บทนำ
Maurizio Lazzarato (1955 -) นักสังคมวิทยาและนักปรัชญาชาวอิตาเลียนที่ไปอาศัยและทำมาหากินอยู่ในปารีส เขายังเป็นนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายคนสำคัญในขบวนการแรงงานอิตาลี (Autonomia Operaia) ช่วงทศวรรษ 1970 อีกด้วย แม้งานสำคัญของ Lazzarato จะเป็นบทความที่เขียนถึง “แรงงานอวัตถุ” (immaterial labor) ซึ่งรวมอยู่ในหนังสือ ความคิดราดิคัลในอิตาลี (Radical Thought in Italy) (1996) ที่ Michael Hardt และ Paolo Virno เป็นบรรณาธิการ แต่ข้อเขียนชิ้นนี้จะพูดถึงประเด็นเรื่อง “หนี้” (debt) ซึ่งเกิดจากการอ่าน การสร้างลูกหนี้ (The Making of the Indebted Man) (2012) จากความเข้าใจของผม
Lazzarato พยายามเสนอเครื่องมือทางทฤษฎี มโนทัศน์ และคำศัพท์ที่ช่วยให้วิเคราะห์เศรษฐกิจแห่งการเป็นหนี้ (debt economy) ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ด้วยการถกเถียงต่อจากงานของนักคิดรุ่นก่อนหน้าอย่าง Anti-Oedipus (1972) ของ Giles Deleuze และ Felix Guattari, Genealogy of Morality (1887) ของ Friedrich Nietzsche และงานที่เกี่ยวกับทฤษฎีว่าด้วยเงินของ Karl Marx
ในหนังสือเล่มนี้ Lazzarato เสนอสมมติฐานของระบบทุนนิยมปัจจุบัน 2 ข้อ ข้อแรก กระบวนทัศน์ของความเป็นสังคมไม่ได้วางอยู่บนการแลกเปลี่ยน (exchange) แต่วางอยู่บนการเป็นหนี้ (credit/debt) และข้อสอง หนี้แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแยกไม่ออกจากการสร้างตัวตนของลูกหนี้ และศีลธรรมของการเป็นหนี้ (p. 11) กล่าวอีกนัยคือ มโนทัศน์หนี้จะช่วยให้เราทำความเข้าใจความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางศีลธรรมของมนุษย์ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของข้อเสนอทางการเมืองของ Lazzarato เพื่อรื้อฟื้นการต่อสู้ทางชนชั้นขึ้นใหม่ต่อไป
หนี้เป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจชีวิตทางสังคมได้อย่างไร?
ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ (debtor-creditor relations) ได้ทำให้กลไกการขูดรีดครอบงำสังคมในทุกระดับของทุนเข้มข้นขึ้น ภายใต้ตรรกะของหนี้จะไม่มีความต่างระหว่างการเป็นแรงงานหรือคนว่างงาน ผู้บริโภคหรือผู้ผลิต คนเกษียณหรือกระทั่งผู้รับสวัสดิการจากรัฐ เพราะทุกคนเป็นลูกหนี้ที่ต้องใช้หนี้คืนและรู้สึกผิด (guilt) ต่อทุน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่และเจ้าหนี้สากล (p. 7)
Lazzarato อธิบายการสร้างพลเมืองติดหนี้ (indebted citizen) โดยการย้อนกลับไปหางานของ Nietzsche เรื่อง Genealogy of Morality ซึ่งอธิบายว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมเกิดขึ้นจากการเป็นหนี้ (credit) ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคู่ค้าที่เท่าเทียมกันอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์คลาสสิคสายอังกฤษว่าไว้ ในทางกลับกัน การเป็นหนี้ทำงานได้เพราะเจ้าหนี้และลูกหนี้มีอำนาจต่างกัน ไม่เท่ากัน และไม่สมดุลกัน
หนี้เป็นคำสัญญาว่าจะจ่ายคืนและเป็นคำสัญญาถึงมูลค่าที่เจ้าหนี้จะได้รับในอนาคต แต่คำสัญญา (promise) มิใช่เพียงแค่การพูดปากเปล่าก็มั่นใจว่าจะได้เงินคืน (speech act) ดังนั้นจึงต้องมีเครื่องมือช่วยจำ (mnemotechnic) ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับความรุนแรงและความเจ็บปวด เพื่อทำให้เจ้าหนี้มั่นใจ (trust) ในคำสัญญา เครื่องเตือนใจอาจเป็นเงื่อนไขที่เกิดขึ้นในทางกายภาพ เช่น หากไม่ชำระหนี้คืน ลูกหนี้อาจต้องถูกตัดแขนขา ต้องเสียลูกเมียให้เจ้าหนี้ กระทั่งอาจต้องรับโทษถึงชีวิต
ไม่เพียงเท่านั้น การเป็นหนี้ยังสร้างเครื่องเตือนใจทางจิตแก่ลูกหนี้ด้วย โดยการสร้างสิ่งน่ากังวลใจ (dismal things) ในทางศีลธรรมทั้งหลายขึ้น อาทิ การกล่าวโทษ ความรู้สึกผิด การรู้สำนึก รู้ผิดชอบชั่วดี รู้จักหน้าที่ ฯลฯ ในแง่นี้ หนี้จึงเป็นกระบวนการสร้างตัวตน (subjectivation) แบบหนึ่งขึ้นมา ลูกหนี้ต้องเป็นคนที่จ่ายหนี้คืนได้และถูกทำให้รู้สึกผิดอยู่เสมอว่าจะต้องหาทางใช้หนี้คืน ดังนั้นเมื่อติดหนี้ เราก็กลายเป็นคนที่ต้องทรมานตนเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพราะมีเพียงสิ่งที่ทำให้เราเจ็บเท่านั้นที่จะประทับอยู่ในความทรงจำของเราเสมอ
พูดใหม่ก็คือความรู้สึกผิดคือการรับหนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนนั่นเอง (interiorized debt) “การเป็นหนี้จึงฟูมฟัก กดปราบ ผลิตสร้าง ปรับเปลี่ยน และก่อรูปความเป็นตัวตนบางแบบขึ้น” (p. 38)
Lazzarato บอกว่าหากหนี้คือการสัญญาว่าจะจ่ายคืนในอนาคต เจ้าหนี้ทั้งหลายก็กำลังขายเวลาในอนาคต — ซึ่งไม่ใช่ของเขา — แก่ลูกหนี้ ในแง่นี้ หนี้จึงพยายามยึดกุมไม่ใช่เพียงแค่เวลาการทำงานในปัจจุบันของเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเวลาในอนาคตของเราด้วย ในยุคกลาง การให้กู้ยืมเงินจึงเป็นเรื่องน่ารังเกียจ เพราะผู้ให้กู้กำลังขายเวลา (คือช่วงระหว่างให้ยืมกับช่วงที่เขาได้เงินคืน) พร้อมดอกเบี้ย แต่เวลาเป็นของพระเจ้า ไม่ใช่ของเจ้าหนี้ เจ้าหนี้จึงเป็นเพียงโจรขโมยเวลา!
มาร์กซ์ก็คิดเช่นนี้ เขามองการให้กู้เงินว่าเป็นการใช้เงินเพื่อสร้างเงิน มันไม่เพียงยึดแค่เวลาทำงานของลูกหนี้ แต่ยังยึดเวลาใช้ชีวิตของเขาด้วย การเป็นเจ้าหนี้คือการแย่งเวลาของลูกหนี้ทั้งกลางวัน (เวลางาน) และกลางคืน (เวลาพักผ่อน) วันทำงานและวันหยุด หรือจะพูดอีกแบบคือ การเป็นหนี้ไปขัดขวางชีวิตของลูกหนี้ไม่ให้มีเวลาตัดสินใจเรื่องอื่น ๆ ลดทอนความเป็นไปได้ที่จะทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกจากมุ่งทำงานใช้หนี้เท่านั้น
เมื่อระบบทุนนิยมขยายตัวไปทั่วโลก มันจึงรับเอาตรรกะของหนี้มาใช้เพื่อสร้างมูลค่าแก่ระบบของมันเอง
Lazzarato ถึงกับกล่าวว่า การกระจุกตัวของเงินจำนวนมหาศาลในธนาคาร บริษัทประกัน กองทุนบำนาญ และสถาบันการเงินอื่นๆ ซึ่งถูกบงการจากภาคการเงินได้ จะเป็นอะไรไปได้หากมิใช่การสะสมความเป็นไปได้จำนวนมหาศาลพอ ๆ กันกับที่ยึดมาจากชีวิตลูกหนี้
อำนาจนายทุนไม่ได้มาจากความสามารถในการสะสมอำนาจซื้อ แต่มาจากความสามารถในการกำหนดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและกระบวนการสร้างตัวตนของลูกหนี้ พูดง่าย ๆ คือ ทุนมีอำนาจไม่ใช่เพราะมันรวยกว่าแต่เพราะคุมการไหลเวียนของเงินให้ไปลงทุนในภาคส่วนไหนก็ได้ตามชอบ ซึ่งส่งผลต่อตัวตนของลูกหนี้ทั้งหลายด้วยเช่นกัน ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมนี้สามารถสรุปได้รวบรัดผ่านประโยค “การจ่ายหนี้คืนเป็นหน้าที่ แต่การให้กู้ยืมเป็นตัวเลือก”
เสรีนิยมใหม่ การตัดสวัสดิการ และการพุ่งทะยานของหนี้
การผลิตสร้างหนี้ (manufacturing debt) เกิดขึ้นขนานใหญ่ในทศวรรษ 1970 – 1980 จากการรุกคืบของลัทธิเสรีนิยมใหม่และการอ่อนแรงลงของฝ่ายซ้าย ทำให้นักวิชาการหลายคนเสนอว่า ชนชั้นแรงงานกำลังจะหายไป ทุกคนจะกลายเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งรวมถึงมนุษย์เงินเดือนที่สามารถเอาเงินของตัวเองไป “ลงทุน” ในตลาดหุ้น เปิดกิจการของตัวเอง ฯลฯ ขณะเดียวกัน สวัสดิการของรัฐถูกตัดและแปรรูปให้เป็นกิจการเอกชน ซึ่งดำเนินการตามกลไกตลาดและต้องการกำไร เงินเดือนถูกกดให้ต่ำเพราะต้องดึงดูดทุนจากต่างประเทศ
การแปรรูปกิจการรัฐให้เป็นของเอกชนทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าวงจรเที่ยงธรรม (virtuous circle) (หากมิใช่วงจรอุบาทว์) กล่าวคือ หนึ่ง เป็นการโอนรายได้จำนวนมหาศาลเข้าภาคเอกชน (จากการให้บริการที่เคยเป็นสินค้าสาธารณะ) และ สอง เมื่อรัฐต้องดำเนินนโยบายอะไรแล้วไม่มีเงินมากพอ ก็ต้องไปกู้เงินจากธนาคารเอกชน เกิดเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งเปรียบเสมือนการหากำไรจากหนี้ของรัฐ ซึ่งไม่ใช่อะไรนอกจากภาระของผู้ที่จ่ายภาษี
แต่เมื่อไม่มีสวัสดิการจากรัฐ มนุษย์จึงถูกเรียกร้องใหม่ให้ต้องบริหารจัดการชีวิตของตนเองในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่เข้าเรียนเพื่อเตรียมหางาน เมื่อทำงานแล้วก็ต้องหาเงินซื้อบ้าน รถ ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ประกันโควิด รวมไปถึงการตั้งคำถามกับตัวเองว่า หากต้องแต่งงานและมีลูก จะมีเงินก้อนมากพอเลี้ยงลูกให้มีชีวิตได้ดีเท่าตัวเอง (หากไม่ดีกว่า) ได้ไหม?
“ทุนมนุษย์” (human capital) ที่ต้องลงทุนเองเหล่านี้เกิดท่ามกลางบริบททางเศรษฐกิจที่ผันผวน เมื่อธุรกิจภาคการเงินสามารถไหลเวียนอย่างเสรีมากกว่าเก่า แต่ก็ขึ้น ๆ ลง ๆ ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก เช่น สงคราม ภัยธรรมชาติ กระทั่งโรคระบาดอย่างโควิด-19 ชีวิตของมนุษย์ที่ลงทุนลงแรงไปแล้วก็ได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล
มนุษย์ถูกเรียกร้องให้เป็นผู้ประกอบการและเป็นนายตัวเอง (น่าประหลาดตรงที่เราเป็นผู้ประกอบการได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีกิจการของตัวเอง แค่ทำตัวให้เหมือนว่าเป็น) ทุนนิยมบอกเราว่านี่คือการปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระ เราสามารถเติมเต็มชีวิตตัวเองและหาความสุขได้ตามใจชอบแล้วนี่
แล้วทุนก็เสนอเงินกู้ยืมให้เราในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะเครดิต ลูกหนี้ดูเหมือนมีอิสระมากขึ้นราวกับไม่มีการบีบบังคับใด ๆ แฝงอยู่ และสามารถนำเงินไปซื้อสินค้าและบริการได้ตามใจชอบ แต่ Lazzarato เตือนเราว่าอิสรภาพในการบริโภคนั้นไม่ถือเป็นการปลดปล่อยศักยภาพมนุษย์ เพราะเรามีเสรีภาพหลอก ๆ ตราบใดก็ตามที่มีปัญญาจ่ายหนี้คืนได้เท่านั้น หนี้ได้สร้างศีลธรรมแบบใหม่ขึ้น ซึ่งทำให้ลูกหนี้ต้องรู้สึกผิดที่ไม่อาจชำระหนี้และดอกเบี้ยคืนได้ ดังนั้นชีวิตลูกหนี้ต้องรีบตื่นไปทำงานตอนเช้าวันจันทร์ ทั้งที่ไม่อยากทำ ในขณะเดียวกันก็ต้องบริโภคเพื่อให้ทำงานได้ ตั้งแต่กินกาแฟ (เช่น Starbuck) เพื่อกระตุ้นตัวเองในทุกวัน กลับถึงบ้านหาหนังดู (เช่น Netflix) เปิดเพลงฟัง (ผ่าน Youtube หรือ Spotify) เพื่อปลอบประโลมจิตใจที่เหนื่อยล้า และเฝ้ารอคอยให้ถึงคืนวันศุกร์ไว ๆ เพื่อจะได้สังสรรค์ให้สุดเหวี่ยง (เลือกเอาสิจะแอลกอฮอล์ยี่ห้อไหน) เมื่อถึงเสาร์-อาทิตย์ก็อาจไปเที่ยวทะเล (ขับรถไปเองหรือ มีรถไหม? ยี่ห้ออะไร? นั่งเครื่องบินหรือ จะไปสายการบินไหน?) ทั้งหมดนี้วนเวียนไปจนถึงวันจันทร์ และจะไม่รู้จบจนกว่าจะเกษียณหรือตายไป
พูดอีกนัยหนึ่ง การตัดสวัสดิการคือการเปลี่ยนสิทธิทางสังคมให้กลายเป็นหนี้ของปัจเจกชน ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากสวัสดิการ เช่น ประกันสังคม ประกันการว่างงาน เบี้ยคนชรา เบี้ยคนพิการ จึงถูกมองว่าเป็นลูกหนี้ที่ต้องสำนึกบุญคุณ (ทั้งที่จ่ายภาษี?)
เศรษฐกิจแห่งการเป็นหนี้ได้ตัดข้ามปริมณฑลไปทั่วทั้งสังคม แม้กระทั่งคนยากจนที่สุดในสังคมก็เป็นหนี้ นอกจากหนี้ครัวเรือนแล้ว ยังเป็นหนี้สาธารณะผ่านการกู้ยืมเงินของรัฐบาล ดังนั้น หนี้จึงครอบงำชีวิตประชากรทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย แม้กระทั่งตายไปแล้ว หนี้ก็ยังส่งต่อเป็นมรดกให้ลูกหลานที่อาจยังไม่เกิดด้วยซ้ำ!
ทุนนิยมใช้การประเมิน (evaluation) เป็นกลไกสำคัญของการเลือกสรรลูกหนี้ โดยเฉพาะการประเมินความสามารถในการจ่ายหนี้คืน (solvency) ของลูกหนี้ เช่น บัตรเครดิต ซึ่งจะทำได้คุณต้องส่งมอบข้อมูลส่วนตัวจำนวนมากให้แก่ธนาคาร และเมื่อเป็นหนี้แล้วเราต้องระมัดระวังพฤติกรรมการใช้จ่ายไม่ให้เกินวงเงินด้วย โดยจะมีหน่วยงานคอยตรวจสอบประวัติ ข้อมูล และความน่าเชื่อถือของลูกหนี้ และมีการจัดอันดับเครดิตเกิดขึ้น การประเมินที่เกิดขึ้นจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินเหล่านี้ ทำให้ลูกหนี้ทั่วไปควบคุมชีวิตตัวเองไม่ได้ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับเครดิต เขาไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของตัวเองบ้าง จึงตัดสินใจและเลือกดำเนินการได้ลำบาก
Lazzarato ยกตัวอย่างวิกฤตหนี้ซับไพรม์ในปี 2007 และ 2008 ว่าเป็นตัวอย่างรูปธรรมของเศรษฐกิจแห่งการเป็นหนี้ และยังแสดงให้เห็นว่าวิกฤตซับไพรม์ไม่ใช่แค่เพียงปัญหาเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นปัญหาของศิลปะในการปกครองแบบเสรีนิยมด้วย เมื่อเกิดวิกฤตมันยิ่งทำให้อำนาจทุนกับรัฐกระชับมากขึ้น
การปล่อยสินเชื่อด้อยคุณภาพเป็นการมุ่งหวังทำกำไรจากผู้กู้ยืมเงิน (ลูกหนี้) ในสถานการณ์ที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กำลังรุ่งเรือง ธนาคารจึงปล่อยเงินกู้โดยเงื่อนไขที่ผ่อนคลายลง ซึ่งทำให้เกิดหนี้ความเสี่ยงสูง (ที่ไม่อาจจ่ายคืนได้) จำนวนมาก Lazzarato บอกว่านี่เป็นการเล่นกับความต้องการทรัพย์สินส่วนบุคคลของมนุษย์ โดยเฉพาะบ้านที่เป็นทรัพย์สินพื้นฐานที่สุดในชีวิต แต่เมื่อราคาที่อยู่อาศัยตกลงและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ลูกหนี้ก็จ่ายเงินไม่ไหว ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ให้ภาคการเงินที่มีการขายหนี้ให้บริษัทอื่น ๆ อีกเป็นทอดจนทำให้เศรษฐกิจของโลกชะงักลง
แต่ทางออกคืออะไรงั้นหรือ? รัฐบาลกลับถูกบีบให้อุ้มสถาบันการเงินซึ่งดำเนินนโยบายผิดพลาดและเป็นต้นเหตุของวิกฤต โดยใช้ภาษีของประชาชนซึ่งล้วนแต่เป็นลูกหนี้ เมื่อผ่านพ้นวิกฤต เหล่าผู้บริหารภาคการเงินก็ได้โบนัสก้อนโตเช่นเคย แต่รัฐบาลในหลายประเทศต้องรัดเข็มขัดและลดงบสวัสดิการลง เช่น ในกรีซ ปี 2010 ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ และอียูก็ช่วยกันหนุนให้รัฐบาลกรีซรัดเข็มขัดแล้วขึ้นภาษี เพื่อให้สามารถชำระหนี้สาธารณะได้ แต่หนี้เหล่านี้คืออะไรงั้นหรือ หากมิใช่กำไรของธนาคารเอกชนในเยอรมันแหละฝรั่งเศส!
Lazzarato จึงมองว่าเศรษฐกิจแห่งการเป็นหนี้นี่แหละที่สร้างวิกฤตเพื่อให้ตัวมันดำเนินการต่อไปได้ แต่วิกฤตที่ไม่มีทางแก้เหล่านี้สมควรถูกเรียกเสียใหม่ว่าหายนะ (catastrophe) มากกว่า
จะทำอย่างไรกันต่อ?
แล้วการต่อสู้ทางชนชั้นยังจะเป็นไปได้ไหม?
Lazzarato เสนอว่าหากทุนนิยมใช้กลไกของหนี้ ซึ่งเป็นนามธรรม (abstract) และทำลายเส้นแบ่งพรมแดนต่าง ๆ (deterritorialized) ได้ เราก็ต้องไปให้ถึงระดับเดียวกันกับมันสิ หากหนี้ไม่รู้จักเขตแดนรัฐ-ชาติล่ะก็ การต่อสู้กับมันไม่อาจจำกัดอยู่แต่ในระดับรัฐ-ชาติได้เช่นกัน ในขณะนี้ หนี้ได้ทะลวงเส้นแบ่งระหว่างการมีงานทำและการว่างงาน การผลิตวัตถุหรืออวัตถุไปแล้ว
ถึงที่สุดแล้ว ลัทธิเสรีนิยมก็หาใช่การปกครองให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แล้วปล่อยให้กลไกตลาดทำงานไม่ หากแต่เป็นการปกครองให้มากที่สุดโดยเป็นประชาธิปไตยน้อยที่สุดต่างหาก (ภายใต้อุ้งมือของธนาคารเอกชน บรรษัทข้ามชาติ หน่วยงานจัดอันดับความหน้าเชื่อถือ รัฐบาลฝ่ายขวา เหล่านี้ทั้งหมดนับวันยิ่งใช้อำนาจเผด็จการขึ้นทุกที)
เราต้องโจมตีที่ตัวเจ้าหนี้รายใหญ่ (Great Creditor) ซึ่งก็คือระบบทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ การจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องมองเห็นเสียก่อนว่าเราทั้งหมดล้วนเป็นลูกหนี้ดุจเดียวกัน ซึ่งไม่มีวันใช้หนี้คืนได้เด็ดขาด แล้วจึงมองหาความเป็นหนึ่งเดียวและการร่วมมือกันแบบใหม่ เพื่อทลายความสัมพันธ์เจ้าหนี้-ลูกหนี้ที่กดขี่นี้
เรายังต้องมองเห็นว่าทุนไม่ได้สร้างหนี้ที่ทำลายแค่มนุษย์เท่านั้น แต่มันทะลวงกรอบ “วัฒนธรรมชาติ” (nature-culture) ไปแล้ว (ก่อนที่นักมานุษยวิทยาจะหันมาสนใจแนวคิดนี้เสียอีก!) เพราะมันไม่เพียงขูดรีดมนุษย์เท่านั้นแต่ยังมีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อมขนานใหญ่มานานแล้วด้วย
ดังนั้น การต่อสู้กับทุนนิยมแบบนี้ต้องอาศัยการกระทำที่ตัดข้ามเส้นแบ่งของความเป็นการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับที่หนี้กำลังทำกับเรา การต่อสู้กับเศรษฐกิจแห่งหนี้สินต้องต่อสู้กับศีลธรรมแห่งการรู้สึกผิดและศีลธรรมแห่งความกลัว ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวตนของลูกหนี้ (subjective conversion)
เราจึงต้องต่อสู้เพื่อยกเลิกหนี้และการชำระดอกเบี้ย และยังต้องละทิ้งศีลธรรมทั้งหมดของมัน เพราะหนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่เป็นกลไกของอำนาจที่ใช้ปกครองเราโดยการทำให้ยากจนและอาจถึงขั้นประสบหายนะในอนาคต
รายการอ้างอิง
Lazzarato, M. 2012. The Making of the Indebted Man: An Essay on the Neoliberal Condition. Los Angeles, CA: Semiotext(e).
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. 2561. Conatus: ชีวิตและอำนาจควบคุมชีวิตในระบบทุนนิยมแห่งศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: อิลลูมิเนชันส์ เอดิชันส์.
ส่วนเสริมท้ายเรื่อง (คิดเรื่อยเปื่อยยังไม่สมบูรณ์)
ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งที่ทำให้เห็นว่ามนุษย์หนี้ (homo debitor) กระจายตัวไปทั่วแม้กระทั่งในวงการข้าราชการอย่างตำรวจ ซึ่งหนี้ส่วนมากก็เป็นการกู้เงินมาเพื่อผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือจ่ายค่าเทอมให้ลูก
ฟังดูคุ้น ๆ บ้างไหม?
แล้วพวกเขาจะทำอย่างไรกันต่อหากหนี้กำลังบีบให้ทำงาน (คือการปราบปรามผู้ชุมนุมหรอวะ?) จนอาจถึงขั้นเหนื่อยตาย (ทั้งนี้ Lazzarato นับงานของตำรวจเป็นส่วนหนึ่งของการไม่ผลิต (unproductive)) แล้วผู้ชุมนุมจะทำอย่างไรกันต่อหากต้องปะทะกับตำรวจควบคุมฝูงชนที่เป็นกลไกรัฐและก็เป็นมนุษย์หนี้ในเวลาเดียวกัน? ที่จริงถึงตอนนี้ผมก็ไม่ทราบ แต่ก็น่าช่วยกันคิดต่อนะ
มนุษย์หนี้ทั้งหลาย.