หลายวันที่ผ่านมา หนังสือเรื่อง The animal farm ได้ถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย โดยเริ่มต้นจากคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยซึ่งดำรงตำแหน่งได้จากการทำรัฐประหาร และแน่นอนว่า มีผู้แสดงความคิดวิพากษ์วิจารณ์ถึงความย้อนแย้งของสถานภาพของนายกฯ และสาระซึ่งซ่อนอยู่ในเนื้อหาของหนังสือ ซึ่งแต่งขึ้นโดยผู้เขียนคนเดียวกันกับ 1984
ไม่ว่าจะย้อนแย้งแบบไหน และเกี่ยวพันกับการเมืองอย่างไร แต่โดยพื้นฐาน หนังสือเล่มนี้มีส่วนสำคัญทำให้สถานะของสัตว์มีความน่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะความเป็นสัตว์ที่สามารถขยายขอบเขตความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่มากขึ้น ควบคู่ไปกันกับการสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดของความเป็นมนุษย์ที่ถูกกักขังด้วยร่างกาย
![](https://anthropologyyyyy.xyz/wp-content/uploads/2019/06/Animal_Farm_-_1st_edition.jpg)
ย้อนกลับไปในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 มีข่าวที่น่าครุ่นคิดเรื่องหนึ่งที่คือ “หมาปีศาจ” ซึ่งออกตะเวนกินเป็ดและไก่ของชาวบ้านมากว่า 500 ตัวในระยะเวลา 3 ปี หัวหน้าฝูงหมาปีศาจดังกล่าวคือเจ้าว๊อค หมาลูกครึ่งพันธุ์ไซบีเรียนกับหมาพันธุ์ทางทั่วไป เจ้าว๊อคเคยอยู่กับคนจึงรู้นิสัยคนทั้งยังมีสายเลือดของไซบีเรียนซึ่งเป็นนักล่าสายทรหดอดทนและมีสภาวะการนำฝูงสูง ฝูงหมาของเจ้าว๊อคทำให้ชาวบ้านนอนไม่หลับเพราะต้องอดนอนเฝ้าฝูงเป็ดไก่ หลายคนเอ่ยปากหลังจากที่มันโดนจับได้ว่าจะได้นอนหลับสบายเสียที แต่ใครจะรู้ว่าการจับเจ้าว๊อคต้องใช้ยาสลบอาบลูกดอกถึงสองเข็ม มันโดนเข็มแรกไปเต็มแล้วยังวิ่งหนีต่อไปได้อีกหนึ่งกิโลก่อนโดนเข็มที่สอง
ผมกล่าวมาทั้งหมดเพื่อที่จะบอกว่า เจ้าว๊อคนี่แหละคือสัตว์ที่ขบถและมิอาจถูกกักขังลงได้ด้วยคุกในนามของคอกหรือฟาร์มใดๆ การสิ้นอิสรภาพของมันทำให้นึกถึงงานเขียนเรื่อง The Call of the Wild ซึ่งเขียนโดย Jack London งานชิ้นนี้เป็นนิยายที่กล่าวถึงเจ้าบัค สุนัขลากเลื่อนในยูคอน (Yukon) มันเป็นหมาพันธุ์ผสมระหว่างหมาที่เลี้ยงไว้ใช้งานกับหมาป่า มันซื่อสัตย์ อดทนและเคยอยู่กับความสัมพันธภาพที่มนุษย์มอบให้มาตลอด กระทั่งวันหนึ่งโชคชะตาก็พลัดพรากให้มันต้องใช้ชีวิตเพียงลำพังท่ามกลางสภาวะแร้นแค้น และนั่นก็ปลุกเอาสัญชาตญาณป่าของมันให้ตื่นขึ้นเพื่อเอาตัวรอด กระทั่งกลายเป็นจ่าฝูงหมาป่าในที่สุด
หนึ่งในคำภาษาอังกฤษที่ผมคิดว่าแปลเป็นไทยยากมากคือคำว่า Wild เพราะมันไม่ได้มีแต่ความหมายของความดิบและเถื่อน ทว่า มันมีกลิ่นอายของอิสรภาพและการไม่ถูกจองจำเข้ามาเจือปนในความหมาย ดังนั้น The Call from the Wild มันจึงไม่สามารถแปลได้อย่างตรงไปตรงมาว่า “เสียงเพรียกจากพงไพร” ได้เสียทีเดียว ทว่ามันคือเสียงกู่ก้องแห่งเสรีภาพและการพยายามปลดเปลื้องตนจากพันธนาการ
![](https://anthropologyyyyy.xyz/wp-content/uploads/2019/06/JackLondoncallwild.jpg)
ในแง่หนึ่ง Wild จึงเป็นคำที่ตรงข้ามกับ ความเจริญหรือความเป็นอารยะ แต่มันก็สะท้อนถึงสภาวะที่ต้องอยู่กรงขังแห่งอารยธรรมด้วยเช่นกัน วิธีการฝึกสัตว์ป่าให้เชื่องและเอามาใช้เป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งานนั้นเราอาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ domestication กระบวนการนี้พูดอีกอย่างก็คือ การทำให้สัตว์ (และหมายรวมคนด้วย) รู้จักภาษา, ความหมายของการสื่อสาร หรือรู้จักวัฒนธรรมนั่นเอง แต่เป็นวัฒนธรรมที่ต้องมีความสูงต่ำ มีลำดับชั้น มีเจ้านาย มีลูกน้อง มีสำนึกอาณาบริเวณ มีถิ่น และต้องรู้สึกแปลกถิ่นที่อยู่
การสร้างชาติ ก็เป็น domestication แบบหนึ่ง ชาติเป็นเสมือนแอ่งอารยธรรมในการนิยามตนเองแต่มันก็กักขังเราไม่ให้รู้จักเสรีภาพในความหมายอื่นหรือในการแสดงออกแบบอื่น ความคิดว่าด้วยพลเมืองจึงมักเชื่องและถูกล่ามให้จำนนต่อกรงขังแห่งเสรีภาพ (cage of freedom) และไม่สามารถจินตนาการถึงเสรีภาพแบบอื่นได้
ในแง่นี้ wildness ของเจ้าบัคจึงมีมากกว่าความดิบเถื่อนหรือลักษณะที่เป็นธรรมชาติ (nature) หากเป็นการย้อนกลับไปค้นหาการนิยามใหม่แห่งอิสรภาพ ตลอดจนการหวนกลับมาตั้งคำถามกับวัฒนธรรมและอารยธรรมซึ่งเป็นธรรมชาติที่สอง (second nature) ว่าแท้จริงแล้ว อะไรคือความผิดพลาดหรือปมอัปลักษณ์ของสิ่งที่เราเคยภาคภูมิใจ และอะไรคือเสรีภาพที่มนุษย์อย่างเราควรเสาะแสวงหา หรืออย่างน้อยเสรีภาพก็ไม่ควรมีความหมายเดียวกับการถูกทำให้เชื่องเพราะมันจะทำให้เราปราศจากคำถามและการเลือกสิทธิที่จะดำรงอยู่ด้วยตนเอง
ผมไม่ทราบชัดว่า The call of the Wild ของ Jack London นั้นเป็นที่นิยมอยู่หรือไม่ในเมืองไทย แต่สังคมไทยอาจคุ้นเคยกับเรื่องสั้นของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เรื่อง มอม เป็นอย่างดี มอมเป็นหมาลูกครึ่งพันธุ์อัลเซเชียนกับหมาไทย โชคชะตาของมอมมีคล้ายคลึงกับเจ้าบัค ต่างที่ว่ามอมเลือกที่จะอยู่และจงรักภักดีกับเจ้านายที่พลัดพรากจากกันไปเสียนาน มอมในฐานะที่เป็นหมาจึงเป็นสัญลักษณ์ของความภักดีและถูกทำให้เชื่องแบบเข้าเส้น ไม่มีวันแปรภักดิ์หรือหันหลังกลับไปสู่ wildness ได้อย่างแน่นอน
ผมไม่แน่ใจนักว่าผู้เขียนเรื่องมอมนั้นเจตนาอย่างไร ทว่าท่ามกลางฉากโรแมนติกและดราม่าในเนื้อเรื่อง อุดมการณ์อะไรกันหนอที่ซ่อนอยู่ในนั้น?
กลับมาที่กรณีหมาปีศาจหรือเจ้าว๊อค ผมรู้สึกหดหู่อย่างมากตอนทีมันโดนจับ ฉากที่มันโดนยิงสลบถึงสองครั้งและมัดมือมัดเท้ายิ่งทำให้ผมรู้สึกเศร้าอย่างเหลืออดไม่ได้ที่ต้องเขียนถึงมัน มันไม่เพียงโดนจับกุม แต่อิสรภาพของมันก็ถูกตรึงตรวนไว้ด้วย ผมไม่แน่ใจว่ากระบวนการทำให้เชื่องนั้นจะมีผลกับมันมากน้อยแค่ไหน และเจ้าว๊อคเองก็มีสิทธิที่จะรักและอยู่กับเจ้าของผู้ใจดีซึ่งก็อุปการะลูกๆ ของเจ้าว๊อคไว้ก่อนหน้านี้แล้วด้วยซ้ำ
สำหรับผม เจ้าว๊อคคือตัวแทนของ wildness และบัดนี้ wildness ได้ถูกกำราบลงแล้ว การเปล่งเสียงเสรีภาพได้ถูกจำกัดในรั้วและในเขตแดนที่ถูกกำหนด wildness ถูกลดทอนความหมายเหลือเพียงความดิบเถื่อน
แน่นอน ความเป็นอารยะคือสิ่งจำเป็น ทว่า จะหลงเหลือใครบ้างที่ยังคงกู่ก้องเสียงแห่งเสรีภาพและพยายามปลดเปลื้องตนของจากกรงขังแห่งอารยธรรมที่ตนไม่ได้เลือก จะมีใครกล้าหาญให้เท่ากับเจ้าว๊อคและเจ้าบัคได้เคยกระทำเอาไว้ หรือเราจะพึงใจเป็นเจ้ามอม
หนังสือเรื่อง The call of the Wild จึงเป็นเสมือนเสียงเพรียกของเสรีภาพที่อยู่นอกเหนือความสุขสบายและความสงบร่มเย็นที่ถูกกำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว ไม่แปลกใจที่มนุษย์จำนวนไม่น้อยออกเดินทางเผชิญโลก ยิ่งมิต้องเอ่ยถึงสิทธารัตถะ (ที่ไม่ใช่สิทธัตถะ) ที่ออกเดินทางค้นหาสัจธรรมและความจริงของโลกใบนี้ เนื่องจากการเดินทางคือส่วนหนึ่งของการย่อยสลายทั้งรูปและนามของความเป็นมนุษย์ที่เคยยึดถือให้ผุพังลงไป รวมไปถึงการประกอบสร้างความเป็นคนขึ้นมาใหม่
อ่านหนังสือเล่มนี้ทีไร ผมนึกถึงคำว่า anthropomorphism หรือ มานุษยรูปนิยม หลักใหญ่ใจความของคำนี้คือ การอธิบายความเป็นมนุษย์ของคนผ่านรูปของสัตว์ สิ่งของ หรือลักษณะที่เป็นอื่นและไม่ใช่มนุษย์ ความคิดในเรื่องนี้สะท้อนถึงข้อจำกัดของความเป็นมนุษย์ในเชิงรูปกาย ว่ามิอาจทำความเข้าใจมนุษย์ในเชิงนามซึ่งอาจแปรเปลี่ยนสัณฐานและรูปกายในแบบอื่น
การอธิบายชีวิตในพันธนาการทางอารยธรรมของคนผ่านชีวิตของหมาตัวหนึ่งมันจึงเป็นทั้งการสร้างความสมจริง, การเสียดสี และการทบทวนตนเองแกมสมเพช ควบคู่ไปกับการรื้อฟื้นความเป็นมนุษย์ให้กลับคืนมาอีกครั้ง เฉกเช่นคำว่า Wild ที่มิอาจแปลได้อย่างตรงตัวว่า ป่า หรือความดิบเถื่อน
เกี่ยวกับผู้เขียน
- Sorayut Aiemueayuthttps://anthropologyyyyy.xyz/author/sorayut/
- Sorayut Aiemueayuthttps://anthropologyyyyy.xyz/author/sorayut/