไหล นอกจากจะถูกวิพากษ์และตั้งคำถามแล้วในการดำเนินเรื่องของตัวละครหลักทั้งสามแล้ว ยังอาจพิจารณาต่อไปได้ว่ามีลักษณะสะท้อนกระแสความคิด หรือสภาวะว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงมุมมองของผู้คนที่มีต่อประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ในโลกร่วมสมัยมากน้อยเพียงใดได้ในอีกทางหนึ่ง พอ ๆ กับที่ความไม่เป็นปกติของการพักผ่อนอันแสนสั้นของผู้เขียนอุดมไปด้วยการครุ่นคิดมากมายต่อการชมภาพยนตร์การ์ตูน จนกลายเป็นปกติราวกับว่ายังไม่ปิดภาคการศึกษาอยู่ก็ไม่ปาน!!!
เกี่ยวกับผู้เขียน
Sometimes Lazy, Sometimes Crazy. Mad student of anthropology who seeks possibilities in giving an explanation.
- This author does not have any more posts.