ว่าด้วย “ฉัน” และความเป็น “จีน”
ถ้านับกันตามสายเลือด ฉันเป็นจีนแท้ๆ เพราะอาม่าอากงของทั้งพ่อและแม่เป็นจีน ฉันเรียกพ่อว่า “ป๋า” ตามภาษาจีน อากงของอาม่ามาจากซัวเถา เราทั้งครอบครัว (ทั้งครอบครัวในทีนี้คือ ครอบครัวแม่ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ (ตั่วแจ้) และพี่น้องและครอบครัวรวมเป็น 20 กว่าชีวิต ภาพประกอบด้านล่าง) เคยยกกันไปเยี่ยมบ้านอากงถึงเมืองจีนมาแล้ว เคยเจอพี่น้องอากงรวมทั้งครอบครัวและเคยถ่ายรูปร่วมกันมา นึกถึงภาพถ่ายครอบครัวในงานศพเลือดข้นคนจางออกไหม คูณสามเข้าไปก็จะได้ภาพถ่ายครอบครัวตอนไปซัวเถาครั้งนั้น
ตอนเด็กๆ ฉันสับสนกับความเป็นจีนมาตลอด ทั้งรัก ทั้งเบื่อ ทั้งสนุก ทั้งหน่าย ฉันรักวัฒนธรรมจีนทุกครั้งตอนได้อั่งเปา ญาติฝั่งพ่อเป็น 10 คน และญาติฝั่งแม่อีกเป็น 10 ทุกครั้งที่ได้ซองแต๊ะเอียเป็นปึกกลับบ้านในวัยรุ่น คือ วันที่ดีที่สุดของฉันวันหนึ่งในรอบปี ลองคิดถึงเด็กคนหนึ่งที่ได้ตังค์วันละ 30 – 50 ไปโรงเรียนอยู่ๆ ก็ได้เงินเป็นหมื่น เงินส่วนใหญ่จะเอาไปฝาก แต่ฉันก็จะกันเงินก้อนหนึ่งไว้ซื้อของที่อยากได้
ฉันเบื่อเวลาต้องไปเชงเม้งอากาศร้อนๆ ไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องไปกินข้าวโรงเจข้างสุสานที่ไม่อร่อย ทำไมต้องมีพิธียาวๆ กว่าจะไหว้เสร็จก็ค่อนวัน ฉันมาเลิกเบื่อตอนที่อาม่าเสีย เพราะอาม่าเป็นญาติที่ฉันรู้จักจริงๆ เป็นคนที่ฉันรักจริงๆ ในชีวิต การไปไหว้อาม่าในขณะที่อากงยังมีชีวิตอยู่สำคัญกับอากงมาก ฉันเลยรู้สึกถึงความสำคัญของมันไปด้วย แต่ตอนนี้อากงไม่อยู่แล้ว ความหมายของเชงเม้งสำหรับฉันตอนนี้จึงเปลี่ยนไปมาก มันเป็นการไปไหว้อาม่าอากงที่ฉันรู้จัก
มีช่วงหนึ่งในชีวิตที่ฉันหัวรุนแรงมาก ฉันนิยมความเป็นปัจเจกแบบตะวันตกและเกลียดประเพณีจนขึ้นสมอง สักเกือบสิบปีที่แล้ว ในงานกงเต๊กอาม่า พ่อบังคับให้ใส่ชุดกระสอบ ฉันถามพ่อสองสามครั้งว่าทำไมต้องใส่ พ่อคงงงไม่รู้จะต้องอธิบายว่าอะไรเพราะเป็นธรรมเนียม เลยสวนกลับว่า “ถามว่าทำไมๆ อยู่นั้นแหล่ะ ป๊าจะไปรู้ได้ไงว่าทำไม” ฉันยอมใส่ชุดอย่างกระฟัดกระเฟียด รู้สึกโมโหในใจว่าทำไมคนรุ่นพ่อแม่ฉันถึงไม่ตั้งคำถามกับประเพณี ชุดพวกนี้มีความหมายอะไรทำไมต้องใส่ด้วย
พอมองย้อนกลับไปฉันรู้สึกอับอายมากที่ทำแบบนั้น แต่ฉันมาตลกผลึกจริงๆ ในช่วง 2-3 ปีที่มาเรียนมานุษยวิทยานี่เอง สิ่งหนึ่งที่มานุษยวิทยาสอนฉันได้ดีมาก ไม่ใช่แค่การเข้าใจวัฒนธรรมอื่น แต่เป็นการเข้าใจวัฒนธรรมที่ฉันเติบโตมาอย่างเคยชินและไม่เห็นค่า ที่ปรึกษาของฉันเคยพูดประโยคหนึ่งซึ่งฉันชอบมาก เขาบอกว่าในสถานการณ์เดียวกัน เราอาจจะต้องเลือกระหว่าง moral สองอย่างก็ได้ ในกรณีของฉันตอนงานศพอาม่า ฉันดันเลือก moral ที่จะตั้งคำถามกับประเพณีของสังคม แต่ฉันลืมไปว่าฉันมี moral อีกอย่าง คือ การอยู่ตรงนั้นเพื่อแม่ที่เพิ่งจะเสียแม่ของตัวเองไป รวมทั้งพ่อที่เพิ่งเสียแม่ยาย ในชีวิตคงจะมีช่วงเวลาอื่นให้ตั้งคำถามอีกมากมาย แต่การอยู่เป็นเพื่อนแม่แบบนั้นด้วยความรู้สึกอยากอยู่จริงๆ มันไม่กลับมาอีกแล้ว
ความสนุกของการเป็นลูกหลานจีน คือ การไปขายของที่เยาวราช อาม่ากับอากงเปิดร้านขายของจีน ทุกตรุษจีนสมัยเด็กฉันก็จะไปขายเสมอ ทุกปีจะได้เป๊าะแป๊ะอันสีแดงหรืออันที่เป็นหนังอันใหม่ บางปีจะมีมังกรกระดาษติดมาด้วย ตอนเด็กๆ วันเทศกาลคือวันที่สนุกที่สุดแล้ว เพราะได้เล่นกับลูกพี่ลูกน้อง ได้กินเกาลัค ได้กินหมี่ผัด ได้กินแปะก๊วย ตรงร้านขายของชั้นหนึ่งแคบๆ ที่บ้านเยาวราช มันแคบเสียจน ญาติ 20 กว่าชีวิตจะต้องผลัดกันไปกิน กินเสร็จก็ต้องลุกออก หรือไม่ก็ขึ้นเหล่าเต้งหรือชั้นสอง เพราะไม่มีที่นั่งพอ การไปเยาวราชยังหมายถึงการได้นิตยสาร starpics เล่มใหม่จากกู๋ที่ฉันไม่มีตังค์ซื้อเองสมัยเด็กๆ
ความหน่ายต่อความเป็นจีนในวัยเด็ก ก็คือการไหว้ที่ไม่รู้จักจบจักสิ้น ทุกสามเดือนฉันต้องไหว้สิ่งนู้นสิ่งนี้อยู่เสมอ แถมไหว้แต่ละครั้งก็ยาวนาน ฉันเกลียดบะจ่าง เกลียดที่ตอนเด็กต้องบังคับให้ถูกกิน หน่ายที่ครอบครัวใหญ่พอเจอหน้ากันมีแต่อาหาร อาหาร และอาหารตลอดเวลา ที่เขาบอกว่าคนจีนแสดงความรักกันผ่านอาหารอาจจะไม่ใช่ stereotype เพราะมันเกิดขึ้นจริงๆ กับครอบครัวฉัน อาม่าพอเจอหน้ากันตั้งแต่เป็นวัยรุ่นมา ประโยคเดียวที่จะถามเสมอคือ “ลื้อกินข้าวหรือยัง” ส่วนอากงซึ่งพูดไทยไม่ได้เลยนั้นก็จะถามว่า “ลื้อเจี๊ยะหรือยัง” พอฉันเป็นวัยรุ่นมา โลกของฉันและอาม่าอากงอาจจะต่างกันมากเกินไป เรื่องที่เหลือให้พูดจึงเหลือน้อยเหลือเกิน สุดท้ายความสัมพันธ์ทั้งหมดระหว่างฉันและอาม่าอากงจึงถูกแทนด้วยการถามไถ่เรื่องการกินเท่านั้น
พอแก่ตัวลง ฉันก็นึกเสียดายบ้างที่ตัวเองนิยมแนวคิดตะวันตกจำพวกเสรีนิยมและปัจเจกนิยมในช่วงหนึ่งของชีวิตจนลืมที่จะมองด้านอื่นๆ ของชีวิตไป แต่ถ้าจะให้แก้ตัวให้ตัวเองบ้าง ฉันก็คงจะแก้ด้วยเหตุผลสองข้อ หนึ่ง คือ ตัวฉันเองก็เป็นผลผลิตนึกคิดของสังคมและกาลเวลา ในช่วงเวลาที่ฉันเกิดและเติบโต แนวคิดเหล่านี้มันประทับเข้าไปอยู่ในใจฉันเหลือเกิน ฉันรู้สึกวัยรุ่นในหนังอเมริกันเท่ห์เหลือเกินที่ไม่ต้องพึ่งพ่อแม่ ฉันชอบที่เขายอมรับทั้งด้านดีและเลวในตัวเองได้ ฉันชอบ McCandless ที่เผาเงินแล้วเข้าป่าใน Into the Wild ซึ่งมันก็หล่อหลอมเป็นส่วนหนึ่งของฉันมาจนถึงทุกวันนี้ แล้วตัวฉันเองก็ไม่ได้เสียใจอะไรกับตัวเองที่เป็นในทุกวันนี้
สอง วัฒนธรรมจีนไม่สามารถโอบอุ้มฉันเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตัวเองได้ วัฒนธรรมจีนที่ฉันเติบโตมาไม่ปรับตัวตามยุคสมัย มีแต่ประเพณีโดยไม่มีการวิเคราะห์ ละครจีนเรื่องสุดท้ายที่ฉันดูก่อนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นคือ ซูสีไทเฮา ถ้านับไต้หวันด้วยก็ F4 หลังจากนั้นฉันก็ไม่ได้เสพย์อะไรที่เป็นจีนอย่างตั้งใจมาอีกแสนนาน ฉันค้นพบตัวเองในวัฒนธรรมของฝรั่งมากกว่า ฉันจึงนิยมฝรั่งมากกว่าทั้งจีนและไทยอยู่เป็นทศวรรษ
เหตุผลในข้อสองพามาสู่สิ่งที่ทำให้ฉันมานั่งเขียนยืดยาวในวันนี้ ใครอาจจะมองว่าตลกแต่จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายทีทำให้ฉันเปิดรับความเป็นจีนในตัวเองคือ Crazy Rich Asians ตอนที่แม่นางเอกบอกนางเอกว่า “You’re yellow on the outside, white on the inside.” ฉันก็รู้สึกเข้าใจตัวเองมากขึ้นทันที ฉันไม่เคลมตัวเองว่าเป็น white แต่ฉันได้อิทธิพลจาก white มามากเหลือเกิน แต่ตอนที่แม่พระเอกบอกกับนางเอกว่า “We know how to build things that last and you don’t.” ก็ช่วยทำให้ฉันเห็นข้ออีกมุมหนึ่งของวัฒนธรรมที่เลี้ยงฉันมา แต่ที่สำคัญที่สุดคือหนังช่วยให้ฉันรู้สึกเชื่อมโยงกับความเป็นจีนอีกครั้ง ทำให้ฉันรู้สึกไม่ถูกทอดทิ้งจากส่วนหนึ่งที่เลี้ยงตัวเองเติบโตมาในอดีต เลือดข้นคนจางก็กำลังทำปฏิกิริยาคล้ายกันกับฉัน ยิ่งตัวละครมีความมนุษย์ มีความซับซ้อนมากเท่าไหร่ ฉันก็ยิ่งรู้สึกเชื่อมโยงมากเท่านั้น
ตอนเด็กๆ ฉันเคยคิดว่าคนเราจะมีช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นผู้ใหญ่ (rite of passage) ได้ครั้งเดียว เรื่องการแบ่งเด็กกับผู้ใหญ่ก็อาจเป็นเพียงมายาคติเช่นกัน แต่ในที่นี้ฉันมองการเป็นผู้ใหญ่ว่าเป็นการเรียนรู้และตกผลึกกับความรู้ ซึ่งมันเกิดขึ้นนับไม่ถ้วนในชีวิตฉัน ฉันรู้สึกดีใจที่ฉันมี rite of passage ได้หลายครั้ง วันนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่ง
วันนี้เป็นวันไหว้พระจันทร์ ตอนแรกจะออกไปทำงานที่มหาลัย แต่แม่สั่งให้อยู่บ้านช่วยไหว้พระจันทร์หน่อยเพราะแม่ติดธุระ ถ้าย้อนไปสัก 4-5 ปีก่อน ฉันคงมองเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ตอนนี้ไม่คิดอย่างนั้นแล้ว ฉันไม่ต่อต้านประเพณีเหมือนเคย แต่ก็ไม่ได้บูชาเช่นกัน แต่ตราบใดที่ประเพณีมันสำคัญกับคนที่สำคัญกับฉัน แถมไม่ได้ขัดกับศีลธรรมประจำใจข้อไหน ฉันก็จะถือว่ามันสำคัญไปด้วย ถ้าไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรงก็ทำไปเถิด
ส่วนเด็กในภาพคือหลานฉันเอง หลานที่ตะโกนไล่เมฆให้ออกไปเพราะอยากเห็นพระจันทร์และจุดธูปไว้ไป 4 รอบเพราะสนุกดี
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุดคนึงเป็นคนชอบคิด เลยคิดไปเรื่อยๆ มีคดิประจำใจว่าชอบอะไรจะไม่เก็บไว้คนเดียว เลยต้องมาเผยแพร่ให้คนอื่นฟังเพื่อหาพวกมาชอบด้วยกัน
- pinkiologisthttps://anthropologyyyyy.xyz/author/pinkiologist/
- pinkiologisthttps://anthropologyyyyy.xyz/author/pinkiologist/
- pinkiologisthttps://anthropologyyyyy.xyz/author/pinkiologist/
- pinkiologisthttps://anthropologyyyyy.xyz/author/pinkiologist/