Skip to content

จงเรียกขยะด้วยนามที่แท้จริง: ทำไมขยะละเอียดอ่อนกว่าที่คุณคิด (1)

(ประมวลความรู้จากกิจกรรม TEDxBangkok Adventures 2018: A Simple Guide to Zero-Waste Living วันที่ 18 พฤศจิกายน 2561)

 

ถ้าคุณคิดว่ารู้จักขยะดี ลองแยกขยะชิ้นนี้กัน

“แก้วชานมไข่มุกกินไม่หมดครึ่งแก้ว มีน้ำชาและไข่มุกนอนแอ้งแม้งพร้อมฝาปิด”

มีถังขยะอยู่ 4 ถัง ได้แก่ ถังขยะเปียก ถังขยะทั่วไป ถังขยะอันตราย ถังขยะรีไซเคิล

ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก อยากรู้เฉลยเหรอ ถ้างั้นก็ต้องอ่านบทความนี้แล้วล่ะ!

“ขยะ” น่ะ ละเอียดอ่อนกว่าที่คุณเข้าใจมาก

 

ทำไมขยะละเอียดอ่อนกว่าที่คุณคิด

ความละเอียดอ่อนของขยะได้รับการแจกแจงตั้งแต่วิทยากรคนแรกของเราขึ้นพูด อาจารย์ ดร. ปเนต มโนมัยวิบูลย์ จากกลุ่มวิจัย CEWT ม. แม่ฟ้าหลวง ที่ตั้งคำถามที่ใครหลายคนในห้องไม่กล้าตอบ “zero waste – เป็นไปได้มั้ย” ตอนนี้เราใช้ชีวิตกันแบบ

แต่จะทำอย่างไรให้ ลูกสอนมันไม่หันทางเดียว

อาจารย์พาเราไปดูประเทศต้นแบบแห่งการแยกขยะของโลก “สวีเดน” สถานที่ซึ่งอาจารย์เรียนจบปริญญาเอกสาขาสิ่งแวดล้อม 99% ของขยะครัวเรือนของประเทศสวีเดนได้รับการนำมาใช้ประโยชน์ด้วยหลากหลายวิธี 50% ของทั้งหมดนั้นได้รับการเผาให้เป็นพลังงาน ที่เขาทำอย่างนั้นได้อาจพอสรุปได้อย่างลวกๆ ว่ามีสามปัจจัยหลัก 1) คนแยกขยะอย่างละเอียดและขมักเขม่น 2) ขยะไม่ใช่ของที่ทิ้งได้อย่างไร้ราคา บางเมืองสวีเดนไปไกลถึงขนาดจะทิ้งขยะต้องกดรหัสประจำตัวก่อนจะทิ้งขยะเพื่อให้ระบุตัวตน (เอากะเขาสิ) แถมปีๆ หนึ่งครัวเรือนจ่าย “ทิ้ง” ขยะ สำหรับบ้านเดี่ยวถึง 7,421 บาท และ คอนโดถึง 4,741 บาท มิหนำซ้ำเครื่องอุปโภคบริโภคหลายอย่างเช่น ขวดและกระป๋อง มีค่า “มัดจำ” ที่ต้องจ่ายตั้งแต่ตอนซื้อ ซึ่งจะได้คืนก็ต่อเมื่อขวดเปล่ากระป๋องเปล่าไปคืนที่ตู้ (ลองดูที่รูป 1) และ 3) ระบบเตาเผาที่เผาที่มีระบบบำบัดและควบคุมมลพิษอย่างดีที่มูลค่าการลงทุนสูงหลายพันล้าน (บาท)

(รูปที่ 1: คืนขวดเพือเอาค่ามัดจำคืนแบบสวีเดน) 

(รูปที่ 2: กดรหัสประจำตัวทิ้งขยะแบบสวีเดน)

 (รูปที่ 3: เตาเผาไร้มลพิษของสวีเดน)

 (รูปที่ 4: เตาเผาบางแห่งในเชียงราย)

ช้าก่อน! ก่อนจะโมโหโกรธาว่าสวีเดนก็ทำได้สิ ประเทศมีเงิน จะเอาไทยไปเปรียบได้ยังไง เปรียบได้ แม้ว่าเราจะมีเตาเผาสู้สวีเดนไม่ได้ (ดูได้จากรูปด้านบน) แต่ว่าบางหมู่บ้านที่ อาจารย์ปเนตไปลงพื้นที่สามารถแยกขยะได้จริงเกือบ 80% – 90% ก่อนที่ขยะที่เหลือจะหลุดลอดไปสู่เตาเผาให้เทศบาลหรืออบต.ทำลาย

ทีมอาจารย์ทำได้อย่างไร? ทีมอาจารย์ทำได้ด้วยความเข้าใจขั้นแรกสุดก่อนว่า ขยะแต่ละที่ แต่ละแห่งในโลกมันไม่เหมือนกัน เชียงรายก็มีคาแรกเตอร์ของเสียเป็นของตัวเองและมีคาแรกเตอร์พื้นที่เป็นของตัวเอง ประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตรแบบเรา ของเสียลำดับหนึ่งมักเป็นขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหารหรือพวกของเสียที่ย่อยสลายได้ ซึ่งถ้ากำจัดของเสียนัมเบอร์วันปัญหาก็เบาลงไปครึ่งหนึ่งแล้ว สำหรับหมู่บ้านในเชียงราย อาจารย์ปเนตแนะนำสิ่งนี้ที่เรียกว่า “เสวียน” (เอาจริงๆ สารภาพตามตรงเกิดมาผู้เขียนเพิ่งเคยเห็น) และ “ถังกินแกง” ที่ใช้ในการหมักให้ของเสียย่อยสลายได้กลายเป็นปุ๋ย ซึ่งพอได้ปุ๋ยมา ชาวบ้านสวนใหญ่ในเชียงรายก็มีพื้นที่มากพอที่จะนำปุ๋ยไปใช้กับผืนดินที่ตัวเองมี เวียนอย่างนี้ไม่รู้จบ

(รูปที่ 5: เสวียนและถังกินแกงกำจัดขยะอินทรีย์)

ที่มา: รูปทั้งหมดมาจากสไลด์นำเสนอของอาจารย์ปเนต file:///C:/Users/User/Downloads/TEDxBangkokZeroWastePanateEng.pdf  

ซึ่งแน่นอนนี่อาจจะไม่เข้าทีเลยสำหรับมนุษย์คอนโดในกรุงเทพ คุณอาจจะย่อยเศษอาหารเป็นปุ๋ยได้ แต่ปุ๋ยคุณอาจไม่มีที่ไป ดังนั้น ทุกคนจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่าปัญหาเรื่องขยะคำตอบเดียวตายตัว มันจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามคาแรกเตอร์ของเมืองและขยะที่เมืองผลิต เราอาจจะต้องตามโมเดลเมืองอย่างไทเป (ไต้หวัน) หรือโซล (เกาหลีใต้) แทน เพราะคนที่อยู่อาศัยก็เป็นมนุษย์คอนโดเหมือนกรุงเทพฯ เขาแยกขยะอินทรีย์เหมือนในเชียงราย แต่เมืองมีระบบจัดการให้มันไปอยู่ในที่ทางที่ควรจะเป็น

ดังนั้นถ้าเกิดเป็นคนเมืองก็ต้องอาศัยระบบการจัดการช่วย ซึ่งการจัดการนี้อาจจะแบ่งได้เป็นสองส่วน 1) การแยกขยะต้องเริ่มจากตัวเรา 2) ส่วนกลางจะต้องมีระบบที่ช่วยเราแยก ตอนนี้ปัญหาโลกแตก คือ คนทิ้งคิดว่าแยกไปเขาก็เอาไปรวม ส่วนคนแยกก็คิดว่าคนทิ้งมันก็คงรวมๆ มา ความเข้าใจผิดอย่างสำคัญที่มีต่อส่วนกลางต่างๆ รวมทั้ง กทม. คือ ความคิดที่ว่าเขาไม่แยกขยะ “จริงๆ คนบนรถขยะเขาแยกนะครับ” อาจารย์บอกอย่างหนักแน่น

แต่ถ้าปัญหาว่าคุณทิ้งทุกอย่างรวมกันลงในถังหนึ่งใบ ถังนั้นจะกลายเป็นขยะที่เรียกว่า “ขยะทั่วไป” ซึ่งทำอะไรไม่ได้ นอกจากถูกส่งไป Landfill เท่านั้น ฝังกลบอย่างเดียว ใช้การอะไรไม่ได้ หรือ อาจถูกส่งไปเผา

ส่วนของ “การแยกขยะเริ่มที่ตัวเรา” นั้นจะอธิบายผ่านกิจกรรมช่วงบ่ายที่ทีมงาน TEDx ให้ทำ แต่สำหรับส่วนกลางที่เข้ามาช่วยเหลือนั้น อาจารย์ยกตัวอย่างให้ฟังถึงตัวอย่างในอำเภอแม่จัน เทศบาลตำบลสันทราย(เนื้อหาส่วนนี้มาจากการสัมภาษณ์นอกรอบ)  ซึ่งเป็นเขตสุขาภิบาลเก่าที่มีความเป็นเมืองค่อนข้างมากที่แม้จะมีรถเก็บขยะเพียงไม่กี่คัน แต่มีวิธีเก็บขยะที่สร้างสรรค์มาก นั่นคือ การแยกเก็บประเภทขยะตามวัน สมมุติ วันจันทร์เก็บขยะเปียก วันอังคารขยะอันตราย วันพุธขยะรีไซเคิล ฯลฯ ไล่ไป ช่วงแรกๆ อาจจะมีคนไม่สะดวก แต่ต่อๆ ไปพอเข้าใจกลไก การจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพก็เกิด ของอย่างนี้มันฝึกกันได้

สรุป เมืองไร้ขยะเป็นไปได้ไหม ขอตอบแทนอาจารย์ว่า “ก็อาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์” แต่ถ้าสมมุติจัดการได้ถึง 80 – 90% ก็น่าจะดีกว่าที่เป็นอยู่มากแล้ว

ข้อมูลเมือง Zero Waste ของเชียงรายสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ตามลิงค์นี้  https://www.researchgate.net/publication/319178141_CHIANG_RAI_ZERO_WASTE_srangwathnthrrmsangkhmplxdkhya

รูปที่ 6 การแยกขยะของตำบลสันทราย อำเภอแม่จัน

ที่มา: สร้างวัฒนธรรมสังคมปลอดขยะ Chiang Rai Zero Waste (2560) โดย ปเนต มโนมัยวิบูลย์และคณะ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 

จงเรียกขยะด้วยนามที่แท้จริง

วิทยากรคนที่สอง คุณเปรม พฤกษ์ทยานนท์ มีวิธีการนับขยะจาก 1 ให้ถึง 0 ที่ง่ายกว่าของอาจารย์ปเนตหลายร้อยเท่า

คุณเปรมขอให้เราเลิกเรียก “ขยะ” ว่า “ขยะ” เราอาจจะเรียกมันด้วยชื่อน่ารักๆ เช่น “อุ๋งอุ๋ง” (ตามสไตล์โอตะเช่นคุณเปรม) แค่นี้ขยะก็หมดโลกแล้ว

มาถึงตรงนี้ผู้อ่านหลายคนอาจจะหงุดหงิดว่าพูดอะไรไม่เข้าท่า แต่ช้าก่อน การที่คุณเปรมขอให้เราเลิกเรียกขยะว่าขยะอาจจะกำลังทำให้โลกที่คุณรู้จักและคุ้นเคยเปลี่ยนไป

คุณเปรมโตมาในบริบทที่พิเศษมาก เขาเป็นลูกของร้านรับซื้อของเก่าที่จังหวัดลำพูน ขยะทุกชิ้นของเขาถูกเขาจับโยนแยกลงตามกองของแต่ละประเภทตั้งแต่เด็ก เด็กคนอื่นรุ่นเดียวกันกับคุณเปรมอาจจะกระโดดยาง แต่คุณเปรมกระโดดบนลังกระดาษ คุณเปรมมีความสัมพันธ์กับขยะที่พิเศษ เขา “เกลียดการทิ้งขยะ” ทุกครั้งที่ทิ้งขยะจะรู้สึกเหมือนทิ้งสิ่งที่มีค่าออกไป ทุกครั้งเวลาเห็นคนทิ้งขยะรวมกันคุณเปรมจะรู้สึกหงุดหงิดพอๆ กับเวลาคนอื่นโดนแซงคิว

สันนิษฐาน 4 ข้อในใจคุณเปรมเวลาเห็นคนไม่แยกขยะก็คือ

  • ไม่รู้ว่ามีมูลค่า (คุณเปรมกระซิบตรงนี้ว่าธุรกิจ recycle มีมูลค่าสูงถึง 7 ล้านล้านบาท)
  • ไม่รู้ว่าเป็นปัญหา
  • ไม่รู้จัดการยังไง
  • ก็แค่ไม่สนใจ

แม้ว่าคุณเปรมไม่รู้จะเข้าถึงคนประเภทที่ 4 อย่างไร แต่สำหรับคนประเภท 1-3 นั้นเขาช่วยได้ หลายครั้งที่คนที่มาหาคำตอบเรื่องการแก้ปัญหาจัดการขยะต้องการคำตอบสำเร็จรูป แต่จริงๆ แล้วเราต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่าขยะเป็นปัญหาเฉพาะบุคคล และปัญหาเฉพาะพื้นที่ แต่เมื่อทุกคนอยากได้คำตอบแบบ one size fits all ก็ย่อมได้ คุณเปรมมีคำตอบสำเร็จรูปมาให้ทุกคนในงานครั้งนี้ ซึ่งก็คือสิ่งที่เล่าไปด้านบนนั่นเอง

“เราควรต้องเลิกเรียกขยะว่าขยะ”

พอเราเรียกขยะว่าขยะ เรานึกถึงอะไรบางอย่างที่ทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้ ยังไงก็ได้ คำนี้ถูกออกแบบให้ความรับผิดชอบไปอยู่ที่ปลายทาง ทางแก้ก็คือทำไมเราไม่เรียกวัสดุต่างๆ ตามที่มันเป็น

“กระดาษก็คือกระดาษ”

“ถุงพลาสติกก็คือถุงพลาสติก”

ในชีวิตนี้เราต่างมีวัสดุที่เรารู้จักเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ซึ่งเราสามารถแยกและเอาไปเก็บในที่ของมันด้วย ลองมองสองรูปนี้เราเรียกมันด้วยชื่อที่ต่างกันอย่างแน่นอน ในขยะที่กองแรกอาจจะเป็นขยะ แต่กองที่สองล่ะ ใช่ขยะมั้ย?

(รูปที่ 7 ขยะก่อนแยก และ กองกระดาษ)

คุณเปรมยังเล่าให้ฟังว่ามนุษย์สิ่งแวดล้อมนั้นจริงๆ ก็มีหลายประเภท อย่างตัวคุณเปรมเองก็ไม่ใช่สายกรีน (กรีนในที่นี้คือลด ละ เลิก อะไรที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งไม่ใช้เลย) ระหว่างเดินทางมาที่กรุงเทพ คุณเปรม (แอบ) แวะ กินฟาสต์ฟู้ด เพราะกลัวว่าถ้าลูกเพจมาเห็นจะลุกเป็นไฟได้ อ่อ มาถึงตรงนี้ยังไม่ได้บอกเลยว่าคุณเปรมเป็นเจ้าของ “เพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป” เป็นเพจที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการแยกขยะ (มาถึงตอนนี้ไม่รู้ว่าควรจะพิมพ์คำว่า “ขยะ” มั้ย) โดยทำเป็นภาพสวยงาม กราฟฟิกน่ารัก เข้าใจง่าย ลองไปดูกันได้ที่ลิงค์นี้  https://www.facebook.com/3WheelsUncle/

เมื่อคุณเปรมกำจัดอินทรียวัตถุแล้ว ทีนี่ก็เหลือพวกอนินทรีย์วัตถุต่างๆ ซึ่งพอจัดการแยกเสร็จสรรพ ของที่ต้องทิ้งจริงๆ มีเพียงแค่สองชิ้นเท่านั้น

(ภาพที่ 8 – 9 ก่อนกิน และ หลังกิน) 

แต่เมื่อพอเดินไปถึงกลับพบว่ามีถังขยะอยู่เพียงใบเดียว

(รูป 10 ภาพถังขยะรวมหนึ่งใบในร้านอาหาร)

ที่มา: ภาพทั้งหมดมาจาก powerpoint ที่คุณเปรมนำเสนอในวันที่ 18/11/18 TEDxBangkok Adventures 2018: A Simple Guide to Zero-Waste Living

เราอาจจะไม่ได้เรียกมันว่าขยะ แต่เจ้าของสถานที่อาจเรียกมันว่าขยะ คุณเปรมกล่าวทิ้งท้าย

จะดีแค่ไหนถ้าความเข้าใจเรื่องขยะเราตรงกัน

ทีนี้เราจะเข้าใจเรื่องขยะตรงกันได้อย่างไร กิจกรรมช่วงบ่ายอาจจะพอเป็นคำตอบ

(รูปที่ 11 อาจารย์ปเนต (ซ้ายมือ) และคุณเปรม (ขวามือ))

 

นับ 1 ให้ถึง 0: มาแยกขยะและมาสร้างถังขยะกันเถิดดดด

หลังจากเพลิดเพลินกับอาหารกลางวันด้วยภาชนะที่ทีมงานสั่งให้ทุกคนเอามากันเองเพื่อลดขยะ กิจกรรมช่วงบ่ายก็ได้เริ่มขึ้น เนื่องจากปีนี้ TEDxBangkok Adventures เขาเน้นการ “walk the talk” หรือ “ทำในสิ่งที่พูด” ก็เลยมีภาคปฏิบัติให้ทุกคนได้ลองทำจริงๆ ซึ่งก็ต้องบอกว่าได้ผลดีเหลือเกิน ตอนเช้านึกว่าเข้าใจเรื่องขยะแล้วนั้น ตอนบ่ายได้มาพิสูจน์อย่างแท้จริงว่า ช้าก่อน! อย่าเพิ่งรีบเข้าใจไปเพราะขยะละเอียดอ่อนกว่าที่เราคิด

ในระหว่างกินข้าวและทำกิจกรรมภาคบ่ายนี้เองที่ทำให้ได้พบกับมนุษย์สายเขียวสุดน่าประทับใจ 3 คน พี่พิงค์ น้องเท้นท์ และน้องเอิร์น ที่จะเล่าแยกเป็นตอนต่อจากบทความนี้ว่าถ้าเราๆ ท่านๆ อยากจะลองปรับชีวิตให้รบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยลง จะมีอะไรจากสามคนนี้ที่สามารถลอกเลียนแบบได้บ้าง

กิจกรรมแยกขยะเล่นง่ายๆ ดังนี้ แบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็นทั้งหมด 6 กลุ่ม โดยเราจะต้องแยกขยะทั้งหมด 5 ฐาน ซึ่งในแต่ละฐานจะเป็นสถานที่ต่างๆ แตกต่างกันออกไป ได้แก่ บ้าน คอนโด โรงเรียน งานอีเวนท์ ออฟฟิศ แต่ละสถานที่ก็มีถังขยะเฉพาะของตัวเอง อย่างเช่น ในออฟฟิศจะมี ถังขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ ขยะอันตราย หรืออย่างที่คอนโดมีแค่ถังเดียวเท่านั้น คือ ถังขยะ! จบ ไม่ต้องแยกอะไรอีกต่อไป โดยแต่ละกลุ่มจะได้ถุงดำซึ่งมีขยะทั้งหมด 40 ชิ้น เช่น อาจจะได้เป็นแกงน้ำแกงต้มย้ำกุ้ง (ซึ่งมาในรูปแบบของรูปปรินท์ จะให้ทีมงานเอาน้ำแกงจริงมาให้แยกก็คงกระไรอยู่) อยู่ในถุงพลาสติก สิ่งที่ต้องทำก็คือแยกน้ำต้มยำกุ้งทิ้งลงถังอินทรีย์ และเอาถุงทิ้งในขยะทั่วไป ถ้าแยกถูกทั้งหมดก็จะได้คะแนนเต็ม แยกผิดก็หักลบไปตามที่ผิด

 

 (รูปที่ 12 – 13 ถังขยะประจำฐานต่างๆ และรายละเอียดฐานต่างๆ ถ่ายโดยผู้เข้าร่วมกิจกรรม)

ยังไม่เห็นภาพเหรอ? มาเล่นกันดีกว่า สมมุติว่ามีขยะ 5 ชิ้น

  1. ชานมไข่มุก มีฝา มีน้ำแข็ง มีไข่มุก (มันกลับมาแล้ววว) 
  2. กิ่งไม้แห้ง 
  3. ซองขนมเลย์เปล่า  
  4. เศษแก้วคมๆ  
  5. ขวดแชมพูสระผม

และมีถังขยะ 4 ถัง

  1. ถังขยะทั่วไป 
  2. ถังขยะเปียก        
  3. ถังขยะรีไซเคิล     
  4. ถังขยะอันตราย

ทีนี่อะไรควรจะลงถังไหนเล่า….เราขอให้เวลาคุณคิด ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก เฉลย!

  • (นี่คือคำตอบที่ถูก) ชานมไข่มุกต้องเอาฝาออก ฝาเป็นพลาสติกชนิดรีไซเคิลไม่ได้ต้องใส่ถังขยะทั่วไป น้ำแข็งไข่มุกใส่ถังขยะเปียก (แต่จริงๆ ใส่กระเพาะของเราให้หมดตั้งแต่ต้นคือดีที่สุด!) ส่วนตัวแก้วนั้นล้างน้ำแล้วลงถังรีไซเคิลไปเลย
  • ถึงกิ่งไม้จะแห้ง แต่จริงๆ มันเป็นขยะเปียก เอาไปทำปุ๋ยได้ จึงต้องลงถังขยะเปียกนะจ๊ะ
  • ซองขนมเลย์นั้นต้องลงถังทั่วไปเลยจ้า เพราะมันเป็น multilayer plastic ลงถังรีไซเคิลไม่ได้
  • เศษแก้วอันตรายก็จริง แต่มันสามารถลงถังรีไซเคิลได้ ถังอันตรายนั้นเอาไว้สำหรับขยะมีพิษหรือสารเคมีเท่านั้น
  • แชมพูเนี่ยต้องล้างแชมพูออกให้หมดก่อน ส่วนตัวขวดเอาไปรีไซเคิลขายต่อได้จ้า

เห็นมั้ยว่าการแยกขยะละเอียดอ่อนขนาดไหน? นี่ยังไม่นับว่า ถ้าเกิดว่าในถังที่เป็นถังขยะเปียกมีใครเผลอทิ้งแบตเตอรี่ลงไปก้อนเดียวก็จะทำให้ถังอินทรีย์เสียไปทันที ต้องเอาไปลง landfill แทนที่จะเป็นปุ๋ย

ถ้าอย่างนั้นเรามาทำถังขยะให้มันเข้าใจง่ายขึ้นดีมั้ย?

นี่เองที่มาของกิจกรรมถัดไป เราน่าจะต้องช่วยสร้างถังขยะที่ให้คนเข้าใจง่ายที่สุด ไม่ฝืนพื้นที่ที่สุด (คำว่าไม่ฝืนพื้นที่คือ เช่นในห้างสรรพสินค้า ถ้าคุณแยกถังออกเป็นสัก 10 ประเภท สุดท้ายคนอาจจะทิ้งมั่วไปหมดเพราะรู้สึกไปบังคับเขามากเกินไป) เราซึ่งอยู่กลุ่มที่ 1 ได้โจทย์สร้างถังขยะให้โรงเรียน ซึ่งก็ได้หน้าตาออกมาเป็นแบบข้างล่างนี้

(รูป 14 ถังขยะของกลุ่ม 1)

คอนเซปต์ที่เราใช้ก็คือ “ถ้าเราไม่เข้าใจ คนอื่นก็ไม่เข้าใจ” เราต้องแยกขยะด้วยคำที่ง่ายที่สุด ที่อ่านปุ๊ปแล้วรู้เลยว่าต้องทิ้งอะไร แถมต้องรู้ว่าทิ้งแล้วไปไหน เช่นถ้าเราเขียนว่า เศษอาหารนำไปให้หมูกิน คนทีทิ้งก็คงจะไม่ใจร้ายขนาดทิ้งกระป๋องอลูมิเนียมให้หมูกิน ผลก็คือ กลุ่มเราได้ที่หนึ่ง เย้! แถมมีคนทิ้งผิดแค่สองชิ้นเท่านั้น

กิจกรรมนี้สอนให้รู้ว่า: จริงๆ แล้วขยะสามารถแยกได้ แถมแยกได้อย่างง่ายๆ ด้วย ถ้าเราได้เรียนรู้ มีระบบการจัดการที่ดีที่ง่ายให้แก่คนทิ้ง และให้คนทิ้งได้ลองทำ!

ประเด็นที่เราขาดไปที่กลุ่มอีกกลุ่มทำได้ดีมากๆ คือ ไซส์ของถังขยะที่ไม่เท่ากัน อาจารย์ปเนตตั้งคำถามตอนคอมเมนต์กิจกรรมอย่างน่าสนใจว่าทำไมถังขยะทุกใบจะต้องไซส์เท่ากัน ในบ้านเรือนคนปกติมันจะทิ้งขยะอันตรายเท่าเศษอาหารหรือ? แนวคิดเรื่องถังขยะไซส์ไม่เท่ากันจึงถือกำเนิดขึ้นในกิจกรรมนี้ รวมทั้งบางกลุ่มยังแยกสีอย่างถูกต้องตามสีขยะมาตรฐานของไทยด้วย

 

จาก 1 ไม่ถึง 0: แต่อย่างน้อยก็น่าจะได้สัก 0.999999999

จากเวลา 4-5 ชั่วโมงที่ใช้ไปกับ TEDxBangkok Adventures 2018: A Simple Guide to Zero-Waste Living ทำให้ผู้เขียนซึ่งไม่ใชทั้งสายกรีนและสายแยกขยะตั้งแต่ต้นเริ่มลงมือทำอะไรบางอย่างกับชีวิต ผู้เขียนสำรวจแล้วว่าชีวิตนี้ขยะที่ตัวเองผลิตมากสุดคือ ขยะจากอาหารและแพ็กเก็จจิ้ง ดังนั้น ในขณะที่ผู้เขียนยังไม่สามารถแยกขยะได้อย่างลุงซาเล้ง (ไม่ได้ทั้งในแง่การปฏิบัติและความรู้) ผู้เขียนจึงตัดขยะบางส่วนออกจากชีวิตเท่าที่ทำได้เช่น เลิกกิน Take-out / Take-away หรือกินให้น้อยที่สุด พกกล่องไปใส่แทนท่าจะกิน พกแก้วคู่ชีวิตสองใบไปทุกแห่ง (สำหรับกาแฟ+น้ำเปล่า) เริ่มทิ้งขยะแล้วรู้สึกผิด (ตามคุณเปรม) ก็เลยคิดให้มากขึ้นเวลาจะทิ้ง พยายามลดการใช้ทุกอย่างแบบครั้งเดียวแล้วทิ้งลง 80-90% จริงๆ อยากจะตัดให้เหลือศูนย์ไปเลย แต่บางครั้งก็เผลอบ้าง หรือสถานการณ์ก็ไม่เอื้ออำนวย

(รูป 15 แก้วคู่ใจ)

ถ้าการเรียนรู้เพียงแค่ 4-5 ชั่วโมง ยังทำให้ผู้เขียนเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้ ก็เลยอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าการจัดการขยะเป็นวาระแห่งชาติ มีการเรียนการสอนตั้งแต่เด็ก ท้องถิ่นแต่ละแห่งมีการจัดการขยะที่ดี มีโครงสร้างที่รองรับการแยกขยะ ถังขยะแยกชนิดเข้าใจได้ง่าย ให้ความรู้ว่าปลายทางขยะไปจบที่แห่งใด มีการลงทุนกับเตาเผาที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เราอาจจะอยู่ในเมืองที่ปลอดโปร่งขึ้นทั้งทางสายตาและทางเดินหายใจ ถ้าเกิดคนค่อยๆ เห็นว่าเรื่องขยะละเอียดอ่อนและสำคัญ ปรับเปลี่ยนมุมมองและปรับพฤติกรรม บางที เราอาจจะตื่นมาแล้วพบว่าเราสามารถนับ 1 ได้ถึง 0 อยู่ในเมือง zero waste โดยไม่ทันรู้ตัวก็เป็นได้

 

*ขอขอบคุณ อ. ปเนต คุณเปรม และน้องเท้นท์สำหรับการสัมภาษณ์และการช่วยเพิ่มเติมเนื้อหาในบทความนี้ รวมทั้งทีมจัดงาน TEDxBangkok Adventures 2018: A Simple Guide to Zero-Waste Living มา ณ ที่นี่ด้วยค่ะ

**บทความเดียวกันนี้จะตีพิมพ์บนเว็บไซต์ www.passiongen.com 

***(ภาพ background ปกนำมาจาก https://www.sfu.ca/sustainability/projects/zero-waste.html) 

เกี่ยวกับผู้เขียน

B516f925 d9d5 48b9 a4d9 146b7b7b1fbd

สุดคนึงเป็นคนชอบคิด เลยคิดไปเรื่อยๆ มีคดิประจำใจว่าชอบอะไรจะไม่เก็บไว้คนเดียว เลยต้องมาเผยแพร่ให้คนอื่นฟังเพื่อหาพวกมาชอบด้วยกัน

Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
ดูทั้งหมด

เรื่องที่คล้ายกัน