เซเปียน และ เงิน เงิน เงิน
Harari บอกว่าผู้ชนะสิบทิศที่แท้จริงของโลกใบนี้คือ “เงิน”
ลองนึกดูว่า ต่อให้คนที่เชื่อในพระเจ้าคนละองค์ หรือกษัตริย์คนละองค์กลับยอมที่จะใช้เงินสกุลเดียวกัน โอซาม่า บินลาเดนต่อให้เกลียดความเป็นอเมริกัน เกลียดวัฒนธรรม มากแค่ไหน ก็ยังปลื้มปลิ่มกับเงินดอลล่าร์อยู่ดี
เงินสามารถรวมมนุษยชาติเป็นหนึ่งในขณะที่ศาสนาหรือจักรวรรดิล้มเหลว เพราะอะไร?
เซเปียนในสมัยหาของป่า-ล่าสัตว์ (hunting-gathering) ยังไม่มีเงิน
เซเปียนในยุคเริ่มต้นของปฏิวัติเกษตรกรรมที่อยู่กันเป็นหมู่บ้านเล็กตามที่ต่างๆ ก็ยังไม่ใช้เงินเช่นกัน
แต่เมื่อเมืองต่างๆ เริ่มใหญ่ขึ้น เมืออาณาจักรต่างๆ เริ่มก่อตัวขึ้น ความเชี่ยวชาญเฉพาะก็กำเนิดขึ้นมา
ความเชี่ยวชาญเฉพาะนำไปสู่อะไร?
ความเชี่ยวชาญเฉพาะนำไปสู่การที่เมืองตรงข้ามทำไวน์ได้อร่อยกว่าเมืองที่ฉันอาศัยอยู่ อาจจะเพราะด้วยดินดีกว่าหรืออะไรก็ตาม ดังนั้นทำไมฉันต้องทนกินไวน์ห่วยๆ ที่ผลิตขึ้นในเมืองตัวเองด้วย แต่ว่าจะเอาอะไรไปแลกดีล่ะ เอ้ย แต่เมืองฉันทำขนมปังอร่อยกว่าเมืองนั้นนะ ทำไมฉันไม่เอาขนมปังไปแลกกับไวน์
ถ้าเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างสองเมือง ขนมปังกับไวน์อาจจะถูกแลกกันไปมาไม่รู้จักจบสิ้น แต่ถ้าเกิดจำนวนการแลกเปลี่ยนขยายออก แล้วผู้ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนกลายเป็นคนแปลกหน้าล่ะ เกิดวันหนึ่งคนทำขนมปังต้องการจ้างช่างทำรองเท้าทำร้องเท้าให้จะต้องเอาขนมปังกี่ก้อนไปแลกถึงจะดี แต่ถ้าช่างทำรองเท้าไม่อยากได้ขนมปังแต่อยากได้ไวน์ หรือวันดีคืนดีอยากได้แอปเปิ้ลเป็นของแลกเปลี่ยนแทน การแลกเปลี่ยนจะยุ่งยากขนาดไหน
ไม่ต้องห่วง! ความซับซ้อนนี่หมดไปเมื่อสังคมส่วนใหญ่คิดค้นตัวกลางที่จะทำให้ผู้เชี่ยวชาญเจ้าปัญหาเหล่านี้แลกเปลี่ยนกันได้ขึ้นมา ถูกแล้ว พวกเขาคิดค้น “เงิน”
“เงินถูกคิดค้นขึ้นในหลายช่วงเวลาในสถานที่ต่างๆ พัฒนาการของเงินไม่ใช่นวัตกรรมล้ำสมัยทางเทคโนโลยีอะไรเลย แต่เป็นการปฏิวัติทางจิตใจล้วนๆ เป็นการสร้างความจริงระหว่างปัจเจกขึ้นมาใหม่ ซึ่งดำรงอยู่ในจินตนาการร่วมกันของมนุษย์เท่านั้น”
อย่ามองเงินเป็นแค่ธนบัตรกับเหรียญ เงินคืออะไรก็ตามที่คนยอมใช้เพื่อแทนค่าสิ่งของหรือบริการ Harari ยกตัวอย่างการแลกเปลี่ยนในค่าย Auschwitz ว่า เงิน คือ บุหรี่ “ขนมปังหนึ่งแถวเท่ากับบุหรี่ 12 มวน เนยมาการีน 300 กรัมเท่ากับบุหรี่ 30 มวน นาฬิกา 80 – 200 มวน ถ้าเป็นเหล้าหนึ่งลิตรเท่ากับบุหรี่ 400 มวน”
แม้แต่ในโลกทุกวันนี้ธนบัตรกับเหรียญก็ไม่ใช่รูปแบบของเงินที่เยอะที่สุด เงินในโลกทุกวันนี้รวมแล้วประมาณ 60 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่ธนบัตรกับเหรียญมีแค่เพียง 6 ล้านล้านเหรียญเท่านั้นเอง ส่วน 90% ของเงินอยู่เป็นตัวเลขบนคอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์หรือบัญชีของเรานั่นเอง
จะรูปแบบไหนก็ไม่สำคัญ เพราะดังที่บอกไปตอนต้น เงินมีมูลค่าเพียงในจินตนาการร่วมของเรา มูลค่าของมันไม่ได้อยู่ที่กระดาษที่พิมพ์หรือโลหะที่ผลิตเหรียญ แต่มันเกิดจากจิตใจของเรา “ความเชื่อใจ” ต่างหากที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตที่แท้จริงของเงิน
“เงินเป็นระบบของการเชื่อใจ แต่ไม่ใช่แค่ระบบการเชื่อใจดาษดื่น เงินเป็นระบบการเชื่อใจที่สากลที่สุด และมีประสิทธิภาพที่สุดที่มนุษย์เคยสร้างขึ้นมา”
ทุกคนต้องการเงินเพราะคนอื่นๆ ก็ต้องการเงินเช่นกัน ซึ่งก็หมายความว่าคุณสามารถแลกเปลี่ยนเงินกับอะไรก็ได้ที่คุณอยากได้ ช่างทำรองเท้ายังไงก็อยากได้เงินคุณ เพราะไม่ว่าเขาจะต้องการอะไร ไวน์ ขนมปัง แอปเปิ้ล เขาเอาเงินไปแลกก็จบแล้ว
ในประวัติศาสตร์การเงิน ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดจึงเป็นช่วงเวลาที่คนเริ่มเชื่อในเงินที่ไม่ได้มีมูลค่าในตัวมันเอง (มูลค่าในตัวมันเองคิดจากวัตถุดิบที่มันผลิต เช่น ข้าวบาร์เลย์มีมูลค่าในตัวมันเองเพราะสามารถใช้เป็นของกินได้) แต่เชื่อในเงินที่สามารถเอาไว้แลกเปลี่ยนได้ เก็บได้ง่าย ขนย้ายสะดวก เช่น เงิน (silver) และ ทอง เงินกับทองนั้นกินก็ไม่ได้ จะทำเป็นอาวุธก็ไม่เหมาะ เพราะหลอมแล้วก็ปวกเปียกจนเกินไป แต่มันกลายเป็นสื่อกลางที่คนปรารถนาเสียยิ่งกว่าข้าวและอาวุธ
ในขณะที่เซเปียนพูดภาษาที่แตกต่างกัน เชื่อฟังผู้ปกครองประเทศคนละคนกัน และมีศรัทธาต่อพระเจ้าต่างองค์กัน แต่เซเปียนกลับเชื่อในเหรียญเงินและเหรียญทองไม่ต่างกัน ชาวคริสต์และชาวมุสลิมอาจจะไม่เห็นตรงกันเรื่องคำสอนของศาสนา แต่พวกเขาเห็นตรงกันในคำสอนของเงิน เพราะในขณะที่ศาสนาขอให้เราเชื่อในบางสิ่ง เงินขอให้เราเชื่อในบางสิ่งที่คนอื่นเชื่อ
“นับเป็นพันปีที่นักปรัชญา นักคิดและนักปราชญ์ต่างเรียกเงินว่าเป็น “รากเหง้าแห่งความชั่วร้ายทั้งปวง” แม้ว่าจะเป็นความจริงแต่เงินก็เป็นสัญลักษณ์สูงสุดแห่งความอดทนร่วมของมนุษยชาติ เงินนั้นใจกว้างกว่าภาษา กฎหมาย วัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนาและพฤติกรรมทางสังคม เงินเป็นระบบความเชื่อใจเดียวที่สร้างโดยมนุษย์แล้วสามารถลดช่องว่างทางวัฒนธรรม และไม่เลือกปฏิบัติตามศาสนา เพศ เชื้อชาติ อายุ หรือรสนิยมทางเพศ ต้องขอบคุณเงิน เพราะแม้แต่คนที่ไม่รู้จักกันและไม่เชื่อใจกันก็สามารถร่วมมือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
แต่อย่างไรก็ดีด้านชั่วร้ายของเงินก็ยังไม่ได้หายไปไหน เพราะถึงแม้ว่าเงินจะสร้างความเชื่อใจ แต่ความเชื่อใจนี้มันไม่ได้อยู่ที่คนเลย แต่มันอยู่ที่ตัวเงินและระบบที่คอยสนับสนุน เราอาจจะไม่เชื่อคนแปลกหน้าหรือคนข้างบ้าน แต่เราเชื่อธนบัตรในกระเป๋าสตางค์เขา ถ้าเขาไม่มีธนบัตรเราก็เริ่มหมดความเชื่อใจ
(ลองคิดดูว่าจริงมั้ย สมมุติเรารู้จักกับเพื่อนคนหนึ่งอยู่ แล้วเขาเกิดล้มละลาย หนึ่งในข้อแรกที่หลายคนจะกังวลตามมาอาจจะเป็น “เอ้ย เขาจะมาขอยืมเงินเราหรือเปล่า?” เงินที่หมดไป อาจส่งผลกระทบต่อรูปแบบความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปด้วย – เขียนเพิ่มเอง)
แต่อย่างไรก็ดีการเข้าใจว่ามนุษยชาติทั้งหมดรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจเพียงข้อเดียวเป็นเรื่องตื้นเขินเกินไป เราจะต้องคิดบทบาทของสองอย่างที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ปืน (การสร้างจักรวรรดิ) และ ศาสนา (ซึ่งไปหาอ่านต่อได้ในหนังสือ ♥ )
**********************************
ทั้งหมดสรุปและตัดตอนมาจากหน้า 191 – 209 จากหนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind เขียนโดย Yuval Noah Harari จัดพิมพ์โดย Penguin Random House UK 2014
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุดคนึงเป็นคนชอบคิด เลยคิดไปเรื่อยๆ มีคดิประจำใจว่าชอบอะไรจะไม่เก็บไว้คนเดียว เลยต้องมาเผยแพร่ให้คนอื่นฟังเพื่อหาพวกมาชอบด้วยกัน